![]() |
อยู่สบาย ไยต้องตายลำบาก |
ความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คนสมัยนี้มีชีวิตที่สุขสบายกว่าสมัยก่อนมาก นอกจากอาหารการกินจะอุดมสมบูรณ์และหลากหลายแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จะไปไหนก็ไม่ต้องเดิน จะกินหรือซื้ออะไร ก็แค่โทรศัพท์หรือกดปุ่ม งานการก็ไม่ต้องใช้เรี่ยวแรงหรืออาบเหงื่อต่างน้ำ ยังไม่ต้องพูดถึงความบันเทิงเริงรมย์ ซึ่งมีให้เสพได้ทุกเวลา แต่หากพูดถึงความตายแล้ว กลับกลายเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมากขึ้นสำหรับคนสมัยนี้ ยิ่งร่ำรวยมากเท่าไร ก็ยิ่งตายลำบากมากเท่านั้น นิตยสาร The Economist ฉบับเดือนพฤษภาคม รายงานว่าในประเทศร่ำรวย ผู้คน ๒ ใน ๓ ไม่เพียงตายในโรงพยาบาลหรือบ้านพักคนชราเท่านั้น แต่ยังเจอการรักษาที่ไร้ประโยชน์และก้าวร้าวรุนแรง หลายคนตายคนเดียว ด้วยความสับสนและเจ็บปวด จำเพาะประเทศอเมริกา มีการพบว่า ระหว่างปี ๒๕๔๑ ถึง ๒๕๕๓ คนอเมริกันที่มีความสับสน เป็นโรคซึมเศร้า และเจ็บปวดในปีท้าย ๆ ของชีวิตมีสัดส่วนมากขึ้น ประเทศร่ำรวยเหล่านี้ แม้มีเทคโนโลยีล้ำหน้ามากมาย แต่บ่อยครั้งกระบวนการรักษาที่กระทำแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น นอกจากก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากมายแล้ว ยังไม่ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นเลย ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ป่วยแม้กระทั่งในช่วงท้ายของชีวิต ประมาณ ๑ ใน ๘ ของชาวอเมริกันที่ป่วยด้วยมะเร็งระยะสุดท้ายได้รับเคมีบำบัดกระทั่ง ๒ สัปดาห์สุดท้ายของชีวิต ทั้ง ๆ ที่วิธีดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์อันใดสำหรับผู้ป่วยระยะนี้เลย ยิ่งเป็นผู้สูงอายุด้วยแล้ว เกือบ ๑ ใน ๓ ได้รับการผ่าตัดในช่วงปีสุดท้าย ร้อยละ ๘ ถูกผ่าตัดกระทั่งสัปดาห์สุดท้าย เคยมีการสอบถามญาติมิตรของผู้ป่วยที่เสียชีวิต เกือบร้อยละ ๔๐ ระบุว่าเพื่อนหรือญาติของตนได้รับความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น เมื่อถามถึงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ส่วนใหญ่ให้คะแนน “ปานกลาง” หรือ “แย่” มองในแง่นี้ คนสมัยก่อนแม้มีชีวิตที่ลำบาก แต่ถึงเวลาตาย กลับสบายกว่า เพราะนอกจากมีญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านมาช่วยดูแล สร้างความอบอุ่นใจ และช่วยน้อมใจให้ไปสงบแล้ว มักจะประสบความเจ็บปวดน้อยกว่าหรือไม่นานเท่าคนสมัยนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้ตายในเวลาไม่นาน อีกทั้งไม่ต้องเจอกระบวนการยื้อชีวิต ซึ่งแม้จะทำให้มีลมหายใจยืนยาวขึ้น แต่กลับสร้างความทุกข์ทรมานอย่างมาก อย่างไรก็ตามใช่ว่าเกิดมาเป็นคนสมัยนี้แล้วจะต้องตายลำบากเสมอไป ระยะหลังมีการให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายอย่างครอบคลุมทั้งกายและใจ ไม่เน้นการยื้อชีวิต แต่ช่วยลดความทุกข์ทรมาน และทำให้สุขสบายมากที่สุด การดูแลแบบนี้เรียกว่าการรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) มีการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่ตายในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เจ็บปวด เครียด และซึมเศร้ามากกว่าผู้ป่วยประเภทเดียวกันที่ตายในสถานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหรือที่บ้าน ซึ่งได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ที่เป็นเช่นนี้สาเหตุสำคัญเป็นเพราะผู้ป่วยกลุ่มหลัง ไม่ต้องเจอการรักษาที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น ซึ่งเพียงแต่ยื้อชีวิต แต่ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การรักษาแบบประคับประคอง จะให้ความสำคัญกับมิติด้านจิตใจ รวมทั้งความรู้สึกและความต้องการของคนไข้ ก่อนให้การรักษา จะมีการพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้ เกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ป่วย สิ่งที่ผู้ป่วยอยากทำในระยะท้าย สิ่งที่หวาดกลัวไม่อยากให้เกิด รวมทั้งจะยอมทนแค่ไหนเพื่อมีเวลาทำสิ่งที่ต้องการได้ การทำตามความต้องการของคนไข้ หรือช่วยให้คนไข้ได้ทำสิ่งสำคัญสุดท้ายของชีวิต ช่วยให้คนไข้ยอมรับความตายได้มากขึ้น ไม่ต่อสู้ขัดขืนกับความตาย แต่จะทำเช่นนั้นได้ การสนทนาพูดคุยระหว่างหมอกับคนไข้เป็นสิ่งสำคัญ “การสนนทนาอาจมีอานุภาพยิ่งกว่าเทคโนโลยีเสียอีก” แพทย์ชาวอังกฤษพูดจากประสบการณ์ที่ทำงานด้านนี้มายาวนาน ที่น่าสนใจก็คือ แม้การแพทย์แบบประคับประคองมิได้มุ่งยื้อชีวิตผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบนี้จำนวนมากกลับมีชีวิตยืนยาวกว่าผู้ป่วยที่ถูกยื้อชีวิตด้วยเทคโนโลยีนานาชนิด งานวิจัยของโรงพยาบาลกลางแมสสาชูเสทเมื่อปี ๒๕๕๓ พบว่าคนกลุ่มนี้ที่เป็นมะเร็งปอดระยะ ๔ อยู่ได้นานขึ้นร้อยละ ๒๕. “อยู่สบาย ตายลำบาก” กับ “อยู่ลำบาก ตายสบาย” เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะ เราสามารถอยู่สบาย ตายไม่ลำบากได้ หากวางแผนเสียแต่เดี๋ยวนี้ว่าในวาระสุดท้ายเราเลือกจะใช้การดูแลรักษาแบบใด |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|