กลับหน้ารวมบทสัมภาษณ์    คอลัมน์สัมภาษณ์ > ความสุขแท้ อยู่ที่กลางใจ

กลับหน้าแรก

ความสุขแท้ อยู่ที่กลางใจ

สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
วารสาร บ้านเรา PTT Spirit
คอลัมน์ ห้องรับแขก
ฉบับ พฤษภาคม 2012

แบ่งปันบน facebook Share    

เชื่อว่า ชาวบ้านเราส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับท่าน ‘พระไพศาล วิสาโล’ เจ้าอาวาส วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ พระนักปฏิบัติ นักวิชาการ นักคิด และนักเขียน ซึ่งท่านได้ร่วมเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแห่งพระพุทธองค์มาตลอดนับแต่ปี 2526 จวบจนถึงวันนี้ย่างเข้าสู่พรรษาที่ ๓๐ ในวัย 55 ปี ผลงานของท่านล้วนแล้วแต่สะท้อนแง่คิดที่ลึกซึ้งและเข้าถึงกลางใจชาวพุทธอย่างยิ่ง ด้วยภาษาที่เรียบง่าย มุ่งให้คติธรรมคำสอนที่โดดเด่นจับใจ ภายใต้คมความคิดที่ทันต่อเหตุการณ์ ผ่านสื่อทันสมัย ทั้งในโลกออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ และหนังสือธรรมะของท่าน รวมถึงอีกหลายบทความในหนังสือต่างๆ มากมายหลายเล่ม

ฉบับนี้ ถือเป็นวาระมงคลยิ่งที่ชาวบ้านเราจะได้ร่วมกันพลิกใจ เพื่อเปิดรับฟังแนวคิดและหลักธรรมคำสอนดีๆ จากท่าน ในห้วงเวลาที่สังคมบ้านเรายังคงต้องก้าวเดินต่อไปให้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งภาวะการแข่งขันและการผนึกความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมโลกขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ท่ามกลางจุดต่างทางความคิดของผู้คนในสังคมไทย การหลั่งไหลของข่าวลือและสัญญาณเตือนแห่งความแปรปรวนจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และถัดจากนี้ คือหลักธรรมคำสอนอันมีคุณค่ายิ่ง ซึ่งนอกจากชาวบ้านเราจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการทำงานและในชีวิตประจำวันแล้ว เรายังจะได้รู้จักท่าน ‘พระไพศาล วิสาโล’ ผู้นิยามตัวเองว่าเป็นเพียง ‘พระภิกษุธรรมดา’ รูปหนึ่งได้อย่างคมชัดมากยิ่งขึ้นด้วย

เหตุผลสำคัญที่ท่านก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

เดิมทีอาตมาไม่ค่อยสนใจในพุทธศาสนาเท่าใดนัก แต่เมื่อมีโอกาสอ่านหนังสือบางเล่ม เช่น กามนิต-วาสิฏฐี พบว่าพระพุทธองค์ทรงฉลาดในการโต้ตอบกับกามนิต กอปรกับได้อ่านหนังสือของครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ท่านพุทธทาสภิกขุ ก็ทำให้เริ่มสนใจในพุทธศาสนามาตั้งแต่นั้น ตอนหลังเห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม การเจริญสติ การทำสมาธิ จึงปลีกเวลาไปปฏิบัติธรรมบ้างในวัดป่า ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น อาตมาทำงานเป็นสาราณียกรปาจารยสารและเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมด้วย โดยมีบทบาทร่วมในแนวทางอหิงสาต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ‘6 ตุลาคม 2519’ คอยช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ติดคุกด้วยเหตุความเชื่อซึ่งแตกต่างจากรัฐบาล ทำอยู่ 7 ปี ก็เหนื่อย เครียด อยากพัก ทีแรกก็คิดว่าจะพักสัก 3 เดือน เลยขอบวช ด้วยเหตุผลส่วนตัวว่า การบวชนั้นจะทำให้เราได้อยู่เป็นที่เป็นทาง เพราะปกติแล้วอาตมาเป็นคนอยู่ไม่เป็นที่ ยิ่งช่วงนั้นจะรู้สึกเครียดมากและกระสับกระส่าย จิตใจไม่มีความสุข เลยมุ่งหาที่จะได้ปฏิบัติธรรม เมื่อบวชครบ 3 เดือน ใจอยากจะบวชต่อ เพราะได้อานิสงค์จากการปฏิบัติ ก็เลยบวชต่อเป็น 6 เดือน เพื่อให้ได้เข้าพรรษา พอครบ 6 เดือนก็ขอต่ออีกปีหนึ่ง พอครบปีก็ขออีก 5 ปี พอ 5 ปีก็ขอต่ออีก 5 ปี ครบสิบปีก็ไม่ต่อแล้ว บวชไปเรื่อยๆ

ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ

ใช่ แต่ส่วนใหญ่อาตมาจะพำนักอยู่ที่วัดป่ามหาวัน อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มากกว่า ก็สลับกันระหว่างวัดป่าสุคะโต กับวัดป่ามหาวัน ซึ่งสองวัดนี้อยู่คนละอำเภอ ห่างกัน 13 กิโลเมตร

เหตุใดท่านจึงบวชโดยไม่ลาสิกขา

การบวชพระ ทำให้ชีวิตมีความสงบ มีความเย็น และมีความสมดุล ในขณะที่ชีวิตฆราวาส ไม่ค่อยมีความสมดุลเท่าไรระหว่างกายกับใจ ระหว่างส่วนตัวกับส่วนรวม ระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ แต่อาตมาพบว่าการบวชพระ ทำให้สามารถจัดสรรสมดุลแห่งชีวิตได้ แล้วก็พบประโยชน์จากการปฏิบัติธรรม จึงอยากให้เวลากับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทั้งยังพบว่าการบวชเป็นพระนั้นยังสามารถทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้ เรียกว่าได้ทั้งประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ถ้าบวชพระแล้วได้แต่ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสทำ อาตมาก็จะสึกได้ง่ายขึ้น แต่อาตมาพบว่า การบวชพระนั้นสามารถเกื้อกูลได้ทั้งสองส่วน

ท่านเลือกใช้สื่อหรือช่องทางใดในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน เพื่อให้เข้าถึงพุทธศาสนิกชนได้โดยง่าย

อาตมาถนัดเรื่องเขียน ก็ใช้การเขียนเป็นหลัก แต่ตอนหลังพอเขียนแล้วกลายเป็นที่รู้จัก จึงมีกิจนิมนต์ให้ไปพูดบ้าง แต่จริงๆ แล้วอาตมาไม่ถนัดพูดเท่ากับเขียน

ท่านได้หลักการเขียนมาจากที่ใด

อาตมาชอบเขียนมาตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส ใจจริงอาตมาอยากเป็นนักเขียน และเห็นว่าการเขียนนั้นต้องฝึก ไม่มีโรงเรียนไหนสอนได้ อย่างนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน ก็ไม่ได้จบอักษรศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ อาตมาเองแม้จะชอบเขียนก็ไม่ได้เลือกเรียนอักษรศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ แต่เลือกเรียนศิลปศาสตร์ เพราะอาตมาอยากศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และความคิดความอ่านของผู้คน ส่วนการเขียนนั้นก็ฝึกเอาเอง ซึ่งต้องมีฉันทะ อ่านมากๆ และเรียนรู้จากนักเขียนที่เราชอบ

ท่านมีวิธีคิดอย่างไร จึงทำให้งานเขียนของท่านตรงใจผู้อ่าน

ส่วนหนึ่งเกิดจากประสบการณ์ของตัวเองด้วย จากเรื่องเล่าด้วย และจากการสังเกตผู้คน อาตมาคิดว่า ที่หลายบทความตรงใจผู้อ่านนั้น น่าจะเป็นเพราะว่า อาตมาเขียนหรือพูดให้เห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่จริง คนเรามักเป็นทุกข์โดยไม่มีเหตุผล หรือทุกข์เพราะว่าเราไปยึดติดถือมั่นกับมัน แล้วเราก็ทุกข์เอง ทำร้ายจิตใจตัวเราเอง เช่น เรารักตัวเอง แต่ทำไมเราไปเก็บความโกรธ ความเศร้า ความเสียใจ เอาไว้ทำร้ายตัวเอง ทำไมเราไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง อาตมาก็หยิบเรื่องความทุกข์นี่แหละมาเขียน

