หน้ารวมบทความ
   บทความ > นิตยสารอิมเมจ > คุณค่าของความผิดหวัง
กลับหน้าแรก

นิตยสาร IMAGE สิงหาคม ๒๕๕๒
คุณค่าของความผิดหวัง
ภาวัน

คงไม่มีชาวลอนดอนคนไหนไม่รู้จัก A-Z Maps หนังสือแผนที่ที่แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวก็ต้องมีไว้คู่กายหากคิดจะอยู่มหานครแห่งนี้แม้ชั่วเวลาสั้น ๆ ก็ตาม

แต่ถึงแม้คุณไม่เคยไปลอนดอนเลย คุณก็ต้องรู้จักหรือได้ยินชื่อ ฮอลิเดย์อินน์ กับ แอร์เอเชียแน่นอน อาจจะเคยใช้บริการของทั้งสองแล้วด้วยซ้ำ

ทราบหรือไม่ว่า A-Z Maps ฮอลิเดย์อินน์ และแอร์เอเชีย มีอะไรอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน นอกเหนือจากการเป็นสินค้าหรือบริการที่นักเดินทางที่ติดต่อหรืออาศัยอยู่ในซีกโลกตะวันตกรู้จักดี คำตอบก็คือ ทั้งสามมีจุดเริ่มต้นมาจาก “ปัญหา” หรือ “ความผิดหวัง”

วันหนึ่งในปี ๑๙๓๕ ฟิลลิส เพียร์ซอล ได้รับเชิญไปร่วมงานปาร์ตี้แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน เธอรู้ดีว่ามหานครแห่งนี้มีตรอกซอกซอยซับซ้อนมาก เมื่อถึงวันงานเธอจึงเอาแผนที่ติดตัวไปด้วย แต่มันก็ไม่ช่วยให้เธอไปถึงบ้านเจ้าภาพได้ทันเวลาเลย เธอหลงทางอยู่พักใหญ่เนื่องจากแผนที่นั้นหยาบและล้าสมัยแล้ว นั่นคือจุดเริ่มต้นให้เธอคิดทำหนังสือแผนที่กรุงลอนดอนที่ครอบคลุมทุกถนนและตรอกซอกซอยอย่างละเอียด นับแต่วันนั้นชีวิตของเธอก็เปลี่ยนแปลงไป จากนักวาดรูปเหมือนกลายเป็นนักทำแผนที่และนักออกแบบตัวอักษรที่โด่งดังทั่วอังกฤษ

กลางปี ๑๙๕๒ เคมมอนส์ วิลสันขับรถพาครอบครัวไปกรุงวอชิงตัน ระหว่างทางต้องนอนค้างแรมตามโรงแรมริมทาง เขารู้สึกผิดหวังมากกับโรงแรมทุกแห่งที่เข้าพัก เพราะนอกจากจะไม่สะอาดแล้ว บริการก็ย่ำแย่ เอาแน่นอนไม่ได้ เขาจึงเกิดความคิดที่จะสร้างโรงแรมที่สะอาด บริการได้มาตรฐาน เป็นมิตรกับครอบครัว ราคาไม่แพง และเข้าถึงง่าย จากอาชีพนักสร้างบ้าน เขากลายเป็นผู้บริหารโรงแรม ในชั่วเวลาไม่กี่ปีโรงแรมได้ขยายสาขาไปอย่างรวดเร็วจนเป็นที่รู้จักทั่วโลก

โทนี เฟอร์นันเดส ไปเรียนอังกฤษตั้งแต่อายุ ๑๒ ความสุขของเขาในวัยเยาว์คือการได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่กัวลาลัมเปอร์ วันหนึ่งหนุ่มโทนีขออนุญาตพ่อกลับไปเที่ยวบ้านกลางภาคเรียน แต่พ่อไม่อนุญาต เหตุผลก็เพราะค่าเครื่องบินแพงมาก ด้วยความรู้สึกผิดหวัง เขาจึงชดเชยด้วยการไปเดินแกร่วแถวสนามบินฮีทโทรว์ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อดูเครื่องบินขึ้นลง นั่นคือจุดเริ่มต้นของความฝันที่จะเป็นเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำ ในที่สุดฝันของเขาเป็นจริงเมื่ออายุ ๓๗ ปี ก่อนเหตุการณ์ ๑๑ กันยาแค่ ๓ วันเท่านั้น

เมื่อพบกับปัญหาหรือความไม่สมหวัง เรามักเกิดความหงุดหงิด ขุ่นเคือง หรือโมโหโกรธา หลายคนอาจซ้ำเติมด้วยการโทษชะตากรรมหรือ “ความซวย”ของตน แต่นั่นก็มีแต่จะทำให้เราทุกข์มากขึ้น และไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย แต่ถ้าหากเราหยุดคร่ำครวญ แล้วหันมาใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้น เราอาจจะได้คิดและเกิดปัญญาขึ้นมา

ทั้งสามกรณีข้างต้นเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่มัวหัวเสียกับเรื่องที่ไม่สมหวัง แต่กลับมาตั้งคำถามว่าปัญหาคืออะไร มีสาเหตุอยู่ที่ตรงไหน และจะแก้ไขได้หรือไม่ ด้วยท่าทีเช่นนี้ “ปัญหา” จึงกลายเป็นตัวกระตุ้น “ปัญญา” ทำให้เกิดความคิดที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ทั้งสามคนไม่ได้หยุดเท่านี้ พวกเขาไม่เพียงแต่คิดหรือฝันเท่านั้น แต่ยังลงมือทำด้วย จะว่าไปแล้วความผิดหวังทำให้พวกเขามีแรงผลักหรือความมุ่งมั่นที่จะทำความฝันให้เป็นความจริงขึ้นมา หากไม่เคยผิดหวังหรือเจ็บปวดด้วยตนเอง พวกเขาก็อาจแค่คิด แต่ไม่กระตือรือร้นที่จะลงมือทำ

หลังจากหลงทางวันนั้น วันรุ่งขึ้นฟิลลิส เริ่มทำการสำรวจกรุงลอนดอน กว่าเธอจะทำแผนที่มหานครแห่งนี้เสร็จ เธอเดินเป็นระยะทางถึง ๔,๘๐๐ กม. (เกือบ ๗ เท่าของระยะทางจากกทม.-เชียงใหม่) ตระเวนตามถนนและตรอกซอกซอยไม่น้อยกว่า ๒๓,๐๐๐ สาย โดยตื่นตั้งแต่ตี ๕ และกลับบ้าน ๑๘ ชั่วโมงหลังจากนั้น

ทุกวันนี้แม้เป็นเจ้าของสายการบินแล้ว โทนียังทำงานขนกระเป๋าผู้โดยสารเดือนละวัน เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ๒ เดือนต่อวัน และเป็นพนักงานเช็คอิน ๓ เดือนต่อวัน เขาจึงรู้ดีว่าลูกค้าต้องการอะไร

นักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งเคยกล่าวว่า “คนเราเมื่อล้มแล้วต้องหยิบอะไรขึ้นมาสักอย่าง” เมื่อคุณประสบปัญหาหรือความผิดหวัง ลองมองดูสิว่ามันมีประโยชน์อย่างไรบ้าง เมื่อเห็นแล้ว อย่าอยู่เฉย ควรลงมือทำให้เกิดผลด้วย

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved