![]() |
บทความจากหนังสือ ลอดลายผ้าม่วง |
-๑- ความเป็นศิษย์ร่วมสำนักชักนำให้ข้าพเจ้ารู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ยิ่งกว่าเหตุอื่นใด ราวๆ พ.ศ. ๒๕๑๒ โรงเรียนอัสสัมชัญได้เชิญศิษย์เก่าผู้หนึ่งมาแสดงปาฐกถาให้นักเรียนทั้งโรงเรียนฟัง ชายหนุ่มผู้นั้นแต่งกายผิดกับคนอื่นๆ คือสวมเสื้อราชปะแตนและนุ่งผ้าม่วง นั่นคือภาพแรกของส.ศิวรักษ์ที่ประทับในความทรงจำของข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักเรียนชั้นป.๗ อาจารย์สุลักษณ์พูดอะไรในคราวนั้น ข้าพเจ้าจำไม่ได้ และดูเหมือนจะไม่ได้ตั้งใจฟังด้วย เนื่องจากอยู่ปลายหอประชุมอันเป็นชัยภูมิที่เหมาะแก่การพูดคุยกันเป็นอย่างยิ่ง แม้ทางโรงเรียนจะมีระเบียบเคร่งครัดในเรื่องการงดใช้เสียงในหอประชุมก็ตาม คราวนั้นอาจารย์สุลักษณ์มาแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับพระยาอนุมานราชธน ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน อันที่จริง ส.ศิวรักษ์ มิใช่ชื่อที่ใหม่สำหรับข้าพเจ้าทีเดียวนัก เพราะก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าก็ติดตามอ่าน ฟื้นความหลัง ของพระยาอนุมานราชธนซึ่งเริ่มทยอยตีพิมพ์มาแต่เล่มแรก ภายหลังก็ได้อ่าน สัมภาษณ์เสฐียรโกเศศ ซึ่งส.ศิวรักษ์เป็นผู้สัมภาษณ์โดยตรง ข้าพเจ้ายังได้ทราบอีกด้วยว่า ส.ศิวรักษ์เป็นบรรณาธิการ วิทยาสารปริทัศน์ เพราะมีคราวหนึ่ง อธิการได้เล่าให้นักเรียนฟังในห้องประชุมว่า วารสารฉบับนี้ได้ตีพิมพ์บทความที่กล่าวหาโรงเรียนอัสสัมชัญให้เรื่องที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง จนต้องมีนักเรียนรุ่นพี่ผู้หนึ่งเขียนไปต่อว่าบรรณาธิการ ผลคือบรรณาธิการยอมรับผิด แล้วท่านอธิการก็บอกต่อไปว่า อันที่จริงทั้งเจ้าของโรงพิมพ์ และตัวบรรณาธิการ ก็เป็นอัสสัมชนิกทั้งคู่ พวกเราได้ยิน ก็ฮือฮาขึ้นมา ว่าเฉพาะงานเขียนของส.ศิวรักษ์เองนั้น ประวัติเจษฎาจารย์ฟ. ฮีแลร์ เป็นงานเขียนชิ้นแรกๆ ที่ข้าพเจ้าได้อ่านและเกิดความประทับใจ เพราะผู้เขียนเล่าถึงชีวิตและงานของครูผู้เฒ่าแห่งอัสสัมชัญได้อย่างละเอียด อ่านแล้วก็บังเกิดความซาบซึ้งในคุณธรรมและความสามารถของท่าน บทความนั้นตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์เปิดตึกฟ. ฮีแลร์ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่า บทความของส.ศิวรักษ์หลายบทคงผ่านตาข้าพเจ้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว เพราะอุโฆษสารซึ่งเป็นหนังสืออนุสรณ์ประจำปีของโรงเรียน ดูเหมือนจะมีบทความของส.ศิวรักษ์ปรากฏทุกทีนับแต่มีการรื้อฟื้นจัดทำขึ้นใหม่ในปี ๒๕๐๙ อย่างไรก็ตาม พูดถึงความสนใจแล้ว ข้าพเจ้าพอใจจะอ่านหนังสือที่ส.ศิวรักษ์เป็นบรรณาธิการมากกว่า แม้ว่าในห้องสมุดโรงเรียนจะมีหลายเล่มที่เป็นงานเขียนของส.ศิวรักษ์ล้วนๆ แต่ประเภทหลังนั้นข้าพเจ้าไม่สู้สนใจจะหยิบยืมมาอ่านเท่าไร เพราะเห็นเป็นหนังสือรวมบทความ อดคิดไม่ได้ว่าผู้เขียนมีฝีมือเพียงแค่เอางานชิ้นย่อยๆ มารวมพิมพ์เป็นเล่มเท่านั้น ยังไม่มีความสามารถพอที่จะเขียนเป็นเล่มอย่างนักเขียนคนอื่นๆ เขา(เวลานั้น นอกจากเสฐียรโกเศศแล้ว อัสสัมชนิกที่ข้าพเจ้าชื่นชอบในงานเขียนก็คือ ศรทอง หรือพระยาศราภัยวาณิช เล่มที่ประทับใจข้าพเจ้ามากคือ ฝันร้ายของข้าพเจ้า และ ๑๐,๐๐๐ ไมล์ของข้าพเจ้า) ดังนั้นแม้จะดีใจอยู่บ้างที่มีอัสสัมชนิกเขียนหนังสือ อันเท่ากับเป็นการสร้างชื่อให้แก่โรงเรียนไปด้วย แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่น่าภูมิใจเต็มที่นักเพราะยังไม่อาจทัดเทียมกับงานของคนอื่นซึ่งอยู่ต่างสำนักกับเรา ทัศนะแบบนี้ สำหรับอัสสัมชนิกแล้ว ถือว่า ข้าพเจ้ามีเลือดแดงขาวเข้มข้นมาก แต่ก็เห็นได้ไม่ยากเลยว่า เป็นการติดสีติดพวกมากเกินไป เพราะความที่ยังอยู่ในโลกที่แคบนั่นเอง โลกของข้าพเจ้าเริ่มกว้างขึ้นก็ต่อเมื่อได้อ่านงานของส.ศิวรักษ์อย่างจริงๆจังๆนั่นเองในปี ๒๕๑๕ ขณะอยู่ชั้นม.ศ.๓ เล่มแรกที่ข้าพเจ้าตัดสินใจหยิบมาอ่านก็คือ ชวนอ่านและวิจารณ์หนังสือต่างๆ เหตุผลสำคัญไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ ครั้นได้อ่านก็เกิดติดใจ เพราะถ้อยคำสำนวนชวนอ่าน และมีลีลาการวิพากษ์วิจารณ์ที่เฉียบคม ทั้งยังให้ข้อคิดที่แปลกใหม่ มีแง่มุมการมองที่แปลกไปจากที่เคยได้อ่านและได้ยิน เล่มนี้เองที่เป็นเหตุให้ข้าพเจ้า ติด งานเขียนของส.ศิวรักษ์และเริ่มกวาดหนังสือเล่มอื่นๆ มาอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าลายสือสยาม ฝรั่งอ่านไทย มาพูดภาษาไทยกันดีกว่า และความคิดความอ่าน แต่ไม่มีเล่มใดที่ถูกใจและถึงใจเท่า คุยคนเดียว แม้จะเป็นหนังสือที่หนากว่าเล่มอื่นๆก็ตาม ที่ชอบส่วนหนึ่งก็เพราะความเผ็ดร้อนรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์นั่นเอง และจากหนังสือเล่ม ข้าพเจ้าก็หันไปตามอ่านวารสารที่ส.ศิวรักษ์เป็นบรรณาธิการอยู่ในเวลานั้น ได้แก่ อนาคต ข้าพเจ้าเคยอ่านแต่หนังสือประเภทสารคดี ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์จึงรู้เห็นอย่างจำกัดแต่บางแง่บางมุม ครั้นมาได้อ่านงานเขียนที่วิจารณ์บ้านเมืองที่ตนอาศัยอยู่อย่างตรงไปตรงมาไม่เฉพาะเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หากยังคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และคณะสงฆ์ ก็ช่วยให้หูตากว้างขึ้น แลเห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม พลอยให้บังเกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใยในความเป็นไปของสังคมไทยมากขึ้น ความสำนึกในสังคมก็เริ่มเกิดขึ้นพร้อมๆกับความนึกคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งต่อมาได้มาอ่าน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (เริ่มจากฉบับ ภัยเหลือง) ติดตามมาด้วยหนังสือ เล่มละบาท ของกลุ่มกิจกรรมต่างๆในมหาวิทยาลัยที่พี่สาวของข้าพเจ้าซื้อกลับมาบ้านครั้งยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็แลเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า ประเทศไทยที่ข้าพเจ้าเคยนึกว่าเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น แท้ที่จริงกลับเต็มไปด้วยปัญหามากมาย ไหนจะปัญหาคนยากคนจนในชนบท ความไม่เป็นธรรมในสังคม การเอารัดเอาเปรียบจากต่างชาติ การทำลายโบราณสถาน และความเป็นไทยที่กำลังจะสูญ ปัญหาหนึ่งที่ข้าพเจ้าเริ่มตระหนักว่าเป็นอันตรายแก่บ้านเมืองคือ การปกครองระบอบเผด็จการ ช่วงนั้นจอมพลถนอม กิตติขจรและจอมพลประภาส จารุเสถียร ทำการรัฐประหารตนเองมาได้ไม่ถึงปี ยังจำได้ว่า คืนวันที่มีการรัฐประหารคือวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ นั้น ข้าพเจ้าฟังโฆษกอ่านประกาศคณะปฏิวัติทางโทรทัศน์แล้ว ก็รู้สึกดีใจด้วยซ้ำ เพราะก่อนหน้านั้นได้อ่านข่าวความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นประจำจนรู้สึกรำคาญตามผู้ใหญ่และคอลัมนิสต์ แต่ความดีใจก็มาสะดุดเมื่อโฆษกบอกว่า หัวหน้าคณะปฏิวัติคือจอมพลถนอม ซึ่งก็คือหัวหน้าคณะรัฐมนตรีที่ถูกโค่นล้มไป ออกจะงงอยู่ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก และไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร วันรุ่งขึ้น นักศึกษาจำนวนหนึ่งเดินแถวจากธรรมศาสตร์ไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ระบอบประชาธิปไตย ข้าพเจ้าอ่านข่าวแล้วก็ยังรู้สึกว่า นักศึกษาพวกนี้หัวรุนแรงไปด้วยซ้ำไม่ควรจะไปยุ่งกับเรื่องการเมืองแบบนั้น แต่พอถึงกลางปี ๒๕๑๕ ทัศนคติของข้าพเจ้าก็เปลี่ยนไป ยิ่งอ่านหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ และปัญญาชนหลายคน ก็ยิ่งเห็นว่าสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้สึกที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวที่มีแต่เดิมก็แปรเปลี่ยนเป็นความไม่พอใจในสภาพการเมืองของประเทศในเวลานั้นขึ้นมา ไม่เพียงแต่โลกในความรับรู้ของข้าพเจ้าเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แบบแผนและคุณค่าชีวิตที่ข้าพเจ้าเคยยึดถือหรือรับว่าดี ก็เริ่มจะเปลี่ยนไปด้วย คำถามที่ส.ศิวรักษ์ชอบทิ้งไว้ในบทความ อย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั้น ปลุกเร้าให้ผู้อ่านอย่างข้าพเจ้าพลอยตั้งคำถามกับคุณค่าหลายอย่างที่สังคมถือว่าดีว่างาม เช่น การยกย่องคนเก่งคนดัง ร่ำรวยยศทรัพย์อัครฐาน หรือแม้แต่คนเรียนเก่ง โดยไม่สนใจว่า เขาเหล่านั้นเห็นแก่ส่วนรวมหรือไม่เพียงไร การนิยมเห่อเหิมวัฒนธรรมฝรั่งโดยมุ่งที่เปลือกมากกว่ากระพี้ การยอมคล้อยตามสังคมอย่างเซื่องๆ เพื่อให้ตัวอยู่รอดได้แม้จะต้องตลบแตลงหรือหน้าไหว้หลังหลอกก็เอา ส.ศิวรักษ์ไม่ได้เพียงแต่ท้าทายคุณค่าและทัศนคติเหล่านี้เท่านั้น หากยังได้เสนอคุณค่าอย่างใหม่ให้เราได้คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิดรู้จักตั้งคำถามอย่างถึงแก่นโดยไม่สยบกับอธรรมและอสัตย์หรือกระพี้อันฉาบฉวย ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง หากเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมเป็นสำคัญ ในเวลานั้นมีน้อยคนที่วิพากษ์สังคมไทยจากจุดยืนในทางจริยธรรม โดยคำนึงถึงความผิดชอบชั่วดีนอกเหนือจากเรื่องผลได้ผลเสียในทางวัตถุธรรม แต่ส.ศิวรักษ์ไม่ได้ทำเพียงเท่านั้น หากยังทำให้คุณธรรมและคุณค่าที่ตนเสนอนั้นมีชีวิตชีวาขึ้นมา และสามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านได้ มิใช่เป็นเพียงแต่หลักการแห้งๆ ที่รับรู้ด้วยสมองเท่านั้น บทความเกี่ยวกับชีวิตและงานของบุคคลที่ส.ศิวรักษ์รู้จักและสรรเสริญ เป็นงานที่ข้าพเจ้าชื่นชมและติดตามอ่านอยู่เสมอ เพราะไม่เพียงแต่จะประเทืองปัญญา หากยังช่วยจรรโลงใจเกิดความซาบซึ้งดื่มด่ำในคุณงามความดีที่สามารถสัมผัสได้จากบุคคลที่เดินเหินมีเลือดเนื้อเหมือนเรา งานเขียนดังกล่าวมีส่วนไม่น้อยในการช่วยให้ข้าพเจ้ามีแบบอย่างและทิศทางในการดำเนินชีวิตที่ผิดไปจากเดิม อย่างน้อยที่สุดแทนที่จะคิดเล่าเรียนเพื่อเอาดีเอาเด่นเฉพาะตัว(หรือเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน)เท่านั้น ก็คิดถึงสังคมวงกว้างขึ้นมา ดังนั้น หลังจากเข้าเรียนชั้นม.ศ.๓ ได้เดือนเดียว ข้าพเจ้าก็เริ่มแวะเวียนที่กลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นชุมนุมทางด้านสังคมสงเคราะห์ มีการออกค่ายอาสาพัฒนาทุกปี ไม่นานข้าพเจ้าก็คุ้นเคยกับประธานกลุ่มคือ พจนา จันทรสันติ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ ๑ ปี นอกจากพจนาแล้วยังมีกรรมการกลุ่มอีกหลายคนที่ข้าพเจ้าสนทนาได้อย่างถูกคอ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าถูกดึงตัวไปช่วยงาน ที่ทำการกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนาเวลานั้นถือได้ว่าเป็นแหล่งสุมหัวของนักเรียนหัวก้าวหน้าในโรงเรียนก็ว่าได้ ที่ว่า หัวก้าวหน้า นั้น ว่าตามความเห็นของเรากันเอง ถ้าถามครูบาอาจารย์บางท่าน เราก็คือ พวกหัวรุนแรง นั่นเอง เพราะเป็นพวกที่ไม่ค่อยสนใจการเรียนเท่าไร เอาแต่ทำกิจกรรม และวุ่นกับเรื่องสังคมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ยังดีที่อธิการ(ทั้งภราดาวิริยะ ฉันทวโรดม และภราดาวิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย) เข้าใจเรา ทั้งยังสนับสนุนกิจกรรมพวกเรา ถึงกับไปช่วยออกค่ายอาสาพัฒนา หรืออย่างน้อยก็ไปเยี่ยมค่ายทุกปี โดยที่ในระหว่างเปิดเทอมหากพวกเราจะขอออกนอกโรงเรียนไปติดต่องาน ท่านก็อนุญาตให้(แม้บางทีจะไม่เต็มใจนัก) จนบางคราวพวกเราถูกค่อนแคะว่าเป็นพวกอภิสิทธิ์ชน ที่สามารถโดดเรียนได้โดยไม่มีโทษ คงไม่จำเป็นต้องกล่าวก็ได้กระมังว่า พวกเราหลายคนในกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา คุ้นกับงานเขียนและงานแปลของส.ศิวรักษ์ดี บางคนอ่านโสกราตีส เพื่อเอาวิธีการซักค้านของเขามาใช้ในการถกเถียงไล่ต้อนคู่สนทนาให้จนมุม วารสารอนาคตและสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ก็เห็นจะมีแต่พวกเราที่สนใจหยิบยืมจากห้องสมุดดังนั้นเมื่อทางกลุ่มเป็นตัวตั้งตัวตีจัดสัมมนาระหว่างนักเรียนเรื่อง บทบาทของเยาวชนต่อการพัฒนาสังคม ราวปลายปี ๒๕๑๕ ส.ศิวรักษ์จึงเป็นผู้หนึ่งที่เราต้องการเชิญมาเป็นผู้อภิปราย การสัมมนาครั้งนั้นมีนักเรียนจาก ๑๑ โรงเรียนมาร่วมเป็นกรรมการจัดงาน ปรากฏว่าเมื่อเราเสนอชื่อส.ศิวรักษ์ ก็ถูกปฏิเสธ เหตุผลก็คือ กรรมการจัดงานส่วนใหญ่ไม่รู้จัก คนที่ได้รับเชิญส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง รวมทั้งพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม ซึ่งกำลังดังในเวลานั้น แต่โชคดีที่หลายท่านมาไม่ได้ หากเราจึงตัดสินใจติดต่อเชิญส.ศิวรักษ์แทน เมื่อถึงกำหนดวันอภิปราย ข้าพเจ้าเองรู้สึกตื่นเต้น หลายคนก็คงเห็นพ้องว่า พิจารณาเป็นรายตัวแล้ว ผู้อภิปรายรายการนั้นล้วนเด่นกว่ารายการอื่นในการสัมมนาครั้งเดียวกัน เพราะนอกจากม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชอดีตนายกรัฐมนตรี แล้วยังมีประยูร จรรยาวงษ์ ซึ่งเวลานั้นถูก กระซิบ ให้เพลาการโจมตีรัฐบาลจนต้องเย็บปากตัวการ์ตูน ศุขเล็ก และไว้หนวดปิดอีกที บอกเป็นนัยให้รู้ถึงการไร้สิทธิไร้เสียงแถมยังได้พิชัย วาสนาส่งเป็นผู้ดำเนินรายการ จะมีก็แต่ส.ศิวรักษ์ กระมังที่ผู้สัมมนาส่วนใหญ่ไม่รู้จัก แต่สำหรับข้าพเจ้าและเพื่อนอัสสัมชัญหลายคน ส.ศิวรักษ์เป็น จุดเด่น ของงานนี้เลยทีเดียว เพราะเป็นปัญญาชนชั้นนำคนเดียวในเวลานั้นก็ว่าได้ที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเผด็จการอย่างรุนแรง โดยไม่ยอมสยบกับอำนาจคุกคามใดๆ ส.ศิวรักษ์ขึ้นเวทีอภิปรายวันนั้นด้วยเครื่องแต่งกายที่ผิดแปลกจากผู้อภิปรายคนอื่น แต่ไม่ผิดไปจากที่เราคิด คือมิได้สวมชุดสากล หากใส่เสื้อแขนยาวสีน้ำเงินปล่อยชาย จะเป็นเสื้อซาฟารี(ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคนั้น)ก็ไม่ใช่ เสื้อเหมาก็ไม่เชิง นับว่าเป็นการแหวกประเพณีอภิปรายซึ่งถือกันเคร่งครัดมากในหมู่คนมีฐานะทางสังคมเวลานั้นว่า ผู้ชายต้องสวมเสื้อนอกและผูกเน็คไท ช่วงนั้นเห็นจะมีผู้ใหญ่อย่างส.ศิวรักษ์คนเดียวที่ปฏิเสธค่านิยมเห่อฝรั่งอย่างนั้นอย่างเปิดเผย สมัยนี้อาจเป็นเรื่องปกติ แต่เวลานั้นถือเป็นเรื่องที่กล้าหาญไม่น้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะตอนนั้นยังถือว่าการอภิปรายเป็นงานที่มีเกียรติ มิใช่จัดอย่างพร่ำเพรื่อจนดูสามัญเหมือนในปัจจุบัน ข้าพเจ้าได้ฟังการอภิปรายของส.ศิวรักษ์เป็นครั้งแรกก็คราวนั้นเอง ส.ศิวรักษ์พูดเป็นคนสุดท้าย เริ่มต้นด้วยการเล่าเกร็ดเกี่ยวกับแกลดสโตน และบอลด์วิน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แม้พวกเราจะไม่เข้าใจว่าเกร็ดดังกล่าวเกี่ยวโยงกับการอภิปรายครั้งนี้ ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยมาร่วมด้วยอย่างไร แต่พอพูดเข้าประเด็น คนฟังทั้งห้องก็ตื่นตัว หายงัวเงีย และตั้งอกตั้งใจฟัง นับเป็นการอภิปรายที่เร้าใจและถึงใจคนหนุ่มสาว ไม่ผิดหวังทั้งผู้ฟังและผู้จัดเลย พอเสร็จการอภิปราย ปรากฏว่ามีนักเรียนบางคนไปขอลายเซ็นจากส.ศิวรักษ์ด้วย นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าพบเห็นส.ศิวรักษ์ในฐานะปัญญาชนชั้นนำของไทย ไม่ใช่ในฐานะอัสสัมชนิกที่ข้าพเจ้าไม่คุ้นหน้าคุ้นตาอย่างที่รู้สึกเมื่อ๓ ปีก่อนหน้านั้น จากการอภิปรายคราวนั้นเองที่ข้าพเจ้าได้ทราบว่า นอกจากเป็นนักเขียนฝีปากกล้าแล้ว ส.ศิวรักษ์ยังเป็นนักพูดที่มีพลังทั้งน้ำเสียงและจังหวะจะโคนอีกด้วย มิพักต้องเอ่ยถึงเนื้อหาสาระที่พูดซึ่งเข้มข้นไม่แพ้กับข้อเขียน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ข้าพเจ้าศรัทธาในตัวปัญญาชนผู้นี้มากขึ้น ประกอบกับการที่ได้ติดตามผลงานของส.ศิวรักษ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ตระหนักว่า ตัวเองผิดไปที่ดูแคลนส.ศิวรักษ์ว่า ไม่มีความสามารถเพียงเพราะมิได้เขียนหนังสือเป็นเล่มๆ อย่างคนอื่นเขา ยิ่งอ่านก็ยิ่งเห็นว่าส.ศิวรักษ์เป็นปัญญาชนที่รู้รอบและรู้ลึก จับประเด็นแม่นยำอย่างเข้าถึงแก่น นอกจากสติปัญญาและวาทะที่เหนือว่านักเขียนร่วมสมัยแล้ว ส.ศิวรักษ์ยังกอปรด้วยคุณธรรม และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ ความกล้าที่จะคัดค้านทวนกระแสอธรรมในสังคม และกำราบเหล่าปรปักษ์ที่ไร้จุดยืนทางจริยธรรม ยิ่งในยุคเผด็จการครองเมืองด้วยแล้ว ส.ศิวรักณ์แทบจะเป็นคนเดียวที่เป็นปากเสียงของผู้รักสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในเวลานั้น เป็นเพราะคุณสมบัติที่ยากจะมีอยู่ในตัวคนๆ เดียวกันจึงทำให้ส.ศิวรักษ์กลายเป็น วีรบุรุษ ในสายตาของข้าพเจ้า โดยมิพักต้องกล่าวว่าข้าพเจ้าภูมิใจในอัสสัมชนิกผู้นี้เพียงใด ลีลาการเขียนและการพูดของส.ศิวรักษ์ ได้กลายเป็นแบบอย่างให้ข้าพเจ้าลอกเลียนทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ปลายปีการศึกษานั้นเอง ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมชั้นม.ศ. ๓ ได้ออกวารสารรายเดือนชื่อ พลัง พิมพ์ด้วยระบบโรเนียวปรากฏว่ามีปัญหาตั้งแต่เล่มแรก เพราะบทความของข้าพเจ้ามีข้อความโจมตีนักเรียนรุ่นพี่ ที่รวบงานไว้โดยไม่เปิดโอกาสให้รุ่นน้อง อธิการอ่านแล้วไม่พอใจเรียกไปพบและขอให้ฉีกหน้าที่มีปัญหา ตอนนั้นลึกๆแทนที่จะหวาดวิตก ข้าพเจ้าอดภูมิใจไม่ได้ที่ตนเกิดมามีประสบการณ์ซ้ำรอยกับส.ศิวรักษ์เมื่อครั้งออก ยุววิทยาในโรงเรียนจนเกิดเรื่องเกิดราวกับผู้บริหารโรงเรียน -๒- ข้าพเจ้ามามีโอกาสสนทนากับส.ศิวรักษ์เป็นครั้งแรก ก็ตอนที่พวกเราในกลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนาไปออกค่ายที่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๖ โดยมีอธิการวิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย ไปร่วมค่ายโดยตลอด หน้าร้อนปีนั้น มูลนิธิโกมลคีมทอง มีโครงการจัดหาวิทยากรให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่ออกค่ายอาสาพัฒนาทั่วประเทศ กลุ่มของพวกเราได้แจ้งความจำนงดังกล่าวไป ปรากฏว่าวิทยากรที่มูลนิธิส่งมาคือ อาจารย์สุลักษณ์นั้นเอง คณะที่ติดตามคราวนั้นมีหมอเหวง โตจิราการด้วยคนหนึ่ง อาจารย์สุลักษณ์มาค้างคืนหนึ่ง วันรุ่งขึ้นจึงบรรยายให้พวกเราฟัง
งานนี้อยู่ในความรับผิดชอบของข้าพเจ้า เพราะเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการค่าย พวกเราตอนนั้นแม้จะชื่นชมอาจารย์
แต่ก็เกร็งด้วยได้ยินกิตติศัพท์ในเรื่องความดุและ เฮี้ยว จึงไม่ค่อยกล้าถามเท่าไร
แต่พอเลิกบรรยาย อาจารย์ใกล้จะกลับ ก็มีคำถามเข้ามามากมาย การไปค่ายยุวชนสยามครั้งนั้น เพื่อนที่อัสสัมชัญแทบจะไม่รู้เลย
จะเรียกว่าข้าพเจ้าแอบไปก็ได้ เพราะตอนนั้นเพื่อนที่อัสสัมชัญยังไม่ค่อยวางใจในกลุ่มยุวชนสยามนัก
เพราะเห็นว่าเป็นพวกที่หัวรุนแรงจนเป็นที่เพ่งเล็งของสันติบาล ส่วนหนึ่งก็คงเพราะใกล้ชิดกับส.ศิวรักษ์นั่นเอง
จะเป็นเพราะข้าพเจ้าหัวรุนแรงด้วยกระมังเลยมีความโน้มเอียงไปทางกลุ่มยุวชนสยาม
แต่หลังจากค่ายที่นครสวรรค์แล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ร่วมค่ายยุวชนสยามอีกเลย
เพราะหลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม กลุ่มยุวชนสยามก็หันเหไปทางซ้าย และปิดลับมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากการอภิปรายเมื่อปี ๒๕๑๕ ก็คือ ครั้งนี้ไม่มีผู้อภิปรายคนใดใส่ชุดสากลมาเลย ในแง่หนึ่งอาจเป็นนัยบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดในหมู่นักศึกษาปัญญาชน เพราะช่วงนั้นขบวนการนักศึกษาปัญญาชนกำลังพุ่งสูง การประท้วงกรณีทุ่งใหญ่ และกรณีขับไล่นักศึกษารามคำแหงเพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ และ ๔ เดือนหลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการพูดกันมากถึงเรื่องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แต่หลังจากเหตุการณ์นั้น กระแสสังคมนิยมก็มาแทนที่โดยมีจีนเป็นแม่แบบ จักรวรรดินิยมอเมริกันกลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของประเทศในสายตานักศึกษาปัญญาชนจำนวนไม่น้อย หลายคนพูดถึงการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ และการยึดอำนาจรัฐมาเป็นของประชาชน โค่นล้มนายทุนขุนศึกศักดินาให้สิ้นซาก ข้าพเจ้าเองก็พลอยได้รับอิทธิพลกระแสนี้ด้วย หันมาสนใจงานของเช กูวารา ฟิเดล คาสโตร ยิ่งจิตร ภูมิศักดิ์ด้วยแล้วกลายเป็นวีรบุรุษของเราไปเลยจนแทบจะไม่สงสัยเลยว่า ในบรรดาคนไทยรุ่นเดียวกัน จะมีใครที่มีปัญญาล้ำเลิศเกินเขาไปได้ แม้กระนั้น ข้าพเจ้ายังเป็น แฟน ของส.ศิวรักษ์อยู่ ไม่จำเพาะงานเขียน หากยังติดตามงานอภิปรายเท่าที่จะมีโอกาส แต่ก็เริ่มจะคลายความนิยมลงไป ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะว่า ความเห็นของ ส.ศิวรักษ์เริ่มจะขัดกับอุดมการณ์ความเชื่อในหมู่ขบวนการนักศึกษา การกราดเกรี้ยวถือตนว่าเก่งโดยไม่ยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างหาก ที่เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าผิดหวังในตัวอาจารย์สุลักษณ์ ในขณะที่พร่ำเขียนและพูดให้ผู้คนรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน เปิดใจกว้าง และมีมนสิการในคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ได้รับ แต่อาจารย์สุลักษณ์กลับทนไม่ได้เวลามีคนเขียนวิพากษ์วิจารณ์ตน คราวหนึ่งวารสาร ศูนย์ศึกษาซึ่งมีอนุช อาภาภิรมเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการลงบทวิจารณ์ปรัชญาการศึกษาของส.ศิวรักษ์ ปรากฏว่าไม่นานอาจารย์สุลักษณ์เขียนบทความถึงบรรณาธิการด้วยความโมโหโกรธา บริภาษผู้วิจารณ์อย่างรุนแรง แทนที่จะชี้แจงหรือโต้เป็นประเด็นๆ ด้วยเหตุด้วยผล ปฏิกิริยาทำนองนี้ทำให้ข้าพเจ้าหวนนึกไปถึงคราวที่อาจารย์สุลักษณ์เขียนตอบโต้ปรีดี พนมยงค์ และสุพจน์ ด่านตระกูลในหนังสือชาวบ้าน และอนาคต เห็นได้ชัดว่าข้อมูลบางอย่างของอาจารย์สุลักษณ์คลาดเคลื่อน(เช่น เข้าใจผิดว่า ท่านปรีดีเป็นรมต.กระทรวงมหาดไทยในช่วงที่มีการประหารชีวิต ๑๘ คน) แม้ถูกแย้งในเวลาต่อมาว่าท่านปรีดีเป็นรมต.ว่าการกระทรวงการคลังต่างหาก แต่อาจารย์สุลักษณ์ก็ยังไม่ยอมรับผิดหรือลดราวาศอกให้ พอถึงกลางปี ๒๕๑๗ ข้าพเจ้าก็เป็นแฟนติดตามผลงานของอนุช อาภาภิรมไปแล้ว โดยตามอ่านตั้งแต่ครั้งเป็นบรรณาธิการ ชัยพฤกษ์ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ แล้วก็ข้ามมาวิทยาสารเลย (โดยไม่ได้สนใจ ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน) ครั้นมาออกเสียงเยาวชน ข้าพเจ้าก็ซื้ออ่านทุกฉบับ ตอนนั้น อนุชเป็นขวัญใจของนักเรียนหัวก้าวหน้านิยมซ้าย รวมทั้งกรรมการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ซึ่งข้าพเจ้ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ภาพพจน์ของส.ศิวรักษ์ ในสายตาของนักเรียนกลุ่มนี้ไม่สู้ดี ข้าพเจ้าก็พลอยได้รับอคตินี้มาด้วย อย่างไรก็ตาม มีเหตุบังเอิญที่ดึงให้ข้าพเจ้าได้กลับมาหาอาจารย์สุลักษณ์อีก เหตุบังเอิญนี้มาด้วยกัน ๒ ทาง ทางแรกก็คือ วิศิษฐ์ วังวิญญู ซึ่งลาออกจากมหาวิทยาลัยมหิดลกลางคัน แล้วกลับเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนไปสนิทคุ้นเคยกับพจนา จันทรสันติ ซึ่งเพิ่งเข้าไปเป็นปีแรกเช่นกัน วิศิษฐ์นั้นนับถืออาจารย์สุลักษณ์และคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยงานอาจารย์สุลักษณ์ทางด้านมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และสำนักพิมพ์เคล็ดไทยด้วย วิศิษฐ์ได้ชักชวนให้พจนาและข้าพเจ้ารู้จักกับรสนา โตสิตระกูล แล้วพวกเราก็ร่วมกันตั้งกลุ่มศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา โดยได้รับความสนับสนุนจากมูลนิธิโกมลคีมทอง อันที่จริงกลุ่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอาจารย์สุลักษณ์เลย แต่ก็ทำให้ข้าพเจ้าคุ้นเคยกับวิศิษฐ์มากยิ่งขึ้น และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง แต่ส่วนใหญ่วิศิษฐ์จะเป็นฝ่ายคุย เพราะอ่านหนังสือมามาก และฉลาดกว่าพวกเรามากนัก แถมเป็นรุ่นพี่อีกต่างหาก เราพูดคุยกันถึงเรื่องพุทธศาสนา เต๋า จิตวิญญาณ และรหัสนัยจากสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับข้าพเจ้าทั้งสิ้น แล้ววันดีคืนดีวิศิษฐ์ก็พูดถึงเรื่องอหิงสา และการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธี แต่ก่อนที่เรื่องนี้จะเล็ดลอดมาถึงหูข้าพเจ้า วิศิษฐ์กับพจนารวมทั้งชาญณรงค์ เมฑินทรางกูรก็ได้ผ่านการโต้เถียงอย่างหนักมาแล้ว และปรากฏว่าหลายคนเริ่มเห็นพ้องด้วยกับวิศิษฐ์ ส่วนข้าพเจ้านั้นเป็นนักเรียน จึงรู้ช้ากว่าคนอื่น ได้ฟังแล้วก็อดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า สันติวิธีจะมีประสิทธิภาพเท่าความรุนแรงได้อย่างไร ข้าพเจ้ามาทราบในระยะนั้นเองว่า ความคิดเรื่องอหิงสาของวิศิษฐ์นั้นได้อิทธิพลมาจากอาจารย์สุลักษณ์ ข้าพเจ้าเองแม้จะอ่านงานอาจารย์สุลักษณ์มาไม่น้อย แต่ก็เพิ่งรู้ว่า อาจารย์สุลักษณ์เชื่อมั่นในอหิงสา