การเสวนาเรื่อง ๓ ทศวรรษสายธารความคิด ติช นัท ฮันห์ กับสังคมไทย
|
|
วันศุกร์ที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ |
โดย |
เนื่องในโอกาสที่ท่านติช นัท ฮันห์ จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในวันที่ ๒๐ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ กลุ่มองค์กรที่มีส่วนในการเผยแพร่งานและความคิดของท่านมาแต่แรกเริ่มจวบจนปัจจุบัน ประกอบด้วย สำนักพิมพ์โกมลคีมทอง สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มสังฆะแห่งสติ จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะจัดงานเสวนาเพื่อทบทวนบทบาททางความคิดและคุณูปการของท่านต่อสังคมไทย ตลอดจนการนำมาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันและอนาคต โดยก่อนเริ่มการเสวนา คณะผู้จัดงานฉายดีวีดีสารคดีเรื่อง Going Home การเดินทางกลับสู่เวียดนามของท่านติช นัท ฮันห์ เมื่อปี ๒๕๔๘ ความยาว ๑ ชั่วโมง เข้าใจว่า เราพยายามจะจัดสรรห้องให้มีความเป็นห้องประชุมน้อยที่สุด เพราะอยากจะให้มีความสบายๆ ในการพูดคุยมากที่สุด เพราะฉะนั้นวันนี้ ท่านที่นั่งอยู่ทางด้านล่างของห้องประชุมจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ได้ ให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุดก็แล้วกัน เพราะว่าเรามีเวลาคุยกัน ๒ ชั่วโมงกว่าๆ ร่วมๆ ๓ ชั่วโมงนะคะ แล้วตอนนั่งดูดีวีดีอยู่ข้างล่าง มองไม่เห็นว่าด้านหลังมีคนอยู่ในห้องประชุมนี้มากน้อยแค่ไหน แต่พอขึ้นมาอยู่บนเวที ต้องบอกว่าตื่นเต้นและดีใจมากๆ ที่มีผู้เข้ามาร่วมฟังการเสวนาเต็มทุกที่นั่งจริงๆ เชื่อว่า ทุกๆ ท่านที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ กว่าครึ่งหรือเกือบทั้งหมด น่าจะเป็นผู้ติดตามงานเขียนของท่านติช นัท ฮันห์ ด้วยใช่ไหมคะ มีทั้งติดตามมาเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ทั้งบนเวทีและด้านล่างเวทีมีเหมือนกันหมด เชื่อว่าวันนี้เป็นการส่งผ่านรอยต่อช่วงวัยของผู้คนในสังคมไทยที่ต่อเนื่องมา ๓๐ กว่าปีทีเดียว ก่อนอื่นต้องขออนุญาตเริ่มต้นที่หลวงพี่ไพศาลก่อน เพราะว่าหลวงพี่ได้เขียนบทความนำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับงานเขียนของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ที่ได้เผยแพร่มาเป็นเวลายาวนาน อยากให้ท้าวความนิดหนึ่งค่ะว่าสภาพบ้านเมืองเรา ณ ๓๐ กว่าปีก่อนนั้นอยู่ในสภาพแบบไหน และงานเขียนของหลวงปู่ได้เข้ามาสู่ความรับรู้ของผู้คนในบ้านเรา ในช่วงเวลาไหนอย่างไรบ้างคะ แรกเริ่ม ติช นัท ฮันห์ กับ สังคมไทย
การที่อาตมาได้รู้จักและประทับใจท่านนัท ฮันห์กับขบวนการของท่าน เป็นเพราะตอนนั้นตัวเองไม่เชื่อเรื่องวิธีการใช้ความรุนแรง ไม่เชื่อวิธีการของมาร์กซิสต์ และเชื่อว่าสันติวิธีจะเป็นคำตอบได้ อิทธิพลของคานธีและงานของไถ่กับขบวนการของท่าน ทำให้ทางเลือกที่ ๓ ซึ่งไม่ใช่ซ้ายและไม่ใช่ขวาเป็นสิ่งที่ไปได้ เพราะว่าสิ่งที่ขบวนการชาวพุทธได้ทำ นั่นคือการอุทิศตัวเพื่อสันติภาพ โดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นการต่อสู้อุทิศตัวโดยการขับเคลื่อนจากพลังภายในคือ เมตตา กรุณา ไม่ใช่ความเกลียด ความโลภ การเสียสละโดยเอาชีวิตเข้ารักษาสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งของคนสองฝ่ายเป็นความกล้าหาญอย่างมาก และที่สำคัญคือ หลายคนถูกฆ่าอย่างที่เราได้ดูในดีวีดี โดยเฉพาะคนในขบวนการโรงเรียนเยาวชนเพื่อบริการสังคม แต่ว่าท่านนัท ฮันห์ ได้เรียกร้อง ได้เตือนให้พวกเราให้อภัยต่อผู้ที่ฆ่า ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร บรรยากาศคล้ายๆ กับที่โกมล คีมทอง ถูกฆ่าเมื่อ ๓๖ ปีก่อน แล้วขบวนการชาวพุทธในเวียดนามก็ถูกข่มเหงรังแกจากทั้งสองฝ่ายอย่างมาก แต่ว่าใช้ความรักเข้าสู้ บางคนเรียกร้องสันติภาพจนกระทั่งไม่รู้จะพูดด้วยภาษาคนอย่างไรแล้ว แต่แทนที่จะใช้ภาษาความรุนแรงก็แสดงออกด้วยการเผาตัวเอง อย่าง ติช ควง ดุ๊ก (Thich Quang Duc) ปี พ.ศ.๒๕๐๖ และนัท ชี มาย (Nhat Chi Mai) ซึ่งเป็นฮีโร่ของพวกเราอีกคนในสมัยนั้น นัท ชี มาย เป็นเพื่อนรุ่นพี่ของภิกษุณีเจิงคอมที่เราเห็นในดีวีดี แล้วสะเทือนใจกับสงครามในเวียดนาม ต้องการที่จะเรียกร้องสันติภาพด้วยการอุทิศชีวิตตัวเอง เราได้เห็นการอุทิศตัวอย่างนั้นเพื่อความรัก เพื่อสันติภาพ โดยไม่ยอมให้ความเกลียดความโกรธเข้าครอบงำ แล้วมันตรงกับใจของเรา เพราะในเวลานั้น แม้เราจะเป็นห่วงบ้านเมือง แต่ก็คิดว่าชาวพุทธควรจะเก็บตัว หลบ ไม่ควรจะออกมารับรู้เรื่องราวของสังคม เพราะถ้าไปรับรู้แล้วจะเกิดความโกรธ ความเกลียด จะทำให้จิตใจไม่เป็นสุขหรือเปล่า หรือว่าจะโถมถั่งเข้าไปผลักดันใหเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมโดยที่ชีวิตจิตใจไม่เป็นสุข ท่านนัท ฮันห์ และขบวนการของท่านได้เสนอเป็นทางเลือกที่ ๓ ขึ้นมา ซึ่งทำให้พวกเราประทับใจ และถึงตรงนั้นเองทำให้ได้ติดตามงานของท่านมาโดยตลอด จนได้มีโอกาสพบตัวท่าน เมื่อเดือนเมษา ปี ๒๕๑๘ ก่อนสงครามเวียดนามจะสิ้นสุด ตอนนั้นท่านมาประชุมอาศรมแปซิฟิก ที่วัดผาลาด เชียงใหม่ มีอาจารย์สุลักษณ์เป็นผู้จัด ตอนนั้นอาตมายังเป็นนักเรียนอยู่ จำได้ว่าใส่ชุดนักเรียนกางเกงขาสั้นมาเชียงใหม่ จนได้มาพบกับทั้งท่าน กับภิกษุณีเจิงคอม หรือที่เราเรียกว่าพี่เฟือง เลยทำให้เกิดความประทับใจ และท่านได้ทำให้เห็นว่าในการทำงานเพื่อสันติภาพหรืออะไรก็ตาม จิตใจเราต้องสงบ ต้องสันติเป็นประการแรก และท่านทำให้ชีวิตและการทำงานเพื่อสังคมนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว คือไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับชีวิตประจำวัน และไม่มีเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับการทำงานเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นงานการเมืองหรืองานสร้างสรรค์สังคม ถ้าเกิดคุณทำด้วยใจสงบ มีสติ แล้วท่านเป็นคนแรกๆ ที่หันมาสนใจเรื่องของสติ หนังสือ ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ ซึ่งพระประชา (ปสันนธัมโม) ตอนนั้นยังบวชอยู่ได้แปล ตอนนั้น อาตมาเป็นคนพิมพ์ต้นฉบับ คือตอนพิมพ์ต้นฉบับมันเหนื่อยนะ ใจเราอยากจะให้เสร็จเร็วๆ เพราะหนังสือหนาเป็นร้อยๆ หน้า แต่ว่าพอเราอ่านไปแล้ว ทำให้มีสติกับการปฏิบัติธรรม คือการพิมพ์ต้นฉบับ จึงรู้สึกว่าใจเราสบายมากขึ้น
บทกัลยาณธรรม กับ ปฏิบัติการด้วยปัญญาและความรัก
อันนี้เป็นระฆังที่พวกเราใช้เมื่อประมาณ ๓๓ ปีที่แล้ว ตอนที่เรารวมกลุ่มกัน แล้วเวลารวมกลุ่ม ที่จริงเรากับไถ่ อย่างที่พระไพศาลพูดนะคะว่า สมัยนั้นท่านอาจจะยังไม่ได้มีชื่อเสียงมาก เราเลยมีโอกาสใกล้ชิด มีโอกาสเขียนจดหมาย นี่ยังมีจดหมายของท่านที่หลงเหลืออยู่หนึ่งฉบับ
