อาจารย์องุ่น เป็นชาวพุทธที่ไม่ได้ยึดติดในประเพณีหรือพิธีกรรม หรือหมกมุ่นอยู่กับการทำบุญเพื่อความมั่งมีศรีสุขส่วนตน หากมุ่งที่แก่นธรรมคำสอนเป็นสำคัญ ในด้านหนึ่งท่านได้อาศัยหลักธรรมในพุทธศาสนาเพื่อการขัดเกลาตนเอง จนเกิดความสันโดษ พึงพอใจในชีวิตที่เรียบง่าย ไม่หลงใหลเพลิดเพลินกับความหรูหราหรือการปรุงแต่งตามวิสัยของชาวโลก จากคนที่เคยมีชีวิตตามสมัย เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ คุณวุฒิและสถานะทางสังคม ท่านได้หันมาดำเนินชีวิตอย่างสมถะ ไม่ต่างจากชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง แม้ท่านมีโอกาสที่จะร่ำรวยได้ แต่ก็ปฏิเสธโอกาสนั้น
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติธรรมในทัศนะของอาจารย์องุ่น ไม่ได้หมายถึงการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ส่วนตนเท่านั้น สิ่งที่ท่านทำควบคู่กันก็คือ การช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ทุกข์ยาก ตลอดชีวิตของท่าน ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณชนมากมาย เช่น ก่อตั้งคลินิก “เวชประชา” ใช้เป็นสถานพยาบาล สำหรับผู้ป่วยยากจนในชุมชนแออัดในซอยทองหล่อและพื้นที่ใกล้เคียง สนับสนุนและส่งเสริมการอบรมสาธารณสุขเพื่อประชาชน ตั้งมูลนิธิเพื่อให้การศึกษาและอุปถัมภ์ลูกของกรรมกร สนับสนุนส่งเสริมนักศิลปวัฒนธรรมเพื่อสังคม รวมทั้งผลิตหุ่นมือให้เยาวชนทั่วโลก ใช่แต่เท่านั้นสมัยที่เป็นอาจารย์ ท่านยังได้กระตุ้นให้นักศึกษาเกิดสำนึกทางสังคม และช่วยเหลือชาวชนบทผู้ยากไร้ เป็นเพราะท่านมีสำนึกอย่างแรงกล้าในเรื่องความยุติธรรมทางสังคม จึงเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมคุมขังหลังจากเกิดเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๑๙
ท่านคิดถึงคนเล็กคนน้อยและประโยชน์สุขของส่วนรวมโดยตลอด ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ที่ดินของท่านในซอยทองหล่อมีมูลค่านับร้อยล้านบาท เพียงแค่ขายให้ผู้ต้องการ ท่านก็จะได้เป็นเศรษฐีเงินล้านภายในชั่วข้ามคืน แต่ท่านเลือกที่จะสละที่ดินผืนนั้นให้เป็นสาธารณประโยชน์แทน ดังเป็นที่ตั้งของมูลนิธิปรีดีพนมยงค์ในบัดนี้ กล่าวได้ว่าในยุคนี้ผู้ที่มีจิตใจมั่นคงเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อความเย้ายวนของเงินตราจำนวนมหาศาล อย่างอาจารย์องุ่น หาได้ยากอย่างยิ่ง
อาจารย์องุ่นเป็นตัวอย่างของคนที่ถึงพร้อมด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ตนควบคู่กับประโยชน์ส่วนรวม ใส่ใจกับด้านในของชีวิต โดยไม่ทิ้งสังคมหรือเพื่อนมนุษย์ มีทั้งมิติด้านลึกและด้านกว้าง ซึ่งเป็นสองมิติของพุทธศาสนาที่เกื้อกูลกัน นับเป็นแบบอย่างสำหรับชาวพุทธ (ซึ่งมักสนใจชีวิตด้านในแต่ละเลยสังคม) และนักกิจกรรมทางสังคม (ซึ่งมักสนใจสังคมแต่ละเลยชีวิตด้านใน)
อาจารย์องุ่นถือได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลท่านหนึ่ง สมควรที่สาธุชนจะระลึกถึงท่านด้วยความเคารพ แม้ท่านจากไปนานแล้วก็ตาม เพราะการเคารพและยกย่องปูชนียบุคคล นอกจากเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่งแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเร้าคุณธรรมภายในใจเรา และเสริมสร้างพลังแห่งคุณธรรมให้แผ่ไพศาล เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้คนตราบนานเท่านาน |