![]() พระไพศาล วิสาโล *ข้อมูลที่ใช้ในการเขียนบทความนี้เกือบทั้งหมดได้จากการศึกษาวิจัยที่ผู้เขียนได้รับทุนจากโครงการ Asian Public Intellectual Fellowship ของมูลนิธินิปปอน ผู้เขียนขอขอบคุณโครงการดังกล่าว ณ ที่นี้ - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่ ![]() |
|
อนาคตของศาสนากำลังวิวัฒน์สู่ความดับสูญ ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติที่ฝืนกับกฎธรรมชาติจะเสื่อมถอย และกลายเป็นเพียงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้น......ความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติมีแต่จะสาบสูญไปทั่วโลก อันเป็นผลจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายและพอเหมาะพอสมมากขึ้นทุกที...กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แอนโทนี วัลเลซ จวบจนเมื่อไม่กี่ทศวรรษมานี้มีความเชื่อมั่นในหมู่นักวิชาการตะวันตกจำนวนไม่น้อยว่าวันเวลาของ ศาสนากำลังจะหมดไป ยิ่งความทันสมัยแพร่หลายมากเท่าไร ศาสนาก็จะหมดบทบาท ลงไปเรื่อย ๆ นอกจากแอนโทนี วัลเลซ นักมานุษยวิทยาด้านศาสนานามกระเดื่องจะประกาศคำพยากรณ์ข้างต้นอย่างมั่นใจเมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ นักสังคมวิทยาชื่อก้องโลกเป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำนายไว้เมื่อปี ๑๙๖๘ ว่า เมื่อถึง ศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่าพวกที่เชื่อ ในศาสนาจะพบเห็นได้ตามลัทธินิกายเล็ก ๆ ซึ่งกระจุกอยู่ด้วยกันเพื่อ ต่อต้านวัฒนธรรมแบบโลกย์ ๆ ที่แพร่ ไปทั่วโลก นี้หาใช่ทัศนะ ที่แปลกใหม่แต่ประการใดไม่ ย้อนไป ๑๐๐ ปีเศษ เออเนสต์ เรนัง นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ก็เคยแสดง ความเชื่อมั่นว่า อิสลามเป็น ศาสนาสุดท้าย ที่มนุษยชาติได้สร้างขึ้น ข้อสรุปดังกล่าวเกิดขึ้นได้ก็เพราะผู้คนเป็นอันมากมีความมั่นใจว่าความทันสมัยจะนำ เหตุผลเข้า มาแทนที่ศรัทธา นำวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ศาสนา(และไสยศาสตร์) ความเจริญทาง เทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ ตลอด ๒ วรรษที่ผ่านมาดูเหมือนจะบ่งบอกถึงชัยชนะของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อศาสนาและโลกทัศน์ดั้งเดิมที่มีศาสนาเป็นพื้นฐาน จนเกิดความเชื่อว่าศาสนาหากจะยังมีอยู่ก็จะถูกเบียดขับ ให้อยู่ชายขอบของสังคม หรือนับถือในกลุ่มคนเล็ก ๆ ถูกจำกัดให้มีบทบาทแต่ในระดับบุคคล แต่ไร้อิทธิพล ต่อสังคม สิ่งที่จะคนยุคใหม่ จะนับถือแทนก็คือศาสนาแห่งเหตุผล เมื่อต้นศตวรรษที่แล้ว ชาลส์ อีเลียต ทำนายว่าศาสนาในอนาคตจะได้แก่ อุดมคติทางโลก คือประชาธิปไตย การศึกษา การปฏิรูปสังคม และ การแพทย์ ใช่แต่ชาวตะวันตกเท่านั้น แม้ชาวตะวันออกที่ได้ประสบสัมผัสกับอำนาจแห่งความทันสมัย ก็เชื่อ เช่นกัน ข่าน เคอมานี ปัญญาชนอิหร่าน เมื่อศตวรรษก่อนก็เชื่อเช่นกันว่า ศาสนาที่แท้จริงก็คือ ความสว่างเรือง แห่งเหตุผล และสิทธิความเสมอภาค หรือพูดให้ชัดเจนกว่านั้นอีกก็คือ ตึกสูง การค้นพ้นทางอุตสาหกรรม โรงงาน การขยายการสื่อสาร การเผยแพร่ความรู้ สวัสดิการ และกฎหมายที่ยุติธรรม การฟื้นตัวของศาสนา การเติบใหญ่ของศาสนาอาจเห็นได้จากการเพิ่มจำนวนของผู้นับถือศาสนาสำคัญ อาทิ เช่น ในอาฟริกา และเอเชีย ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ในช่วง ๓ ทศวรรษนับแต่ปี ๑๙๗๐ คริสตชน ได้เพิ่ม ขึ้นเป็น ๓ เท่า จนมีจำนวนสูงถึง ๓๐๐ ล้านคนในเอเชียและ ๓๖๐ ล้านคนในอาฟริกา ใช่แต่เท่านั้น ในสหรัฐอเมริกา ศาสนาคริสต์ก็เริ่มกลับมาได้รับความนิยมใหม่ ดังเห็นได้จากการเติบใหญ่ของโบสถ์อย่างใหม่ที่เรียกว่า อภิมหาโบสถ์ หรือ megachurch ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประเทศนั้น โบสถ์ดังกล่าวสามารถดึงคนมาฟังเทศน์แต่ละครั้งนับหมื่น ๆ คน มีกิจกรรมทางศาสนาทั้งวันตลอดสัปดาห์ โดยมีคนมาร่วมไม่ขาด ทางด้านศาสนาอิสลาม ความแพร่หลายและความตื่นตัวของมุสลิมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก เฉียงใต้ และอดีตสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังแพร่ไปถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา ส่วนพุทธศาสนา ก็เป็นอีก ศาสนา หนึ่งซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในตะวันตก ขณะที่ในเอเชีย ผู้คนที่กลับมาศรัทธานับถือ พุทธศาสนาก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแต่การเพิ่มจำนวนผู้นับถือเท่านั้น ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ศาสนาต่าง ๆ ยังมีบทบาททางสังคม และมีอิทธิพลต่อประเด็นสาธารณะมากขึ้น หาได้จำกัดอยู่เฉพาะวิถีชีวิตส่วนตัวอย่างที่คาดการณ์กันไม่ บทบาทสาธารณะที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก เป็นพิเศษก็คือบทบาททางการเมือง ดังกรณีการปฏิวัติ แบบอิสลาม ในอิหร่าน รวมทั้งบทบาท ของอิสลามในการเมืองของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในอียิปต์ อัลจีเรีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ยังไม่ต้องพูดถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ใช้ ศาสนาอิสลามเป็นอุดมการณ์หลัก ในอดีตสหภาพโซเวียต และจีน ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคริสเตียนฝ่ายขวา (Christian Right)ได้กลาย เป็น กลุ่ม การเมืองที่มีอิทธิพลต่อการเมืองระดับชาติ และมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล อาทิ การทำแท้ง รักร่วมเพศ การโคลนนิ่ง ในอินเดีย การชูศาสนาฮินดูได้เป็นปัจจัยสำคัญ ให้ พรรคการเมืองเล็ก ๆ เมื่อสิบกว่าปีที่ แล้วได้เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน ขณะเดียวกันความแตกต่างทางด้าน ศาสนาก็ได้กลายเป็นความขัดแย้ง ภายใน ประเทศ ไม่ว่า อินเดีย ศรีลังกา ไอร์แลนด์เหนือ และที่กำลังวิตกกัน ก็คือ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างสำคัญ ปัจจัยแห่งการกลับมาของศาสนา ก.ความเสื่อมถอยของชุมชนแบบดั้งเดิม ข.แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ
การเมือง และการถูกผลักให้อยู่ชายขอบ สิ่งที่น่าสังเกตคือในประเทศเหล่านี้ องค์กรทางศาสนาซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำนวนไม่น้อย เป็นองค์กรที่เน้นผลตอบแทนคือความสำเร็จทางโลก โดยเฉพาะความมั่งคั่งร่ำรวย และสมาชิกส่วนใหญ่ ขององค์กรเหล่านี้ก็คือคนยากคนจน อาทิ ขบวนการเอลชัดได (El Shaddai) ซึ่งเป็นขบวนการทาง คริสต์ศาสนาที่ใหญ่ที่สุด ในฟิลิปปินส์ มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า ๕ ล้านคนทั่วประเทศ การชุมนุมทุกวันเสาร์ ในกรุงมะนิลา จะมีสมาชิกเข้าร่วม นับแสนคน กิจกรรมสำคัญนอกจากจะได้แก่การฟังเทศน์ ของผู้นำ ซึ่งเป็นฆราวาสแล้ว ผู้คนยังมาเพื่อรับพรและ บริจาคเงิน ด้วยความหวังว่าจะประสบโชคลาภหรือปลอดพ้น จากความยากจน อันเป็นจุดเน้น ในคำสอนขององค์กรนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมาชิกของขบวนการนี้ส่วนใหญ่ก็ คือ คนระดับล่างทั้งในเมือง และชนบท ในไนจีเรีย ซึ่ง ๑ ใน ๓ ของประชากรมีรายได้ไม่ถึง ๑ ดอลล่าร์ต่อวัน องค์กรทางศาสนาคริสต์ที่ เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือวินเนอร์ส เชิช (Winners Church) ทุกอาทิตย์จะมีสมาชิกร่วมชุมนุมถึง ๕๐,๐๐๐ คน คำสอนที่ดึงดูดผู้คนมามากมายก็คือ คำสอนที่เน้นเรื่องความมั่งคั่ง นอกจากองค์กรดังกล่าวแล้ว ในไนจีเรียยังมีองค์กรศาสนาใหม่ๆ ทำนองเดียวกันผุดขึ้นใหม่มากมาย ขบวนการทางศาสนาอย่างเอลชัดได และ วินเนอร์สเชิช ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่คำสอนที่เรียกว่าเทววิทยาเพื่อความมั่งคั่ง (prosperity theology ) ได้เกิดขึ้นมากมายในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาความยากจน และสามารถดึงดูด คนยากจนได้มากมาย แน่นอนว่าองค์กรเหล่า นี้ไม่สามารถหยิบยื่นความมั่งคั่งให้แก่ผู้นับถือได้ถ้วนทั่ว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำสำเร็จก็คือการหยิบยื่นความหวัง และความหวังในท่ามกลางระบบเศรษฐกิจการเมือง ที่ล้มเหลวนี้เองที่สามารถดึงดูดคนยากจนให้เข้าหาองค์กรทางศาสนาเหล่านี้ได้ ความบีบคั้นทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียวที่ผลักดันให้ผู้คนเข้าหาศาสนา ความบีบคั้นและ ความสิ้นหวังทางการเมืองก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน ในตะวันออกกลางซึ่งรัฐบาลเป็นเผด็จการ และปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน สุเหร่ากลายเป็นสถานที่เดียวที่ประชาชน สามารถ ถกเถียงการเมืองรวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ในอิหร่าน ศาสนาอิสลามได้กลายเป็นคำตอบ เดียวที่ เหลืออยู่ในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการของพระเจ้าชาห์ ในปาเลสไตน์ การบีบคั้นของกองกำลังอิสราเอล ผนวกกับความสิ้นหวังในรัฐบาลของตน ทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนไม่น้อย หันมาพึ่งพระเจ้าและเข้าหา ขบวนการศาสนาแบบหัวรุนแรงเป็นคำตอบ กรณีตะวันออกกลางเป็นตัวอย่างชัดเจน ของความล้มเหลว ของสถาบันการเมืองและอุดมการณ์สมัยใหม่ ไม่ว่า ชาตินิยม ทุนนิยม สังคมนิยม ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหา ของประเทศ อีกทั้งยังประสบความล้มเหลว ในการกระจายผลพวงทางเศรษฐกิจ ไปสู่ประชาชน ซึ่งล้วนผลักดัน ให้ผู้คนเข้าหาทางเลือกใหม่คือศาสนาและขบวนการทางศาสนา ค.การรุกรานของความเชื่อแบบโลกิยวิสัยและวัฒนธรรมเสรีนิยม
ที่มีต่อศาสนา ในอียิปต์ นโยบายต่อต้านศาสนาอิสลามของประธานาธิบดีนัสเซอร์ รวมทั้งการปราบปรามกลุ่มมุสลิมบราเธอส์ฮูด (Muslim Brotherhood) ได้ทำให้กลุ่มนี้พัฒนามาเป็นกลุ่มหัวรุนแรงและมีจุดยืนแบบเคร่งจารีต เช่นเดียวกัน นโยบายสร้างประเทศให้ทันสมัยตามแนวทางโลกยานุวัตร ของพระเจ้าชาห์ในอิหร่าน ทำให้แม้แต่การแต่งตัวตาม ประเพณีอิสลาม เช่น ใส่ผ้าคลุมหัว กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน อภิสิทธิ์ของกลุ่มนักบวชก็ถูกลดทอน โรงเรียนสอนศาสนาถูกรัฐบาลควบคุม ยกเลิกปฏิทินอิสลาม เหล่านี้ ล้วนทำให้ผู้เคร่งศาสนา เกิดความกลัว ว่าศาสนาอิสลามจะถูกขจัดไปจากอิหร่าน ผลคือเกิดบุคคลอย่าง โคไมนีขึ้นมา และเมื่อถูกปราบปรามอย่างหนัก กลุ่มมุสลิมที่นำโดยโคไมนีก็มีท่าทีแข็งกร้าวและเข้มแข็งขึ้นจน สามารถก่อการปฏิวัติอิสลามได้ การรุกรานของแนวคิดแบบโลกิยวิสัยและเสรีนิยมจนเบียดขับศาสนาออกไป ยังเห็นได้ในสหรัฐ ขบวนการเคร่งจารีต ในสหรัฐเริ่มต้นขึ้นเมื่อพบว่าแนวคิดเสรีนิยมแพร่เข้าไปในศาสนจักร จนบางคน ประกาศว่าศาสนาอนาคตจะไม่มีโบสถ์ ไม่มีคัมภีร์และการสักการะบูชาพระเจ้า ค่านิยมแบบโลก เช่น ประชาธิปไตยจะมาเป็นศาสนาแทน แต่ขบวนการดังกล่าวขยายตัวอย่างมากเมื่อแนวคิดอย่างใหม่อาทิ สตรีนิยมและเสรีนิยม แพร่หลาย จนกระทั่งพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับศาสนาเช่นการทำแท้ง รักเสรีและรักร่วมเพศ กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันทั่วไป ในขณะที่การสวดมนต์กลับถูกห้ามในโรงเรียนหรือสถานที่ของรัฐ ในสภาพเช่นนี้ ชาวคริสต์ที่เคร่งศาสนาจึงลูกขึ้นสู้เพื่อปกป้องศาสนาของตัว ในทัศนะของคนเหล่านี้ ตะวันตกกำลังเข้าสู่ยุคมืด ทะเลแห่งความสิ้นหวังและปั่นป่วนทอดยาวข้างหน้าไม่จบสิ้น ...เว้นเสียแต่เราจะลุกขึ้นสู้ โลกาภิวัตน์กับขบวนการเคร่งจารีต แต่ก่อนอื่น ควรทำความเข้าใจลักษณะร่วมของขบวนการศาสนาเคร่งจารีต แม้คำว่า fundamentalism มีกำเนิดเป็นครั้งแรกจากกลุ่มศาสนาคริสต์ นิกายเพรสไบทีเรียนในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๑๙๑๐ ซึ่งเรียกจุดยืนทางศาสนาของตนเองว่าเป็นการกลับไปหาความเชื่อพื้นฐาน (fundamental) แต่ในปัจจุบันคำว่า fundamentalism เป็นคำทั่วไปที่ใช้กับกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ไม่เจาะจง ว่าเป็นศาสนาคริสต์เท่านั้น แม้ว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันในด้านความเชื่อ แต่ก็มีลักษณะ ร่วมหลายประการ อาทิ -ความกลัวว่าศาสนาของตนจะถูกทำลาย กระแสโลกาภิวัตน์ได้มีส่วนขยายปฏิกิริยาและเพิ่มความเข้มข้นให้แก่ ขบวนการเหล่านี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้แนวความคิดและค่านิยมแบบโลกิยวิสัยแพร่ขยายและ ทะลุทะลวง ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมเช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต ตลอดจน ผ่านการท่องเที่ยว และค่านิยมแบบโลกิยวิสัยอย่างสำคัญที่มากับสื่อ อิเล็กทรอนิกส์และนักท่องเที่ยวก็คือวัฒนธรรมบริโภคนิยม เสรีภาพในการบริโภคและการแต่งกาย รวมทั้งการใช้ชีวิตและเพศสัมพันธ์ ได้กระตุ้น ปลุกเร้าขบวนการเคร่งจารีตให้มีปฏิกิริยารุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันกระแสโลกาภิวัตน์ยังได้ตอกย้ำความเชื่อของขบวนการเคร่งจารีตในเรื่องการสมคบคิด กันทำลายศาสนาของตน ทฤษฎีสมคบคิดเป็นหนึ่งในความเชื่อที่ฝังลึกในกลุ่มเคร่งจารีตทั่วโลก การแพร่สะพัดของกระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้กลุ่มเหล่านี้เชื่อว่าการสมคบคิดทำลายศาสนาของตนนั้นได้ทำกันอย่างเป็นขบวนการโดยเครือข่ายข้ามชาติ อาทิ เช่น ขบวนการขวาใหม่ในสหรัฐ เชื่อว่าความเสื่อมทางด้านศีลธรรม ของประชาชนอเมริกัน เป็นเพราะการสมคบคิด ของกลุ่มมนุษยนิยมที่มีแนวคิดแบบโลกิยวิสัย (secular humanists) ที่มีหลายฝ่ายหนุนหลัง อาทิ สหภาพโซเวียต นายทุนแถบวอลล์สตรีท กลุ่มยิว ไอเอมเอฟ ธนาคารโลก บ้างก็เชื่อว่าสหรัฐ กำลังจะ ถูกปกครองด้วย รัฐบาลโลก ซึ่งประกอบด้วยสหประชาชาติ ไอเอมเอฟ องค์การการค้าโลก ซึ่งเป็น พวกต่อต้านศาสนาหรือต่อต้านพระเจ้า (anti-christ) ในทำนองเดียวกันกลุ่ม ขบวนการเคร่งจารีตอิสลามนับตั้งแต่โคไมนีไปจนถึง อัลเคดาก็เชื่อว่ามี เครือข่าย ระดับโลกซึ่งนำโดยสหรัฐและยิวที่มุ่งทำลายศาสนาอิสลาม ความเชื่อดังกล่าวทำให้ มุสลิม เป็นอันมากทั้งในตะวันออกกลางและเอเชียเชื่อว่าเหตุการณ์ วันที่ ๑๑ กันยายน มิใช่เป็นฝีมือ ของกลุ่มมุสลิมใด ๆ หากเป็นแผนการณ์ที่สหรัฐและยิวร่วมกัน ทำขึ้นเพื่อหาเหตุทำลาย อิสลาม ทั้งในอัฟกานิสถานและที่อื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามกระแสโลกาภิวัตน์มิได้มีผลในทางคุกคามตามสายตาของกลุ่มเคร่งจารีตเท่านั้น หากยังมีผลในทางบวกต่อกลุ่มดังกล่าวด้วย กล่าวคือกลุ่มเหล่านี้ได้อาศัยกระแสโลกาภิวัตน์ ในการขยายตัว และแพร่อิทธิพลไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน เช่น อาศัยโทรคมนาคมผ่านดาวเทียม และอินเตอร์เน็ต ในการเผยแพร่ ข่าวสารข้อมูลไปยังประเทศต่าง ๆ และสามารถเดินทางข้ามประเทศได้อย่างสะดวก เพื่อสร้างเครือข่าย ทั่วโลก นอกจากนั้นยังใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการเงินนานาชาติเพื่อโอนเงินหรือประกอบธุรกรรมและทำธุรกิจเพื่อเป็นทุนสนับสนุนองค์กรของตน ดังกรณี อัลเคดาซึ่งมีธุรกรรมอยู่ทั่วโลก และยากแก่การสืบหา โลกาภิวัตน์กับการกลับมาของศาสนา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ไม่เพียงแต่จะทำให้ค่านิยมแบบโลกิยวิสัย เสรีนิยม และบริโภคนิยมแพร่ขยายไปทั่วโลกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนบางคนเรียกกระบวนการนี้ว่าการทำให้วัฒนธรรมเป็นหนึ่งเดียวกัน ( homogenization of culture) หรือเรียกอย่างเจาะจงว่า Mcdonaldization หากยังก่อ ให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น รวมทั้งสร้างแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แก่ประชาชน จำนวนมาก ซึ่งได้กล่าวแล้วว่า เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยหันไปพึ่งศาสนา หรือทำให้ศาสนากลับมามีบทบาทต่อผู้คนมากขึ้น ความยากจนและช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ถ่างกว้างขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์สามารถเห็นได้จากตัวเลขต่อไปนี้ -ขณะที่ประชาชน ๒๐๐ ล้านคนมีรายได้ลดลงระหว่างปี
๑๙๖๕-๑๙๘๐ แต่๑๔ ปีให้หลัง คือระหว่างปี ๑๙๘๐-๑๙๙๕ ประชาชนที่มีรายได้ลดลงเพิ่มจำนวนเป็น
๑,๐๐๐ ล้านคนหรือกว่านั้น เห็นได้ว่ายิ่งโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากเท่าไร ผู้คนจำนวนมากขึ้นกลับยากจนลง ขณะเดียวกัน คนที่รวยอยู่แล้วก็ร่ำรวยมากขึ้นเท่านั้น ช่องว่างดังกล่าวมิได้ถ่างกว้างขึ้นระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน เท่านั้น หากรวมถึงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศด้วย ปรากฏการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเฉพาะใน เอเชีย อาฟริกาและลาตินอเมริกาเท่านั้น แม้ในสหรัฐเอง คนจนก็เพิ่มจำนวนขึ้น ดังมีสถิติว่า ผู้ที่มีรายได้ต่ำ กว่าเส้นยากจนได้เพิ่มจาก ๑๑.๑% ในปี ๑๙๗๓ มาเป็น ๑๔.๕ % ในปี ๑๙๙๔ ขณะเดียวกันคนที่ยาก จนข้นแค้น (มีรายได้ต่ำกว่า ๕๐%ของเส้นความยากจน)ก็เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนร้อยละ ๓๐ ของคนยากจน ทั้งหมด ในปี ๑๙๗๕ เพิ่มเป็น ๔๐.๕ ในปี๑๙๙๔ ทางด้านช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนใน สหรัฐก็ถ่างกว้าง ขึ้นเช่นกัน ดังเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ขณะที่คน ๑% ที่อยู่บนสุดมีรายได้เพิ่มขึ้น ๒๘.๓% ระหว่างปี ๑๙๘๓-๑๙๙๒ แต่คน ๔๐%ที่อยู่ล่างสุดมีรายได้ลดลง ๔๙.๗% กระแสโลกาภิวัตน์ทำให้ความยากจนและช่องว่างทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อย่างไร คำตอบก็คือ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาไม่เพียงแต่จะแพร่กระจาย ทุนนิยมแบบตลาดเสรีไปทั่วโลก และทำให้ทั่วโลก เปิดรับการค้าเสรี การลงทุนเสรีและการเคลื่อนย้ายเงินอย่างเสรีเท่านั้น หากยังรวมถึงการลดกำแพงการค้า และข้อจำกัดต่าง ๆ ตลอดจนลดบทบาทของรัฐโดย ทั้งนี้โดยชูหลักการ ๓ ประการ คือ การเปิดเสรีทางการค้า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน และการคลายระเบียบข้อบังคับ (liberalization,privatization, deregulation) โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจในลักษณะดังกล่าวมีผลหลายประการอาทิ มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนโดยเฉพาะระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท ในขณะที่ให้ประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนส่วนน้อยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่สามารถอาศัยประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจได้มากกว่าคนอื่น รวมถึงการผลักภาระให้แก่ประชาชนระดับล่าง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความยากจนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลกในยุคโลกาภิวัตน์ไปแล้ว และในสภาพที่รัฐ นอกจากจะมีบทบาทน้อยลงในการปกป้องประชาชนระดับล่างแล้ว ยังกลับถูกภาคธุรกิจหรือบรรษัท ขนาดใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมผลประโยชน์ของตน จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ยากไร้เป็นอันมาก จะเห็นศาสนาหรือ องค์กรศาสนา เป็นที่พึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ ประการสุดท้ายที่ควรกล่าวถึงก็คือ กระแสโลกาภิวัตน์ได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า ตนไม่สามารถ ควบคุมชีวิต ความเป็นอยู่ของตนได้ดังแต่ก่อน เพราะมีปัจจัยมากมายมหาศาลที่สามารถ เข้ามากระทบและมีอิทธิพลต่อชีวิตของตนได้ แม้แต่เหตุการณ์ในอีกซีกโลกหนึ่งก็สามารถส่งผลถึงอาชีพการงาน ของตน อย่าง นึกไม่ถึงและคาดการณ์ได้ยาก ดังวิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทยที่ส่งผลกระทบกว้างไกลไปทั่วโลก ชีวิตที่ คาดการณ์ ได้ยากทำให้ประชาชนสูญเสียความมั่นใจและเกิดรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นมา ความรู้สึกดังกล่าวได้ทำให้ คนจำนวนไม่น้อยหันไปหาศาสนาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางจิตใจและความมั่นใจ ในการดำเนินชีวิตและอาชีพการงานหรือธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีไม่น้อยที่หันไปหาคำสอน หรือจริยธรรม ทางศาสนา เพื่อจะได้มีคำตอบที่แน่ชัดในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสังคมที่หาความแน่นอนหรือหลักยึดอะไร ไม่ได้ โดยเฉพาะการไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องถูกผิดชั่วดี ตรงนี้เองที่ขบวนการเคร่งจารีตสามารถดึงดูด คนได้มากเพราะมีคำตอบที่แน่ชัดและเข้าใจง่ายในทุกเรื่อง ไม่ว่าการชี้ชัดในเรื่องศีลธรรม ว่าอะไรถูกอะไรผิด หรือการอธิบายความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคม (เช่นอธิบายว่าเป็นการลงโทษของพระเจ้า หรือเกิดจากการ สมคบคิดของยิวหรือ รัฐบาลโลก) กล่าวอีกนัยหนึ่งศาสนาได้เป็นวิธีการของคนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก ในการพยายามดึงชีวิตให้กลับมาอยู่ในการควบคุมของตนเองอีกครั้งหนึ่ง (หรืออย่างน้อยก็ สามารถ เข้าใจมันได้มากขึ้น) และสำหรับขบวนการทางศาสนาที่มีบทบาททางการเมือง ไม่ว่าต่อต้านรัฐ หรือเพื่อมี อำนาจรัฐ การกระทำดังกล่าวก็เพื่อให้สังคมที่วุ่นวายปั่นป่วนกลับมามีความแน่นอน มั่นคง และถูกต้องภายในกรอบของ ศาสนาอีกครั้งหนึ่ง การแพร่กระจายของศาสนาใหม่
หนังสือ World Christian Encyclopedia ซึ่งสำรวจศาสนาต่าง ๆ ทั่วทั้งโลกไม่เฉพาะ ศาสนาคริสต์ ได้คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีศาสนาในโลกถึง ๙,๙๐๐ ศาสนา โดยมีศาสนาใหม่เกิดขึ้น๒ หรือ ๓ ศาสนาทุกวัน ในจำนวนร่วมหมื่นนี้รวมถึงศาสนาดั้งเดิมทั้งที่เป็นศาสนาใหญ่ มีคนนับถือทั่วโลก และศาสนาตามประเพณี ของชนเผ่าเล็ก ๆ ในประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นศาสนาใหม่ การศึกษาบางแห่งคาดการณ์ว่าศาสนาใหม่ อาจ มีจำนวนมากกว่านั้น คืออาจจะมีมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ศาสนา จำเพาะญี่ปุ่นประเทศเดียว มีจำนวนตั้งแต่ ๘๐๐ ถึง ๒หรือ ๓ พันศาสนา (กล่าวกันว่ามีศาสนาเกิดใหม่ในญี่ปุ่นทุกอาทิตย์) ส่วนในยุโรป ก็มีกลุ่มศาสนาใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑,๓๐๐ กลุ่ม (ที่จริงหากนับรวมเอานิกายใหม่ ๆ ที่แยกออกจากนิกาย ดั้งเดิมหรือนิกาย หลัก ๆ ในศาสนาต่าง ๆแล้ว ตัวเลขจะเพิ่มเป็นหลายหมื่น จำเพาะนิกายใหม่ ๆ ในศาสนาคริสต์ก็มีมากกว่า ๓๓,๐๐๐ นิกาย) ที่ควรย้ำก็คือศาสนาใหม่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น หากในบางแห่งยังกลายเป็นกลุ่มศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศนั้น ๆ เช่น โสกะกักไก และริชโช โกเซไก ในญี่ปุ่น ทั้ง ๒ องค์กรแม้จะถือว่าเป็นส่วน หนึ่งของพุทธศาสนา แต่ก็แยกตัวเป็นอิสระจากนิกายเดิม ๆ หรือสถาบันดั้งเดิมของพุทธศาสนาในญี่ปุ่น เมื่อหลายสิบปีก่อน ความเสื่อมของศาสนาดั้งเดิมทั่วโลกท่ามกลางยุคพัฒนา ทำให้คนเป็นอันมาก ปักใจเชื่อว่าโลกนับวันจะโน้มสู่โลกิยวิสัยมากขึ้นเรื่อย ๆ จนศาสนาเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่การณ์กลับ เป็นว่า ศรัทธาที่เสื่อมถอยไปจากศาสนาดั้งเดิม ที่จริงแล้วไม่ได้หายไปเลย หากแต่ไปแสดงออกที่ศาสนา ใหม่แทน โดยเฉพาะในที่ ๆไม่มีกฎหมายจำกัดการนับถือศาสนา