![]() |
อริยวินัยสำหรับสังคมสมัยใหม่ พระไพศาล วิสาโล
แบ่งปันบน
facebook Share
|
เมื่อพูดถึงแกนกลางหรือแก่นแท้ของพุทธศาสนา ผู้คนมักเข้าใจว่าหมายถึง “ธรรม” หรือ “ธรรมะ” ที่จริงแล้วความเข้าใจดังกล่าวถูกต้องเพียงครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งที่ขาดไปคือ “วินัย” ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ธรรมวินัย” (ดังวลีหนึ่งที่พบบ่อยในพระไตรปิฎก คือ “ภิกษุในธรรมวินัยนี้”) “ธรรม”นั้นหมายถึงหลักความจริงที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาเปิดเผย รวมไปถึงคำสอนทั้งปวงของพระพุทธองค์ ส่วน “วินัย”นั้นหมายถึงแบบแผนหรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นมา ธรรมนั้นมีอยู่ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติ ส่วนวินัยนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่ทรงสถาปนาคณะสงฆ์แล้ว ความหมายของวินัย ความหมายดั้งเดิมของวินัยนั้นครอบคลุมกว้างขวางกว่าที่คนทุกวันนี้เข้าใจ กล่าวคือ แบบแผนความเป็นอยู่ หรือระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของชุมชน โดยเน้นที่ชีวิตด้านนอกทั้งหมดของผู้คนในชุมชนนั้น เช่น วินัยของสงฆ์ ก็จะครอบคลุมถึงความเป็นอยู่ทั่ว ๆ ไปของภิกษุสงฆ์ทุกแง่ เริ่มตั้งแต่วิธีการรับสมาชิกใหม่ การดูแลอบรมสมาชิกใหม่ การเก็บรักษาและแบ่งสรรปัจจัย ๔ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย วิธีดำเนินการประชุม การโจทฟ้องคดี การดำเนินคดี และตัดสินคดี ฯลฯ (ดู พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความของพระพรหมคุณาภรณ์ น. ๔๔๘-๔๔๙) ระเบียบกฎเกณฑ์ดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะสิกขาบท ๒๒๗ ข้อในพระปาฏิโมกข์เท่านั้น แต่มีอีกมากมายในพระวินัยปิฎก วินัย ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นหมายถึงข้อปฏิบัติส่วนตัวเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดังคนที่บกพร่องในเรื่องนี้เราก็มักพูดว่าเขาเป็นคน “ไม่มีวินัย” แต่ถ้าพิจารณาจากข้อความข้างต้นก็จะเห็นว่า วินัยนั้น(อย่างน้อยก็ตามความหมายดั้งเดิม) มิได้จำกัดเฉพาะข้อปฏิบัติส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกติกาหรือระเบียบสำหรับการดำเนินกิจการต่าง ๆ ในชุมชนที่ทุกคนพึงปฏิบัติตาม เป็นธรรมดาที่ว่าคนในชุมชนนั้นย่อมมีชีวิต ๒ ระดับ คือชีวิตส่วนตัว กับชีวิตส่วนรวม ชีวิตส่วนตัวนั้น หมายถึงการกินการอยู่การปฏิบัติตนที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับใครก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ ส่วนชีวิตส่วนรวมนั้นหมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเกี่ยวข้องกับกิจการส่วนรวม รวมทั้งหน้าที่ต่อส่วนรวม วินัยนั้นครอบคลุมชีวิตของบุคคลทั้ง ๒ ระดับ อีกทั้งยังรวมถึงระบบระเบียบที่ชุมชนยึดถือร่วมกันในการจัดการเรื่องราวต่าง ๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง “วินัยมีความหมายครอบคลุม ระบบแบบแผนเกี่ยวกับการปกครอง การบริหาร การศาล นิติบัญญัติ การเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น ทั้งหมดเท่าที่ชุมชนตลอดถึงประเทศชาติจะตกลงใช้ปฏิบัติเป็นทางการ โดยตราไว้เป็นธรรมนูญ กฎหมาย ประกาศ หรือคำสั่งต่าง ๆ” (พุทธธรรม น.๔๔๙) พูดง่าย ๆ ก็คือ วินัยหมายถึง “ระบบชีวิต และระเบียบสังคม” วินัยสำคัญอย่างไร วินัยตามความหมายดังกล่าว เป็นสิ่งสำคัญในพุทธศาสนาก็เพราะว่า คนเรานั้นจะมีความเจริญงอกงามในธรรมได้ ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นอย่างมาก นอกจากกัลยาณมิตรแล้ว สิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือชุมชนหรือหมู่คณะ ซึ่งหากมีระเบียบแบบแผนที่ดีงาม ก็จะทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย อีกทั้งยังส่งเสริมให้ทำสิ่งดีงาม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาตนทั้งสิ้น ผลที่เกิดขึ้นคือความตั้งมั่นในธรรม สาเหตุที่พระพุทธองค์ทรงสถาปนาคณะสงฆ์ก็เพื่อให้เกิดชุมชนที่เอื้อต่อการปฏิบัติธรรม โดยมีวินัยเป็นเครื่องยึดโยงให้ชุมชนนั้นมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องกำกับให้สมาชิกในชุมชน(คือภิกษุทั้งหลาย)มีการฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อความเจริญงอกงามในธรรม นี้คือลักษณะหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาต่างจากลัทธิฤาษีชีไพร ซึ่งมุ่งหลีกเร้นบำเพ็ญธรรมแต่เพียงผู้เดียว สิ่งที่ควรเน้นในที่นี้ก็คือ วินัยนั้นมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการฝึกฝนพัฒนาตน ดังคำว่าวินัย บางครั้งก็แปลกว่า “การฝึก” แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าวินัยหมายถึงการควบคุมบังคับ โดยเฉพาะวินัยที่หมายถึงระเบียบแบบแผน (ดังพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามวินัยว่าหมายถึง “ระเบียบแบบแผนและข้อบังคับ”) เมื่อมองว่าวินัยหมายถึงการควบคุมบังคับ ผู้คนก็จะรู้สึกลบหรือต่อต้านขึ้นมาในใจทันที เพราะไม่ชอบการถูกบังคับ วินัยในพุทธศาสนานั้น เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาตน ๒ ลักษณะคือ ด้านหนึ่งเป็นการฝึกฝนตนเองโดยตรง กล่าวคือเมื่อปฏิบัติตามวินัยแต่ละข้อ(หรือสิกขาบทสำหรับพระภิกษุ) ก็จะช่วยให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น อยู่อย่างเรียบง่ายสมถะ ไม่เอาแต่ใจตัวหรือทำตามใจกิเลส มีกายวาจาที่งดงาม อีกด้านหนึ่งนั้นวินัยช่วยให้วัดหรือชุมชนสงฆ์มีสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาตนหรือปฏิบัติธรรม ไม่เปิดช่องให้มีการก่อความวุ่นวาย เอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกัน ประโยชน์ดังกล่าวพระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวอย่างชัดเจนเมื่อทรงบัญญัติพระวินัยว่า เพื่อความเรียบร้อยดีงามแห่งสงฆ์ เพี่อความอยู่ผาสุกแห่งเหล่าภิกษุผู้มีศีลดีงาม เพื่อกำราบคนที่ประพฤติทราม และเพื่อปิดกั้นอาสวะ(หรือทางแห่งความเสื่อมเสีย)ทั้งหลายอันจะเกิดในปัจจุบันและอนาคต วินัยที่ช่วยให้บุคคลเข้าถึงธรรม เช่นนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “อริยวินัย” หรือแปลอีกอย่างว่า “แบบแผนของพระอริยะ ระบบชีวิตหรือระบบการฝึกฝนอบรมของอารยชน” (พุทธธรรม น. ๔๕๒) วินัยสำหรับคฤหัสถ์ อริยวินัยดังกล่าวมีความหมายกว้างกว่าวินัยของสงฆ์ คฤหัสถ์หรือผู้ครองเรือนก็สามารถนำอริยวินัยดังกล่าวมาใช้กับตนเองได้ พึงสังเกตว่าวินัยของสงฆ์นั้น เป็นระเบียบแบบแผนที่มีอยู่ก่อนแล้ว ใครที่ต้องการเข้าชุมชนสงฆ์ คือบวชเป็นภิกษุ ก็ต้องปฏิบัติตามวินัยนั้น วินัยในแง่นี้จึงคล้ายเป็นสิ่งที่ต้องรับมาปฏิบัติหากต้องการเข้าหมู่ จะมองว่าเป็นกฎระเบียบข้อบังคับก็ได้ แต่สำหรับคฤหัสถ์แล้ว วินัยอาจไม่ใช่ข้อบังคับที่ผู้อื่นกำหนดมาให้ปฏิบัติ แต่เป็นสิ่งที่สมัครใจรับมาเองก็ได้ เช่น ศีล ๕ เวลาเราสมาทานศีล ๕ พึงรู้ว่านี้คือวินัยอย่างหนึ่งที่เราเลือกรับมาเป็นเครื่องกำกับกายวาจาของตนหรือเป็นระเบียบแบบแผนของชีวิต ดังเห็นได้จากคำกล่าวเวลารับศีล เช่น ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าขอรับถือปฏิบัติข้อฝึกข้อศึกษา(สิกขาบท)ที่จะละเว้นการทำลายชีวิต คำแปลดังกล่าวยังบอกให้เรารู้ว่า ศีลที่เราเรียกกันนั้น ที่จริงคือ “สิกขาบท” หรือข้อฝึกฝนอบรมตน สิกขาบทหลายข้อรวมเรียกว่า วินัย และเมื่อตั้งอยู่ในวินัยจึงจะเป็นผู้มีศีล (ธรรม) ในฐานะบุคคลที่ต้องฝึกตน คฤหัสถ์ควรมีอริยวินัยเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต เช่น มีสิกขาบท ๕ (ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ศีล ๕) เป็นอย่างน้อย แต่ลำพังสิกขาบท ๕ นั้นย่อมไม่เพียงพอ สมัยก่อนชาวพุทธมีสิ่งที่เรียกว่า “คิหิวินัย” หรือวินัยของคฤหัสถ์ (ซึ่งปรากฏในสิงคาลกสูตร) อันได้แก่ การละความชั่ว ๑๔ ประการ คือ กรรมกิเลส ๔ ( ๔ ข้อแรกของศีล ๕) อคติ ๔ และอบายมุข ๖ รวมทั้งเว้นห่างจากมิตรเทียม คบหามิตรแท้ รู้จักจัดสรรทรัพย์ (โภควิภาค ๔) และปฏิบัติต่อบุคคลต่าง ๆ อย่างถูกต้องตามฐานะ (ทิศ ๖) จะเห็นได้ว่าคิหิวินัยครอบคลุมชีวิตความเป็นอยู่ของคฤหัสถ์ได้มากกว่าศีล ๕ แต่ทุกวันนี้ถูกลืมเลือนไปจนเกือบหมด ผู้คนส่วนใหญ่นึกถึงแต่ศีล ๕ เวลาพูดถึงข้อควรปฏิบัติสำหรับชาวพุทธ และมองว่าเป็นธรรม (ดังเรียกว่าศีลธรรม) ซึ่งมีนัยว่าจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่ไม่ได้มองว่าเป็นวินัย คือข้อกำหนดที่ควรน้อมนำมาเป็นเครื่องฝึกฝนตน อย่างไรก็ตามหากจะฟื้นคิหิวินัยดังกล่าวขึ้นมาสำหรับเป็นวินัยของคฤหัสถ์ อาจจะไม่เพียงพอ เนื่องจากวิถีชีวิตสมัยใหม่ต่างจากสมัยพุทธกาลมาก จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะกับสังคมสังคมปัจจุบันซึ่งมีทั้งความซับซ้อนและสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมากขึ้น ในเรื่องนี้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้นำเสนอ “หลักชาวพุทธ” ซึ่งมีบางส่วนจัดเป็นวินัยของคฤหัสถ์ยุคปัจจุบันได้ดี กล่าวคือ ๑.บูชาบูชนีย์: มีปกติกราบไหว้ แสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอาจารย์ และบุคคลที่ควรเคารพ วินัยระดับชุมชน ข้อปฏิบัติทั้ง ๑๒ ประการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของวินัยสำหรับคฤหัสถ์ในยุคปัจจุบัน แต่ยังจัดว่าเป็นวินัยหรือข้อปฏิบัติส่วนบุคคล สิ่งที่ควรมีเพื่อเสริมข้อปฏิบัติดังกล่าวก็คือ ชุมชนของกัลยาณมิตรหรือชุมชนของผู้ปฏิบัติที่น้อมนำวินัยดังกล่าวมาใช้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องจากได้กล่าวแล้วว่าบุคคลจะเจริญงอกงามในธรรมได้ จำต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เกื้อกูล อันได้แก่ชุมชน (หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า “สังฆะ”) ดังที่ภิกษุทั้งหลายจำต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์ สำหรับชุมชนของคฤหัสถ์ อาจจะมิใช่ชุมชนที่สมาชิกอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกันแบบสงฆ์(หรือวัด) คือชุมชนในทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นชุมชนในทางความสัมพันธ์ คือแม้จะอยู่คนละที่ แต่มีความผูกพันกันในทางธรรม และมุ่งช่วยเหลือเกื้อกูลให้ก้าวหน้าในทางธรรม ชุมชนกัลยาณมิตรดังกล่าวควรมีวินัยร่วมกันคือแบบแผนและข้อกำหนดสำหรับการประพฤติปฏิบัติ ทั้งที่เป็นการปฏิบัติส่วนตัว (ดังคิหิวินัยหรือข้อปฏิบัติการ ๑๒ ประการข้างตน) และการทำกิจส่วนรวมหรือกติกาสำหรับดำเนินการต่าง ๆ ในชุมชน (เช่น การประชุมพบปะกัน หรือการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน) ในทำนองเดียวกับวินัยสงฆ์ ซึ่งได้กล่าวแล้วข้างต้น มีชุมชนสมัยใหม่มากมายที่สร้างวินัยขึ้นมาในลักษณะดังกล่าว เช่น ชุมชนของชาวอโศก ชุมชนหมู่บ้านพลัม หรือชุมชนของชาวฉือจี้ วินัยเหล่านี้มิใช่สิ่งควบคุมบังคับสมาชิก แต่เป็นเครื่องฝึกฝนตน รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาชีวิต และเกื้อกูลต่อการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ชุมชนเหล่านี้ยังเป็นเสมือนฉนวนที่ป้องกันการกระทบกระแทกจากปัจจัยภายนอกที่บั่นทอนชีวิตและจิตใจของผู้คน ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ชุมชนเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการประยุกต์วินัยในพุทธศาสนามาใช้กับชีวิตสมัยใหม่ เป็นการขยายขอบเขตของวินัย ไม่ให้จำกัดอยู่แต่ชุมชนสงฆ์ดังที่มักเข้าใจกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการนำเอาเจตนารมณ์ของวินัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสมสมัยและตรงตามหลักการของพุทธศาสนา นั่นคือการสร้างระเบียบชีวิตและระบบสังคม(หรือชุมชน)เพื่อนำพาผู้คนให้เข้าถึงธรรมและได้ประโยชน์จากธรรม อย่างไรก็ตามการประยุกต์วินัยในพุทธศาสนามาใช้อย่างได้ผลอย่างแท้จริง จะต้องครอบคลุมไปถึงการสร้างแบบแผนทางสังคมในระดับที่กว้างกว่าชุมชนด้วย นั่นคือขยายไปถึงระดับประเทศ เพราะได้กล่าวแล้วว่าวินัยในความหมายที่กว้างที่สุดนั้นครอบคลุมทั้ง “ระบบแบบแผนเกี่ยวกับการปกครอง การบริหาร การศาล นิติบัญญัติ การเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น” แต่ความจริงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็คือแบบแผนดังกล่าวยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวินัยที่ถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนา เพราะส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาชีวิตของบุคคลให้งอกงามในทางธรรม ตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาซึ่งส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยทางจริยธรรม อาทิ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม-บริโภคนิยม ซึ่งทำให้เงินเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนจนกลายเป็นเป้าหมายของชีวิต ความร่ำรวยกลายเป็นความปรารถนาสูงสุดของผู้คน ใช่แต่เท่านั้นเงินยังกลายเป็นตัววัดคุณค่าของทุกสิ่ง ขณะเดียวกันผู้คนก็มุ่งตักตวงแสวงหาความสุขทางวัตถุจนละเลยคุณค่าทางนามธรรมอย่างอื่น ๆ ระบบการเมืองเป็นแบบอย่างของความเสื่อมถอยทางจริยธรรม เช่น การเมืองที่ไม่โปร่งใสเปิดโอกาสให้มีการคอรัปชั่น หรือเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลใช้เงินสร้างฐานอำนาจจนเข้ามาเป็นรัฐบาลได้ ย่อมทำให้มีการใช้อำนาจมืดเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การให้สัมปทานแก่พวกพ้อง การอนุมัติโครงการที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าคอมมิชชั่น แก่ตน ไปจนกระทั่งการลอบสังหารคนที่ขัดผลประโยชน์ของตน ขณะเดียวกันระบบการเมืองที่รวบอำนาจเข้าส่วนกลางหรือระบบเผด็จการก็ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหรือจากสังคมเป็นไปได้ยาก การใช้อำนาจในทางฉ้อฉลเพื่อประโยชน์ส่วนตัวทั้งโดยผู้มีอำนาจและพวกพ้องบริวารจึงเกิดขึ้นได้ง่าย กลายเป็นค่านิยมที่ผู้คนเลียนแบบกันทั่วทั้งประเทศ นอกจากระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ทำให้คนเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีระบบต่างๆ ในสังคมที่ทำให้ผู้คนแก่งแย่งกันมากขึ้นเช่น ระบบจราจรที่ไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ ระบบราชการที่ไม่เอื้อให้คนทำดี แต่เปิดช่องให้มีการทุจริตอย่างง่ายดาย หรือระบบยุติธรรม ซึ่งไม่โปร่งใสและอยู่ใต้อำนาจเงิน ทำให้คนมีเงินไม่สนใจที่จะทำตามกฎหมายเพราะเชื่อว่าสามารถใช้เงิน “อุด” ได้ ระบบที่บกพร่องเหล่านี้ (ซึ่งรวมไปถึงระบบความสัมพันธ์ในสังคม) ไม่เพียงแต่จะบีบคั้นให้คนเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังให้ “รางวัล”แก่คนที่ทำเช่นนั้นด้วย เช่น คนที่ไร้น้ำใจ ไม่หยุดให้แก่คนข้ามทางม้าลาย สามารถไปถึงที่หมายก่อนใครๆ คนที่แซงคิว สามารถได้ตั๋วรถหรือตั๋วหนังก่อนใครๆ คนที่ทุจริต ซื้อตำแหน่ง สามารถเลื่อนชั้นก่อนใครๆ ใครที่ซื้อของหนีภาษีได้ก็เป็นที่ยกย่องว่าเก่ง คนที่ขายยาบ้าค้าผู้หญิง นอกจากจะไม่ถูกตำรวจจับเพราะมีเส้นสายหรือให้สินบนเจ้าหน้าที่แล้ว ยังร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบเหล่านี้มีแต่ทำให้คนเห็นแก่ตัวและเอาเปรียบกันมากขึ้น การมีวินัยส่วนตัวหรือมีวินัยในระดับชุมชน แม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ยังไม่อาจเรียกว่าพอเพียง ตราบเท่าที่วินัยในระดับประเทศนั้นนำพาผู้คนไปในทางตรงข้ามคือความเสื่อมถอยทางจริยธรรม หรืออย่างน้อยก็ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดระบบสังคมระดับประเทศที่ส่งเสริมการพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริง เช่น ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกื้อกูลต่อการช่วยเหลือกันแทนที่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากนัก มีหลักประกันทางด้านปัจจัยสี่และสวัสดิการ ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้เกิดการทำลายธรรมชาติอย่างขนานใหญ่ ส่วนระบบการเมือง ก็เปิดโอกาสให้ผู้คนมีส่วนร่วมในกิจการของส่วนรวมอย่างเสมอภาคและสามารถเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเท่าเทียมกันทั้งเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตตนและเพื่อการปกป้องผลประโยชน์ของตนหรือของชุมชนตน ตลอดจนมีเสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งมีการถ่วงดุล ตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและป้องกันการใช้อำนาจในทางที่ผิดเพื่อผลประโยชน์ของพวกพ้องตนหรือเพื่อการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ระบบการศึกษา ควรมีการปรับปรุงเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และฝึกฝนตนในทุกมิติ ไม่หลงติดอยู่กับระบบบริโภคนิยมหรือถูกครอบงำด้วยลัทธินิยมใด ๆ อย่างไร้วิจารณญาณ ผู้คนสามารถพัฒนาและใช้ศักยภาพทั้ง ๔ มิติ (คือ กาย ความสัมพันธ์ จิต และปัญญา)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากสามารถแก้ปัญหาของตนได้แล้ว ยังสามารถช่วยเหลือส่วนรวมด้วยวิถีทางที่สันติ ระบบสื่อมวลชน ควรเป็นไปเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคที่ถูกต้องและมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาสุขภาวะทั้ง ๔ มิติ ไม่ถูกครอบงำด้วยอำนาจทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของได้ เป็นสื่อกลางที่ส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเข้าใจกัน ยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเคารพในความแตกต่างทางความคิดและอัตลักษณ์ สร้างระบบชีวิต ระเบียบสังคม อย่างสมสมัย วินัยนั้นจะเป็นอริยวินัยได้ก็เพราะส่งเสริมให้ผู้คนได้ฝึกฝนตนจนเข้าถึงธรรม ใช้ชีวิตอย่างมีคุณธรรม จนสามารถเห็นสัจธรรม ทำให้พ้นจากความทุกข์ และช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขมากขึ้น อริยวินัยนั้นแม้จะมีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่นอกจากการนำเอารูปธรรมที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้มาใช้แล้ว ควรคิดค้นสร้างสรรค์เพิ่มเติมขึ้นใหม่ด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน โดยตั้งอยู่บนหลักการหรือเจตนารมณ์ของวินัยที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางเอาไว้ ในข้อนี้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)ได้ให้ข้อคิดไว้ไม่น้อยกว่า ๓๐ ปีมาแล้วว่า “หากจะฟื้นฟูการปฏิบัติวินัย การเน้นแต่เพียงความเคร่งครัดด้านรูปแบบอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอ ภารกิจสำคัญที่ยังไม่ได้ทำสืบต่อจากเดิม หรือได้หดหายไปแล้วยิ่งกว่าเดิม ซึ่งควรฟื้นฟูก็คือ การรักษาเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลในวินัยของสงฆ์ให้คงอยู่ ไม่เลือนรางหดหายไป เหลืออยู่แต่ในรูปของพิธีกรรมแห้ง ๆ และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การขยายเจตนารมณ์ทางสังคมของศีลนั้นให้กว้างออกไปสู่การปฏิบัติในสังคมคฤหัสถ์รอบนอกด้วย โดยจัดสรรวินัยที่เป็นระบบชีวิตและระเบียบสังคมแบบพุทธของชาวบ้าน ให้เกิดมีขึ้นอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกาลสมัย” (พุทธธรรม น.๔๕๑)
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|