![]() |
เป็นมนุษย์กันย์ โดย รสวรรณ ม่วงมิ่งสุข
|
คำนิยม ปลายเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้ทราบจากมิตรสหายของเธอว่า เธอเสียชีวิตแล้ว รวมทั้งได้ทราบด้วยว่าเธอได้วางแผนเกี่ยวกับงานศพของเธออย่างครบถ้วน ชนิดที่แหวกจากธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติกัน อาทิ จัดงานศพที่บ้าน แทนที่จะนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม ซึ่งคนทั่วไปไม่เข้าใจความหมาย ก็เปลี่ยนมาเป็นการทำวัตรสวดมนต์แปลร่วมกันในหมู่ผู้มาร่วมงาน ซึ่งเธอขอให้แต่งตัวตามปกติ ไม่จำต้องใส่ชุดดำ ทั้งนี้เพราะเธอไม่ประสงค์จะให้บรรยากาศในงานศพของเธอเต็มไปด้วยความเศร้าโศก นอกจากนั้นยังเชิญคนที่เธอเคารพนับถือมาบรรยายธรรมด้วย ข้าพเจ้าไม่สามารถไปแสดงธรรมในงานศพของเธอดังที่รับปาก เพราะทราบข่าวในเวลาที่กระชั้นมาก ไม่สามารถเลื่อนกิจนิมนต์ที่รับไว้ก่อนได้ แต่ก็ได้ไปแสดงธรรมในงานปฏิบัติธรรมที่เธอได้ระบุไว้ก่อนตายว่าอยากให้จัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานศพของเธอ งานนั้นจัดขึ้นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๙ นอกจากการบรรยายธรรมของข้าพเจ้าแล้ว ยังมีการสนทนาโดยพี่ชายและมิตรสหายผู้ใกล้ชิดของเธอ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ผู้ฟัง เพราะไม่เพียงถ่ายทอดให้เห็นการเตรียมตัวเตรียมใจของเธอเพื่อรับมือกับความเจ็บป่วยและความตายอย่างมีสติและมั่นคง (ผสมอารมณ์ขัน) หากยังชี้ให้เห็นว่าการดูแลรักษาใจนั้นมีความสำคัญอย่างมากในยามเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ช้าก็เร็ว หลายคนที่ไปร่วมงานนั้นไม่ได้รู้จักกับเธอเป็นการส่วนตัว แต่ก็รู้เรื่องราวของเธอเป็นอย่างดี เนื่องจากติดตามอ่านข้อเขียนของเธอทางเฟซบุ๊ค หรือไม่ก็ได้ฟังเรื่องเล่าของเธอบนเวทีต่าง ๆ ในช่วง ๒ ปีก่อนที่เธอจะเสียชีวิต ประสบการณ์ของเธอแม้เป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครประสงค์จะพานพบ แต่เมื่อถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส ไร้ความเศร้าโศก เต็มไปด้วยมุขชวนขัน กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนที่ประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับเธอ ทำให้เขาเหล่านั้นมีกำลังใจในการรับมือกับโรคร้าย รวมทั้งรู้จักกอบกู้จิตใจไม่ให้จมอยู่ในความทุกข์ แม้เธอจากไปแล้ว เรื่องราวของเธอก็ยังมีประโยชน์อยู่มากโดยเฉพาะกับคนที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ครอบครัวและมิตรสหายจึงนำข้อเขียนของเธอในเฟซบุ๊ค เพจ “มะเร็งพลิกชีวิต” มาพิมพ์เป็นเล่ม ข้อเขียนดังกล่าวถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้สึกของเธอตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ได้พบความจริงว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งยากมากที่จะเกิดกับคนในวัยเดียวกับเธอ ปฏิกิริยาแรก ๆ ของเธอ ไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่ คือ ปฏิเสธ โกรธเคือง และหวาดกลัว อารมณ์เหล่านี้เธอถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ปิดบังอำพราง ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นอย่างดี ความเข้าใจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบ่อยครั้งคำพูดที่เกิดจากความไม่เข้าใจของผู้หวังดี กลายเป็นตัวซ้ำเติมผู้ป่วยให้เจ็บปวดมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนพูดตรงกันก็คือ ไม่ชอบคำปลอบใจที่พูดออกโดยไม่คิด เช่น “ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย” หรือ “ไม่เป็นไร ใคร ๆ เขาก็เป็นกัน” รวมทั้งคำแนะนำสั่งสอน โดยเฉพาะคำว่า “เข้มแข็งนะ” หรือ “สู้ ๆ นะ” เพราะคำพูดดังกล่าวมีนัยยะเชิงตำหนิผู้ป่วยว่า ยังไม่เข้มแข็งพอ หรือยังสู้ไม่พอ หาไม่ก็สร้างความกดดันให้ผู้ป่วยว่าจำต้องทำตัวให้เข้มแข็ง อ่อนแอไม่ได้ ซึ่งทำความลำบากใจแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง ดังเธอได้เผยความในใจว่า “ชั้นต้องใช้พลังอย่างมากเพื่อที่จะเข้มแข็งและสร้างความสบายใจแก่ผู้พบเห็น สิ่งนี้ลึก ๆ ภายในเป็นอะไรที่กัดกร่อนอย่างยิ่ง” สิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากกว่าคือความเข้าใจ ความเป็นเพื่อน และความรัก ซึ่งหมายถึงการยอมรับทุกอย่างที่เขาเป็น “การมีใครสักคนที่รับฟังเราจริง ๆ แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ตัดสิน ไม่แทรกแซง มีความสำคัญและมีความหมายมาก” สำหรับเธอแล้ว คำให้กำลังใจที่ดีที่สุด ไม่ใช่คำว่า ‘สู้’ แต่คือคำว่า ‘รัก’ สิ่งที่เธอพบในระหว่างการเยียวยารักษาโรค นับตั้งแต่ขั้นตอนแรก คือการตรวจ ไปจนถึงการจัดการกับเนื้อร้าย โดยต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ไม่เพียงสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบบริการสุขภาพของไทยเท่านั้น หากยังช่วยให้เห็นความทุกข์ยากลำบากที่ผู้ป่วยจะต้องประสบ ขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยในการเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เมื่อได้อ่านข้อเขียนของเธอไปจนถึงกลางเล่ม ผู้อ่านคงสังเกตได้ว่า อารมณ์ความรู้สึกของเธอค่อย ๆ เปลี่ยนไป ถ้อยคำสำนวนในเชิงจิกกัดในตอนต้น ๆ ถูกแทนที่ด้วยน้ำเสียงที่สงบนิ่งและสุขุมมากขึ้น เคยมีคนถามเธอว่าทั้ง เธออยู่ได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ป่วยหนัก แถมยังอยู่ได้ดีด้วย คำตอบของเธอคือ“ธรรมะ” เธอเล่าว่า “ชั้นโชคดีที่หันเข้าหาธรรมะ ธรรมะช่วยเยียวยาอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะจากโรค ความโกรธเกรี้ยวในตัวเอง หรือการเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว” การปฏิบัติธรรมทำให้เธอหันมามองตน จนพบว่า มะเร็งไม่ร้ายเท่ากับความทุกข์ใจ ความป่วยกายไม่ใช่ปัญหามากเท่ากับความป่วยใจ “มะเร็งไม่ได้ทำให้ยิ้มคุณหายไป ทุกข์ในใจต่างหากเป็นตัวทำ” เธอยังพบอีกว่า ความทุกข์ใจไม่ได้เกิดจากมะเร็ง แต่มีสาเหตุมาจากการวางใจผิด เช่น การไม่ยอมรับความจริงว่ากำลังเป็นโรคร้ายที่อันตรายถึงตาย เธอเห็นชัดจากประสบการณ์ของตัวเธอเองเมื่อพูดว่า “เรากลัวตาย เราหนีตาย เราไม่ยอมรับความจริงในขณะที่เราคิดว่าความจริงมันโหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงนั้นโหดร้ายกว่า เพราะมันเปรียบเหมือนคุกที่ขังใจเราไว้” ทันทีที่เธอเห็นความจริงดังกล่าว และหันมาดูแลรักษาใจ เธอก็สามารถอยู่กับมะเร็งได้ด้วยใจที่สงบสุข ทั้ง ๆ ที่ร่างกายเธอเสื่อมทรุดลงไปเรื่อย ๆ แต่จิตใจของเธอกลับมั่นคงยิ่งกว่าช่วงแรก ๆ ที่มะเร็งยังไม่แสดงอาการชัดเจนเสียอีก นี้เป็นเครื่องยืนยันว่าความป่วยกายกับความทุกข์ใจนั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ในหนังสือเล่มนี้ผู้อ่านย่อมเห็นได้ชัดถึงความเป็นมนุษย์ของเธอ ซึ่งไม่ได้มีความเข็มแข็งและกล้าหาญเท่านั้น แต่ยังมีความอ่อนแอและความกลัว เธอไม่อายที่จะเล่าเรื่องเหล่านี้ต่อสาธารณชน เพราะนี้คือความจริงที่ทุกคนต้องประสบ และควรยอมรับเพื่อหาวิธีจัดการกับมันไม่ให้มีอิทธิพลครอบงำจิตใจของตน ความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญของเธอนี้เองที่เป็นจุดเด่นประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนมากมาย เรื่องราวของเธอสามารถสรุปด้วยข้อความที่เธอเคยนำมาโพสต์ในเฟซบุ๊คของเธอว่า “There’s no need to be perfect to inspire others. Let people get inspired by how you deal with your imperfections.” (ไม่จำเป็นที่เราจะต้องสมบูรณ์แบบเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ผู้คนจะเกิดแรงบันดาลใจก็เพราะได้เห็นว่าเราจัดการกับความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเราอย่างไรต่างหาก) เมื่อยังมีชีวิต เธอได้ใช้ความเจ็บป่วยของเธอในการช่วยเหลือผู้คนที่ประสบทุกข์อย่างเดียวกับเธอ และเมื่อรู้ว่าจะต้องสิ้นลม เธอก็พยายามใช้ความตายของเธอให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ โดยเตือนให้ระลึกถึงความตาย และรู้จักใช้ธรรมะในการเยียวยารักษาใจยามป่วยไข้ นับว่าชีวิตของเธอเป็นชีวิตที่มีคุณค่าแม้อายุสั้นก็ตาม ควรที่สาธุชนจะระลึกถึงและน้อมรับบทเรียนอันมีคุณค่าจากเธอ พระไพศาล วิสาโล
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|