อย่างที่ท่านไพศาลเกริ่นนำไปก่อนหน้านี้แล้วว่า พวกเราในสมัยนั้นเป็นนักกิจกรรมทางสังคมในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเจอคล้ายๆ กับท่านแต่ว่าไม่รุนแรงเท่านะคะ เพราะหลังยุค ๑๔ ตุลา ขบวนการฝ่ายซ้ายโด่งดังมาก สมัยนั้นพวกเราไม่ได้อยู่ในขบวนการฝ่ายซ้าย ก็จะถูกพวกฝ่ายซ้ายที่เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกันต่อว่า ว่าเป็นพวกปฏิกิริยา
ตอนนั้นก่อนที่ไถ่จะกลับ ท่านให้เอกสารพวกเรามาชิ้นหนึ่งมีสองแผ่น เป็นบทที่เราเรียกว่าบทกัลยาณธรรม ๑๔ ข้อ คือการประยุกต์เอาศีล ๕ มาเป็นรูปแบบการปฏิบัติที่ค่อนข้างร่วมสมัย เพราะศีล ๕ เราจะบอกข้อที่หนึ่งไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คือเราอาจจะไม่ตบยุงเท่านั้นเอง แต่อาจจะปล่อยให้สังคมมีการเข่นฆ่ากัน หรือสงคราม หรือเราเองเป็นผู้สนับสนุนโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น สมัยนั้นจะคิดถึง ๑๔ ข้อนี้ พจนา จันทรสันติ เป็นคนแปล แล้วพวกเราใช้เป็นแนวทางที่เวลาเรารวมกลุ่มกัน ไม่แน่ใจว่าทุกสองอาทิตย์หรือเดือนละครั้งนะคะ เพราะว่าตอนนั้นเราจะประชุมกันอยู่เรื่อยๆ ก่อนที่เราจะมีการพูดคุยกันเรื่องไหน เราจะเอาบทที่ไถ่เรียกว่า เทียบหิน แต่เราเอามาแปลว่า บทกัลยาณธรรม ซึ่งในภายหลังพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) เปลี่ยนชื่อให้เป็น เสขิยธรรม เหมือนกับเป็นธรรมะสำหรับการฝึกฝนปฏิบัติ เราใช้ระฆังใบนี้นะคะ ไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ว่าสมบัติเก่าๆ นี่อยู่กับดิฉันหมดนะคะ (หัวเราะ) แต่ที่ตีไม่รู้อยู่ที่ไหน เลยต้องอาศัย (ใช้นิ้วเคาะระฆัง) คือพวกเราจะต้องตีระฆังก่อน แล้วอ่านบทกัลยาณธรรม แต่ตอนนี้เรามีของใหม่กว่านั้นอีก เป็นของจากอาจารย์สุลักษณ์ (เคาะระฆัง) เสียงกังวานดีนะคะ หลังจากที่เราใช้บทกัลยาณธรรม ๑๔ ข้อนั้นเป็นแนวการปฏิบัติแล้ว หลังจากนั้นหลายปีมาก เราได้รับหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เข้าใจว่าประมาณปี ๒๕๑๘-๑๙ ที่เราใช้บทนั้นในการรวมกลุ่มและปฏิบัติ แต่เล่มนี้เข้าใจว่าน่าจะสักประมาณปี ๒๕๒๙ อาจารย์สุลักษณ์ให้มาแล้วแปลและพิมพ์ตอนปี ๒๕๓๐ มาดูอีกที โอ้โฮ! ๒๐ ปีแล้วเหรอ เป็นหนังสือที่ดีมากเลย แต่อาจจะขายไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หนังสือเล่มนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Action and Compassion in the World ฉะนั้นในแง่พุทธศาสนา คิดว่าไถ่มีความพิเศษมาก คือความพยายามพูดถึงพุทธศาสนาที่อยู่ในชีวิตของเราจริงๆ ดิฉันใช้คำว่า พุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (Engaged Buddhism) คือไม่ใช่โลกุตรธรรมกับโลกียธรรมที่แยกขาดออกจากกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ถ้าเราสามารถเข้าถึงธรรมะที่ลึกซึ้ง เราจะไม่สามารถหลีกหนีจากความทุกข์ในโลก ไม่สามารถจะหลีกหนีจากการเข้าไปเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหา อาจจะอย่างที่ท่านไพศาลพูดว่าต้องมือเปื้อนตีนเปื้อน คือการปฏิบัติธรรมนั้นอยู่ในการกระทำของเราตลอดเวลา เรายังเชื่อว่า ด้วยปัญญาและความรัก และเทียบหิน ๑๔ ข้อ ในภาษาเวียดนามแปลไว้ความหมายดี คำว่า เทียบ แปลว่าการที่เราได้เข้าไปถึงแหล่งต้นน้ำของความเข้าใจในเรื่องธรรมะและการสืบต่อ คือสิ่งที่เราได้ประจักษ์แจ้งแล้วว่าต้องมีการสืบต่อ เหมือนพุทธศาสนาเริ่มต้นจากพระพุทธเจ้าแล้วมีบรรดาสงฆ์สาวกทั้งหลาย รวมทั้งภิกษุณีด้วย สืบต่อธรรมะนั้นมาจนถึงพวกเรา ซึ่งหากสิ่งเหล่านั้นไม่มีการสืบต่อ เราจะไม่มีโอกาสได้รับรู้รสของธรรมะนั้น ส่วนคำว่า หิน คือการทำให้เป็นปัจจุบันขณะ ไม่ทราบแปลถูกหรือเปล่านะ หลวงพี่อาจต้องอธิบายอีกรอบ คณะของท่านคือคณะเทียบหิน เป็นคณะที่พยายามนำเอาธรรมะอันลึกซึ้งเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันแล้วปฏิบัติให้ได้ และสมัยที่พวกเราเป็นวัยรุ่น สิ่งที่ประทับใจเรามากคือท่านจะไม่ครอบงำความคิด จะต้องให้ความเคารพ การที่เราจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไรต่างๆ ถือเป็นกัลยาณมิตรของกันและกัน แลกเปลี่ยนโดยไม่ให้ครอบงำ แม้แต่เด็กเล็กๆ เราก็ไม่ควรครอบงำ ไม่ว่าจะโดยการศึกษาหรือจะโดยทฤษฎีต่างๆ ดิฉันคิดว่า ๑๔ ข้อนี้คือสิ่งที่พยายามแปลงศีล ๕ แต่จริงๆ อาจจะไม่เป็นศีล ๕ โดยตรงทีเดียว เพราะดิฉันคิดว่าไม่ใช่แนวที่บังคับให้เราทำ แต่เป็นการให้เรากลับมาทบทวนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าช่วงเวลาในการดำเนินชีวิต อย่างเช่น เขาจะอ่านกันทุกสองอาทิตย์ ว่าในสองอาทิตย์นี้เราได้นำมาปฏิบัติหรือเปล่า เราไปเที่ยวครอบงำคนอื่นหรือเปล่า เรามีความโกรธหรือเปล่า หรือเราปล่อยปละละเลย เราไม่ได้สนใจความทุกข์ต่างๆ ซึ่งอยู่รอบตัวเรา และเราเองอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความทุกข์เหล่านั้นด้วย หรือเรามีการเคารพ แม้แต่ศีลข้อกาเมนะคะ ท่านเอามาแปลงในลักษณะที่ว่าเราต้องให้ความเคารพกับคู่ของเรา รวมไปถึงแม้แต่ความสัมพันธ์ทางเพศแล้วมีชีวิตใหม่เกิดขึ้น เราต้องให้ความเคารพกับสิ่งเหล่านั้นด้วย ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะร่วมสมัยกับเรามาก ในขณะที่ศีล ๕ ถ้ามาพูดกับพวกเรา เราจะรู้สึกว่ามันเชยอะไรอย่างนี้ แต่พอเรามาพูดถึงบทกัลยาณธรรม ลองอ่านให้ดูนะคะ ข้อที่ ๑ เราไม่พึงติดยึดอยู่กับลัทธิ ทฤษฎี หรืออุดมการณ์ใดๆ แม้แต่พุทธศาสนา ให้ถือเพียงว่าพุทธศาสนาเป็นเพียงเครื่องนำทางเท่านั้น หาใช่สัจจะอันสูงสุดไม่ คือสัจจะสูงสุดนั้นไม่ใช่ทฤษฎี แต่เป็นสิ่งที่เราต้องมีประสบการณ์ด้วยตัวเราเอง เหมือนท่านยกตัวอย่าง เราดื่มน้ำส้ม น้ำส้มคืออย่างนี้ คือการประจักษ์แจ้งทางตรง ไม่ต้องมาอธิบาย แต่ถ้าเราบอกว่าน้ำส้มรสชาติจะออกเปรี้ยวปนหวานนิดหนึ่ง การที่เราอธิบาย เป็นทฤษฎีนะ แต่ตราบเท่าที่เราไม่เคยประจักษ์แจ้ง เราไม่มีทางจะรู้ว่ารสชาติของน้ำส้มเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไถ่พยายามทำคือ ให้พุทธศาสนาลงมาอยู่ในชีวิตของพวกเราทุกคน ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไถ่สามารถอธิบายคำว่าอิทัปปัจจยตาเป็นภาษาที่ง่ายและเป็นภาษากวี ท่านยกตัวอย่างหลายเรื่องนะ อย่างท่านบอกว่าโต๊ะตัวนี้ ทำให้เรามองเห็นสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ เราสามารถมองเห็นป่าไม้ เราสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ เราสามารถมองเห็นเมฆ เรามองเห็นสายฝน เรามองเห็นคนตัดไม้ คือเรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในไม้ เพราะฉะนั้นจักรวาลอันกว้างใหญ่นั้นเชื่อมโยงกับชีวิตของเรา ไม่ได้ตัดขาดจากชีวิตของเราเลย ถ้าเราไปทำลายจุดใดจุดหนึ่งแล้ว อาจทำให้สิ่งต่างๆ นั้นเสียหายได้ เพราะมันกระเทือนถึงกันไปหมด เหมือนกับสมัยหนึ่งที่มีคนแต่งเพลงว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ดิฉันคิดว่าคนแต่งเพลงนี้ เขาแต่งเพลงแบบหวานๆ เท่านั้น หรือว่าเขาเข้าใจสิ่งนี้ น่าสนใจ เพราะว่าปัจจุบันนี้ ดิฉันคิดว่าแม้แต่ในทางวิทยาศาสตร์ เขาจะบอกว่าผีเสื้อกระพือปีกอยู่ซีกโลกหนึ่งอาจจะทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่อีกซีกโลกหนึ่งได้ เวลาเราฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นกวี แต่ที่จริงแล้วเป็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอันซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากนะคะ ซึ่งถ้าหากว่าเราแต่ละคนสามารถเข้าใจถึงสิ่งเหล่านั้นได้มากเท่าไหร่ ก็จะเข้าใจว่าการทำอะไรต่อสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ มีผลสะเทือนต่อทั้งหมด ในช่วงทศวรรษแรกที่พวกเรารู้จักกับไถ่และพยายามนำเอาแนวทางการปฏิบัติของท่านมาปฏิบัติ แล้วแปลหนังสือของท่านหลาย ๆ เล่ม มีเล่มหนึ่งชื่อ เดิน: วิถีแห่งสติ เข้าใจว่าไปแปลที่วัดป่าสุคะโตนั่นแหละ สมัยก่อนจำได้ว่ามีเวลาเยอะเหมือนกัน แปล และจริงๆ แล้วเขียนด้วยมือนะ คนเขียนเป็นพรรคพวกกัน คือคุณธีรเดช อุทัยวิทยรัตน์ แล้วเย็บกันเอง เป็นหนังสือเล่มเดียวในโลก
ดิฉันคิดว่าหลังจากที่เราใช้บทกัลยาณธรรมแล้ว จริงๆ ดิฉันมีอาจารย์ท่านเดียวกับหลวงพี่ไพศาล คือหลวงพ่อคำเขียน (สุวัณโณ) เรื่องหนึ่งที่ท่านพูดคือ การปฏิบัติธรรมหรือเจริญสติให้เราทำเล็กๆ น้อยๆ ทุกวันๆ ท่านยกตัวอย่างดีมากเลยนะ เหมือนคนขายของบนรถไฟ มีเวลาสองสามนาทีเขาก็จะขาย เพราะฉะนั้นท่านบอกว่า พวกเราที่เป็นนักปฏิบัติธรรมต้องใช้เวลาทุกวินาทีเท่าที่จะเป็นไปได้ และนึกถึงว่าเราเป็นนักปฏิบัติการทางสังคมมาจนถึงบัดนี้ ๓๓ ปีแล้ว จะขอใช้เวลาทุกนาทีที่สามารถทำให้เกิดปฏิบัติการทางสังคมได้ ขอเชิญชวนให้ท่านลงลายมือชื่อด้วยนะคะ ถ้าเห็นด้วย คือเราไม่ครอบงำนะคะ (หัวเราะ)
พรรคพวกเพื่อนฝูงบอกว่า แล้วมันจะชนะเหรอ ตอนนั้นถามเพื่อนว่า มีแต่เรื่องที่จะชนะเท่านั้นหรือที่เธอจะทำ เราต้องทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ และเห็นไหม เราสามารถสร้างสิ่งที่ไม่มีใครคาดได้ คือตอนนั้นมีแต่คนไม่ให้กำลังใจเลย ถามนักกฎหมายมหาชนคนไหนก็บอกไม่มีทาง เป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นทำแบบว่า ไม่เป็นไร เราเป็นพวกต้นทุนต่ำ มีแต่ชนะกับเสมอตัวเท่านั้น มีแต่กำไรกับเสมอตัว ไม่เห็นเป็นไร ทำไปก่อน แล้วในที่สุดเราก็ทำได้
ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
พอไปครั้งแรก ได้ติดต่อไปก่อนนะคะ แล้วมีโอกาสได้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ เมื่อก่อนเราเรียกไถ่เหมือนกัน แต่พออยู่ไปนานๆ ก็เริ่มเรียกท่านว่าหลวงพ่อ พออยู่ไปนานๆ อีกก็เรียกท่านว่าหลวงปู่ เพราะว่าอายุทางธรรมท่านสูงขึ้น แต่ว่าเราเด็กลงๆ เป็นการเรียกตามวัยทางธรรมนะคะ เพราะว่าหลวงปู่ท่านจะแต่งอะไรของท่านออกมาเรื่อยๆ พอมาถึงช่วงหนึ่ง ท่านก็บอกให้ทุกคนต้องเรียกผู้ที่เป็นพระพี่เลี้ยงของเราว่าหลวงแม่ หรือว่าใครที่เคยช่วยให้เราได้บวช เหมือนกับเป็นคนที่ช่วยให้เราได้เกิดขึ้น เลยเรียกท่านว่าหลวงแม่หรือหลวงพ่อ เราจะเรียกว่าหลวงแม่เจิงคอม แล้วถ้าไปเรียกหลวงพ่อติช นัท ฮันห์ ก็จะไม่เข้ากัน เพราะท่านเป็นอาจารย์ของหลวงแม่อีกทีหนึ่ง เลยยกระดับเรียกท่านว่าหลวงปู่ ภาษาจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างนี้ค่ะ เหมือนกับที่ท่านชอบเปลี่ยนภาษาอยู่เรื่อยๆ การมีโอกาสได้พบท่าน เหมือนกับได้เปิดประตูน้ำในชีวิตทางจิตวิญญาณของเรานะคะ เพราะว่าจะชอบไปฝึกปฏิบัติในทางเจริญสติอยู่แล้ว อย่างกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมที่หลวงพี่ไพศาลพูดถึง ตอนเป็นนักศึกษาก็จะรู้สึกว่ากลุ่มเหล่านี้น่าสนใจและจะติดตามอ่าน หรือว่าไปสวนโมกข์ ไปฝึกกับหลวงพ่อเทียน ดั้นด้นไปวัดป่าสุคะโตครั้งหนึ่ง ตอนนั้นไปอยู่ลาวแล้ว ได้เจอหลวงพ่อคำเขียน ก็จะแสวงหาอย่างนี้ค่ะ แต่ว่ามาถึงช่วงหนึ่ง เราคงขาดการปฏิบัติที่ต่อเนื่องและเข้มแข็ง รู้สึกว่าเราเหนื่อยล้า และพอไปถึงหมู่บ้านพลัม ได้ฝึกปฏิบัติกับท่าน เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่คุ้นเคย แต่ใหม่ และเหมือนกับท่านเปิดประตูน้ำให้สายน้ำทางจิตวิญญาณของเราไหลล่องลงไปอีกครั้งหนึ่ง และได้สัมผัสกับความเบิกบานในการปฏิบัติ ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว เรามีหลายๆ อย่างในส่วนลึกของจิตใจที่ยังเป็นทุกข์ ที่ไม่ได้รับการเปลี่ยนแปร และเห็นว่าถ้าเราอยากจะช่วยคนอื่นจริงๆ อยากจะเปลี่ยนแปรคนอื่น เราน่าจะมาดูฐานข้างในของเราอย่างลึกซึ้งว่าเราจะช่วยตัวเราเองและเปลี่ยนแปรตัวเราเองอย่างไร เลยเป็นการปฏิบัติที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ฝึกกับท่านและเดินทางไปหมู่บ้านพลัมทุกปีติดต่อกัน ๔-๕ ปี จึงคิดว่าเราอยากใช้วิถีชีวิตแบบนี้
เรื่องหนึ่งที่หลวงปู่บอกคือ เรามีหน้าที่ต้องกลับมาดูแล คือเราโกรธได้ แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่ปฏิบัติ นั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องกลับมา แล้วเวลานั่งสมาธิก็จะกลับมาดูว่า ทำไมเราถึงเกิดความรู้สึกตรงนี้ ทำให้เห็นว่าตอนเด็กๆ เราเรียนหนังสือในโรงเรียนที่ค่อนข้างเข้มงวด เราจะไม่ชอบ (หัวเราะ) ครูพูดอย่างนี้ ว่าอย่างนี้ แล้วเราจะรู้สึกว่ามันเป็นปมที่เรามีตอนเด็กๆ ตอนเรายังไม่รู้จักการปฏิบัติ คือเรียนโรงเรียนคริสต์นะคะ แล้วมาสเซอร์ทำไมเข้มงวดอย่างนี้ เราก็ไม่ชอบ แต่พอเราไปเรียนการศึกษาเด็กเล็ก เราก็เข้าใจว่ามันเป็นธรรมชาติของเราที่ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่น อยากจะมีความอิสระ และอยากจะกบฏ แต่เราไม่รู้วิธีคลายปมในตอนนั้น พอกลับมาอยู่ในชุมชน ความเป็นเด็กยังอยู่ในความรู้สึกของเรา ที่รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ทำไมครูเขาทำแบบนี้ พอกลับมาตรงนี้ได้ เราก็นั่งสมาธิแล้วภาวนาให้เข้าใจว่า เพราะอยู่ในระบบโรงเรียนอย่างนั้น คุณครูเขาถูกสอนมาอย่างนั้น ถูกบอกให้อบรมเด็กแบบนี้ แล้วคุณครูอาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กวัยแบบนั้น พอเข้าใจแบบนี้ จะรู้สึกว่ามันคลายบาดแผลในตอนเด็กๆ ของเรา คลายปมของเรา พอคลายตรงนี้แล้ว จะรู้สึกว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลวงพี่รูปนั้น เพราะว่าเรามองหลวงพี่เขาจากภาพ จากประสบการณ์เก่า แล้วเอาไปตีความหมายเท่านั้น เราไม่ได้มองหลวงพี่รูปนั้นอย่างที่เขาเป็นอยู่จริงๆ พอเริ่มเข้าใจตรงนี้ พอเริ่มได้สัมผัสกับหลวงพี่ เวลาที่ท่านพูดทำให้รู้สึกว่าเราอยู่กับท่านได้เต็มที่ แล้วพอมองเข้าไปในสายตาและน้ำเสียงของท่าน ทำให้รู้สึกว่า ท่านก็เป็นอย่างนั้นเอง คือเมื่อก่อนจะไม่ได้อยู่ตรงนั้นจริงๆ พอเห็นท่านพูดปุ๊บ ความรู้สึกเก่าๆ หรือปมเก่าๆ มันขึ้นมา พอส่องไปที่ตรงนั้น ทำให้เราไม่เห็นท่านอย่างที่ท่านเป็นอยู่ พอเราเห็นท่านอย่างที่ท่านเป็นอยู่และเข้าใจว่า ท่านเติบโตมาจากครอบครัวชาวเวียดนามที่มีฐานะสูง และคนทางเหนือค่อนข้างเข้มงวด เขาจะมีประเพณีการเลี้ยงลูกแบบนี้ ทำให้เรา...