นับว่าผิดความคาดหมาย เพราะอาจารย์สุลักษณ์นั้นมีอารมณ์ร้อนแรงอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน หากจะนิยมความรุนแรงข้าพเจ้าก็ไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเลย วิศิษฐ์ชักชวนว่า หากสนใจก็ไปคุยกับอาจารย์สุลักษณ์ได้ ตอนนั้นอาจารย์มาทำสำนักพิมพ์เคล็ดไทยเช่าสำนักงานที่ตึกสีบุญเรือง ถนนสีลม เป็นวันไหนข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่ แต่เมื่อเลิกเรียนแล้วก็ไปหาวิศิษฐ์ที่เคล็ดไทย และคงจะได้มีโอกาสซักถามอาจารย์สุลักษณ์เรื่องนี้ด้วย เหตุการณ์ระหว่างนี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับที่ข้าพเจ้าบังเอิญได้รับเชิญจากอัสสัมชนิกรุ่นพี่ผู้หนึ่งคือ เสรี เสรีวัฒโนภาส ให้ร่วมประชุมพบปะกับอัสสัมชนิกบางคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกัน เพื่อจะได้คิดอ่านทำกิจกรรมที่โรงเรียนเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้มีคุณภาพ เสรีเวลานั้นทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย แต่มีสำนึกทางสังคมสูงมาก เป็นนักอ่านและนักคิดตัวยง เคยเป็นผู้นำกลุ่มนิสิตนักศึกษาบูรณะชนบท เมื่อจบมาแล้วก็ยังแวะเวียนมาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เพื่อริเริ่มกิจกรรมสร้างเสริมคุณภาพของครูและนักเรียนให้มีสำนึกในสังคมและมีความคิดอ่านเป็นตัวของตัวเอง อธิการวิริยะ ฉันทวโรดมก็หนุนเต็มที่ อาจารย์สุลักษณ์ก็เคยได้รับเชิญให้มาแสดงปาฐกถาเรื่อง ครูในอุดมคติ ให้ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนฟังเมื่อปี ๒๕๑๕ แต่ครั้นเปลี่ยนอธิการ กิจกรรมส่วนนี้ก็เพลาไป อย่างไรก็ตาม เสรีก็ยังเป็นห่วงโรงเรียน แต่เปลี่ยนเป้ามาที่นักเรียน บังเอิญข้าพเจ้าเป็นนักเรียนชั้นสูงสุดของโรงเรียน จึงถูกเลือกให้ร่วมประชุมพบปะกับศิษย์เก่าที่มีความคิดอ่านในเรื่องคล้ายๆ กัน นอกจากพจนาแล้วจำไม่ได้แน่ว่ามีใครบ้าง แต่ที่แน่ชัดก็คือ อาจารย์สุลักษณ์ได้รับเชิญด้วย โดยที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ถึง ๑๐ คนจึงคุยกันได้มาก นี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้สนทนาวิสาสะกับอาจารย์อย่างค่อนข้างเป็นกันเอง เพราะอาจารย์สุลักษณ์ไม่ได้มาในฐานะวิทยากร ผู้อภิปรายหรือสวมหัวโขนใดๆ และข้าพเจ้าก็มิได้อยู่ในฐานะผู้จัดการอภิปรายหรือผู้ฟัง การพบปะกันครั้งนั้น ก่อให้เกิดกิจกรรมตามมาอยู่อย่างสองอย่าง แต่ไม่นานก็จางหายไป กระนั้นสิ่งที่มีผลกระทบกว้างไกลกว่านั้นก็คือ ทัศนคติของข้าพเจ้าต่ออาจารย์สุลักษณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อคบโดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์ก็เป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ถือตัว ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง ดูน่าเคารพคนหนึ่ง ผิดกับภาพพจน์แต่ก่อนที่อยู่ในใจว่า อาจารย์เป็นคนเคร่งเครียดเจ้าหลักการ เห็นอะไรผิดพลาดเป็นไม่ได้ ต้องตำหนิจนข้าพเจ้าไม่กล้าเข้าหา ด้วยกลัวว่าจะทำอะไรไม่เข้าท่าเข้าทางในสายตาของอาจารย์ อย่างไรก็ตาม ความที่ยังไม่คุ้น และยังเกร็งอาจารย์สุลักษณ์อยู่ ดังนั้นเมื่อไปพบอาจารย์ที่เคล็ดไทยคราวนั้น จึงซักถามอาจารย์เรื่องอหิงสาได้ไม่มาก อาจารย์เองก็ดูไม่สนุกกับการตอบเท่าไร (อีกหลายปีต่อมาข้าพเจ้าจึงรู้ว่า หากจะคุยกับอาจารย์ให้เป็นเรื่องเป็นราว และอย่างสบายๆ ไปคุยที่บ้านเป็นดีที่สุด เพราะอาจารย์จะรู้สึกผ่อนคลายและมีเวลาให้มากกว่าเวลาอยู่ที่ทำงาน) กระนั้นผลพลอยได้ก็คือ ได้บทความอาจารย์ไปลงอัสสัมชัญสาส์น ซึ่งข้าพเจ้าเป็นบรรณาธิการ และกำลังจะออกฉบับพิเศษครบรอบ ๑ ปี ๑๔ ตุลาคม แต่แล้วบทความนั้นรวมทั้งของอนุช อาภาภิรมที่ข้าพเจ้าขอมาก็เกิดปัญหา เนื่องจากทางโรงพิมพ์เอาไปให้ผู้บริหารดูโดยไม่บอกให้ข้าพเจ้าทราบ ผลคือถูกเซนเซอร์ทั้ง ๒ บทความ ข้าพเจ้าเมื่อทราบก็ยื่นจดหมายลาออก แต่ตอนหลังก็ยินยอมกลับเป็นบรรณาธิการต่อจนจบชั้น ม.ศ.๕ แม้ว่าข้าพเจ้าจะยังไม่ได้รับความกระจ่างมากนักจากอาจารย์สุลักษณ์ในเรื่องอหิงสา แต่วิศิษฐ์ก็สามารถชักชวนให้หลายคนเห็นด้วยกับเขา นอกจากพจนา ชาญณรงค์แล้วยังมีสันติสุข และชัยวัฒน์ เยาวพงษ์ศิริ ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่อธิปัตย์ หนังสือพิมพ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยอยู่ ในเวลาเดียวกันเพื่อนๆ รุ่นน้องในอัสสัมชัญก็คุ้นเคยและสนทนาวิสาสะกับเขามากขึ้น จนเชิญเขาไปเป็นวิทยากรร่วมกับพจนาในระหว่างออกค่ายฝึกกำลังคน ที่จ.จันทบุรีราวเดือนธันวาคม ถึงตอนนั้นข้าพเจ้าเองก็เริ่มจะคล้อยตามเขาไปมากแล้ว ไม่ว่าในเรื่องอหิงสา และศาสนธรรมที่ลึกซึ้งเกินกว่าตรรกะและวิทยาศาสตร์จะอธิบายได้ และที่ตามมาควบคู่กัน คือการตั้งคำถามกับลัทธิมาร์กซิสต์ ซึ่งข้าพเจ้าเคยถือเป็นคำตอบของสังคม ปลายปี ๒๕๑๗ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบอาจารย์สุลักษณ์อีก ๒-๓ ครั้ง ทั้งที่บ้านอาจารย์ และที่โรงเรียนอัสสัมชัญ การพบกันที่โรงเรียนครั้งหลังนั้น อาจารย์เชิญมาเจอรี ไซกส์ มาพูดให้พวกเราฟังเกี่ยวกับเรื่องขบวนการอหิงสาในอินเดีย เธอเป็นสานุศิษย์ของทั้งรพินทรนาถ ฐากูร และมหาตมะ คานธี งานนี้เป็นการพูดคุยในกลุ่มเล็กๆ ช่วงหลังเลิกเรียนแล้วโดยอาจารย์สุลักษณ์มาเป็นล่าม แต่ก่อนที่ปี ๒๕๑๗ จะผ่านไป ใกล้เทศกาลคริสต์มาสวิศิษฐ์ก็ชวนนิโคลัส เบนเนตต์มาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมโดยสันติวิธีให้พวกเราฟังที่โรงเรียนอัสสัมชัญ นิโคลัสเป็นผู้เชี่ยวชาญยูเนสโกที่มาประจำกระทรวงศึกษาธิการ เขาเป็นนักการศึกษารุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงจากผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารหลายแห่งเช่น ศูนย์ศึกษา วิทยาสารและปาจารยสาร ตอนนั้นหนังสือเรื่อง The Politics of Non Violent Action ของยีน ชาร์ปออกมาแล้ว นิโคลัสเอาข้อมูลจากหนังสือเล่มนั้นมาเสริมกับทัศนะและประสบการณ์ของเขา ประโยคหนึ่งที่เขาพูดและข้าพเจ้าไม่ลืมเลยก็คือ ในการต่อสู้กับผู้มีอำนาจ เราจะชนะได้ต่อเมื่อไม่สู้ในเกมที่เขาถนัดและเกมที่ผู้มีอำนาจถนัดก็คือการใช้ความรุนแรงนั่นเอง การบรรยายคราวนั้นเปลื้องข้อสงสัยของข้าพเจ้าเกี่ยวกับอหิงสาและสันติวิธีไปได้มาก นั่นกระมังคงเป็นจุดเปลี่ยน ที่นำข้าพเจ้ามาสู่กลุ่มอหิงสาอย่างไม่รู้สึกเป็นส่วนเกิน แม้จะเป็นสมาชิกชั้นปลายแถวก็ตาม -๓- ต้นปี ๒๕๑๘ แกนนำของกลุ่มอหิงสา คือ วิศิษฐ์ สันติสุข พจนา ชาญณรงค์ ชัยวัฒน์ และภายหลังก็นิตย์ จันทรมังคลศรี ก็รวมกันเช่าห้องพักในแฟลตเคบิลดิ้งใกล้ไปรษณีย์กลาง ยังชีพด้วยการแปลหนังสือและผลิตต้นฉบับให้สำนักพิมพ์เคล็ดไทย พจนาแปลวิถีแห่งเต๋าในช่วงนั้น ช่วงแรกข้าพเจ้าเพียงแต่ป้วนเปี้ยนเป็นครั้งคราว เพราะยังวุ่นอยู่กับการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ต่อเมื่อจบแล้ว จึงมาเป็นลูกมือพิมพ์ดีดต้นฉบับ แด่หนุ่มสาว ของพจนา และปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ของพระประชา ปสนนธมโม ซึ่งเพิ่งเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่ามกลางความผิดคาดของฝ่ายซ้ายชั้นนำหลายคน ช่วงนั้น วิศิษฐ์ยังรับงานประจำอีกชิ้นหนึ่งคือ ร่วมกับพิภพ ธงไชยทำปาจารยสาร ซึ่งเริ่มจะเปลี่ยนแนวจากวารสารทางการศึกษามาเป็นวารสารทางด้านอหิงสาและพุทธศาสนาเพื่อสังคม หลังจากฉบับที่ขึ้นปก อหิงสกะ ออกวางตลาดไม่นาน ปาจารยสารก็ถูกโอนมาให้กลุ่มอหิงสาทั้งกลุ่มรับผิดชอบเต็มที่ โดยอาจารย์สุลักษณ์เป็นเพียงบรรณาธิการแต่ในนาม หนังสือเรื่องมนุษย์ที่แท้ หรือมรรควิธีของจางจื๊อ ที่อาจารย์สุลักษณ์แปล ออกวางตลาดในเวลาไล่เลี่ยกัน กลายเป็นหนังสือยอดนิยมของพวกเรา และมีส่วนโน้มนำข้าพเจ้าให้เชื่อมั่นในเรื่องศาสนธรรมมากขึ้น โดยมีวิถีแห่งเต๋า ของพจนาช่วยเสริมอีกทางหนึ่งด้วย แม้อาจารย์สุลักษณ์จะมีอิทธิพลทางความคิดต่อพวกเรากลุ่มอหิงสาเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวมากนัก จะคอยอุดหนุนจุนเจือก็ต่อเมื่อเราร้องขอ แฟลตเคบิลดิ้งช่วงต้นปี ๒๕๑๘ เป็นแหล่งสุมหัวของพวกเราทั้งนักศึกษาและนักเรียน มีคนเข้าคนออกพลุกพล่าน แขกที่มาเยือนมิใช่มีเฉพาะพวกอหิงสา แม้ฝ่ายซ้ายก็เข้ามาถกเถียงโต้คารมกับวิศิษฐ์และเพื่อนอยู่บ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่ก็เคยเป็นเพื่อนร่วมขบวนการกันมาก่อน ประชา หุตานุวัตรก็เข้ามาร่วมวงด้วยในฐานะฝ่ายซ้ายชั้นนำจากจุฬาฯ แต่พอถึงเดือนมีนาคม ก็ลงไปบวชที่สุราษฎร์ฯ เสียแล้ว ความเห็นผิดแผกแตกต่างกันในทางทฤษฎีเป็นเรื่องที่สำคัญมากในขบวนการนักศึกษาเวลานั้น ต่างฝ่ายจะต้องหาทางโต้แย้งและเอาชนะให้ได้ ลำพังในหมู่ฝ่ายซ้ายเองก็มีความขัดแย้งกันมากอยู่แล้วในการวิเคราะห์สังคมและเรื่องยุทธศาสตร์ยุทธวิธี แต่เท่านั้นยังไม่พอ กลุ่มอหิงสายังมาเสนอประเด็นใหม่ ซึ่งหลายคนเห็นว่า เป็นวิธีการเพ้อฝันหน่วงเหนี่ยวการปฏิวัติ หาไม่ก็โจมตีว่าเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติไปเลย ในสภาพเช่นนี้ กลุ่มอหิงสาจึงไม่วายที่จะตกเป็นเป้าของการโจมตีจนบางทีถูกหาว่าเป็นพวกซีไอเอ โดยมีส.ศิวรักษ์เป็นหัวโจกใหญ่ ลำพังหากพวกเราอยู่เฉยๆ ก็ไม่สู้กระไร แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่กลับออกปาจารยสาร ชูธงอหิงสาและพุทธศาสนา และวิจารณ์ฝ่ายซ้ายกับแนวคิดมาร์กซิสต์อยู่เนืองๆ แรงตีกลับก็เลยมีไม่น้อย นักเขียนฝ่ายซ้ายบางคนเย้ยหยันว่า พวกเรากำลังจะพาผู้อ่านขึ้นสวรรค์ไปกับปาจารยสาร นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่หยิบยกเอาบุคลิกส่วนตัวของพวกเราบางคนเพื่อวิจารณ์โจมตีแนวทางอหิงสา คงเพราะเหตุนี้ กลุ่มอหิงสาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกลุ่มกัลยาณมิตร เพื่อให้น่าหมั่นไส้น้อยลง ข้าพเจ้ามาเกี่ยวข้องคุ้นเคยกับอาจารย์สุลักษณ์อย่างจริงจังในระยะนี้เอง เพราะเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว มีเวลามากขึ้นก็ถูกเพื่อนรุ่นพี่ดึงมาช่วยงานปาจารยสาร เริ่มจากการวิจารณ์หนังสือ แล้วก็เขยิบมาเขียนบทความ ระหว่างนั้นก็มีธุระไปคุยกันที่บ้านอาจารย์สุลักษณ์บ่อยๆ บางครั้งผู้หลักผู้ใหญ่มาประชุมกันที่บ้านอาจารย์ พวกเราก็ได้รับเชิญให้ไปร่วมฟังด้วย นอกจากนั้นอาจารย์ยังเป็นสะพานให้พวกเราได้รู้จักนักคิดและนักปฏิบัติทางด้านสันติวิธีหลายคน ซึ่งอาจารย์มักเชิญมากินข้าวเย็นที่บ้านและพูดคุยให้เราฟังในจำนวนนี้ได้แก่ ติช นัท ฮันห์และสจ๊วต มีแช่ม (ท่านแรกนั้นอาจารย์แนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักระหว่างไปร่วมอาศรมแปซิฟิกที่วัดผาลาดเชียงใหม่ หลังจากข้าพเจ้าสอบเอนทรานซ์เสร็จหมาดๆ )ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจและเห็นค่าของสันติวิธีมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ผลพลอยได้ยังมีมากกว่านั้น เวลาไปบ้านอาจารย์แต่ละทีก็มักมีโอกาสฟังอาจารย์เล่าเรื่องสัพเพเหระต่างๆ เพราะเวลาอยู่บ้าน อาจารย์มักอารมณ์ดี นอกจากจะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเล่าประดับสติปัญญาแล้ว ยังมุขให้หัวเราะอยู่เนืองๆ เป็นบรรยากาศสบายๆ ที่ต่างจากเวลาอาจารย์ไปอภิปรายต่อหน้าสาธารณชน ยิ่งถ้ามีผู้ใหญ่อย่าง เฉลิม ทองศรีพงศ์ หรืออุทัย ดุลยเกษม พิภพ ธงไชย มาร่วมวงด้วยแล้ว เสียงฮาจะดังเป็นระยะๆ เลยทีเดียว จนเป็นโชคหรือเคราะห์ของผู้อ่านปาจารยสาร ไม่ทราบได้ (แต่อาจจะเป็นประการหลังมากกว่า) วารสารเล่มนี้มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจความรับผิดชอบเร็วมาก ภายใน ๖-๗ เดือน สาราณียกรเปลี่ยนถึง ๓ คน จากวิศิษฐ์ มาเป็นสันติสุข และพจนา เมื่อสาราณียกรทั้งสามคนมีเหตุให้ต้องไปรับงานอื่น ภาระจึงมาลงเอยที่ข้าพเจ้าซึ่งเป็นน้องใหม่สุด และยังแสดงฝีมือไม่มากพอในปาจารยสาร คนที่น่าจะต้องทำใจมากที่สุด เห็นจะเป็นอาจารย์สุลักษณ์ เพราะนอกจากอาจารย์จะต้องรับผิดชอบหนังสือเล่มนี้โดยตรงต่อทางการบ้านการเมืองในฐานะเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาแล้ว ยังต้องรับผิดชอบต่อมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปในฐานะกรรมการดำเนินงานด้วย แต่อาจารย์ก็ใจกว้างและใจถึง กล้าที่จะเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้ามากุมบังเหียนวารสารเล่มนี้ ซึ่งโดยประวัติแล้ว มีเกียรติคุณดีเด่นมาตั้งแต่สมัยที่พิภพ ธงไชยเป็นสาราณียกรช่วงปี ๒๕๑๔-๒๕๑๖ เมื่อพวกเราในกลุ่มกัลยาณมิตรรับช่วงทำปาจารยสารต่อจากพิภพ ธงไชยนั้น เนื้อหาและรูปแบบผิดไปจากเดิมมาก ผู้จัดทำรุ่นก่อนดูจะไม่ค่อยพอใจนักกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในด้านหนึ่งก็เห็นจะต้องยอมรับว่า พวกเรายังขาดประสบการณ์ในการทำวารสารยิ่งปาจารยสารเล่มแรกที่มีชื่อข้าพเจ้าปรากฏในฐานสาราณียกรด้วยแล้ว ออกจะสมัครเล่นอยู่มาก หลายคนรวมทั้งอาจารย์สุลักษณ์วิจารณ์ได้ถูกต้องว่า หนังสือทำโดยไม่คำนึงถึงคนอ่าน แต่ทำตามที่พวกเราอยากจะทำ อย่างไรก็ตาม แม้ปาจารยสารจะขาดทุนมาโดยตลอดและคุณภาพไม่น่าพอใจนัก แต่อาจารย์สุลักษณ์ก็ยังพร้อมที่จะสนับสนุนให้คนหนุ่มสาวได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ทุกปีอาจารย์ต้องเจรจาขอให้ทางมูลนิธิอนุมัติงบประมาณให้พวกเราทำหนังสืออย่างขาดทุน และก็ขอได้สำเร็จทุกปีเสียด้วย อันที่จริงก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะมาเป็นสาราณียกรปาจารยสารนั้น ข้าพเจ้าก็ได้รับโอกาสจากอาจารย์สุลักษณ์มาคราวหนึ่งแล้วโดยอาจารย์ขอให้พวกเราในกลุ่มกัลยาณมิตรลองศึกษาขบวนการสรรโวทัยในลังกา เพื่อจะตีพิมพ์เผยแพร่ให้คนไทยได้ทราบนอกเหนือจากที่เคยพิมพ์ในปาจารยสารก่อนหน้านั้นแล้ว ข้าพเจ้ารับอาสาทำเมื่อเขียนเสร็จก็มอบให้อาจารย์ตรวจและแก้ไข ๑-๒ เดือนให้หลังข้าพเจ้าไปหาอาจารย์ที่สำนักงานเคล็ดไทย บังเอิญกับที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิโกมลคีมทองขนจุลสารเล่มใหม่ของมูลนิธิมาให้อาจารย์ ปรากฏว่าเป็นงานเขียนของข้าพเจ้าชิ้นนั้นนั่นเอง นึกไม่ถึงว่าอาจารย์จะให้ความสำคัญแก่งานของข้าพเจ้าขนาดนั้น เนื่องจากจุลสารมูลนิธิตั้งแต่ฉบับแรกเป็นต้นมาเลือกพิมพ์เฉพาะงานของนักคิดระดับคุณภาพทั้งของไทยและเทศเป็นหลัก ปาฐกถา อุดมคติ ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ ที่รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์แปลจากงานของชูเมกเกอร์ ก็ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในรูปจุลสาร มูลนิธิโกมลคีมทอง การเปิดโอกาสให้แก่คนรุ่นใหม่ เป็นลักษณะการทำงานของอาจารย์สุลักษณ์ที่ข้าพเจ้าประจักษ์ได้ในเวลาไม่นาน ทั้งนี้เป็นเพราะอาจารย์เชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ ความเชื่อมั่นนี้มิได้เป็นไปอย่างหลับหูหลับตาว่า เมื่อคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแสดงฝีมือแล้ว ผลงานเป็นต้องออกมาดีโดยอัตโนมัติ ตรงกันข้าม บางครั้งอาจารย์ก็อาจจะไม่สู้แน่ใจในความสามารถของคนที่อาจารย์มอบหมายงานให้ด้วยซ้ำ แต่อาจารย์เชื่อว่า หากให้ความรับผิดชอบแก่คนรุ่นใหม่ ให้เขาได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่แล้ว เขาจะสามารถเรียนรู้ได้จากความล้มเหลวพอๆ กับความสำเร็จ ศักยภาพของเขาจะได้รับการพัฒนาและในที่สุดความรับผิดชอบนั้นเองจะทำให้คนรุ่นใหม่เติบโต ทั้งในทางสติปัญญาและวุฒิภาวะ มีหลายครั้งที่ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายงานที่ดูใหญ่เกินตัว(หนึ่งในงานเหล่านั้นก็คือ การเป็นสาราณียกรปาจารยสาร) หลายคนก็คงจะมีประสบการณ์เช่นเดียวกับข้าพเจ้า แต่กระนั้นอาจารย์สุลักษณ์ก็ยังสนับสนุนให้ทำ จริงอยู่ พูดอย่างเข้าข้างตัวเองอาจารย์คงต้องมีปัญญาพอที่จะเห็นแววของคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราอยู่บ้างจึงเปิดโอกาสให้พวกเราทำงานได้อย่างอิสระเป็นเจ้าของงานอย่างเต็มที่ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์มีไม่น้อยก็คือ ความใจถึงและความอดทน ที่ว่าใจถึงก็เพราะ ทั้งๆ ที่อาจจะไม่แน่ใจในความสามารถของคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา แต่ก็ยังกล้าที่จะให้พวกเราลองดู แม้ว่างานนั้นหากเสียหาย ความรับผิดชอบก็ต้องตกอยู่กับอาจารย์ในที่สุด บ่อยครั้งที่งานออกมาไม่ดี แต่อาจารย์ก็อดทนพอที่จะให้เราทำต่อไป เพราะอาจารย์เชื่อว่า หากพวกเราใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ผลสำเร็จย่อมเป็นที่หวังได้ แต่ลึกๆ แล้วสิ่งที่อาจารย์ต้องการดูเหมือนจะไม่ใช่ผลสำเร็จของงาน หากได้แก่ความเติบโตของคนทำงานมากกว่า -๔- ต้นปี ๒๕๑๙ หลังจากที่พวกเราได้ทบทวนผลงานที่ผ่านมาปาจารยสารก็ได้เปลี่ยนโฉม คือบางลงกว่าเดิม และราคาถูกกว่าเดิมเท่าตัว จาก ๑๐ บาทลดเหลือ ๕ บาท ส่วนเนื้อหาก็เน้นแนวคิดและประสบการณ์ทางด้านสันติวิธีที่ใกล้ชิดกับสถานการณ์ของเมืองไทยมากขึ้น คือพยายามให้มีลักษณะ ติดดิน มากขึ้น มีกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับบทบาทของพระสงฆ์ที่ทำงานอย่างเงียบๆ ในหัวเมือง และมุ่งให้หนังสือเป็นสื่อกลางของผู้ที่สนใจการสร้างสรรค์สังคม บนพื้นฐานของศาสนธรรมและวัฒนธรรมของเราเอง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าได้รู้จัก และเกี่ยวข้องกับกลุ่มต่างๆมากขึ้น และมีหลายกลุ่มที่อาจารย์สุลักษณ์เป็นสะพานให้ข้าพเจ้าได้รู้จัก และมีผลสืบเนื่องถึงปัจจุบัน มี ๒ กลุ่มที่ควรเอ่ยถึง กลุ่มแรกได้แก่ กลุ่มสันติวิธีที่อาจารย์โคทม อารียาเป็นตัวตั้งตัวตี โดยร่วมมือกับบุคคลหลายวงการที่มีความห่วงใยในปัญหาเดียวกัน นั้นคือ ความร้าวฉานในสังคมไทย ซึ่งกำลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เวลานั้นความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายในบ้านเมืองกำลังถึงจุดวิกฤต การลอบสังหารผู้นำนักศึกษา กรรมกร ชาวนาและนักการเมืองฝ่ายสังคมนิยมเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กลางกรุงเทพมหานคร การชุมนุมประท้วงครั้งสำคัญมักถูกก่อกวนด้วยความรุนแรง จนอาจถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตโดยที่ตำรวจจับคนร้ายไม่ได้แม้แต่คนเดียว ฝ่ายนักศึกษาประชาชนนิยมซ้ายก็พูดถึงสงครามประชาชนและการยึดอำนาจรัฐด้วยกำลังอาวุธถี่กระชั้นขึ้น ไม่ว่าในเวทีอภิปราย บทความหรือแม้แต่ในบทเพลงความขัดแย้งทางความคิดเข้มข้นรุนแรงและจนกระทั่งผู้คนต้องเลือกฝ่าย แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ไม่ยอมอยู่ฝ่ายไหน แต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน หรืออย่างน้อยก็ให้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี กลุ่มสันติวิธีเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่สมาชิกก็ล้วนเป็นคนสำคัญจากวงการต่างๆ เช่น คุณหญิงสุมาลี จาติกวณิช คุณหญิงกนก สามเสนวิลล์ พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ อาจารย์ระวี ภาวิไล ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อาจารย์สุลักษณ์ดูเหมือนจะได้รับเชิญมาภายหลังก่อตั้งกลุ่มไม่นาน ส่วนข้าพเจ้าได้รับการชักชวนจากอาจารย์สุลักษณ์อีกต่อหนึ่ง กลุ่มสันติวิธี รวมตัวกันแบบหลวมๆ เป็นเวทีพบปะในหมู่คนที่มีความเห็นแตกต่างกันในหลายเรื่อง แต่มีเรื่องเดียวที่เห็นร่วมกันคือต้องการให้ความขัดแย้งในสังคมไทยแก้ด้วยสันติวิธี สถานที่พบปะคือสำนักงานสภาคณาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์โคทม เป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาอยู่ในเวลานั้น นอกจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่สมาชิกเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองและการเผยแพร่ทัศนะเพื่อเตือนสติต่อสาธารณชนในวงกว้างแล้วยังจัดอภิปรายโดยเชิญคนภายนอกมาแสดงทัศนะด้วย งานใหญ่ที่กลุ่มสันติวิธีจัดคือ การสัมมนาในหัวข้อ ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๙ โดยเชิญคนจากหลายฝ่ายมาร่วม ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักศึกษา ประชาชน ด้วยความหวังว่าจะมีส่วนช่วยให้ผู้คนหันหน้าเข้าเจรจากันมากขึ้นแทนที่จะหันหลังเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ในงานนี้อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์มาร่วมในฐานะวิทยากรและผู้ร่วมสัมมนา แต่ก็ไม่วายมีใบปลิวจาก กลุ่มค้างคาวไทย มาแจกในงานโจมตีอาจารย์ว่าเป็นหัวโจกฝ่ายซ้าย กลุ่มสันติวิธีสลายตัวไปหลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ แต่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเกี่ยวข้องเพราะอาจารย์สุลักษณ์นั้น สามารถฝ่ามรสุมการเมืองและยืนยงมาถึงปัจจุบัน ได้แก่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม กลุ่มนี้มีผู้ก่อตั้งหลายคน อาทิ บิชอบบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ บาทหลวงประสิทธิ สมานจิตร โกศล ศรีสังข์ แต่ต้นคิดมาจากอาจารย์สุลักษณ์ หลังจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อาจารย์สุลักษณ์ได้หันมาทำงานประสานกับศาสนิกต่างศาสนามากขึ้น ขณะที่งานทางด้านนักศึกษาลดลงไป ผิดกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น อาจเป็นเพราะนักศึกษาหันไปหาอุดมการณ์ใหม่จึงเบนเข็มจากอาจารย์ไป แต่ในเวลาเดียวกันอาจารย์สุลักษณ์ก็ตระหนักว่า ศาสนธรรมเป็นทางเลือกที่สามที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย ในอันที่จะไปพ้นทุนนิยมหรือสังคมนิยม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องวัตถุนิยมทั้งสิ้น งานช่วงนี้ของอาจารย์จึงเน้นหนักในเรื่องการนำศาสนธรรมมาเป็นแนวทางสำหรับการสร้างสรรค์สังคม ขณะเดียวกันก็พยายามกระตุ้นศาสนิกชนให้หันมามีบทบาทผลักดันสังคมอย่างสอดคล้องกับหลักศาสนธรรมของตนมากขึ้น งานเขียนที่สำคัญในช่วงนี้ของอาจารย์คือ ศาสนากับการพัฒนา ซึ่งเป็นปาฐกถาให้แก่คริสต์ศาสนิกชนนิกายโปรเตสแตนท์ แต่มีนัยสำคัญสำหรับศาสนิกทุกศาสนา หนึ่งเดือนหลังจากแสดงปาฐกถาชิ้นนั้น อาจารย์สุลักษณ์ได้เชิญผู้นำศาสนาทั้งพุทธ คาทอลิก และโปรเตสแตนท์มาปรึกษาหารือเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองซึ่งกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที ในการประชุมครั้งนั้นข้าพเจ้าพลอยไปร่วมด้วย อาจารย์สุลักษณ์ได้อภิปรายนำ โดยเขียนบทความประกอบคือ อันเนื่องมาแต่ศาสนากับการพัฒนา ในคราวนั้น ผู้ร่วมประชุมประมาณ ๓๐ คนได้พร้อมใจกันตั้ง ศูนย์ประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ขึ้น (คำว่า ศูนย์ แก้เป็น กลุ่ม ภายหลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอันอาจเกิดจากความหวาดระแวงของทางการต่อองค์กรที่มีชื่อคล้ายศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ขณะเดียวกันก็ออกแถลงการณ์ถึงประชาชนคนไทยให้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองที่กำลังโน้มไปสู่สงครามกลางเมือง แถลงการณ์ดังกล่าวออกวันที่ ๑๗ มีนาคม ๔ วันหลังจากนั้นก็มีการโยนระเบิดใส่ฝูงชนกลางวันแสกๆ หน้าสยามสแควร์ขณะเดินขบวนขับไล่ฐานทัพอเมริกัน มีคนบาดเจ็บล้มตายนับสิบคน ส่วนฆาตกรลอยนวลตามเคย หลังจากการสัมมนาใหญ่ของกลุ่มสันติวิธีผ่านไปได้ไม่นาน อาจารย์สุลักษณ์ก็มีกิจเดินทางไปแสดงปาฐกถาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเนื่องในโอกาส ๒๐๐ ปีแห่งการก่อตั้งประเทศนั้น รายการของอาจารย์ยาว ๒ เดือน โดยมีกำหนดกลับต้นเดือนตุลาคม ข้าพเจ้าจำได้ว่าไปเยี่ยมอาจารย์ที่บ้านเช้าวันที่จะเดินทาง นอกจากอวยพรให้อาจารย์เดินทางโดยสวัสดิภาพแล้ว ยังขอให้กลับมาเมืองไทยได้ตามกำหนด แต่ลึกๆ ก็คงไม่มีใครแน่ใจในอนาคตแม้เพียง ๒ เดือนข้างหน้า ก่อนไปคุณอังคาร กัลยาณพงศ์ก็ทักว่า บ้านเมืองอาจเกิดเหตุร้ายเสียก่อน และอาจารย์ก็อาจจะไม่ได้กลับเมืองไทยตามกำหนด แล้วสิ่งที่พวกเราทุกคนหวั่นวิตกก็บังเกิดเป็นจริง เหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่อาจารย์สุลักษณ์จะเดินทางกลับเมืองไทย เวลาผ่านไปเกือบ ๒ ปีกว่าอาจารย์จะได้กลับมาบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้า พจนา ชาญณรงค์ถูกจับกุมพร้อมกับเพื่อนหลายคนที่เป็นกรรมการชุมนุมศึกษาพุทธและประเพณี มธ. ขณะที่ร่วมอดอาหารคัดค้านการกลับมาเมืองไทยของสามเณรถนอม กิตติขจร ส่วนอาจารย์สุลักษณ์ก็ตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสีของผู้เถลิงอำนาจชุดใหม่ สำนักงานมูลนิธิโกมลคีมทองซึ่งเวลานั้นอยู่ตรงข้ามบ้านอาจารย์ถูกค้น หนังสือของสำนักพิมพ์เคล็ดไทยที่เก็บอยู่ชั้นล่าง สำนักงานมูลนิธิ ถูกขนไปเผานับหมื่นเล่ม แต่ความเดือดร้อนเช่นนี้ยังนับว่าน้อยนิดมากเมื่อเทียบกับความทุกข์ของอีกหลายคนที่สูญเสียอิสรภาพและชีวิต ทั้งระหว่างเหตุการณ์นองเลือดที่ธรรมศาสตร์และหลังจากนั้น หลังจาก การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หนังสือพิมพ์ทุกชนิดถูกปิดหมด ฉบับไหนที่จะเปิดต่อก็ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตใหม่ ปาจารยสารจึงนับว่าถูกปิดไปโดยปริยาย แต่ระหว่างที่ยื่นเรื่องขออนุญาตจากทางการนั้นเราก็ยังออกหนังสือต่อไป โดยเปลี่ยนหัวหนังสือไปทุกฉบับทำนองหนังสือออกรายสะดวกเพื่อเลี่ยงกฎหมายโดยพ่วงชื่อปาจารยสารเอาไว้ และยังลงบทความของอ.สุลักษณ์เช่นเดิม แต่เป็นบันทึกการเดินทางในสหรัฐอเมริกาก่อนเกิดการรัฐประหาร ส่วนบทความเรื่อง บทเรียนในรอบสามปี ที่เขียนวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ พวกเราแจกอ่านกันในวงจำกัด ระหว่างที่อาจารย์ค้างอยู่ประเทศอังกฤษ และต่อมากลับไปยังอเมริกานั้น ยังมีการติดต่อกับพวกเราที่เมืองไทยอยู่อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด อาจารย์ได้ย้ำว่า ถึงบ้านเมืองจะเป็นเผด็จการอย่างไร แต่ก็ขอให้พวกเราธำรงรักษาเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นให้ได้แม้จะเหลือเพียงน้อยนิดก็ตาม เวลานั้นดูเหมือนว่าในบรรดาวารสารที่แสดงความคิดความอ่านทางสังคมและการเมืองที่ผิดไปจากแนวของรัฐบาล คงมีเพียงปาจารยสารที่ยังรอดมาได้ แต่กระนั้นก็ยังต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวไม่ให้ถูกเล่นงานได้ ปาจารยสารเปลี่ยนหัวหนังสืออยู่เป็นปี กว่าเราจะได้รับอนุญาตให้ออกหนังสืออย่างเป็นกิจจะลักษณะตามกฎหมายของบ้านเมือง สมควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่าการที่ปาจารยสารสามารถพิมพ์ออกมาได้อย่างต่อเนื่องแม้ในยามบ้านเมืองเป็นเผด็จการ ก็เพราะกรรมการมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยเฉพาะประธานคือ คุณสมศรี สุกุมลนันท์ให้ความสนับสนุนและความไว้วางใจพวกเราอย่างเต็มที่ หาไม่แล้วปาจารยสารอาจจะลงเอยอย่างสังคมศาสตร์ปริทัศน์ก็ได้ แม้ว่าเนื้อหาจะเบากว่ากันก็ตาม -๕- ในระหว่างที่ทำปาจารยสารนั้นเอง พวกเราในกลุ่มกัลยาณมิตรยังได้ไปช่วยงานส่วนอื่นด้วย เช่น ผลิตต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ของมูลนิธิโกมลคีมทอง แต่งานที่ยากลำบากกว่านั้นเห็นจะเป็นงานช่วยเหลือนักโทษที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม แม้ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ตลอดจนนักศึกษาส่วนใหญ่จะได้รับการประกันภายหลังถูกคุมขังเพียงแค่ ๓ วัน แต่ยังมีประชาชนเป็นอันมาก ที่ยากจนเกินกว่าจะหาหลักทรัพย์มาประกันได้ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ถูกห้ามประกันเพราะเป็นผู้นำนักศึกษาและกรรมกร ใช่แต่เท่านั้น หลังจากการรัฐประหารก็ยังมีอีกนับพันๆ คนที่ถูกจับกุมด้วยข้อหา ภัยสังคม ซึ่งหมายความว่า นอกจากไม่มีสิทธิ์ประกันตัวแล้วยังไม่มีการขึ้นศาลอย่างคดี ๖ ตุลาคมหรือคดีคอมมิวนิสต์อีกด้วย คนเหล่านี้นอกจากได้รับความอยุติธรรมแล้ว ยังได้รับความเดือดร้อนในทางสภาพความเป็นอยู่และทางจิตใจ เพราะแทบไม่มีใครเหลียวแล มีหลายกรณีทีเดียวที่ครอบครัวยากจนหรือกลัวเกินกว่าจะมาเยี่ยมเยียนได้ พวกเราเห็นพ้องกันว่า ในยามที่ผู้คนทุกข์ยากกันอย่างนี้ เราซึ่งมีอิสรภาพอยู่น่าจะช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากของพวกเขาให้เบาบางลงเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการหาข้อมูลเกี่ยวกับนักโทษการเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีการรณรงค์คัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากเวลานั้น มีข่าวลือสะพัดมากว่าผู้นำนักศึกษาคนโน้นคนนี้ถูกทรมาน อันที่จริงการหาข้อมูลเรื่องทำนองนี้ในบางกรณีก็ไม่ยาก เพียงแต่ไปเยี่ยมเยียนเจ้าตัว หรือเพื่อนๆ ก็อาจได้ความจริง แต่เวลานั้น คนจำนวนไม่น้อย ไม่กล้าที่จะไปเยี่ยม ด้วยกลัวว่าจะเป็นการเปิดตัวให้ทางการคุกคาม หรือติดตามได้ ดังนั้นพวกเราจึงเริ่มงานด้วยการไปเยี่ยมเยียนเพื่อนบางคนหรือนักโทษที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนซึ่งเป็นจุดที่มีนักโทษคดี ๖ ตุลาคม ถูกคุมขังมากที่สุด จากการไปเยี่ยมเยียนไม่กี่ครั้ง เราก็พอเห็นสภาพและเกิดความคิดที่จะทำอะไรมากขึ้น เมื่อได้ปรึกษากัน ก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะทำเป็นกิจจะลักษณะ มีการเยี่ยมเยียนนักโทษอย่างต่อเนื่องจัดหาสิ่งของที่จำเป็นไปให้ และหากจำเป็นก็อาจต้องหาเงินหรือหลักทรัพย์มาประกันพวกเขา โดยเฉพาะคนที่หารายได้หลักให้แก่ครอบครัว เราคิดกันอยู่นานว่าจะทำในรูปไหน ที่สุดก็เห็นว่า ศูนย์ประสานงานศาสนาเพื่อสังคม น่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการตั้งองค์กรใหม่ งานนี้มีพระประชาเป็นตัวตั้งตัวตีในการติดต่อและปรึกษาหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการของศูนย์นี้ ปรากฏว่าทุกท่านเห็นด้วยคำท้วงติงมีอยู่อย่างหนึ่งคือชื่อของศูนย์ จึงเปลี่ยนจากคำว่า ศูนย์ มาเป็น กลุ่ม แทน เพื่อไม่ให้เป็นที่ระแวงของทางการซึ่งออกจะแสลงต่อองค์กรใดๆ ก็ตามที่มีคำว่าศูนย์นำหน้า เผอิญในช่วงนั้นพวกเราได้มีการพบปะกับอาจารย์โคทมอยู่บ้าง เพราะคิดกันว่านักวิชาการและอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยน่าจะเคลื่อนไหวในกรณีที่มีข่าวจากการทรมานนักโทษ ๖ ตุลาคม แม้ภายหลังความคิดนี้จะยกเลิกไปเนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดในเรื่องนี้ แต่เมื่อจะฟื้นศูนย์ประสานงานศาสนาเพื่อสังคมขึ้นใหม่ เราก็นึกถึงอาจารย์โคทมขึ้นมาว่า น่าจะร่วมเป็นกรรมการได้ ข้าพเจ้าจำได้ดีว่า พระประชาและสันติสุขซึ่งตอนนั้นได้บวชพระแล้ว ได้ชักชวนหว่านล้อมอาจารย์โคทมอยู่นานบนรถเก๋งคันเก่งขณะที่จอดนิ่งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปัญหาของอาจารย์โคทมดูเหมือนจะมีอยู่ประการเดียวคือ มิใช่คนที่ประกาศตัวเป็นศาสนิก จึงไม่เหมาะที่จะมาเป็นกรรมการกลุ่มนี้ แต่ในที่สุด อาจารย์โคทมก็ตกลง อีกบุคคลหนึ่งซึ่งละเว้นที่จะกล่าวมิได้ ก็คือ นิโคลัส เบนเนตต์ หลังจากเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ผ่านพ้นไปไม่นาน พวกเราก็ได้ใช้บ้านเขาเป็นที่ประชุมพบปะอยู่เนืองๆ เพื่อหาลู่ทางว่ามีอะไรที่พวกเราจะทำได้บ้างในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนั้น โดยที่นิโคลัสเองก็เข้ามาร่วมคิดด้วยความเป็นห่วงเป็นใยในบ้านเมืองเราอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเราตกลงที่จะจับงานด้านนักโทษการเมือง ก็ได้ใช้บ้านเขาเป็นที่พบปะกับกรรมการบางท่าน เช่น อาจารย์โกศล ศรีสังข์ เพื่อหาลู่ทางในการฟื้นกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ในเวลานั้นบ้านเขาดูจะเหมาะเป็นที่ประชุมพบปะกลางกรุงเทพมหานครมากที่สุด เพราะในฐานะผู้เชี่ยวชาญยูเนสโก บ้านของนิโคลัสมีอภิสิทธิ์ทางการทูตคุ้มกันอยู่ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะจู่โจมตรวจค้นอย่างที่ทำกันเป็นปกติในเวลานั้นหาได้ไม่ แม้ว่าการฟื้นฟูกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมขึ้นใหม่ นิโคลัสจะมิได้มีบทบาทสำคัญมากเนื่องจากในช่วงนั้นเขาและภรรยาคือมองตาเนตต์ เดินทางไปอังกฤษนานนับเดือน แต่เมื่อกลับมานิโคลัสก็ได้เป็นกำลังสำคัญ ในฐานะกรรมการกศส.ที่แข็งขันโดยทำงานคู่เคียงกับผู้ปฏิบัติงานกศส.อย่างน้อยก็ร่วมคิดทุกครั้งที่มีการประชุมประจำสัปดาห์ซึ่งอาศัยบ้านเขาเองเป็นที่พบปะ จนกระทั่งเขาได้ย้ายไปทำงานที่เนปาลในเดือนเมษายน ๒๕๒๒ กศส.ได้ถือเอาเทศกาลปีใหม่เป็นช่วงเปิดตัวโดยไปเยี่ยมเยียนทั้งนักโทษ ๖ ตุลาคมและตำรวจทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบโดยถือว่าศักราชใหม่ควรเป็นโอกาสแห่งการสมานไมตรีและคืนดีระหว่างคนในชาติ ระหว่างนั้นเอง นิโคลัสอยู่ประเทศอังกฤษ เป็นโอกาสที่จะได้พบปะกับอาจารย์ป๋วย และอาจารย์สุลักษณ์ซึ่งได้ก่อตั้งมูลนิธิมิตรไทยขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากเพราะการบีบคั้นทางการเมืองจากรัฐบาลในเวลานั้น ในฐานะกรรมการมิตรไทยที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน อาจารย์สุลักษณ์ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือกศส. ทั้งในด้านการเงินและการสร้างเครือข่ายกับองค์กรศาสนาและสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศ เวลานั้นกระแสสิทธิมนุษยชนกำลังมาแรงเนื่องจากนโยบายใหม่ของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ อีกทั้งปลายปี ๒๕๑๙ นั้นเององค์การนิรโทษกรรมสากลก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทำให้การทำงานทางด้านสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจและมีความชอบธรรมมากขึ้น ในเมืองไทยเองการชูประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้คน แต่ก็ทำให้รัฐบาลมีความลำบากมากขึ้นในการคุกคามข่มเหงผู้ที่มีความเชื่อทางการเมืองต่างจากตน การที่มาจับงานด้านนักโทษการเมืองนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกลุ่มกัลยาณมิตร เพราะที่ผ่านมาเราเน้นงานด้านความคิดและการขีดเขียนเป็นหลัก งานเหล่านี้แม้จะเป็นประโยชน์แต่ก็ยัง ลอย อยู่ อาจารย์สุลักษณ์พยายามกระตุ้นให้พวกเราทำงานประเภท มือเปื้อนตีนเปื้อน มากขึ้น โดยไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนยากไร้ การทำเช่นนั้นเท่านั้นจึงจะทำให้งานสันติวิธีมีความหมายต่อสังคมไทย แต่แล้วเรายังไม่สามารถไปถึงขั้นนั้นได้ แม้จะเคยคิดลงไปทำอาศรมหรือชุมชมชาวพุทธในชนบท แต่ก็ล้มเลิกกลางคันก่อนที่จะลงมือทำเสียอีก เรื่องนี้เป็นประเด็นที่พวกเราพูดกันมากในการประชุมที่วัดผาลาดเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๙ กระนั้นก็ไม่มีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคมขึ้น เราตระหนักชัดขึ้นว่าสถานการณ์ที่บีบคั้นเป็นสิ่งท้าทายอย่างดีว่า สันติวิธีหรืออหิงสาจะมีความหมายแก่สังคมไทยเพียงใด โดยเฉพาะในยามที่ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ ในฐานะชาวพุทธเราจะนิ่งเฉยกระนั้นหรือ ความพยายามผลักดันของอาจารย์สุลักษณ์เริ่มจะเป็นผลก็หลังเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ นี่เอง เมื่อมาทำงานให้แก่กศส.เต็มตัวข้าพเจ้าก็ขอลาออกจากตำแหน่งสาราณียกรปาจารยสาร โดยมีวีระ สมบูรณ์รับอาสาทำแทน แต่ถึงจะเปลี่ยนงานใหม่ ก็ตังติดต่อสัมพันธ์กับอาจารย์สุลักษณ์อย่างใกล้ชิด แม้จะไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันเลยก็ตาม จดหมายของอาจารย์สุลักษณ์จำนวนไม่น้อยส่งถึงเราผ่านชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเมืองไทย เพื่อนอาจารย์สุลักษณ์เหล่านั้นมักได้รับคำแนะนำให้มาพบปะกับพวกเราที่ทำงานกศส. (แม้กศส.จะมีสำนักงานเป็นหลักแหล่งแล้วแต่สถานที่พบปะมักหนีไม่พ้นบ้านนิโคลัส) ผลจากการทำงานอย่างหนักของอาจารย์ป๋วยและอาจารย์สุลักษณ์เพื่อสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศไม่จำเพาะหน่วยงานเอกชนแต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาในยุโรปและอเมริกา เป็นเหตุให้ความสนใจในสภาพสิทธิมนุษยชนในเมืองไทยเพิ่มสูงขึ้น ตัวแทนหน่วยงานต่างประเทศรวมทั้งสมาชิกรัฐสภานานาประเทศจึงเดินทางมาเมืองไทยอยู่เนืองๆ และกศส.มักเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เขาเหล่านั้นได้รับการแนะนำให้มาพบปะพูดคุยด้วย เมื่อประกอบกับความเชี่ยวชาญของนิโคลัสในด้านการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศในเวลาไม่นาน กศส.ก็เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศมากขึ้น การที่มีเครือข่ายต่างประเทศเป็น ร่ม คุ้มภัยให้เรานี้เอง ทำให้รัฐบาลใช้มาตรการเด็ดขาดกับพวกเราไม่ได้ง่ายนัก -๖- กลางปี ๒๕๒๐ ข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสพบอาจารย์สุลักษณ์ในที่สุด เมื่อได้รับเชิญให้ร่วมการสัมมนาเรื่องการอบรมสันติวิธีระหว่างประเทศ ณ กรุงเม็กซิโก นอกจากข้าพเจ้าแล้วยังมีนิโคลัส อาจารย์โคทมและวีระที่ได้รับเชิญ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ปรึกษาหารือกับอาจารย์สุลักษณ์ในเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ข้าพเจ้าและวีระเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ส่วนนิโคลัสและอาจารย์โคทมตามมาทีหลังจุดนัดพบคือกรุงลอสแองเจลีส อันเป็นที่ๆ เราจะต้องทำวีซ่าเพื่อเข้าประเทศเม็กซิโก ที่นั่นเองที่เราได้พบกับอาจารย์สุลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง เห็นจะไม่ต้องบอกกระมังว่าข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นเพียงใดที่ได้พบอาจารย์ในอีกซีกโลกหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าไม่คุ้นเคย ที่เม็กซิโกเราทั้ง ๕ คนได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเกือบ ๓ สัปดาห์ นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้เห็นวิธีการประชุมอันเป็นแบบฉบับของอาจารย์คือ นั่งๆ นอนๆ และดูท่าจะไม่ค่อยเอาใจใส่กับการประชุมเท่าใดนัก อาจารย์ออกจะพอใจกับการเดินเล่นไปตามหมู่บ้าน ดูชีวิตผู้คนและชื่นชมธรรมชาติมากกว่า หาไม่ก็จับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนๆ คอเดียวกันหลังเลิกประชุม ตรงกันข้ามกับนิโคลัสและอาจารย์โคทมซึ่งมีส่วนร่วมกับการประชุมอย่างเต็มที่ จะผู้ร่วมประชุมหลายคนประทับใจ ที่น่าขำก็คือที่นั่นเองที่เรามารู้ว่าคนไทยทั้ง ๔ คนที่มาประชุมนั้น จบจากโรงเรียนเดียวกัน ข้าพเจ้า วีระ และอาจารย์รู้จักภูมิหลังของกันและกันมาก่อนแล้ว แต่ก็เพิ่งมารู้ว่าอาจารย์โคทมก็จบอัสสัมชัญเหมือนกัน พวกเราคนไทยเลยล้อนิโคลัสว่า เขาแน่ใจหรือว่าไม่ใช่จบจากโรงเรียนเดียวกันกับพวกเรา เสร็จจากการสัมมนาแล้ว ข้าพเจ้าและวีระยังไม่ได้กลับมาเมืองไทยทันที หากแต่เดินทางเข้าสหรัฐพร้อมกับอาจารย์สุลักษณ์ ซึ่งได้รับเชิญจากคนไทยให้ไปบรรยายที่เมืองออสตินในรัฐเท็กซัส การติดสอยห้อยตามอาจารย์สุลักษณ์ ในแง่หนึ่งก็เป็นโชคของข้าพเจ้าและวีระ เพราะนอกจากจะได้รับฟังเรื่องที่เป็นวิชาความรู้ เกร็ดประวัติศาสตร์ ตลอดจนเรื่องชวนหัวชวนฮาจากอาจารย์แล้ว ยังพลอยได้รับความดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากเจ้าภาพ โดยเฉพาะกรณีที่เจ้าภาพนั้นเป็นนักศึกษาไทย แต่สำหรับบางคนอาจถือเป็นเคราะห์ก็ได้ เพราะในเวลานั้น คนที่หวาดระแวงและไม่อยากเข้าใกล้อาจารย์สุลักษณ์ก็มีไม่น้อยด้วยกลัวถูกกล่าวหาหรือคุกคามจากทางการ ความกลัวนี้ระบาดแม้ในประเทศอเมริกา ข้าพเจ้าจำได้ว่า ที่ออสตินนั้นเอง ก่อนที่อาจารย์จะมาถึง ก็มีข่าวลือขู่สะพัดในหมู่คนไทยที่นั่นว่าใครที่ไปฟังอาจารย์พูดจะต้องเดือดร้อนและอาจได้รับอันตราย ข่าวข่มขวัญนี้อาจจะมีผลบ้าง แต่ไม่ทั้งหมดเพราะมีหลายคนมาฟัง นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าอภิปรายร่วมรายการเดียวกับอาจารย์สุลักษณ์ ก่อนจะถึงรายการรู้สึกตื่นเต้นและวิตกกังวลไม่ใช่เพราะขึ้นเวทีเดียวกับอาจารย์ แต่เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ฟังจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร แต่การอภิปรายคราวนั้นก็จบลงด้วยดี ข้าพเจ้าและวีระแยกจากอาจารย์สุลักษณ์ที่ออสติน แต่ก็ได้พบอาจารย์อีกที่ฟิลาเดลเฟีย และต่อมาก็ไปเยี่ยมอาจารย์ถึงเบิกเลย์ที่นั้นเองที่พวกเรารอฟังข่าวการเดินทางมาเยือนอเมริกาของอาจารย์ป๋วย แต่แล้วข่าวที่ได้รับกลับเป็นข่าวร้าย อาจารย์ป๋วยล้มป่วย เส้นเลือดในสมองแตก เป็นตายเท่ากัน คืนนั้น เราภาวนาขอให้อาจารย์ป๋วยปลอดภัย ข้าพเจ้าลาอาจารย์สุลักษณ์ที่เบิกเลย์ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่นิวยอร์คและกลับเมืองไทย เป็นการจากกันโดยไม่ทราบจะได้พบกันเมื่อไร แต่แล้วหลังจากนั้นไม่ถึงเดือนครึ่ง รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรก็ถูกโค่น คณะรัฐประหารสัญญาว่าจะนำประเทศไทยสู่ประชาธิปไตยในเร็ววัน มิใช่ ๑๒ ปีอย่างที่ธานินทร์ กรัยวิเชียรประกาศ อาจารย์สุลักษณ์กลับเมืองไทย ในปี ๒๕๒๑ ท่ามกลางความยินดีปรีดาของพวกเรา งานต่างๆ ที่อาจารย์เคยกุมบังเหียนหรือเกี่ยวข้องด้วยก็เริ่มคึกคักมาตามเดิมโดยเฉพาะทางด้านมูลนิธิโกมลคีมทองและมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ในส่วนกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม อาจารย์ก็ได้เข้าร่วมประชุมอยู่เป็นครั้งคราว แต่ไม่นานก็เริ่มห่างเหินจนงดเข้าประชุมในที่สุด สาเหตุก็เพราะมีความเห็นไม่ตรงกับกรรมการบางท่าน และไม่สามารถจะผลักดันให้งานของกศส.เป็นไปตามที่อาจารย์ต้องการได้ ความไม่สบอารมณ์กศส.ของอาจารย์มีผลกระทบถึงข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานคนอื่นๆ ไปด้วยอาจจะเป็นเพราะกศส.ค่อนข้างจะเข้มงวดและเคร่งครัดกับหลักการและนโยบายที่วางเอาไว้ก็เป็นได้ เลยเป็นเหตุให้เพื่อนพ้องหลายคนในกลุ่มกัลยาณมิตรที่อยู่นอกกศส.หรือที่ลาออกจากกศส.ก็ไม่พอใจด้วยเช่นกัน ข้าพเจ้าเองเคยถูกอาจารย์และเพื่อนๆ ผลัดกัน ซักฟอก และวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นตัวแทนกศส.จนตั้งตัวไม่ติด ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก วันนั้นข้าพเจ้าจำได้ดีว่าเป็นวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ และเหตุเกิดที่บ้านอาจารย์สุลักษณ์ หากจะบอกว่า ในฐานะที่เป็นแกนคนหนึ่งของกศส.ข้าพเจ้าเป็นดัง หมาหัวเน่า ในหมู่เพื่อนๆ ที่อยู่นอกวงกศส. ก็ออกจะเป็นคำกล่าวที่แรงเกินไป ถูกต้องกว่าหากจะพูดว่าความสัมพันธ์ระหว่างเราไม่สู้ราบรื่นนักในช่วงนั้น ข้าพเจ้าออกจะขยาดหากมีกิจจะต้องไปหาอาจารย์สุลักษณ์ในเรื่องงานการที่เกี่ยวกับกศส. เพราะอาจถูกอาจารย์บริภาษกลับไป แต่เวลาพบปะอาจารย์อย่างธรรมดา โดยเฉพาะในยามที่มีลูกศิษย์ลูกหามากันมากๆ กลับพูดคุยกับอาจารย์ได้อย่างสนุก หรือพูดให้ถูกคือฟังอาจารย์พูดคุยได้อย่างออกรสออกชาติ มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยประดับสติปัญญาอยู่เนืองๆ จนข้าพเจ้าต้องเก็บไปบันทึกไว้เตือนความจำอยู่เสมอ ไม่นานข้าพเจ้าก็ตระหนักว่า ในบรรดาความสัมพันธ์ต่างๆ กับอาจารย์สุลักษณ์นั้น ความสัมพันธ์แบบศิษย์อาจารย์เป็นความสัมพันธ์ที่ประเสริฐที่สุด และพึงปรารถนาที่สุดสำหรับข้าพเจ้า เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นคุณอย่างเดียว ไม่มีโทษ ส่วนความสัมพันธ์อย่างอื่นนอกจากนั้น ข้าพเจ้าไม่สู้แน่ใจเท่าไร ยิ่งความสัมพันธ์แบบลูกน้องกับผู้บังคับบัญชาด้วยแล้ว หลีกเลี่ยงได้เป็นดีที่สุด บ่อยครั้งเวลาข้าพเจ้าไปที่สำนักงานมูลนิธิโกมลคีมทอง เห็นอาจารย์(ซึ่งเป็นผู้จัดการมูลนิธิ)กราดเกรี้ยว และบริภาษเลขานุการส่วนตัวและเจ้าหน้าที่มูลนิธิแล้วรู้สึกขยาดกลัวอยู่มาก ถึงกับตั้งปณิธานไว้ว่าจะไม่ขอทำงานใต้บังคับบัญชาของอาจารย์สุลักษณ์เป็นอันขาด แต่จะขอเป็นลูกศิษย์อาจารย์อย่างเดียว เพราะไม่ว่าอาจารย์จะเป็นเจ้านายที่ดุเพียงใดก็ตาม แต่เวลาอาจารย์ปฏิบัติกับผู้อื่นฐานลูกศิษย์แล้วอาจารย์มีองค์คุณแห่งความเป็นครูหรือกัลยาณมิตรพร้อมมูลรวมทั้งปิโย(ความน่ารักชวนเข้าหา) ภาวนีโย(ความเป็นผู้ทรงคุณควรเอาอย่าง)และวจนักขโม(ความอดทนพร้อมกับฟังคำปรึกษา) โดยเฉพาะคุณสมบัติประการหลัง ศิษย์ทุกคนที่เข้าหาจะประจักษ์ในข้อนี้เป็นอย่างดี อาจารย์มีเวลาให้กับพวกเราเสมอ(โดยเฉพาะเวลาอยู่บ้าน) แต่ต้องเข้าไปพูดคุยกับตัว ไม่ใช่โทรศัพท์ไปปรึกษาปัญหา อาจารย์อดทนที่จะฟังปัญหาของเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าและอดทนที่จะแนะนำพร่ำสอนเรื่องเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นกัน แม้จะเถียงหรือแย้งอาจารย์ก็ไม่ว่ากระไร อย่างมากก็พูดจาแรงๆ ให้ได้คิด อาจารย์สุลักษณ์ยังมีความใจกว้างพอที่จะไม่เข้าไปครอบงำหรือตัดสินใจให้เราและไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร หากอาจารย์ชี้แจงอย่างถึงที่สุดแล้ว แม้ลูกศิษย์จะคิดต่างไปจากอาจารย์ อาจารย์ก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นไปตามประสงค์ของลูกศิษย์เสมอ อาจารย์มักพูดให้พวกเราได้ยินเสมอว่า ใครจะขึ้นม้าลงช้าง ก็พร้อมที่จะช่วย และอาจารย์ก็ทำอย่างที่พูด แต่ลักษณะดังกล่าวข้าพเจ้าไม่แน่ใจนัก จะได้พบได้เห็นหากทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของอาจารย์(ไม่ว่าในฐานะผู้บริหารหรือกรรมการ) เพราะอาจารย์ดูจะมีความอดทนน้อยมาก หากเจอเจ้าหน้าที่ขัดขืนคำสั่งหรือท้าทายอำนาจ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดก็ตาม ระยะหลังข้าพเจ้าจึงเลือกที่จะสัมพันธ์กับอาจารย์สุลักษณ์เยี่ยงลูกศิษย์ อันเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นมาแต่แรกที่รู้จักอาจารย์ เป็นความสัมพันธ์ที่แทบจะไม่มีงานประจำมาเกี่ยวข้องเลย หากยินดีสนองงานอาจารย์เป็นกรณีๆ ไปดังความประสงค์ของอาจารย์อันที่จริง หากข้าพเจ้ามีความเข้มแข็งเพียงพอก็คงไม่เป็นการยากอันใดที่จะไปทำงานเป็น ลูกน้อง อาจารย์อย่างที่เพื่อนบางคนทำได้เป็นอย่างดี ข้าพเจ้าทำงานให้กศส.ถึงต้นปี ๒๕๒๖ ก็ขอลาบวช อันที่จริงข้าพเจ้าตั้งใจจะบวชก่อนหน้านั้นแล้วแต่ไม่มีโอกาส อาจารย์สุลักษณ์ก็เฝ้าถามอยู่เรื่อยและข้าพเจ้าก็ผัดผ่อนไปเรื่อย จนสบโอกาสในปีนั้น แต่ก็ตั้งใจบวชเพียงแค่ ๓ เดือน ซึ่งดูจะไม่สมประสงค์อาจารย์เท่าไรนัก แต่เมื่อถึงกำหนดที่จะสึกข้าพเจ้าเปลี่ยนใจ ขอบวชต่อเพื่อเอาพรรษา ก่อนที่ข้าพเจ้าจะขึ้นไปจำพรรษาที่วัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ วันหนึ่งอาจารย์สุลักษณ์ก็มากระซิบว่า หากกรรมการมูลนิธิโกมลคีมทองมานิมนต์ให้ข้าพเจ้าเป็นองค์ปาฐกในการปาฐกถาประจำปี ๒๕๒๗ ของมูลนิธิก็ขออย่าได้ปฏิเสธ ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนเพราะปาฐกถาโกมลคีมทองเป็นงานสำคัญมาก ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงเป็นอาจารย์สุลักษณ์ที่เป็นผู้เสนอชื่อข้าพเจ้าให้แก่อนุกรรมการที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และที่ทำเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะประสงค์ให้ข้าพเจ้าบวชต่อจึงหางานชิ้นใหญ่ให้ทำเพื่อจะได้เพลินไม่คิดสึก ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะคิดว่า หากข้าพเจ้าเป็นฆราวาสคงจะไม่ได้รับเกียรติดังกล่าวในปีนั้นอย่างแน่นอน เพราะว่าโดยวัยวุฒิ และคุณวุฒิ ข้าพเจ้ายังเป็นผู้เยาว์เมื่อเทียบกับปาฐกและองค์ปาฐกก่อนหน้านั้น การเตรียมต้นร่างปาฐกถาปี ๒๕๒๗ นั้น ในด้านหนึ่งก็คือการพยายามต่อสู้กับตัวเอง เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นในตนเองให้กลับคืนมาหลังจากขาดหายไปมากนับแต่ ๒๕๒๕ ในอีกด้านหนึ่งก็เหมือนกับการทำ การบ้าน ส่งครู วันที่ข้าพเจ้าส่งต้นร่างปาฐกให้อาจารย์สุลักษณ์เพื่อเขียนคำนำนั้น ออกจะตื่นเต้นเพราะกลัวจะสอบไม่ผ่าน แต่แล้วก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ในคำนำอาจารย์เขียนยกย่องชมเชยข้าพเจ้าอย่างเกินจริงอยู่มาก จนข้าพเจ้าไม่แปลกใจหากบางคนจะ หมั่นไส้ ข้าพเจ้า เป็นอันว่าข้าพเจ้ายังบวชต่อไป และพรรษาที่ ๒ ก็จำที่วัดป่าสุคะโตเช่นเคย แต่ในระหว่างพรรษานั้นเอง ก็ได้ทราบข่าวว่าอาจารย์สุลักษณ์ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่แปลกใจและผิดหวังอยู่หน่อยที่อาจารย์เลือกที่จะหนีแทนที่จะสู้คดีเพราะข้าพเจ้าเชื่อมาตลอดว่าคนที่ต่อสู้กับเผด็จการและกล้าท้าทายอำนาจอันมิชอบมาเกือบ ๒ ทศวรรษอย่างอาจารย์สุลักษณ์นั้น ย่อมไม่กลัวคุกตะราง อาจารย์เคยพูดด้วยซ้ำกับนักศึกษา ในคราวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่กี่เดือนก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคมว่า ตะรางไม่ได้มีไว้ขังหมา หากเขาจับด้วยวิธีอันเป็นพาลก็ต้องยอมให้เขาจับ ถ้าเราทำในสิ่งที่ดีที่ควรแล้วยังถูกจับก็เท่ากับว่าคนดีควรอยู่ในคุก แต่แล้วเมื่อถึงคราวที่อาจารย์เจอเข้ากับตัวเอง อาจารย์กลับเห็นเป็นอื่น ในเมื่ออาจารย์ก็รู้อยู่ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การที่เขาหาเหตุจับกุมต่างหากที่เป็นการกระทำอันมิชอบ จริงอยู่อาจารย์ไม่เชื่อในเรื่องการตายอย่างวีรชน(martyr) ในช่วงที่มีความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองก่อนรัฐประหาร ๒๕๑๔ นั้นอาจารย์ไม่เคยสนับสนุนให้ลูกศิษย์ที่ทำงานในชนบทต่อสู้หัวชนฝากับเจ้าหน้าที่หรืออิทธิพลมืดเลย หากเตือนให้รักษาชีวิต ข้าพเจ้าทีแรกก็ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่ากับเหล่าอาสัตย์อาธรรม เราควรยืนหยัดในหลักการอย่างไม่ท้อถอย หากจะมีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ เราก็เชื่อว่า ตายสิบเกิดแสน และจริงๆ แล้วขบวนการใดจะเติบโตได้ จะต้องมีคนที่ยอมตายเพราะความเชื่อของตน แต่ตอนหลัง ข้าพเจ้าก็เห็นพ้องกับอาจารย์ว่า การรักษาชีวิตเอาไว้อาจมีประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าเพราะบ่อยครั้งคนที่ตายไปเพราะอุดมการณ์มักจะถูกลืมแต่หากเขามีชีวิตอยู่และทำงานต่อไป อาจก่อประโยชน์ได้มากมายแม้จะไม่มีชื่อเสียงในฐานะวีรชนก็ตาม แต่การสู้คดีไม่เหมือนกับการยอมให้เขาฆ่า แม้ว่าการสู้คดีอาจจะลงเอยด้วยการติดคุกก็ตาม เพราะอย่างน้อยที่สุดการสู้คดีในศาลก็ยังเป็นโอกาสที่เราจะพิสูจน์ตัวเองแม้ศาลจะไม่เห็น จะด้วยอคติหรืออิทธิพลมืดก็แล้วแต่ แต่คนทั่วไปก็ย่อมประจักษ์เอง ข้าพเจ้าเองใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการผลักดันเพื่อให้มีการถอนฟ้อง เป็นแต่เห็นว่าควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่น ส่วนตัวอาจารย์เองควรเตรียมพร้อมสำหรับการสู้คดีในศาล หากคนอย่างอาจารย์ไม่สู้คดีอย่างองอาจแล้วจะหวังให้ใครมายืนหยัดต่อสู้ในเรื่องสัจจะและความกล้าหาญทางจริยธรรมอันเป็นสิ่งที่อาจารย์ได้กล่าวเน้นย้ำมาโดยตลอดจนมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก ข้าพเจ้าจำได้ว่า คราวพบอาจารย์สุลักษณ์ที่ลอสแองเจลีส อาจารย์พูดถึงอาจารย์ป๋วยว่า แม้จะลำบากอย่างไร อาจารย์ป๋วยยังรู้สึกว่าตนโชคดีกว่าอาจารย์สุลักษณ์ เพราะลูกๆก็โตหมดแล้ว บ้านก็มีอยู่ที่อังกฤษ แม้จะพลัดพรากจากบ้านเมืองก็ไม่เดือดร้อนอะไร ส่วนอาจารย์สุลักษณ์สิ ลูกก็ยังเล็ก ภรรยาก็ยังอยู่ที่เมืองไทย อาจารย์สุลักษณ์ตอบกลับไปว่าถึงตนจะลำบากแต่ก็เทียบไม่ได้กับคนจำนวนมากที่เมืองไทยที่ต้องสูญเสียชีวิตอิสรภาพหรือสูญเสียบุคคลที่ตนรัก ข้าพเจ้าเชื่อว่า หากอาจารย์จะถูกกลั่นแกล้งจนต้องติดคุกอาจารย์ก็ยังสบายกว่าคนอื่นอีกมาก อาจเป็นเพราะข้าพเจ้ายังต้องการวีรบุรุษและปรารถนาให้อาจารย์สุลักษณ์เป็นวีรบุรุษของเราตลอดไปก็ได้จึงอยากให้อาจารย์สู้คดี แม้โอกาสติดคุกจะมีมากก็ตาม เพราะความยุติธรรมยังเป็นของหายากในบ้านเมืองนี้ แม้จะเป็นความยุติธรรมทางศาลก็ตาม อย่างไรก็ตามอาจารย์ไม่พร้อมจะเดินหน้าเข้าคุก ดังนั้นระหว่างที่คดีดำเนินไปตามลำดับขั้น อาจารย์สุลักษณ์จึงพยายามหาทางให้คดียุติโดยเร็วก่อนจะถึงที่สุดแห่งคดี พวกเราหลายคนรวมทั้งข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับบางวิธีที่อาจารย์ใช้เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการที่อาจารย์เคยยึดถือ ผู้ต้องหาร่วมคดีกับอาจารย์บางคนรู้สึกผิดหวังในตัวอาจารย์เช่นกัน แต่ก็มีลูกศิษย์และเพื่อนพ้องของอาจารย์หลายคนที่เห็นด้วยกับอาจารย์เพราะถือว่าคดีนี้อาจารย์ถูกกลั่นแกล้งอย่างชัดๆ ไม่มีความชอบธรรมแต่ประการใดในการส่งฟ้องต่อศาล ดังนั้นอาจารย์ย่อมมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองด้วยการทำให้คดียุติก่อนจะถึงโรงถึงศาล อย่างไรก็ตาม ในที่สุดข้าพเจ้าต้องยอมรับในความเป็นปุถุชนของอาจารย์สุลักษณ์ เอาเข้าจริงแล้ว วีรบุรุษคือภาพที่เราสร้างขึ้นมาในจิตใจ วีรบุรุษหากจะมีอยู่จริงก็ยังเต็มไปด้วยธาตุแห่งปุถุชน ไม่ต่างจากเราท่านทั้งหลายอยู่นั่นเอง นั่นคือมีทั้งความกล้าและความกลัว รักสุขเกลียดทุกข์ มีความไม่คงเส้นคงวา และบ่อยครั้งอารมณ์ก็มาก่อนเหตุผล ความเป็นปุถุชนของอาจารย์ที่เห็นได้จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าอาจารย์ลงมาใกล้เคียงกับพวกเรามากขึ้นและเหินห่างจากกันน้อยลง เมตตาและความเห็นใจเป็นสิ่งที่เรามักคาดหวังจากผู้ใหญ่หรือผู้ที่อยู่เหนือกว่า แต่เมื่อได้มารู้จักอาจารย์สุลักษณ์มากขึ้นจากการทำงานใกล้ชิดในเรื่องคดีความ ก็พบว่าเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าก็มีสิทธิที่จะเมตตาและให้ความเห็นใจอาจารย์สุลักษณ์ด้วยเช่นกัน นี่กระมังคือบทเรียนบทสำคัญที่อาจารย์สอนข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องวีรบุรุษ หลังจากที่อาจารย์ถูกดำเนินคดีได้ไม่ถึงเดือน ปลายปีนั้นเองรัฐบาลก็สั่งยกฟ้องทั้งๆที่เรื่องถึงศาลแล้ว ข่าวดังกล่าวสร้างความปิติยินดีแก่พวกเรามาก อาจารย์สุลักษณ์เองก็คงโล่งใจไม่น้อยและมีเวลามากขึ้นที่จะไปทุ่มเทกับงานการซึ่งเวลานั้นงานประจำของอาจารย์คือเป็นผู้ประสานงานสภาวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(ACFOD) ในช่วง ๑๐ ปี หลังนับแต่ข้าพเจ้าเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หากยกเว้นช่วงที่ช่วยอาจารย์สุลักษณ์ในเรื่องคดีความแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่สู้ได้ใกล้ชิดอาจารย์สุลักษณ์อย่างเคย ด้วยย้ายไปอยู่วัดหัวเมืองเป็นหลัก ส่วนอาจารย์ก็มีกิจเดินทางไปต่างประเทศอยู่บ่อยๆ กระนั้นข้าพเจ้าก็ยังมีโอกาสพบปะอาจารย์ในวาระต่างๆ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงานและที่ประชุมสัมมนา ยิ่งกว่านั้นอาจารย์ยังเคยถึงกับขึ้นไปเยี่ยมข้าพเจ้าที่วัดป่าสุคะโต เมื่อปี ๒๕๒๙ โดยไปบรรยายให้แก่พระนวกะในโครงการบวชเพื่อสังคมอีกโสตหนึ่งด้วย การที่อาจารย์จับงานทางด้านการพระศาสนาและคณะสงฆ์ในระยะหลัง ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอาจารย์อีกและเป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าจะได้ช่วยเหลืออาจารย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานพระสงฆ์กลุ่มเสขิยธรรม งานขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม(INEB) ในส่วนอาจารย์เองก็ได้ให้ความเมตตาแก่ข้าพเจ้า และที่ออกจะพิเศษก็คือ อาจารย์ค่อนข้างจะถนอมวาจากับข้าพเจ้ามาก เมื่อเทียบกับลูกศิษย์คนอื่นๆ ทั้งพระและฆราวาส คงเพราะอาจารย์รู้ดีกระมังว่าหนูย่อมกลัวราชสีห์อยู่นั่นเอง แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับที่อาจารย์พยายามอุดหนุนส่งเสริมให้ข้าพเจ้าเจริญมั่นคงในเพศพรหมจรรย์ซึ่งอาจารย์นับถือว่าเป็นเพศประเสริฐสุด และเมื่ออาจารย์เห็นว่าข้าพเจ้าทำงานมากไปก็ติดต่อหาทางให้ข้าพเจ้าได้ไปจำพรรษาที่วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ เมื่อปี ๒๕๓๔ เพื่อให้มีโอกาสถอนตัวจากกิจกรรมและเพื่อเปิดหูเปิดตาดูการพระศาสนาในต่างประเทศพร้อมกันไปด้วย แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ารวมทั้งอาจารย์นึกไม่ถึงก็คือ เมื่อได้พบกันอีกครั้งที่ประเทศอังกฤษในปีนั้นเอง อาจารย์ได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยไปแล้ว เพราะต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นครั้งที่๒ แปลกก็ตรงที่ว่า ครั้งใดที่ข้าพเจ้าพบอาจารย์ในต่างประเทศ อาจารย์ต้องกลายเป็นบุคคลต้องห้ามของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองทุกครั้งไป มีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในยุโรป ปี ๒๕๓๔ คล้ายกับเมื่อเยือนอเมริกา ปี ๒๕๒๐ ก็คือ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสติดตามอาจารย์ไปหลายที่หลายแห่ง นอกจากอังกฤษแล้วก็ยังมีฝรั่งเศสและสวีเดนเป็นเหตุให้ได้รับฟังความรู้รอบตัวจากอาจารย์อีก ที่สต๊อคโฮลม์อาจารย์มาส่งข้าพเจ้าและเพื่อนอีกผู้หนึ่งที่สถานีรถไฟ ตอนที่จะแยกย้ายกัน เวลานั้นไม่มีใครรู้เลยว่า จะได้พบกันอีกที่เมืองไทยในอีกหนึ่งปีต่อมา ข้าพเจ้าไม่นึกมาก่อนว่าอาจารย์สุลักษณ์จะต้องคดีเก่าซ้ำสอง ตัวอาจารย์เองก็ไม่คาดเช่นกัน เพราะเนื้อหาการบรรยายที่เป็นต้นเหตุให้มีการฟ้องร้องนั้นเบากว่าครั้งก่อนมาก การที่อาจารย์สุลักษณ์เลือกที่จะไม่สู้คดีคราวนี้ ข้าพเจ้าไม่รู้สึกกระไรมาก หากแต่ยังเห็นเหมือนเดิมว่า การตัดสินใจเช่นนั้นจะมีผลเสียต่ออาจารย์มากกว่าอย่างน้อยก็ในทางด้านนามธรรม จริงอยู่ การฟ้องร้องครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยอาศัยกฎหมายมาเป็นเครื่องมือ แต่เมื่อเลือกที่จะยืนหยัดขัดขืนและท้าทายเผด็จการในแผ่นดินที่เขาเรืองอำนาจ ก็ต้องเตรียมรับมือกับการกลั่นแกล้งทุกรูปแบบที่จะมาถึงตัวด้วย แต่หากว่าไม่พร้อมที่จะเผชิญกับชะตากรรมเช่นนั้น ก็ควรที่จะต้องเปลี่ยนท่าทีโดยที่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งอุดมคติและหลักการ อันที่จริง หลังจากที่อาจารย์คลาดแคล้วจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งแรกนั้น ดูเหมือนว่าอาจารย์ก็เปลี่ยนท่าทีพูดจาอ่อนลง ระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็เป็นเช่นนั้นได้ไม่นาน ถ้าถามอาจารย์ อาจารย์คงว่าเป็นเพราะวาสนาของอาจารย์เอง แต่เห็นจะต้องมีปัจจัยอื่นด้วย เพราะดูเหมือนว่ายิ่งอาจารย์มีอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีความเผ็ดร้อนเพิ่มขึ้นด้วย และทนอะไรต่ออะไรได้น้อยลง คงเพราะอาจารย์เห็นว่าตนเองเป็นไม้แก่ดัดยากแล้วกระมัง จึงไม่คิดที่จะควบคุมตนเองเท่าไร โดยเฉพาะในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ นับวันอาจารย์จะทะลวงฟันไปแทบทุกวงการและทุกวงประชุมสัมมนาที่อาจารย์ข้องเกี่ยวจนพูดกันมากว่า อาจารย์ไปที่ไหนวงแตกที่นั่น อาจารย์ก็รู้ตัวและคงให้เหตุผลว่า สังคมไทยต้องมีคนแบบนี้บ้าง เพื่อจะได้เตือนสติ แต่วิธีการเช่นนี้มักจะให้ผลตรงข้ามอย่างที่เรียกว่า counter-productive เสียมากกว่า เพราะอาการปฏิเสธจากผู้คนในที่ต่างๆ มีมากขึ้น จะว่าไปแล้วการวิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์สุลักษณ์ในระยะหลัง รุนแรงในแง่ถ้อยคำ แต่ความเข้มข้นคมลึกในด้านเนื้อหาน้อยกว่าเมื่อก่อน ๖ ตุลาคมด้วยซ้ำ แม้งานเขียนก็เช่นกัน จริงอยู่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อาจารย์มีผลงานที่แสดงถึงความลุ่มลึกทางด้านสติปัญญาแต่งานเหล่านั้นอาจารย์ให้เวลาน้อยเกินไป จึงไม่สามารถมีอิทธิพลในทางปัญญาหรือพลังในทางบันดาลใจได้อย่างแต่ก่อน งานเขียนของอาจารย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์จึงมักเป็นการพรรณนาด้วยเทศนาโวหารในเรื่องซ้ำๆ โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านบริโภคนิยม นานๆ จึงจะเขียนแปลกออกไป อาจารย์สุลักษณ์นั้นประดุจราชสีห์แห่งภูมิปัญญาไทย ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเสียดายที่ระยะหลังอาจารย์ออมฝีมือมากเกินไป และหาเวลาว่างให้แก่งานคิดงานเขียนน้อยเกินไป เมื่อกลับมาย้อนมองอดีตในช่วง ๒ ทศวรรษโดยเทียบกับปัจจุบัน ในความเห็นของข้าพเจ้า ไม่มีช่วงใดที่อาจารย์สุลักษณ์จะมีอิทธิพลทางความคิดสูงเท่าช่วงก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ อาจเป็นเพราะโลกของข้าพเจ้ายังแคบก็เป็นได้จึงรู้สึกว่าอาจารย์สุลักษณ์เป็นปัญญาชนที่โดดเด่นที่สุดเวลานั้น บทความและปาฐกถาล้วนมีพลังสามารถเปลี่ยนชีวิตจิตใจของผู้อ่านจำนวนมากและกระตุ้นให้เกิดขบวนการทางสังคมที่สั่งสมพลังขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม แต่หลังจากนั้น นักศึกษาจำนวนไม่น้อยก็หันไปหานักคิดคนใหม่ที่ให้คำตอบในทางการเมืองได้ชัดเจนกว่า (แต่มีอันตรายมากกว่าด้วย) หลัง ๖ ตุลาคมขบวนการนักศึกษาอ่อนตัวลงเกินกว่าที่งานคิดงานเขียนของอาจารย์จะปลุกขึ้นได้ จริงอยู่หลังจากนั้นไม่นานกาลเวลาก็ชี้ว่าสิ่งที่อาจารย์สุลักษณ์ได้เตือนไว้หลายอย่างได้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของระบบมหาวิทยาลัยไปจนถึงการเกิดเหตุการณ์นองเลือดกลางกรุง ครั้งที่ ๓ อีกทั้งความคิดที่อาจารย์ได้เสนอไว้ล่วงหน้าร่วม ๒ ทศวรรษก็เป็นที่เห็นพ้องต้องกันมากขึ้นในปัจจุบัน อาทิ การเคารพภูมิปัญญาพื้นบ้านและการให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น แต่แนวทางเหล่านั้น ปัจจุบันก็มีนักคิดหลายคนรับช่วงต่อไปจากอาจารย์และคิดค้นเสนอแนวทางได้ละเอียดลุ่มลึกกว่าด้วยจะว่าไปแล้ว หลังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาจารย์สุลักษณ์ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ แต่ถ้าพูดถึงอิทธิพลทางความคิดต่อคนหมู่ใหญ่ในสังคมไทยแล้ว เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจารย์สุลักษณ์เท่าที่ข้าพเจ้ารู้จักแม้จะยังติดกับชื่อเสียงแต่ก็มิใช่ผู้แสวงหาความนิยม (หาไม่แล้วอาจารย์อาจเป็นขวัญใจของนักศึกษาประชาชาหัวก้าวหน้าหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และหลังรัฐประหาร ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ ได้โดยไม่ยากอย่างที่บางคนได้ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ก็เลือนหายไปจากเวทีอภิปรายในเวลาไม่นาน จนบัดนี้คนส่วนใหญ่คงลืมพวกเขาไปแล้ว) เป็นเพราะเหตุนี้ อาจารย์จึงเป็นตัวของตัวเองอยู่ได้ แต่ความเป็นตัวของตัวเองของอาจารย์ก็มีสูงจนบ่อยครั้งทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นโดยเฉพาะคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอาจารย์ เพราะอาจารย์มักเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเป็นสำคัญจนคนอื่นต้องปรับตัวเข้าหา หาไม่ก็ทำงานลำบาก และในหลายกรณี ก็ต้องปรับหลักการหรือระเบียบเข้าหาอาจารย์ด้วย มิเช่นนั้นก็ต้องเฉไฉออกนอกระเบียบหลักการไปชั่วคราว จนบางทีตัวบุคคลกลับมีความสำคัญกว่าหลักการก็มี เมื่อรู้จักอาจารย์มากขึ้นก็พบว่าอาจารย์เป็นนักปฏิบัตินิยมอยู่ไม่น้อย หาใช่คนเคร่งครัดในหลักการไม่ ข้าพเจ้าเคยได้ยินอาจารย์วิจารณ์การเคร่งความบริสุทธิ์หรือการถือศีลพรตอย่างพวกเพียวริตัน (puritan) อยู่บ่อยๆ คงเพราะอาจารย์คงเห็นว่า ธรรมหรือหลักการตลอดจนระเบียบนั้นเป็นดังพ่วงแพที่ใช้ข้ามฝั่ง มิใช่สิ่งที่ควรยึดถือติดตัวไปทุกแห่งหน อาจารย์สุลักษณ์เป็นตัวของตัวเองจนกระทั่งไม่ยอมที่จะทำตนเป็นคนดีตามความคาดหวังของใครๆ ภาพพจน์ของอาจารย์สุลักษณ์เมื่อข้าพเจ้าแรกพบนั้น เป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการ และเดินตามแบบแผนจริยธรรมอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อรู้จักนานเข้าๆ ก็มีเรื่องชวนให้ผิดคาดและผิดหวังอยู่เป็นนิจ เมื่อแรกประสบก็อดสงสัยไม่ได้ว่าในเมื่ออาจารย์สอนให้เคารพทัศนะของผู้คน แต่ทำไมอาจารย์นอนเอกเขนกไม่สนใจคนที่แสดงความเห็นในวงสัมมนา อาจารย์ต่อต้านโค้ก แต่เหตุใดจึงเอร็ดอร่อยกับการดื่มเบียร์และสุรานอก อาจารย์พูดเรื่องการอยู่อย่างเรียบง่าย แต่กลับมีรสนิยมสูงในการเสพ อาจารย์ไม่ศรัทธาหรือสนับสนุนการไปเรียนเมืองนอก แต่ไฉนส่งลูกไปเรียนอเมริกา เรื่องเหล่านี้เป็นเสี้ยวส่วนน้อยนิดของสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นและสงสัย หรือถึงกับผิดหวังในบางครั้งในช่วงหลายปีแรกที่ได้รู้จักกับอาจารย์ บางเรื่องก็เป็นเพราะข้าพเจ้าเข้าใจความคิดอาจารย์ไม่ชัดเจนเองจึงตีขลุมไปอย่างผิดๆ ความเป็นเพียวริตันของข้าพเจ้าเองก็อาจมีส่วนด้วย แต่หลายเรื่องก็เป็นนิสัยส่วนตัวของอาจารย์มากกว่าที่จะเป็นเรื่องหลักการ ยิ่งรู้จักอาจารย์ก็ยิ่งเห็นข้อบกพร่องของอาจารย์มากขึ้น และพบว่าอาจารย์สุลักษณ์ไม่ใช่บุคคลที่เพียบพร้อมด้วยความดีงามอย่างที่ข้าพเจ้าคิดหรือคาดหวังให้เป็น แต่เมื่อเวลาผ่านไปข้าพเจ้าก็พบว่านี้เองคือจุดแข็งของอาจารย์สุลักษณ์ นั่นคือการไม่เสแสร้งเป็นคนดีเกินกว่าที่ตนเองเป็น ประสบการณ์สอนให้ข้าพเจ้ารู้ว่า ความดีนั้นเป็นดาบสองคม บ่อยครั้งที่คนดีทำความทุกข์ทรมานให้แก่ผู้คนจำนวนมากอย่างมหันต์ เพราะอาศัยศรัทธาที่ผู้อื่นมีต่อตนนั้นไปสนองทิฏฐิความเห็นของตนที่ถือกันว่าดีงาม โดยไม่สนใจว่าผู้คนจะบาดเจ็บล้มตายเพราะการนั้นเพียงใดก็ตาม ความถือตัวถือตนว่าเป็นคนดีสูงส่ง เป็นเชื้อให้เกิดความรังเกียจดูแคลนผู้อื่นว่าต่ำช้าไร้ค่าและสมควรที่จะต้องถูกบังคับครอบงำต่อไป เผด็จการและทรราชในนามของความดีจึงเกิดขึ้นมิได้ขาด การข่มเหงประหัตประหารและสงครามจึงดำรงอยู่เป็นนิตย์ และที่เห็นไม่น้อยในระยะหลังก็คือการพยายามทำตนเป็นคนดีเกินกว่าที่ตนเป็นได้นั้น หากไม่สำรวจตรวจตราอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้รู้เท่าทันตนเองแล้วก็สามารถนำโทษภัยมาให้เช่นกัน ไม่เฉพาะแก่ผู้อื่น แต่ยังรวมทั้งแก่ตนเองด้วยเพราะคนเช่นนี้มักจะลงเองด้วยการเป็นคนกะล่อนตลบแตลงไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยมักคอยมุสาหรือหาข้ออ้างเพื่อแก้ตัวกลบเกลื่อนความไม่ดีของตน(อันเป็นวิสัยของปุถุชน)ให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นคนดีพร้อมสะอาดหมดจดไร้ข้อบกพร่องใดๆ แต่อาจารย์สุลักษณ์นั้นยอมรับในความเป็นปุถุชนของตนที่มีทั้งดีและเลว มีนิสัยอย่างไรและอะไรที่ทำให้ดีขึ้นไปกว่านั้นไม่ได้ อาจารย์ก็เปิดเผยให้เราเห็นอย่างไม่ปิดบัง แม้นั่นจะหมายความว่าความผิดหวังจะเกิดแก่ผู้พบเห็นก็ตาม แต่ไม่ว่าเราจะวิจารณ์ว่ากล่าวอาจารย์อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อาจารย์ไม่เลยเป็นก็คือการเป็นคนกะล่อนปลิ้นปล้อนหรือปิดบังอำพราง อาจารย์สุลักษณ์เป็นอย่างที่เราเห็น (แต่แน่ละหากไปทักหรือตำหนิอย่างไม่รู้กาลเทศะ ก็อาจถูกตวาดได้ง่ายๆ) การประพฤติปฏิบัติตัวของอาจารย์ ไม่เพียงแต่จะสอนข้าพเจ้าเรื่องความดีเท่านั้น แต่ยังเอื้อให้ข้าพเจ้าเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น การที่เห็นอาจารย์เป็นปุถุชนที่พลั้งเผลอและผิดพลาดได้ ปรามมิให้ข้าพเจ้าเชื่อฟังหรือตามอาจารย์อย่างเซื่องๆ โดยไม่ตั้งคำถาม โทษประการหนึ่งของวีรบุรุษ หรือผู้เก่งกล้าสามารถเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมนั้นอยู่ตรงที่ผู้คนต่างเข้าหาและศิโรราบให้ โดยไม่รู้จักพึ่งพาสติปัญญาของตัวเอง หากพอใจที่จะมีคนสั่งและตัดสินใจแทนไม่ใช่แต่กิเลสตัณหาหรือความชั่วร้ายเท่านั้นที่พันธนาการมนุษย์มิให้เป็นอิสระ ความดีก็สามารถทำให้ผู้คนเป็นทุกข์เพราะเหตุเดียวกัน แต่จะเป็นเพราะความตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ความบกพร่องและผิดพลาดของอาจารย์ที่แสดงให้พวกเราเห็นอยู่เนืองๆ แม้จะทำให้พวกเราพากันผิดหวังแต่ก็มีผลดีคือ ทำให้เราคลายความติดยึดในอาจารย์ และหันมาใช้วิจารณญาณของตนให้มากขึ้น กล้าที่จะเถียงและค้านอาจารย์(หรือถ้าไม่กล้าค้านตรงๆ ก็ต่อต้านอยู่เงียบๆ) ใครที่ศิโรราบและเข้าหาอาจารย์อย่างสยบยอม มักจะลงเอยด้วยความรู้สึกคล้ายถูก ถีบ ออกมา อาจารย์สุลักษณ์ตั้งใจสอนธรรมะแบบเซ็นหรือไม่ ไม่ทราบได้ แต่สำหรับข้าพเจ้า อาจารย์เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยให้ข้าพเจ้าเห็นคุณค่าของการพึ่งตนมากขึ้น ไม่คิดฝากจิตฝากใจหรือความคาดหวังไว้กับใครอย่างสุดเนื้อสุดตัวอีกต่อไป จะว่าไปแล้วอาจารย์สอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้แก่พวกเราโดยแท้ โดยอาจารย์เป็นตัวอย่างให้เราเห็นเลยทีเดียว การสอนธรรมด้วยวิธีนี้ของอาจารย์ ในแง่หนึ่งก็เป็นการปฏิบัติธรรมสำหรับอาจารย์ไปด้วยในตัว เพราะหลายคนลงเอยด้วยการถอยห่างจากรัศมีของอาจารย์ จะด้วยความผิดหวังหรือด้วยความโกรธเคืองก็แล้วแต่ นี้ช่วยให้อาจารย์เห็นชัดในเรื่องโลกธรรมและความผันผวนของชีวิต เมื่อจัดงานฉลองให้อาจารย์คราวอายุครบ ๕๐ ปีนั้น มีผู้คนมากหน้าหลายตา และมีหนังสือหลายเล่มจัดพิมพ์ในโอกาสนั้น แต่ฉลองแซยิดให้อาจารย์ปีนี้ จะมีใครมาบ้างก็ไม่ทราบได้ แถมยังมีคดีความที่จะต้องใส่ใจ แต่ถึงอย่างไรข้าพเจ้าเชื่อว่าอาจารย์สุลักษณ์ก็คงจะทำใจได้ เพราะวิถีทางชีวิตเส้นนี้ อาจารย์เลือกเดินมานานหลายทศวรรษแล้ว -๗- อาจารย์สุลักษณ์วันนี้เหมือนครูผู้เฒ่าที่เคยมีลูกศิษย์ลูกหาคับคั่ง
แต่บัดนี้ต่างเติบโตและแยกย้ายไปตามวิถีทางของตัว หลายคนเวลานี้อาจมีบารมีตลอดจนยศทรัพย์มากกว่าอาจารย์
หลายคนเมื่อมีสติปัญญามากขึ้น ทัศนะต่องานคิดงานเขียนของอาจารย์ก็เปลี่ยนไป
ข้าพเจ้าเอง ยามเป็นเด็กเคยรู้สึกว่าอาจารย์เป็นสุดยอดของนักคิดเมืองไทย
เมื่อผ่านวัยมากขึ้นก็เห็นว่ายังมีอีกหลายคนที่มีผลงานโดดเด่นกว่าหรืออย่างน้อยก็มีผลงานลุ่มลึกกว่าออกมาให้เห็น
บางคนอาจารย์ก็ยอมก้มหัวให้ด้วยความเต็มใจ มาถึงเวลานี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า
แม้ความเป็นต้นแบบ(originality) จะมิใช่จุดเด่นของอาจารย์ แต่สิ่งที่อาจารย์มีอย่างยากที่ผู้ใดจะเสมอเหมือน
คือสำนึกในความเป็นเลิศ(sense of excellence) ซึ่งทำให้สามารถแยกกระพี้ออกจากเปลือก
แยกนฤมิตกรรมออกจากงานขยะ และจำแนกสิ่งดีงามและความลุ่มลึกว่าแตกต่างจากสิ่งฉาบฉวย
และกึ่งดิบกึ่งดีอย่างไร ไม่ว่าองค์คุณเหล่านั้นจะอยู่ในบุคคล หนังสือ หรืองานศิลปะ
คุณลักษณ์เช่นนี้เองที่ทำให้อาจารย์เห็นแววของคนที่มีคุณงามความสามารถได้อย่างรวดเร็วและสนับสนุนให้มีผลงานเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ด้วยความละเอียดอ่อนและรู้สึกฉับไวต่อความเป็นเลิศ อาจารย์สุลักษณ์จึงสามารถทำงานคิดงานเขียนที่ลุ่มลึกมาเผยแพร่แก่คนไทยได้
ชนิดไปพ้นสมัยนิยมและคงทนต่อกาลเวลา ที่สำคัญก็คือ สำนึกในความเป็นเลิศของอาจารย์นี้มิได้จำกัดจำเพาะวงการใดหรือแขนงวิชาใดเป็นพิเศษ
หากอาจารย์ยังสามารถเข้าถึงผลงานและความคิดชั้นเลิศในแวดวงและสาขาวิชาต่างๆ
โดยนำมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นอาจารย์ยังรู้จักสังคมไทยดีพอที่จะรู้ว่างานแบบใดที่เหมาะสมกับสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์จึงสามารถดึงสติปัญญาอันลุ่มลึกจากงานต่างๆ เข้ามาผสานสงเคราะห์และทำให้มีคุณค่าสอดคล้องอย่างสมสมัยต่อสังคมไทย
มีนักคิดนักเขียนชั้นนำในต่างแดนจำนวนไม่น้อยที่อาจารย์เป็นสะพานชักนำให้คนไทยอย่างกว้างขวางรู้จัก
ไม่จำเพาะโสกราตีส แต่ยังรวมทั้งเบอร์ทรันด์ รัสเซล อีวาน อิลลิช เปาโลแฟร์
เอเอส นีล ชูเมกเกอร์ จูเลียส ไนเยเร่ ไดเซทส์ ซุสุกิ โทมัสเมอร์ตัน ติช
นัท ฮันห์ ยอร์จ ออร์แวล เป็นต้น หลายสิ่งหลายอย่างจากบุคคลที่มีสติปัญญาเป็นเลิศเหล่านี้อาจารย์ซึมซับไว้กับตัวมิใช่น้อย
บทบาทและผลงานของอาจารย์หลายด้านจึงสามารถที่จะสืบสาวไปถึงนักคิดนักเขียนและนักปฏิบัติหลายคนในอดีต
หลายคนอาจจะเปรียบอาจารย์ดังโสกราตีสผู้ยืนหยัดในสัจจะ แต่เวลาอาจารย์ประกาศเตือนมหาชนให้ตระหนักถึงภยันตรายในอนาคตที่กำลังมาถึงตัว
ข้าพเจ้านึกไปถึงดีมอสเทนีสและซิเซโรในฐานะนักวิจารณ์ฝีปากกล้าและเต็มไปด้วยปฏิภาณ
(wit) อาจารย์สุลักษณ์ดูละม้ายยอร์ชเบอร์นาร์ดชอว์ แต่ในบทบาทของปัญญาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปสังคมโดยไม่ยอมอยู่บนหอคอยงาช้าง
อาจารย์สุลักษณ์ชวนให้นึกถึงเบอร์ทรันด์ รัสเซล และเมื่ออยู่ท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในช่วงหลัง
๑๔ ตุลาคม อาจารย์เลือกที่จะอยู่ข้างสัจจะและมนุษยธรรม คล้ายยอร์ช ออร์แวล
แต่เวลาอาจารย์บริหารงาน อาจารย์ดูเหมือนจะได้แบบอย่างมาจากเสนาบดีสมัยรัชกาลที่
๕ |
|
![]() |
แม้อาจารย์จะเป็นอะไรหลายอย่างต่อหน้าสาธารณชน โดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์เป็นครูยิ่งกว่าอะไรอื่น ครูย่อมปรารถนาให้ลูกศิษย์ได้ดีและย่อมทำใจได้เมื่อลูกศิษย์เหินห่างไปเมื่อถึงเวลาอันควร แต่ครูอย่างอาจารย์สุลักษณ์ก็รู้ดีว่าลูกศิษย์บางคนเมื่อปีกกล้าขาแข็งแล้วก็อาจลำพองดูแคลนครูบาอาจารย์ อาจารย์เคยเปรียบว่า ถ้าเป็นค่ายมวย ลูกศิษย์ประเภทนี้ก็จะเหิมเกริม เปรียบมวยกับครูด้วยสำคัญตนว่าเก่งเกินครูแล้ว เพราะเหตุนี้เองครูมวยจึงต้องฝึกฝนฝีมือไม่ให้ตกและมีไม้ตายที่พร้อมกำราบศิษย์ประเภทนี้ ไม้ตายของอาจารย์สุลักษณ์คืออะไร ข้าพเจ้าไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าไม่ว่าลูกศิษย์จะไปได้ดิบได้ดีอย่างไร อาจารย์ไม่เคยร้องขอจากเขา สิ่งเดียวที่อาจารย์ปรารถนาคือ ความเคารพจากลูกศิษย์ ถึงลูกศิษย์บางคนจะปากร้ายช่างติงหรือทะลึ่งตึงตังคอยแหย่กระเซ้าอาจารย์บ้าง อาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ถือ ตราบใดที่เขายังให้ความเคารพอาจารย์อยู่ บางทีอาจารย์อาจจะรู้สึกหมั่นไส้ เวลาลูกศิษย์ไปตื่นเต้นกับนักคิดนักเขียนที่มีชื่อในต่างประเทศ แต่เมื่อลูกศิษย์บางคนไปกระซิบบอกอาจารย์ว่าถึงอย่างไรอาจารย์ก็ยังเป็นเบอร์หนึ่งของพวกเราอยู่ดี เพียงเท่านี้อาจารย์ก็ยิ้มแป้นแล้ว |
อาจารย์สุลักษณ์ เป็นบุคคลที่สร้างสีสันและความรุ่มรวยให้แก่ชีวิตของสังคมไทยร่วมสมัยอย่างยากที่จะมีใครเสมอเหมือนได้ ในทางส่วนตัวอาจารย์สุลักษณ์ยังสร้างความรุ่มรวยให้แก่ชีวิตทางสติปัญญาให้แก่ข้าพเจ้าอย่างยากที่จะมีครูผู้ใดเสมอเหมือนได้ ทั้งยังเป็นแบบอย่างในทางจริยธรรม ซึ่งแม้ข้าพเจ้าจะแลเห็นข้อบกพร่องอยู่มาก แต่ก็เป็นเรื่องปลีกย่อยหรือที่พระเรียกว่าอภิสมาจาร ยิ่งกว่าเรื่องที่เป็นสาระสำคัญดังอาทิพรหมจรรย์ หากว่าข้าพเจ้ามีชีวิตยืนนานถึง ๖๐ ปี แล้วยังสามารถรักษาคุณธรรมหลักๆ ทั้งในทางชีวิตส่วนตัวและชีวิตสาธารณะได้อย่างอาจารย์สุลักษณ์ก็นับว่าเป็นบุญอันประเสริฐแล้วเท่าที่ปุถุชนคนหนึ่งจะพึงมีได้ในยุคที่เต็มไปด้วยแรงยั่วยวนที่มีแต่จะฉุดชีวิตให้ลงต่ำ สองทศวรรษที่ผ่านมากับอาจารย์สุลักษณ์ จึงเป็นช่วงชีวิตที่ความหมายอย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชีวิตแห่งการเรียนรู้และการได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์สุลักษณ์ของข้าพเจ้าจักยืนนานต่อเนื่องในทศวรรษถัดๆ ไป หากความหวังเช่นนี้บังเกิดเป็นจริงขึ้นมา ข้าพเจ้าคงได้มีโอกาสร่วมฉลองอายุของอาจารย์อย่างน้อยก็อีก ๑ รอบนักษัตร |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|