![]() |
นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ |
1. ในปัจจุบัน จะเห็นข่าวหรือได้ยินเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆไม่น่าเลื่อมใสมากขึ้น สิ่งนี้สร้างความแคลงใจ และ ทำให้ฆราวาสอย่างเราๆ ไม่รู้ว่าควรจะทำตัวอย่างไรต่อเหตุการณ์เหล่านี้ หากขยับทำอะไรไปก็กลัวว่าจะเป็นบาป แต่หากเงียบอย่างเดียวก็เกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมหรือเปล่า.. กรณีเช่นนี้ โยม(ฆราวาสทุกคน)ควรจะทำตัวอย่างไรดีเจ้าคะ การที่ฆราวาสทักท้วงพระภิกษุนั้น ไม่ถือว่าเป็นบาป หากทำไปด้วยเจตนาดีทั้งต่อท่านและต่อพระศาสนา ที่สำคัญคืออย่าทำด้วยความโกรธเกลียดหรือความมุ่งร้าย หาไม่จิตจะเป็นอกุศล ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ให้แนวทางในการทักท้วงหรือวิจารณ์ว่า พูดให้ถูกเวลา เป็นความจริง ใช้คำสุภาพ มีประโยชน์ และมีเมตตาจิต หากมีองค์ประกอบครบทั้ง ๕ ประการ ก็ไม่ต้องกลัวบาป อันที่จริงการทักท้วงนั้นเป็นประโยชน์สำหรับบัณฑิตหรือผู้หมั่นฝึกฝนตน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับพระ ดังมีธรรมเนียมที่พระจะปวารณาต่อกันในวันออกพรรษาว่า หากผู้ใดเห็นหรือได้ยินหรือระแวงสงสัยว่าข้าพเจ้ามีการกระทำกรรมที่ไม่ถูกต้องขอให้ว่ากล่าวด้วยความหวังดี เป็นต้น แม้กระทั่งพระพุทธองค์ก็ยังทรงปวารณากับหมู่สงฆ์ ขอให้ตรวจสอบพระองค์ และทักท้วงติเตียนหากเห็นว่าพระองค์ทำไม่ถูกต้อง พระสารีบุตรก็เคยถูกสามเณรวัย ๗ ขวบทักท้วงว่านุ่งสบงปล่อยชายหย่อนยานไป ท่านก็รับฟังและปรับปรุงแก้ไขตามคำของสามเณรนั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรมองว่าการทักท้วง วิจารณ์ หรือติเตียนพระสงฆ์ ซึ่งเกิดจากเจตนาดี เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมสำหรับชาวพุทธ 2. ทำอย่างไรเราจะวางความอาฆาตพยาบาท หรือละความผูกโกรธได้อย่างแท้จริงคะ พยายามจะคิดแต่ข้อดีของอีกฝ่าย หรือ แม้กระทั่งแผ่เมตตาให้บ่อยๆตามที่หนังสือธรรมะหลายเล่มแนะนำ แต่ก็ยังรู้สึกว่า บางครั้งเราก็ยังคอยแต่คิดถึงสิ่งที่อีกฝ่ายทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ลึกๆเหมือนอยากให้อีกฝ่ายเจ็บช้ำแบบเราบ้าง ทุกข์ใจกับเรื่องนี้มาก อยากให้พระอาจารย์เมตตาชี้แนะค่ะ อาตมาอยากแนะนำให้คุณคิดถึงตัวเองให้มาก โดยตระหนักว่าทุกครั้งที่คุณโกรธและพยาบาท คุณกำลังทำร้ายตนเองทั้งจิตใจและร่างกาย ทันทีที่คุณแช่งชักให้เขาตกนรกหรือมีอันเป็นไป คุณเองก็ตกนรกแล้วเพราะถูกไฟโทสะเผาผลาญ คุณควรรักตนเองให้มาก ๆ อย่าปล่อยให้ไฟโทสะทำร้ายคุณอีกเลย ขอให้ระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า “ผู้โกรธตอบคนที่ด่า เลวกว่าคนด่าเสียอีก ผู้ไม่โกรธตอบคนที่ด่า นับว่าชนะสงครามที่เอาชนะได้ยากยิ่ง คนที่รู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว มีสติ สงบใจได้ นับว่าได้ทำประโยชน์แก่ตนและคนอื่นทั้งสองฝ่าย” หากคุณไม่สนใจประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่คนอื่น ก็ควรสนใจประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง อย่าทำลายประโยชน์นั้นด้วยความโกรธหรืออาฆาตพยาบาทเลย พร้อมกันนั้นอาตมาอยากแนะนำวิธีหนึ่งแก่คุณในการรับมือกับความโกรธ กล่าวคือ เมื่อความโกรธเกิดขึ้น คุณไม่ต้องทำอะไรกับความโกรธนั้น แค่รู้ว่ามันเกิดขึ้นในใจก็พอแล้ว รู้เฉย ๆ โดยไม่ต้องกดข่มมัน แค่นี้ก็จะทำให้ความโกรธหมดพิษสงลงจนเลือนหายไป เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโลว่า ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาด หลวงปู่ตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง” 3. รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนมีอีโก้สูงมาก มักหงุดหงิดไม่พอใจเวลาที่มี?เหตุการณ์มากระทบความเป็นตัวเป็นตน หรือในเวลาที่รู้สึกเหมือนไม่ได้รับการยอมรับทั้งๆที่ทำดีที่สุดแล้ว พาลทำให้ไม่พอใจคนรอบตัวไปหมด (ที่ทำให้ผมหงุดหงิด) พลอยส่งผลกระทบทั้งกับเรื่องงานและความสัมพันธ์อีกด้วย ตลอดมาผมพยายามจะปล่อยวาง หรือทำใจให้กว้าง แต่ก็ไม่เป็นผล ผมเห็นตัวเองมีอัตตามากจนอึดอัด แต่ไม่รู้จะวางมันลงได้อย่างไร นับวันยิ่งเห็นมันมากขึ้นเรื่อยๆด้วยครับ จะมีวิธีจัดการกับอีโก้ หรืออัตตาที่สูงและหนาเป็นกำแพงของตัวเองอย่างไรดีครับ คุณควรมองว่า ความหงุดหงิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความทุกข์ของกิเลส ไม่ใช่ความทุกข์ของคุณ เมื่อมันทุกข์เพราะไม่ได้รับการยอมรับ ก็ปล่อยให้มันทุกข์ไป สมควรแล้วที่มันดิ้นรนกระสับกระส่ายอย่างนั้น ต่อไปจะได้เข็ดหลาบ ปัญหาของคุณอยู่ตรงที่ ไปฉวยเอาความทุกข์ของกิเลส มาเป็นความทุกข์ของคุณ เวลามันทุกข์ทรมาน คุณแค่รับรู้หรือดูมันเฉย ๆ ก็พอแล้ว ที่จริงคุณควรจะสมน้ำหน้ามันด้วยซ้ำ ที่ชอบยกหูชูหาง สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว จึงต้องเจอแบบนี้ เมื่อมองเช่นนี้แล้ว คุณก็จะเห็นต่อไปว่า คำวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องดี เป็นสิ่งที่ช่วยทรมานกิเลสให้หายพยศ ช่วยให้อัตตาอยู่เป็นที่เป็นทาง รู้จักสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่มัวยกหูชูหางอยู่ร่ำไป คำวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่คุณควรขอบคุณด้วยซ้ำ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|