รอยยิ้ม สติ กับชีวิตที่เปลี่ยนไป
วันนี้ต้องสารภาพว่าตั้งคำถามด้วยความระมัดระวังค่ะ เพราะที่ให้ทุกท่านยกมือว่าใครศึกษางานของท่านติช นัท ฮันห์ มากว่า ๓๐ ปี จะเป็นการตรวจดูว่าวันนี้มั่วได้หรือเปล่า ปรากฏว่ามั่วไม่ได้ค่ะ เพราะว่ามีคนที่อ่านงานเขียนของท่าน ๓๐ กว่าปีนั่งอยู่ในห้องประชุมด้วย รวมทั้งข้างๆ นี้เหมือนกันนะคะ มีคำสอนของท่านอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งได้ยินมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ อยากจะสอบถามวิทยากรทั้ง ๔ ท่านบนเวทีนะคะ คือได้ยินมาว่า หลวงปู่นัท ฮันห์ เป็นท่านหนึ่งที่บอกว่าพุทธศาสนาต้องรับใช้สังคม เราทุกคนที่นับถือพุทธศาสนาต้องนำพุทธศาสนามารับใช้สังคม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ เมื่อสักครู่นี้ หลวงพี่ไพศาล พี่รสนาเล่าให้ฟังว่า เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อน บ้านเมืองโกลาหลวุ่นวายกันขนาดไหน ยุคนี้ความโกลาหลไม่ได้หมดไป เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นต้องขอนิมนต์สอบถามหลวงพี่ไพศาลว่า สถานการณ์บ้านเมือง ณ เวลานี้ ความโกลาหลในมุมมองของหลวงพี่แตกต่างจากเมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนแค่ไหน แล้วเราควรจะนำพุทธศาสนามาแก้ไขสถานการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้อย่างไรดี พุทธศาสนากับการรับใช้สังคม
อีกอันหนึ่งซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เกิดขึ้นหรือว่ารุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม คือที่อาตมาเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ บริโภคนิยม ซึ่งรุนแรงกว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อน แล้วเป็นภัยซึ่งบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคมมาก ยกตัวอย่างเช่น เวียดนามซึ่งสามารถจะเอาชนะอเมริกาได้ด้วยอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ สังคมนิยมแบบมาร์กซิสต์ แต่ว่าพอเจอบริโภคนิยมก็เป๋ เวียดนามชนะสงครามแต่แพ้สันติภาพ เพราะเมื่อมีสันติภาพแล้ว สนามรบกลายเป็นสนามการค้า สันติภาพเปิดช่องให้บริโภคนิยมเข้าไปครอบงำเวียดนาม เพราะฉะนั้นเวียดนามตอนนี้มีปัญหามากเรื่องบริโภคนิยม เรื่องคอร์รัปชั่น
ตรงนี้เองที่สังฆะของท่านนัท ฮันห์ เป็นแบบอย่าง คือถ้าเราดูวินัยหรือข้อกำหนดของสังฆะของท่านนัท ฮันห์ ที่ตอนนี้กำลังเจริญงอกงาม มีหลายอย่างที่เป็นการต่อสู้กับบริโภคนิยมโดยตรง เรื่องของการที่พระมีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มุ่งการเสพการบริโภค ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักบวชด้วย ทุกศาสนามีปัญหาเรื่องนี้ เรื่องอื้อฉาวต่างๆ หนีไม่พ้นเรื่องเงิน แล้วเรื่องบริโภคนิยม ซึ่งอาตมาคิดว่า ธรรมะในพุทธศาสนาโดยเฉพาะสิ่งที่ท่านนัท ฮันห์ พยายามทำ สามารถตอบสนอง คือสามารถทำให้เราได้คิด และโดยเฉพาะเมืองไทย ซึ่งกำลังเกิดความรุนแรงทางศาสนา ทางเชื้อชาติ อาตมาอยากจะให้นึกถึง ตอนนี้มีการพยายามเคลื่อนไหวในหมู่ชาวพุทธส่วนหนึ่งเพื่อจะปกป้องพิทักษ์พุทธศาสนา ที่เชื่อว่าเกิดจากการคุกคามของศาสนาอื่น และบางครั้งพยายามกระตุ้นให้เกิดความโกรธความเกลียดต่อศาสนาอื่น หรือต่อคนอื่นที่คิดต่างจากตน ตอนนี้หลายคนห่วงว่าศาสนาจะอยู่รอดหรือเปล่า ศาสนาอื่นในอนาคตก็เป็นห่วงแบบนี้เหมือนกัน ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่ใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้กับทุนนิยม เพราะรู้สึกว่าศาสนาของตัวเองกำลังถูกคุกคามจากบริโภคนิยม อาตมาประทับใจที่ท่านนัท ฮันห์ พูดในการสนทนากันครั้งหนึ่งระหว่างท่านกับ แดเนียล เบอร์ริแกน (Daniel Berrigan) ซึ่งเป็นนักบวชนิกายเยซูอิต ตอนนั้นอยู่ในช่วงสงครามเวียดนาม เมื่อปี ๒๕๑๗ มีคำถามว่า ระหว่างศาสนากับสันติภาพ ท่านจะเลือกอะไร ถ้าเวียดนามมีสันติภาพแต่หมายถึงพุทธศาสนาจะไม่มีที่ยืน เพราะคอมมิวนิสต์เขาไม่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพทางศาสนา ท่านจะเลือกอะไร ท่านนัท ฮันห์ บอกว่าเลือกสันติภาพ เพราะว่าชาวพุทธหรือพุทธศาสนายอมไม่ได้ถ้าหากว่าจะเลือกศาสนาและไม่มีสันติภาพ รับไม่ได้ และท่านบอกว่าพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ ไม่ได้อยู่ที่จีวร แต่อยู่ในใจ เพราะฉะนั้นตราบใดที่มีสันติภาพ แน่ใจได้ว่าสักวันหนึ่งพุทธศาสนาจะงอกงามในใจคน สันติภาพที่เกิดขึ้นอาจจะหมายถึงการกดขี่บีฑาชาวพุทธและกิจกรรมทางศาสนา แต่มันไม่สามารถจะทำลายวัดหรือพุทธศาสนาในใจได้ ฉะนั้นท่านเลือกสันติภาพ ซึ่งตรงกับในบทกัลยาณธรรมข้อแรกว่า เธออย่าติดยึดอุดมการณ์ใดๆ แม้กระทั่งพุทธศาสนา ถ้าเราทำทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนา แต่ทำให้เกิดสงคราม ถ้าเราเลือกพุทธศาสนาแต่หมายถึงการละทิ้งสันติภาพ อันนั้นเป็นความขัดแย้งกันในตัว พุทธศาสนาไม่สามารถจะยอมรับได้ คำพูดเช่นนี้ ทำให้เราได้คิดเลยว่า ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง ต้องไปพ้นจากยี่ห้อพุทธศาสนาด้วยซ้ำ ซึ่งตรงนี้ชาวพุทธทั่วไปทำใจยาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมลังกาถึงลุกเป็นไฟ เพราะคนจำนวนมากเลือกพุทธมากกว่าสันติภาพ สนับสนุนให้รัฐบาลทำสงครามกับทมิฬ เพราะเขาเชื่ออย่างนั้นวิธีนั้นจะทำให้พุทธศาสนาอยู่ได้ โดยหารู้ไม่ว่ายิ่งฆ่ากันเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พุทธศาสนาถูกบั่นทอน ถูกกัดกร่อน เหลือแต่พุทธที่เป็นยี่ห้อ แต่พุทธในใจหมดไปแล้ว เพราะว่าเกลียดกัน อาตมาคิดว่าในยุคแห่งความโกรธเกลียด โดยมีศาสนาเป็นเชื้ออย่างดีเช่นนี้ คำพูดอย่างนี้ยังไม่ล้าสมัย และจะเป็นอมตะไปตลอดกาล
มาที่พี่รสนาบ้าง หลวงพี่ไพศาลพูดให้ฟังแล้วว่า สถานการณ์บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปจาก ๓๐ กว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ด้วยการต่อสู้อย่างสันติวิธีแต่หวังผลทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เผอิญนึกได้ว่า เคยอ่านพบบทความชิ้นหนึ่งว่าท่านอดีตนายกรัฐมนตรีให้คำชมว่า พี่รสนาเป็นเอ็นจีโอที่ดี น่าคิดนะคะว่า ฝ่ายตรงกันข้ามซึ่งมักจะมองว่าเป็นศัตรู คิดไม่เหมือนกันต้องเป็นศัตรูกัน แต่ชื่นชมว่าพี่รสนาเป็นเอ็นจีโอที่ดี ที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจริงๆ ต้องถามพี่รสนาว่า ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา บ้านเมืองเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต่อสู้เพื่อจะให้สังคมดีขึ้น แตกต่างจากอดีตแค่ไหน พุทธศาสนาน่าจะมารับใช้อย่างไรบ้างคะพี่
๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา เราพยายามปฏิบัติตามแนวทางสันติวิธีนะคะ แต่ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นผลจริงๆ อาจจะน้อย แต่คิดว่าอย่างน้อยที่สุดผ่านมาตั้ง ๓๐ กว่าปี อุตส่าห์มีคนมาฟังตั้งเต็มห้องขนาดนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดิฉันคิดว่าศาสนาพุทธไม่ใช่เรื่องที่ก่อให้เกิดความสงบสุขในจิตใจของเราเท่านั้น แต่จะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความกล้าในการมองเห็นความอยุติธรรมในสังคม แล้วเข้าไปมือเปื้อนตีนเปื้อนในการแก้ไขนะคะ คือถ้าเราเชื่อว่าทุกอย่างเป็นอิทัปปัจจยตา สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เราไม่สามารถปล่อยสิ่งเหล่านั้นไปนะคะ ถ้าเราจะบอกว่าชีวิตของเราเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ดิฉันคิดว่า ถ้าเรามองไปแล้วจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นนะ เราดูนะ ร่างกายที่ประกอบไปด้วยดินน้ำลมไฟ มันเป็นสิ่งเดียวกันกับดินน้ำลมไฟในจักรวาล และถ้าเราปล่อยให้ธาตุดินปนเปื้อนไปด้วยสารพิษจากการบริโภคของเราแล้ว เรากำลังนำพิษภัยเหล่านั้นเข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหาร เข้ามาสู่ร่างกายเรา น้ำในจักรวาลก็เป็นน้ำในร่างกายของเรา ทิ้งสารพิษน้ำเสียลงไป น้ำก็กลับมาสู่น้ำในร่างกายของเรา พูดถึงลมหายใจยิ่งชัดเจน อากาศที่เราหายใจมันเป็นชีวิตเลย เวลานี้เราปล่อยสารพิษต่างๆ ที่เกิดจากการบริโภคทั้งหมดของเราไปสู่อากาศด้วย ไม่ต้องพูดถึงความร้อนด้วยซ้ำไป เวลานี้เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก แต่ในระบบของทุนนิยมที่ผ่านมา ทำให้เราแต่ละคนเป็นเสมือนจุดเล็กๆ หน่วยเล็กๆ ที่ไม่มีความหมาย และเราเองไม่ได้นึกถึงเรื่องการแก้ปัญหาเลย เพราะปัญหาเหล่านั้นยิ่งใหญ่เกินไป โลกร้อนไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย สมมติแต่ละคนถ้าศรัทธาแนวความคิดอย่างของท่านนัท ฮันห์ จริงๆ บทกัลยาณธรรมนี้เป็นสิ่งที่ดีนะคะ ส่วนหนึ่งตัวเองเลือกแปลหนังสือของท่านอยู่ไม่กี่เล่ม คือมีอยู่หลายเล่มที่อาจจะมีชื่อเสียงมากกว่า คนรู้จักมากกว่าเล่มนี้ แต่ดิฉันคิดว่าเล่มนี้เป็นสิ่งที่ให้แนวทางสำหรับคนยุคใหม่ที่จะปฏิบัติ และไม่ล้าสมัยด้วย ดิฉันมาอ่านดูใหม่ มันก็ยังไม่ล้าสมัย ในแง่ที่ว่า โลกที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง เป็นวัฒนธรรมที่เราไม่ได้เข้าใจว่าชีวิตของเรานั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคม กับโลก และจักรวาลด้วย เพราะฉะนั้นเราก็จะเมินเฉย เราอาจจะมองไม่เห็นความทุกข์ในโลกข้างนอกนี้ว่าเกี่ยวพันกับเรา หรือบางครั้งเรามีความรู้สึกว่าพอเราเห็นความทุกข์ในโลกมีมากเหลือเกิน เราก็จะเจ็บปวด บางทีอยากจะหลบ ไม่อยากจะเห็น เราอยากพบกับความสงบสุขโดยไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านั้น แต่ดิฉันคิดว่า ศาสนาอย่างที่ท่านนัท ฮันห์ พูดว่าเป็นพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคมนั้น คุณต้องนำเอาศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำใจของเราออกมาสู่สังคมให้ได้ และถ้าเราสามารถนำเอาสิ่งที่เป็นความเข้าใจนี้ออกมาได้ คือเราแต่ละคนเป็นเหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น และเราเชื่อเช่นนั้นจริงๆ นะคะ เชื่อจากการที่ในหลายๆ ครั้ง เวลาเราทำ คือตัวเองรู้สึกว่าเรายังทำอะไรได้น้อย ไม่ถึงกับเยอะ แต่ว่าไม่เคยรู้สึกว่าท้อถอย อาจจะเหนื่อยบ้าง เหนื่อยก็นอนพัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาว่ากันต่อ คือเราจะต้องรักษาดุลยภาพของเราในท่ามกลางความสุดโต่งของจิตใจด้วย และของโลกภายนอกด้วย สิ่งเหล่านี้ดิฉันคิดว่าถ้าเรายังสามารถรักษาดุลยภาพตรงนี้แล้ว เราเคลื่อนต่อไปเรื่อยๆ มันจะเป็นสิ่งสำคัญ หลายครั้งที่รู้สึกว่าตัวเองท้อแท้นะ อย่างเมื่อก่อนทำสมุนไพรมา ๓๐ ปี เรารู้สึกว่าโลกจะดีขึ้นเรื่อยๆ คนจะกลับมาสนใจเรื่องการรักษาตัวเองดีขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเขาประกาศโครงการ ๓๐ บาท รักษาทุกโรค คนเลิกพึ่งตัวเองเลย สมุนไพรมี แต่เขาไปสนใจสมุนไพรหน้าเด้งอะไรต่อมิอะไร แต่ไม่เป็นไร เราเริ่มต้นใหม่ได้ สิ่งที่ทำแต่ละเรื่องเราก็ไม่ได้คิดว่ามันยิ่งใหญ่ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราอยากจะทำ อยากจะท้าทาย ทำแล้วยังสนุก พอมานึกอีกที ๓๐ ปีนี่เราก็แก่แล้วเหมือนกันนะ แต่ยังมีความรู้สึกว่าชีวิตเรายังวัยรุ่นอยู่ ไม่เคยมีความรู้สึกถึงวัย เรายังเหมือนสมัยจบจากมหาลัย อยู่ในมหาลัยใหม่ๆ
เพราะฉะนั้นจุดที่เราจะเดินไป เราก็ต้องเดินไป แต่ขณะที่เดินไปเราต้องคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาว่า เป็นเส้นทางที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะว่ามนุษย์เราพร้อมที่จะตกไปข้างใดข้างหนึ่งตลอด พญามารมีอำนาจมาก ถ้าเราไม่ตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา เราอาจจะหลงทิศหลงทางได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราพบกับความทุกข์ในโลกนี้มากๆ บางทีเราจะมีความทุกข์ ไถ่เขาเคยเขียนถึงช่วงสงครามใกล้จะสงบ แต่มีคนที่หนีจากเวียดนามเข้ามาเมืองไทย เป็นพวกชาวเรืออพยพ แล้วถูกโจรสลัดคนไทยฆ่า ปล้นชิงเขา ไถ่เขามีความทุกข์นะ ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าท่านเคยเขียนหรือเราเคยคุยกัน คือท่านมีความทุกข์จากการเห็นผู้ลี้ภัยทางสงครามมาแล้วยังถูกฆ่าตาย ท่านเขียนเรื่อง มนุษย์ไม่ใช่ศัตรูของเรา บางทีท่านต้องหากำลังใจ ปลูกต้นไม้ และท่านมีความรู้สึกรับพลังจากธรรมชาติ หรือจดหมายฉบับหนึ่งที่เคยเขียนถึงท่าน แล้วท่านตอบมาว่า ท่านใช้เวลาไปภาวนา ไปอยู่สงบ แล้วพยายามตัดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ออกไปตั้งเกือบสองปีเพื่อฟื้นฟูกำลังใจ คือเราอาจจะต้องมีโอกาสฟื้นฟูกำลังใจอย่างที่คุณโก๋เขาทำ แต่ว่าขณะเดียวกันชาวพุทธต้องไม่ใช่แบบต้องการแต่ความสงบอย่างเดียว บางครั้งเราต้องออกไปทำอะไรบางอย่าง รู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบ และจริงๆ สิ่งที่ทำ การรับผิดชอบกับตัวเองก็คือการรับผิดชอบกับสังคม การรับผิดชอบกับสังคมก็คือรับผิดชอบกับตัวเราเอง การรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมก็คือการรับผิดชอบกับตัวเราเอง ถ้าเราสามารถมองเห็นว่าชีวิตของเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสรรพสิ่งในจักรวาล และชีวิตเรานั้นแสนสั้น ควรพยายามทำอะไรที่ดีๆ แล้วมีความสุข เพราะเราไม่สามารถหวังว่า ความรุนแรงจะหมดไปจากโลกภายในวันพรุ่งนี้ แต่มันจะหมดได้อย่างที่ไถ่พูดว่า ไฟมันเกิดขึ้นมา มันมาจากที่ไหน มันมาจากเหตุปัจจัยและมันจะดับไปเมื่อมีเหตุปัจจัยเหมือนกัน เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เหมือนกัน ถ้าตราบเท่าที่ความโกรธความเกลียดในจิตใจของเรายังมี เราก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น และจริงๆ เราแต่ละคนต้องต่อสู้กับความโกรธความเกลียดอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเวลาเราพบสิ่งต่างๆ ที่อยุติธรรม เราคงเหม็นเขียว หมั่นไส้ โกรธ อาจจะผรุสวาสบ้างเป็นบางครั้ง แต่เราต้องกลับมาว่า เอาอีกแล้ว เพราะว่าเรายังไปไม่ถึงไหน แต่ไม่เป็นไร ชีวิตมันคงเป็นอย่างนี้ เราก็เหมือนเทพเจ้าซิไซฟัส เข็นหินขึ้นภูเขาแล้วตกลงมา แล้วเข็นใหม่ได้เรื่อยๆ แล้วเราจะได้เรียนรู้ว่า การหาความสุขในการขณะเข็นได้เป็นเรื่องดี
เราตื่นตัวไหม เรื่องนี้เรารู้สึกว่าทุกคนล้วนเป็นเหยื่อของสถานการณ์ และเราอาจจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้หรอกกับสภาพที่เกิดขึ้น ต้องเป็นไปตามนั้น เราอาจจะหวังว่ารัฐบาลจะคิดถูกต้อง มาทำเรื่องว่าด้วยความสุขมวลรวมประชาชาติ ยากนะ ความสุขมวลรวมประชาชาติจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดความสุขในแต่ละคนที่มา จริงๆ ในพุทธศาสนาบอกว่าความสุขที่อิงกับสิ่งจำเป็น คือปัจจัยสี่ ต้องให้มีความสันโดษ สำรวม แต่กุศลธรรมต้องไม่สำรวม ต้องทำให้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เวลานี้ สังคมพยายามจะไม่ให้เราสำรวมในเรื่องของการบริโภค เพราะถ้าสำรวมมาก จีดีพีไม่ขึ้น ประเทศชาติไม่รุ่งเรืองใช่ไหม ตอนนี้รัฐบาลต้องไปลงนามในสนธิสัญญาเขตการค้าเสรี : เอฟทีเอ (Free Trade Area : FTA) เพราะกลัวว่าประเทศชาติจะไม่รุ่งเรือง แต่ว่าจริงๆ เมื่อไปเซ็นแล้ว คุณไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า เราจะพึ่งตัวเองได้ไหม จริงๆ เศรษฐกิจพอเพียงคือความเป็นไทในการที่เราจะพึ่งตัวเองในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน แต่เวลานี้การลงนามในสนธิสัญญาเอฟทีเอ เขาบอกว่ารถยนต์ขนาด ๓,๐๐๐ ซีซี จะมีการเก็บภาษีลดลง เพราะฉะนั้นพวกเราจะบริโภครถยนต์กันมากขึ้นในราคาถูก และเราจะพ่นควันเสียขึ้นไปสู่อากาศมากขึ้น แต่เราไม่สามารถเชื่อมโยงว่าภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจากอะไร มันไกลน่ะ เพราะว่ามันเป็นทฤษฎีมากเลย
และเป็นเรื่องที่น่าสนใจนะ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบของท่านไพศาล คนหนุ่มๆสาวๆ เขามีการเตรียมตัวตายนะ ใช่ไหม ทำให้เราต้องกลับมาหาวิธีการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ซึ่งน่าสนใจนะ ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องของจังหวะเวลาก็ได้ ๓๐ กว่าปีที่แล้ว ไปพูดเรื่องเตรียมตัวตายอย่างมีสติ คนอาจจะไม่สนใจ เหมือนกับที่ดิฉันทำเรื่องโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สมัยนั้นคนบอกว่าทำไมต้องเขียนอย่างนั้นด้วย ทำไมต้องตั้งชื่อโครงการแปลกๆ ทำไมต้องพึ่งตัวเอง แต่เวลานี้คนเริ่มพูดกันถึงเศรษฐกิจพอเพียง เริ่มพูดกันถึงการพึ่งตนเอง เริ่มพูดกันถึงการเตรียมตัวตาย ดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่มีความหมาย
เวลาที่เขามาถึง เขาจะทำกิจกรรมเหมือนเราค่ะ เข้าร่วมเหมือนเรา ทำกิจกรรมเหมือนเรา หลวงปู่บอกว่า มาถึงห้ามสนทนากัน ยังไม่ให้มีการสนทนาธรรม หรือสนทนากันถึงเรื่องอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ให้ต่างฝ่ายต่างฝึก แต่มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ตื่นเช้านั่งสมาธิด้วยกัน สวดมนต์ นั่งรับประทานอาหารเงียบๆ ด้วยกัน ฟังเทศน์จากหลวงปู่ แลกเปลี่ยนกับบรรดาคณะนักบวชที่หมู่บ้านพลัม หลังจากนั้น ๑ อาทิตย์ถึงจะเริ่มมีการสนทนาซึ่งกันและกัน และการสนทนาค่อนข้างจะเครียดนะคะ แต่จะเน้นในเรื่องของการฝึกที่จะฟังกันอย่างลึกซึ้ง อาจจะเริ่มต้นโดยทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพูดก่อน อย่างทางปาเลสไตน์พูด ชาวอิสราเอลก็จะฟังอย่างเดียว และหลังจากที่เขาได้มีความสงบลงไปแล้ว เราจะพยายามคล้ายๆ กับสนับสนุนให้เขาใช้วาจาแห่งสติ พูดจากใจของเขา พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จากความทุกข์ของเขาเอง จากสิ่งที่เขากำลังเผชิญ โดยไม่ได้ใช้วาจาไปตำหนิอีกฝ่ายหนึ่งว่าทำให้เกิดสงคราม ไปฆ่าญาติพี่น้องของเขา หลังจากฟังแล้ววันต่อไปชาวอิสราเอลจะเป็นคนพูด เราจะมีช่วงเวลาเหล่านี้อยู่พอสมควร และจะมีบรรดานักบวชเข้าไปช่วยเกื้อกูลพลังแห่งสติด้วย หลังจากวันสุดท้ายแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ขึ้นเวที แล้วรายงานผลให้กับฝ่ายสังฆะทั้งหมดฟัง ทั้งฝ่ายปาเลสไตน์และอิสราเอล และหลายๆ ครั้งที่เราจะประทับใจ สะเทือนใจมากคือ ชาวอิสราเอลจะบอกว่าไม่เคยรู้เลยว่าชาวปาเลสไตน์ทุกข์และพี่น้องถูกฆ่าตายมากมายขนาดนี้ ไม่เคยได้ยินจากครอบครัวที่เขาประสบด้วยตัวเขาเองเลยว่า มีชาวปาเลสไตน์ที่ขาขาด ที่มาถึงหมู่บ้านพลัมแล้วเล่าอย่างละเอียดว่า ในขณะที่เขาอยู่บ้าน เขาถูกรุกรานอย่างไร ถูกทุบตีอย่างไร ถูกยิงอย่างไร แล้วต้องเดินทางอย่างยากลำบากมากเพื่อจะไปโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้พออีกฝ่ายหนึ่งได้ยิน จะรู้สึกเหมือนกับเริ่มเข้าไปอยู่ในเนื้อหนังมังสาของอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วมีความสงสาร มีความเมตตากรุณามากขึ้น ในขณะเดียวกันชาวปาเลสไตน์ก็บอกว่า ไม่เคยมีเพื่อนเป็นชาวอิสราเอลและไม่เคยคิดว่าชาวอิสราเอลมีความทุกข์เช่นกัน เขาต้องสูญเสียพี่น้องเขาเหมือนกัน พี่น้องของเขาก็ถูกระเบิดเช่นเดียวกัน นี้คือสิ่งที่เรามักจะได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นกับชาวอิสราเอลปาเลสไตน์หรือจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรือใครที่มาฝึกด้วย วันแรกมาจะเดินเร็วนะคะ แล้วได้ยินเสียงระฆังไม่หยุด และหน้าตาจะเคร่งเครียด บางคนจะป่วยไปเลย เป็นหวัดเป็นอะไรไปบ้าง แต่หลังจากผ่านไปสัก ๒ วัน ๓ วัน จะเห็นว่าหน้าตาเริ่มสดใสมากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น และสามารถที่จะเปิดใจและคลายความทุกข์ลงได้ แค่ช่วงเวลาอาทิตย์เดียว เห็นการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเขา ในหน้าตา และในคำพูดหรือสิ่งที่เขาแสดงออกและแลกเปลี่ยน ในประเทศอเมริกา หลวงปู่และคณะสังฆะพยายามคุยและขอให้เขาตั้งคณะกรรมการรับฟังอย่างลึกซึ้ง (Listening Deeply Committee) ค่ะ ในฝ่ายของมุสลิมกับฝ่ายของชาวอเมริกันทั่วไป เพื่อให้รู้ว่าจริงๆ คนอิสลามในอเมริกาเขามีความทุกข์มาก แม้กระทั่งทางชาวอเมริกันเองก็มีความทุกข์มาก และท่านคิดว่า มีหลายคนที่เป็นคนอย่างที่เราๆ กำลังคุยกันอยู่ เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เห็นสิ่งที่เราอยากจะเปลี่ยนแปร แต่ยังเปลี่ยนแปรไม่ได้ หรือว่ากลุ่มที่มีปัญญาความคิดที่ชัดเจน แต่ว่ายังไม่ได้มารวมกันเพื่อพูดในสิ่งเหล่านี้ ถ้าเรามีการจัดการให้คนเหล่านั้นมารวมกันแล้วรับฟังอย่างลึกซึ้งจริงๆ ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจเขาอย่างจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อจะวิพากษ์วิจารณ์หรือว่าตำหนิ ในเมื่อสามารถจะฟังกันอย่างลึกซึ้งได้แล้ว จะเกิดความเข้าใจเกิดปัญญาขึ้น ทำให้เราเห็นทางออกว่าจะช่วยกันได้อย่างไร อย่างเช่นเมื่อสองปีก่อน เมื่อร่วมขบวนกลับไปกับหลวงปู่ที่เวียดนามเช่นเดียวกัน จะเน้นเรื่องของความรักฉันท์พี่น้อง ไม่ว่าเราจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นมุสลิม หรือว่าเป็นซ้ายเป็นขวาจากตะวันตกตะวันออก แต่อย่างน้อยสิ่งที่เรามีให้กันคือความเป็นมนุษย์ ความเป็นพี่น้องซึ่งกันและกัน ท่านจะเน้นตรงนี้อย่างมาก ทำอย่างไรที่จะฝึกปฏิบัติให้เราสามารถเข้าหากันได้ บางครั้งในชุมชนที่เราอยู่ด้วยกัน จะมีกรณีศึกษาขึ้นมา บางทียากมาก จะต้องมานั่งคุยกันว่าจะช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างไร จะใช้วิธีอย่างนี้ค่ะ ฟังอย่างลึกซึ้งและเปิดใจที่จะเข้าใจ และบางทีต้องใช้หลายช่วงเวลากว่าจะลงตัว และหลวงปู่จะบอกว่าทำอะไรก็ได้ แต่ให้ยังรักกันเหมือนพี่น้อง เพราะฉะนั้นพอเราปฏิบัติไปในทางนั้น มันครอบคลุมทุกอย่าง และทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วจะช่วยอย่างไรให้เกิดความกลมกลืน ความสมานฉันท์ ความสันติขึ้น
ฉลาดทำบุญ: วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน
ช่วงที่ผ่านมานะคะ มีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง บอกว่าฉันจะทำบุญ ฉันจะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ เพราะฉะนั้นวิธีการหามาซึ่งเงินทำบุญ ฉันจะลุกขึ้นมาเปลื้องผ้าแล้วบอกทุกคนว่า ฉันจะทำบุญ ฉันกำลังทำความดี มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะ อยากให้ทั้ง ๔ ท่านลองมองดูว่า ถ้าเราตั้งเป้าว่าเราจะทำความดี แต่เราควรจะคิดถึงเส้นทางของการได้มาซึ่งความดีหรือว่าบุญกุศลด้วยไหมคะ
บางครั้งการไม่ทำอะไรเลยอาจจะดีกว่า ท่านนัท ฮันห์ เคยพูดกับพวกเราว่า บางครั้งเมื่อมีปัญหา อย่าไปคิดว่าการทำอะไรจะดีเสมอไป บางครั้งการอยู่เฉยๆ ก็ดีเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เรือลำเล็กที่กำลังลอยคออยู่กลางทะเล ถ้าเกิดว่าต่างคนต่างอยากจะทำนู่นทำนี่ขึ้นมาเพื่อกู้สถานการณ์ บางทีเรือจะคว่ำเร็วขึ้น แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือทุกคนอาจจะนั่งอยู่เฉยๆ ในเรือ บางครั้ง ไม่ทำอะไร (Non-Action) ก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่แต่ว่าต้องทำอะไร (Action) เท่านั้น ก็เป็นข้อเตือนใจพวกเราที่นิสัยแบบนักกิจกรรมว่า บางทีการที่เราไม่ทำอะไรเลยก็จำเป็น ซึ่งอาตมาไม่ได้จะเปรียบเฉพาะพวกนักกิจกรรมอย่างเดียว แต่คนทั่วๆ ไปด้วยว่า บางครั้งการที่คุณไม่ทำอะไรเลยอาจจะช่วยได้มากกว่าคนที่ทำมากมาย แต่ว่าทำด้วยการไม่พร้อม ไม่มีสติ จะเกิดปัญหาได้
เพราะฉะนั้นความคิดเรื่องของการทำบุญคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้คนทั่วไปเข้าใจ และเพื่อกำหนดว่าเราจะมีวิธีการอย่างไร ถ้าเรามีขบวนการของการทำบุญที่มีภาพต่างๆ ออกไป ซึ่งอาจจะไปรดน้ำเมล็ดพันธุ์ หรือไปเร้าโลมต่อความรู้สึกของคนอื่นให้มีการประพฤติผิดทางเพศหรือทางกาม ที่เป็นการประพฤติผิดในศีลเรื่องของการดำรงชีวิต จริงๆ แล้วรูปเหล่านั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการทำบุญ ถึงแม้ว่าจะนำเงินทองมาได้มากมายเพื่อช่วยผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์ แต่โดยความเป็นจริงแล้วมันอาจจะไปทำให้คนเป็นโรคเอดส์มากขึ้นด้วยก็ได้ เพราะว่ารูปภาพเหล่านั้นไปเพิ่มพูนพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์มากขึ้น เพราะโรคเอดส์เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมของมนุษย์ในการประพฤติผิดทางกาม ถ้าเกิดว่าเรามีการแลกเปลี่ยนศีลข้อ ๓ ให้ลึกซึ้งขึ้น เราสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากขึ้น หรือจัดกิจกรรม จัดเสวนา หรือจัดภาพโฆษณาออกไปให้คนตระหนักรู้ว่า หรือมีการยับยั้งอย่างที่บอกในเรื่องนี้ ว่าจะทำอย่างไรให้ลดพฤติกรรมเหล่านั้นและจะช่วยทำบุญให้กับคนที่เป็นโรคเอดส์เหล่านั้นด้วยนะคะ นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่คิดว่าเราต้องทบทวนจริงๆ ว่าเรากำลังทำบุญ แต่ขณะเดียวกันเราก็ทำบาปไปพร้อมกันหรือเปล่า
คือเรามีโครงการนวดเด็กเล็กๆ นะคะ วันก่อนมีโครงการไปอบรมที่บ้านพักฉุกเฉิน เด็กอายุ ๑๔ ปี มีลูกแล้ว เขาเลยต้องทิ้งเอาไว้ให้เลี้ยง หรือไปทำที่บ้านปากเกร็ดอะไรพวกนี้ จริงๆ เรื่องการนวดเด็กเริ่มมาจากหลวงพี่ไพศาลด้วยเหมือนกันนะคะ เพราะตอนนั้นเราทำโครงการจิตอาสา ปันศรัทธาและอาทร ทำบุญโดยไม่ต้องใช้เงิน มีกิจกรรมหลายหลาก ทางมูลนิธิสุขภาพไทยก็ไปทำเรื่องนวดเด็กให้กับเด็กด้อยโอกาส นวดไปนวดมาคนที่ไปทำเขามีความสุข หลายคนบอกว่าเขาเป็นไมเกรน ปวดหัว สงสัยทนฟังเสียงร้องของเด็กไม่ได้แน่ๆ พกยาไปทั้ง ๓ เดือนตอนช่วงพรรษาปีที่แล้ว ปรากฏว่านวดแล้วมีความสุข ไม่ปวดหัวเลย แล้วอยากจะไปทำอีก เลยเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนมีโอกาสได้ทำความดี ยังคุยกันว่าสังคมไทยไปเน้นเรื่องบริโภคนิยมเยอะ เรามีช่องทางให้คนบริโภคเยอะ จะซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิต ทำอะไรได้ทุกอย่างเลย ทำไมเราไม่คิดช่องทางให้คนทำความดีเยอะๆ ล่ะ ชนิดที่ไปไหนคุณก็หลีกไม่พ้น มีช่องทางให้ได้ทำบุญ ได้ทำความดีกับสังคม ทำอะไรที่อยากทำ
พุทธศาสนา ความสุข และบทกวี
มองในอีกแง่หนึ่ง พุทธศาสนาในแบบของท่านนัท ฮันห์ มีอิตถีภาวะมาก (Feminine) คือพุทธศาสนาแบบเถรวาทจะเป็นผู้ชายมาก บึกบึน สู้ ลุย ต่อสู้กับกิเลส ทำสงครามกับกิเลส แต่ท่านนัท ฮันห์ พูดถึงเรื่องดอกไม้ ก้อนเมฆ ความรัก การให้อภัย ซึ่งมันเป็นบทกวี ซึ่งเป็นส่วนพุทธศาสนาที่อาจจะถูกมองข้าม ตรงนี้ช่วยให้ความเป็นเรามีทั้งสองส่วนอย่างสมดุลที่เรียกว่า หยินและหยาง มีทั้งปุริสภาวะและอิตถีภาวะ
"อย่ากล่าวว่าฉันจะจากในวันพรุ่ง แม้วันนี้ฉันก็ยังกำลังมาถึง "ฉันยังมาถึง เพื่อหัวเราะและร้องไห้ เพื่อกลัวและเพื่อหวัง จังหวะหัวใจฉันคือกำเนิดและความตายของสรรพชีวิต "ฉันคือแมลงเม่า ที่กำลังกลายรูปบนผิวน้ำ และฉันคือนก โฉบลงขยอกกลืนเจ้าแมลง "ฉันคือกบแหวกว่ายอย่างเป็นสุข ในบึงใส และฉันคืองูเขียว เลี้ยวลดกินกบอย่างเงียบเชียบ "ฉันคือเด็กในอูกันดา มีแต่หนังหุ้มกระดูก ขาฉันเล็กบางราวลำไผ่ และฉันคือพ่อค้าอาวุธ ขายเครื่องประหัตประหารแก่อูกันดา อีกตอนหนึ่งนะ "ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ลี้ภัยในเรือน้อย โถมร่างลงกลางสมุทร หลังถูกโจรสลัดข่มขืน และฉันคือโจรสลัด หัวใจฉันยังขาดความสามารถในการเห็นและรัก บทกวียาวกว่านี้นะ ใหม่ๆ เราไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนหลังเราเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทุกอย่างมันเป็นสองด้าน สิ่งที่เรามองเป็นตรงกันข้าม จริงๆ แล้วมันคืออันเดียวกัน คนเราเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำ ฉะนั้นเราไม่สามารถแยกระหว่างเด็กอูกันดากับพ่อค้าอาวุธหรือฆาตกรได้ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสองด้านของสิ่งเดียวกัน เหมือนกับที่ในโต๊ะประกอบจากสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ เราเคยคิดว่าโต๊ะกับสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะคือสิ่งตรงข้าม แต่ที่จริงไม่ใช่ มันอยู่ในกันและกัน ตรงนี้ทำให้เรามองโลกและชีวิตอย่างเข้าใจมากขึ้นว่า ที่เราเคยมองว่าเป็นด้านตรงข้ามที่มีเส้นแบ่งชัดเจน ที่จริงไม่ใช่ แม้กระทั่งสิ่งที่เราเรียกว่าความดีและความชั่ว หรือคนดีกับคนชั่วก็ไม่ใช่สิ่งที่แยกจากกัน แต่มีอยู่ในใจเราทั้งความดีและความชั่ว ตรงนี้ทำให้การมองโลกไปพ้นจากเส้นแบ่ง ซึ่งทำให้เราเห็นเลยว่า แม้กระทั่งความเกิดและความตาย ความหนุ่มสาวและความแก่ไม่ใช่แยกจากกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเลยว่า ความตายมีอยู่ในชีวิต ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว และโรคอยู่ในความไม่มีโรค ถามว่ามีส่วนในการดำเนินชีวิตในการปฏิบัติธรรมหรือไม่ คิดว่ามีแน่นอน ท่านนัท ฮันห์ อาจจะไม่ได้มีผลต่อการที่เราจะอยู่ต่อไปได้นานแค่ไหนในฐานะบรรพชิต เพราะท่านบอกอยู่แล้วว่าการปฏิบัติธรรมมันอยู่ในชีวิตประจำวัน โยมก็เป็นพระได้ พระก็เป็นโยมได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การมองชีวิตในลักษณะที่เรียกว่า เหนือโลกเหนือสมมติ ซึ่งทำให้เรามองโลกในลักษณะที่เข้าใจ มองผู้คนในลักษณะที่เข้าใจมากขึ้น ในลักษณะที่เห็นและมองความจริงได้อย่างรอบด้านมากขึ้น
ท่านแรกถามว่าท่านติช นัท ฮันห์ เป็นพระเซนแห่งเวียดนามใช่หรือไม่ กรุณาขยายความความเป็นพระในลัทธิเซนด้วย คำถามที่สองคือ ประเทศไทยควรมีสำนักปฏิบัติธรรมในแนวลัทธิเซน โดยใช้สำนักของท่านนัท ฮันห์ หรือไม่ เป็นไปได้ไหม แล้วคำถามต่อไป ขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณี บวชในประเทศไทยได้ไหม หรือต้องไปบวชที่หมู่บ้านพลัมฝรั่งเศส ท่านไหนจะเป็นผู้ตอบก่อน อธิบายเรื่องราวของท่านนัท ฮันห์ อย่างย่อๆ นิดหนึ่งค่ะ หลังจากที่เมื่อตอนต้นเราดูวิดีทัศน์แล้ว หมู่บ้านพลัมในสังคมไทย
หลังจากภิกษุภิกษุณีได้มีโอกาสเดินทางมาแลกเปลี่ยนการภาวนาที่เมืองไทยเป็นเวลา ๕-๖ ปีต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ และในปีนี้ กลับมาก็มีสังฆะ คือพี่น้องทางธรรมที่นี่ ที่เป็นชาวไทยร่วมกันปฏิบัติอยู่ในเมืองไทยอย่างต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความสนใจที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเหมือนที่หมู่บ้านพลัมในเมืองไทย มีพี่ๆ น้องๆ หลายคนที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่ แล้วเรายินดีจะให้หลายๆ คนเข้ามาร่วมทำ สังฆะคือกลุ่มที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน ทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ และในขณะนี้ มีสังฆะทางธรรมที่เชียงใหม่ เขากำลังกระตือรือร้นมาก ไปหาสถานที่จะตั้งสำนักปฏิบัติธรรม หมู่บ้านพลัม และได้ไปหากันหลายสิบที่ แล้วคัดสรรออกมา ให้บรรดาพวกเราที่อยู่ในกรุงเทพฯ บ้าง หรือบรรดาผู้ใหญ่ที่พอจะรู้เรื่องที่ทาง เรื่องความเหมาะสมขึ้นไปดูถึงสองรอบแล้วค่ะ แล้วเรื่องนี้เป็นความตั้งใจหนึ่งที่หลายคนคิดว่า
ถ้าเกิดว่ามีชุมชน มีสำนักอยู่ จะมีที่ให้หลายคน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวได้มีที่ลง
เพราะจากที่ผ่านมา คนหนุ่มสาวจะมีความสนใจการปฏิบัติธรรมในรูปแบบนี้พอสมควร
เพราะหลายท่านอยากบวช แต่ว่ายากมากที่จะต้องไปบวชที่ฝรั่งเศส หรือว่าอยากบวช
แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ให้ เพราะไม่เคยเห็นภาพว่า บวชแบบเซนนั้นบวชกันอย่างไร