ท่านสังเคราะห์ประเด็นที่เขียนอย่างไร เช่นจะต้องผูกโยงด้วยตัวอย่างแบบไหน และจบเช่นไร

จริงๆ มันเริ่มต้นจากว่ามีภาระที่ต้องเขียน คือถ้าไม่มีใครขอให้เขียน อาตมาก็คงจะอ่านหนังสือมากกว่า ไม่มาเขียนหรอก เพราะการเขียนเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเรามีภาระต้องเขียน เราก็ต้องคิด เวลาคิดเราก็ต้องดูว่าคนทุกวันนี้เขามีปัญหาเรื่องอะไร ส่วนหนึ่งก็อาศัยประสบการณ์การทำสมาธิเจริญสติ ซึ่งทำให้พบว่า สุขนั้นมีอยู่รอบตัว ถ้าเราวางใจให้เป็น ก็สุขได้ในขณะนี้ ถ้าเราไม่ไปกังวลในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง หรือไม่เสียใจกับเรื่องที่ผ่านไปแล้ว อยู่ที่ไหนก็สุขที่นั้นแหละ อาตมามีหลักว่า ธรรมะต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย ธรรมะอยู่รอบตัว อยู่ในชีวิตประจำวันของตัวเราเอง เมื่อเรามีสายตาแหลมคมพอที่จะเห็นธรรมะ ชีวิตเราก็จะเจริญงอกงามได้โดยไม่ต้องคอยหาโอกาสไปวัดหรือหลีกเร้นเข้าป่าก็ได้

โดยส่วนใหญ่ท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร

มีสองประเด็นใหญ่ คือ เรื่องของความทุกข์-ความสุข ต่อมาก็เป็นเรื่องของความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่อาตมาเขียนสองประเด็นนี้เป็นหลักเพราะว่า ในยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม คนทุกวันนี้มักคิดว่า ความสุขเกิดจากการมี การครอบครองวัตถุ แท้จริงแล้วเราสามารถหาความสุขได้ที่กลางใจ ไม่ต้องไปหาที่ห้างสรรพสินค้า ที่โรงหนัง หรือต้องมีอะไรต่ออะไรมากมาย การที่คนเราคิดว่าความสุขต้องเกิดจากการเสพ การบริโภค ทำให้เกิดความทุกข์ตามมามากมาย ประเด็นที่สองทำไมถึงเน้นเรื่องของความเอื้อเฟื้อความมีเมตตา เพราะเดี๋ยวนี้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น คนคิดถึงแต่ตัวเองมาก จนไม่มีเวลาให้กับผู้อื่น แม้แต่คนในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ไม่มีเวลาให้กัน นี่ก็ทำให้ทุกข์ ยิ่งคิดถึงแต่ตัวเองมากเท่าไรก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น เพราะฉะนั้นอาตมาจึงพูดถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีเมตตาให้มากขึ้น ความมีน้ำใจ เรื่องจิตอาสา แต่ตอนหลังก็มีประเด็นเรื่องเกี่ยวกับความโกรธความเกลียดเข้ามาด้วย เพราะเดี๋ยวนี้สังคมแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย มีความโกรธความเกลียด จนเกิดความรุนแรง อาตมาก็พยายามเตือนสติให้มองซึ่งกันและกันอย่างเพื่อนมนุษย์ อย่าให้ความโกรธความเกลียดครอบงำ และควรมีเมตตาแม้กระทั่งกับคนที่เรามองว่าเขาผิด อย่าให้คนผิดต้องมีสิทธิ์เป็นศูนย์ เพราะเขามีความเป็นมนุษย์ที่เราต้องเอื้อเฟื้อเช่นกัน

ในสังคมทุกวันนี้สิ่งต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลงเรื่องของกระแสประชาคม ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้ ทั้งกิเลสยังมีดีไซน์หลายรูปแบบ เข้ามาหาเรามากขึ้น ทำให้เราต้องระวังตัวเป็นเท่าทวี ท่านมีแนวคิดอย่างไรที่จะทำให้มนุษย์เราดำเนินชีวิตอยู่ได้และอยู่อย่างเข้าใจ

อยู่อย่างเข้าใจก็คือ ต้องรู้เท่าทัน อย่าตื่นตระหนก บางทีเราตื่นตระหนกมากเกินไป และเราชะล่าใจมากเกินไป คนส่วนใหญ่มีปัญหาเพราะกลัวมากเกินไปหรือไม่ก็กลัวน้อยเกินไป อย่างเช่นเรื่องภัยพิบัติเราตื่นตระหนก เครียดจนไม่เป็นอันทำอะไร แล้วเราก็เชื่อข่าวลือมาก เชื่อเด็กชายปลาบู่ เชื่อคำพยากรณ์ต่างๆ จนหวาดกลัว ตื่นตระหนก ไม่มีสติ ก็เลยเชื่อง่าย พอเชื่อแล้วก็เลยเครียด พอเครียดแล้วคนในบ้านก็เครียดตาม แล้วตัวเองก็ทุกข์ นี่เป็นเพราะไม่มีสติ ไม่ใช้หลักกาลามสูตร ไม่ได้ใช้วิจารณญาณว่าอะไรควรเชื่อ อะไรไม่ควรเชื่อ อย่างเช่น ภัยพิบัติจะเกิดเมื่อไรไม่รู้ เราระวังนั้นดีแล้ว แต่อย่าระแวงหรือตื่นตระหนกเกินไป ฉะนั้นต้องอาศัยการมีสติและการศึกษาหาข้อมูลอย่างรู้เท่าทัน สมัยนี้คือยุคข้อมูลข่าวสาร แต่เรากลับไม่ค่อยหาข้อมูลกันเท่าไร เราใช้ความเชื่อเป็นส่วนใหญ่ ใช้ความคิดเห็นมากกว่าข้อมูลความรู้ ฉะนั้นอาตมาคิดว่าต้องศึกษาข้อมูลมากๆ แล้วเราก็ต้องวิเคราะห์ว่าข้อมูลนั้นว่าเป็นเพียงความคิดความเห็นหรือเป็นข่าวลือ เราต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ หรือต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ยังไม่เชื่อทีเดียว

ท่านมีข้อแนะนำอย่างไร สำหรับวิธีการทำงานภายใต้การแข่งขันได้อย่างมีความสุข

คนเราจะมีความสุขได้นั้น ใจต้องอยู่กับปัจจุบัน ถ้าใจเราอยู่กับงานที่เราทำ เราจะทุกข์น้อย ส่วนใหญ่เราทุกข์เพราะเราไปกังวลว่า เมื่อไรงานจะเสร็จ เสร็จแล้วจะเป็นยังไง อีกตั้ง 5 งานยังรออยู่ข้างหน้า เดี๋ยวต้องไปประชุมแล้ว มันเป็นเรื่องข้างหน้าทั้งนั้นเลยที่ทำให้เราทุกข์ ถ้าใจเราอยู่กับงาน เราไม่ทุกข์หรอก หรือทุกข์น้อย คนเราไม่ได้ทุกข์เพราะเนื้องาน เราทุกข์เพราะความกังวล ความเครียด การปรุงแต่งกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือไม่ก็ทุกข์เพราะอดีต ทุกข์เพราะคนอื่น ทำไมเขาทำงานน้อยกว่าเรา แต่ทำไมเขาถึงได้เงินมากกว่าเรา นอกตัวทั้งนั้น ถ้าใจอยู่กับปัจจุบันจะทุกข์น้อยมาก หรือทุกข์น้อยกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ อีกข้อหนึ่งก็คือควรให้คุณค่ากับงานที่ทำอยู่ อย่าไปดูถูก อย่าไปรังเกียจว่าเป็นงานที่ไม่สำคัญ ไม่เหมาะกับศักยภาพของเรา เงินเดือนน้อย ผลตอบแทนน้อย อย่าลืมว่า เราให้คุณค่ากับงานเท่าไร งานก็ให้คุณค่ากับเราเท่านั้น ถ้าเราให้คุณค่ากับงานนั้นน้อย งานนั้นก็จะให้คุณค่ากับเราน้อย เราทำงานนั้นก็จะรู้สึกว่าเราไม่มีคุณค่า ความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่านั้นเกิดจากการที่เราให้คุณค่ากับงานต่ำ

อาตมาชอบเล่าเรื่องหนึ่งอยู่บ่อยๆ เป็นเรื่องจากรายการโทรทัศน์ เกี่ยวกับเด็ก 3 คนที่กำลังขนของขึ้นรถไฟ รถไฟนั้นมีเวลาออกที่แน่นอน เด็กๆ ก็รีบขนของ แต่วันนั้นเป็นวันที่ สมจิตร จงจอหอ ขึ้นชก เด็กสองคนเป็นผู้ชายอายุราวสิบเอ็ดสิบสองก็ทิ้งงานไปดูสมจิตรชกทางโทรทัศน์ เด็กอีกคนเป็นผู้หญิงรุ่นราวคราวเดียวกันไม่ได้ไปดูด้วย ก็ขนของขึ้นรถไฟต่อไป พิธีกรถามเด็กผู้หญิงว่า คิดยังไงที่เพื่อนเขาทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ เด็กผู้หญิงบอกว่า ก็เห็นใจเขา เพราะเขาเป็นแฟนมวยของสมจิตร หนูไม่ใช่แฟนสมจิตร หนูก็ทำงานของหนูไป พิธีกรถามแหย่อีกว่า แล้วหนูไม่โกรธไม่ด่าว่าเขาเหรอที่เขาทิ้งงานให้หนูทำคนเดียว เด็กตอบว่า หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว ถ้าหนูโกรธหรือด่าว่าเขาด้วย หนูก็เหนื่อยสองอย่าง เด็กคนนี้เลือกที่จะเหนื่อยอย่างเดียวคือเหนื่อยกาย เพราะถ้าไปโกรธ ไปด่าว่าเพื่อนก็จะเหนื่อยใจด้วย ผู้ใหญ่อย่างเรารู้และคิดได้อย่างนั้นไหม เวลาเราบ่นเจ้านาย บ่นเพื่อนร่วมงาน นั่นเท่ากับว่าเรากำลังซ้ำเติมตัวเองด้วยการเอาความทุกข์มาให้แก่จิตใจของเรา จนเหนื่อยใจ เพื่อนร่วมงานนั้นอย่างมากก็แค่ทำให้เราทุกข์กาย คือ ทำให้เราทำงานเพิ่มขึ้น แต่เพื่อนไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้ เจ้านายไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้ มีเราเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะทำให้เราทุกข์ใจได้

อย่างนั้นแล้ว เราต้องพยายามทำให้คนอื่นรู้และปฏิบัติเช่นนี้กับเราด้วยหรือไม่

เราควรทำงานให้เสร็จเสียก่อน แล้วค่อยไปเจรจา แต่ระหว่างที่ทำงานอยู่นั้นก็เก็บปัญหาที่จะทำให้ทุกข์ใจไว้ก่อน เสร็จงานแล้วค่อยสะสางกัน นี่คือการทำงานอย่างปล่อยวาง คือ วางเรื่องที่ต้องกังวล ไม่ว่าเรามีงานข้างหน้าอีกกี่สิบชิ้นก็ตาม วางเอาไว้ก่อน เราจดจ่อใส่ใจกับงานที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ เรามีปัญหาที่บ้าน เรื่องลูก เรื่องอะไร วางเอาไว้ก่อน แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่อย่างนั้น เวลาทำงานก็นึกถึงลูกที่บ้าน เวลาอยู่กับลูกที่บ้านก็นึกถึงงาน ก็เลยทำไม่ดีสักอย่าง เราต้องอยู่กับปัจจุบัน จะได้ไม่ทุกข์

เวลาเรามีปัญหาไม่เข้าใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน หรือถูกวิจารณ์การทำงาน จะมีวิธีสร้างกำลังใจอย่างไร

อย่างแรกเราต้องเรียนรู้ที่จะทำงานให้มีความสุขด้วยตัวเราเอง เราต้องตระหนักว่า ความสุขนั้นอยู่ที่เรา ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น เพื่อนเขาจะว่าอย่างไร แต่ถ้าเราทำงานอย่างมีสติ มีฉันทะ เห็นคุณค่าของงานนั้น ก็จะมีความสุขได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ต้องรู้จักพัก แล้วก็รู้จักสร้างสัมพันธ์ การสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนนั้นจะทำให้ไม่เกิดปัญหาอย่างที่ว่า แต่เดี๋ยวนี้เราแยกขาดจากคนอื่น นึกถึงแต่ตัวเอง ก็เลยไม่ได้สัมพันธ์กับคนอื่น จึงเกิดการแก่งแย่งแข่งขันกัน ความสัมพันธ์ก็เสียไป เลยทำงานด้วยความทุกข์ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความทุกข์ในการทำงานของคนส่วนใหญ่คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ฉะนั้นถ้าทำความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นก็จะช่วยลดความทุกข์ในการทำงานลงได้ ส่วนความทุกข์ที่เกิดจากเสียงวิจารณ์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าเมื่อใดที่เขาพูดตำหนิพระรัตนตรัยก็ให้พิจารณาว่าสิ่งที่เขาพูดนี่เป็นความจริงไหม ถ้าจริงเราก็ปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่จริงเราก็ชี้แจง ไม่ต้องโกรธ นี่คือท่าทีต่อคำวิจารณ์

แล้วในมุมของผู้บริหาร ควรมีแนวคิดในการทำงานหรือบริหารงานอย่างไร

ผู้บริหารต้องเป็นแบบอย่างของการทำงานอย่างมีความสุขและเสียสละ จึงจะสามารถเป็นผู้นำและเป็นแรงบันดาลใจให้กับลูกน้องหรือลูกทีมได้ อันนี้สำคัญมาก ผู้นำต้องพร้อมที่จะเปิดใจรับฟังความคิดอ่าน ความเห็นของลูกน้อง ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่ามีส่วนร่วม และทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ คนเราถ้ารู้สึกว่าเป็นเจ้าของงานชิ้นนั้น เขาจะมีความภาคภูมิใจ ทำให้เขารู้สึกว่าได้ใช้ศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ ก็จะมีความสุข

การที่เราจะสามารถดำเนินชีวิตและทำงานได้อย่างมีความสุข จำเป็นต้องเข้าวัดทำบุญบ่อยๆ หรือไม่

ไม่จำเป็น จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าทรงวางหลักเอาไว้แล้ว คือ ทาน ศีล ภาวนา เป็นเครื่องพัฒนาชีวิต ทานนี้ทำได้ทุกที่โดยไม่จำเป็นต้องไปวัดก็ได้ ศีลก็สมาทานได้เองโดยไม่จำเป็นต้องให้พระให้ศีล ภาวนา คือ การฝึกใจ ตามดูรู้ใจ การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การแผ่เมตตา นี่เป็นการภาวนา เหล่านี้เป็นหลักการใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย หรือไม่ก็ทำอย่างที่อาตมาว่า หนึ่งให้กลับมาตามดูรู้ใจตนเองเสมอ สองต้องนึกถึงผู้อื่นด้วย

สำหรับชาวบ้านเราที่สนใจต้องการติดตามผลงานการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระไพศาล วิสาโล สามารถติดตามได้ที่ www.visalo.org และ facebook พระไพศาล วิสาโล ตลอดจนถึงหนังสือและบทความต่างๆ รวมทั้งการจัดอบรมปฏิบัติธรรมและพัฒนาจริยธรรมต่างๆ อันล้วนนำไปสู่การตามดูรู้ใจตน จนค้นพบว่า ‘ความสุข’ ที่แท้นั้นอยู่ที่กลางใจของเราทุกคนนั่นเอง

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved