![]() นิตยสาร IMAGE
มกราคม ๒๕๕๗
แบ่งปันบน facebook Share |
จีโน บาร์ตาลี เป็นนักปั่นจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอิตาลี เขาได้รับรางวัลชนะเลิศที่ทรงเกียรติระดับนานาชาติหลายรางวัล รวมทั้งรางวัลตูร์เดอฟรองซ์ ทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งทุกวันนี้มีชาวอิตาเลียนน้อยคนที่จะทำผลงานได้สุดยอดเหมือนเขา แต่เกียรติประวัติที่สำคัญที่สุดของเขามิได้อยู่ที่ตรงนั้น สิ่งที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ”อย่างแท้จริงก็คือ การที่เขาได้เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเหลือชาวยิวเป็นจำนวนมากในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ไม่ต้องประสบชะตากรรมอย่างคนอีก ๖ ล้านคนในค่ายนรกนาซี ในช่วงที่เยอรมันยึดครองอิตาลี ชาวยิวถูกกวาดล้างขนานใหญ่ตามคำสั่งของฮิตเลอร์ บาร์ตาลีมีบทบาทสำคัญในการช่วยพาชาวยิวหลบหนี ด้วยการนำเอกสารและหนังสือเดินทางปลอมที่ซุกซ่อนใต้อานและในโครงรถ ไปมอบให้แก่คนเหล่านั้น แน่นอนว่าหากเขาถูกจับได้ อาจถูกทรมานและลงโทษถึงตาย วีรกรรมดังกล่าวของเขาเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาวยิว เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ได้มีการทำพิธีรำลึกถึงเขาในอิสราเอล โดยจารึกชื่อเขาในสวนแห่งความดีงามในมวลประชาชาติ อันเป็นการยกย่องอย่างสูงแก่ชาวต่างชาติที่ทำคุณประโยชน์แก่อิสราเอล อย่างไรก็ตามในสมัยที่บาร์ตาลียังมีชีวิตอยู่ เขาแทบไม่เคยเอ่ยถึงวีรกรรมดังกล่าวเลย จนสิ้นลมเมื่อปี ๒๐๐๐ ดังนั้นจึงมีชาวอิตาลเลียนน้อยคนที่รู้เรื่องนี้ หากไม่ใช่เป็นเพราะลูกชายของเขาที่พยายามเผยแพร่วีรกรรมของเขาให้ปรากฏ เกียรติประวัติดังกล่าวของเขาก็คงถูกลืมเลือนไป เคยมีคนบอกเขาว่า “คุณคือ วีรชน” บาร์ตาลีกลับปฏิเสธว่า ไม่ใช่ผม “คนที่เป็นวีรชนที่แท้จริง คือคนที่เจ็บปวดในวิญญาณ ในหัวใจ ในดวงจิต เพื่อคนที่ตนรัก คนเหล่านี้คือวีรชนอย่างแท้จริง ผมเป็นเพียงนักปั่นจักรยาน” บาร์ตาลีเคยกล่าวว่า เขาอยากให้ผู้คนรำลึกถึงเขาเพราะความสำเร็จทางด้านการกีฬามากกว่าที่จะยกย่องเขาว่าเป็นวีรชน เหตุผลก็คือ เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำในระหว่างสงครามโลกนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย คนเก่งนั้นมักชอบโอ้อวด แต่คนดีมีน้ำใจกลับชอบเก็บงำ อาจเป็นเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย เทียบไม่ได้กับความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนอีกมากมาย หรือไม่ก็เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ที่ใคร ๆ ก็ต้องทำหากตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับตน แรนดี เพาช์ ผู้เขียน The Last Lecture อันมีที่มาจากปาฐกถาอันลือชื่อในหัวข้อเดียวกัน ซึ่งมีคนนับล้าน ๆ ได้ดูจาก You Tube เล่าว่า หลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตลง เขาได้รื้อเอกสารส่วนตัวของพ่อ แล้วพบว่าสมัยที่เป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อเคยได้รับเหรียญกล้าหาญและใบประกาศเกียรติคุณที่สดุดี “ความสำเร็จอย่างกล้าหาญ”ของเขา เรื่องมีอยู่ว่า คราวหนึ่งกองทหารราบของพลทหารเพาช์ถูกทหารเยอรมันโจมตี หลายคนถูกยิงตาย แต่เพาช์ผู้พ่อกระโดดออกจากที่กำบังเพื่อทำแผลให้ผู้บาดเจ็บขณะที่ถูกระดมยิงอย่างต่อเนื่อง ความกล้าหาญของเขาทำให้ผู้บาดเจ็บทุกคนได้รับการเคลื่อนย้ายสู่ที่ปลอดภัยอย่างเรียบร้อย เพาช์ผู้ลูกเล่าว่า ตั้งแต่เล็กจนโต “พ่อกับผมคุยกันเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง แต่พ่อไม่เคยคุยอวดเรื่องนี้เลย” เขาเพิ่งมารู้วีรกรรมของพ่อก็ต่อเมื่อพ่อจากไปแล้ว นี้คือบทเรียนสำคัญที่เขาได้รับในเรื่องการเสียสละและความอ่อนน้อมถ่อมตน คนจำนวนไม่น้อยเมื่อทำความดีสักครั้งก็อยากโอ้อวด หากไม่ได้ทำเช่นนั้นก็จะรู้สึกอึดอัดแน่นอก นั่นเป็นเพราะอำนาจของอัตตาที่อยากประกาศให้โลกรู้ถึงวีรกรรมของตน แต่คนที่ปล่อยให้อัตตาครอบงำเช่นนั้นย่อมยากที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นได้อย่างแท้จริง เพราะความจริงมีอยู่ว่า อัตตายิ่งใหญ่ หัวใจก็ยิ่งเล็ก ตรงข้ามกับคนที่มีหัวใจใหญ่ ก็เพราะมีอัตตาเล็ก จึงกล้าเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่ต้องประกาศ อัตตาใหญ่มักทำให้ทุกข์ง่าย ตรงกันข้ามกับอัตตาที่เล็กลงก็ทำให้เป็นสุขได้ง่ายขึ้น ถ้าอยากให้อัตตาเล็กลง อย่างหนึ่งที่ควรทำคือ ไม่โอ้อวดเมื่อทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือได้รับความสำเร็จ ทำใหม่ ๆ อัตตาจะโวยวาย ไม่ยอมง่าย ๆ แต่ทำไปนาน ๆ มันก็จะสงบเสงี่ยมและตัวลีบลง ถึงตอนนั้นหัวใจจะใหญ่ขึ้น และเปิดพื้นที่ให้ความสุขมานั่งในหัวใจเราได้มากขึ้น
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |