แบ่งปันบน facebook
Share
ขณะที่เขาขับมอเตอร์ไซค์ใกล้ถึงสี่แยก
ก็เห็นสัญญาณไฟเขียว จึงพุ่งไปข้างหน้า แต่พอถึงกลางสี่แยก รถเก๋งซึ่งแล่นมาจากทิศทางตรงกันข้าม
ก็เลี้ยวซ้ายแล้วชนเขาอย่างจัง เขากระเด็นจากรถกระแทกพื้น โชคดีที่เขาเพียงแต่ดั้งจมูกหักและเสียฟันไปสองสามซี่
อย่างไรก็ตามเขาถูกปรับเนื่องจากไม่สวมหมวกกันน็อค ส่วนคนขับรถเก๋งถูกปรับที่ไม่ยอมให้ทางรถมอเตอร์ไซค์
เหตุการณ์นี้ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าเมืองเล็กเมืองใหญ่
สาเหตุนั้นมักสรุปกันว่าเป็นเพราะความประมาทของคนขับไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง
หรือทั้งสองฝ่าย แต่บ่อยครั้งทั้งคู่ยืนยันว่าตนขับด้วยความระมัดระวัง
คนขับรถเก๋งหลายคนยืนยันว่าไม่เห็นรถมอเตอร์ไซค์เลยก่อนที่จะพุ่งชน
บางคนถึงกับบอกว่า ผมให้สัญญาณไฟเลี้ยวก่อนแล้ว หนำซ้ำยังดูจนแน่ใจว่าถนนว่าง
จึงเลี้ยว จู่ ๆ ก็มีอะไรมาชนรถของผม มารู้อีกทีก็เห็นคนนอนแผ่อยู่บนถนนพร้อมกับมอเตอร์ไซค์
ส่วนคนขับมอเตอร์ไซค์ก็พูดทำนองว่า ผมขับอยู่ดี ๆ รถคันนั้นก็พุ่งมาชนผม
แถมคนขับยังมองมาที่ผมด้วยซ้ำ
เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากจนยากที่จะสรุปว่าเป็นเพราะความประมาทอย่างเดียว
ในที่สุดนักวิชาการคู่หนึ่งเชื่อว่าตนพบคำตอบ คริสโตเฟอร์ ชาบริส
และดาเนียล ไซมอนส์ ได้ทำการทดลองที่มีชื่อเสียงมาก เขานำวีดีโอคลิปความยาวไม่ถึง
๑ นาทีมาให้คนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าชม วีดีโอนั้นเป็นภาพนักกีฬา ๒ ทีมเดินสลับกันไปมาในวง
ระหว่างนั้นก็โยนลูกบาสเกตบอลให้แก่เพื่อนในทีมไปด้วย ทีมหนึ่งใส่เสื้อสีขาว
อีกทีมหนึ่งใส่เสื้อสีดำ รวมแล้วมีไม่ถึงสิบคน
สิ่งที่ผู้ชมได้รับมอบหมายให้ทำก็คือ
นับในใจว่าทีมเสื้อขาวนั้นโยนลูกให้กันกี่ครั้ง โดยไม่ต้องสนใจทีมเสื้อดำ
เมื่อฉายวีดีโอเสร็จ ผู้ฉายก็ถามว่า มีการโยนลูกกี่ครั้ง แน่นอนว่าคำตอบค่อนข้างหลากหลาย
แต่ที่จริงนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำถามข้อที่สองว่า
ระหว่างที่นับลูกนั้น มีใครเห็นกอริลล่าบ้าง ประมาณครึ่งหนึ่งรู้สึกงงงันว่า
เขากำลังพูดถึงเรื่องอะไร ดังนั้นจึงมีการฉายคลิปวีดีโอนั้นซ้ำอีกครั้ง
คราวนี้ทุกคนไม่ต้องนับแล้ว และให้สังเกตว่าเห็นอะไร ไม่นานทุกคนก็พบคำตอบ
เพราะพอคลิปวีดีโอฉายได้ไม่ถึง ๓๐ วินาที ก็มีคนแต่งชุดกอริลล่าเดินเข้ามากลางวงปะปนอยู่กับทั้งสองทีม
แถมยังหันหน้าให้กล้อง และตบอกก่อนที่จะเดินจากไป
กอริลล่านั้นปรากฏกลางจอนาน
๙วินาที แต่เกือบครึ่งของผู้ชมมองไม่เห็นเลย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบก็คือ เมื่อใจเราจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง มีแนวโน้มที่เราจะมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่คาดคิด
ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ต่อหน้าเราแท้ ๆ
มีการทดลองทำนองนี้อยู่หลายครั้ง
โดยนักวิชาการคนละกลุ่ม คราวหนึ่งเปลี่ยนจากคนเล่นบาสเกตบอล มาเป็นตัวอักษรสีขาวและสีดำ
คนดูเพียงแต่นับอักษรสีขาวที่เคลื่อนมาแตะริมจอคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องสนใจสีดำ
ปรากฏว่าร้อยละ๓๐ มองไม่เห็นกากบาทสีแดงที่เคลื่อนมากลางจอ ทั้ง
ๆ ที่สีแดงเป็นสีที่โดดเด่น ต่างจากกอริลลาสีดำซึ่งเป็นสีเดียวกับของอีกทีมหนึ่งที่โยนบาสเกตบอลในการทดลองก่อนหน้านั้น
มีการทดลองอีกครั้งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกับการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์โดยตรง
คราวนี้กำหนดให้อาสาสมัครขับรถโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จำลองสถานการณ์จริง
(simulator) ทุกคนได้รับโจทย์ว่า เมื่อถึงสี่แยก ให้มองหาลูกศรสีน้ำเงินซึ่งชี้ว่าให้เลี้ยวไปทางไหน
ทั้งนี้ไม่ต้องสนใจลูกศรสีเหลือง ขณะที่รถวิ่งมากลางสี่แยก ก็ให้รถมอเตอร์ไซค์อีกคันหนึ่งแล่นสวนมาแล้วหยุด
การทดลองพบว่า หากคนขับมอเตอร์ไซค์สวมเสื้อสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีเดียวกับลูกศรที่ต้องมอง
คนขับรถเก๋งจะสังเกตเห็นและหยุดทัน แต่ถ้าคนขับมอเตอร์ไซค์สวมเสื้อสีเหลือง
ร้อยละ ๓๖ จะพุ่งขับชน โดยที่บางคนไม่ได้แตะเบรกเลยด้วยซ้ำ
การทดลองเหล่านี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า
คนเรามิได้เห็นทุกอย่างที่อยู่ต่อหน้า หากเป็นสิ่งที่ไม่คาดหวังว่าจะเจอหรือไม่อยู่ในความสนใจ
ก็มีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็น นั่นหมายความต่อไปว่า สิ่งที่เราไม่เห็น
ก็ไม่ได้แปลว่าสิ่งนั้นไม่มี ดังนั้นจึงอย่าเชื่อสายตาของเรามากนัก
เพราะมันมีข้อจำกัดมากมาย
บ่อยครั้งที่ผู้คนทะเลาะกันเพราะเชื่อสายตาของคนมากไป
แต่ถ้าเราไม่ยึดมั่นสำคัญหมายว่าสิ่งที่เราเห็นเท่านั้นที่เป็นความจริง
เราคงจะทะเลาะกันน้อยลง และฟังกันมากขึ้น