![]() |
โยมถามพระตอบ : ตอนที่ ๔ นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ |
คำถามที่ 1. กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ เวลาที่ผมปฏิบัติธรรม นั่งภาวนา ผมมักจะรู้สึกเกร็ง เครียด และรู้สึกหนัก ปวดบริเวณศีรษะเวลาที่จิตจดจ่ออยู่กับที่ใดที่หนึ่ง พอรู้ตัวว่าเกร็ง ผมก็พยายามผ่อนให้คลายลง แต่พอผ่อนแล้วก็เผลอสติฟุ้งซ่าน หรือเผลอหลับ ผมพยายามหาจุดกลางๆที่พอดี แต่ก็ไม่สำเร็จ เป็นแบบนี้อยู่ตลอดเวลามา2-3เดือนแล้วครับ.. ไม่ทราบว่าผมจะต้องแก้ไขอย่างไรดีครับ ขอพระอาจารย์เมตตาชี้แนะครับ ตอบ อาการดังกล่าวน่าจะเกิดจากการพยายามบังคับจิตให้นิ่ง ด้วยการเพ่งที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือไม่ก็คอยดักจ้องดูความคิด รวมทั้งการพยายามหยุดความคิด หรือกดข่มความคิดเวลามันเกิดขึ้น ยิ่งทำเช่นนั้นจิตก็ยิ่งต่อสู้ขัดขืน จึงทำให้คุณเหนื่อยและเครียด บ่อยครั้งคุณอาจเผลอกลั้นลมหายใจขณะที่พยายามหยุด(หรือเบรค)ความคิดนั้น เมื่อทำบ่อย ๆ จึงรู้สึกปวดหัว บางคนอาจรู้สึกหน้ามืด แน่นหน้าอก ทั้งหมดนี้เป็นเพราะลึก ๆ คุณอยากให้จิตสงบ จึงพยายามควบคุมบังคับมัน เมื่อจะภาวนา ควรทำใจให้สบาย ปล่อยวางความอยากทั้งปวง พึงตระหนักว่าความฟุ้งซ่านนั้นเป็นธรรมดาของจิต เราไม่สามารถห้ามได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือรู้ทันเวลาจิตฟุ้งซ่าน จะว่าไปแล้วความฟุ้งซ่านไม่ใช่ตัวปัญหา ตัวปัญหาก็คือความไม่พอใจหรือรู้สึกลบต่ออาการฟุ้งซ่านนั้น จึงทำให้เป็นทุกข์ ลองวางใจเป็นกลางกับมัน คุณจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และหากรู้ทันมันบ่อย ๆ โดยไม่รังเกียจผลักไสมัน มันก็จะรบกวนคุณน้อยลง และจิตจะค่อย ๆ นิ่ง หากรู้สึกง่วง เวลานั่งสมาธิก็ลองลืมตาสักหน่อย หรือหายใจให้แรงขึ้นอีกสักนิด หาไม่ก็เปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งเป็นเดิน ถ้ายังไม่หาย ลองเอาน้ำลูบหน้าให้สดชื่น ทำอย่างนี้ไปสักพัก น่าจะดีขึ้น เพราะจิตนั้นมีความสามารถปรับตัวได้เร็ว ที่ง่วงเพราะไม่ค่อยมีสิ่งเร้าหรืออารมณ์ใหม่ ๆ ให้เสพ แต่ทำไปสักพัก จิตจะคุ้นกับภาวะดังกล่าว ไม่ง่วงง่ายเหมือนตอนแรก ๆ คำถามที่ 2. โยมรู้สึกตัวเองเป็นคนมีจิตใจอ่อนแอ อ่อนไหวง่าย จนบางครั้งกลายเป็นคนขี้แง และมักจะไม่สามารถเอาชนะใจตัวเองได้ คอยแต่จะไหลตามกิเลสอยู่เนืองๆ ไม่ทราบว่า จะทำอย่างไรให้จิตมีกำลังในการเอาชนะกิเลส และเปลี่ยนตัวเองใหเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น เข้มแข็ง ไม่sensitive ง่ายได้เจ้าคะ
ตอบ คุณควรฝึกฝนตนให้มีความมุ่งมั่นและเข้มแข็ง โดยเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือถนัด อาจเป็นการลด ละ หรือเลิกนิสัยบางอย่างที่ไม่ดี (เช่น ติดกาแฟ ติดละคร ติดเฟซบุ๊ค หรือติดเที่ยวห้าง) หรือทำสิ่งดี ๆ ที่มักละเลย (เช่น การสวดมนต์ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย) เอาแค่อย่างเดียวก็พอ และตั้งใจว่าจะทำทุกวัน ไม่ให้ขาดแม้แต่วันเดียว หากคุณทำได้ต่อเนื่อง (เช่น ตลอดพรรษา) จะช่วยให้คุณมีจิตใจเข้มแข็งและอดทน ทั้งหมดนี้เป็นการบำเพ็ญบารมีทั้งขันติบารมี และอธิษฐานบารมี ช่วยให้คุณมีกำลังในการเอาชนะกิเลส และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่าย ๆ นอกจากทำเองที่บ้านแล้ว การออกไปอยู่ในสถานที่ที่มีวินัยเข้มงวด เช่น อยู่วัดป่าสักระยะหนึ่ง หรือเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ก็จะช่วยให้คุณมีความอดทน และมีจิตใจเข้มแข็งมากขึ้น การคบเพื่อนหรือมีกัลยาณมิตร ที่ขยันหมั่นเพียร มีระเบียบวินัยและความมุ่งมั่น ก็จะช่วยกล่อมเกลาและฝึกฝนจิตใจคุณไปในทางนั้นได้ด้วยเช่นกัน คำถามที่ 3. ผมมีหนังสือธรรมะ ซึ่งทราบภายหลังว่าไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เช่น แปลบาลีผิดเพี้ยน หรือหนังสือประวัติพระอรหันต์ ซึ่งผู้เขียนใส่อภินิหารหรือตีความไม่ตรงตามธรรมของพระพุทธศาสนา จนรู้สึกว่าอันตราย ไม่ควรอ่าน แต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะต้องทำลายหรือไม่ ไม่ทราบว่าควรจะทำเช่นไรกับหนังสือเหล่านี้ดีครับ ตอบ คุณลองพิจารณาดูว่า หนังสือเล่มนั้นมีส่วนที่แปลบาลีหรือพุทธพจน์ถูกต้องหรือไม่ หรือมีส่วนที่ตรงกับคำสอนของพระพุทธองค์หรือไม่ หากมีและมีอยู่มาก ก็น่าจะเก็บไว้ เพราะเนื้อหาดังกล่าวย่อมมีประโยชน์ต่อคุณไม่มากก็น้อย ส่วนที่แปลผิดหรือคลาดเคลื่อนจากพระธรรมคำสอน ก็มองข้ามไป พึงใช้ท่าทีอย่างเดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำเวลาเจอคนที่มีนิสัยไม่ดี กล่าวคือให้มองด้านที่ดีของเขา ทรงเปรียบเหมือนกับสระน้ำที่มีจอกแหนปกคลุมอยู่เต็ม แต่หากแหวกจอกแหนออกไปบ้าง เราก็สามารถตักน้ำในสระน้ำนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ สำหรับเรื่องอภินิหารนั้น หากเป็นแค่สีสรรหรือกระพี้ ส่วนสาระหรือแก่นของเรื่องนั้นตรงกับคำสอนของพระพุทธองค์ เช่น เน้นความเพียร ความสันโดษ ความมักน้อย ความคลายกำหนัด ไม่พอกพูนกิเลส เป็นต้น ก็ยังถือว่ามีประโยชน์อยู่ พึงรู้จักเลือกสรรส่วนที่ดีมีประโยชน์ อย่างไรก็ตามหากหนังสือเล่มนั้นมีข้อผิดพลาดมาก คลาดเคลื่อนหรือถึงกับสวนทางกับคำสอนของพระพุทธองค์ เรียกว่าหาประโยชน์ไม่ได้เลย ถ้าไม่อยากเก็บไว้ ก็อย่าถึงกับทำลายอย่างไร้ประโยชน์ มีวิธีกำจัดหลายวิธี เช่น ชั่งกิโลขายพร้อม ๆ กับหนังสือพิมพ์ หรือมอบให้ซาเล้งเอาไปขายเพื่อรีไซเคิล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|