โดยเฉพาะผู้หญิงบวช ในส่วนตัวเองสงสารมาก เพราะมีหลายคนที่อยากบวช แล้วไม่สามารถบวชได้ด้วยเงื่อนไขหลายๆ
อย่าง ถ้าเกิดว่ามีชุมชนที่เราได้อยู่และเป็นตัวอย่างให้เห็นจริงๆ ถ้าถึงตรงนั้นแล้ว ถามว่าถ้าจะบวชในเมืองไทยได้หรือไม่นั้น คือถ้ามีสำนักแล้ว มีภิกษุภิกษุณี สามเณร สามเณรีมาอยู่ครบพอที่จะมีการปฏิบัติได้เป็นกลุ่มสังฆะ อย่างเช่นที่เวียดนาม หลังจากที่หลวงปู่กลับไปฝรั่งเศส เมื่อสองปีก่อน ในช่วงเวลาปีกว่าที่ผ่านมา เรามีหมู่บ้านพลัมที่เกิดขึ้น และมีนักบวชสามร้อยรูปแล้วที่บวชแบบหมู่บ้านพลัม แต่เราบวชผ่านอินเทอร์เน็ต (หัวเราะ) เร็วมาก แล้วเงื่อนไขในเวียดนาม หลวงปู่ช่วยชี้ทางให้ว่า เราเริ่มต้นจากคนที่อายุน้อยกว่า ๒๕ ปี ถ้ามากกว่า ๒๕ ก็เป็นกรณีที่มีการศึกษาหรือว่าร่ำเรียนมีวิชาชีพ ท่านคงจะเห็นว่ามันเป็นทางที่เริ่มต้นได้ง่ายกว่า และเป็นอะไรที่ต้องเปิดทางใหม่ จริงๆ จะมีบวชแต่ละรุ่นเป็นร้อยนะคะ ๖๐ บ้าง ๙๐ บ้างนะคะ เพราะฉะนั้นช่วงที่อยู่เวียดนาม จะมีภิกษุภิกษุณีจากฝรั่งเศส จากอเมริกาของหมู่บ้านพลัมเข้าไปอยู่ เพื่อเปิดรับคนหนุ่มคนสาวที่อยากจะบวชและจะมีการสัมภาษณ์คล้ายๆ กลั่นกรองให้แน่ใจว่าอยากจะบวชจริงๆ ลองมาอยู่ก่อนอย่างน้อย ๓ เดือน เพื่อจะได้รู้ว่าเราอยู่กับชุมชนนักบวชแบบนี้ได้ และเราอยากจะบวชจริงๆ หลังจากนั้น คณะสังฆะจะลงประชามติ ประชุมกันแล้วส่องแสงธรรมว่าบุคคลนี้สมควรจะเป็นผู้เตรียมบวชแล้วหรือยัง ถ้าสมควรแล้วเป็นประชามติเห็นร่วมกัน น้องคนนั้นจะเป็นผู้เตรียมบวช และจะเตรียมบวชอีกระยะหนึ่งเดือนสองเดือนสามเดือน แล้วแต่จังหวะที่มีจำนวนคนบวช และก็แล้วแต่หลวงปู่เห็นเหมาะที่จะมีพิธีบวช ในระหว่างเป็นผู้เตรียมบวชนี้ เขาจะอยู่เหมือนสามเณรหรือสามเณรี ได้เรียนได้อะไรทุกอย่าง เพียงแต่ว่าไม่ได้ปลงผม นุ่งห่มจีวรเหมือนกัน หลังจากนั้นเมื่อมีพิธีบวช สังฆะจะดูอีกครั้งหนึ่ง แล้วตัดสินใจร่วมกัน เพราะฉะนั้นที่เวียดนาม พอหลวงปู่ให้วันบวช ก็จะทำพิธีทุกอย่าง ที่ฝรั่งเศสจะมีการทำพิธี แต่ไม่มีนักบวชออกมายืนตรงกลางให้ปลงผม แล้วหลวงปู่จะบอกว่า ยืนขึ้น แล้วท่านจะนำสวดมนตร์ แล้วพระที่เป็นผู้ใหญ่อยู่ทางเวียดนามจะปลงผมให้ หรือว่ามอบจีวรให้ นั้นเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ไม่มีการแบ่งแยกดินแดนในทางพุทธศาสนา ในทางปฏิบัติ หลังจากที่เราบวชเป็นสามเณรสามเณรีแล้วนะคะ จะมีการเรียน จริงๆ แล้วสามเณรสามเณรีเป็นชีวิตที่มีความสุขมาก เหมือนกับเด็กเกิดใหม่ คนไทยมักจะไม่ชิน เพราะว่าในสายนิกายเซน ถ้าจะบวชเป็นภิกษุภิกษุณีต้องเป็นสามเณรีก่อนนะคะ ไม่ใช่ว่าเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า ๒๐ ปี ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็แล้วแต่ เพราะเหมือนกับการเกิดใหม่เป็นทารกอีกครั้งหนึ่ง แล้วเข้าไปสู่ชีวิตทางธรรม เข้าไปสู่ชีวิตทางจิตวิญญาณ ฉะนั้นเราให้ความสำคัญกับการเป็นสามเณรสามเณรีมาก ในประเพณีของเวียดนามเอง ต้องเป็นเฉพาะภิกษุภิกษุณีที่เก่งแล้วถึงจะอุปัฏฐากหลวงปู่ได้ แต่ในหมู่บ้านพลัม ท่านมักจะทำอะไร อัพไซด์ ดาวน์ (upside down) คว่ำลง (หัวเราะ) ท่านบอกว่าคนที่เป็นสามเณรสามเณรียิ่งต้องอยู่ใกล้หลวงปู่ ให้เขามาเป็นอุปัฏฐาก เพราะเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิด ท่านจะได้ชี้โดยตรงว่าต้องปรับอะไรตรงไหน ดังนั้นทุกคนจะได้เวียนเข้าไปเป็นอุปัฏฐาก เพราะฉะนั้นเป็นพื้นฐานของชีวิตนักบวช ถ้าเกิดว่าอยู่เป็นสามเณรสามเณรีอย่างมีความสุข ชีวิตการเป็นภิกษุภิกษุณีก็จะมีความสุข และจะไม่ยากนะคะ หลังจากบวชเป็นสามเณรสามเณรีแล้ว จะมีพิธีบวชรับศีลปาฏิโมกข์ ภิกษุภิกษุณีและสังฆะจะเป็นระบบที่มีการส่องแสงธรรม คล้ายๆ กับมีการประเมินผล และตัดสินใจร่วมกันว่าผู้นั้นสามารถที่จะบวชได้
เมื่อสักครู่ หลายคนอาจจะรู้เรื่องของการทำงานของพี่รสนาว่าท่านทำอะไรอย่างไรบ้าง หลวงพี่ไพศาลท่านเป็นพระนักปฏิบัติ เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่ว่าท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามหาวัน เนื่องจากท่านต้องรักษาป่า ๓,๕๐๐ กว่าไร่ ถือเป็นวิธีการปฏิบัติที่ท่านหลวงปู่เรียกว่า มือเปื้อนตีนเปื้อนใช่ไหมคะ จะมีใครเพิ่มเติมได้ไหมคะ เผื่อว่าแต่ละท่านจะมีใครแนะนำท่านหลวงปู่ให้กับท่านผู้ฟังในห้องประชุมเพิ่มเติม
อาตมาคิดว่าถึงตอนนี้ สิ่งที่ท่านได้สร้างขึ้นมาใหม่คือ สังฆะที่เราเรียกว่าเทียบหิน หรือว่าอินเตอร์บีอิ้ง คิดว่ามีส่วนผสมของความเป็นตะวันตกอยู่พอสมควร คือมีทั้งตะวันออกและตะวันตก ไม่ใช่เซนทีเดียว เพราะถ้าเซนอย่างเดียวจะไม่ใช่ในลักษณะนั้น จะมีทั้งลักษณะของความเป็นประเพณีและความเป็นสมัยใหม่อยู่ ซึ่งอาตมาคิดว่าเป็นอิทธิพลของการที่ท่านได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในตะวันตกมาเกือบ ๔๐ ปี ฉะนั้นอาตมาคิดว่า ท่านเป็นส่วนผสมของสิ่งที่เป็นสารัตถะหรือภูมิปัญญาในหลายวัฒนธรรม โดยเฉพาะเถรวาท มหายาน และเซน รวมทั้งสารัตถะจากภูมิปัญญาหรือว่าคุณค่าสมัยใหม่ ซึ่งทำให้คำสอนของท่านสามารถจะดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้ มันไม่มีความเป็นประเพณีจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องคร่ำครึไป เป็นความสมัยใหม่ซึ่งอาตมาคิดว่าค่อนข้างลงตัวพอสมควร
สิ่งที่เรามักจะเตือนกันอยู่เสมอคือ ทำอย่างไรที่จะเตือนให้เรากลับมาอยู่กับขณะปัจจุบัน สิ่งที่เราใช้เป็นอย่างที่หลวงพี่ไพศาลและท่านอื่นๆ ได้บอกคือ การเจริญสติ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับลมหายใจ ฉะนั้นเวลาที่เราติดป้ายอย่างนี้อยู่ที่หมู่บ้านพลัม หรือเวลาปฐมนิเทศให้คนที่มา เราจะบอกอย่างแรกคือ มาแล้วต้องมาให้ถึง อย่างที่บอกว่า I has arrive. Im home. อันนั้นเป็นโลโก้ของหมู่บ้านพลัม คือมาแล้วต้องมาให้ถึง มาให้ถึงบ้านที่แท้จริง คือกลับมาอยู่ในขณะปัจจุบัน และเราจะขอให้เขาฝึกเดินจงกรม ให้เขาฝึกเดินในวิธีการเดินทั่วๆ ไปด้วย แต่ว่าเดินให้เป็นธรรมชาติ เดินให้ปกตินะคะ ปกติเรามักจะเดินจงกรม เดินหายใจเข้าก้าวไปหนึ่งก้าว ก้าวหนอย่างหนอหรืออะไรก็แล้วแต่ หายใจออกก้าวไปอีกหนึ่งก้าว อันนี้เป็นวิธีหนึ่งที่บอกให้เราไม่ต้องรีบ เราจะมีเสียงระฆังอย่างนี้ หรือมีเสียงนาฬิกา เสียงโทรศัพท์ เราก็จะหยุดและกลับมาอยู่กับขณะปัจจุบัน จะเดินโดยวิถีที่เป็นปกติ อาจจะไม่เร็วมากนัก แต่ว่าให้เรารู้สึกว่ากำลังอยู่กับการย่างก้าว แล้วใช้ลมหายใจประสานไปกับการก้าวเดิน ให้เรามีสติกับการเดินมากขึ้น และเมื่อเราเดินได้อย่างนั้น เราจะรู้สึกว่าเราอยู่กับขณะปัจจุบันจริงๆ เรากลับมาอยู่บ้านที่แท้จริง คือกายเราอยู่ตรงนี้ด้วยและใจเราอยู่ตรงนี้ด้วย เรารู้ว่าเรากำลังจะเดินลงบันไดไป หลายๆ ครั้งที่เราเดินตรงนี้กายเราอยู่ตรงนี้ แต่ใจเราไปอยู่ที่ตึกทั้งหลายที่จะไปแล้ว แล้วกลัวว่าจะไปไม่ถึง จะขึ้นไม่ทันรถไฟฟ้าบ้าง หรือว่าจะไปเข้าไม่ทันห้องสมาธิบ้าง อันนั้นคือความหมายที่ว่า อย่าเร่งรีบ และให้เบิกบานกับขณะปัจจุบัน แล้วเวลาที่คนฟังตรงนี้ จะมีหลายครั้งว่าเอาไปใช้ได้อย่างไร เพราะในชีวิตปัจจุบันมันต้องเร่งรีบนะคะ การเจริญสติในช่วงแรกๆ เรามักจะขอให้คนเริ่มช้าๆ ทำให้ช้า เพื่อฝึกฝนให้มีสติได้มั่นคง แต่หลายครั้งที่เราเห็นหลวงปู่เดินเร็วมาก แต่ในความเร็วนั้นมีสติอยู่ เป็นความเร็วที่มีสติ เวลาที่ท่านเขียนหรือว่าทำอะไรจะเร็วมาก แต่เราเห็นพลังตรงนั้น เราเห็นพลังแห่งความมีสติ สมาธิ ฉะนั้นการที่เราไม่เร่งรีบไม่ได้หมายถึงว่าห้ามไม่ให้เราทำอะไรเร็วๆ เรายังสามารถที่จะทำอะไรเร็วๆ ได้ แต่ว่าต้องมีสติ แต่ว่าสติของเรายังไม่มั่นคง ก็ต้องเริ่มจากช้าๆ สักหน่อย มันจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันและเบิกบานกับชีวิตของเราได้ สัมผัสกับความสุขที่แท้จริงได้ง่ายขึ้น
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|