![]() |
ครั้งหนึ่งที่ได้เรียนวิชาพื้นฐาน ธรรมศาสตร์ |
ตอนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยปี ๒๕๑๘ นั้น อาตมาเลือกธรรมศาสตร์เป็นอันดับ ๑ ดังนั้นเมื่อสอบได้ จึงดีใจมาก เมื่อได้เข้าเรียน ก็ไม่ผิดหวัง เพราะตอนนั้นนักศึกษาปี ๑ ทุกคน ต้องเรียนวิชาพื้นฐานของคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมหลายวิชา ทั้งสังคมศาสตร์ มานุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่อาตมาชอบมากเพราะได้เรียนรู้กว้างขวาง วิชาที่ชอบที่สุดคือ อารยธรรมไทย ซึ่งตอนนั้นมีอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงมาสอนหลายท่าน อาทิ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม และอ.ชลธิรา กลัดอยู่ (นามสกุลตอนนั้น) ทั้งสามท่านอาตมาเคยได้ยินชื่อเสียงและอ่านผลงานมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ดังนั้นจึงสนใจติดตามการบรรยายของท่าน นอกจากเนื้อหาคำบรรยายจะน่าสนใจแล้ว วิธีการสอนก็ไม่น่าเบื่อ กระตุ้นให้รู้จักคิด ใช่แต่เท่านั้นข้อสอบก็ไม่ได้เน้นการท่องจำ แต่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์หรือใช้เหตุผลเป็นหลัก วิธีการดังกล่าวนักศึกษาร่วมชั้นจำนวนมากรู้สึกไม่คุ้นเคย แต่ถูกอัธยาศัยอาตมามาก จุดเด่นอีกอย่างของวิชาพื้นฐานในเวลานั้น ก็คือ ตำราที่น่าสนใจซึ่งพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย ราคาก็แสนถูก ขณะเดียวกันอาจารย์ผู้บรรยายหลายท่านก็มีงานเขียนของตนเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะอ.ชาญวิทย์ และอ.ชลธิรา หนังสือเหล่านี้กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ที่อาตมาอ่านด้วยความสนใจ และขยายไปสู่ตำราเล่มอื่น ๆ ของคณะศิลปศาสตร์ ซึ่งพิมพ์สำหรับนักศึกษาชั้นปีสูง ปี ๒๕๑๘ เป็นช่วงที่การเมืองไทยมีความเข้มข้นมาก อาตมาซึ่งสนใจการมืองอยู่ก่อนแล้ว จึงใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการทำกิจกรรม แต่เป็นกิจกรรมนอกมหาวิทยาลัย (กลุ่มอหิงสา และวารสารปาจารยสาร) จึงไม่ค่อยได้เข้าห้องเรียน หากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นคงมีปัญหาในการสอบ แต่อาตมาไม่เคยมีปัญหาดังกล่าวตลอดเวลาที่เรียนชั้นปี ๑ ที่ธรรมศาสตร์ (อันที่จริงจนกระทั่งเรียนจบก็ไม่มีปัญหาดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ทำงานกิจกรรมหนักกว่าเดิม) ทั้งนี้เพราะการสอนและการสอบที่เน้นการใช้ความคิดวิเคราะห์ยิ่งกว่าการท่องจำ อีกทั้งอาตมาก็มีความสนใจในวิชาเหล่านี้อยู่แล้ว (โดยเฉพาะอารยธรรมไทย) จึงศึกษาเอง และสนุกกับการอ่านตำราเมื่อใกล้สอบ บางวิชาก็แค่ผ่าน แต่วิชาอารยธรรมไทยนั้น อาตมาได้คะแนนดี วิชาอารยธรรมไทยที่ได้เรียน ทั้งจากการบรรยายและจากการศึกษาเอง เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับอาตมาในชั้นปีต่อ ๆ ไป เนื่องจากเมื่อขึ้นปี ๒ อาตมาเลือกเรียนคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ แม้จะไม่ได้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เลย แต่วิชานี้ก็ได้ช่วยขยายทัศนะเกี่ยวกับเมืองไทยและความเป็นไปของโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจชีวิตดีขึ้นด้วย ๖ เมษายน ๒๕๕๙
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|