![]() |
นิตยสารอิมเมจ กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง
|
นิตยสาร The Economist รายงานว่า ทุกวันนี้บุคคลที่ประสบความสำเร็จจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญอย่างมากกับการตื่นเช้า อันที่จริงจะเรียกว่า “ตื่นเช้า”ก็ไม่ถูกนัก เพราะหลายคนตื่นก่อนอาทิตย์ขึ้นเสียอีก ผู้เชี่ยวชาญด้าน “การบริหารเวลา”ผู้หนึ่งเคยสอบถามผู้บริหารองค์กรที่มีชื่อเสียงจำนวน ๒๐ คน เขาพบว่ากว่าร้อยละ ๙๐ ตื่นก่อน ๖ โมงเช้าในวันธรรมดา เช่น อินทรา นูยี ซีอีโอของเป๊ปซี่ ตื่นตี ๔ บ๊อบ อีเกอร์ ซีอีโอของดิสนีย์ตื่น ตี ๔ ครึ่ง แจ๊ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ ถือว่านอนอุตุมากที่สุด คือตื่นตี ๕ ครึ่ง พวกเขาตื่นเช้าไปทำไม กิจวัตรอย่างแรก ๆ ที่นักธุรกิจเหล่านี้ขาดไม่ได้คือ การออกกำลังกาย ซีอีโอเหล่านี้บริหารร่างกายอย่างจริงจัง เดวิด คัช ซีอีโอของเวอร์จินอเมริกา เรียกเหงื่อจากจักรยานทันทีที่ตื่นมาตอน ๔.๑๕ น. ส่วนทิม คุก นั้นอยู่ในโรงยิมตั้งแต่ตี ๕ ซีอีโอเหล่านี้เห็นว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ และร่างกายที่แข็งแรงจะช่วยให้สามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในแต่ละวันได้ดีขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน The Economist ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง ๆ ที่ซีเรียสกับการออกกำลังกาย คนเหล่านี้มักทำอย่างอื่นไปด้วย และไม่ใช่แค่อย่างเดียว บ๊อบ อีเกอร์ แห่งดิสนีย์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะออกกำลัง “ผมดูอีเมล์ ท่องเว็บ และดูโทรทัศน์นิดๆ หน่อย ๆ ในเวลาเดียวกัน” ทั้งหมดนี้เขาทำขณะฟังเพลงไปด้วย การออกกำลังกายนั้นเป็นของดีแน่ แต่การทำหลายอย่างพร้อม ๆ กันนั้นเป็นเรื่องดีจริงหรือ นักธุรกิจเหล่านี้คงคิดว่านี้เป็นการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ในเมื่อมีเวลาน้อยแต่มีอะไรต่ออะไรต้องทำมากมาย ก็ยิ่งจำเป็นต้องทำหลาย ๆอย่างในเวลาเดียวกัน หลายคนรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำเช่นนั้น แต่The Economist กลับมองว่า การทำเช่นนั้น “เป็นตัวการทำให้ใจฟุ้งซ่าน หาใช่การบริหารที่ดีไม่” หลายปีก่อนนิตยสารฉบับเดียวกันนี้เคยระบุถึงการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำกับผู้คนเป็นจำนวนหลายพันคน ใช้เวลานานหลายเดือน ได้ข้อสรุปว่า การทำหลายอย่างพร้อม ๆ กัน (multi-tasking) ไม่ได้ช่วยให้ผลการทำงานดีขึ้นเลย ตรงกันข้ามการทำงานทีละอย่างกลับทำให้ได้งานที่มีคุณภาพดีกว่า อันที่จริงข้อสรุปดังกล่าวเป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพราะเมื่อทำทีละอย่าง จิตย่อมจดจ่อเป็นสมาธิได้ดีกว่า และเมื่อมีสมาธิ ก็สามารถคิดและทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผลงานออกมาดี การทำทีละอย่างนั้นมีผลดีต่อสุขภาพจิตด้วย ไม่ใช่ดีต่องานเท่านั้น เพราะหากทำเป็นนิสัย จะช่วยให้จิตไม่แส่ส่าย ปล่อยวางความคิดและอารมณ์ได้เร็ว จึงผ่อนคลายได้ง่าย ในทางตรงข้ามการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน นอกจากจิตจะล้าหรือเครียดได้ง่ายแล้ว จิตจะอยู่นิ่ง ๆ นาน ๆ ได้ยาก จึงฟุ้งซ่านบ่อย ผลที่ตามมาคือ ต่อไปจะคุมจิตได้ยาก ถึงเวลานอน ก็นอนยาก เพราะจิตฟุ้งไม่หยุด คิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา ทำให้เครียดหนักขึ้น ทุกวันนี้โรคเครียดกลายเป็นปัญหาของคนสมัยใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคิดไม่หยุด และหยุดความคิดไม่ได้ นิสัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการสะสมบ่มเพาะเป็นเวลานาน ไม่ใช่จากการคิดเรื่อยเปื่อยเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน ทั้งในชีวิตประจำวันและจากการทำงาน ลองสร้างนิสัยใหม่ให้แก่จิตใจด้วยการทำทีละอย่างตั้งแต่ตื่นนอน เวลาล้างหน้า ใจก็อยู่กับการล้างหน้า เวลาอาบน้ำใจก็อยู่กับการอาบน้ำ ไม่ควรเอาอะไรมาคิด เปิดใจรับความสดชื่นจากสายน้ำ เวลากินข้าว ใจก็อยู่กับการกินข้าว วางงานการที่จะทำในเช้าวันนั้นลงก่อน ขณะเดียวกันเมื่อออกกำลังกาย ใจก็อยู่กับการออกกำลังกาย รับรู้ถึงการยืดและขยายของกล้ามเนื้อ รวมทั้งลมหายใจที่เข้าออก อย่าเพิ่งสนใจอีเมล์หรือข้อความในไลน์ วิธีนี้ช่วยให้จิตมีสมาธิ และพักความคิดไปในตัว นอกจากทำให้จิตผ่อนคลายแล้ว เมื่อถึงเวลาใช้ความคิค ก็คิดได้อย่างมีพลัง ทะลุปรุโปร่ง จึงช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” เป็นเคล็ดลับง่าย ๆ ที่ช่วยให้งานได้ผล คนเป็นสุขทั้งกายและใจไปพร้อม ๆ กัน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |