|
|
เวลานี้ไม่เฉพาะสังคมไทยเท่านั้น แต่โลกทั้งโลกกำลังอยู่ในภาวะไร้สันติภาพ เกิดการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน จนยากที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ และทำให้เกิดอคติและความเป็นปฏิปักษ์รุนแรงมากขึ้น น่าสังเกตว่า การแบ่งขั้วในอดีต มักจะเกิดจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา สีผิว และอุดมการณ์ แต่ในปัจจุบัน ศาสนากำลังมีบทบาทอย่างสำคัญในการสร้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกลุ่มชน ดังจะเห็นได้ว่า สงครามและความขัดแย้งในคาบสมุทรบัลข่าน ในอินเดียและปากีสถาน ในตะวันออกกลาง เป็นต้น ล้วนเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันกับศาสนา ในทำนองเดียวกัน คู่ขัดแย้งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีบินลาเดนและบุช เป็นตัวแทน ก็ล้วนอ้างอิงศาสนาหรือพระเจ้าเท่านั้น ในประเทศไทย ความเป็นปฏิปักษ์กำลังเกิดขึ้นระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ไม่เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากยังรวมถึงส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความเป็นปฏิปักษ์ที่กำลังก่อตัวระหว่างชาวพุทธที่เห็นว่าต้องบัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ กับชาวพุทธที่ไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง กล่าวได้ว่าปัจจุบัน สังคมไทยและโลกทั้งโลกกำลังถูกครอบงำด้วย วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมดังกล่าวตั้งอยู่บนความคิดแบบแบ่งเราแบ่งเขา เห็นคนที่ไม่ใช่พวกเดียวกับตนเป็นศัตรู และมองโลกแบบเป็นขาว-ดำชัดเจน โดยเฉพาะคนที่เคร่งศาสนา มักจะตกอยู่ในกับดักแห่งความคิดดังกล่าว คือขีดเส้นความดี-ความชั่วชัดเจน ใครที่ไม่ดีเหมือนตัวหรือคิดเหมือนตัว ก็ประณามว่าเป็นคนชั่ว และเมื่อเป็นคนชั่วเสียแล้ว ย่อมเป็นการชอบธรรมที่จะกำจัดเขาด้วยวิธีใด ๆ ก็ได้ บินลาเดน มองโลกเป็นขาว-ดำชัดเจน ว่าอเมริกาคือตัวแทนแห่งความเลวร้าย ที่นำความเสื่อมโทรมมาสู่โลกอิสลาม สมควรที่จะถูกทำลายให้สาสม ส่วนบุชก็มองโลกแบบนี้เช่นเดียวกัน คือเห็นอัลเคด้าและอิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือเป็นตัวแทนความชั่วร้าย ที่ต้องจัดการ การมองโลกเป็นขาว-ดำ ขีดเส้นความดี-ความชั่วชัดเจน นอกจากจะทำให้มีเหตุผลและความชอบธรรมในการจัดการกับคนที่คิดไม่เหมือนตัว โดยติดฉลากว่าเป็นตัวชั่วร้ายแล้ว คนที่คิดแบบนี้ยังมีแนวโน้มที่จะหมกมุ่นกับการไล่ล่ากำจัดคนชั่วร้าย เพราะทำให้รู้สึกสบายใจว่าได้ทำหน้าที่คนดี และมั่นใจในความเป็นคนดีของตัว ยิ่งกำจัดคนชั่วมากเท่าไร ก็ยิ่งรู้สึกเป็นคนดีมากขึ้นเท่านั้น วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก เพราะให้คำตอบสำเร็จรูป เข้าใจง่ายเนื่องจากมองอะไรเป็นขาว-ดำชัดเจนเจน เช่น ให้คำตอบว่าที่เยอรมันเสื่อมโทรมก็เพราะยิว ศาสนาฮินดูในอินเดียตกต่ำก็เพราะมุสลิม ศาสนาพุทธในเมืองไทยวุ่นวายก็เพราะศาสนาคริสต์และอิสลามอยู่เบื้องหลัง ใช่แต่เท่านั้น วัฒนธรรมแบบนี้ยังได้รับการหนุนหลังจากนักการเมือง ที่ต้องการหาคะแนนเสียงด้วยการสร้างความเกลียดชัง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการหาแพะรับบาปหรือโยนความผิดพลาดไปให้ผู้อื่น ยิ่งสร้างศัตรูภายนอกมาก ๆ ความจงเกลียดจงชังก็จะพุ่งเป้าไปที่คนเหล่านั้น แทนที่จะพุ่งมาที่รัฐบาล วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ในยุคนี้ ไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังเท่านั้น วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ก็มีอิทธิพลไม่น้อยในปัจจุบัน ทั้งสองวัฒนธรรมมีลักษณะตรงข้ามกันหลายอย่างจนอยู่คนละขั้วก็ว่าได้ ขั้วหนึ่งมีลักษณะผลักไส อีกขั้วมีลักษณะพุ่งเข้าหา ขั้วหนึ่งต้องการทำลายให้ดับสูญ อีกขั้วต้องการยึดถือครอบครองให้เป็นอมตะ ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความละโมบ คือ ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งกลายเป็นกระแสใหญ่อีกกระแสหนึ่งที่ครอบงำทั่วทั้งโลก มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนตั้งแต่เด็กไปถึงผู้ใหญ่ แม้แต่วัยรุ่นก็ยอมขายตัวเพื่อจะได้มีโทรศัพท์มือถือ หรือกระเป๋ายี่ห้อแพง ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่เอาอัตลักษณ์ของตนไปผูกติดอยู่ที่การบริโภค ตัวเองจะมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำดีหรือชั่ว แต่ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของสินค้าที่สวมใส่หรือครอบครอง เวลาจะรวมกลุ่ม ก็รวมกลุ่มเพื่อบริโภคมากกว่า เช่นเที่ยวห้าง ดูคอนเสิร์ต หรือรวมกลุ่มในหมู่คนที่ใช้ของยี่ห้อเดียวกัน แทบไม่มีมุมไหนของโลกที่ปลอดจากบริโภคนิยม อันเป็นผลจากโทรคมนาคมยุคโลกาภิวัตน์ ดาวเทียมเป็นพาหะอย่างดีสำหรับการโฆษณาและรายการโทรทัศน์ที่กระตุ้นบริโภคนิยม เงินกลายเป็นสรณะอย่างใหม่ ผู้คนต่างมุ่งถือเอาประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่ ก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย สังคมจึงเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การคอรัปชั่น สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม จริยธรรมถดถอย ขณะเดียวกันครอบครัวก็ร้าวฉาน ชุมชนแตกแยก เงินกลายเป็นตัวกลางความสัมพันธ์แทนที่ความรักความเอื้ออาทร ต่างเห็นซึ่งกันและกันเป็นเหยื่อที่จะเอาประโยชน์ หรือเป็นศัตรูที่จะมาแย่งผลประโยชน์ ใช่แต่เท่านั้นลึก ๆ ในจิตใจผู้คนก็แปลกแยกกับตัวเอง มีความเครียดและความกลัดกลุ้ม วัฒนธรรมแห่งความละโมบทำให้ปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น ในด้านหนึ่งผู้คนตกเป็นทาสของบริโภคนิยม ถอนตัวได้ยากเหมือนติดยาเสพติด เกิดปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะ การมีเครดิตการ์ดอย่างง่ายดายทำให้ภาวะหนี้สินและล้มละลายเพิ่มขึ้นในทุกประเทศ อีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งความละโมบ ก็คือการตักตวงทรัพยากร เช่น ที่ดิน แร่ธาตุ ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อมาตอบสนองลัทธิบริโภคนิยม ในกระบวนการดังกล่าว ทุกสิ่งทุกอย่างถูกแปรให้เป็นสินค้า ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง เด็ก ประเพณี สัญลักษณ์ทางศาสนา สิ่งที่ตามมาคือการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดปัญหาความยากจน ควบคู่กับการกระจุกตัวของทรัพย์สิน สองวัฒนธรรม :ความต่างและความเหมือน กล่าวโดยสรุปในยุคปัจจุบัน มีวัฒนธรรมสองขั้วที่กำลังบั่นทอนชีวิตและผู้คน