![]() |
พระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดย ดร.ภัทรพร สิริกาญจน
แบ่งปันบน
facebook Share
|
คำนิยม พุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายมาเป็นเวลาช้านาน อันเป็นธรรมดาของยุคก่อนสมัยใหม่ เพราะมีที่มาจากหลายกระแส แม้จะเป็น “เถรวาท”เหมือนกัน แต่ก็มีแบบแผนความเชื่อและการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป กระทั่งเถรวาทแบบ “ลังกาวงศ์” หรือเถรวาทที่มาจากลังกา ซึ่งมีอิทธิพลต่อพุทธศาสนาในไทยมาหลายศตวรรษ ก็หาได้มีความเป็นหนึ่งเดียวกันไม่ เพราะในลังกาเองนั้นมีหลายนิกาย ต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตนเป็น “พุทธแท้” หรือปฏิบัติตรงตามพุทธวจนะมากกว่า ดังนั้นเมื่อแพร่มายังแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ จึงย่อมมีการแบ่งเป็นสายเป็นนิกายที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ยังไม่นับพุทธศาสนาที่แพร่เข้ามาก่อนแล้วอย่างต่อเนื่องนับแต่พุทธศตวรรษที่ ๔ โดยมีการปรับเปลี่ยนตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แค่เมืองเดียวก็มีพระหลาย “นิกาย” แล้ว ดังเช่น เมืองเชียงใหม่เมื่อร้อยปีก่อนมีพระถึง ๑๘ นิกาย (หรือสายการปฏิบัติที่สืบต่อจากครูบาอาจารย์หรืออุปัชฌาย์เดียวกัน) ความพยายามที่จะทำให้พุทธศาสนาในไทยมี “มาตรฐาน”เดียวกันนั้น เพิ่งมีในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยเริ่มจากการพยายามทำให้พระสงฆ์มีความเป็นเอกภาพภายใต้องค์กรปกครองสงฆ์เดียวกัน (คือ มหาเถรสมาคม) และมีการศึกษาพระธรรมวินัยภายใต้ระบบเดียวกัน ซึ่งพัฒนาและกำกับโดยพระอนุชาคือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อำนาจของส่วนกลางที่แผ่ออกไปทั่วประเทศภายหลังการปฏิรูปการปกครองประเทศในสมัยนั้น ทำให้พระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรมีแบบแผนความเชื่อและการปฏิบัติอย่างเดียวกันมากขึ้น เกิดพุทธศาสนาแบบ “ทางการ” ซึ่งได้กลายเป็นกระแสหลักในประเทศไทยนับแต่นั้นมา โดยเฉพาะในเขตเมือง แต่ก็มิได้หมายความว่าพุทธศาสนาจะมีแค่แบบเดียว ส่วนที่แตกต่างจากกระแสหลักก็ยังมีอยู่ แต่ไม่แสดงตัวโดดเด่น ครั้นมาถึงยุคปัจจุบัน ความหลากหลายของพุทธศาสนาในเมืองไทยได้กลับมาปรากฏให้เห็นชัดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะองค์กรสงฆ์ไม่สามารถควบคุมให้เป็นเอกภาพได้ไม่ว่าจะโดยผ่านระบบการปกครองหรือการศึกษา อีกทั้งรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ อิทธิพลจากสังคมวัฒนธรรมแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป รวมทั้งเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ค่านิยมตะวันตก ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายจากภายนอก อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดความหลากหลายในด้านความเชื่อและการปฏิบัติมากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้พุทธศาสนามีความหลากหลายมากขึ้น ยากที่จะควบคุมให้มี “มาตรฐาน”เดียวกันได้ ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากการศึกษาสมัยใหม่ที่รัฐกำกับ มักมีความเข้าใจว่าพุทธศาสนาในไทยนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเข้าใจว่าพุทธศาสนาแบบทางการเท่านั้นที่เป็น “พุทธแท้” จึงมักมีอคติกับพุทธศาสนาแบบอื่น ๆ แต่หากศึกษาให้ถ่องแท้ก็จะพบว่า พุทธศาสนาแบบทางการนั้นก็มีปัญหาในตัวเองเพราะผ่านการปรับปรุงเพิ่มเติมและตัดทอนมาไม่น้อย ขณะเดียวกันพุทธศาสนาแบบอื่น ๆ ก็มีข้อดีหรือจุดเด่นที่น่าศึกษา พระพุทธศาสนาในประเทศไทย : เอกภาพในความหลากหลาย เป็นเสมือนหน้าต่างที่เปิดให้ผู้อ่านเห็นโลกแห่งพุทธศาสนาในประเทศไทยได้กว้างขึ้น เป็นพื้นฐานที่ดีในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของพุทธศาสนาไทยซึ่งไม่ได้เป็นเอกภาพอย่างที่หลายคนเข้าใจ ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นพุทธศาสนาในไทยอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และการเมือง อีกทั้งยังชี้ให้เห็นความแตกต่างที่สำคัญของพุทธศาสนาแต่ละแนว อาทิ ทัศนะเกี่ยวกับความจริงและความดี (อภิปรัชญาและจริยศาสตร์) การประพฤติปฏิบัติ และศิลปะ รวมทั้งมีการวิเคราะห์ถึงจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละแนว แน่นอนว่าประเด็นที่มีความซับซ้อนอย่างพุทธศาสนาในประเทศไทย ยากที่หนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดมีเนื้อหาครอบคลุมครบถ้วนได้ แม้กระทั่งการจำแนกพุทธศาสนาไทยออกเป็น ๖ ประเภท ก็อาจไม่ครอบคลุมเพียงพอ เช่น สำนักธรรมกาย แม้ไม่อาจจัดว่าเป็นแบบจารีตนิยม ปัญญานิยม พัฒนาสังคม ประชานิยม และมหายานได้ แต่จะเรียกว่าเป็นแบบนอกแนวจารีต ก็ทำได้ไม่เต็มปาก เพราะไม่ได้แยกตัวจากมหาเถรสมาคม อย่างสำนักสันติอโศก ยังไม่ต้องพูดถึงพุทธศาสนาแบบที่ไม่มีพระสงฆ์เป็นแกนกลาง ที่เรียกว่า “พุทธศาสนาแบบฆราวาส” อันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่นับวันจะเติบใหญ่มากขึ้น หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจกับพุทธศาสนาไทยในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความสลับซับซ้อน ขออนุโมทนาอาจารย์ภัทรพร สิริกาญจน ที่ได้ใช้วิริยะอุตสาหะในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะช่วยให้ชาวพุทธไทยรู้จักตัวเองดีขึ้นด้วย พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|