![]() |
สัมโมทนียกถาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.สงขลานครินทร์ สัมโมทนียกถาในโอกาส เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๕
แบ่งปันบน facebook Share |
ขอเจริญพรท่านนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์คณะผู้บริหาร อาจารย์ ตลอดจนญาติโยม สาธุชนทุกท่าน อาตมารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เหตุที่ว่าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งก็เพราะว่า อาตมานั้นสำนึกตนว่าเป็นพระธรรมดา วุฒิการศึกษาไม่มาก กว่าจะเรียนจบปริญญาตรีคณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ใช้เวลาสี่ปีครึ่ง ด้วยเกรดประมาณ ๒.๖ - ๒.๗ ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนต่อในการศึกษาชั้นปริญญาโทหรือปริญญาเอกด้วยเหตุจำเป็นหลายอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะสถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นไม่เอื้อให้อาตมามีความใส่ใจในการเรียน เนื่องจากบรรยากาศร้อนแรงมาก เพราะเป็นช่วงหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีความขัดแย้งกันในบ้านเมืองอย่างรุนแรงถึงขั้นจับอาวุธประหัตประหารกัน อาตมาจึงเลือกทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมในเวลานั้นโดยอาศัยหลักการทางศาสนาตั้งแต่ยังเป็นคฤหัสถ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มาอุปสมบท ณ วัดทองนพคุณ เมื่อปี ๒๕๒๖ ก็เป็นโอกาสให้ได้รับการศึกษาอีกชนิดหนึ่ง เป็นการศึกษาในทางธรรม ซึ่งเดิมคิดว่าจะศึกษาเพียงแค่ ๓ เดือน แล้วจะสึกไปใช้ชีวิตและทำงานในทางโลกเช่นเดิม แต่ด้วยความเมตากรุณาของครูบาอาจารย์หลายท่าน รวมทั้งท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพปริยัติมุนี ก็ทำให้อาตมามีใจใฝ่ฉันทะในการบวชอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้นอาตมาได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติธรรมทั้งในทางปริยัติและในทางปฏิบัติ ก็ได้เห็นอานิสงส์ของพระธรรมว่าสามารถจะนำความสงบเย็นมาให้แก่จิตใจ และยังเห็นต่อไปว่าพระธรรมนั้นสามารถจะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่สรรพชีวิต สรรพสัตว์ได้ ไม่เพียงเราสามารถนำธรรมะมาใช้กับชีวิตของตนเองเพื่อให้มีความสุขความสงบเย็นเท่านั้น แต่ยังสามารถนำเอาธรรมะไปเป็นหลักในการช่วยเหลือสังคมได้ เพราะธรรมะนั้น ไม่เพียงเป็นหลักการที่ช่วยให้เรามีความสัมพันธ์กับตนเองในทางที่เป็นมิตรกับตัวเอง ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่อยู่ในอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกิเลสตัณหา นำพาให้เกิดความสงบเย็นในจิตใจแล้ว ธรรมะยังเป็นหลักการในการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ทั้งในระดับบุคคลต่อบุคคล และในฐานะที่เป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ทางสังคม ช่วยในการจัดระเบียบสังคมให้เป็นไปอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ขณะเดียวกัน ธรรมะก็ยังเป็นหลักในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อให้เราสามารถอยู่กับธรรมชาติด้วยดี ด้วยความสงบราบรื่น ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกัน ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแต่พอเพียงโดยไม่ถึงกับทำลายธรรมชาติให้พินาศไป สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะในสังคมไทยปัจจุบัน รวมทั้งสังคมโลกทั้งมวล มีปัญหาความสัมพันธ์ทั้งกับตัวเอง มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคมไม่เป็นไปอย่างราบรื่น และความสัมพันธ์กับธรรมชาติก็เป็นไปในทางที่เบียดเบียน ไม่เพียงแต่ทำให้สรรพชีวิตเดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกลับมาทำลายมนุษย์ด้วยกัน ด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงเห็นว่า เมื่อได้มาปฏิบัติธรรมในสมณะเพศ และได้รับประโยชน์จากพระธรรมคำสอน ได้พบกับความสงบเย็นแล้ว หากหยุดเพียงเท่านี้ไม่น่าจะเพียงพอ แต่ควรนำเอาสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มาช่วย มาเผยแผ่ เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักว่าเราสามารถที่จะปรับความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ปรับความสัมพันธ์ทางสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้หลักเมตตาธรรมอหิงสธรรม ในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเป็นความขัดแย้งด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเมือง ทางศาสนา ก็สามารถที่จะใช้หลักอหิงสธรรม หรือสันติวิธีเพื่อให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือเพื่อแก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ต้องทำลายล้างกันจนเลือดตกยางออก ขณะเดียวกันถ้าหากว่าเราสามารถปรับความสัมพันธ์กับตัวเอง จนเป็นมิตรกับตัวเอง ค้นพบความสุขจากจิตใจของตัวเอง ไม่หวังพึ่งพิงความสุขจากวัตถุก็จะทำให้เราสามารถอยู่อย่างสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยไม่เบียดเบียน ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างพอเพียงเพื่อก่อให้เกิดความสุข ความสงบสันติ รวมทั้งเกิดความเคารพธรรมชาติ ได้เห็นธรรมะจากธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเป็นไปอย่างเกื้อกูลมากขึ้น สิ่งเหล่านี้อาตมาเชื่อว่าจะช่วยให้โลกพ้นจากวิกฤติได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นักคิดระดับโลกได้ตระหนักแล้วว่าถ้าหากโลกทุกวันนี้ไม่อิงอาศัยธรรมะ ทั้งในระดับสังคมและในความสัมพันธ์กับธรรมชาติ วิกฤติของมนุษย์ก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามอาตมาไม่ได้คิดถึงการแก้ปัญหาในระดับโลก คิดเพียงว่าหากตนเองมีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจทางธรรมในหมู่ผู้คนในสังคมไทย และเห็นถึงคุณค่าอานิสงส์ของการนำพระธรรมมาใช้ในชีวิต มาใช้ในความสัมพันธ์กับผู้คน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับสังคม ไปจนถึงระดับประเทศ ก็น่าจะช่วยทำให้เกิดความสงบเย็นมากขึ้น ความขัดแย้ง ความแตกแยก หรือว่าการเบียดเบียนกันก็น่าจะน้อยลง และช่วยให้การเป็นอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ทุกวันนี้เป็นยุคที่เราให้ความสำคัญกับการพัฒนา โดยเน้นการพัฒนาทางวัตถุเป็นอย่างมาก ในมุมมองของพุทธศาสนาการ พัฒนา หรือ ภาวนา มีความหมายที่ครอบคลุมมากไปกว่าการพัฒนาทางวัตถุ ภาวนานั้นมี ๔ ประการ คือการพัฒนาทางกาย หมายความว่า การพัฒนาด้านชีวิตความเป็นอยู่ ไม่ให้พบกับความหิวโหย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อชีวิต ทำให้ความเป็นอยู่ทางกายภาพเป็นไปอย่างราบรื่น อันนี้เรียกว่า กายภาวนา ประการต่อมาคือ ศีลภาวนา ก็คือการพัฒนาความสัมพันธ์ หรือการพัฒนาพฤติกรรมของผู้คนในสังคม ให้เป็นไปในทางที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีการดูถูก เอาเปรียบเหยียดหยันกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม อย่างไรก็ตามการพัฒนาที่เป็นอยู่นั้น เราเน้นการพัฒนาเพื่อความสะดวกสบายทางกายจนมองข้ามการพัฒนาความสัมพันธ์ การพัฒนาพฤติกรรม ซึ่งต้องอาศัยจริยธรรม ความเมตตากรุณาต่อกัน นอกจากศีลภาวนา แล้วยังมีภาวนาอีกสองส่วนที่สำคัญมากก็คือจิตภาวนา และปัญญาภาวนา จิตภาวนาก็คือการพัฒนาจิตใจให้มีความสงบ มีสติ มีสันติกับตัวเอง มีความผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่ทุกข์ รวมทั้งมีคุณภาพจิตที่ดี สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นฐานให้กับปัญญาภาวนาคือ การมีปัญญาที่เจริญงอกงาม ไม่เพียงแต่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล หากยังคิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงการมีปัญญาเห็นความจริงของชีวิต จนกระทั่งรู้เห็นลักษณะ ๓ ประการพื้นฐานก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่งสามารถปล่อยวางความยึดติดถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกูได้ อันเป็นหัวใจแห่งการเข้าถึงความสงบสันติ ที่เรียกว่านิพพาน ดังได้กล่าวแล้วว่าการพัฒนาในสังคมไทยทุกวันนี้เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางวัตถุมาก เอาความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง ซึ่งก็มักจะนำไปสู่ผลกระทบอื่นๆ ตามมา ได้แก่ การทำลายสิ่งแวดล้อม และการเอาเปรียบเบียดเบียนกัน ทั้งหมดนี้จะมีผลกระทบในทางเลวร้ายน้อยลง ถ้ากายภาวนาหรือการพัฒนาทางวัตถุนั้นดำเนินควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นด้วยเช่น การพัฒนาจริยธรรม หรือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ การพัฒนาจิต และการพัฒนาปัญญา