แบ่งปันบน facebook
Share
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
อาจารย์และนักมานุษยวิทยาชื่อดัง เล่าว่าคราวหนึ่งได้ไปเที่ยวทะเลที่ระยอง
ขณะที่เล่นน้ำอยู่ได้เห็นหญิงผู้หนึ่งยืนอยู่บนชายหาดกำลังพูดคุยกับเด็กสาววัย
๑๓-๑๔ ปีสองคนที่อยู่ในทะเล สองคนนั้นคงเป็นพี่เลี้ยงของลูกเธอ ซึ่งอยู่ในเรือยางใกล้
ๆ กัน เมื่อพูดเสร็จเธอก็เดินขึ้นฝั่งแล้วหายตัวไป ส่วนเด็กสาวสองคนนั้นลากเรือยางออกไปโต้คลื่น
สักพักก็สังเกตว่าเรือลอยออกจากฝั่งไปเรื่อย ๆ ส่วนพี่เลี้ยงและเด็กซึ่งอายุประมาณ
๖-๗ ขวบ ท่าทีก็เปลี่ยนไป จากเดิมทีเคยหัวเราะสนุกสนานก็เงียบเสียงและสีหน้าไม่ค่อยดี
สักพักพี่เลี้ยงซึ่งตอนนี้ขึ้นไปนั่งอยู่บนเรือแล้ว ก็มีท่าทางตกใจ
โบกไม้โบกมือและตะโกนเรียกคน แต่ไม่มีใครได้ยินเพราะเรือลอยห่างออกไปทะเลมากแล้ว
อาจารย์อคินเห็นเช่นนั้นจึงตัดสินใจตะโกนร้องเรียกชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมีรูปร่างล่ำสัน
และชี้ให้เขาดูเรือยางที่ถูกกระแสน้ำพัดออกไปไกล เขาจึงรีบว่ายน้ำไปยังเรือยางนั้นแล้วลากกลับมาที่ชายหาด
เด็กสาวทั้งสองเมื่อรู้ว่าปลอดภัยแล้วก็มีสีหน้าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และเมื่อเรือมาใกล้จุดที่อาจารย์อคินยืนอยู่ ก็กล่าวขอบคุณอย่างนอบน้อม
แต่ที่คิดไม่ถึงก็คือ หญิงผู้เป็นมารดาของเด็กคนนั้น
จู่ ๆ ก็โผล่มาที่ชายหาด แล้วเดินรี่เข้ามาหาอาจารย์อคิน สีหน้าโกรธจัดพร้อมกับพูดว่า
"ทำไมคุณไม่ว่ายน้ำออกไปช่วยเองเล่า เอะอะเรียกคนเขาทำไม"
"ก็ผมแก่ป่านนี้แล้วก็ป่วยด้วย
ถ้าขืนว่ายออกไปก็ตายนะซิ" อาจารย์อคินตอบด้วยความตกใจแกมประหลาดใจ
อะไรทำให้หญิงผู้นั้นโกรธจัดถึงกับต่อว่าชายผู้มีส่วนช่วยชีวิตของลูกเธอ
ที่จริงเธอน่าจะดีใจและขอบคุณท่านด้วยซ้ำ ที่ทำให้ลูกเธอรอดตาย คำตอบเห็นจะเป็นเพราะเธอรู้สึก
"เสียหน้า"นั่นเองที่ปล่อยปละละเลยลูกจนตกอยู่ในอันตราย
หรือไม่ก็อับอายที่ไม่ได้ช่วยอะไรลูกเลย แต่เป็นคนอื่นต่างหากที่ช่วยชีวิตลูกเธอไว้
พูดง่าย ๆ คือเธอนึกถึงหน้าตาของตัวเองมากกว่านึกถึงความปลอดภัยของลูก
เธอรู้สึกเสียหน้าที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของแม่เท่าที่ควร
แต่เพื่อไม่ให้เธอรู้สึกว่าเธอเป็นแม่ที่แย่ จึงหาช่องตำหนิอาจารย์อคินว่าทำไมไม่ว่ายน้ำไปช่วยเสียเอง
การตำหนิเช่นนั้นทำให้เธอสบายใจขึ้นว่า ฉันไม่ได้แย่คนเดียว คนอื่นก็แย่เหมือนกันและอาจจะแย่กว่าฉันด้วยซ้ำ
ทั้งหมดที่เธอทำนั้นล้วนเป็นเพราะแรงผลักดันของอัตตาแท้
ๆ อัตตานั้นยอมรับไม่ได้ว่าตนเองทำผิดพลาด และจะโกรธมากหากมีใครมาทำให้คนอื่นเห็นความผิดพลาดของตน
หรือชี้ช่องให้ตนเองเห็นความผิดพลาดนั้น (ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสุดวิสัยหรือเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์)
ขณะเดียวกันอัตตาก็ยอมไม่ได้ที่จะเห็นคนอื่นดีกว่าตนเอง ดังนั้นแทนที่จะชื่นชมก็ต้องหาช่องตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์
อัตตาสามารถกระตุ้นให้เราเกลียดชังแม้กระทั่งคนที่มีบุญคุณกับเรา
หากว่าการกระทำของเขาทำให้เราเห็นข้อบกพร่องของตนเอง หรือทำให้คนอื่นเห็นความผิดพลาดของเรา
ที่จริงไม่มีใครต่อว่าหญิงผู้นั้นเลย
เพราะเป็นเรื่องสุดวิสัยที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่คิดถึงแต่หน้าตาของตนเอง
คนเราก็สามารถปรุงแต่งไปได้ร้อยแปด รวมทั้งมีตรรกะหรือเหตุผลประหลาดพิสดาร
ด้วยเหตุนี้ แม้แต่คนที่ช่วยเหลือลูกของตน หญิงผู้นี้ก็มองเห็นเขาเป็นผู้ร้ายและพร้อมระบายความโกรธใส่อย่างเต็มที่
เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดหากเธอนึกถึงลูกแทนที่จะนึกถึงหน้าตาของตนเอง
เพราะเมื่อรู้ว่ารู้ว่าลูกปลอดภัย แม่คนไหนก็ย่อมดีใจทั้งนั้น และจะรู้สึกดีกับคนที่ช่วยชีวิตลูกของเธอ
ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเป็นทุกข์ รู้สึกแย่หรือกราดเกรี้ยวคนอื่นเลย
เพราะทุกฝ่ายมีแต่ "ได้" ไม่มีใคร "เสีย"เลย
ตรงกันข้ามการเอาอัตตาเป็นตัวตั้ง ย่อมลงเอยด้วยความทุกข์ของทุกฝ่าย
การเอาอัตตาหรือหน้าตาเป็นตัวตั้ง
เป็นที่มาแห่งความทุกข์ใจและความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน แม้แต่เรื่องดี
ๆ ก็กลายเป็นเรื่องร้ายอย่างเรื่องข้างบนได้ การรู้เท่าทันอัตตาเวลามันโผล่มาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แม้ว่าการลดละอัตตาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเรารู้จักเปลี่ยนมุมมองบ้าง
เช่น มองจากมุมของคนอื่น หรือนึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง อัตตาก็จะครองใจเราน้อยลง
และเปิดโอกาสให้ความสุขมานั่งในใจเราได้มากขึ้น