คำนำ
ในอดีตผู้คนตายที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันนับวันผู้คนจะตายที่โรงพยาบาลกันมากขึ้น
ยิ่งคนเมืองด้วยแล้ว สิ้นลมที่โรงพยาบาลแทบทั้งนั้น สาเหตุนั้นมีหลายประการ
เช่น ความไม่พร้อมของญาติพี่น้องในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ความต้องการที่จะให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่คนที่ตนรัก
แต่คงไม่มีสาเหตุใดสำคัญเท่ากับความปรารถนาที่จะยืดชีวิตของคนไข้ให้นานที่
สุด คนไข้แทบทั้งหมดเข้า(หรือถูกพาเข้า)โรงพยาบาลด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่
ต่อไป แต่จำนวนไม่น้อยก็ไม่สามารถกลับออกมาได้ โดยที่ในวาระสุดท้ายต้องประสบกับความทุกข์ทรมาน
ท่ามกลางความความเจ็บปวดโศกเศร้าของญาติพี่น้อง
ทุกวันนี้โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ทุกคนคาดหวังว่าจะได้รับการดูแลรักษาให้มีชีวิตยืนยาว
ต่อไป ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรก็ตาม ความคาดหวังดังกล่าวมักเกิดขึ้นโดยปฏิเสธความจริงว่าเราทุกคนต้องตายในที่
สุด ความคาดหวังดังกล่าวมีส่วนอย่างมากในการทำให้โรงพยาบาลพยายามทำทุกอย่าง
เพื่อยื้อชีวิตของคนไข้ แม้นั่นหมายถึงการสร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัสให้แก่เขา
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าโอกาสรอดชีวิตนั้นมีน้อย และบ่อยครั้งก็จบลงพร้อมกับลมหายใจสุดท้ายของเขา
ความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิตก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องตายด้วยความทุกข์ทรมานเสมอไป
การตายอย่างสงบ โดยมีคุณภาพชีวิตอย่างดีที่สุดก่อนหมดลมนั้น เป็นไปได้ การ
ตายดี อย่างนี้สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยความช่วยเหลือของแพทย์และพยาบาล โดยมีเทคโนโลยีต่าง
ๆ เป็นเครื่องสนับสนุน นี้คือที่มาของการแพทย์แบบประคับประคอง (Palliative
Medicine) ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมสมัยใหม่ รวมทั้งสังคมไทย
ซึ่งมีแบบแผนความเจ็บป่วยที่เปลี่ยนไป ทำให้มีผู้เจ็บป่วยยืดเยื้อเรื้อรังมากขึ้น
อันยากแก่การเยียวยารักษาให้หายขาด ได้แต่ประคับประคองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจนวาระสุดท้าย
การแพทย์แบบประคับประคองเป็นของใหม่ในสังคมไทย ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น
เนื่องจากผู้คนเริ่มมีความตื่นตัวเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อ
ให้ได้รับความสงบจนสิ้นลม คุณหมอสกล สิงหะ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมบุกเบิกการแพทย์แนวนี้ในเมืองไทย
โดยริเริ่มที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ท่านเป็นประธานหน่วยชีวันตาภิบาล
เป็นนิมิตดีที่ปีที่แล้วคุณหมอสกลมีโอกาสไปดูงานด้านการแพทย์แบบประคับประคองที่
ประเทศออสเตรเลียเป็นเวลาสามเดือน อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาต่อเนื่องด้านนี้
การดูงานครั้งนั้นเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเปิดโลกให้แก่ผู้อ่านเสมือนกับว่าได้พาผู้อ่านไปท่องเที่ยวและดูงานร่วม
กับผู้เขียน ราวกับอยู่ในเหตุการณ์จริง
นิราศซิดนีย์ ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการแพทย์แบบประคับประคองในออสเตรเลีย
อย่างน่าสนใจ ที่เห็นได้ชัดก็คือการวางระบบไว้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งในด้านการดูแลผู้ป่วย การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ และการติดตามผู้ป่วย
รวมทั้งการสร้างทีมดูแลที่ประกอบด้วยสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งไม่เพียงเอื้อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวมเท่านั้น
หากยังเป็นชุมชนที่ให้ความสนับสนุนด้านจิตใจแก่กันและกันด้วย นอกจากนั้นยังมีฝ่ายสนับสนุนอีกมาก
เช่น อาสาสมัคร และผู้ดูแลญาติหลังการสูญเสีย เป็นต้น
เห็นได้ชัดว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นเป็นเรื่องของศาสตร์ ที่ต้องอาศัยความรู้
ข้อมูล และการจัดการที่เป็นระบบมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการดูแลผู้ป่วยอย่างได้ผล
อันมิอาจมองข้ามได้ ก็คือ จิตใจ ของหมอและพยาบาล อันได้แก่ความเมตตากรุณา
นึกถึงประโยชน์ของผู้ป่วย และอ่อนไหวต่อความรู้สึกของเขา หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า
นอกจากความรู้และทักษะแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่แพทย์และทีมดูแลมีไม่น้อยก็คือ
การมีใจให้แก่ผู้ป่วยอย่างมาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง มิติด้านจิตใจของแพทย์และทีมดูแลมีความสำคัญมากต่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับ
ประคอง จึงทำให้การแพทย์ดังกล่าว (ที่จริงรวมถึงการแพทย์สาขาอื่นที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน)เป็นทั้งศาสตร์
และศิลป์ไปพร้อมกัน
แม้ไม่ใช่แพทย์ แต่อาตมภาพเชื่อว่าหนังสือเล่มนี้มีประโยชน์ต่อแพทย์และพยาบาลทุกคน
ที่มีความห่วงใยในผู้ป่วย ไม่ว่าอยู่ในหน่วยดูแลแบบประคับประคองหรือไม่ก็ตาม
ขณะเดียวกันก็หวังว่า นิราศซิดนีย์ จะมีส่วนช่วยจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาการแพทย์แบบ
ประคับประคองให้ตั้งมั่นในเมืองไทย โดยมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะกับเมืองไทยเอง |