![]() |
นิตยสารสารคดี
: ฉบับที่ 289 :: มีนาคม ๕๒ ปีที่ ๒๕ รินใจ |
ทิพย์พบว่าตนเองเป็นมะเร็งเต้านม ร้ายกว่านั้นก็คือมะเร็งลุกลามไปที่ตับแล้ว แต่เธอก็ทำใจยอมรับความจริงได้ เธอไปรับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ แต่ก็ยังช่วยดูแลงานที่บ้านเป็นหลักอยู่ วันหนึ่งมีอาสาสมัครจากโรงพยาบาลมาเยี่ยมเธอ ทิพย์สังเกตว่าอาสาสมัครที่ชื่อ แพรวคนนี้กระตือรือร้นมาก มาเยี่ยมเธอทุกวัน แถมยังช่างคุยอีกด้วย ทุกครั้งที่แพรวมาเยี่ยม เธอจะคุยเป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่ทิพย์ได้แต่นั่งฟัง บางครั้งเธอรู้สึกรำคาญ แต่ก็ไม่ได้ถือสา หงุดหงิดคราใดก็รู้ทันและปล่อยวางได้ ยิ่งรู้จักแพรวจากเรื่องเล่าของเธอ ทิพย์ก็รู้สึกเห็นใจแพรว จึงทนฟังแพรวพูดได้ทุกวันนานนับเดือน แต่เธอไม่ได้ฟังแบบขอไปที เธอฟังอย่างใส่ใจ บางครั้งแพรวพูดวกวน สับสน ทิพย์ก็พูดทวนถ้อยคำของแพรวตามที่เธอได้ยิน ทำให้แพรวรู้ตัวว่าพูดอะไรไป และจัดลำดับความคิดได้ดีขึ้น เป็นเวลา ๔ เดือนเต็มที่แพรวมา เยี่ยมทิพย์ โดยฝ่ายหลังเป็นผู้ฟังเสียมากกว่า แล้ววันหนึ่งแพรวก็เปิดเผยกับทิพย์ว่า เธอมีอาการป่วยทางจิต ก่อนมาพบทิพย์เธอมีอาการหนักมาก จนต้องไปหาจิตแพทย์ แต่อาการของเธอไม่ดีขึ้นเลย หมอได้แต่สั่งยาให้เธอ แต่ไม่เคยพูดคุยกับเธอเลย เธอจึงงดไปหาหมอ นั่นคือเหตุการณ์ก่อนที่เธอจะมาเป็นอาสาสมัคร แต่หลังจากได้มาเยี่ยมทิพย์เป็นเวลา ๔ เดือน เธอได้กลับไปหาหมอคนเดิมอีก หมอแปลกใจที่พบว่าแพรวมีอาการดีขึ้นมาก หมอถึงกับถามว่าเธอไปรักษาตัวที่ไหน แพรวไม่ได้ไปรักษาตัวที่ไหน เธอเพียงแต่ไปเยี่ยมทิพย์ และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพูดคุยและระบายกับทิพย์เท่านั้น หากจะมีใครช่วยเยียวยาเธอ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือทิพย์นั้นเอง แต่ทิพย์ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั่งฟังแพรวพูดอย่างอดทนและใส่ใจเท่านั้น ทิพย์กำลังป่วยด้วยโรคร้าย แต่แทนที่จะเป็นฝ่ายรับความช่วยเหลือจากแพรว เธอกลับเป็นฝ่ายเยียวยาแพรวอย่างที่เธอเองก็นึกไม่ถึง การรับฟังอย่างใส่ใจด้วยความปรารถนาดีนั้นสามารถเยียวยาใจและบำบัดความทุกข์ของผู้คนได้อย่างน่าอัศจรรย์
คนจำนวนไม่น้อยทุกข์เพราะความอัดอั้นตันใจ โบยตีตนเองด้วยความรู้สึกผิด จมดิ่งอยู่ในความเศร้าโศกและวิตกกังวล
หรือแผดเผาใจด้วยความคับแค้น อารมณ์เหล่านี้ฉุดเขาไปสู่ถ้ำที่มืดทึบจนแทบจะหาทางออกไม่เจอ
แต่เมื่อใดก็ตามที่มีใครสักคนฟังเขาอย่างใส่ใจ ย่อมช่วยให้อารมณ์ที่อัดแน่นหมักหมมได้ระบายออกไป
เปิดที่ว่างให้กับความรู้สึกใหม่สดเข้าไปแทนที่ เปรียบเสมือนลำแสงที่สาดส่องในถ้ำมืด
ทำให้ชีวิตมีความหวังมากขึ้น หญิงวัยห้าสิบเศษผู้หนึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก แม้จะรักษาโดยการฉายแสงครบแล้ว เธอก็ยังปวดและร้องครวญคราญมาก กินยาระงับปวดก็ไม่ดีขึ้น แต่พยาบาลสังเกตว่าเธอลุกเดินได้คล่องแคล่วว่องไวผิดกับคนที่มีอาการปวด จึงเข้าไปพูดคุยด้วย แล้วก็พบว่าเธอมีความทุกข์ใจมากเพราะรู้สึกว่าถูกลูกและสามีทอดทิ้ง พยาบาลนั่งฟังเธอพรั่งพรูถึงปัญหาครอบครัวอยู่นาน โดยไม่ได้ตัดบท อีกทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรแก่เธอมากนัก เพียงแต่ฟังด้วยความเห็นใจพร้อมกับให้กำลังใจเธอ พูดจบเธอก็รู้สึกดีขึ้น อาการเจ็บปวดทุเลาลงมาก เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลครั้งหลัง ๆ ไม่มีใครได้ยินเสียงร้องครวญคราญของเธออีก โดยทั่วไปเมื่อเราเห็นใครมีปัญหา ด้วยความปรารถนาดี เรามักอดไม่ได้ที่จะชี้แนะ หรือถ้ามีสถานะที่สูงกว่าเขา ก็จะเปิดปากสอนเลย แม้คำชี้แนะสั่งสอนของเราจะมีประโยชน์ แต่นั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดก็ได้ เขาอาจปรารถนาเพียงแค่คนที่เข้าใจเขา เห็นคุณค่าของเขา หรือเปิดโอกาสให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกลึก ๆ ภายในบ้าง น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ผู้คนมีเวลาให้แก่กันและกันน้อยเกินไป แม้แต่พ่อแม่หรือครูก็ไม่มีเวลาให้ลูกหรือศิษย์ แต่ถ้าผู้ใหญ่เข้าใจเด็กบ้าง เราอาจเห็นเขาในอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยพบมาก่อน ครูสาวได้เรียกนักเรียนวัยรุ่นคนหนึ่งมาพบและซักถามถึงเหตุผลที่เขาขาดเรียนเป็นประจำ
ปรากฏว่าเขากลับอาละวาด เหวี่ยงหนังสือใส่ข้างฝา ผลักเก้าอี้ล้มลง ซ้ำยังพูดจาข่มขู่ครู
ครูตกใจแต่ตั้งสติได้ แทนที่จะต่อว่านักเรียน เธอขอให้นักเรียนนั่งลงและพูดคุยกับเธอ
แต่เขายังคงส่งเสียงดังและเดินหงุดหงิดงุ่นง่านอยู่ในห้อง ในขณะที่ครูนิ่งสงบ
เป็นเวลาพักใหญ่เขาถึงเดินมาหาครูแล้วเปิดปากเล่าถึงชีวิตของตน พรรณนาถึงความน้อยเนื้อต่ำใจ
ความโกรธแค้นและความสิ้นหวังของเขา เขากล่าวโทษคนทั้งโลกเสมือนว่าเขาเป็นเหยื่อของความอยุติธรรม
แต่สุดท้ายเขาก็ยอมรับว่าตัวเองก็ได้ทำสิ่งเลวร้ายมากมายอย่างไม่น่าให้อภัย
ไม่ว่าในบ้าน ในที่ทำงาน หรือสถานที่ต่าง ๆ ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้คนไม่ยอมฟังกัน ต่างเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ความไม่เข้าใจกันจึงลุกลามเป็นความโกรธ ยิ่งโกรธก็ยิ่งเกลียดและเห็นอีกฝ่ายเป็นตัวเลวร้าย ขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงปกป้องตัวเองจากอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถูกวาดภาพเป็นศัตรู ยิ่งต่างฝ่ายต่างเอาชนะก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ของกันและกัน แต่ทั้งหมดนี้จะแปรเปลี่ยนพลิกกลับหากอีกฝ่ายเดินยอมเข้าหาและรับฟังเขา แทนที่จะกล่าวหาหรือแก้ตัว ดา เป็นพยาบาลที่รู้สึกไม่สบายใจอย่างมากที่เห็นความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างญาติคนไข้รายหนึ่งกับคณะแพทย์พยาบาล คนไข้นั้นอายุ ๘๐ ปีรักษาตัวในห้องไอซียูนานถึง ๘ เดือน และอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยชีวิต หัวใจเขาหยุดเต้นถึง ๕ ครั้ง และทุกครั้งลูกก็ขอให้แพทย์ปั๊มหัวใจจนหน้าอกมีรอยแผลไหม้ ลูกชายยอมรับความตายของพ่อไม่ได้ และโทษคณะแพทย์ทุกครั้งที่พ่อมีอาการแย่ลง คราวหนึ่งถึงกับขู่ฆ่าแพทย์และพยาบาลหากพ่อมีอันเป็นไป วันหนึ่งดาเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วย ตั้งใจจะไปสวดมนต์ข้างเตียง ได้พบลูกชายจึงเข้าไปคุยด้วย ลูกชายได้โอกาสก็ต่อว่าโรงพยาบาลต่าง ๆ นานา ดายืนฟังด้วยความสงบ โดยไม่แก้ตัว เขาระบายใส่เธอนานถึง ๓ ชั่วโมง แต่เธอไม่ตอบโต้สักคำ เธอยอมรับว่าหากเป็นเมื่อก่อนก็คงสวนกลับไปตั้งแต่ ๕ นาทีแรกแล้วว่า พวกคุณทนอยู่ที่นี่ทำไม ไม่ชอบใจก็ย้ายไปรักษาที่อื่นสิ แต่ครั้งนี้เธอเตรียมใจไว้แล้วว่าการฟังเขาระบายนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเขาและเธอ เธอจึงฟังอย่างจริงใจและตั้งใจ เมื่อพบกันครั้งต่อมา เขามีสีหน้าดีขึ้นและเป็นมิตรกับเธอมากขึ้น เธอยังคงไปสวดมนต์ข้างเตียงผู้ป่วยและรับฟังความเห็นของลูกชาย แล้ววันหนึ่งผู้ป่วยก็เสียชีวิต แต่แทนที่ลูกชายจะโกรธ กลับยอมรับได้ เธอพบกับเขาอีกครั้งในงานศพของบิดา คราวนี้เขากลับยกมือไหว้เธอด้วยความขอบคุณที่มางาน พร้อมกับพูดว่าผมทำผิดพลาดไปมาก เพราะความรักที่มีมากเกินไป รักพ่อมากเกินไป เขามีสีหน้า ไม่ฟูมฟาย ไม่เศร้าหมอง ผิดกับแต่ก่อนซึ่งมีอาการคล้ายคนที่ควบคุมตนเองไม่ได้ การพร้อมรับฟังผู้อื่นเป็นหัวใจในการเยียวยาความสัมพันธ์และสร้างมิตรภาพให้แก่กันและกัน มันไม่เพียงช่วยให้ผู้พูดได้ระบายความอัดอั้นตันใจเท่านั้น แต่ยังทำให้เขาเห็นอีกฝ่ายว่าไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เขาวาดภาพเอาไว้ แม้จะยังเห็นเป็นปฏิปักษ์อยู่แต่ก็ลดความน่าเกลียดน่ากลัวลงไป และนั่นคือโอกาสที่จะสร้างความเป็นมิตรให้เกิดขึ้น จริงอยู่ความขัดแย้งในบางกรณีก็มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ และเหตุปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย แต่อคติที่มีต่อกันก็ช่วยขยายความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น แต่หากสามารถทำให้อคติลดลงได้จากการที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าหาก่อนและยินดีรับฟังความทุกข์ของอีกฝ่ายด้วยความใส่ใจ ความขัดแย้งก็มีโอกาสจะแก้ไขได้ง่ายขึ้น ช่วงที่มีความขัดแย้งอย่างหนักระหว่างกลุ่ม
เสื้อแดงกับ เสื้อเหลือง นั้น อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งที่ทำงานภายใต้ โครงการอาสาเพื่อนรับฟัง
ได้ชักชวนสมาชิกระดับล่างของสองฝ่ายมารับฟังความเห็นของกันและกัน ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายมีความรู้สึกที่ดีต่อกันมากขึ้น
เพราะเห็นว่าอีกฝ่ายไม่ได้เป็นยักษ์มารอย่างที่คิด แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มมีทั้งเรื่องอุดมการณ์และผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่การที่แต่ละฝ่ายจะหันมาเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันมากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการสมานไมตรีในระยะยาวได้
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|