ทั้งสองมีที่มาและแรงสนับสนุนต่างกัน ในหลายประเทศ วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง เป็นความพยายามของคนชายขอบที่ปกป้องตนเองและตอบโต้ภัยคุกคาม โดยอาศัยอัตลักษณ์และประเพณีดั้งเดิม ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความละโมบ มักถูกกำหนดและกำกับโดยกลุ่มอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ ทั้งนี้โดยอาศัยเทคโนโลยีและค่านิยมใหม่เป็นเครื่องมือ สองกระแสใหญ่ยังมีความแตกต่างกันอีกหลายด้าน กล่าววัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง พยายามปลุกเร้าความกลัว เน้นความมั่นคง ความเป็นกลุ่มก้อน ขาดขันติธรรม และมีเส้นแบ่งความดีความชั่วชัดเจน ขณะที่วัฒนธรรมแห่งความละโมบ ปลุกเร้าความฝัน เน้นเสรีภาพ มีลักษณะปัจเจกนิยม และถือว่าไม่มีอะไรถูก อะไรผิด อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวัฒนธรรม มีสิ่งหนึ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต่างมีองค์ประกอบหรือลักษณะของศาสนา เช่น พิธีกรรม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังทำหน้าที่เหมือนศาสนา กล่าวคือทำให้ชีวิตมีค่า มีความหมาย สร้างความเต็มอิ่มให้แก่ชีวิต วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังมีแรงดึงดูดไม่น้อยสำหรับคนที่ต้องการให้ชีวิตของตนมีคุณค่า คนเหล่านี้พร้อมตายได้เพื่อลัทธิศาสนา และเชื้อชาติของตน ส่วนวัฒนธรรมแห่งความละโมบแพร่หลายได้ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้คนรู้สึกว่าวัตถุหรือสิ่งเสพต่าง ๆ ทำให้ชีวิตมีเป้าหมายน่าภาคภูมิใจ ทั้งสองวัฒนธรรมสามารถสร้างความปีติเอิบอิ่มให้แก่ผู้คนได้โดยเฉพาะเมื่อรวมกลุ่มกัน ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มประท้วงและทำลายศัตรูอีกฝ่ายหนึ่ง หรือการรวมกลุ่มกันชมคอนเสิร์ตหรือดูฟุตบอลโลก ที่สำคัญคือทั้งสองวัฒนธรรมต่างตอบสนองความต้องการส่วนลึกของตัวตน วัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังอาทิ ลัทธิเชื้อชาตินิยมและความเชื่อทางศาสนาแบบเคร่งคัมภีร์หรือ fundamentalism เป็นที่นิยมเพราะตอบสนองความต้องการของผู้คนที่อยากมีตัวตนอมตะ ความเชื่อและความหวังว่า ตัวตายแต่ชื่อยัง ทำให้ผู้คนจำนวนมากมายยอมตายเพื่อเชื้อชาติหรือศาสนาของตน ขณะที่คนอีกมากรู้สึกว่าการเอาตัวตนไปผูกติดกับวัตถุสิ่งเสพทำให้รู้สึกว่าตัวตนมั่นคงไม่ว่างเปล่าหรือเคว้งคว้าง จะเห็นได้ว่าทั้งสองวัฒนธรรมมีแรงดึงดูดทางด้านศาสนา จึงสามารถจับจิตใจคนได้มาก แม้ในหมู่คนที่ไม่เชื่อศาสนาก็ตาม จะเรียกว่าทั้งสองเป็นศาสนาสมัยใหม่ก็ได้ แต่เป็นศาสนาเทียม ที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการส่วนลึกซึ้งของมนุษย์ได้อย่างยั่งยืน แค่ให้ความสุขชั่วครั้งชั่วคราว อีกทั้งไม่ได้ก่อให้เกิดความสงบสันติแก่โลกได้อย่างแท้จริง วัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ สังคมไทยและโลกทั้งโลกจะมีสันติภาพได้ ก็ต่อเมื่อสามารถทัดทานวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังและวัฒนธรรมแห่งความละโมบได้ สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีคือวัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้ เพื่อให้จิตใจเป็นอิสระจากความเกลียดชังและความละโมบ พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่มุ่งสร้างความตื่นรู้ให้แก่ผู้คน เพื่อบรรลุถึงสันติภาพที่แท้จริง ฉะนั้นชาวพุทธจึงควรมีบทบาทอย่างแข็งขันเพื่อทำให้สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันต่อวัฒนธรรมอันเป็นโทษทั้งสองกระแส เราสามารถช่วยให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความตื่นรู้ได้ด้วยการเสริมสร้างโลกทัศน์ที่ไปพ้นจากวัตถุนิยม แม้พุทธศาสนามิได้ปฏิเสธวัตถุ แต่ก็เห็นว่าความสุขนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุเสมอไป นอกจากความสุขทางกายแล้ว เรายังต้องการความสุขทางจิตใจ และความสุขทางใจนี้เองที่เป็นความสุขที่ลึกซึ้งที่สุดที่มนุษย์ทุกคนควรเข้าถึงให้ได้ จุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์จึงมิได้อยู่ที่การครอบครองวัตถุให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การเข้าถึงความสุขทางจิตใจด้วยตนเอง และเอื้อให้ผู้อื่นเข้าถึงด้วยเช่นกัน ความสุขดังกล่าวจะช่วยให้เราไม่หลงใหลมัวเมากับวัตถุเพราะประจักษ์ด้วยตนเองว่ามีความสุขที่ประเสริฐและลึกซึ้งกว่าความสุขจากวัตถุมากนัก นอกจากโลกทัศน์ที่เห็นมนุษย์ในแง่มุมที่ลึกซึ้งแล้ว พุทธศาสนายังเอื้อให้เกิดโลกทัศน์ที่มองเห็นมนุษย์อย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสรรพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ชีวิต สังคม และธรรมชาติไม่อาจแยกจากกันได้ ความผาสุกของเราแต่ละคนผูกติดอยู่กับความผาสุกของผู้คนรอบข้าง สังคมรอบตัว และธรรมชาติแวดล้อม สำนึกดังกล่าวจะช่วยให้เราอ่อนโยนต่อธรรมชาติและรู้สึกถึงบุญคุณของสรรพชีวิตและทุกผู้คนในสังคมมากขึ้น เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง ไม่มองตนเองในกรอบแคบ ๆ โดยมองคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาเป็นคนอื่น หากมองเห็นมนุษย์ทุกคนและทุกชีวิตว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกที่อยู่ภายใต้สายสัมพันธ์เดียวกัน มีความรักและความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น ชาวพุทธยังสามารถช่วยให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้ได้ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาจิต พุทธศาสนามีระบบการพัฒนาจิตโดยอาศัยสมาธิภาวนาเป็นพื้นฐาน จิตนั้นมีคุณภาพหลายประการที่สามารถพัฒนาได้ เช่น สติ สมาธิ เมตตา กรุณา รวมทั้งปัญญา แม้ว่าคุณภาพแต่ละชนิดต้องการวิธีการที่แตกต่างกัน แต่จุดร่วมก็คือการกลับมารู้จักตนเองและมีความสงบเย็นเป็นผลที่ตามมา การพัฒนาจิตให้มีคุณภาพดังกล่าวนอกจากช่วยให้ตนเองเป็นสุข และเป็นทาสวัตถุน้อยลงแล้ว ยังเอื้อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีงามกับผู้อื่น มีความเอื้ออาทร ไม่ระบายทุกข์ใส่คนอื่น หากปรารถนาช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข การพัฒนาจิตจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีจริยธรรม(หรือศีล)ที่ดีงามในสังคม จริยธรรมที่ดีงามนอกจากจะเกิดจากการพัฒนาจิตโดยอาศัยสมาธิภาวนาแล้ว ยังสามารถบ่มเพาะได้ด้วยการอาศัยกัลยาณมิตรและกระบวนการกลุ่ม พุทธศาสนาสามารถส่งเสริมให้เกิดกระบวนการกลุ่มดังกล่าวได้ในหลายลักษณะ ดังที่พระสงฆ์ในหลายท้องที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อการพัฒนาชุมชน อนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ กลุ่มดังกล่าวหากมีกระบวนการที่ดี เช่น ส่งเสริมให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีการสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากจะสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นแล้ว ยังช่วยหล่อหลอมให้เกิดความเสียสละและรับผิดชอบต่อส่วนรวม ตลอดจนตั้งมั่นในศีลมากขึ้น เสริมสร้างสันติภาพและความตื่นรู้ อย่างไรก็ตาม ปริมณฑลของธรรมนั้นมิได้อยู่ที่จิตใจของผู้คนเท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงสังคมและชุมชนที่อยู่รอบตัวเราด้วย ดังนั้นเมื่อจะนำธรรมมาใช้ให้เกิดผล นอกเหนือจากการน้อมนำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและตั้งมั่นในจิตใจแล้ว การจัดวางธรรมให้เป็นพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรม ก็มีความสำคัญเช่นกัน การบูรณาการธรรมอย่างรอบด้านเท่านั้นที่จะช่วยให้ชีวิตที่ดีงามบังเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ ด้วยเหตุนี้นอกจากการฝึกฝนพัฒนาตนและการสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคลแล้ว ชาวพุทธยังควรมีบทบาทในด้านกว้าง ได้แก่การส่งเสริมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและคุณค่าในระดับสังคม และการสร้างเงื่อนไขทางสังคมเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความตื่นรู้ โดยผ่านกิจกรรมต่อไปนี้ ๑. เสริมสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างเพื่อนมนุษย์ สิ่งที่ชาวพุทธสามารถทำได้เลยก็คือ การจัดเสวนาวิสาสะระหว่างศาสนา ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาประเทศ เบื้องต้นก็เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและไว้วางใจกัน ศาสนาทั้งหลายควรรู้จักกันมากขึ้นว่ามีความเชื่อและหลักปฏิบัติอย่างไร มีแนวทางอย่างไรในการเข้าถึงสันติภาพทั้งในระดับบุคคลและสังคม ขั้นต่อมาก็คือการร่วมมือกันเพื่อเป็นพลังในทางสันติ เช่นการส่งเสริมสันติศึกษา การใช้สันติวิธี การต่อต้านสงคราม ฯลฯ ดังจะได้กล่าวต่อไป นอกจากความร่วมมือระหว่างศาสนาแล้ว ความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างคนต่างเชื้อชาติ ภาษา และสีผิวก็สำคัญเช่นกัน ความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ในหลายประเทศเกิดขึ้นเพราะการหันหลังให้กันจนเกิดความระแวงและการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน สิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อช่วยลดความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ก็คือการมีเวทีที่นำคนเหล่านี้มาพบปะกัน พูดคุยกัน และใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาถึงความระแวงและหวาดกลัวที่มีต่อกัน กิจกรรมเหล่านี้อาจช่วยให้แต่ละคนแต่ละกลุ่มพบว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้ายอย่างที่ตนเองวาดภาพไว้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่องค์กรชาวพุทธน่าส่งเสริมให้เกิดมีขึ้นมาก ๆ ทั้งในประเทศของตน และในประเทศอื่น ๆ ที่มีชาวพุทธเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้วย