ประเภท : งานเขียน | |
![]() |
ธรรมะชนะทุกข์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๖๒ |
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อันตรายมีสองประเภท ประเภทแรกได้แก่ “อันตรายที่ปรากฏ” อาทิ สัตว์ป่า งูเงี้ยวเขี้ยวขอ คนร้าย โรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น ประเภทที่สองได้แก่ “อันตรายที่ปกปิด” อาทิ นิวรณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ความถือตัว ความประมาท เป็นต้น อันตรายทั้งสองประเภท เรียกอีกอย่างว่า อันตรายจากภายนอก และอันตรายจากภายใน ทุกวันนี้อันตรายจากภายนอกเกิดขึ้นกับเราน้อยลง ทั้งนี้เพราะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจและสังคมก็มีความมั่นคงกว่าแต่ก่อน วิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันจึงปลอดภัยและมีความสะดวกสบายกว่ายุคใดสมัยใด อย่างไรก็ตามอันตรายจากภายในหาได้ลดลงไม่ ผู้คนยังมีความทุกข์ใจเหมือนเดิม หรือหนักขึ้นด้วยซ้ำ หากดูจากสถิติของผู้ป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้าและอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น ยังไม่นับยาคลายเครียดและยานอนหลับซึ่งขายดี ในขณะที่คนทั่วไปถูกรุมเร้าด้วยความวิตกกังวล จนถึงกับล้มป่วยด้วยโรคนานาชนิด รวมทั้งโรคความดัน และโรคหัวใจ เทคโนโลยีนั้นให้เราได้แค่ความปลอดภัยและความสะดวกสบายทางกาย แต่ไม่อาจลดทอนอันตรายจากภายในหรือความทุกข์ใจได้เลย เพราะอันตรายประเภทหลังขึ้นอยู่กับคุณภาพของใจเป็นสำคัญ ใจที่ขาดสติ ย่อมถูกความโลภ ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้าครอบงำ จึงเต็มไปด้วยทุกข์ จะว่าไปแล้วอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะความหลงยึดติดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ ว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวกูของกู ในด้านหนึ่งผู้คนจึงมุ่งหวังครอบครองสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เมื่อผิดหวังก็เป็นทุกข์ แม้นได้มาแล้ว แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นแปรผัน เสื่อมสลาย พลัดพรากไป หรือไม่เป็นไปดั่งใจ ก็คร่ำครวญ คับแค้น นั่นเป็นเพราะขาดปัญญา ไม่เห็นความจริงของสิ่งทั้งปวงว่าเป็นเช่นนั้นเอง ผู้คนทั้งหลายมักเข้าใจว่าความทุกข์ใจเกิดขึ้นเพราะสิ่งทั้งปวงไม่เป็นดั่งใจ จึงพยายามบังคับ ควบคุม และจัดการสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ให้เป็นไปตามใจปรารถนา แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั่นเอง เพราะสิ่งทั้งปวงไม่ยอมอยู่ในอำนาจของเรา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความทุกข์ใจจะต้องเกิดกับเราไปตลอดจนกระทั่งสิ้นลม ชีวิตที่ไร้ความทุกข์ใจนั้นเป็นไปได้ ไม่ใช่เพราะทุกอย่างหรือทุกคนเป็นดั่งใจเรา แต่เป็นเพราะเราตระหนักถึงความจริงว่าไม่มีอะไรหรือใครที่จะเป็นดั่งใจเราได้ตลอด ทั้งนี้เนื่องจากทุกสิ่งล้วนไม่คงที่ ไม่คงทน และไม่ใช่ตน จึงไม่อาจยึดติดถือมั่นได้เลย เมื่อใดก็ตามที่คลายความยึดติดถือมั่นในสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นใจก็ไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป พูดอีกอย่างก็คือ ความทุกข์ไม่สามารถทำอะไรจิตใจเราได้ต่อไป ผู้คนทั้งหลายล้วนทุกข์ใจเมื่อเจอความไม่เที่ยง ความพลัดพราก ความเสื่อมสลาย รวมทั้งความแก่ ความเจ็บ และความตาย อันที่จริงแล้วความจริงดังกล่าวไม่ได้ทำให้เราทุกข์ใจ แต่เป็นเพราะการไม่ตระหนักหรือไม่เห็นความจริงดังกล่าวต่างหากที่นำความทุกข์มาสู่จิตใจของเรา เมื่อไม่เห็นความจริงดังกล่าว จึงหลงยึดหรืออยากให้มันเที่ยง เป็นสุข และเป็นของเราไปตลอด เปรียบดังคนที่ยืนอยู่กลางกระแสน้ำเชี่ยว ย่อมถูกกระแสน้ำพัดพาไปจนกระแทกเกาะแก่งโขดหิน อันตรายที่เกิดกับเขาไม่ได้มีสาเหตุจากกระแสน้ำเชี่ยว แต่เป็นเพราะเขาไปยืนขวางกระแสน้ำนั้นต่างหาก ผู้ที่มีปัญญา เมื่อแลเห็นกระแสน้ำเชี่ยว ซึ่งไหลเช่นนั้นมานานแสนนานแล้ว ย่อมไม่เอาตัวไปยืนขวางกระแสน้ำ แต่รู้จักใช้กระแสน้ำให้เกิดประโยชน์ เช่น ขับเคลื่อนกังหัน หรือพัดพาเรือไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ความทุกข์อันได้แก่ความแก่ ความเจ็บ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพราก และความตายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่เมื่อใดที่เราเห็นว่ามันเป็นธรรมดาของชีวิตและโลก ยอมรับได้และวางใจถูก คือไม่คาดหวังหรือนึกคิดสวนทางกับความจริง ความทุกข์ใจก็ไม่เกิดขึ้นกับเรา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อใดที่ตระหนักถึงทุกขลักษณะในสรรพสิ่ง ทุกขเวทนาก็ไม่เกิดขึ้นกับใจอีกต่อไป ธรรมะไม่ช่วยให้เราเอาชนะความแก่ ความเจ็บ ความพลัดพราก และความตายได้ แต่ธรรมะช่วยให้เราเอาชนะความทุกข์ใจได้ นี้คือคุณประโยชน์สำคัญที่สุดของธรรมะ และเป็นคำตอบว่าเหตุใดเราจึงควรมีธรรมะเป็นสรณะ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คณะผู้จัดทำของชมรมกัลยาณธรรมได้คัดเลือกและรวบรวมจากคำบรรยายของข้าพเจ้าในที่ต่าง ๆ รวมทั้งจากการแสดงธรรมที่จัดโดยชมรมกัลยาณธรรม ทั้งที่โรงพยาบาลสมุทรปราการและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ขออนุโมทนาและขอบคุณผู้จัดทำทุกท่าน รวมทั้งคุณหมออัจฉรา กลิ่นสุวรรณ์ ประธานชมรมกัลยาณธรรมที่มีวิริยะในการจัดทำหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้ด้วยฉันทะในธรรมอันมีมาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปี ช่วยให้สัมมาทัศนะและสัมมาปฏิบัติเผยแพร่อย่างกว้างขวางตลอดหลายปีที่ผ่านมา หวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์ทั้งจากหนังสือเล่มนี้และจากงานเผยแผ่ธรรมของชมรม ฯ สมมโนเจตนาของผู้จัดทำ
พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|