นิตยสาร
:
สาวิกา คอลัมน์ สาระขัน
: ใช้หูให้เป็น |
|
จิตแพทย์สองคนมาเจอกันในงานเลี้ยงรุ่นปีที่ ๒๐ คนหนึ่งดูหนุ่มกระชุ่มกระชวย แต่อีกคนหนึ่งสิกลับเหนื่อยอ่อนเหมือนคนอมทุกข์ แกมีเคล็ดลับอะไรเหรอ ? จิตแพทย์หน้าหมองถาม ฟังปัญหาผู้คนตลอดทั้งวัน ทำให้ฉันแก่ไปถนัดใจ จิตแพทย์หน้าละอ่อนตอบ ใครเขาฟังกันล่ะ ?
มีนักธุรกิจคนหนึ่งเจอเพื่อนร่วมงานจอมนินทา แม้จะอยู่คนละห้องแต่จอมนินทาผู้นี้ชอบโทรศัพท์มาบ่นคนโน้นนินทาคนนี้ให้เธอฟังเป็นประจำจนเธอเบื่อหน่าย สุดท้ายเธอแก้ปัญหาด้วยการรับสายโทรศัพท์แล้ววางหูไว้ที่โต๊ะ ปล่อยให้อีกฝ่ายพูดไปเรื่อย ๆ คนเดียว พอผ่านไปห้านาทีเธอจะยกหูพูดกรอกเข้าไปว่า ค่ะ แล้วก็วางหู วิธีนี้ทำให้ไม่เสียงานหรือเสียเพื่อน อีกฝ่ายก็สบายใจที่ได้พูด นักธุรกิจผู้นี้บอกว่าได้บทเรียนมาจากเรื่องเล่าของพ่อ เรื่องมีอยู่ว่าเด็กวัดคนหนึ่งบ่นหนวกหูทุกครั้งที่ได้ยินเสียงหมาเห่า หลวงพ่อเจ้าอาวาสจึงสอนเด็กวัดว่า หูหมากับปากหมามันอยู่ติดกัน หมามันยังไม่หนวกหูเลย แล้วหูเอ็งกับปากหมามันห่างกันเป็นวา เอ็งจะไปทุกข์ร้อนทำไม อย่าไปตั้งใจฟังมันก็หมดเรื่อง พอได้ยินก็ทุกข์ ลองไม่ฟังมันก็จะสุขไปเอง การฟังนั้นเป็นเรื่องที่ต้องฝึก ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็ฟังเป็น อย่างแรกที่ต้องฝึกคือ รู้จักเลือกว่าจะฟังอะไร ไม่ฟังอะไร ไม่ใช่ฟังตะพึด ถ้าไม่รู้จักเลือก หูเราจะกลายเป็นโซน่าร์ที่กวาดทุกเสียงมาใส่ตัวหมดไม่ว่าดีหรือร้าย ประการต่อมาก็คือ เมื่อฟังแล้วต้องรู้จักปล่อย ไม่เก็บเอามาปรุงแต่ง บางอย่างฟังหูซ้ายก็ต้องปล่อยให้ทะลุหูขวาไป ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นหูหาเรื่อง เขาพูดจาห้วน ๆ กับเรา ก็ไปคิดว่าเขาเกลียดขี้หน้าเรา ทั้ง ๆ ที่เขาอาจมีเรื่องไม่สบายใจที่ไม่เกี่ยวกับเราเลย หนักเข้า เพื่อนคุยกันอยู่ไกล ๆ ได้ยินแค่บางคำ ก็ไปคิดปรุงแต่งว่าเขากำลังนินทาเรา ทีนี้แหละระอุขึ้นมาเต็มทรวงเลย หูที่ชอบหาเรื่องทำให้ผู้คนเป็นทุกข์มานับไม่ถ้วนแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกหูของเราให้รู้จักฟังและฝึกใจให้รู้จักปล่อยในเวลาเดียวกัน แต่ก็อย่าเผลอฟังแต่เรื่องที่เสนาะหูสบายใจอย่างเดียว เรื่องที่ไม่ถูกใจ แต่ถ้ามีประโยชน์ เช่น คำตักเตือน ก็ควรรู้จักฟังอย่างใส่ใจด้วย การฟังอย่างใส่ใจเป็นอีกเรื่องที่น่าจะได้ฝึกกัน เพื่อหยั่งลึกไปถึงความรู้สึกนึกคิดที่อยู่เบื้องหลังคำพูด บางเรื่องถ่ายทอดลำบากหรือยากที่จะพูด แต่ถ้าใส่ใจฟัง ก็จะได้ยินถ้อยคำจากหัวใจได้ไม่ยาก คนสมัยนี้พูดเยอะแต่ไม่ค่อยเข้าใจกัน แม้โทรศัพท์มือถือจะช่วยให้คุยได้สะดวกและมากตามต้องการก็ตาม พูดแต่ไม่ได้ยินจึงกลายเป็นปัญหาของคนร่วมสมัย แม้แต่ในบ้านเดียวกัน พ่อพูดอย่าง ลูกเข้าใจไปอีกอย่าง ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว อย่างเรื่องข้างล่างนี้ พ่อบ่นให้ลูกสาววัย ๑๗ ฟังว่าเด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมียางอายกันแล้ว ตอนที่พ่ออายุเท่าลูก สาว ๆยังรู้จักอายจนหน้าแดง ตายแล้ว ลูกสาวคนสวยอุทาน พ่อไปพูดมิดีมิร้ายอะไรกับเขาเหรอ? |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|