![]() |
ปาริชาด สุวรรณบุบผา ในความทรงจำ พระไพศาล วิสาโล
|
ข้าพเจ้ากับอาจารย์ปาริชาดเป็นคนรุ่นไล่ ๆ กัน อีกทั้งมีความสนใจคล้ายกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะ พุทธศาสนา และสันติวิธี จนเรียกได้ว่าอยู่ในแวดวงเดียวกัน แต่เราก็เพิ่งรู้จักกันเมื่อสิบปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าไม่นานเลย ตอนที่ได้พบปะสนทนากันครั้งแรกนั้น ดูเหมือนอาจารย์ช่วยงานของสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ซึ่งอาจารย์มารค ตามไท เป็นผู้อำนวยการ ใครที่รู้จักอาจารย์ปาริชาด ย่อมประทับใจในความเป็นมิตรซึ่งมาพร้อมกับรอยยิ้มของอาจารย์ และหากได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ ก็จะพบว่าในความสุภาพและอ่อนโยนของอาจารย์นั้น เต็มไปด้วยความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และความกล้าหาญ หลายปีที่ผ่านมาอาจารย์ปาริชาดลงไปทำงานสมานไมตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง แม้มีความเสี่ยงมากมายเพียงใดก็ตาม กิจกรรมหนึ่งที่อาจารย์ให้ความสำคัญอย่างมาก และนำไปใช้ในการสมานไมตรี ก็คือ “สานเสวนา” อาจารย์ดูไม่เหน็ดเหนื่อยกับเรื่องนี้ เพราะอาจารย์เชื่อในความดีของมนุษย์ แม้จะต่างศาสนา ต่างภาษา หรือต่างชาติพันธุ์ ก็ล้วนมีความดีงามอยู่ในหัวใจทั้งสิ้น นอกจากการทำงานสมานไมตรีในฐานะกรรมการและผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว อาจารย์ยังพยายามผลักดันการสานเสวนาในฐานะเลขานุการร่วมสภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้นำทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรรมการ อาจารย์ปาริชาดเป็นคนที่ทุ่มเทกับงานมาก ทั้งงานสอนและงานสมานไมตรี แม้เป็นมะเร็งจนถึงกับล้มป่วย แต่เมื่อได้รับการเยียวยาจนดีขึ้น ก็ไม่ยอมพักผ่อน ยังคงออกไปทำงานเหมือนเดิม จนกระทั่งล้มป่วยครั้งสุดท้าย อาจารย์ก็ยังเป็นห่วงงาน ตอนที่ข้าพเจ้าไปเยี่ยมอาจารย์ปาริชาดที่บ้านเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อาจารย์ยังคงพูดถึงเรื่องงาน งานหนึ่งที่อาจารย์อยากจะเห็น คือการสัมมนาระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์เกี่ยวกับปัญหาในองค์กรของตน ที่จริงตอนนั้นอาจารย์ป่วยมากจนหมออยากให้พักผ่อนมาก ๆ พวกเราที่ไปเยี่ยมตั้งใจว่าจะคุยกับอาจารย์เพียงแค่ ๑๐ นาที แต่อาจารย์มีความสุขกับการสนทนามาก กว่าพวกเราจะขอตัวกลับได้ก็หลังจากคุยไปแล้วร่วมชั่วโมง ไม่ทันที่พวกเราจะออกจากบ้าน ก็มีอาจารย์และนักศึกษาอีกคณะหนึ่งมาถึงเพื่อเยี่ยมอาจารย์ อาจารย์ก็ยินดีต้อนรับแขก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนที่อยากมาเยี่ยมอาจารย์นั้นมีมากมายเพราะประทับใจในตัวอาจารย์ ขณะเดียวกันก็เป็นการบ่งบอกในตัวว่า อาจารย์ไม่เคยปฏิเสธใคร แม้จะป่วยหนักก็ตาม ก่อนลาจากกัน อาจารย์ปาริชาดได้ถวายระฆังแบบธิเบตให้แก่ข้าพเจ้าเป็นที่ระลึก อาจารย์บอกว่าตอนอาตมามาเยี่ยมคราวที่แล้ว เธอถวายระฆังใบใหญ่ คราวนี้อยากถวายใบย่อมกว่าเดิม ส่วนท่านจันทร์ ซึ่งไปเยี่ยมด้วยกัน อาจารย์ถวายระฆังแบบพม่า เราทั้งสองไม่คาดคิดว่านั่นคือของขวัญชิ้นสุดท้ายที่เราได้รับจากอาจารย์ นับเป็นของขวัญที่มีความหมายมาก แม้กระนั้นระฆังเหล่านั้นก็เทียบไม่ได้กับความดีและความเสียสละของอาจารย์ ซึ่งเป็นของขวัญที่ยั่งยืนกว่าและจะอยู่ในใจของผู้คนจำนวนมากตราบนานเท่านาน |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|