ประเภท : งานเขียน | |
![]() |
ประตูสู่สภาวะใหม่ และ เหนือห้วงมหรรณพ ผู้แต่ง โซเกียล ริมโปเช
|
คำปรารภของผู้แปล ประตูสู่สภาวะใหม่ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี๒๕๔๑ ส่วน เหนือห้วงมหรรณพ ตีพิมพ์ในสองปีถัดมา ทั้งสองเล่ม โดยเฉพาะเล่มแรก ได้ทำให้ผู้อ่านจำนวนไม่น้อยเกิดความสนใจเรื่องการเตรียมตัวตายและการช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ใช่แต่เท่านั้นยังส่งผลต่อตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นผู้แปลอีกด้วย หลายคนมีพ่อแม่ที่กำลังป่วยหนักใกล้ตาย เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว อยากให้บุพการีของตนได้พบกับความสงบในระยะสุดท้ายของชีวิตบ้าง จึงได้นิมนต์ข้าพเจ้าให้ไปช่วยนำทางผู้ป่วย บางท่านไม่ได้รู้จักข้าพเจ้าเป็นส่วนตัวเลย แต่ข้าพเจ้าก็ยินดีช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าเชื่อว่าการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบนั้น คนที่จะทำได้ดีที่สุดก็คือ ญาติผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ลูกหลาน หรือคนรัก เพราะรู้จักนิสัยใจคอและภูมิหลังของผู้ป่วยดีที่สุด หากเข้าใจหลักการดูแลจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็สามารถทำเองได้ไม่ยาก ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าและมิตรสหายจึงได้ริเริ่มจัดการอบรมเรื่องนี้ให้แก่ผู้สนใจ เพื่อนำไปทำกับคนรักที่กำลังป่วยหนัก รวมทั้งทำกับตนเองเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง การอบรมดังกล่าวเริ่มอย่างลองผิดลองถูกเมื่อปี ๒๕๔๕ และพัฒนามาจนค่อนข้างลงตัวในปี ๒๕๔๗ นับแต่นั้นมาการอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ”ก็ได้ทำอย่างต่อเนื่อง จากปีละไม่กี่ครั้ง จนกลายเป็นปีละนับสิบครั้ง ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือระหว่างเครือข่ายพุทธิกา กับ เสมสิกขาลัย ไม่นับการจัดอบรมในชื่ออื่น(และเน้นหนักในบางด้าน) ซึ่งจัดโดยองค์กรอื่น แต่มีข้าพเจ้าเป็นวิทยากรหลัก รวมแล้วก็ไม่น้อยกว่า ๑๕ ครั้งในแต่ละปี อีกทั้งข้าพเจ้ายังได้รับนิมนต์ให้ไปบรรยายในเรื่องทำนองนี้อย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา จนมีความเข้าใจกันว่าข้าพเจ้าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ”เรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้ศึกษา ที่ประสงค์จะรวบรวมองค์ความรู้ในเรื่องนี้เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจ แนวคิดและประสบการณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ข้าพเจ้าได้มาจากผู้ร่วมอบรม และเมื่อเสริมกับประสบการณ์ตรงจากการเยี่ยมเยียนผู้ป่วย ก็ทำให้มั่นใจว่าการช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบนั้นอยู่ในวิสัยที่ใคร ๆ ก็ทำได้ น่ายินดีที่ว่านับตั้งแต่ประตูสู่สภาวะใหม่ และ เหนือห้วงมหรรณพ ได้รับการตีพิมพ์ เมืองไทยมีความตื่นตัวมากขึ้นในการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่จำเพาะในหมู่คนทั่วไป หรือคนที่สนใจใฝ่ธรรมเท่านั้น หากยังรวมถึงสถานพยาบาลต่าง ๆ ทำให้ “การแพทย์แบบประคับประคอง” ได้รับความสนใจยิ่งขึ้น และเริ่มมีการนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย รวมทั้งกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบดูแลรักษาสุขภาพของไทย แม้ว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเกิดขึ้นไม่มากนักในโรงเรียนแพทย์ แต่ก็หวังว่าในอนาคตหลักสูตรการแพทย์ของไทยจะให้น้ำหนักแก่เรื่องนี้มากขึ้น ประตูสู่สภาวะใหม่ เหนือห้วงมหรรณพ ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง โดยมีการแก้ไขบ้างเล็กน้อย ในการพิมพ์ครั้งใหม่นี้ ได้เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน รวมทั้งคำบรรยายภาพ ให้สอดคล้องกับต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ได้มีการปรับปรุงในโอกาสพิมพ์ครบ ๒๐ ปี ในการแปลเพิ่มเติมครั้งใหม่นี้ ข้าพเจ้าขอขอบคุณอาจารย์กฤษดาวรรณ หงส์ลดารมภ์ แห่งมูลนิธิพันดารา สำหรับการถอดชื่อธิเบตเป็นไทย พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|