ประเภท
: งานเขียน |
|
![]() |
ก่อร่างสร้างใจ ISBN 978-974-650-900-8 |
คำปรารภ
โรงเรียนวรรณสว่างจิตมีความประสงค์จะนำคำบรรยายของข้าพเจ้าจำนวน ๖ ครั้งมาพิมพ์เป็นเล่มเพื่อเป็นบรรณาการแก่ผู้ปกครองรวมทั้งเผยแพร่แก่ผู้สนใจ คำบรรยายดังกล่าวเป็นการแสดงธรรมแก่คณะครู ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่วรรณสว่างจิตในช่วงที่มาอบรม ณ วัดป่าสุคะโตระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ การอบรมดังกล่าวเป็นการอบรมประจำปีที่โรงเรียนวรรณสว่างจิตได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ทั้งนี้เพื่อเป็นโอกาสให้ครู ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ได้ไตร่ตรองทบทวนเกี่ยวกับชีวิต รวมทั้งรู้จักตนเอง จนสามารถเป็นมิตรกับตนเองได้ กล่าวได้ว่านี้คือรากฐานของความสุขที่แท้และการมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นกับคนอื่น ใช่หรือไม่ว่าความทุกข์ของผู้คนทุกวันนี้เกิดจากการไม่สามารถเป็นมิตรกับตนเองได้ คนส่วนใหญ่ใช้เวลาเกือบทั้งวันและตลอดชีวิตเพื่อหนีตัวเอง ด้วยการไปอยู่กับสิ่งเสพสิ่งบริโภคและความบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ เป็นเพราะไม่มีความสุขกับตัวเอง จึงไปแสวงหาความสุขจากสิ่งนอกตัว ไม่ว่าวัตถุหรือผู้คน แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถพบความสุขที่แท้ได้ เพราะความสุขที่แท้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากการเป็นมิตรกับตัวเองให้ได้ ในช่วง ๕ วันที่วัดป่าสุคะโต นอกจากการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับสุขและทุกข์ในชีวิตแล้ว ยังมีการทำกิจกรรมเพื่อเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นตัวเองชัดขึ้น และที่ขาดไม่ได้คือเจริญสติเพื่อให้รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิด เราไม่สามารถรู้จักตัวเองอย่างแท้จริงหากไม่หมั่นดูใจจนรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ในทำนองเดียวกันเราไม่สามารถมีความสุขอย่างแท้จริงหากลืมตัวลืมใจ หรือปล่อยใจฟุ้งซ่านอย่างควบคุมไม่ได้ จนความคิดกลายมาเป็นนายเราที่บงการเราทุกอย่าง รวมทั้งบังคับหรือหลอกล่อให้เราทำสิ่งที่เป็นโทษกับตัวเอง หาไม่ก็นำพาความทุกข์และอารมณ์อกุศลต่างๆ มาทำร้ายจิตใจเรา เมื่อใดที่เรารู้จักตัวเองจริงๆ เราจึงจะเป็นมิตรกับตัวเองได้ เมื่อนั้นเราจึงจะรักตัวเองอย่างแท้จริง ยิ่งรักตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาใจ เพื่อปกป้องไม่ให้ความลืมตัวและอารมณ์อกุศลทั้งมวลมาย่ำยีบีฑา ไม่มีอะไรที่จะคุ้มครองใจได้ดีเท่ากับธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ใจที่มีธรรมเป็นรากฐานจะมีความมั่นคงเข้มแข็ง กระทั่งภัยใดๆ ก็มิอาจทำให้หวั่นไหวคลอนแคลนได้ ขอขอบคุณคุณนิภา เผ่าศรีเจริญ ที่กรุณาสละเวลาตรวจแก้คำผิดให้อย่างละเอียดเช่นเดียวกับเล่มก่อนๆ และขออนุโมทนาคณะผู้บริหารโรงเรียนวรรณสว่างจิตที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรทางด้านจิตใจควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านอื่นๆ ความเป็นครูนั้นมิได้อยู่ที่ความรู้และทักษะการสอนเท่านั้น การเป็นแบบอย่างทางด้านวิถีชีวิตที่นักเรียนสัมผัสได้ เป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของความเป็นครูก็ว่าได้ เพราะสิ่งนี้จะประทับแน่นในใจของนักเรียน และส่งผลต่อชีวิตของเขาได้ยั่งยืนยาวนานกว่าความรู้ในห้องเรียนซึ่งส่วนใหญ่มักจะลืมเลือนตามกาลเวลา พระไพศาล วิสาโล |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|