![]() |
รำลึกถึงพิชัย ไตรภัทร
|
พิชัยกับข้าพเจ้าเป็นเพื่อนร่วมห้องตั้งแต่ชั้นป.๑ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เราอยู่ห้อง C ด้วยกันตลอดจนถึงชั้นม.ศ. ๓ จึงได้แยกห้องกัน แต่ก็ยังอยู่โรงเรียนเดียวกันจนจบม.ศ.๕ ดังนั้นเราทั้งคู่จึงคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ่น เพื่อนอัสสัมชัญที่คบกันมาตั้งแต่เด็ก เรามักจะไม่เรียกชื่อจริง แต่เรียกชื่อย่อ ( เช่น เมธ หงวน ชาติ) หรือชื่อเล่น (เช่น อ้น หน่อย ปาน ดุ๊ก ) หรือไม่ก็เรียกชื่อพ่อ (ขออนุญาตไม่ยกตัวอย่าง) น้อยคนที่เรียกชื่อจริง ส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนดีหรือไม่ก็เป็นเด็กเรียบร้อย พิชัยเป็นหนึ่งในนั้น แต่เป็นเพราะอะไรก็นึกไม่ออก ตอนที่ยังเป็นนักเรียนด้วยกัน พิชัยไม่มีอะไรที่โดดเด่น การเรียนอยู่ในระดับปานกลาง นิสัยก็ธรรมดา ไม่ได้เรียบร้อยแบบติ๋ม ๆ หรือทะลึ่งตึงตัง กีฬาหรือการละเล่นก็ดูไม่เก่งเลยสักอย่าง แถมไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ ถ้าเขาชอบฟุตบอลเราก็คงจะคุ้นเคยกันมาก ข้าพเจ้ามาสนิทสนมกับพิชัยก็เมื่ออยู่ชั้นม.ศ.๓ วันหนึ่งข้าพเจ้าเกิดจับพลัดจับผลูขึ้นไปที่ห้องทำการของกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นชุมนุมหนึ่งของโรงเรียน และได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากับพิชัย ซึ่งตอนนั้นเป็นกรรมการของกลุ่มนี้ จำได้ว่าเขาเป็นกรรมการฝ่ายปฏิคม ที่จำได้แม่นก็เพราะเป็นคำที่แปลก ภายหลังจึงรู้ว่ากรรมการฝ่ายนี้มีหน้าที่ต้อนรับและเตรียมสถานที่ ตอนนั้นรู้สึกว่าพิชัย “โก้”มากที่มีตำแหน่งเป็นถึงกรรมการ เพราะพวกเราตอนนั้นส่วนใหญ่เรียนกันอย่างเดียว (หรือไม่ก็เล่น) ไม่มีใครที่สนใจกิจกรรมที่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างชุมนุม ยังไม่ต้องพูดถึงการได้รับเลือกเป็นกรรมการ ที่จริงนอกจากพิชัยแล้ว ยังมีเพื่อนรุ่นเดียวกันอีก ๒ คนที่เป็นกรรมการกลุ่มนี้ด้วย คือ ไพจิตร เตรียมสัญชัย (ย้วด) และมงคล เตชะกำพุ (อ้วน) ซึ่งปีถัดมาได้เป็นประธานกลุ่ม การได้พบพิชัยครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่กระชับแน่น เพราะหลังจากนั้นไม่นานพิชัยกับข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสพูดคุยและถกเถียงกันในหลายเรื่อง ข้าพเจ้าแปลกใจเมื่อได้พบว่าพิชัยเป็นคนที่ไวในการจับประเด็นและฉลาดในการหาเหตุผลโต้แย้ง มีแง่มุมวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคม เขาเป็นคู่สนทนาถกเถียงที่เอาชนะได้ยาก แต่การได้โต้เถียงกับเขาก็ช่วยประเทืองปัญญาข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ยิ่งภายหลังข้าพเจ้าถูกพจนา จันทรสันติ ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม ดึงมาเป็นอนุกรรมการ ก็เลยมีเหตุให้ต้องขลุกอยู่ที่กลุ่มอัสสัมอาสาบ่อยครั้ง จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับพิชัยอยู่บ่อย ๆ ตอนนั้นเราถกเถียงกันแทบทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องกิจกรรมของกลุ่ม ปัญหาของโรงเรียน ระบบการศึกษา ไปจนถึงเรื่องบ้านเมือง ตอนนั้นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยซึ่งมีธีรยุทธ บุญมีเป็นเลขาธิการ กำลังรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น เราก็ถกเถียงกันถึงบทบาทของญี่ปุ่นในเมืองไทย การโต้เถียงเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เราไปหาหนังสือต่าง ๆมาอ่าน เพื่อจะได้มีข้อมูลมาสนับสนุนเหตุผลของแต่ละคน วารสารสำหรับปัญญาชนในเวลานั้น เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ กลายเป็นแหล่งข้อมูลอย่างหนึ่งของเรา เราทั้งสองคนกลายเป็นขาประจำของห้องสมุดในโรงเรียน บ่อยครั้งเราก็คุยกันถึงหนังสือที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ โสกราตีส ซึ่งแปลโดยส.ศิวรักษ์ ไม่เพียงเนื้อหาจากหนังสือเท่านั้นที่เราเอามาพูดคุยกัน แม้แต่วิธีการโต้แย้งของโสกราตีส เราก็เอามาใช้ในการถกเถียงของเราทั้งคู่ แต่ดูเหมือนว่าพิชัยจะทำได้ดีกว่า บ่อยครั้งการโต้แย้งของเขาจะตามมาด้วยเสียงหัวเราะดังลั่น ซึ่งเป็นได้ทั้งการยั่วเย้า หัวเราะเยาะ หรือแสดงความดีใจที่ข้าพเจ้าจนมุม แต่ทุกครั้งเราไม่เคยโกรธกัน มีแต่ความรู้สึกสนุก ปีนั้นคือปี ๒๕๑๕ มีประสบการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกราวกับว่าได้ “ตื่น” ขึ้นมา หรือ “ตาสว่าง” จากคนที่เอาแต่เรียน โลกของตัวเองซึ่งดูเหมือนจะมีแค่บ้านกับโรงเรียน ได้ขยายครอบคลุมไปถึงสังคมและประเทศชาติ จนเกิดสำนึกในเรื่องบ้านเมือง หนึ่งในประสบการณ์เหล่านั้นก็คือ การได้สนทนาถกเถียงกับพิชัยอย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่องนานนับปี การได้สนทนาพูดคุยกับเขา รวมทั้งความรู้สึกสนุกกับกิจกรรมของกลุ่มอัสสัมอาสา (ซึ่งมีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมทั้งการจัดสัมมนาใหญ่ และการออกค่ายอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับนักเรียน เพราะส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมระดับนักศึกษามากกว่า) ไม่เพียงช่วยให้โลกทัศน์ของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป หากยังทำให้ชีวิตนักเรียนของข้าพเจ้าเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่กลับบ้านทันทีที่เลิกเรียน ข้าพเจ้าเริ่มกลับบ้านค่ำ บางทีก็กลับดึก เพราะขลุกอยู่ในห้องอัสสัมอาสาหลังเลิกเรียน จะว่าไปแล้วที่นั่นกลายเป็นที่สิงสถิตของพวกเราไปเลยในช่วงวันหยุด ช่วงแรก ๆ พ่อแม่ของข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจ แต่ตอนหลังก็เห็นเป็นธรรมดา เพราะมั่นใจว่าข้าพเจ้าไม่ได้ทำอะไรเสียหาย เมื่อขึ้นชั้นม.ศ.๔ ข้าพเจ้าก็หันมาทำกิจกรรมเต็มตัวมากขึ้น เรียนน้อยลง ส่วนพิชัยแม้ยังเป็นกรรมการกลุ่มอัสสัมอาสา แต่ก็เพลามือลง เพราะเขาต้องการทุ่มตัวให้กับการเรียนมากขึ้น พิชัยเป็นคนมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ชัดเจน ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีการวางแผนล่วงหน้าเสมอ เข้าใจว่าตอนนั้นเขาตั้งเป้าว่าจะเรียนแพทย์ให้ได้ ดังนั้นจึงให้น้ำหนักกับการเรียนมากขึ้น และในที่สุดเขาก็สอบเข้าคณะแพทย์ได้สำเร็จ เราทั้งคู่เริ่มเหินห่างเมื่อต่างคนต่างแยกย้ายกันไปเรียนต่างมหาวิทยาลัย พิชัยเข้าวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า ส่วนข้าพเจ้าเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิชัยคงเรียนหนัก ส่วนข้าพเจ้าทำกิจกรรมมากกว่าเรียน จึงไม่ค่อยได้มีโอกาสพบกัน และยิ่งห่างเหินหนักขึ้นเมื่อข้าพเจ้าอุปสมบทและเข้าป่าปฏิบัติธรรมที่จังหวัดชัยภูมิ เป็นเวลากว่า๔๐ ปีที่เราไม่ได้พบปะกันเลย ได้แต่รับรู้ข่าวคราวของและกันเป็นครั้งคราวจากเพื่อน ๆ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วเพื่อน ๆ ได้ทำกลุ่มไลน์ขึ้นมา พิชัยได้เข้ากลุ่มนี้ในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าจึงได้รับรู้ข่าวคราวของเขาจากเขาโดยตรง ช่วงไล่ ๆ กันนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้ข่าวจากเพื่อนว่าพิชัยมีมะเร็งในตับอ่อน หมอวินิจฉัยว่าเขามีเวลาอยู่ได้ไม่นาน ข้าพเจ้าจึงอยากหาโอกาสไปพบปะเขา แต่แล้วพิชัยเป็นฝ่ายมาหาข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าดีใจเมื่อทราบว่าเขาจะมาทอดผ้าป่าที่วัดป่ามหาวันร่วมกับเพื่อน ๆ อัสสัมชัญ ในวันที่ ๒๔ มกราคม แต่ใจหนึ่งก็เป็นห่วงว่าสังขารของเขาจะไหวไหม แต่เมื่อได้พบเขา เห็นใบหน้ายิ้มแย้มของเขาที่คุ้นตาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ราวกับว่าไม่ได้ป่วยไข้อะไรเลย ก็อดแปลกใจและยินดีไม่ได้ เขาไม่มีสีหน้าวิตกกังวลแต่อย่างใด กลับแช่มชื่นกว่าคนที่สุขภาพดีด้วยซ้ำ บ่ายวันนั้นหลังจากเสร็จพิธี เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ก็เดินทางกลับ แต่ข้าพเจ้ากับพิชัยและเพื่อนอีก ๒ คน คือ มนตรี เกรียงวัฒนา และกุศล แย้มสะอาด (ฝิ่น) นั่งคุยกันต่อ วันนั้นเราคุยกันยาวมากตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงสี่โมงเย็นท่ามกลางอากาศที่ลดต่ำถึง ๘ องศาและไร้แดด มีเพียงน้ำร้อนช่วยเติมความอุ่นให้แก่ร่างกาย หากไม่ติดที่ต้องรีบขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพ ฯ เราก็คงคุยกันต่อ เราได้คุยกันหลายเรื่องหลายราว แน่นอนหัวข้อหนึ่งคือสุขภาพของเขา เขาเล่าถึงอาการที่ย่ำแย่ของเขาราวกับกำลังพูดถึงคนอื่น ไม่มีวี่แววแห่งความกังวลหรือหวั่นไหวต่อความตายที่กำลังจะมาถึงเลย อาจเป็นเพราะว่าเขาได้เห็นความตายของผู้คนมากหน้าหลายตาตลอดชีวิตการเป็นแพทย์ เขาจึงมองเห็นความตายของตนเป็นเรื่องธรรมดา ดูเหมือนว่าเขาเตรียมใจและเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายที่จะมาถึง มีอย่างเดียวที่เขายังวางมือไม่ได้ก็คือ การก่อสร้างโรงพยาบาลซึ่งเขาต้องรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการ เป็นเหตุให้ต้องไปทำงานทุกอาทิตย์ อันที่จริงคนที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา ควรใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตสำหรับตัวเอง วางงานการทั้งปวง เพื่อทำสิ่งที่ชอบ แต่เมื่อได้ฟังเหตุผลของเขาแล้ว ก็เห็นว่าการทำงานมีผลดีต่อสุขภาพจิตของเขามากกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ แม้งานจะทำให้เขาเครียดบ้างก็ตาม พบกันคราวนั้น ข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่าจะเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย ยังเข้าใจไปว่าเขายังมีเวลาอีกหลายเดือน และหากถึงคราวที่ล้มป่วย เข้าโรงพยาบาล ก็คงมีเวลาอีกหลายวันสำหรับการเยี่ยมเยียนของเพื่อน ๆ ตอนที่รู้ว่าพิชัยเข้าโรงพยาบาลเมื่อต้นเดือนนี้ ข้าพเจ้าตั้งใจว่าจะไปเยี่ยมเขาตอนปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ลงมาทำกิจที่กรุงเทพ ฯ แต่อาทิตย์ต่อมาก็ได้ทราบว่าเขาจากไปแล้ว พิชัยที่ข้าพเจ้ารู้จักตั้งแต่เด็กเป็นคนที่รอบคอบ วางแผนกับทุกเรื่องที่สำคัญของชีวิต และก้าวสู่เป้าหมายด้วยความพากเพียรอดทน ฟังจากที่เขาเล่าในบ่ายวันนั้น เขายังเป็นพิชัยคนเดิม ที่เตรียมพร้อมกับทุกขั้นตอนของชีวิต รวมทั้งเมื่อวาระสุดท้ายของตนเองมาถึง การหันมาให้เวลากับมิตรสหายในช่วงปีหลัง รวมทั้งการเดินทางไกลมาเยี่ยมเยียนข้าพเจ้า คงเป็นส่วนหนึ่งของการตระเตรียมดังกล่าว เขาคงอยากพบปะมิตรสหายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจากกัน ข้าพเจ้าเชื่อว่าความที่เขาเตรียมพร้อมกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้น เขาจึงไม่วิตกกังวลกับเวลาที่เหลือน้อยลงไปเรื่อย ๆ ด้วยเหตุผลเดียวกันข้าพเจ้าจึงเชื่อว่าเขาพร้อมรับความตายที่มาถึง โดยไม่ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว ดังนั้นจึงหวังได้ว่าเขามีสุคติเป็นที่หมาย นึกดูก็แปลก การสนทนาถกเถียงเมื่อ ๔๐ กว่าปีก่อนเป็นเสมือนสะพานแห่งมิตรภาพที่เชื่อมพิชัยกับข้าพเจ้าให้มาสนิทสนมกัน และเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องจากกันอย่างถาวร การสนทนาอย่างยาวนานคือสิ่งสุดท้ายที่เราได้ทำด้วยกัน เสมือนเป็นความทรงจำสุดท้ายที่เรามอบให้แก่กันและกัน ก่อนจะอำลาชั่วนิจนิรันดร์ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|