ประเภท : งานเขียน | |
![]() |
นิมิตใหม่แห่งการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย
|
ชีวิตกับความตายเป็นของคู่กัน เมื่อยังมีชีวิต เราควรอยู่อย่างมีคุณภาพ นั่นคือใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ทำคุณงามความดี เข้าถึงความสุขที่ประเสริฐ และยังประโยชน์แก่ส่วนรวม มิใช่อยู่อย่างว่างเปล่า อมทุกข์ เศร้าซึม หรือเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อถึงคราวจะตาย ก็ควรตายอย่างมีคุณภาพ นั่นคือ ตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน หรือทุรนทุราย อีกทั้งไม่สร้างภาระแก่ผู้อื่น สามารถเป็นบทเรียนให้แก่คนรอบข้างในการอยู่ดีและตายดี แต่ดูเหมือนว่าผู้คนทุกวันนี้สนใจเพียงแค่การมีชีวิต ลืมคิดว่าสักวันหนึ่งตนจะต้องตาย ทุกคนต่างดิ้นรนขวนขวายไปให้ถึงจุดหมายชีวิตที่วางไว้ แต่ส่วนใหญ่ลืมนึกถึงปลายทางชีวิต จุดหมายชีวิตนั้นไม่แน่นอนว่าเราจะบรรลุได้หรือไม่ แต่ปลายทางชีวิตนั้นต้องมาถึงอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว เป็นเพราะไม่ได้ตระหนักอย่างจริงจังว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย ผู้คนจึงใช้ชีวิตอย่างประมาท นึกถึงแต่การทำมาหาเงิน สะสมทรัพย์สมบัติ แสวงหาอำนาจและชื่อเสียง อีกทั้งหมกมุ่นเพลิดเพลินกับความสุขเฉพาะหน้า ไม่คิดเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับความตายที่จะต้องเกิดกับตน ดังนั้นเมื่อวันนั้นมาถึง จึงตื่นตระหนก หวาดกลัว พยายามทำทุกอย่างเพื่อยื้อชีวิตและผลักไสความตายไปให้ไกลที่สุด แต่ยิ่งต่อสู้ขัดขืนความตายมากเท่าใด ก็ยิ่งทุรนทุรายมากเท่านั้น ผลสุดท้ายก็คือตายอย่างทุกข์ทรมาน นี้คือชะตากรรมที่เกิดกับผู้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเน้นการแสวงหาความสุขสนุกสนานจากวัตถุสิ่งเสพ และรังเกียจความตาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวนับวันจะเห็นได้ชัดขึ้นและมากขึ้นทุกทีในโรงพยาบาล เพราะเป็นสถานที่ที่ผู้คนคาดหวังว่าเมื่อล้มป่วยแล้วจะได้รับการยื้อชีวิตให้ยืนยาวที่สุด ยิ่งมีเทคโนโลยีก้าวหน้าราคาแพงมากเท่าไร ก็ยิ่งคาดหวังฝังใจว่าจะรอดพ้นจากความตายมากเท่านั้น แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าคนแล้วคนเล่านอกจากจะไม่รอดแล้ว ยังประสบความทุกข์ทรมานอย่างมากก่อนตายด้วยซ้ำ คนทุกวันนี้มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นก็จริง แต่เมื่อถึงคราวต้องตาย กลับมีแนวโน้มว่าจะตายลำบากยิ่งกว่าเดิม ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันผู้คนถึง ๒ ใน ๓ นอกจากตายในโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชราแล้ว ยังเจอการรักษาที่ไร้ประโยชน์และก้าวร้าวรุนแรง หลายคนตายคนเดียว ด้วยความสับสนและเจ็บปวด จำเพาะประเทศอเมริกา มีการวิจัยพบว่า ระหว่างปี ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๕๓ คนอเมริกันที่มีความสับสน เป็นโรคซึมเศร้า และเจ็บปวดในปีท้าย ๆ ของชีวิตมีสัดส่วนมากขึ้น ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ แม้มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามากมาย แต่บ่อยครั้งกระบวนการรักษาที่กระทำแก่ผู้ป่วยระยะท้ายนั้น นอกจากไม่ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นเลย ยังก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากมาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ป่วยแม้กระทั่งในช่วงท้ายของชีวิต ประมาณ ๑ ใน ๘ ของชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้รับเคมีบำบัดกระทั่ง ๒ สัปดาห์สุดท้ายของชีวิต ทั้ง ๆ ที่วิธีดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์อันใดสำหรับผู้ป่วยระยะนี้เลย ยิ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้ว เกือบ ๑ ใน ๓ ได้รับการผ่าตัดในช่วงปีสุดท้าย ร้อยละ ๘ ถูกผ่าตัดกระทั่งสัปดาห์สุดท้าย ตัวเลขดังกล่าวชวนให้คิดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากไม่ช่วยยื้อชีวิตแล้ว กลับจะทำให้ตายเร็วขึ้นด้วยซ้ำ ในปี ๒๕๕๑ มีการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ถูกช็อกด้วยไฟฟ้า หรือถูกกดหน้าอก หรือเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูขณะใกล้เสียชีวิต มีคุณภาพชีวิตในสัปดาห์สุดท้ายแย่กว่าคนที่ไม่ได้รับการรักษาเสียอีก ยิ่งกว่านั้นญาติมิตรที่ช่วยดูแลเขา ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเป็น ๓ เท่าหลังจากพวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว ๖ เดือน ประการหลังนั้นนอกจากเป็นเพราะว่าผู้ดูแลไม่ได้เตรียมใจล่วงหน้าว่าคนรักของตนจะตายแล้ว ยังเกิดจากการที่ได้เห็นคนรักของตนมีคุณภาพชีวิตที่แย่หรือประสบความทุกข์ทรมานก่อนตาย เคยมีการสอบถามญาติมิตรของผู้ป่วยที่เสียชีวิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว เกือบร้อยละ ๔๐ ระบุว่าเพื่อนหรือญาติของตนได้รับความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น เมื่อถามถึงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ส่วนใหญ่ให้คะแนน “ปานกลาง” หรือ “แย่” ประการต่อมาคือการตระเตรียมด้านการดูแลร่างกายในยามเจ็บป่วย เช่น เมื่อเจ็บป่วยจนถึงระยะท้ายของชีวิต กล่าวคือ ป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หาย และอยู่ในระยะท้ายของโรคนั้น อีกทั้งร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษา ก็ควรพิจารณาว่า การรักษาเยียวยาอย่างใดที่อนุญาตให้ทำได้ อย่างใดที่ไม่อนุญาตให้ทำ ทั้งนี้เพื่อไม่เพิ่มทุกขเวทนา หรือสร้างความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น ไม่ก่อภาระแก่ครอบครัวมากเกินไป อีกทั้งยังเอื้อให้ตนเองได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าหรือมีความหมายต่อชีวิตก่อนสิ้นลม อันที่จริงการตระเตรียมดังกล่าวควรทำขณะที่ยังมีสุขภาพดี ไม่ควรรอทำเมื่อล้มป่วย เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อาจล้มป่วยกะทันหันจนสื่อสารกับใครไม่ได้เลยก็ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อตระเตรียมหรือตกลงปลงใจแล้ว ก็ควรแจ้งให้ลูกหลานคนรับได้รับรู้ เพื่อทำทุกอย่างที่ตนได้ระบุไว้ในยามที่ป่วยหนักจนไม่อาจสื่อสารหรือตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ดังได้กล่าวแล้วว่า การเยียวยารักษาในปัจจุบันบ่อยครั้งสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น อันเป็นเหตุให้ตายด้วยความทุกข์ทรมาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยไม่มีทางเลือกอื่น ทางเลือกนั้นมีอยู่ นั่นคือ การดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งเป็นการดูแลที่ไม่มุ่งยื้อชีวิต แต่พยายามลดความเจ็บปวดหรือ ความทุกข์ทรมาน และช่วยให้สุขสบายมากที่สุด กระบวนการใด ๆ ที่ยื้อชีวิต แต่เพิ่มความเจ็บปวด และทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ก็จะไม่ทำ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความต้องการของคนไข้ โดยเฉพาะสิ่งที่อยากทำในวาระสุดท้ายของชีวิต การดูแลแบบประคับประคองนั้นเป็นการดูแลทั้งกายและใจ ไม่เพียงลดความเจ็บปวดทางกายที่เกิดกับคนไข้ หากยังให้ความสำคัญกับจิตใจของคนไข้ นอกจากช่วยให้คนไข้น้อมนึกถึงสิ่งดีงาม ภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา การช่วยให้คนไข้ได้ทำสิ่งสำคัญสุดท้ายของชีวิตก็สำคัญไม่น้อย การสนองความต้องการดังกล่าว ช่วยให้คนไข้ยอมรับความตายได้มากขึ้น ไม่ต่อสู้ขัดขืนกับความตาย อันจะทำให้เกิดความทุรนทุรายก่อนตาย การดูแลแบบประคับประคองไม่ต้องการเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและราคาแพง จึงสามารถทำได้แม้กระทั่งในบ้าน ปัจจุบันมีสถานดูแลผู้ป่วยชนิดหนึ่งที่ทำงานด้านนี้โดยตรง นั่นคือ สถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือ hospice ซึ่งจัดว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน มีการศึกษาวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า ผู้ป่วยใน hospice มีคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ป่วยที่ถูกยื้อชีวิตด้วยการอยู่ในห้องไอซียูตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น เจ็บปวดน้อยกว่า ช่วยตัวเองได้มากกว่า มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีกว่าและนานกว่า ที่น่าประหลาดใจคือแม้การดูแลแบบประคับประคองมิได้มุ่งยื้อชีวิตผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบนี้จำนวนมากกลับมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ถูกยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด งานวิจัยของโรงพยาบาลกลางแมสสาชูเสทเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะ ๔ ที่ได้รับการดูแลใน hospice นอกจากเจ็บปวดทุกข์ทรมานน้อยกว่าผู้ป่วยประเภทเดียวกันที่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน (เช่น ฉายแสง เคมีบำบัด) ยังมีชีวิตยืนยาวกว่าคนเหล่านั้นถึงร้อยละ ๒๕ ขณะเดียวกัน หน่วยงานประกันสุขภาพของสหรัฐ หรือ Medicare หลังจากที่ได้ศึกษาผู้ป่วย ๔,๔๙๓ คนที่เป็นมะเร็งระยะท้ายและโรคหัวใจ ก็พบเช่นกันว่า ผู้ป่วยใน hospice มีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสียอีก แม้ว่าการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองสามารถทำได้ในโรงพยาบาล ดังปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศให้ความสนใจกับเรื่องนี้มากขึ้น แต่การมีสถานพยาบาลที่ทำเรื่องนี้โดยตรงก็มีความสำคัญที่ควรส่งเสริมให้มีขึ้นมาก ๆ สถานพยาบาลที่สามารถทำงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดีก็คือ สถานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย หรือ hospice ซึ่งเมืองไทยตอนนี้ยังมีอยู่น้อยมาก น่ายินดีอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นความสำคัญของงานด้านนี้ จึงได้จัดตั้งศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ขึ้น นับเป็นการสร้างมิติใหม่ของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างกว้างไกล ไม่จำเพาะด้านสาธารณสุขเท่านั้น หากยังส่งเสริมสัมมาทัศนะในเรื่องชีวิตและความตายให้แพร่กระจายออกไป คือความเห็นว่า ความตายเป็นธรรมดาของชีวิตที่พึงยอมรับ มิใช่สิ่งที่ต้องต่อสู้ขัดขืนหรือผลักไส หากมีท่าทีที่ถูกต้อง การตายอย่างสงบก็เกิดขึ้นได้ การจัดตั้งศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ เป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่น่าอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ขออวยพรให้ศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ มีความเจริญตั้งมั่น ประกอบกิจอันเป็นคุณประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์เพื่อประสบความสุขสงบในวาระท้าย อย่างยั่งยืนยาวนาน อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้กิจการดังกล่าวแผ่ขยายไปทั่วแผ่นดินไทย |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|