หน้ารวมบทความ
   บทความ > นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ > โยมถามพระตอบ ๘
กลับหน้าแรก

โยมถามพระตอบ ตอนที่ ๘
พระไพศาล วิสาโล

นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ
ฉบับที่ ๑๔ กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๙

คำถามที่ ๑ ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ว่า บวชเนขขัมมะ บวชชี ส่งบุญให้ผู้มีพระคุณ กัลยาณมิตร ให้พ้นจากโรคร้ายให้หายโดยเร็ววัน ให้กำหนดจิตว่าอย่างไรค่ะ ขอกราบนมัสการ และขอขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ตอบ คุณเพียงแต่นึกถึงบุคคลผู้นั้น แล้วตั้งจิตว่า ขออุทิศบุญกุศลจากการบวชเนกขัมมะหรือบวชชี ให้แก่ผู้นั้น ขอให้หายจากความเจ็บป่วยโดยเร็ววัน มีความสุขกายสุขใจ เป็นต้น จะอุทิศให้แก่เจ้ากรรมนายเวรของท่านผู้นั้นด้วยก็ได้  เพราะความเจ็บป่วยของผู้นั้นอาจเป็นผลจากกรรมในอดีต (แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า เหตุแห่งโรคนั้นมีมากมาย  ผลกรรมในอดีตเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น)

คำถามที่ ๒ กราบนมัสการพระอาจารย์ค่ะ โยมมีความสงสัยเรื่องการกรวดน้ำค่ะ หากไม่กรวดน้ำแต่ใช้วิธีตั้งจิตอธิษฐานแทน บุญนั้นจะส่งถึงญาติหรือผู้ที่ล่วงลับหรือไม่คะ และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องแตะตัวต่อๆ กัน กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงเจ้าค่ะ

ตอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด สำเร็จแล้วที่ใจ”  ความข้อนี้รวมถึงการทำบุญด้วย   สิ่งสำคัญคือการตั้งจิตอุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ  ส่วนกิริยาการกรวดน้ำเป็นเพียงแค่รูปแบบหรือพิธีการ  ซึ่งช่วยน้อมใจให้สงบเป็นสมาธิ  ใจที่สงบและเป็นสมาธิย่อมช่วยให้กระแสแห่งบุญนั้นมีพลัง    แต่ถ้าไม่มีน้ำจะกรวด เพียงแค่นึกในใจด้วยความสำรวมก็พอแล้ว  จะแตะตัวต่อ ๆ กันหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

คำถามที่ ๓ โยมเป็นคนที่หงุดหงิดง่ายมาก และรู้สึกทุกครั้งเวลาโกรธว่าใจร้อนรุ่ม เหมือนมีไฟสุมใจจริงๆ โยมควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้หงุดหงิดน้อยลง และหรือจะมีอุบายใดไหมเจ้าคะที่จะทำให้เป็นคนใจเย็น และไม่มักโกรธค่ะ กราบขอบพระคุณพระอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

ตอบ เมื่อใดที่คุณรู้ตัวว่ากำลังโกรธ จิตใจร้อนรุ่ม  ให้น้อมจิตมาที่ลมหายใจทันที  หายใจเข้าลึก ๆ  แล้วหายใจออกยาว ๆ  หายใจออกทีแรกก็นับ ๑ ครั้งต่อไปก็นับ ๒ และ ๓ จนครบ ๑๐ แล้วเริ่มต้นนับ ๑ ใหม่  ระหว่างที่รับรู้ลมหายใจ ก็อย่าเพิ่งคิดอะไร โดยเฉพาะคนหรือเรื่องที่ทำให้คุณโกรธ วิธีนี้จะช่วยให้ความโกรธลดลง  สมาธิที่เกิดจากการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ เป็นเสมือนน้ำที่ช่วยดับไฟสุมใจของคุณได้  ใหม่ ๆ จะรู้สึกว่าทำได้ยาก แต่ถ้าทำบ่อย ๆ จะทำได้ง่ายและเร็วขึ้น

การมีสติรับรู้กายเวลามีความโกรธเกิดขึ้นก็ช่วยได้  เช่น รับรู้ลมหายใจที่ถี่และตื้น  ใบหน้าที่ถมึงทึง หน้านิ้วคิ้วขมวด  กล้ามเนื้อที่เกร็งตัว   จากนั้นก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายร่างกายทีละส่วน กลับมาหายใจตามปกติ (หรือหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก ๔-๕ ครั้งก่อนจะกลับมาหายใจตามธรรมดา)  ลองยิ้มให้กับตัวเองบ้าง (แม้ทีแรกจะรู้สึกฝืนก็ตาม)  การระลึกรู้กายที่เครียด และผ่อนคลายกาย  จะช่วยให้ใจผ่อนคลายลง ผลที่ตามมาคือความโกรธก็จะบรรเทาลง

อันที่จริงสาเหตุที่คุณหงุดหงิดง่าย เป็นเพราะความยึดติดถือมั่น อยากให้ทุกอย่างเป็นดั่งใจ  พอมันไม่เป็นอย่างที่คาดคิด จึงเกิดความโกรธ    หากไม่อยากให้ความโกรธเผาลนใจ  ควรฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางบ้าง ยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจหรือไม่เป็นดั่งใจ   อย่าเอาเป็นเอาตายกับทุกเรื่อง   อะไรที่ผิดพลาด ไม่ถูกใจ ก็ช่างมันบ้าง  เอาเวลามาแก้ไขให้ถูกต้องดีกว่า 

พึงระลึกเสมอว่า เวลาของคุณในโลกนี้เหลือน้อยลงทุกที  แต่ละนาทีมีค่าอย่างมาก จึงควรใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการทำใจให้มีความสุข  อย่ามัวปล่อยเวลาให้หมดไปกับความโกรธหรือความหงุดหงิดรำคาญใจเลย

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved