กลับหน้ารวมบทสัมภาษณ์    คอลัมน์สัมภาษณ์ > New Heart New World

กลับหน้าแรก

New Heart New World : พระไพศาล วิสาโล

บทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือ New Heart New World
โลกเปลี่ยนไป...เมื่อใจเปลี่ยนแปลง
ฉบับ Pocket Book

ช่วงก่อนอุปสมบทพระไพศาล วิสาโล หรือชื่อเดิมไพศาล วงศ์วรวิสิทธิ์ มีความสนใจในการทำงานเพื่อสังคม มีความสนใจในด้านการเมือง และเคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่เมื่อได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสและงานด้านพระพุทธศาสนาของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ จึงเริ่มมีความสนใจพุทธศาสนาและมิติด้านศาสนธรรมมากขึ้น ต่อมาจึงตัดสินใจบวชเมื่อ พ.ศ.2526 ที่วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ ก่อนจะไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

แบ่งปันบน facebook Share    

THE GREAT RELATIONSHIP

พระไพศาล วิสาโล บอกว่าแม้ท่านจะเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโตก็จริง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วท่านมักจะพำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวันมากกว่า วัดป่ามหาวันเป็นวัดป่าโดยแท้จริง ที่วัดนี้มีพระอยู่เพียงไม่กี่รูป ถนนหนทางในการเดินทางมาถึงก็ค่อนข้างลำบากจำเป็นต้องขับรถจากถนนทางหลวงเข้าสู่ถนนดินลูกรัง ผ่านหมู่บ้านของชาวบ้านหลายหมู่บ้าน วิ่งผ่านทุ่งนา ภูเขามาอีกหลายสิบกิโลเมตรจึงจะเจอวัดเล็กๆ วัดนี้ตั้งอยู่ที่ปลายทางริมภูเขาภูหลง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ  

กุฏิไม้เล็กๆ ของพระไพศาล วิสาโล เต็มไปด้วยหนังสือ ท่านเล่าว่าท่านจะใช้เวลาที่นี่ส่วนใหญ่ไปกับการทำงานเขียนหนังสือ แต่ในบ่ายวันนั้นท่านละมือจากปากกาเพื่อพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเป็นไปของโลกจากการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจ

ในฐานะที่พระอาจารย์ทำงานเชิงสังคมมาเป็นระยะเวลายาวนาน พระอาจารย์มองโลกในปัจจุบันนี้ว่าเป็นอย่างไรครับ

มันก็มีทั้งความเจริญและความเสื่อม พูดถึงความเสื่อมหรือปัญหา ตอนนี้มีมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความร้าวฉานของผู้คนในสังคม ปัญหาความรุนแรง หลายปัญหารุนแรงถึงขั้นวิกฤต  ปัญหาเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วในความเห็นของอาตมา ล้วนเป็นผลมาจากวิกฤตด้านจิตใจหรือวิกฤตด้านจิตวิญญาณ ซึ่งจะว่าไปมันก็มีมานานแล้ว แต่ว่าสมัยนี้มันมีมากขึ้น เนื่องจากมนุษย์เรามีความแปลกแยกกับตัวเองมากขึ้น อีกทั้งมีความสามารถในการทำลายล้างมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีมีพัฒนาการสูง ดังนั้นความกว้างขวางและความซับซ้อนซึมลึกของปัญหาก็มากขึ้นตามไปด้วย หลายคนพยายามหาทางออก แต่ส่วนใหญ่ก็จะเน้นที่การพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีประโยชน์และช่วยได้มาก แต่ว่าถ้าเราไม่สามารถที่จะลงลึกไปถึงการแก้ปัญหาด้านจิตใจหรือจัดการกับวิกฤตด้านจิตวิญญาณ ก็ยากจะขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังรุมเร้าอยู่ในปัจจุบันได้

ยกตัวอย่างเช่นวิกฤตโลกร้อน มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าเป็นผลมาจากทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติที่บิดเบี้ยวหรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง คือไม่ยอมรับว่ามนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อีกทั้งยังเกิดความอหังการอยากจะครอบครองธรรมชาติ เอาชนะธรรมชาติ รวมทั้งเห็นธรรมชาติเป็นเพียงแค่ก้อนวัตถุที่จะสนองเสนอปรนเปรอความต้องการของตัวเองอย่างไรก็ได้ ถ้ายังมีทัศนคติอย่างนี้อยู่ก็ไม่มีทางที่จะแก้วิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เลย ถึงแม้จะมีเทคโนโลยีมากมายแค่ไหนก็แก้ไม่ได้ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ยังมีปัญหาอีกเยอะที่สะท้อนให้เห็นว่าถ้าไม่จัดการกับวิกฤตจิตวิญญาณแล้ววิกฤตด้านอื่นๆ ก็แก้ยาก

เป็นเพราะว่าคนเราห่างไกลศาสนามากขึ้นหรือเปล่าครับ

ไม่ใช่เพราะเหตุนั้นเสมอไป ถึงแม้ห่างไกลศาสนาแต่ถ้ามีสำนึกที่ถูกต้อง ปัญหาก็จะไม่เกิด  เช่น ถ้าเรามีสำนึกที่อ่อนน้อมหรือเคารพธรรมชาติ ก็จะไม่เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นอยู่  สำนึกอย่างนี้จะเรียกว่า spirituality ก็ได้ อาตมามองแยกระหว่างศาสนากับ spirituality คือถึงแม้คนเราจะห่างไกลจากศาสนาแต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนเราจะห่างไกลจากความดี คุณธรรม หรือความลุ่มลึกทางจิตใจ  มีหลายคนไม่นับถือศาสนาแต่ก็มีสำนึกทางมนุษยธรรม เป็นhumanist  มีความอ่อนไหวอ่อนโยนต่อธรรมชาติ อย่างเช่นนักปรัชญาคนหนึ่งชื่อ Peter Singer เขาเป็นคนที่รณรงค์คัดค้านการทรมานสัตว์อย่างมาก จนถึงกับเรียกร้องให้ผู้คนเลิกกินเนื้อสัตว์  สิ่งที่เขาทำนั้นสอดคล้องกับหลักศาสนามากโดยเฉพาะศาสนาพุทธ  จะว่าไปแล้วเขาเขาอาจจะทำมากกว่านักศาสนาในปัจจุบันก็ได้ โดยเฉพาะในเรื่องการเคารพชีวิตสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่เอาสัตว์มาใช้ในการทดลอง ตัวเขาเองก็เป็นมังสวิรัติ และปฏิเสธอุตสาหกรรมที่ทำลายสัตว์หรือสร้างความทรมานแก่สัตว์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาสนิกชนส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะเคลื่อนไหว แต่คน ๆ นี้เขาทำงานจริงจัง จนเกิดเครือข่ายทั่วโลก ถามว่าเขามีแรงบันดาลใจมาจากอะไร ก็จากแนวคิดแบบ humanism ที่ไม่ได้เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นอาตมาคิดว่าแม้คนเราห่างไกลจากศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาเลย ก็ไม่ได้แปลว่าเขาห่างไกลจากความดี ไม่ได้แปลว่าเขาห่างไกลจากคุณธรรม ไม่ได้แปลว่าเขาปราศจากความลุ่มลึกด้านจิตวิญญาณ

ในทางพระพุทธศาสนา ความเข้าใจในเรื่องความเป็นจริงของตนเองและธรรมชาติเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อเข้าใจความจริงของตัวเองอย่างลึกซึ้งจนกระทั่งลดละความยึดถือในตัวตน  เห็นชัดว่าตัวกูของกูนั้นไม่มีจริงๆ ก็จะกลายเป็นบุคคลที่ไม่เห็นแก่ตัว จิตใจแผ่กว้างเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติสรรพสัตว์ เห็นชัดว่าไม่มีเส้นแบ่งระหว่างฉันกับธรรมชาติ นี้คือความลุ่มลึกทางด้านจิตวิญญาณที่ประเสริฐมาก

ปัญหาทุกอย่างในสังคมหรือแม้แต่ในโลกที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สงคราม หรือแม้กระทั่งโลกร้อน ทั้งหมดล้วนเกิดจากวิกฤตทางด้านจิตใจทั้งหมดเลยหรือครับ

พูดอย่างนั้นก็ได้ ถ้าเราลองสืบสาวดูจะพบว่าในปัญหาทุกปัญหาตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับชุมชนไปจนถึงระดับโลก จะมีตัวการอยู่ 3 ตัวใหญ่ๆ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ปปัญจธรรม หรือกิเลสที่ทำให้เนิ่นช้าบิดเบี้ยว ปปัญจธรรม 3 ประกอบด้วยตัณหา ทิฏฐิ และมานะ

การอยากครอบครอง อยากมั่ง อยากมี รวมทั้งอยากแสวงหาอำนาจก็คือตัณหา การที่ประเทศอเมริกาต้องการเป็นใหญ่มีอำนาจในตะวันออกกลางก็เพราะที่นั่นมีน้ำมันมหาศาลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจของอเมริกัน  ความต้องการน้ำมัน อยากร่ำรวย  อันนี้เรียกว่าตัณหา ในทำนองเดียวกันจีนก็พยายามเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ก็เพราะต้องการครอบงำทางด้านเศรษฐกิจ อันนี้ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากนั้นยังมีเรื่องของมานะ มานะคือความถือตัวถือตน ถือว่าฉันใหญ่กว่าแก สูงกว่าแก บางทีไม่ได้ทะเลาะกันเพราะอยากจะได้อะไร แต่เพราะรู้สึกเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี อย่างเช่นวัยรุ่นยกพวกตีกัน บ่อยครั้งสงครามก็เกิดขึ้นเพราะเรื่องศักดิ์ศรีหน้าตาหรือเพราะต้องการมีอำนาจเหนืออีกฝ่าย  กิเลสอีกอันหนึ่งได้แก่ทิฏฐิคือความเชื่อ การยึดติดในความเชื่อก็ทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น เกิดสงครามระหว่างศาสนา สงครามระหว่างนิกาย อย่างเมืองไทยตอนนี้ความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงก็เป็นเรื่องของทิฏฐิด้วย

ถึงที่สุดแล้วก็มีกิเลสสามตัวใหญ่ๆ ที่อยู่เบื้องหลังปัญหาต่าง ๆ แต่พูดอย่างนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาแก้ตรงนี้หรือที่จิตใจอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้วกิเลสสามตัวนี้ก็เป็นผลมาจากโครงสร้างของระบบหรือสถาบันที่หล่อหลอมหรือส่งเสริมให้มันแพร่หลายและซึมลึกในจิตใจของผู้คน เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาสังคมหรือปัญหาของโลก ประการแรกก็ต้องกลับมาตัวเราเอง กลับมาที่จิตใจของผู้คน แต่เท่านั้นไม่พอ ต้องพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบหรือสถาบันต่าง ๆ ด้วย เช่น ทำให้ระบบทุนนิยมมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เห็นแก่กำไรน้อยลง ระบบการเมืองก็ต้องไม่ส่งเสริมการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายหรือกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังและข่มเหงคะเนงร้ายกัน เป็นต้น

พระอาจารย์คิดว่าเราจะแก้ระบบขนาดใหญ่เหล่านั้นได้อย่างไรครับ

ถ้าไม่จัดการกับระบบเหล่านี้ ก็ยากที่จะแก้วิกฤตได้  แต่ถ้าจะแก้ต้องดูเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบสื่อสารมวลชน ยกตัวอย่างระบบสื่อสารมวลชน การมีทีวีสาธารณะก็เป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันมิให้สื่อสารมวลชนถูกครอบงำโดยอำนาจทุนมากเกินไป แต่ยังมีวิธีอื่นอีก เช่นการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เอื้อต่อผู้มีอำนาจหรือคนรวย ส่งเสริมความเป็นธรรม ไม่มุ่งผลประโยชน์ระยะสั้นที่เป็นเม็ดเงินเท่านั้น หลังจากที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้งในยุโรปและอเมริกา ก็มีการถกเถียงกันว่าโมเดลทางเศรษฐกิจแบบไหนที่จะทำให้เกิดความเจริญที่ยั่งยืนและไม่ก่อปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าซึ่งมักจะลงเอยที่การสร้างความเดือดร้อนให้คนเล็กคนน้อย นี่เป็นการบ้านที่ต้องช่วยกันคิดกันว่าเราจะปฏิรูประบบที่เป็นอยู่อย่างไรเพื่อให้สังคมนี้มีความปกติสุข  และไม่ก่อปัญหา

แต่ทั้งหมดนี้หลายคนก็ยังบอกว่ายังไม่ก้าวหน้าพอ เพราะเราคิดกันถึงแต่เรื่องของความอยู่ดีกินดีขึ้นมนุษย์ แต่ว่าเราลืมผลกระทบต่อธรรมชาติและสรรพสัตว์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโลก อันนี้ก็เป็นอีกมิติที่ต้องคำนึงว่าโลกที่พึงปรารถนาจะต้องไม่ใช่เป็นโลกที่เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่อยู่กันอย่างปกติสุข แต่ต้องเอื้อเฟื้อหรือมีพื้นที่ให้แก่สรรพชีวิตที่จะได้อยู่อย่างปลอดภัย มีความมั่นคงด้วย อันนี้ก็ตรงกับแนวคิดแบบพุทธ เพราะโลกนี้เป็นของทุกชีวิต เป็นโลกที่เราต้องอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เป็นของมนุษย์ฝ่ายเดียว

จากที่พระอาจารย์บอกว่าพระพุทธศาสนาคือการทำความเข้าใจตนเองและธรรมชาติ อยากถามพระอาจารย์ว่าความรู้ที่เราจะได้จากการทำความเข้าใจธรรมชาติคืออะไร

ที่จริงไม่ต้องอาศัยความลึกซึ้งทางธรรมก็ได้ เฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเราก็สามารถเห็นได้แล้วว่ามนุษย์เราไม่สามารถแยกจากธรรมชาติ อาหาร น้ำ ปัจจัยสี่ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราก็ล้วนมาจากธรรมชาติ ยิ่งมนุษย์สมัยก่อนที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แม้ไม่มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เขาก็เห็นชัดเจนว่าชีวิตเขาต้องพึ่งพาธรรมชาติ  ฉะนั้นเพียงแค่เราเปิดใจรับรู้ความจริงที่อยู่รอบตัวเรา เราก็จะรู้ว่าธรรมชาติสำคัญต่อตัวเราอย่างไร คนสมัยก่อนจึงมีประเพณีที่เคารพธรรมชาติ เช่น ทางภาคเหนือมีความเชื่อว่าห้ามเปลี่ยนเส้นทางน้ำ ห้ามถมบ่อ ถมสระ ถมคลอง เพราะเขารู้ว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วจะเกิดความเดือดร้อน ทั้งกับตัวเองและคนอื่น ความรู้แบบนี้อยู่เบื้องหลังค่านิยมประเพณีหรือความเชื่อที่เรียกว่า ขึด หรือผิดผี นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมค่านิยมอีกมากมาย อย่างเช่น ความเชื่อว่าถ้าตัดต้นไม้ใหญ่ก็จะผิดผี หรือต้องขออนุญาตเทวดาอารักษ์หรือผีป่าก่อน อันนี้เป็นสำนึกที่เกิดขึ้นจากการตระหนักว่าชีวิตเราไม่อาจแยกขาดจากธรรมชาติได้ เราต้องเคารพธรรมชาติ แต่ว่าความสำนึกแบบนี้เจือจางและเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเราเริ่มถูกแวดล้อมไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ เช่น อยู่ในตึก อยู่ในเมือง ซึ่งแยกเราออกจากธรรมชาติ ทำให้เราไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทำให้เกิดทัศนคติการมองโลกแบบหยาบกระด้าง ขาดความลุ่มลึก หรือที่เรียกว่าสามานย์ (profane) ทำให้พร้อมจะทำลายธรรมชาติเพื่อสนองความต้องการของตัวอง

