![]() |
มติชนรายวัน วันที่ ๒๘ กรกฏาคม ๒๕๖๑ ใช้สมอง อย่าลืมหัวใจ
|
หมอรังสิต หร่มระฤก เป็นจิตแพทย์ เล่าว่า เคยเจอผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นรุ่นพี่ เป็นวิศวกร รู้จักกันมาตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ตอนหลังรุ่นพี่คนนี้มีอาการทางจิต คือมีความรู้สึกเหมือนมีคนคอยส่งคลื่นรังสีมารบกวนความคิดของเขา แถมยังอ่านความคิดของเขาได้ด้วย เขาจึงกลัวจนต้องลาออกจากงาน เก็บตัวที่บ้านเป็นปี หมอวินิจฉัยว่าเขาเป็นโรคจิตเภท จึงให้ยาไป สามอาทิตย์ต่อมาอาการดังกล่าวก็หายหมด อย่างไรก็ตามถ้าจะหายขาด คนไข้ต้องกินยาต่อเนื่อง ๖ เดือนเป็นอย่างน้อย หมอจึงพยายามชักจูงผู้ป่วยให้ร่วมมือ ด้วยการกินยาครบ ๖ เดือน หมอโน้มน้าวเขาด้วยการชี้ให้เขาเห็นว่า หลังจากกินยาแล้ว คลื่นรบกวนก็หายไป คนไข้ยอมรับว่าใช่ หมอจึงบอกว่า เพราะฉะนั้น ผมอยากให้พี่กินยานี้ต่อไป แต่คนไข้ปฏิเสธ ให้เหตุผลว่า คลื่นหายไปเอง ไม่ได้เกี่ยวกับยา หมอชี้แจงอย่างไร เอาเหตุผลมาหว่านล้อม เขาก็ไม่เชื่อ บอกว่า คลื่นหายในช่วงเดียวกับที่กิน เป็นเพราะความบังเอิญต่างหาก ไม่ใช่เพราะยา หมอบอกว่า “มันไม่บังเอิญหรอก พิสูจน์ดูก็ได้ ผมจะลองหยุดยา ถ้าคลื่นรบกวนกลับมา ผมจะให้ยาใหม่ ถ้าพี่กินยาแล้ว คลื่นรบกวนมันหายไป ก็แสดงว่ายาช่วยให้คลื่นรบกวนหาย ฉะนั้นพี่ต้องกินยาให้ครบ ๖ เดือน” พูดขนาดนี้คนไข้ก็ไม่ยอม โต้หมอว่า “คนที่ส่งคลื่นรบกวนเขาอ่านใจผมได้ เขาอาจจะรู้ว่าเรากำลังทดลองอยู่ เลยแกล้งไม่ส่งคลื่นรบกวนตอนที่ผมกินยา” หมอเจอเหตุผลแบบนี้ ไม่รู้จะชักชวนอย่างไร หมอบอกว่าตอนนั้นเขาไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยเหตุผล เพราะคนไข้โต้แย้งได้หมด หมอจึงพูดกับคนไข้ว่า “ผมเถียงสู้พี่ไม่ได้แล้ว พี่บอกมาดีกว่าว่าผมจะต้องทำยังไงพี่จึงจะกินยาครบ ๖ เดือน” ผลสุดท้ายคนไข้ก็เลยบอกว่า “ถ้าหมออยากให้ผมกินยา ผมก็จะกิน เพราะหมอดูแลผมอย่างดีมาตลอด ผมเชื่อว่าหมอหวังดี ผมไม่อยากให้หมอเสียใจ” ในที่สุดคนไข้ยอมกินยา ไม่ใช่เพราะจำนนต่อเหตุผลของหมอ แต่เป็นเพราะเห็นใจหมอ ประทับใจในความปรารถนาดีของหมอ นี่เป็นตัวอย่างว่า บางทีเหตุผลก็มีข้อจำกัด หมอเอาเหตุผลมาพูดกับคนไข้อย่างไรคนไข้ก็ไม่ยอมท่าเดียว ทั้งเถียงทั้งหักล้างด้วยเหตุผลเหมือนกัน แต่คนไข้ยอมกินยา เพราะยอมแพ้ต่อความปรารถนาดีของหมอ ใจอ่อนเพราะเห็นหมอตั้งใจมาก บ่อยครั้งที่เราพบว่า เวลามีความขัดแย้งกัน แม้เราพยายามเอาเหตุผลมาชี้แจงอย่างไรอีกฝ่ายก็ไม่ยอม แต่สุดท้ายเขายอมเพราะเห็นว่าเราปรารถนาดีต่อเขา คนเราจะใช้แต่หัวอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้ใจด้วย ถ้าใช้แต่หัว ก็อาจไปไม่รอด โดยเฉพาะเวลาเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา มูลนิธิแห่งหนึ่งจัดงานปฏิบัติธรรม มีคนมาร่วมงานหลายร้อยคน พอเสร็จงานก็มีการประชุมสรุปงาน ผู้ที่มาประชุมมีทั้งกรรมการมูลนิธิ เจ้าหน้าที่ จิตอาสา อาสาสมัครผู้หนึ่งลุกขึ้นตำหนิกรรมการมูลนิธิยืดยาว เพราะไม่พอใจที่ไม่นำเอาข้อเสนอแนะของเขาไปปฏิบัติ ทั้ง ๆ ที่เขาใช้เวลาครุ่นคิดกับมันมาก กรรมการมูลนิธิคนหนึ่ง ลุกขึ้นมาชี้แจงว่า ข้อเสนอเหล่านั้นทำไม่ได้เพราะเหตุผลหลายประการ รวมทั้งบอกเล่าข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ชายผู้นั้นเข้าใจผิด ปรากฏว่าคำชี้แจงของเธอทำให้เขาขุ่นเคืองมากขึ้น จนเขาลุกขึ้นมาตอบโต้อย่างรุนแรง กรรมการมูลนิธิผู้นี้ลุกขึ้นชี้แจงเป็นครั้งที่สอง แต่มีรุ่นพี่ผู้หนึ่งสะกิด และลุกขึ้นพูดแทนว่า “ผมขอบคุณที่คุณมีความปรารถนาดีต่อมูลนิธิ ขณะเดียวกันก็เข้าใจความรู้สึกของคุณด้วย คุณรู้สึกเสียใจที่ความตั้งใจดีของคุณไม่ถูกนำไปปฏิบัติ แต่ก็อยากให้เข้าใจว่าเรามีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำตามข้อเสนอของคุณได้ อันนี้เป็นความผิดพลาดของพวกเราเอง ผมต้องขออภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย” พูดจบ ชายผู้นั้นก็มีอาการสงบลงทันที สิ่งที่ทำให้ชายผู้นั้นสงบลงไม่ใช่เพราะได้ฟังเหตุผลที่ดี เหตุผลไม่ได้ช่วยเท่าไร กรรมการมูลนิธิพยายามชี้แจงเหตุผล แต่ไม่ได้ช่วยทำให้ชายผู้นั้นรู้สึกดีขึ้น แต่ที่เขารู้สึกดีขึ้นได้ ก็เพราะรับรู้ว่ามีคนที่เข้าใจความรู้สึกของเขา หัวหรือสมองเพียงช่วยให้เข้าใจความคิด เข้าใจเหตุผลเท่านั้น แต่ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ เหมือนกับว่าเราจะรับรู้ภาพก็ต้องใช้ตา แต่ถ้าจะรับรู้เสียงก็ต้องใช้หู จะใช้ตารับรู้เสียงไม่ได้ ความรู้สึกก็ต้องอาศัยใจ แต่คนสมัยนี้ใช้หัวสมองมาก ใช้แต่ความคิด คิดอะไรก็เป็นเหตุเป็นผล แต่กลับลืมใช้ใจรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งบ่อยครั้งลุกลามจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาท เป็นเพราะว่าต่างไม่ยอม หรือไม่พยายามเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง พยายามจะใช้แต่เหตุผล จิตแพทย์อีกผู้หนึ่งคือหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ พูดไว้น่าสนใจว่า “ เวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน อย่าใช้เหตุผลเป็นอันขาด ให้ใช้อารมณ์ วางเหตุผลลงให้ได้ ปล่อยให้อารมณ์ลอยขึ้นมา อารมณ์รักที่เคยมีต่อกันในอดีตจะเข้ามาแก้ปัญหาให้เอง” บ่อยครั้งเวลาสามีภรรยาทะเลาะกัน เหตุผลที่ใช้มักจะทำให้ความขัดแย้งลุกลามขึ้น จนกลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะเหตุผลเหล่านี้ถูกเอามาใช้เพื่อยืนยันความถูกต้องของตนเอง และกล่าวโทษอีกฝ่าย พูดอีกอย่างคือใช้เหตุผลเพื่อชี้ว่าฉันถูก เธอผิด เหตุผลแบบนี้มีแต่จะกระทบอัตตาอีกฝ่าย ทำให้ขุ่นเคือง แต่ถ้าใช้อารมณ์ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความรัก ความเห็นใจ การทิ่มแทง กระทบกระทั่งกันก็จะลดน้อยลง ความรักจะทำให้เราเห็นใจ รับรู้ความทุกข์ของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้จิตใจอ่อนโยน เพราะฉะนั้น คนเราจะใช้แต่หัวสมองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้หัวใจด้วย โดยเฉพาะในเวลาที่สัมพันธ์กับผู้อื่น เราใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เราใช้เหตุผลในการทำความเข้าใจว่าเขาคิดอะไร แต่เหตุผลหรือหัวสมอง ไม่สามารถทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเขาได้ ถ้าคนเราไม่เข้าใจความรู้สึกของกันแล้ว ก็จะไม่รู้ว่าคำพูดของเราทิ่มแทงเขามากน้อยแค่ไหน ยิ่งใช้เหตุผลยิ่งทิ่มแทงมากขึ้น สมัยนี้เราชอบพูดกันว่าให้ใช้เหตุผล แต่ว่าบางทีเหตุผลที่เอามาพูดกันนั้น ก็เป็นเหตุผลของกิเลส เป็นเหตุผลของอัตตา และบางครั้งก็มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา ถ้าเราใช้หัวใจบ้าง ใช้อารมณ์บ้าง แต่เป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล เช่น ความรัก ความเมตตา ความเห็นใจ ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ เหมือนอย่างจิตแพทย์ที่สามารถโน้มน้าวให้คนไข้กินยาได้ ไม่ใช่เพราะใช้เหตุผล ที่จริงเหตุผลของหมอโน้มน้าวคนไข้ไม่ได้เลย แต่ว่าความเมตตา ความใส่ใจของหมอต่างหาก ที่ทำให้คนไข้ยอมกินยาตามความต้องการของหมอ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|