ในญี่ปุ่นหลังจากที่เปิดให้มีเสรีภาพทาง ศาสนา หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ศาสนาใหม่ ก็เกิดขึ้นชนิดพุ่งพรวดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เป็นปฏิกิริยา ต่อศาสนาเก่าที่ไม่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คน แม้ปัจจุบันอัตราการเกิดศาสนาใหม่ใน ญี่ปุ่นจะลดลงกว่าเมื่อ ๕๐ ปีก่อน แต่ก็ยังมีศาสนาใหม่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ การเกิดขึ้นของศาสนาใหม่ เป็นเครื่องสะท้อนถึงความล้มเหลวของศาสนาเดิม ในการตอบสนอง ความต้องการของผู้คน ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ซึ่งถูกเร่งด้วยกระแส โลกาภิวัตน์ทำให้ศาสนาและสถาบันดั้งเดิมไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยยังติดอยู่กับ ธรรมเนียมประเพณีค่านิยมและโลกทัศน์แบบเดิม ๆ โดยที่จำนวนไม่น้อยก็เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว และการ คอรัปชั่นในสถาบันดั้งเดิม สภาพเช่นนี้เปิดพื้นที่อันอุดมให้แก่ศาสนาใหม่ ทั้งที่แยกตัวจากสถาบันดั้งเดิม หรือที่ตั้งตัวเป็นศาสนาใหม่เอี่ยมเลยมีความพร้อมมากกว่าในการตอบสนองความต้องการของผู้คนเป็นกุญแจสำคัญ ของความแพร่หลายของศาสนาใหม่ ไม่เฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวย หากรวมถึงประเทศ ที่ยากจน เช่น อาฟริกา ดังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าศาสนาใหม่ในอาฟริกาประสบความสำเร็จก็เพราะ ช่วยผู้คนให้อยู่รอดได้ในทุกด้านเท่าที่จำเป็นต่อความอยู่รอดของประชาชน ไม่ว่า สังคม จิตวิญญาณ เศรษฐกิจ แม้กระทั่งการหาคู่ การแพร่ขยายของศาสนาใหม่ในด้านหนึ่งเป็นปฏิกิริยาต่อสังคมสมัยใหม่ที่โน้มสู่โลกิยวิสัยและยึดติดกับความคิดแบบเหตุผลนิยมอย่างมาก จนไม่สนใจที่จะตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ ของผู้คน ความรู้สึกว่างเปล่าหรือแห้งแล้งทางจิตวิญญาณ เมื่อมาถึงจุดหนึ่งได้ ทำให้ศาสนากลายมาเป็น ที่ต้องการ ของผู้คน และเมื่อศาสนาดั้งเดิมทำหน้าที่นี้ไม่ได้ ศาสนาใหม่จึงเข้ามาทำหน้าที่เติมช่องว่างทางจิตวิญญาณให้แทน อย่างไรก็ตามความสำเร็จของศาสนาใหม่และนิกายใหม่ ๆ ส่วนมากก็ว่าได้ ไม่ได้อยู่ที่การช่วยเหลือ ทางจิตวิญญาณเท่านั้น หากยังเพราะให้ความสำคัญกับการสงเคราะห์ทางด้านวัตถุและสังคมด้วย อย่างน้อย ก็ทำให้เกิดความหวังว่าปัญหาด้านวัตถุและสังคมเหล่านี้จะได้รับการแก้ไข ที่จริงนี้เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของกลุ่มเคร่งจารีตและกลุ่มเคร่งจารีตในศาสนาดั้งเดิมด้วยเช่นกัน ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มศาสนา หรือนิกาย ที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วสวนทางกับโบสถ์เล็ก ๆ ในอเมริกาที่ปิดตัวไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง ต่อสัปดาห์ ได้แก่โบสถ์ที่เรียกว่า อภิมหาโบสถ์ ( megachurch) สาเหตุที่โบสถ์ใหม่ ๆเหล่านี้ได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งก็เพราะนอกจากจะ จัดสถานที่ให้ผู้คนพาครอบครัวไปพักผ่อนหย่อนใจ เช่นมีสนามกีฬาแล้ว ยังจัดศูนย์ประชุมเพื่อ ให้ผู้คนได้มา พบปะกัน รวมทั้งสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือกัน เช่น ซ่อมรถ หรือปรึกษาหารือ เกี่ยวกับ ชีวิตและการทำงาน โบสถ์ของเจอรี่ ฟอลเวลล์ ซึ่งมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้จะประสบความสำเร็จ จากการเทศน์ผ่านสถานีเกือบ ๔๐๐ แห่งและสถานีวิทยุ ๖๐๐ สถานีทั่วประเทศ แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับ กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ เช่น สถานบำบัดผู้ติดเหล้า บ้านพักคนชรา เป็นต้น ในประเทศที่มีปัญหาความยากจน การสงเคราะห์ทางด้านวัตถุเป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งของกลุ่มศาสนาใหม่ ด้วยเช่นกลุ่มมุสลิมบราเธอส์ฮูดในอียิปต์ จัดตั้งคลีนิคและโรงพยาบาลในชนบท เปิดโรงงาน โรงพิมพ์ เพื่อช่วยคนยากจนให้มีงานทำ รวมทั้งจัดตั้งโรงเรียนภาคค่ำให้แก่คนงานด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ ช่วยให้ผู้คนได้มีชุมชนกลุ่มก้อนที่จะได้พบปะหรือทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการมากในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนอยู่แบบตัวใครตัวมันและรู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยก แม้กระทั่งกลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะกลุ่มติดอาวุธในปาเลสไตน์ ที่ก่อเหตุระเบิดพลีชีพเป็นประจำ แต่สำหรับชาวปาเลสไตน์ กลุ่มนี้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางก็เพราะการสงเคราะห์ชาวบ้านทั้งในด้านอาชีพ การรักษาพยาบาล รวมทั้งการให้เงินทุนช่วยเหลือคนที่อัตคัดขัดสน การมีฐานสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชานนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อิสราเอลไม่สามารถขุดรากถอนโคนกลุ่มฮามาสให้หมดไปจากปาเลสไตน์หรือเขตยึดครองของอิสราเอลได้ ขณะเดียวกันหากเรามองไปที่องค์กรศาสนา แบบประเพณีที่ยังได้รับความนิยมแพร่หลายอยู่จะพบว่า กิจกรรมด้านสังคมสงเคราะห์ เป็นกุญแจแห่ง ความสำเร็จ ส่วนหนึ่ง เห็นได้จากกรณีองค์กรนาทลาตุลอูลามา (Nahdlatul Ulama) และมูฮัมมาดิยา (Muhammadiyah) ซึ่งเป็นองค์กรอิสลามที่ใหญ่ทีสุดในอินโดนีเซีย มีสมาชิกนับสิบล้านคน ทั้งสององค์กรนอกจากจะจัดตั้งโรงเรียนและสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ ไปทั่วประเทศแล้ว ยังมีโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า สถานฝึกอาชีพ และธนาคารหรือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสงเคราะห์สมาชิก ความหลากหลายทางด้านศาสนา ไม่ต้องสงสัยเลยว่านับวันศาสนาในโลกจะมีความหลากหลายมากขึ้น ความหลากหลาย ดังกล่าว เกิดขึ้นด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า มีศาสนาใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งมีศาสนามากเท่าไหร่ ความหลากหลาย ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ความหลากหลายของศาสนานั้นไม่ได้ถูกกำหนดด้วยปริมาณที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนาต่าง ๆ อันได้แก่การรับรู้และติดต่อสัมผัสกับศาสนาต่าง ๆ ทั้งโดยผ่านสื่อมวลชนการเดินทาง การประชุมสัมมนา ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ ได้ทำให้เกิด การหยิบยืมและถ่ายทอดลักษณะต่าง ๆ ต่าง ๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะพบว่ามีศาสนา เป็นอันมากที่ เป็นการผสมผสานระหว่างศาสนาต่าง ๆ เช่นเรลีอังส์ ( Raelians) ในคานาดา ซึ่งผนวกเอาคำสอนของ พระพุทธเจ้า พระเยซู พระมะหะหมัด และโมเสสเข้าด้วยกัน . การผสมผสานนี้ยังเกิดขึ้นระหว่างนิกายต่าง ๆ ในศาสนาเดียวกัน เช่น มหายาน เถรวาท ธิเบต ทำให้มีคำสอนและการปฏิบัติที่หลากหลายในพุทธศาสนา และบางครั้งก็พัฒนาจนกลายเป็นนิกายหรือลัทธิพิธีใหม่ ๆ ขึ้นมา แม้กระทั่งในเมืองไทย ซึ่งดูเหมือน ว่าจะมีเอกภาพในพุทธศาสนา แต่ก็มีลัทธิพิธีใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย แม้ยังสังกัดอยู่ในพุทธศาสนา แต่ก็มีวัตร ปฏิบัติที่ แปลกออกไป เช่น บางวัดบางสำนักมีรูปเคารพเจ้าแม่กวนอิม รูปเคารพเซียนในเต๋าหรือเทพในลัทธิ ขงจื๊อ รวมทั้งอาจมีเทวรูปของฮินดูด้วยใช่แต่เท่านั้น ความหลากหลายทางด้านศาสนายังเกิดขึ้นจากการแลก เปลี่ยนหยิบยืมคุณค่าและความเชื่อตลอดจนสัญลักษณ์และการปฏิบัติในวงการอื่น ๆ นอกจากศาสนาเช่น วิทยาศาสตร์ จิตวิทยาสมัยใหม่ ดนตรี อุดมการณ์การเมือง รวมทั้งการหยิบยืมข้ามวัฒนธรรม ทำให้เกิด ความคิดความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย โลกาภิวัตน์ซึ่งก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านข้อมูลข่าวสารและผู้คนอย่างเสรีและ รวดเร็ว ได้ช่วยให้ การแลกเปลี่ยนและการหยิบยืม(หรือผสมข้ามพันธุ์) ระหว่างศาสนาและกับวงการอื่นเพิ่มพูน ขึ้นมาก ทำให้เกิดพัฒนาการหรือความเป็นไปได้ต่าง ๆ มากมาย ไม่ต่างจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมทั้งธรรมชาติแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์ในธรรมชาติก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ในทางชีววิทยาฉันใด ปฏิสัมพันธ์ในสังคมอันซับซ้อนหลากหลายก็เร่งการกลายพันธุ์ในทางศาสนาฉันนั้น ประการสุดท้ายที่ควรกล่าวถึงก็คือความหลากหลายทางสังคม (social stratification) ไม่ว่าความหลากหลายทางอาชีพ ค่านิยม ความเชื่อ และรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ก็มีส่วนอย่างมากในการก่อให้เกิด ความหลากหลาย ทางศาสนาเพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของบุคคลในสังคม มีศาสนาใหม่บางศาสนา ที่ดึงดูดนักธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บางศาสนาตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการรายย่อยได้ดีกว่า ศาสนาเพื่อบริโภคนิยม บริโภคนิยมซึ่งมีเงินเป็นอุปกรณ์สำคัญนั้นนับวันจะกลายเป็นวัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพล และมีผล กำหนดวิถีชีวิตและทัศนคติ ของผู้คนอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งว่ากลายมาเป็นกำหนดความสัมพันธ์ในสังคม พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกมิใช่ ด้วยการมีเวลาอยู่กับลูก แต่ด้วยการซื้อของราคาแพงให้ลูก นักศึกษาสัมพันธ์ กับอาจารย์ในฐานะผู้ซื้อบริการ เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับหมอ ผู้คนพากันใช้ท่าทีแบบ บริโภคนิยมกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่าต่อชีวิต ไม่ว่าสุขภาพ ความรู้ ความสุข มิตรภาพ ล้วนถูกมองว่าเป็น สินค้าที่สามารถ ใช้เงินซื้อไดโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรง อาทิเช่น เวลาคิดถึงสุขภาพของตน ก็คิดแต่จะใช้เงินซื้อยา หรือ บริการการแพทย์ ยิ่งกว่าจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือหมั่นออกกำลังกาย และเชื่อว่าความรู้จะได้มาก็ด้วย การซื้อข้อมูลข่าวสารหรือจ้างคนมาสอน โดยไม่จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติหรือมีประสบการณ์ตรง ความบันเทิงกลายเป็นเรื่องที่ต้องซื้อหา(เช่น ซื้อเทป ซื้อตั๋วคอนเสิร์ต) แทนที่จะแลกเปลี่ยนกันระหว่างเพื่อนฝูง ที่สำคัญบริโภคนิยมทำให้ผู้คนพากันเชื่อว่าวัตถุจะเป็นที่มาแห่งความสุข ยิ่งได้ครอบครอง ได้บริโภคมากเท่าไร ก็มีความสุขมากเท่านั้น ท่าทีดังกล่าวมิได้ถูกนำมาใช้กับการศึกษา การแพทย์ ประเพณี วัฒนธรรมเท่านั้น หากยังถูกใช้กับ ศาสนา คือเข้าหาศาสนาเพื่อหวังความมั่งคั่งทางวัตถุยิ่งกว่าความสงบเย็นในจิตใจ หรือแม้ว่าต้องการ ความ สงบในจิตใจหรือเข้าถึงสภาวะเหนือโลกเหนือสามัญ (เช่น เข้าถึงสมาธิขั้นสูงหรือพบเห็นนิมิตศักดิ์สิทธิ์) ก็คิดว่าเพียงแต่ใช้เงินก็สามารถบรรลุความต้องการได้ ไม่คิดที่จะลงมือปฏิบัติให้เหนื่อยยากหรือเสียเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่งท่าทีบริโภคนิยมได้เข้ามากำหนดจุดมุ่งหมายและวิธีการในการเข้าหาศาสนา เมื่อผู้คนมีท่าที ดังกล่าว จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ศาสนาเป็นอันมากจะปรับตัวให้สอดคล้องกับท่าทีดังกล่าว การปรับตัวของศาสนาให้เข้ากับบริโภคนิยมจะมีลักษณะสำคัญดังนี้ กล่าวโดยสรุปศาสนาแบบบริโภคนิยมนี้ให้สัญญาว่าความต้องการสามารถบรรลุได้โดยไม่ต้องเพียรพยายาม ปัญหาชีวิตแก้ได้โดยไม่ต้องมีการทุนลงแรงสวรรค์สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องสละความเห็นแก่ตัว ศาสนาแบบบริโภคนิยมนี้จะเห็นได้ทั่วไปทั้งในศาสนาหลัก ๆ เช่น คริสต์ พุทธ รวมทั้งศาสนาใหม่ ดังตัวอย่างขบวนการเอลชัดได(ฟิลิปปินส์) วินเนอร์สเชิช(ไนจีเรีย) และธรรมกาย ศาสนาแบบนี้สามารถ ดึงดูดทั้งคนจนและคนรวย แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนที่ต่างฐานะทางเศรษฐกิจสังคมจะแยกกัน เข้าหา ศาสนาที่คิดว่าเหมาะกับตนมากที่สุด ขณะเดียวกันศาสนาเป็นอันมากก็จะ พยายามพัฒนาจุดขาย เพื่อดึงผู้ศรัทธามาให้ได้มากที่สุด เนื่องจากมีกลุ่มศาสนาที่เป็นคู่แข่งจำนวนมากที่ต้องการแย่งชิงลูกค้า กลุ่มเดียวกัน ท่าทีแบบบริโภคของผู้ที่เข้าหาศาสนา ผนวกกับการแข่งขันกันในหมู่ศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งการแข่งกันผลิตสินค้าทางศาสนาเพื่อดึงเงินจากผู้ศรัทธาทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ตลาดศาสนา หรือ ซูเปอร์มาร์เก็ตทางจิตวิญญาณ ซึ่งหยิบยืมเอาเทคนิคการตลาดและวิธีการอื่น ๆ ของวงการธุรกิจมาใช้ไม่น้อยเลย พลวัตของศาสนา
พลวัตของศาสนายังเห็นได้จากความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์แวดล้อม แม้ว่าศาสนาหรือสถาบันเก่าจำนวนมากในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนตนเองได้ช้ามาก จนเสื่อมอิทธิพลลงไปทุกที แต่ก็มีศาสนาจำนวนมากมายที่ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อม สามารถคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ ในการตอบ สนองความต้องการของสังคม ยุคโลกาภิวัตน์นั้นนำความเปลี่ยนแปลง มามากมายทั้ง ทางสังคมเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี แต่เราก็จะพบได้เช่นกันว่าศาสนาเป็นอันมากไม่เพียงปรับตัวเพื่อให้ได้รับผลกระทบ น้อยที่สุดจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเท่านั้น หากยังสามารถนำเอาความเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัตน์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศ และการเคลื่อนย้ายเสรีของเงิน พลังงานและข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงคุณค่าสมัยใหม่ ซึ่งมิใช่แต่ลัทธิบริโภคนิยมเท่านั้นที่แพร่ไปทั่วโลก แม้คุณค่าแบบมนุษยนิยม เช่น สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค การเคารพสิทธิสตรี ก็ถูกหยิบยืมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง ของศาสนา จำนวนไม่น้อยเช่นกัน ดังปัจจุบันมีหลายนิกายที่ยอมให้ผู้หญิงได้เป็นนักบวช พลวัตดังกล่าวทำให้ศาสนาไม่มีวันหมดไปจากโลกได้ง่าย
ๆ พลวัตทางศาสนานั้นถูกประเมินต่ำมานานโดยเฉพาะจากแนวคิดแบบเหตุผลนิยม และวิทยาศาสตร์
และดังนั้นจึงถูกมองข้ามและถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบของคมมาช้านาน แต่แล้วกระแสโลกาภิวัตน์ก็ทำให้ความสำคัญของศาสนาปรากฏโดดเด่นอีก
สาเหตุประการหนึ่งก็เพราะกระบวนการดังกล่าวได้ทำให้ผู้คนถูกผลักไปอยู่ชายขอบมากขึ้น
คนที่ถูก กระทำดังกล่าวหาได้อยู่เฉย ไม่ แต่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอด
หลายปีที่ผ่านมาเราได้พบว่า ทางออกหนึ่งของผู้ที่ถูก ผลักไปอยู่ชายขอบก็คือศาสนา
ศาสนาทั้งเก่าและใหม่ได้กลายเป็นทางออกหรือที่พึ่งของคนจน ของคนที่ ถูก กดขี่เอารัดเอาเปรียบ
ของคนที่ถูกปราบปรามจากรัฐบาลของตนหรือรัฐบาลภายนอก คนเหล่านี้จำนวนไม่น้อย
ได้กลายเป็นกำลังให้แก่ขบวนการเคร่งจารีตซึ่งก็มีที่มาจากเหล่าศาสนิกที่ไม่พอใจ
กับการที่ศาสนาของตน (และตนเอง)ถูกผลักไปอยู่ชายขอบมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะถูกผลักไปอยู่ชายขอบทางเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง และศาสนา คนเหล่านี้พร้อมจะหันเข้าหาศาสนา โดยไม่เลือกว่าจะเป็นศาสนาแบบไหน
ตราบใดที่ให้ความหวัง ให้ที่ยืน ให้อัตลักษณ์แก่เขา ตลอดจนให้เขารู้สึกมีอำนาจในการควบคุมชีวิตของตน ความทุกข์พื้นฐานของมนุษย์คือความวิตกกังวล หวาดกลัว ไร้ความมั่นคง ตั้งแต่เรื่องการงาน อาชีพ ครอบครัว สุขภาพไปจนถึงจุดจบของชีวิตคือความตายที่ไม่มีใครหนีพ้น ความรู้สึกรบกวนจิตใจ ดังกล่าว เรียกร้องให้ผู้คนแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยว เพื่อให้เกิดความมั่นคงในจิตใจ โดยเฉพาะเมื่อ โลกรอบตัวนั้นมีปัจจัย ซับซ้อน และทรงพลังเกินกว่าที่ที่ตนจะเข้าใจหรือควบคุมได้ ด้วยเหตุนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหนือโลก ที่มีอำนาจ เหนือตนแต่สามารถพึ่งพาได้ รวมทั้งความแน่นอนที่ไม่ผันแปร อาทิ ความจริงอันเป็นอมตะ จึงเป็นสิ่งที่ผู้คน ปรารถนาเข้าถึง และนั่นคือสิ่งที่ผู้ผลักดันให้ผู้คนเข้าหาศาสนา มนุษย์เรายังต้องการความสงบสุขในจิตใจ สภาวะดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อเรารู้สึกถึง คุณค่าและความหมายของชีวิต ไม่รู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่า ปัจจัยที่ลึกลงไปกว่านั้นคือความรู้สึกถึง ความมั่นคงของตัวตน มิใช่สิ้นสุดที่ความตาย ศาสนาสามารถช่วยทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย รู้จุดมุ่งหมายของชีวิตและตำแหน่งแห่งหนของตนในจักรวาล ขณะเดียวกันก็ทำให้เชื่อว่าปัญหาตัวตน ของเราจะได้รับการแก้ไข ชีวิตหน้าหรือคำมั่นสัญญาว่าจะมีชีวิตสืบต่อหลังตายเป็นวิธีหนึ่งของศาสนา ที่ช่วยให้ผู้คนเผชิญกับความตายได้อย่างสงบ ด้วยเหตุนี้ศาสนาจึงยังเป็นที่ต้องการของผู้คนอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกศาสนาที่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คนได้ นี้เป็นปัญหาร่วมกันของสถาบันศาสนาหลัก ๆ ทั่วโลกที่ไม่สามารถหยิบยื่นศาสนาที่เหมาะสม กับจิตวิสัยของผู้คนในยุคที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ผลก็คือผู้คนพากันละทิ้งศาสนาหลัก ๆ ไปเป็นอันมาก แม้กระนั้นนั่นไม่ได้หมายความว่าความต้องการทางจิตวิญญาณได้หมดไปด้วย ในเมื่อความต้องการทางจิต วิญญาณ ยังคงอยู่ แต่หากว่าศาสนาเดิมไม่สามารถทำหน้าที่ทางจิตวิญญาณได้ ขณะเดียวกันศาสนาใหม่ ก็ยังจำกัดหรือเข้าถึงเฉพาะคนบางกลุ่ม ผู้คนจะไปแสวงหาการตอบสนองทางจิตวิญญาณได้จากอะไร หนึ่งในคำตอบคือบริโภคนิยม บริโภคนิยมในฐานะศาสนายุคโลกาภิวัตน์ ลักษณะอีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากอิทธิพลของบริโภคนิยมก็คือ การที่ผู้คนพยายาม แสวงหาคุณค่า และความหมายของชีวิตจากวัตถุ สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากท่าทีของผู้คนที่มีต่อสินค้าแบรนด์เนมชื่อดัง ผู้คนพากันไขว่คว้าหาสินค้าแบรนด์เนมมาบริโภคเพราะคิดว่านั่นจะช่วยทำให้ตัวตนของตนมีคุณค่า หรือได้เป็น บุคลในภาพฝัน นักธุรกิจอยากหารถเบนซ์มาขับเพราะนั่นจะช่วยให้ตนเองดูภูมิฐาน ไม่ใช่แค่คนธรรมดา วัยรุ่นไขว่คว้าหาไนกี้มาสวมใส่เพราะอยากเป็นคนเก่งอย่างไมเคิลจอร์แดน เช่นเดียวกับหนุ่มสาว ที่ดื่มเป๊ปซี่หรือ กินแมคโดนัลด์จะรู้สึกมั่นใจในตนเองที่ได้เป็นคนรุ่นใหม่ สำหรับคนวัยทำงาน การเข้าไปซื้อของยี่ห้อบอดี้ช็อป หรือนั่งดื่มกาแฟในร้านสตาร์บั๊ค ย่อมหมายถึงการเป็นคนที่สำนึกในเรื่องธรรมชาติและมิตรภาพ ในวัฒนธรรมบริโภคนิยม ผู้คนบริโภคสิ่งของไม่ใช่เพราะคุณค่าทางวัตถุ แต่เพราะคุณค่าเชิงสัญลักษณ์ ต่างหาก กล่าวอีกนัยหนึ่งสิ่งที่เราติดยึดใฝ่หา หาใช่วัตถุไม่ หากได้แก่คุณค่าความหมายของวัตถุเหล่านั้น ต่างหาก เราบริโภคเพราะต้องการดูดซับคุณค่าและความหมายจากวัตถุเหล่านั้นมาให้เป็นส่วนหนึ่งชีวิตเราคุณค่าและความหมายดังกล่าวเกิดขึ้นกับวัตถุได้ก็เพราะอำนาจของการโฆษณา ทั้งนี้ด้วยการสร้างยี่ห้อ หรือแบรนด์เนมให้กับมัน ไนกี้จึงไม่ใช่แค่รองเท้า แต่หมายถึงความเป็นผู้ชนะ แมคโดนัลด์ไม่ใช่แค่แฮมเบอร์เกอร์ แต่คือความทันสมัย การที่ผู้คนในวัฒนธรรมบริโภคนิยมมุ่งเสพคุณค่าและความหมาย ยิ่งกว่าประโยชน์ ใช้สอยของวัตถุทำให้ บริษัทชั้นนำมากมายหันมาให้ความสำคัญกับการเป็น ผู้ผลิตคุณค่า มากกว่าที่จะ เป็นผู้ผลิตวัตถุ ด้วยการสร้างยี่ห้อให้เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของคุณค่า ค่านิยม ความคิด ตลอดจน วิถีชีวิตที่พึงปรารถนา วัตถุหรือผลิตภัณฑ์มิใช่ส่วนสำคัญอีกต่อไป สิ่งที่เอามาขาย ซื้อ แสวงหา และเสพจริง ๆ ก็คือยี่ห้อหรือคุณค่าที่ติดมากับยี่ห้อนั่นเอง ความที่การเสพในวัฒนธรรมบริโภคนิยมนั้นมี จุดมุ่งหมายเพื่อ คุณค่าและความหมายให้แก่ชีวิต ทำให้บริโภคนิยมถูกนิยามว่าหมายถึงความเชื่อว่าการบริโภคเป็นหนทางสู่การพัฒนาตน การประจักษ์แจ้งแห่งตน และการยังตนให้ไพบูลย์ ดูจากคำนิยามนี้ บริโภคนิยมแทบไม่ต่างจากศาสนาเลย การโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์ที่มียี่ห้อดัง ในปัจจุบันกลาย เป็นเรื่องที่อาศัยและเกี่ยวข้อง กับมิติด้านจิตวิญญาณไปแล้ว บริษัทโฆษณาและผู้ผลิตสินค้ายี่ห้อดัง เวลานี้ทำหน้าที่ไม่ต่างจากศาสนา นั่นคือการให้ความหวังว่าชีวิตจะหลุดรอด ประสบชีวิตอันไพบูลย์ หรืออุดมสภาวะได้ (น่าสนใจก็ คือผู้บุกเบิก การโฆษณาในอเมริกา จำนวนไม่น้อยที่เป็นนักสอนศาสนาหรือมีประสบการณ์ลึกซึ้งในแวดวงนี้ ) โดยที่ การทำให้วัตถุมีคุณค่าความหมายและมีแรงดึงดูดจิตใจเรา ของบริษัทโฆษณาและผู้ผลิต ก็ไม่ต่างจาก ศาสนาในการเสกเป่าพระเครื่อง ยันตร์ รูปภาพ ให้มีพลังอำนาจและความหมายต่อจิตใจของเรา มิติด้านศาสนาหรือจิตวิญญาณในวัฒนธรรมบริโภคนิยมมิได้มีเพียงเท่านี้ หากพิจารณา จะพบ ว่าท่าทีในการเสพของผู้คนในวัฒนธรรมบริโภคนิยมมีหลายด้านที่ไม่ต่างจากท่าทีต่อศาสนาหรือพฤติกรรมทางศาสนา อาทิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งของเครื่องใช้ของดารานักร้องยอดนิยมหรือลายเซ็นของนักกีฬาชื่อดัง ถูกแย่งชิงซื้อหาหรือประมูลเก็บไว้ไม่ต่างจากการสะสมพระเครื่องหรือรูปเคารพ สถานบันเทิง เช่น ดิสนีย์แลนด์หรือ บ้านเก่า ของเอลวิส เพรสลีย์ กลายเป็นที่ ๆ ผู้คนไปจาริกไม่ต่างจาก การเยือนสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของคนสมัยก่อน พิธีกรรม การช็อปปิ้งในวันหยุดกลายเป็นพิธีกรรมของคนยุคนี้ ขณะเดียวกันการเที่ยว คอนเสิร์ตเป็น พิธีกรรมที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อวัยรุ่น เทศกาลลดราคา ขายของถูกก็กลายเป็นวันสำคัญที่จะละเว้นไม่ได้ แต่ไม่มีพิธีกรรมแห่งบริโภคนิยมใดจะแพร่หลายและชัดเจนเท่ากับในวันวาเลนไทน์ คริสต์มาส และวันปีใหม่ ซึ่งกลายเป็นวันแห่งการช็อปปิ้งไปแล้ว วันเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเคยเป็นวันสำคัญทางศาสนา แต่ถูกยึดให้เป็น วันสำคัญของศาสนาบริโภคนิยมไป โดยที่ความหมายก็เปลี่ยนไป อาทิ วันคริสต์มาสซึ่งเคยเป็นวันสำหรับ การให้ทานช่วยคนจน ก็กลายมาเป็นวันช็อปปิ้งและแลกเปลี่ยนของขวัญกัน ทั้งนี้โดยเสริมด้วยตำนาน ซานตาคลอส ซึ่งที่จริงเป็นของใหม่ซึ่งโค้กนำมาปรุงแต่งใหม่ ่ในโฆษณาของตนจนติดตาผู้คนกระทั่งทุกวันนี้ การรวมกลุ่มคล้ายกลุ่มศาสนา ในสมัยก่อนผู้คนเป็นอันมากรวมกลุ่มกันโดยมีสัญลักษณ์ทางศาสนาเป็นศูนย์กลาง ในวัฒนธรรมบริโภคนิยม สินค้ายี่ห้อดังนานานาชนิดได้กลายเป็นศูนย์กลาง ที่ผู้คนมาเกาะกล่มกัน คนเหล่านี้มารวมกลุ่มกันได้เนื่องจากใช้สินค้าแบรนด์เนมอย่างเดียวกัน ผู้คนแต่ละกลุ่มจะมีวิถีชีวิต ค่านิยมและพิธีกรรมคล้ายกันจนเรียกได้ว่าเป็นลัทธิพิธีอย่างหนึ่ง อาทิ กลุ่มที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ดาวิดสันจะนิยมขับรถกันเป็นกลุ่มตามท้อง ถนน ในเมืองใหญ่ ๆ โดยแต่งกายผิดจากคนอื่น ลัทธิพิธีที่มียี่ห้อเป็นศูนย์กลาง (cult brands)นั้นมีแพร่หลาย โดยเฉพาะ ตามเมืองใหญ่ ๆ และมักเกิดกับยี่ห้อที่นิยมเฉพาะคนบางกลุ่ม (แต่ยี่ห้อที่มีคนรู้จักทั่วโลกก็อาจมีสถานะ ดังกล่าวได้ เช่น โค้ก ดังเจ้าหน้าที่โค้กผู้หนึ่งกล่าวว่า ไม่ว่าผมจะไปที่ไหน ถ้าคนรู้ว่าผมทำงานให้โค้ก เขาจะปฏิบัติราวกับว่าผมเป็นตัวแทนของวาติกัน เหมือนกับว่าคุณได้สัมผัสกับพระเจ้า ผมประหลาดใจมากที่ ผู้คนมีความรู้สึกเชิดชูนับถืออย่างนี้กับสินค้าตัวหนึ่ง) คนเรานั้นต้องการมีชุมชนสังกัด สมัยก่อนศาสนามีหน้าที่ ตอบสนองความต้องการดังกล่าว แต่ปัจจุบันยี่ห้อได้มาทำหน้าที่นี้แทน ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้คนไม่โดดเดี่ยวแล้ว ยังทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความต่อเนื่องของสิ่งซึ่งคุณเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งตอบสนองความต้องการเป็นอมตะ ดังโรเบิร์ต เจย์ ลิฟตันกล่าว่า ถ้าคุณเป็นส่วนหนึ่งของยี่ห้อเช่นฮาร์เลย์ ดาวิดสัน คุณจะรู้สึกได้ว่า ขบวนการนี้เกิดขึ้น มาก่อนคุณเกิดและจะคงอยู่ต่อไปอีกหลังจากสิ้นอายุขัยของคุณด้วย แม้ผู้ติดยึดกับบริโภคนิยมอย่างเข้มข้นส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ และใน ประเทศ สัมผัสกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมอย่างเข้มข้น (ซึ่งก็คือประเทศที่ เชื่อมต่อกับกระแส โลกาภิวัตน์ มาก ที่สุด) แต่ก็เช่นเดียวกับศาสนาทั้งหลายที่สมาชิกซึ่งเคร่งครัดจะเป็น คนส่วนน้อยท่ามกลาง สมาชิกส่วนใหญ่ที่ ไม่ได้นับถือจริงจังเต็มที่ แต่หากรวมผู้นับถือบริโภคนิยมทั้งแบบเข้มข้นและเจือจางแล้ว ย่อมพูดได้ว่า ศาสนา บริโภคนิยมได้เป็นศาสนาใหม่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบัน เพราะมีคนนับถือมากกว่า ศาสนาใด ๆ ในโลก และยังแพร่ขยายไปยังทุกมุมโลก แม้ในที่ห่างไกลเร้นลับ ที่แม้แต่ศาสนาคริสต์ก็ยังไปไม่ถึง ทั้งนี้โดยอาศัย โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และหากรวมถึงนักบวชและสมาชิกในศาสนาทั้งเก่าและใหม่ที่ถูกบริโภคนิยมจน กลายเป็นร่างทรงของบริโภคนิยม(ดังได้กล่าวมาแล้ว) นั่นหมายความว่าบริโภคนิยมได้กลายเป็นศาสนา ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ อนาคตของศาสนา ไม่ว่ามนุษยชาติจะ ก้าวหน้าไปมากมายเพียงใด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปเพียงไหนก็ไม่มีวันที่มนุษย์จะหลีกหนีประเด็นทางด้านศาสนาหรือจิตวิญญาณไปได้ ถึงแม้ว่าการดำรงอยู่ของจิตวิญญาณ จะถูกตั้งคำถามหรือถึงกับปฏิเสธโดยวิทยาศาสตร์ก็ตาม แรงผลักดันทางจิตวิญญาณจะยังคงอยู่เบื้องหลัง การต่อสู้ดิ้นรนและความพากเพียรพยายามทั้งหลายของมนุษย์อยู่นั่นเอง แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะ ดูเหมือนเป็นเรื่อง ทางโลก ก็ตาม ดังเดวิด โนเบิลได้ชี้ว่า แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลัง ความก้าวหน้าทาง วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของตะวันตกตั้งแต่ยุคกลางมากระทั่งปัจจุบัน ก็คือความเชื่อว่าพระคริสต์ จะกลับมา และปกครองโลก ให้สงบร่มเย็น ๑,๐๐๐ ปีก่อนถึงวันพิพากษา และมนุษย์จะได้รับความเป็นเทพ และความ สมบูรณ์พร้อมกลับคืนมา(หลังจากที่สูญเสียไปเมื่อครั้งอาดัมและอีฟถูกพระเจ้าขับไล่จากสวรรค์) ผู้บุกเบิก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตะวันตก ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ ชั้นนำของตะวันตกทั้งในอดีต และปัจจุบัน จำนวนไม่น้อยมีความเชื่อดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจ อาทิ โรเจอร์ เบคอน มองว่า ความก้าวหน้า ทาง เทคโนโลยีจะต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายทางจิตวิญญาณอันได้แก่ความหลุดพ้น ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อ เป็นวิธีฟื้นความรู้ในธรรมชาติซึ่งเป็นเทวสมบัติที่เป็นมรดกของมนุษย์ เป็นฉายาคล้ายพระเจ้าที่มีมาแต่ดั้งเดิม และอีกด้านหนึ่งก็เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเอาชนะพวกต่อต้านพระคริสต์เพื่อการบังเกิดขึ้นของอาณาจักร พระเจ้า ๓๐๐ ปีให้หลังฟรานซิส เบคอนก็ยังแสดงความมุ่งมั่นว่า ประตูสู่อาณาจักรของมนุษย์ ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นรากฐาน มิใช่อะไรอื่นหาก เป็นประตูสู่ อาณาจักรสวรรค์ จวบจนกระทั่งปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เป็นอันมากในวงการอวกาศ ปัญญาประดิษฐ์ พันธุวิศวกรรม และระเบิดปรมาณูก็ยัง ได้รับอิทธิพลจากความเชื่อดังกล่าว ใช่แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์ ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทาง โลก อาทิ การเกิดขึ้นของรัฐชาติ ทุนนิยม ประชาสังคมก็ล้วน เป็นผลจาก การพยายามตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณซึ่งศาสนาดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ ดังเดวิดลอยได้ชี้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ตะวันตก ความต้องการทางจิตวิญญาณดังกล่าว ในทัศนะของเดวิด ลอยซึ่งใช้มุมมองแบบพุทธ ผนวกกับ จิตวิเคราะห์ ก็คือความปรารถนาที่จะขจัดความรู้สึกพร่องอันเกิดจากความรู้สึกลึก ๆ ว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่รบกวนจิตใจยิ่งกว่าความกลัวตายเสียอีก ความรู้สึกพร่อง ดังกล่าวครั้งหนึ่งศาสนาคริสต์ คยช่วยบำบัดได้ แต่เมื่อเกิดการปฏิรูปศาสนา(Reformation) โดยมาร์ติน ลูเธอร์ ศาสนจักรคาทอลิกก็เสื่อม อิทธิพลลงไป ความวิตกกังวลในหมู่ผู้คนเกิดขึ้นทั่วยุโรป เพราะไม่มีวิธีการใหม่มาแทนที่ศาสนจักรในการแก้ไข วามรู้สึกพร่อง ขณะเดียวกันความเชื่อ อย่างโปรเตสแตนท์ซึ่งทำให้ พระเจ้าอยู่ไกลจากโลกมากขึ้น ได้ทำให้เกิด สุญญากาศทางด้านจิตวิญญาณ ในภาวะดังกล่าว กษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กำเนิดขึ้นมา เพื่อมาทดแทนพระเจ้าในโลกนี้ ตามมาด้วยรัฐชาติ ซึ่งทรงอำนาจ รัฐชาตินี้เองที่ได้กลายมาเป็น ที่ยึดเหนี่ยวของผู้คนในการขจัดความรู้สึกพร่อง โดยการยึดติดกับรัฐเพื่อทำให้รู้สึกว่าตัวตนนั้นมีอยู่จริง กล่าวอีกนัยหนึ่งรัฐได้กลายเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ แต่พระเจ้าองค์ ใหม่ไม่ได้มีแค่องค์เดียว ทุนนิยมแบบบรรษัท (corporate capitalism) และวิทยาศาสตร์แบบจักรกล ( mechanistic science) เป็นพระเจ้าองค์ใหม่ ที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทางจิตวิญญาณดังกล่าว เดวิด ลอยได้สรุปว่าความมุ่งหวังแบบโลก ๆ ซึ่งได้กลายเป็นความติดยึดหมกมุ่นของตะวันตกใน ช่วงหลาย ร้อยปีที่ผ่านมา แท้ที่จริงเป็นอาการของความต้องการ ทาง จิตวิญญาณที่ไม่ได้รับการตอบสนอง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประวัติศาสตร์ของตะวันตกมิใช่เรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกิยวิสัยทีละน้อย ๆเพราะแท้จริงแล้ว เราไม่สามารถหลีกหนีความรู้สึกพร่องและความต้องการไปพ้นจากมัน. ที่จริงแล้ว ประวัติศาสตร์ของเราเป็น เรื่องของการพยายามใช้วิธีการทางโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ความรู้สึกพร่องนี้ มนุษย์เราไม่ได้แค่ต้องการที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจเฉย ๆ แต่ต้องเป็นสิ่งที่สามารถ บำบัด ความต้องการ ทางจิตวิญญาณได้ ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ดังนั้นศาสนาแบบโลก ๆหรืออุดมการณ์ทางโลก ที่กลายมา เป็นศาสนาศาสนาเทียมจึงหาใช่คำตอบสุดท้ายที่มนุษย์ต้องการไม่ แน่นอนว่าในอนาคต ศาสนาแบบโลก ๆ จะยังมีอยู่ต่อไป แต่มันย่อมไม่ใช่ศาสนาที่ยั่งยืน ทั้งมิใช่ศาสนาอย่างเดียวที่จะมีอยู่ในโลก ความคิดที่ว่า ศาสนาในอนาคตจะได้แก่อุดมการณ์หรือค่านิยมแบบโลก ๆ เช่น ประชาธิปไตย เหตุผล ความเสมอภาค ดังที่มีผู้คาดทำนายไว้เมื่อต้นศตวรรษที่แล้ว จึงเป็นความคิดที่พ้นสมัยและไม่มีวันเป็นจริงได้ ศาสนาที่ยั่งยืน ในอนาคตคือศาสนาที่ยอมรับมิติทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เชื่อในสภาวะพ้นโลก และเชื่อว่ามนุษย์ มีศักยภาพที่จะเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ไม่ว่าจะเรียกว่าพระเจ้า นิพพาน หรืออะไรก็ตาม แต่ศาสนาดังกล่าว จะไม่ใช่มีแค่ศาสนาเดียว หรือมีแค่ศาสนาหลัก ๆ ไม่กี่ศาสนาดังแต่ก่อน หากจะมีความหลากหลาย มากขึ้น แต่จะมีรูปลักษณ์อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่เกินกว่าปุถุชนจะคาดทำนายได้ ความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปศาสนา หากบริโภคนิยมสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ศาสนาก็ไม่มีความจำเป็น แต่บริโภคนิยมได้พิสูจน์ตนเองว่าไม่สามารถบำบัดทุกข์ของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง ซ้ำกลับสร้างความ ทุกข์ ให้เพิ่มพูนขึ้น ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาสนาจะก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้แก่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ ศาสนาใหญ่ ๆ ของโลกในเวลานี้มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่นั่นหมายความว่าศาสนาดั้งเดิมเหล่านี้ จะต้องมีการปฏิรูปตนเองให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของบริโภคนิยมและสามารถที่จะกลับไปหาแรงบันดาลใจทางด้านจิตวิญญาณที่ศาสดาทั้งหลายได้วางรากฐานไว้ แล้วนำกลับมาถ่ายทอดให้แก่ มนุษย์ในยุคนี้ได้อย่าง สมสมัย โดยไม่ติดกับอดีต ขณะเดียวกันก็ควรเรียนรู้จากศาสนาใหม่ ซึ่งมีความยืดหยุ่นและฉับไว ในการ ตอบสนองความต้องการของผู้คนได้มากกว่า อย่างไรก็ตามศาสนาใหม่นั้นมีแนวโน้ม ที่จะลงร่องเช่นเดียว กับศาสนาเก่า จนขาดชีวิตชีวาและขาดพลังในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังนั้นจึงต้องพร้อมที่ จะปฏิรูปตนเองอยู่เสมอด้วย แม้ว่าบทบาททางด้านจิตวิญญาณของศาสนาจะเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ต้องไม่ละเลย ความต้องการทางด้านวัตถุและสังคมของมนุษย์ บทบาททางจิตวิญญาณ ต้องไม่แยกจากบทบาท สงเคราะห์ทางด้านวัตถุและสังคม เพราะความผาสุกทางด้านจิตวิญญาณนั้นสัมพันธ์อย่างยิ่งกับ ความผาสุกทางวัตถุและสังคม ปรากฏการณ์ใน ๓ ทศวรรษที่ผ่านมาได้ชี้ให้เห็นว่าการตอบสนอง ความต้องการทางวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของกลุ่มศาสนาเป็นอันมาก ไม่ว่าขบวนการเคร่งจารีต หรือขบวนการศาสนาใหม่ ความจริงศาสนาในอดีตได้มีบทบาททั้งด้านวัตถุ สังคมและจิตวิญญาณโดย ไม่แยกจากกัน การแยกบทบาททางด้านจิตวิญญาณให้แก่ศาสนา และบทบาททางวัตถุและสังคมให้ แก่สถาบันทางโลก เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคหลังนี้เอง การกลับมาของศาสนาในปัจจุบันแยกไม่ออกจากการ กลับมาของแนวทางแบบองค์รวมดังได้กล่าวมา ในทำนองเดียวกันอนาคตของศาสนา ก็อยู่ที่ว่าจะให้ ความสำคัญ แก่การตอบสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเป็นองค์รวมได้มากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน การแพร่สะพัดของบริโภคนิยมในสังคมไทยปัจจุบันมิใช่อะไรอื่น หากเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของพุทธศาสนาในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คน แน่นอนว่าการคล้อยตามบริโภคนิยมอย่างที่วัดวาอารามไม่น้อยกำลังทำอยู่ในปัจจุบันมิใช่ทางออกที่พึงประสงค์ ทางออกสำหรับพุทธศาสนาจักต้องเริ่มต้นจากการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ทั้งด้านการปกครองและการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในทางจริยธรรมและสามารถชี้นำผู้คนให้เข้าถึงความสงบสุขภายในท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนของกระแสโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางสติปัญญาให้แก่ชุมชนในการแก้ไขปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ อนุรักษ์สภาพแวดล้อม และสร้างความสามัคคีกลมเกลียว บทบาทดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการนำธรรมะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน และช่วยฟื้นฟูศาสนาให้กลับมามีความสำคัญต่อสังคม แต่นอกจากการปรับปรุงสถาบันสงฆ์แล้ว สิ่งที่ควรทำควบคู่กันก็คือการฟื้นฟูหลักธรรมทางด้านโลกุตตรธรรม ซึ่งจะช่วยให้เกิดอิสรภาพและความสุขภายในอย่างแท้จริง ที่แล้วมาหลักธรรมดังกล่าวถูกละเลยไป จนผู้คนเข้าใจว่า พุทธศาสนาสอนแค่ ทำดี ละชั่วเท่านั้น ทั้ง ๆที่ การทำจิตให้บริสุทธิ์ เป็นอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นี้คือมิติทางจิตวิญญาณที่หายไปจากคำสอนกระแสหลักของพุทธศาสนาในปัจจุบัน จนท่านพุทธทาสภิกขุต้องย้ำแล้วย้ำเล่าว่า นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรพยายามเข้าถึงให้ได้ ทั้งพระและฆราวาส เช่นเดียวกับการทำงานด้วย จิตว่าง แต่สภาวะดังกล่าวจะเข้าถึงได้มิใช่ด้วยการอ่านหรือการคิด หากด้วยการปฏิบัติ การฟื้นฟูสมาธิภาวนาให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและวัฒนธรรมไทย ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย จึงเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนกันอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามการส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกต่อส่วนรวม และช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้ดีงาม ก็เป็นบทบาทอีกด้านหนึ่งของพุทธศาสนาที่จะมองข้ามไปไม่ได้ ที่จริงนี้เป็นหลักการที่สำคัญของพุทธศาสนา แต่ถูกละเลยไปเช่นกัน จนผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับสังคม เหมาะสำหรับผู้ต้องการหลีกเร้นจากสังคม ความคิดเช่นนี้ทำให้พุทธศาสนาถูกตีกรอบให้แคบลง และนับวันจะตกอยู่ในวงล้อมของบริโภคนิยม ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของสังคมและความทุกข์ยากของผู้คน การรื้อฟื้นหลักธรรมคำสอนเกี่ยวกับจริยธรรมทางสังคม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้พุทธศาสนาในเมืองไทยมีพลังในการสร้างสรรค์สังคม และบำบัดความทุกข์ของผู้คนทั้งในทางวัตถุและจิตใจ ดังที่ได้เคยมีบทบาทในอดีตมาแล้วโดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ ต่อเมื่อพุทธศาสนาสามารถปฏิรูปตนเองจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนทั้งทางวัตถุ สังคม และจิตใจ พุทธศาสนาถึงจะเป็นคำตอบของผู้คนและมีอนาคตสดใสในยุคโลกาภิวัตน์ เอกสารอ้างอิง Armstrong, Karen (2002) The Battle for God, New York: Ballantine Books Castells, Manuel (1997) The Information Age II:the Power
of Identity, Oxford: Blackwell Gorospe-Jamon (1999) The El Shaddai Prayer Movement:
Political Socialization in a Religious Kazahara, Kazuo ed. (2001) A History of Japanese Religion, Tokyo:Kozei Lester, Toby (2002) Oh, Gods ! The Atlantic Monthly, February 2002 Loy, David (2002) A Buddhist History of the West:Studies
in Lack , New York:State University of Metraux, Daniel A. (1996) The Soka Gakkai: Buddhism
and the Creation of a Harmonious and Noble, David (1997) The Religion of Technology New York: Penguin Onishi, Norimitsu Now for Africans, Gospel of Wealth
International Herald Tribune March Trueheart, Charles Welcome to the Next Church The Atlantic Monthly, August 1996 Walters, Malcolm (1995) Globalization , London: Routledge Woodward, Kenneth L. The Changing Face of the Church Newsweek April 16, 2001 Zakaria, Fareed The Roots of Rage Newsweek October 7, 2001 |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|