หรืออาจทำร่วมกันศาสนาอื่นก็ได้โดยเฉพาะในกรณีที่ศาสนานั้นเข้าไปมีส่วนพัวพันกับความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ด้วย ประสบการณ์มากมายในนานาประเทศยืนยันว่า การสร้างความสัมพันธ์แบบตัดผ่านระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายนั้นนอกจากจะช่วยบรรเทาความระแวงและความรุนแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันความขัดแย้งมิให้ลุกลามไปเป็นความรุนแรงด้วย ๒. ส่งเสริมการศึกษาเพื่อสันติภาพ การศึกษาเพื่อสันติภาพที่ชาวพุทธได้จัดทำ น่าจะขยายไปถึงการฝึกอบรมปฏิบัติการสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้นในการต่อสู้เพื่อป้องกันสิทธิและเรียกร้องความเป็นธรรม การที่ประชาชนไม่รู้จักปฏิบัติการสันติวิธีที่มีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งทำให้เขาเหล่านั้นหันไปหาความรุนแรงเป็นทางออก ขณะเดียวกันตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรรู้จักสันติวิธีเมื่อเผชิญกับผู้ประท้วงเพื่อจะได้รักษาความสงบได้ บ่อยครั้งที่พบว่าเมื่อตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับผู้ประท้วงโดยสันติวิธี จึงหันไปหาความรุนแรงเช่นกัน ๓.จัดทำสื่อเพื่อสันติภาพ ขณะเดียวกันสื่อดังกล่าวควรมีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารที่ส่งเสริมสันติวิธี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่มักเน้นเรื่องที่หวือหวาดึงดูดใจ ดังนั้นจึงมักหนีไม่พ้นที่จะนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรง อาชญากรรม และการทะเลาะวิวาทกัน ขณะที่ข่าวเกี่ยวกับกิจกรรมสร้างสรรค์ การร่วมมือกัน รวมทั้งการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี กลับถูกมองข้าม ข่าวประเภทหลังเป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรพัฒนาสื่อขึ้นมารองรับ ไม่ว่าในรูปของหนังสือพิมพ์ วารสาร วิทยุ และโทรทัศน์ และหากเป็นไปได้แม้กระทั่งรายการภาคบันเทิง หรือเกมต่าง ๆ ในวิทยุโทรทัศน์ ก็ควรพัฒนาให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความร่วมมือยิ่งกว่าการแข่งขัน ความเสียสละยิ่งกว่าความเห็นแก่ตัว รวมทั้งการใช้สันติวิธียิ่งกว่าความรุนแรง นอกจากการลดความโกรธเกลียดและความรุนแรงแล้ว การศึกษาและสื่อเพื่อสันติภาพยังควรมีบทบาทในการลดทอนวัตถุนิยมและบริโภคนิยมด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัตถุนิยมและบริโภคนิยมกำลังมีอิทธิพลอย่างมากในวงการศึกษาและสื่อมวลชน การศึกษาและสื่อควรส่งเสริมให้ผู้คนมองชีวิตและโลกโดยไม่ติดยึดกับความจริงทางวัตถุอย่างเดียว เพราะความจริงนั้นมีหลายด้านที่ไม่อาจชั่งตวงวัดเป็นตัวเลขหรือตีค่าเป็นตัวเงินได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้คนตระหนักว่ามีความสุขอีกมากมายที่อยู่เหนือการเสพหรือการบริโภค เช่น ความสุขจากการทำความดี หรือความสุขจากการให้ เป็นต้น ๔. ลดทอนความยากจน ชาวพุทธจึงไม่ควรทำงานแค่สังคมสงเคราะห์ หรือการพัฒนาชุมชนอย่างทั่ว ๆ ไปเท่านั้น หากควรเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรไปสู่ชาวบ้าน หรือส่งเสริมให้มีการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในกรณีที่ชาวบ้านเหล่านั้นเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ ยิ่งควรได้รับความช่วยเหลืออย่างยิ่งเพราะมักเป็นฝ่ายเสียเปรียบยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่น ๕.ขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง นโยบายเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดโครงสร้างที่ทำให้ชาวบ้านยากจนลง และเข้าสู่วังวนแห่งความโง่ เจ็บ และจน นำไปสู่การตายก่อนวัยอันสมควร หรือตายตั้งแต่ยังเด็ก จัดว่าเป็นความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างที่อยุติธรรม ดังนั้นการสร้างสันติภาพจึงควรครอบคลุมไปถึงการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ด้วยการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ การส่งเสริมเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล การสร้างหลักประกันทางสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรสาธารณะอย่างเป็นธรรม แน่นอนว่าการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้าง หมายถึงการกระทบผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ การทำงานดังกล่าวจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถูกตอบโต้คัดค้าน สิ่งที่ชาวพุทธจะต้องยืนหยัดคือการใช้สันติวิธีแม้ถูกตอบโต้ขัดขวางด้วยความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าการขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้น เป็นงานใหญ่ที่ไม่อาจทำได้ด้วยการพูดคุยเท่านั้น หากต้องขับเคลื่อนด้วยปฏิบัติการสันติวิธีที่ทรงพลัง ดังนั้นการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านสันติวิธีจึงมีความสำคัญสำหรับการทำกิจกรรมดังกล่าว ในแง่นี้ชาวพุทธสามารถเรียนรู้ได้อย่างมากมายจากประสบการณ์ของคานธี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง รวมทั้งนักสันติวิธีที่ประสบความสำเร็จในลาตินอเมริกา อาฟริกา หรือแม้แต่ในยุโรปตะวันออก ๖.ต่อต้านสงครามและการสนับสนุนพลังสันติวิธี นอกจากการแสดงจุดยืนเด่นชัดคัดค้านสงครามด้วยการประท้วงหรือการแสดงออกผ่านสื่อสาธารณะแล้ว ชาวพุทธควรเข้าไปเป็น ประจักษ์พยานในที่ ๆ มีสงคราม ในฐานะฝ่ายที่สามเพื่อเตือนสติให้ทั้งสองฝ่าย (โดยเฉพาะฝ่ายที่มีอำนาจ)ได้ตระหนักว่าโลกกำลังจับจ้องการกระทำของเขาอยู่ ขณะเดียวกันก็เป็นการให้กำลังใจแก่ฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางสันติวิธี ในทุกหนแห่งที่มีความขัดแย้ง ฝ่ายสันติวิธีมักจะเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกระแวงและตกเป็นเป้าของทั้ง สอง ฝ่ายที่ใช้กำลังอาวุธ การเข้าไปเป็นกำลังใจและให้ความสนับสนุนอย่างเหมาะสมแก่ฝ่ายสันติวิธี จะช่วยเพิ่มโอกาสให้สันติภาพในประเทศเหล่านั้นได้ฟื้นกลับมาในเร็ววัน จากประสบการณ์ในหลายประเทศ ได้พบว่าการมีผู้คนไปเป็นประจักษ์พยานความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น ช่วยให้ความรุนแรงลดลง ขณะเดียวกันการเข้าไปร่วมเป็นประจักษ์พยานสำหรับการทำงานด้านสันติวิธี ได้ช่วยป้องกันนักสันติวิธีในท้องถิ่นให้ปลอดพ้นจากภัยคุกคามได้มากขึ้น เตรียมตัวเพื่อสันติภาพ ข้อเสนอดังกล่าวแม้เป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวพุทธจำนวนไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้แปลกแยกไปจากหลักการของพุทธศาสนา ซึ่งเน้นประโยชน์ของมหาชนเป็นสำคัญควบคู่ไปกับการบำเพ็ญประโยชน์ตน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวจะเป็นไปได้ จำต้องมีการปรับเปลี่ยนในฝ่ายชาวพุทธเองหลายประการด้วยกัน อาทิ ๑.เข้าไปมีบทบาทในสังคมวงกว้างมากขึ้น
จะทรงไว้ซึ่งคุณธรรมดังกล่าวได้ประการแรกชาวพุทธต้องไม่ถูกครอบงำด้วยอุปาทานในศาสนาของตัว การหลงใหลติดยึดในความเชื่อหรือทิฏฐุปาทานนั้นสามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย เพราะทำให้จิตใจคับแคบ และก่อให้เกิดความโกรธเกลียดได้ง่ายเพียงเพราะมีความเห็นที่ต่างกัน การทะเลาะเบาะแว้งในระหว่างนิกายหรือระหว่างศาสนา จนถึงขั้นทำร้ายกันนั้นเกิดจากความติดยึดในศาสนาหรือความเชื่อของตนจนไม่สามารถอดทนต่อความแตกต่างได้ ทิฏฐุปาทานอีกอย่างหนึ่งได้แก่ความติดยึดในลัทธิชาตินิยมหรือเชื้อชาตินิยม บ่อยครั้งชาวพุทธก็ติดยึดกับลัทธิดังกล่าวอย่างฝังหัว จนรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับชาติหรือเชื้อชาติที่ต่างจากตัว และดังนั้นอาจพลัดเข้าไปในวงจรแห่งความรุนแรงได้ มีความรุนแรงมากมายในอดีตและปัจจุบันที่ลุกลามขยายวงเนื่องจากศาสนาได้ตกเป็นเครื่องมือของลัทธิชาตินิยมและเชื้อชาตินิยม ขณะเดียวกันก็มีบ่อยครั้งที่ศาสนาได้กลายเป็นชะนวนให้เกิดความขัดแย้งเสียเองจนลุกลามไปเป็นสงคราม
นั่นเป็นเพราะศาสนิกชนขาดเมตตาธรรม ขันติธรรม และการให้อภัย ๓.เข้าถึงจิตวิญญาณแห่งพุทธศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่ง การทำงานเพื่อสร้างสันติภาพในโลกควรมีสันติสุขภายในเป็นพลังขับเคลื่อน ๔. ก้าวพ้นจากความคิดแบบทวิภาวะ ความคิดดังกล่าวสวนทางกับพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนามองโลกอย่างเป็นอิทัปปัจจัยตา เห็นสรรพสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ไม่อาจแยกขาดจากกันได้ ต่างพึ่งพิงอาศัยกัน เงามืดจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีแสงแดด ในทำนองเดียวกันความดีก็ไม่แยกขาดจากความชั่วได้ เพราะความดีนั้นจะเป็นที่รับรู้ได้ต่อเมื่อมีความชั่วมาเทียบเคียง ขณะเดียวกันในความดีนั้นก็มีปัจจัยที่นำไปสู่ความชั่วได้ คนดีจึงไม่ได้ดีไปเสียหมด หากมีเมล็ดพันธุ์แห่งความชั่วแฝงอยู่ด้วย การตระหนักถึงความจริงดังกล่าว ช่วยให้เราไม่มองคนดีกับคนชั่วแยกออกจากกัน เพราะแท้ที่จริงเส้นแบ่งแห่งความดีและความชั่วนั้นอยู่ในใจเรา หาได้อยู่นอกตัวไม่ การมองเช่นนี้ทำให้เราไม่หลงตนว่าเป็นคนดีพร้อม แต่พยายามรู้เท่าทันกิเลสภายใน และขณะเดียวกันก็ไม่เห็นคนอื่นเลวหมด แต่ยอมรับในความดีที่มีอยู่ในจิตใจเขาด้วย ความคิดที่ว่า ถ้าไม่เป็นพวกเรา ก็เป็นศัตรูของเรา สะท้อนถึงความคิดแบบทวิภาวะ ความคิดเช่นนี้แหละที่ทำให้คนทั้งโลกแบ่งกันเป็นสองฝ่ายและประหัตประหารกัน จะเอาชนะวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชังได้ต้องเอาชนะที่รากฐานความคิดคือความคิดแบบทวิภาวะ การหลุดพ้นจากความคิดแบบทวิภาวะ สู่โลกทัศน์แบบอทวิภาวะ จึงเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการสร้างสันติภาพในโลก ด้วยการมองโลกแบบอทวิภาวะเท่านั้นจะช่วยให้เรามองโลกอย่างไม่แบ่งแยก และเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|