อาตมาคิดว่า สิ่งหนึ่งที่ตนเองสามารถทำได้ในฐานะที่ได้มีโอกาสศึกษาปฏิบัติธรรม และได้รับอานิสงส์แห่งพระพุทธศาสนา ก็คือการชี้ชวนให้ผู้คนได้ตระหนักว่าการพัฒนามนุษย์หรือการพัฒนาสังคมนั้น จะต้องเป็นไปอย่างครบถ้วน รอบด้าน นอกจากการพัฒนาทางวัตถุแล้ว เราต้องไม่ลืมการพัฒนาความสัมพันธ์หรือการพัฒนาทางสังคม การพัฒนาจิตใจ และการพัฒนาปัญญา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องไม่มองข้ามมิติด้านจิตวิญญาณที่จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาทางวัตถุหรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจิตหรือการพัฒนาปัญญา อาตมาเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งกันอย่างมาก ต่างคนต่างมองเห็นซึ่งกันและกันเป็นศัตรู มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ทำให้จิตใจนั้นถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ในขณะเดียวกัน ความหลงติดในวัตถุก็ทำให้เกิดความหมกมุ่นใน กิน กาม เกียรติ สังคมทุกวันนี้ ถูกครอบงำด้วยค่านิยมสองชุด นอกจาก กิน กาม เกียรติ ก็คือ โกรธ เกลียด และกลัว กิน กาม เกียรติ นั้นนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การเบียดเบียน การเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งการข่มเหงทางเศรษฐกิจ ส่วน โกรธ เกลียด กลัว ก็ทำให้เกิดความแตกแยกกันระหว่างผู้คนในสังคม จนกระทั่งเกิดการทำลายล้างและความรุนแรง ปัญหาเหล่านี้อาตมาเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะสามารถช่วยได้ด้วยการให้หลักธรรมเพื่อนำไปใช้ ทั้งในระดับปัจจเจก ในระดับสังคม อีกทั้งสามารถจะใช้ในทางเศรษฐกิจในทางการเมืองได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายในทางการเมืองแต่อย่างใด อาตมาเชื่อว่าธรรมะในพุทธศาสนาจะสามารถนำไปใช้ทั้งในระดับที่ลึกซึ้ง คือในการพัฒนาจิตใจของตนเองให้เข้าถึงความสุขที่ประณีต จนกระทั่งเข้าถึงความหลุดพ้นจากความทุกข์ ในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปใช้ในระดับที่กว้าง ก็คือสามารถจะนำไปใช้ในกิจการต่างๆ ของสังคมได้ด้วย ทุกวันนี้เห็นได้ชัดกันแล้วว่าจริยธรรมนั้นสำคัญมากในกิจการของมนุษย์ทุกอย่างแม้กระทั่งในการทำธุรกิจ ในการบริหารวิสาหกิจต่างๆ การขาดจริยธรรมย่อมทำให้เกิดความวุ่นวาย เกิดปัญหา จนกระทั่งเกิดวิกฤติ อย่างเช่นวิกฤติเศรษฐกิจในบ้านเมืองเราเมื่อปี ๒๕๔๐ หรือวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศอเมริกาซึ่งยังดำเนินอยู่ทุกวันนี้ วิกฤตดังกล่าวทำให้ทุกคนตระหนักว่าเรื่องจริยธรรมสำคัญมาก ฉะนั้น อาตมาจึงถือว่าหน้าที่ของตนส่วนหนึ่งก็คือการทำให้จริยธรรมนั้นสามารถจะมีผลต่อสังคมได้อย่างแท้จริง แต่อาตมาก็ตระหนักว่าตนเองเป็นเพียงแค่ปัจเจกชนคนหนึ่งเท่านั้น แม้จะมีสถานภาพเป็นพระภิกษุแต่ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้จนกว่าผู้คนจะเกิดความตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้น การทำงานในทางอบรม เผยแผ่ การขีดการเขียนจึงเป็นภารกิจส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้เกิดการตื่นตัว ความตระหนัก เห็นคุณค่าของจริยธรรม เห็นคุณค่าของศาสนธรรม และทำให้พระศาสนาสามารถจะเกิดผลดี เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์แก่คนวัด หรือมีประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ แต่ยังมีประโยชน์แก่คนทั่วไป มีประโยชน์ต่อแม้กระทั่งคนที่ไม่เชื่อในศาสนาหรือพุทธศาสนาด้วย เพราะว่าธรรมะนั้นสามารถที่จะเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกคนได้ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสรรพสัตว์ สรรพชีวิตด้วย อาตมาขอขอบคุณสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับอาตมา นับว่าเป็นเกียรติที่มีคุณค่า และหวังว่าเกียรติที่ได้รับนี้จะเป็นเครื่องค้ำจุน หรือเป็นเครื่องเตือนใจให้อาตมาได้ทำหน้าที่ของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป หรืออย่างน้อยก็ให้ทำหน้าที่ของตนดังที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิได้ประกาศเป็นเกียรติคุณเอาไว้ อาตมาขอให้คำมั่นว่าจะยังคงทำกิจการงาน ทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปให้สมเกียรติที่ทางมหาวิทยาลัยได้มอบให้ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |