![]() |
รำลึกถึงบราเดอร์หลุยส์ ชาแนล กับ โรงเรียนอัสสัมชัญ จัดพิมพ์โดย คณะครูโรงเรียนอัสสัมชัญ
|
ข้าพเจ้าเข้าเรียนชั้นป.๑ ที่โรงเรียนอัสสัมชัญเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๖ ตอนนั้นบราเดอร์โรเบิร์ต ริชาร์ด เป็นอธิการ ส่วนบราเดอร์วิริยะ ฉันทวโรดม (ซึ่งใคร ๆ เรียกว่าบราเดอร์หลุยส์) เป็นรองอธิการ สองปีหลังจากนั้นบราเดอร์หลุยส์จึงได้เป็นอธิการ นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เป็นอธิการอัสสัมชัญ และหลังจากนั้นก็มีแต่อธิการที่เป็นคนไทยทั้งนั้น บราเดอร์หลุยส์เป็นอธิการที่ขยันขันแข็ง ปรากฏตัวให้นักเรียนเห็นเป็นประจำ ถ้าไม่ใช่นอกห้องเรียน หรือในสนามโรงเรียน ก็ในห้องประชุม ซึ่งนักเรียนถูกเกณฑ์ให้มาฟังคำอบรมของท่านบ่ายวันเสาร์เป็นประจำ ยังไม่ต้องพูดถึงกิตติศัพท์เสียงเล่าลือ ที่พวกเราได้ยินเป็นประจำ นั่นคือ ความดุและความเข้มงวดของท่าน มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยถูกท่านจับไปกร้อนผมเพราะไว้ผมยาว หนักกว่านั้นก็คือถูกท่านเฆี่ยนเพราะทำผิดร้ายแรง เช่น ชกต่อยกัน ใครที่คุยกันในห้องประชุม ก็ถูกท่านเรียกมายืนอยู่หน้าห้องเป็นการลงโทษ ด้วยเหตุนี้บราเดอร์หลุยส์จึงกลายเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตในวัยเรียนของข้าพเจ้าจนกระทั่งท่านครบวาระอธิการในพ.ศ. ๒๕๑๖ ตลอด ๘ ปีที่บราเดอร์หลุยส์เป็นอธิการอัสสัมชัญ(วาระแรก) ซึ่งเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าอธิการส่วนใหญ่ก่อนหน้านั้น ท่านได้นำความเปลี่ยนแปลงมาให้แก่อัสสัมชัญมากมาย ที่เห็นได้ชัดก็คือ การสร้างโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม การทุบตึกเตี้ยและสร้างโรงอาหาร รวมทั้งการสร้างตึกฟ.ฮีแลร์แทนตึกเก่า นอกเหนือจากผลงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว ท่านยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างจิตสำนึกทางด้านคุณธรรมให้แก่นักเรียน รวมทั้งสำนึกในความเป็นอัสสัมชนิก ไม่ใช่ด้วยการสอนหรือการเทศนาเท่านั้น ท่านยังทำด้วยการนำเอาแบบอย่างอันดีงามมาให้เราเห็น กิจกรรมหนึ่งที่ท่านทำเป็นประจำก็คือ การเชิญอัสสัมชนิกรุ่นเก่า ๆ มาพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน บางครั้งก็มาพูดในช่วงที่มีการอบรมนักเรียนบ่ายวันเสาร์ บางคราวก็มาพูดในฐานะประธานแจกประกาศนียบัตรแก่นักเรียน บ่อยครั้งก็มาพูดในโอกาสพิเศษ นักเรียนเด็ก ๆ อย่างพวกเรารู้จักอัสสัมชนิกที่มีชื่อเสียงอย่าง พระยาอนุมานราชธน สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และส.ศิวรักษ์ ก็เนื่องจากโอกาสดังกล่าว ประสบการณ์ดังกล่าวไม่เพียงทำให้พวกเราภาคภูมิใจในความเป็นอัสสัมชนิกเท่านั้น แต่ยังซึมซับรับเอาคุณธรรมหลายอย่างจากท่านเหล่านั้นไปโดยไม่รู้ตัว อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค รวมทั้งความมีระเบียบวินัย มีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ทำให้นักเรียนอย่างพวกเราซึมซับรับเอาคุณธรรมและจิตวิญญาณแบบอัสสัมชัญเข้าไป เช่น การฟื้นฟูอุโฆษสาร หนังสือประจำปีของอัสสัมชัญ ซึ่งรวบรวมข้อเขียนของอัสสัมชนิกรุ่นต่าง ๆ แม้เป็นหนังสือเล่มเขื่อง แต่ก็เป็นสิ่งที่นักเรียนอย่างข้าพเจ้ารอคอยในวันสุดท้ายของภาคการศึกษา เพราะมีบทความที่น่าอ่านมากมาย บางปีก็มีนิทรรศการอย่าง “เอซีรำลึก” ที่ช่วยให้พวกเราได้รู้จักประวัติศาสตร์ของอัสสัมชัญตั้งแต่แรกตั้ง รวมทั้งบทบาทของครูบาอาจารย์และศิษย์เก่าที่สำคัญ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้นักเรียนมี “ราก” ที่หยั่งลึก คือ มีสำนึกที่เชื่อมต่อกับจิตวิญญาณอันลุ่มลึกและอดีตอันยาวไกลของอัสสัมชัญ รากดังกล่าวช่วยให้จิตใจมีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อกิเลสเย้ายวนใจหรืออุปสรรคที่พัดกระหน่ำ เหมือนต้นไม้ที่สามารถทานพายุกล้าได้เพราะมีรากที่หยั่งลึก อย่างไรก็ตาม มีสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความหยั่งลึกในทางจิตสำนึก ชนิดที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย นั่นก็คือ คุณธรรมของครูบาอาจารย์ เริ่มตั้งแต่บราเดอร์ไปจนถึงมาสเตอร์จำนวนไม่น้อย สมัยข้าพเจ้านั้นอัสสัมชัญยังมีบราเดอร์ฝรั่งอยู่หลายท่าน ส่วนใหญ่ชราแล้ว แต่ท่านอยู่อย่างเรียบง่าย มีคุณธรรม ที่สำคัญคือ อุทิศตนให้แก่นักเรียน มาสเตอร์หลายท่านก็เป็นเช่นเดียวกัน แม้จะดุ แต่ก็ใส่ใจกับนักเรียนมาก โดยแทบไม่สนใจความสะดวกสบายหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเลย มาสเตอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอัสสัมชนิก จึงทุ่มเทให้แก่โรงเรียนและมีคุณธรรมอย่างอัสสัมชนิกหลายประการ โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริต และความมีระเบียบวินัย บราเดอร์หลุยส์เป็นผู้หนึ่งที่มีคุณธรรมดังกล่าวให้เราได้ประจักษ์ แม้ความดุของท่านจะโดดเด่นในสำนึกของเรายิ่งกว่าอะไรอื่นในตอนนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ในตอนนั้นและต้องสังวรอยู่เสมอ ก็คือ การปฏิบัติต่อนักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยหรือยากจน หากทำผิดระเบียบโรงเรียนแล้ว ก็โดนทำโทษเสมอหน้ากัน แม้พ่อแม่จะมีฐานะอัครฐานสูงเด่นแค่ไหน ก็ไม่สามารถใช้อภิสิทธิ์ปกป้องลูกได้เลย จะว่าไปนี้เป็นวัฒนธรรมของอัสสัมชัญเวลานั้นก็ว่าได้ อย่าว่าแต่การใช้อภิสิทธิ์กับอธิการเลย แม้แต่การพยายามใช้อภิสิทธิ์กับครู ก็ไร้ผลเช่นกัน โดยเฉพาะกับครูเก่า ๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดามากที่พวกเราจะเห็นมาสเตอร์ตำหนิพ่อแม่ที่พาลูกมาโรงเรียนสาย ใครที่พยายามขอร้องไม่ให้มาสเตอร์ลงโทษลูกของตนที่มาสาย กลับถูกมาสเตอร์ต่อว่าด้วยซ้ำ ที่ท่านทำเช่นนั้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะท่านสำนึกในหน้าที่ของท่าน อีกทั้งมีความภาคภูมิใจในความเป็นครู แม้จะมีเงินเดือนน้อยกว่าผู้ปกครอง ก็ไม่รู้สึกด้อยจนสยบยอมง่าย ๆ ยิ่งอธิการทำตนเป็นแบบอย่างด้วยแล้ว มาสเตอร์เหล่านี้ก็มีความมั่นใจที่จะทำหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์สุจริต บราเดอร์หลุยส์มาเป็นอธิการอัสสัมชัญในช่วงที่เมืองไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ช่วงนั้นประเทศไทยกำลังมีการ “พัฒนา” เศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่พ.ศ.๒๕๐๓ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คำขวัญที่คุ้นหูคนไทยสมัยนั้นก็คือ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” มีการตัดถนน สร้างเขื่อน และโครงสร้างพื้นฐานมากมาย การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวทำให้ระบบทุนนิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ เงินกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ดังคำขวัญ(ของจอมพลถนอม กิตติขจร)ที่ว่า “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” ในช่วงเวลาดังกล่าว อัสสัมชัญได้ผลิตบุคคลกรไปสนับสนุนรองรับแนวทางพัฒนาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ทางภาษาอังกฤษ (ถึงแม้ว่าตอนนั้นภาษาอังกฤษของนักเรียนอัสสัมชัญจะ “อ่อน” ลงแล้วเมื่อเทียบกับอัสสัมชนิกรุ่นก่อน แต่ก็ยังมีภาษีดีกว่านักเรียนที่อื่นอีกมากมาย) อย่างไรก็ตามมองในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่อัสสัมชัญในสมัยบราเดอร์หลุยส์ฟูมฟักให้แก่นักเรียนนั้น ก็นับว่าสวนทางกับกระแสพัฒนาเวลานั้นอยู่ไม่น้อย อาทิ การเน้นถึงความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริตและความมีระเบียบวินัย รวมทั้งความเท่าเทียมในหมู่นักเรียน ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะว่า ยิ่งเมืองไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจมากเท่าใด คุณธรรมกลับมีความสำคัญน้อยลง โดยเฉพาะ ความซื่อสัตย์สุจริตและการเคารพกฎเกณฑ์ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึง การเคารพความหลากหลาย อัสสัมชัญสมัยก่อนจวบจนถึงสมัยข้าพเจ้า นักเรียนมีความหลากหลายมาก คือหลากหลายทางด้านศาสนาและชาติพันธุ์ ในห้องเดียวกัน มีทั้งพุทธ คริสต์ มุสลิม และซิกข์ มีทั้งไทย จีน แขก มอญ ฝรั่ง ใช่แต่เท่านั้นยังมีความหลากด้านเศรษฐฐานะ มีทั้ง คนรวยและคนจน หลายคนยากจนถึงขนาดไม่มีเงินค่าเล่าเรียน แต่โรงเรียนก็อุปการะนักเรียนเหล่านั้น โดยให้ช่วยงานของโรงเรียนเป็นการตอบแทน นี้เป็นสภาพสังคมที่กล่อมเกลานักเรียนให้ยอมรับและเคารพความหลากหลาย รวมทั้งเอื้อให้เข้าใจมุมมองและทัศนะที่แตกต่างกัน อันเนื่องจากศาสนา ชาติพันธุ์ และเศรษฐฐานะ ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนั้น การดูถูกเพื่อนนักเรียนที่ยากจนเป็นเรื่องแย่มาก ๆ การที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติกับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกว่ารวยหรือจน ก็พลอยทำให้นักเรียนปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมกันด้วย อย่างน้อยก็ไม่มีการยกตนข่มท่านเพียงเพราะความแตกต่างทางด้านฐานะดังกล่าว ถ้าจะถือตัวถือตน ก็ตรงที่เรียนเก่งกว่าเท่านั้น การอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายนั้น เป็นสิ่งที่นับวันจะเลือนหายไปหลังจากที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพราะแม้การพัฒนาดังกล่าวจะทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ผู้คนกลับแบ่งแยกกันตามลักษณะความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างด้านเศรษฐฐานะ คนรวยก็คบค้าสมาคมกับคนรวย ส่วนคนจนก็คบแต่คนจนด้วยกัน ทำให้เกิดช่องว่างและความรู้สึกลบต่อกันได้ง่าย สภาพดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนจากโรงเรียนทุกวันนี้ มีการแยกเป็นโรงเรียนคนรวย โรงเรียนคนระดับกลาง และโรงเรียนคนจน โรงเรียนที่เด็กรวยกับเด็กจนมาอยู่ด้วยกันอย่างอัสสัมชัญสมัยก่อนนั้น มีน้อยมาก แม้แต่อัสสัมชัญทุกวันนี้ก็ไม่มีสภาพเช่นนั้นแล้ว มิใช่แต่บรรยากาศที่ส่งเสริมการเคารพความหลากหลายเท่านั้นที่เลือนหายไปจากอัสสัมชัญในปัจจุบัน คุณธรรมหรือจิตวิญญาณอัสสัมชัญที่เคยสืบสานกันมาอย่างต่อเนื่อง ก็ดูเหมือนว่าจางคลายไปแล้วเช่นกัน อันที่จริงคุณธรรมหรือจิตวิญญาณอีกอย่างหนึ่งที่อัสสัมชัญในสมัยบราเดอร์หลุยส์ (รวมทั้งบราเดอร์วิจารณ์ ทรงเสี่ยงชัย อธิการคนถัดมา)พยายามปลูกฝัง ก็คือ ความเสียสละเพื่อผู้ยากไร้ กลุ่มอัสสัมชัญอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่บำเพ็ญประโยชน์ด้วยการช่วยเหลือเด็กกำพร้า คนชรา และออกค่ายอาสาพัฒนาในชนบท ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันโดยอธิการทั้งสองท่าน ยังไม่ต้องพูดถึงการชักชวนส่งเสริมให้นักเรียนอัสสัมชัญเกื้อกูลคนยากจนด้วยกิจกรรมอื่น ๆ คุณธรรมดังกล่าวมีความสำคัญมากโดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเห็นเงินเป็นใหญ่ อยู่กันแบบตัวใครตัวมัน ไม่สนใจที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า คุณธรรมและจิตวิญญาณอัสสัมชัญ ที่บราเดอร์หลุยส์พยายามสานต่อมานั้นเป็นสิ่งสำคัญ และนับวันจะสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพิจารณาถึงทิศทางของสังคมไทยในปัจจุบัน แน่นอนการให้ความสำคัญแก่ระเบียบวินัยบางอย่างในสมัยของท่าน เช่น การตั้งแถวเป็นเส้นตรงก่อนเข้าห้องเรียน การตัดผมสั้น กางเกงต้องใช้ผ้าที่โรงเรียนกำหนด ฯลฯ ไม่เหมาะแก่ยุคนี้แล้ว หากอัสสัมชัญในยุคนี้จะมีคุณปูการอย่างมากต่อสังคมไทย ดังที่เคยทำมา การปลูกฝังกล่อมเกลาคุณธรรมและจิตวิญญาณแบบอัสสัมชัญ เป็นสิ่งที่จะต้องมีมากขึ้นมากขึ้น เช่นเดียวกับระเบียบวินัยบางอย่างดังที่กล่าวข้างต้น การสอนที่เน้นการท่องจำ อันเป็นวิธีการที่นำชื่อเสียงมาให้แก่อัสสัมชัญในอดีต บัดนี้ได้กลายเป็นสิ่งล้าสมัยไปแล้ว (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การท่องจำไม่มีประโยชน์เลย) อัสสัมชัญยุคนี้ต้องส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิด รู้จักไตร่ตรองอย่างใช้เหตุผล มองอย่างรอบด้าน และจับประเด็นได้ คุณสมบัติดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้นักเรียนรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร รู้ผิดรู้ชอบ ซึ่งน้อมใจให้เด็กเห็นความสำคัญของคุณธรรมด้วยตนเองเองแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียน ทำให้จับหลักหรือเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชาต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งช่วยให้เด็กเรียนสนุก ใฝ่รู้ รักเรียนยิ่งขึ้น คุณสมบัติดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้วิชาความรู้ล้าสมัยภายในเวลาไม่นาน หากเด็กรู้จักคิดด้วยตนเอง ใฝ่รู้อยู่เสมอ การเรียนรู้ทันโลกก็จะเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้ไม่เพียอยู่รอดได้แต่ยังสามารถอยู่ได้ด้วยดี อีกทั้งเกื้อกูลส่วนรวมได้ด้วย หากเปรียบคุณธรรมและจิตวิญญาณอัสสัมชัญ ดัง “ราก” การรู้จักคิดและความใฝ่รู้ก็เปรียบเสมือน “ปีก” รากนั้นทำให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวต่อกิเลสและอุปสรรค ส่วนปีกก็ทำให้มองเห็นโลกได้กว้าง ไม่คับแคบ จิตใจเป็นอิสระ นี้ใช่ไหมที่ควรเป็นคุณสมบัติของผู้มีการศึกษา และควรเป็นจุดมุ่งหมายของสถาบันการศึกษา วันนี้บราเดอร์หลุยส์ได้กลับมาสู่อัสสัมชัญอีกครั้งหนึ่ง แม้อัสสัมชัญจะเปลี่ยนไปมาก อีกทั้งท่านก็ชราแล้ว แต่เชื่อว่าคุณธรรมและวิสัยทัศน์ของท่านจะสามารถเป็นแสงสว่างสาดส่องให้อัสสัมชัญดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ ขอให้ท่านมีพลานามัย มีกำลังจิต และกำลังปัญญาที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นปูชนียบุคคลให้แก่ผู้คน รวมทั้งอัสสัมชนิกทั้งเก่าและใหม่ ต่อไปนานเท่านาน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|