โดยปกติแล้วพระอาจารย์อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยู่บนเขา อยู่กับต้นไม้ แต่อีกด้านหนึ่งพระอาจารย์มักจะถูกเชิญไปทำงานในเมืองบ่อยๆ ทำให้มองเห็นความแตกต่างทั้งสองด้าน พระอาจารย์คิดว่าการอยู่ในป่าเขากับธรรมชาติให้ประโยชน์อะไรกับพระอาจารย์โดยตรงบ้างครับ

ทำให้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ทำให้ชีวิตเราช้าลง แล้วก็ทำให้ชีวิตเราสงบเงียบมากขึ้น อาตมาคิดว่าสามอย่างนี้สำคัญ เพราะว่าชีวิตในกรุงเทพมีสิ่งกระตุ้นเร้าตลอดเวลา ถึงแม้คุณอยู่คนเดียวแต่ว่าจะมีสิ่งเร้ารวมทั้งข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้ามาหาคุณตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องนอน สิ่งเหล่านี้กระตุ้นเร้าให้คิดฟุ้งปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน จึงเป็นชีวิตที่ไม่เงียบสงบเลย ทำให้มีสมาธิได้ยาก ทำให้คนสนใจแต่เรื่องระยะสั้น ไม่สามารถจะมองอะไรยาวๆ ได้ เพราะไม่มีเวลาคิด แต่อยู่ที่วัดปัญหาแบบนี้จะเกิดน้อยมาก นี่คือประโยชน์อย่างหนึ่งที่ได้จากที่นี่  แม้จะขาดความสะดวกสบาย ที่นี่ไม่ค่อยมีความสะดวกสบาย แค่จะมาก็มาลำบาก แต่สิ่งที่ได้จากการมาอยู่ที่นี่คือความสงบ ความเป็นส่วนตัว และความได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ที่สำคัญคือได้ใกล้ชิดกับตัวเองด้วย มีเวลาที่จะไตร่ตรองตัวเองมากขึ้น

เป็นไปได้หรือไม่ครับที่คนที่อยู่ในเมืองจะสามารถใกล้ชิดกับตัวเองได้

เป็นไปได้ หากคุณไม่ปล่อยให้สิ่งแวดล้อมมาครอบงำหรือแย่งชิงเวลาและความใส่ใจไปจากคุณมากเกินไป ซึ่งหมายความว่าคุณจะต้องปิดโทรทัศน์ ปิดโทรศัพท์ ปิดคอมพิวเตอร์ ปิดไอแพดบ้าง ตอนนี้หลายบริษัทใหญ่ในอเมริกาเขามีชั่วโมงสงบ คือพนักงานต้องปิดโทรศัพท์ ปิดแบล็คเบอรี่ ปิดเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด รวมทั้งงดตอบอีเมล์ในช่วงเช้า ปรากฏว่าคนทำงานได้ดีขึ้น ถ้าคุณต้องการสงบเมื่ออยู่ในเมืองคุณต้องทำอย่างนี้บ้าง พยายามจำกัดเหตุปัจจัยต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารไม่ให้เข้ามารบกวนเวลาและสมาธิของคุณมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเก็บตัวอยู่ในห้องคนเดียว เพราะเวลาอยู่ในเมืองคุณไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันไม่ให้มีเสียงรบกวนได้  ตรงนี้คุณต้องฝึกทำใจด้วย เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกเจริญสติ ถ้าคุณมีสติที่ปราดเปรียว รู้ทันความรู้สึกนึกคิดได้ไว ต่อให้มีเสียงดังมากระทบ ใจคุณก็จะไม่กระเพื่อม
หรือกระเพื่อมนิดหน่อยแล้วก็กลับมาเป็นปกติได้ไว

พระอาจารย์มีงานเขียนที่ถ่ายทอดออกสู่สังคมหลากหลายรูปแบบ แนวความคิดหลักของสิ่งที่พระอาจารย์พยายามถ่ายทอดออกสู่สังคมในงานทุกๆ อย่างคือเรื่องอะไรครับ

อาตมาคิดว่าคนเราจะมีความสุขและสังคมจะสงบสุขได้ต่อเมื่อเรามีสัมพันธภาพที่ดีในสามมิติ คือสัมพันธภาพกับตัวเอง สัมพันธภาพกับผู้อื่น และสัมพันธภาพกับธรรมชาติ ถ้ามนุษย์เรามีสัมพันธภาพที่ดีในสามมิตินี้ก็จะมีความสุข สังคมหรือโลกก็จะมีความสุขด้วย งานเขียนและงานด้านอื่น ๆ ของอาตมาก็มุ่งเน้นให้คนเห็นความสำคัญของสัมพันธภาพทั้งสามมิตินี้ เริ่มจาก การมีสัมพันธภาพที่ถูกต้องกับตนเอง ตรงนี้ศาสนาพุทธเน้นมาก โดยอาศัยสมาธิภาวนา เช่น การเจริญสติ วิปัสสนากรรมฐาน เพราะทุกวันนี้คนเราแปลกแยกกับตัวเอง เหินห่างหมางเมินกับตัวเองมาก จนไม่สามารถที่จะอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข เรียกว่าไม่เป็นมิตรกับตัวเอง คนทุกวันนี้พยายามหนีตัวเองอยู่ตลอดเวลา หนีตัวเองด้วยการไปเที่ยวห้าง เที่ยวหาสิ่งเสพความบันเทิง หรือไม่ก็หนีไปอยู่กับงานการ  อาตมาอยากจะให้คนเรากลับมาเป็นมิตรกับตัวเอง กลับมามีสัมพันธภาพที่ดีกับตัวเอง รู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง ตรงนี้เป็นเรื่องจิตวิญญาณมาก

แต่ว่าจิตวิญญาณไม่ได้หมายถึงสัมพันธภาพกับตัวเองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย เช่น เห็นผู้อื่นเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ มีความเมตตา กรุณา มีความเอื้อเฟื้อ ใจกว้าง ไม่มองคนอื่นเป็นศัตรู ไม่เห็นคนที่คิดแตกต่างจากตัวเองเป็นศัตรู รวมไปถึงการรู้จักแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เมื่อมีความขัดแย้งก็ต้องใช้ความดี ต้องใช้ธรรมะเข้าประสาน ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำร้ายเขา นอกจากนั้นก็ต้องมีสัมพันธภาพที่ดีกับธรรมชาติ เคารพธรรมชาติ เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่ต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ทั้งหมดที่เขียนและที่ได้ทำมาจะมีแกนหลักอยู่ตรงนี้

คนเราควรทำความเข้าใจหรือทำความรู้จักตัวเองในระดับใดบ้างครับ

เริ่มแรกก็คือเข้าใจว่าเราเป็นใคร เรามีความถนัดตรงไหน เรามีนิสัยอย่างไร เรามีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน หรือเราชอบอะไร อันนี้เป็นสิ่งสำคัญเวลาเราตัดสินใจว่าจะเรียนอะไร เรียนที่ไหน มีอาชีพอะไร แต่ว่าเท่านั้นไม่พอ นอกจากรู้ว่าเรามีนิสัยอะไรหรือชอบอะไรแล้ว เราต้องรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของเราเองด้วย ตรงนี้ต้องอาศัยการหมั่นมองตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่อง สติ สัมปชัญญะ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น เวลาโกรธรู้ว่าโกรธ เวลาโมโหรู้ว่าโมโห เวลาจะทำอะไรแม้เป็นงานเพื่อส่วนรวมก็สามารถมองเห็นว่าอาจมีแรงจูงใจที่เป็นความเห็นแก่ตัวก็ได้ สามารถมองเห็นกิเลสของตนเองที่อยู่เบื้องหลังความรู้สึกนึกคิดและการกระทำต่าง ๆ ได้  

การรู้ตัวเองระดับต่อมาก็คือเห็นลึกไปถึงว่าความรู้สึกนึกคิดของเราล้วนเกิดจากการปรุงแต่งและตกอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นกระทั่งว่าตัวกูของกูนั้นแท้จริงเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง มันไม่ได้มีอยู่จริง ไม่มีแม้กระทั่งตัวฉัน จะเห็นอย่างนี้ได้ต้องอาศัยการมองตนอย่างลึกซึ้งจนกระทั่งไม่เห็นตน มองตนจนไม่เห็นตน  อันนี้เป็นการรู้จักตัวเองที่ลึกซึ้งที่สุด ซึ่งก็มีแต่พระอริยะเจ้าที่จะมองเห็นความจริงตรงนี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง

พระอาจารย์คิดว่าการทำจิตใจใหม่เป็นเรื่องจำเป็นหรือไม่ครับ และถ้าจำเป็นมันมีวิธีอย่างไรที่สำคัญ รวมไปถึงมันจะส่งผลอย่างไรต่อโลกของเราบ้างครับ

โลกปรากฏแก่สายตาของเราอย่างไรขึ้นอยู่กับความคิดหรือจิตใจของเรามาก คนที่มีความสุขเพราะแฟนเพิ่งบอกรักเขาก็จะเห็นโลกสดใส แต่คนที่สูญเสียคนรักหรือคนที่ถูกไล่ออกจากงาน เขาจะเห็นว่าโลกนี้หดหู่เหลือเกิน ใจของเราเป็นฐานของการรับรู้โลก โลกนี้ปรากฏแก่เราอย่างไรจึงขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของเราในขณะนั้น นั่นก็หมายความว่าจิตใจเรายังวนอยู่กับอดีต ยังอาลัยในความสูญเสียหรือเหตุร้ายในอดีต โลกก็จะดูหดหู่ เศร้าหมอง แต่ถ้าเราพยายามวางเรื่องราวในอดีตแล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เราจะพบว่าโลกสามารถจะให้ความสุขกับเราได้ตลอดเวลา อาตมามองว่าถ้าวางใจให้เป็น อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น มองในแง่บวกมากขึ้น คุณจะรู้สึกว่าโลกนี้เปลี่ยนไป โลกพร้อมจะเปลี่ยนตลอดเวลาแค่เพียงจิตใจคุณเปลี่ยน ความรู้สึกคุณเปลี่ยน หรือคุณเปลี่ยนมุมมอง ทีนี้เมื่อเราเห็นว่าโลกนี้มีความสวยงาม มันไม่ได้เลวร้ายไปหมดหรือไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เราจะมีกำลังใจในการทำความดีหรือช่วยให้โลกนี้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ชื่นชมโลกนี้อย่างเดียว แต่ยอมรับด้วยว่าโลกนี้มีสิ่งที่ต้องแก้ไข เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดีขึ้น เช่น ช่วยกันปลูกป่า รักษาต้นไม้ รักษาลำห้วยลำธาร หรือว่าช่วยกันเอื้อเฟื้อคนยากคนจนให้เขาได้ลืมตาอ้าปากหรือมีสิทธิมีโอกาสเหมือนเรา โลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นหากเราไม่นิ่งเฉยแต่ลุกขึ้นมาทำอะไรให้แก่โลก และที่เราลุกขึ้นมาทำอะไรให้โลกนี้ได้เพราะเรายังเห็นว่าโลกนี้มีความหวัง เพราะเรามีไฟที่จะทำสิ่งดีงาม และที่เรายังมีไฟก็เพราะเราเปลี่ยนมุมมอง เรามีวิธีคิดแบบใหม่ที่ทำให้เราไม่หดหู่สิ้นหวังกับความเป็นไปของโลก อาตมาว่าเรื่องนี้สำคัญ

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved