ประเภท : งานเขียน | |
![]() |
พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาตัวตน พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๖๓ |
คำปรารภ ผู้คนทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีชีวิตที่สุขสบายกว่าเมื่อก่อนมาก การแสวงหาอาหารเพื่อประทังชีวิตหรือดิ้นรนขวนขวายเพื่อความอยู่รอด มิใช่ปัญหาอีกต่อไป นอกจากไม่รู้จักความหิวโหยหรือความขัดสนแล้ว ยังมีความสะดวกสบายอย่างมาก เทคโนโลยีที่ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย กลายเป็นของที่ผู้คนมีแทบทุกหลังคาเรือนหรือติดตัวแทบทุกคน เช่น โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ แม้กระนั้นผู้คนทุกวันนี้ก็ยังมีความทุกข์ใจอยู่นั่นเอง นอกจากความทุกข์ที่ผู้คนคุ้นเคยกันดี เช่น ความผิดหวัง ความคับแค้นใจ และความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความทุกข์เพราะแก่ เจ็บ และตายแล้ว ยังมีความทุกข์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน นั่นคือความทุกข์เกี่ยวกับสำนึกในตัวตนหรือในส่วนลึกของตัวตน ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในส่วนลึกของใจ เรียกอีกอย่างว่าปัญหาตัวตน ปัญหาตัวตนเป็นลักษณะเด่นของสังคมยุคนี้ก็ว่าได้ เพราะเป็นยุคที่ทัศนคติแบบปัจเจกนิยมได้รับการเชิดชูสูงมาก ความต้องการของปัจเจกบุคคลถือว่าสำคัญกว่าอย่างอื่น สำนึกในตัวตนจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ และพลอยทำให้ผู้คนหมกมุ่นกับตนเอง รวมทั้งอยู่แบบตัวใครตัวมันมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาตัวตนของคนยุคนี้ก็มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ อาศัยการบริโภคหรือครอบครองวัตถุเป็นสำคัญ โดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิบริโภคนิยม ด้วยเหตุนี้การบริโภควัตถุของคนในยุคนี้ จึงมิได้มีความหมายเพียงแค่การแสวงหาความสะดวกสบายหรือความสุขทางกายเท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพื่อบำบัดความทุกข์ในส่วนลึกของใจ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบทบาทของศาสนาต่าง ๆ ในอดีต เมื่อผู้คนจำนวนมากมองว่าบริโภคนิยมเป็นคำตอบของชีวิต โดยเฉพาะการแก้ทุกข์ทางใจ เป็นธรรมดาอยู่เองที่เขาจะหันหลังให้กับศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย ในสถานการณ์ดังกล่าวศาสนาต่าง ๆ หันมาใช้วิธีเดียวกับบริโภคนิยมเพื่อดึงดูดผู้คน หรือเพื่อจะได้มีที่ยืนอยู่ในสังคมต่อไป นี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับพุทธศาสนาในเมืองไทยเช่นกัน อันที่จริงพุทธศาสนาสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้คนได้มากกว่านั้น กล่าวคือช่วยให้พ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งการแก้ปัญหาตัวตน พุทธศาสนาก็มีคำตอบที่ดีกว่าบริโภคนิยม แต่นั่นหมายความว่าพุทธศาสนาที่สอนและเผยแผ่อยู่ในปัจจุบัน จะต้องธำรงรักษาแก่นแท้เอาไว้ให้ได้ ไม่คล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งทำให้แก่นแท้ดังกล่าวเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน จนเห็นได้ชัดว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้นแก้ทุกข์ได้จริง หนังสือเล่มนี้มีที่มาจากคำบรรยายของข้าพเจ้า ณ อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตามคำนิมนต์ของธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาบางส่วนข้าพเจ้าเคยนำไปบรรยาย ณ ชาติภูมิสถาน ป. อ. ปยุตฺโต จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ปีเดียวกัน เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) แต่เนื่องจากมีเวลาน้อย ข้าพเจ้าจึงพูดเพียงบางประเด็น ในการบรรยายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าได้ขยายความเพิ่มและเติมเนื้อหาให้ครบถ้วน ขออนุโมทนาคุณหมออัจฉรา กลิ่นสุวรรณ์ ประธานชมรมกัลยาณธรรม ที่เห็นว่าคำบรรยายดังกล่าวควรเผยแพร่ให้กว้างขวางออกไป พร้อมกันนี้ขออนุโมทนาคุณพัชธร กิตินุกูลศิลป์ และครอบครัว ซึ่งร่วมเป็นเจ้าภาพพิมพ์หนังสือเล่มนี้ด้วย หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการรักษาแก่นแท้ของพุทธศาสนา รวมทั้งศึกษาและปฏิบัติจนเข้าถึงแก่นแท้ดังกล่าว จนสามารถแก้ทุกข์ของตนได้ รวมทั้งนำพาผู้คนทั้งหลายให้เข้าถึงประโยชน์ดังกล่าวด้วย พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|