![]() บทความ > นิตยสารอิมเมจ > ถูกต้อง หรือ ถูกใจ ? |
|
เรื่องนี้เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งสมัยที่ยังไม่มีประดิษฐกรรมที่ชื่อว่า อบต. วันหนึ่งปั๊มโยกสูบน้ำจากบ่อกลางหมู่บ้านใช้การไม่ได้ นักศึกษาที่ทำงานเป็นพัฒนากรประจำหมู่บ้าน จึงออกไปเรี่ยไรชาวบ้านบ้านละ ๑๐ บาทเพื่อเป็นค่าซ่อมปั๊ม ชาวบ้านรู้เข้าก็แย้งว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะเขาใช้น้ำจากบ่อนี้ไม่เท่ากัน บ้านที่อยู่ใกล้บ่อใช้น้ำมาก แต่บ้านที่อยู่ไกลใช้น้อยเพราะเอาน้ำจากบ่อลำบาก เขาจึงรองน้ำฝนเอง จะไปเรียกเงินจากเขาเท่า ๆ กันได้อย่างไร ไม่เป็นธรรมกับเขา เป็นอันว่าบ้านไหนใช้มาก ก็จ่ายมาก บ้านไหนใช้น้อย ก็จ่ายน้อย หนึ่งเดือนต่อมามีคนบริจาคผ้าห่มให้แก่ทางวัด หลวงพ่อเห็นว่าผ้าห่มได้มาเป็นจำนวนมาก จึงคิดจะแบ่งให้แก่ชาวบ้าน แต่ไม่สามารถแบ่งให้เท่ากันได้ จึงปรึกษามัคทายก มัคทายกแนะนำว่าบ้านไหนที่ช่วยงานส่วนรวมก็ให้ ๒ ผืน นอกนั้นก็ให้บ้านละผืน ปรากฏว่าบ้านที่ได้ผืนเดียวไม่พอใจที่ได้น้อยกว่าบ้านอื่น ผลก็คือหลวงพ่อถูกตำหนิว่าไม่เป็นธรรม ทั้ง ๒ กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นธรรม แต่ขอให้สังเกตว่าเกณฑ์ที่ใช้วัดความเป็นธรรมนั้นแปรผันไปตามเหตุการณ์ เวลามีเหตุต้องจ่ายเงินสำหรับกิจการส่วนรวม ถ้าจ่ายเท่ากันถือว่าไม่เป็นธรรม ใช้มากจ่ายมาก ใช้น้อยจ่ายน้อย ถึงจะเรียกว่าเป็นธรรม แต่เวลาได้รับของแจกจากกองกลาง ต้องได้รับเท่ากันจึงจะเรียกว่าเป็นธรรม ถ้าทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ถือว่าไม่เป็นธรรม นี่ไม่ใช่วิธีคิดของชาวบ้านเท่านั้น ชาวกรุงก็เช่นกัน หน่วยงานแห่งหนึ่งมีรายได้ก้อนหนึ่งจากการพิมพ์รายงานการวิจัย ผู้อำนวยการจึงเสนอให้นำเงินก้อนนั้นแบ่งเป็นรายได้พิเศษให้แก่พนักงานพิมพ์ดีดทุกคน โดยแบ่งตามปริมาณงานที่ผู้นั้นได้ทำ ใครพิมพ์มากก็ได้มาก ใครพิมพ์น้อยก็ได้น้อย แต่เลขานุการยืนกรานว่าทำเช่นนั้นไม่ได้ ควรแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่า ๆ กัน รวมทั้งคนที่ไม่ได้พิมพ์ดีดด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ความเป็นธรรมจึงไม่ได้แปลว่าเท่าเทียมกันเสมอไป ถ้า ได้ เท่ากันถือว่าเป็นธรรม แต่เวลาจะ เสีย ต้องเสียไม่เท่ากันถึงจะเป็นธรรม ความเป็นธรรมของคนไทยจึงมี ๒ มาตรฐาน แต่ถ้าดูให้ดีทั้ง ๒ มาตรฐานนั้นล้วนให้ประโยชน์แก่ ตัวกู ทั้งสิ้น คือถึงจะทำน้อยกว่า เหนื่อยน้อยกว่า จ่ายน้อยกว่า แต่ก็ต้องได้เท่ากับคนอื่น ข้อที่น่าสังเกตก็คือว่า คำว่า ได้เท่ากับคนอื่นนั้น มีนัยยะว่าต้องได้ไม่น้อยกว่าคนอื่น แต่ถ้าได้มากกว่าคนอื่น ไม่เป็นไร ใคร ๆ ก็ไม่พอใจเมื่อรู้ว่า ตนเองได้โบนัสหรือได้ขั้นน้อยกว่าคนอื่น เขาจะบ่นว่าฉันไม่ได้รับความเป็นธรรม ฉันทำมากแต่ทำไมได้น้อย แต่เวลาเขาได้โบนัสหรือได้ขั้นมากกว่าคนอื่น กลับลืมเรื่องความเป็นธรรมเลย ทั้ง ๆ ที่เขาอาจทำน้อยกว่าคนอื่นก็ได้ ความเป็นธรรมจึงมักเป็นแค่เหตุผลที่ ตัวกู หรือกิเลสใช้อ้างขึ้นมาเพื่อเอาเข้าตัวให้มากที่สุดและจ่ายออกไปให้น้อยที่สุด ความเป็นธรรมแบบนี้จึงเป็นเรื่องของ ความถูกใจมากกว่า
ความถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่รู้เท่าทันกิเลส เราก็จะเผลอคิดว่าความเป็นธรรมที่เรากำลังเรียกร้องนั้นเป็นความถูกต้อง
ซึ่งจะยิ่งทำให้เราดึงดันให้ได้เพราะเชื่อมั่นว่าตนอยู่ฝ่ายที่ถูกต้องชอบธรรม
แต่หารู้ไม่ว่า ตัวกูหรือกิเลสต่างหากที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง เราจะมีความสุขมากขึ้นหากนึกถึงความเป็นธรรมให้น้อยลง หรือรู้เท่าทันว่านี่เป็นความเป็นธรรมที่สนองกิเลสมากกว่า จะให้ดีกว่านั้นเราควรมีมุทิตาจิตหรือชื่นชมยินดีเวลาเห็นคนอื่นได้ดี เขาได้โบนัสมากกว่าก็ยินดีกับเขา เพราะเขาเองก็มีภาระต้องดูแลพ่อแม่และพี่น้องหลายคน เขาได้ขั้นมากกว่าก็ยินดีกับเขา เพราะเขาจะได้มีกำลังใจทำงานมากขึ้น การมีมุทิตาจิตต่อผู้อื่นนั้น ทำให้เราเป็นทุกข์น้อยลง
มีความสุขมากขึ้น ผิวพรรณผุดผ่อง และยิ้มแย้มแจ่มใส โดยไม่จำต้องใช้เครื่องประทินโฉมเลยก็ได้
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|