![]() |
เดินทางต่างแดนกับหลวงพ่อ
|
ข้าพเจ้าไปต่างประเทศกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๔ ดูเหมือนจะเป็นการไปอินเดียครั้งแรกของหลวงพ่อ และอาจเรียกได้ว่าเป็นการท่องอินเดียครั้งแรกของข้าพเจ้าด้วยเช่นกัน เพราะก่อนหน้านั้นก็เพียงแค่อาศัยกรุงเดลีเป็นทางผ่านไปเนปาล ไม่ได้ค้างคืนในอินเดียเลยแม้แต่คืนเดียว สมัยนั้นหากหลวงพ่อจะเดินทางไกลไปที่ใด ก็เพราะมีกิจธุระ เช่น งานบรรยาย หรืองานอบรม ท่านไม่ค่อยมีโอกาสไปในลักษณะทัศนศึกษาเท่าใดนัก ตอนนั้นวัดป่าสุคะโตมีพระอยู่ประจำน้อยมาก อีกทั้งหลวงพ่อก็ยังไม่มีชื่อเสียงมาก ลูกศิษย์ลูกหายังน้อยอยู่ ดังนั้นคณะของเราจึงเล็กมาก คือมีด้วยกัน ๕ คน นอกจากหลวงพ่อสมหมาย ธมฺมปาโล ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรของหลวงพ่อที่คบหากันยาวนานแล้ว ก็มีรสนา โตสิตระกูล และโอภาส เชฏฐากุล เป็นผู้ติดตาม เวลานั้นการไปอินเดียไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ ต้องเรียกว่าเป็นการผจญภัยโดยแท้ เราใช้พาหนะแทบทุกอย่างในการเดินทาง ไม่ว่า รถเก๋ง รถไฟ เครื่องบิน สามล้อ ขาดก็แต่เกวียนและเรือเท่านั้น ที่ตื่นเต้นที่สุดก็เห็นจะเป็นรถไฟ แม้เป็นชั้น ๒ จองล่วงหน้า แต่พอถึงวันเดินทาง ก็เจออุปสรรคนานาชนิด ทั้งถูกคนแย่งชิงที่นั่ง ถูกขโมยกล้อง รถมาช้าหลายชั่วโมง รวมทั้งทะเลาะกับเจ้าพนักงานรถไฟ ที่ตั้งหน้าตั้งตาจะปรับเราเพราะนั่งรถผิดขบวน (ที่นั่งผิดขบวนก็เพราะรถของเรามาล่าช้ามากจนเกิดความเข้าใจผิด) ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการถูกโกงตั๋วเครื่องบิน และการถูกโก่งค่าโดยสาร ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่พวกเรา ๓ คนต้องแก้ไขเฉพาะหน้า และบ่อยครั้งก็ต้องมีปากเสียงกับคนอินเดีย แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แย่แค่ไหน หลวงพ่อก็ไม่เคยทุกข์ร้อน หรือมีทีท่าไม่พอใจ ท่านยังคงสงบนิ่ง ปล่อยให้พวกเราทำหน้าที่ของเราไป ดูเหมือนจะมีครั้งเดียวที่ท่านท้วงติงเรา คงเพราะสงสารชาวอินเดียที่ถูกเราใช้ “ไม้แข็ง” เรื่องมีอยู่ว่า เราจ้างสามล้อถีบไปส่งที่มหาวิทยาลัยพาราณสี เมื่อถึงจุดหมาย คนขับสามล้อขอเงินเพิ่ม ผิดจากข้อตกลง พวกเราไม่ยอม จึงลงจากรถแล้วเดินเข้ามหาวิทยาลัย คนขับไม่คิดว่าจะเจอไม้นี้ จึงเดินตาม วิงวอนขอเงินเพิ่ม แต่พวกเราก็ไม่ยอม หลวงพ่อจึงบอกโอภาสว่า “คุณตู่ให้เงินเขาไปเถิด” แต่โอภาสบอกว่า “ไม่ได้หรอกครับ เดี๋ยวพวกนี้จะเคยตัว เอาเปรียบคนอื่นอีก” ท่านบอกอย่างนี้ ๒-๓ ครั้ง แต่โอภาสก็ยังยืนกรานตามเดิม สุดท้ายท่านก็ปล่อยให้โอภาสทำตามวิธีของเขา หลวงพ่อไม่ค่อยแสดงอาการขึ้นลงให้เราเห็น ท่านยอมรับกับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา โดยไม่เคยปริปากบ่น เจอสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ถ้ำอชันตา และเอลโลรา ท่านก็นิ่งสงบ ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งธรรมดา แต่ที่จริงท่านสังเกตและเก็บรายละเอียดที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา พวกเราเชื่อว่าท่านมีความสุขที่ได้ไปเยือนสังเวชนียสถานและสถานที่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ แต่น่าเสียดายที่เราไม่อาจพาท่านไปลุมพินี เพราะตอนนั้นยังไปลำบาก ส่วนสาวัตถี ซึ่งอยู่ในโปรแกรม ก็ต้องยกเลิก เพราะถูกคนอินเดียหลอกเรื่องตั๋วเครื่องบิน ข้าพเจ้าได้พาท่านไปต่างประเทศอีกครั้งในปี ๒๕๓๖ คราวนี้ไปอินโดนีเซีย จุดหมายคือบาหลี และบรมพุทโธ โดยมีสิงคโปร์เป็นจุดแวะผ่าน โอภาสยังเป็นอุปัฏฐากเช่นเคย คณะของเราเป็นคณะเล็ก ๆ ๕ คนเหมือนเดิม คราวนี้มีพี่สาวของข้าพเจ้าร่วมติดตามด้วย เช่นเดียวกับครั้งก่อน แม้หลวงพ่อเป็นหัวหน้าคณะ แต่ท่านก็มอบความไว้วางใจให้แก่พวกเราอย่างเต็มที่ จะจัดการอย่างไร ท่านก็เห็นดีด้วยหมด ไม่เคยปริปากบ่น บางช่วงก็ลำบากมาก โดยเฉพาะการไปยอดเขาโบรโม่ เมืองสุราบายา ต้องเดินฝ่าความหนาวเหน็บตั้งแต่เช้ามืดเป็นระยะทางไกล ๆ แถมต้องเดินขึ้นเขาด้วย ท่านก็เดินร่วมทางไปกับเราอย่างสบาย ๆ สามปีต่อมา ข้าพเจ้ากับหลวงพ่อเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์ ครั้งนี้เป็นคณะใหญ่ มีพระร่วม ๒๐ รูป โยมอุปัฏฐาก ๕-๖ คน พระทั้งหมดมาจากกลุ่มเสขิยธรรม ซึ่งมีหลวงพ่อนาน สุทฺธสีโล เป็นประธาน และหลวงพ่อคำเขียนเป็นรองประธาน หลายรูปเป็นเจ้าคณะตำบล บางท่านก็เป็นเจ้าคณะอำเภอ จุดมุ่งหมายคือ ดูงานของชาวคริสต์ที่ทำงานกับชาวบ้าน โดยเน้นการปลุกสำนึกให้ชาวบ้านหันมาพัฒนาชุมชนของตน ควบคู่ไปกับการพัฒนาตนตามแนวคริสตธรรม หลวงพ่อกับข้าพเจ้าไปดูงานของชาวบ้านในแหล่งเสื่อมโทรม ต้องไปค้างคืนบ้านชาวบ้าน ซึ่งไม่สะดวกสบายเลย แต่หลวงพ่อก็อยู่ได้อย่างสบาย ท่านเล่าว่าได้แง่คิดหลายอย่างเกี่ยวกับการทำงานกับชาวบ้าน เพื่อให้เขาลุกขึ้นมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง โดยไม่ต้องรอการชี้นำจากท่าน อย่างไรก็ตามเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้ว ท่านไม่ค่อยมีโอกาสทำงานพัฒนาชุมชนเหมือนเคย แต่ให้เวลากับการสอนกรรมฐานและการอนุรักษ์ป่ามากกว่า ปี ๒๕๔๐ หลวงพ่อได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่สหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าเป็นผู้ติดตามเพียงคนเดียว โดยไปในฐานะล่ามของท่าน คราวนี้รอนแรมไปกับท่านนานถึง ๒ เดือนครึ่ง โดยอยู่วัดจวงเหยิน รัฐนิวยอร์ค นานที่สุด คือเดือนเศษ เที่ยวนี้ได้ฟังธรรมจากท่านมากกว่า ๒ ครั้งก่อน แต่ธรรมที่ได้เรียนรู้จากข้อวัตรของท่าน ก็ไม่ได้น้อยลงเลย หลวงพ่อยังคงอยู่อย่างง่าย ๆ พยายามไม่ให้เป็นภาระแก่ใคร แม้ข้าพเจ้ามีฐานะเป็นผู้อุปัฏฐากของท่าน ท่านก็ไม่เคยร้องขอให้ช่วยเหลืออะไร ท่านทำทุกอย่างด้วยตัวท่านเองหมด ยกเว้นการสนทนากับฝรั่ง ซึ่งต้องอาศัยข้าพเจ้าเป็นล่าม สิ่งที่ได้เห็นควบคู่กันก็คือ ความสงบนิ่ง มั่นคง และเปี่ยมด้วยเมตตาของท่าน แม้อเมริกาเป็นประเทศที่ท่านไม่คุ้นเคยเอาเลย แต่ท่านก็ไม่เคยแสดงอาการหวั่นไหวเมื่อเจอสิ่งแปลก ๆ มากระทบ บางช่วงบางตอนของการเดินทางครั้งนั้นข้าพเจ้าได้ถ่ายทอดลงในหนังสือเรื่อง อเมริกาจาริก ที่อเมริกานี้เองที่ข้าพเจ้าได้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตนของท่านอย่างไม่มีอัตตามาครอบงำเลย เมื่อกิจนิมนต์ที่วัดจวงเหยินสิ้นสุด หลวงพ่อกับข้าพเจ้าได้เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ตามคำนิมนต์ของลูกศิษย์ คราวหนึ่งได้เยี่ยมเยือนวัดไทยในลาสเวกัส ซึ่งเจ้าอาวาสกับพระหลายรูปคุ้นเคยดีกับท่าน ระหว่างที่สนทนากับญาติโยม มีผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนักร้องมีชื่อเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว เขามีความคับข้องใจมากในคำสอนบางตอนของหลวงพ่อ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือเรื่อง ไม่มี ไม่เป็น ข้อความนั้นมีว่า “ธรรมชาติสอนดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน” เขาและเพื่อนเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการปรามาสพระพุทธเจ้า อีกทั้งเปิดช่องให้คนบางกลุ่มกล่าวโจมตีพุทธศาสนาได้ หลวงพ่อชี้แจงว่า ธรรมชาติที่ท่านกล่าวถึงนั้น หมายถึงสภาวะแห่งความรู้สึกตัว ซึ่งหากทำให้เจริญมากขึ้นก็จะก่อให้เกิดความรู้แจ้งได้ ท่านยังกล่าวอีกว่า แม้แต่ความทุกข์ ซึ่งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ก็สามารถสอนให้เราเข้าใจธรรมะได้ ท่านย้ำว่าธรรมชาติภายในเราทุกคนนี้แหละที่จะเปิดเผยธรรมะให้เราได้ประจักษ์ จนหลุดพ้นจากความทุกข์ได้ อย่างไรก็ตามชายผู้นั้นและเพื่อนยืนยันว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าประเสริฐเหนืออื่นใด เพราะว่าแม้ธรรมชาติจะสอนเรา แต่เราจะเข้าใจธรรมชาติได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งสองคนเรียกร้องให้หลวงพ่อแก้ไขข้อความดังกล่าว หลวงพ่อถามเขาว่าจะให้แก้ไขอย่างไร เขาจึงหยิบปากกมาแก้ข้อความในหนังสือ เป็นว่า “ธรรมชาติแห่งความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอน ดีกว่าพระพุทธเจ้าสอน” ผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังและลุ่มลึก จนเห็นผลด้วยตนเอง ย่อมรู้ดีว่า คำพูดของหลวงพ่อนั้นถูกต้องหรือผิดพลาด อย่างไรก็ตาม การที่หลวงพ่อไม่มีอาการหวั่นไหวหรือขุ่นเคืองเมื่อถูกวิพากษ์ด้วยอารมณ์ต่อหน้าผู้คนมากมาย ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ท่านมี “อัตตา” น้อยมาก ไม่มี “หน้าตา” ที่จะต้องหวงแหนหรือรักษาอย่างเหนียวแน่น ยิ่งกว่านั้นการที่ท่านยินยอมให้โยม (ซึ่งจากปฏิกิริยาที่แสดงออกบ่งชี้ว่ายังเป็นผู้ฝึกใหม่) มาแก้ไขข้อความของท่าน ชี้ให้เห็นว่าท่านมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพียงใด นั่นเป็นครั้งเดียวที่ข้าพเจ้าเป็นล่ามให้แก่หลวงพ่อในการเดินทางต่างประเทศ หลังจากนั้นแม้มีโอกาสไปต่างประเทศกับท่านอีกครั้งในปี ๒๕๔๘ คราวนี้ไปประเทศศรีลังกา มีผู้ร่วมคณะกว่าสิบคน แต่ท่านก็ไม่จำต้องอาศัยล่ามแล้ว แม้กำลังวังชาของท่านจะลดน้อยถอยลง แต่จริยาวัตรของท่านไม่เปลี่ยนแปลง คือ สงบเย็นและมั่นคง ท่านไม่สนใจหรืออยากรู้ว่าโปรแกรมวันนี้หรือวันหน้าจะเป็นอะไร ขอเพียงแต่บอกท่านว่าฉันอาหารกี่โมง และออกเดินทางกี่โมง เท่านี้ก็พอแล้ว ท่านพร้อมที่จะเรียนรู้และประสบสัมผัสกับทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในแต่ละวัน ใครขอให้ทำอะไร ท่านก็ทำ แม้แต่การเดินขึ้นเขาศรีปาทะ ซึ่งต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เมื่อผู้ร่วมคณะพากันเดินเพื่อไปให้ถึงยอด ท่านก็ร่วมเดินไปกับพวกเราด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนอายุเกือบ ๗๐ ปีอย่างท่าน ท่านสามารถเดินไปถึงยอดแล้วกลับลงมาด้วยดี เป็นกำลังใจให้แก่ญาติโยมซึ่งอ่อนวัยกว่าท่านมาก นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าเดินทางไปต่างประเทศกับหลวงพ่อ หลังจากนั้นท่านยังจาริกไปต่างแดนอีกหลายครั้ง อาทิ จีน และภูฐาน เชื่อว่าทุกคนที่ร่วมทางกับท่านคงประทับใจอย่างเดียวกับข้าพเจ้า นั่นคือ ความสงบเย็นและปล่อยวางอย่างเบาสบายของท่าน ใครที่เดินทางไปกับท่าน โดยเฉพาะผู้นำทาง จะรู้สึกเบาสบายเช่นกัน เพราะท่านมอบความไว้วางใจทั้งหมดให้แก่ลูกศิษย์ จะให้ท่านทำอะไรหรืออย่างไร ท่านก็ให้ความร่วมมือทุกอย่าง แม้ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่หลายคนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก แต่ท่านพยายามทำตนไม่ให้เป็นภาระแก่ใครเลย ลูกศิษย์จึงไม่รู้สึกหนักใจหรือกังวลเวลาเดินทางกับท่าน ตรงกันข้ามกลับรู้สึกโปร่งเบา ราวกับว่าไม่มี “ตัวตน” ของท่านพ่วงติดมาด้วย แม้การเดินทางบางครั้ง หลวงพ่อจะไม่ค่อยได้พูดสอนธรรม แต่ตลอดเวลาท่านแสดงธรรมให้เราเห็นอยู่เสมอ เป็นธรรมที่ออกมาจากวัตรปฏิบัติของท่าน อย่างที่เรียกว่า “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส” ดังนั้นเวลาเดินทางกับท่าน ก็เหมือนกับว่าธรรมะเดินทางไปกับเราด้วย เป็นธรรมที่คอยเตือนใจเราให้ไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งต่าง ๆ และน้อมใจให้สงบ มีสติ และรู้สึกตัวในทุกหนแห่ง แม้วันนี้ท่านจากไปแล้ว แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องเดินทางไกล การระลึกถึงท่านและคุณธรรมของท่านที่แสดงออกมา ย่อมช่วยเตือนใจให้เราเดินทางด้วยใจที่ปล่อยวาง เบาสบาย ไม่ว่าจะเจออะไร ก็พร้อมยอมรับกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ด้วยใจที่สงบเย็น |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|