![]() |
นิตยสารสารคดี
: ฉบับที่ ๓๓๘ :: เมษายน ๕๖ ปีที่ ๒๘
แบ่งปันบน
facebook Share
|
สมพงษ์เป็นคนธัมมะธัมโม นอกจากชอบทำบุญแล้ว ยังรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังมักชักชวนเพื่อน ๆ ไปทอดผ้าป่าตามวัดต่างจังหวัดเป็นประจำ แต่แล้ววันหนึ่งเขาพบว่าตนเองเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หมอบอกว่าโอกาสหายนั้นมีน้อยมาก ระหว่างที่นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เขาแสดงอาการกราดเกรี้ยวอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งก็ร้องไห้ด้วยความขมขื่น ช่วงที่สงบอารมณ์เขาเล่าให้พยาบาลฟังว่า เขาทำบุญรักษาศีลมาตลอดชีวิตด้วยความมั่นใจว่าความดีจะรักษาเขาให้ประสบแต่ความสุขความเจริญ แคล้วคลาดจากอันตราย ไม่คิดเลยว่าจะต้องมาเป็นมะเร็งทั้ง ๆ ที่อายุยังไม่มาก เขารู้สึกผิดหวังและโกรธแค้นมากที่บุญกุศลที่ทำมาทั้งชีวิตไม่ได้ช่วยเขาเลย เขาเอาแต่บ่นว่า “ทำดีแล้วทำไมไม่ได้ดี” ยิ่งขมขื่นและแค้นเคืองมากเท่าไร เขาก็ยิ่งมีอาการกระสับกระส่ายและเจ็บปวดมากขึ้น เมื่อถึงระยะสุดท้ายเขาก็ยังไม่พบกับความสงบ อาการของสมพงษ์คล้ายกับกาญจน์ แม้ว่าวิถีชีวิตของทั้งสองจะต่างกัน กาญจน์เป็นคนที่ใส่ใจสุขภาพมาก กินอาหารชีวจิต ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ ได้ยินคำแนะนำด้านสุขภาพจากผู้รู้เมื่อใด เธอก็มักปฏิบัติตามด้วยความเชื่อว่า การดำเนินชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะจะทำให้เธอมีอายุยืน ไร้โรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นเธอจึงไม่ยอมเชื่อเมื่อหมอบอกว่าเธอเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย แต่อาการที่ทรุดหนักอย่างรวดเร็วทำให้เธอไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป เธอแสดงความกราดเกรี้ยวแทบจะตลอดเวลาที่นอนป่วย กราดเกรี้ยวทั้งต่อหมอ พยาบาล และต่อชะตากรรม ประโยคหนึ่งที่เธอพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือ “มันเกิดกับฉันได้อย่างไร ฉันดูแลตัวเองอย่างดีมาตลอด” เธอรู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรง และโกรธแค้นเหมือนเหมือนคนถูกหลอกถูกโกง ความรู้สึกดังกล่าวฝังลึกในจิตใจของเธอจวบจนวาระสุดท้าย ทำให้จากไปอย่างไม่สงบ สมพงษ์และกาญจน์ไม่ได้ทุกข์กายเท่านั้น หากยังทุกข์ใจ จะว่าไปแล้วความทุกข์อย่างหลังนั้นรุนแรงหนักหนายิ่งกว่าความเจ็บปวดเพราะมะเร็งเสียอีก ความทุกข์ใจนั้นเกิดจากความผิดหวังอย่างรุนแรงจนไม่อาจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ ตลอดเวลาที่ล้มป่วยทั้งสองคนมัวแต่วนเวียนอยู่กับความคิดว่าฉันไม่น่าจะเป็นมะเร็งเพราะได้ทำสิ่งที่สมควรทำมาตลอดชีวิต ยิ่งยึดติดอยู่กับความคิดนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นมากเท่านั้น ผลก็คือความทุรนทุรายในจิตใจ ไม่ว่าการทำบุญรักษาศีล หรือการดูแลรักษาสุขภาพ ล้วนเป็นสิ่งดี แต่ก็มิใช่หลักประกันว่าจะป้องกันความเจ็บป่วยได้อย่างสิ้นเชิง หากยึดติดถือมั่นว่ามันจะทำให้แคล้วคลาดจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็ยิ่งส่งผลร้ายต่อจิตใจของตนเอง เช่น ทำให้เกิดความผิดหวังคับแค้นใจอย่างรุนแรงเมื่อต้องล้มป่วย กลายเป็นว่านอกจากทุกข์กายแล้วยังมีทุกข์ใจมาซ้ำเติมอีก เรื่องของสมพงษ์และกาญจน์นั้นแตกต่างจากเรื่องราวของพิชิตซึ่งเป็นมะเร็งที่หนักหนาสาหัสกว่ามาก มะเร็งใบหน้าชนิดที่เกิดกับพิชิตนั้นนอกจากทำให้เจ็บปวดอย่างรุนแรงแล้ว ยังมักก่อความทุกข์ทรมานแก่จิตใจแก่ผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง ผู้ป่วยจึงรู้สึกแย่กับตัวเองมาก ๆ จำนวนไม่น้อยเลือกที่จะฆ่าตัวตาย แต่พิชิตเป็นคนไข้ที่หมอประหลาดใจมาก เพราะเขามีอาการที่นิ่งมากแม้รู้จากหมอว่าเขาจะมีชีวิตได้แค่ ๔-๖ เดือนเท่านั้น เขายังโอภาปราศรัยกับหมอเหมือนคนปกติ ทั้ง ๆที่จมูก แก้มข้างซ้าย และปากบางส่วนถูกมะเร็งทำลายไปแล้ว ทำให้มีรูโหว่รูใหญ่อยู่ที่ใบหน้า พิชิตเล่าว่าเขาเคยเป็นคนอารมณ์ร้ายและเอาแต่ใจตัว ตอนหนุ่ม ๆ นั้นกินเหล้าสูบบุหรี่อย่างหนัก ไม่สนใจสุขภาพเลย พอใบหน้าเสียโฉมเพราะเป็นมะเร็ง เขาก็เริ่มเก็บตัว การใคร่ครวญถึงชีวิตที่ผิดพลาดในอดีต ทำให้เขายอมรับโรคมะเร็งได้มากขึ้น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นจากการที่ได้นั่งดูข่าวCNNวันแล้ววันเล่าขณะเก็บตัวอยู่คนเดียว เขาได้พบว่าความทุกข์นั้นล้วนเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติใดภาษาใด ไม่มีใครที่รอดพ้นจากความทุกข์ได้เลย ความทุกข์ของเขานั้นเป็นแค่ส่วนเสี้ยวของความทุกข์ที่เกิดกับคนทั้งโลก ความตระหนักดังกล่าวทำให้เขายอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ ขณะเดียวกันเขาก็ทุ่มเทกำลังใจทั้งหมดไปกับการดูแลตัวเองให้นานที่สุดเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น ชดเชยที่เคยปล่อยปละละเลยลูกมานานหลายปี พิชิตยอมรับความเจ็บป่วยและความตายที่ใกล้มาถึงด้วยใจสงบ จึงไม่มีอาการทุรนทุรายทั้ง ๆ ที่เจ็บปวดเพราะมะเร็งมิใช่น้อย เขาไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมเขาเป็นมะเร็ง เพราะรู้ว่ามันมีสาเหตุจากตัวเขาเอง ที่สำคัญก็คือเขาตระหนักได้ว่าความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดาของทุกชีวิต เขาจึงไม่ปฏิเสธสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเอง พิชิตจากไปอย่างสงบหลังจากมีชีวิตอยู่ได้อีกหนึ่งปี นานกว่าที่หมอพยากรณ์ไว้เท่าตัว เรื่องราวของเขาและอีกสองคนข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า ป่วยกายก็ยังไม่ร้ายเท่ากับป่วยใจ แต่หากรักษาใจไม่ให้ป่วยแล้ว ความป่วยกายก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายจนเหลือรับ สาเหตุที่ป่วยใจก็เพราะไม่ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และสาเหตุที่ไม่ยอมรับความจริงก็เพราะยึดติดถือมั่นอยู่กับความคิดว่าความเจ็บป่วยนั้นไม่ควรเกิดขึ้นกับตน ความจริงกับสิ่งที่ควรจะเป็นนั้นมักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอ ใครที่มัวยึดติดกับสิ่งที่ควรจะเป็นมักยอมรับความจริงที่กำลังเกิดขึ้นได้ยาก จึงอยู่อย่างระทมทุกข์ จริงอยู่การยอมรับ กับ การยอมจำนนนั้นต่างกัน เหตุร้ายหลายอย่างเราสามารถแก้ไขหรือบรรเทาได้ ดังนั้นจึงไม่ควรยอมจำนน แต่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการยอมรับมันอย่างที่เป็นก่อน กระนั้นก็มีเหตุร้ายบางอย่างที่ไม่อาจแก้ไขได้เลย ในกรณีเช่นนั้นสิ่งเดียวที่ทำได้คือการยอมรับมันและอยู่กับมันให้ได้ ความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากสูญเสีย เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครหนีพ้น แม้นร่ำรวยมหาศาล มีอำนาจล้นฟ้า ก็หนีความจริงเหล่านี้ไปไม่ได้ ในทำนองเดียวกันคนดีมีศีล ขยันทำบุญทำทาน ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะแม้แต่พระอรหันต์ก็ยังต้องประสบเช่นกัน สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าจะวางใจอย่างไร เจอเหตุร้ายแต่ใจไม่ทุกข์ ป่วยกายแต่ใจไม่ป่วยนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ดังนั้นเมื่อเจอเหตุร้าย แทนที่จะบ่นตีโพยตีพายว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน” ควรหันมาวางใจให้ถูก เริ่มต้นด้วยการยอมรับมัน แล้วใคร่ครวญหาทางแก้ไข หรือใช้ประโยชน์จากมัน อย่าลืมว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากสูญเสียนั้นมีด้านดีที่เป็นประโยชน์ อยู่ที่ว่าเรามองเห็นหรือใช้เป็นหรือไม่ อย่างน้อย ๆ มันก็สอนให้เราเห็นสัจธรรมของชีวิต หรือเตือนใจให้เราไม่ประมาทในทุกข์ภัยอันใหญ่หลวงที่รออยู่ข้างหน้า อีกทั้งยังฝึกใจเราให้เข้มแข็ง อดทน หรือมีสติมากขึ้น สำหรับผู้ที่คิดว่าทำบุญสร้างกุศลแล้วต้องแคล้วคลาดจากเหตุร้ายอย่างสิ้นเชิงนั้น เรื่องข้างล่างนี้น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจได้ดี เมื่อหลายสิบปีก่อนเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์ ผู้คนสิ้นเนื้อประดาตัวเป็นจำนวนมาก มีบางคนมาตัดพ้อกับหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่าอุตส่าห์ทำบุญเข้าวัดเป็นประจำ ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไมบุญกุศลไม่ช่วย ทำไมธรรมะไม่คุ้มครองให้พ้นจากความวอดวาย หลายคนถึงกับเลิกเข้าวัดทำบุญ หลวงปู่จึงตอบว่า “ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น” ท่านอธิบายต่อว่า “ความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจำโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้วว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|