|
“จันทิมา” มีแม่ที่เริ่มเป็นอัลไซเมอร์ หลงลืมเป็นประจำ เวลาหาของไม่เจอ จะมีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย อีกทั้งมีเรื่องวิตกกังวลต่าง ๆ นานา หน้าตาหม่นหมอง อารมณ์พลุ่งพล่านได้ง่าย จันทิมาไม่สบายใจที่แม่เป็นเช่นนี้ พยายามบอกให้แม่ปล่อยวาง หาของไม่เจอไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เจอเอง อย่าไปกังวลมาก แต่พูดเท่าไรก็ไม่เป็นผล ทำให้เธอยิ่งเครียด ไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ไม่ยอมปล่อยวางบ้าง จันทิมาอยากให้แม่ปล่อยวาง แต่เธอกลับไม่เฉลียวใจเลยว่า ตัวเธอเองก็ปล่อยวางไม่ได้ เป็นทุกข์ทุกครั้งที่เห็นแม่ไม่เป็นดั่งใจ ในเมื่อตัวเธอเองยังปล่อยวางไม่ได้ แล้วจะไปคาดหวังให้แม่ ซึ่งมีสุขภาพจิตย่ำแย่กว่าเธอ ปล่อยวางได้อย่างไร จะว่าไปแล้วความเครียดของเธอ มีส่วนไม่น้อยทำให้แม่มีอาการกระวนกระวายหนักขึ้น เพราะถึงแม้ความจำและความคิดจะเสื่อมทรุด แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ยังสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนรอบข้างได้ผ่านสีหน้าและน้ำเสียง กล่าวอีกนัยหนึ่งความเครียดของจันทิมาสามารถถ่ายเทไปยังแม่ของเธอได้ ถ้าเธออยากให้แม่ปล่อยวาง เธอก็ต้องเป็นฝ่ายปล่อยวางก่อน ถ้าเธอยังปล่อยวางไม่ได้ อย่างน้อยก็จะเข้าใจได้ว่าทำไมแม่จึงไม่ยอมปล่อยวางบ้าง ความเข้าใจดังกล่าวย่อมช่วยให้เธอเป็นทุกข์น้อยลง ยอมรับสภาพความเป็นจริงของแม่ได้มากขึ้น การยอมรับดังกล่าวย่อมช่วยให้ปฏิสัมพันธ์ของเธอกับแม่ดีขึ้น และเมื่อเธอเป็นทุกข์น้อยลง ก็ย่อมส่งผลดีต่ออารมณ์ของแม่ด้วย ยิ่งเธอสามารถปล่อยวางได้มากขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อได้อยู่กับแม่ ก็จะโน้มน้าวอารมณ์ของแม่ให้พลอยดีขึ้นด้วย การช่วยเหลือผู้ป่วยนั้น ควรเริ่มจากการดูแลรักษาใจของผู้ดูแลให้ดีก่อน การเรียกร้องหรือแนะนำพร่ำสอนผู้ป่วยให้รู้จักวางใจมักไร้ผล หากผู้ดูแลลืมมองตน และไม่สนใจที่จะปฏิบัติตนอย่างเดียวกับที่เรียกร้องผู้ป่วย สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ คนที่ชอบเรียกร้องผู้อื่นให้ปล่อยวางนั้น ตนเองมักทำใจปล่อยวางไม่ค่อยได้ จะว่าไปแล้วสาเหตุที่ผู้คนชอบเรียกร้องผู้อื่นนั้นมักเป็นเพราะลืมเรียกร้องตนเอง ใคร ๆ ก็อยากเห็นคนอื่นเปลี่ยนแปลง แต่ละเลยที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน บ่อยครั้งเรามักมองว่าคนอื่นเป็นปัญหา แต่ไม่เฉลียวใจว่าตนเองก็เป็นปัญหาหรือมีส่วนทำให้เกิดปัญหานั้นด้วยเช่นกัน พ่อแม่ที่กลุ้มใจเพราะลูกไม่ยอมฟังตนนั้น หากสืบสาวไปก็จะพบว่าเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ยอมฟังลูกก่อน ถนัดแต่การบังคับ ชี้นิ้ว หรือสั่งสอนอย่างเดียว ไม่สนใจแม้แต่จะถามว่าลูกคิดหรือรู้สึกอย่างไร ลูกที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบนี้ พอโตขึ้นก็ไม่ฟังพ่อแม่เช่นเดียวกัน ปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการเรียกร้องให้ลูกฟังพ่อแม่มากขึ้น แต่แก้ได้ด้วยการที่พ่อแม่เป็นฝ่ายฟังลูกก่อน ไม่ด่วนตัดสินเมื่อเห็นลูกทำอะไรที่ขัดตาขัดใจ แต่ควรถามเหตุผลของลูกก่อน เมื่อใดที่พ่อแม่เปลี่ยนแปลงตนเองได้ ความเปลี่ยนแปลงของลูกก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เป็นเพราะลืมมองตน ผู้คนจึงมักสร้างปัญหาหรือมีส่วนทำให้ปัญหาลุกลามขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อใดที่คิดจะแก้ปัญหา ควรหันมาสำรวจตนเองก่อนที่จะเรียกร้องหรือจัดการคนอื่น แม้แต่การช่วยคนอื่นก็เช่นกัน เพียงแค่ดูแลตนเองให้ดีก็สามารถช่วยคนอื่นได้มาก ภาษิตของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เมื่อรักษาตน ก็เท่ากับรักษาผู้อื่น(ด้วย)” ไม่ล้าสมัยเลย แม้กาลเวลาจะผ่านมาร่วม ๒,๖๐๐ ปี
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |