![]() |
มติชนรายวัน
วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11425 พระไพศาล วิสาโล |
รายการ พลเมืองเด็ก ของทีวีไทยเป็นรายการที่พาผู้ชมไปรู้จักกับเด็กจากภูมิหลังที่หลายหลาย
ซึ่งถูกชวนมาทำสาธารณประโยชน์ ผู้ชมจะได้เห็นว่าแต่ละคนมีวิธีคิดอย่างไร และแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อประสบอุปสรรค
เป็นรายการที่เหมาะทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพ่อแม่และครูบาอาจารย์
คราวหนึ่งรายการนี้ได้นำเสนอเรื่องของเด็ก ๓ คนที่ได้รับมอบหมายให้ขนของขึ้นรถไฟ บังเอิญช่วงนั้นมีการถ่ายทอดสดการชกของสมจิตร จงจอหอ นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก เด็กชาย ๒ คนจึงทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ที่ร้านข้าง ๆ ปล่อยให้เพื่อนซึ่งเป็นผู้หญิงขนของอยู่ผู้เดียว เด็กหญิงทำงานไม่หยุดเพื่อให้เสร็จทันเวลา พิธีกรจึงถามเธอว่า คิดอย่างไรกับเพื่อนอีก ๒ คนที่ทิ้งงานไปดูโทรทัศน์ เธอตอบว่า เขาชอบดูมวย นาน ๆ จะมีรายการแบบนี้ทางโทรทัศน์ ก็ให้เขาดูไป หนูทำคนเดียวก็ได้ พิธีกรถามต่อว่า เธอไม่โกรธหรือไม่คิดจะไปต่อว่าเพื่อนทั้งสองหรือ คำตอบของเธอน่าสนใจมาก เธอว่า หนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว แต่ถ้าหนูไปด่าว่าเขา หนูก็ต้องเหนื่อยสองอย่าง คนส่วนใหญ่หากตกอยู่ในสภาพเดียวกับเด็กหญิงคนนี้ ย่อมอดโมโหเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ดังนั้นจึงทำไปโกรธไป โดยหารู้ไม่ว่า ยิ่งโกรธหรือยิ่งบ่นก็ยิ่งเป็นทุกข์ ไม่ใช่แค่เหนื่อยกายอย่างเดียว หากยังเหนื่อยใจด้วย และหากคุมความโกรธไม่ได้ เข้าไปต่อว่าหรือดุด่าเขา ก็ยิ่งเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น ทุกข์ทั้งขณะที่กำลังต่อว่า และทุกข์เมื่อพบว่าเขายังคงดื้อรั้นไม่ยอมมาช่วย แถมตอบโต้กลับมาด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่เด็กหญิงคนนี้เห็นโทษของความโกรธ เธอรู้ดีว่าเมื่อโกรธหรือดุด่าว่ากล่าวใคร คนแรกที่จะต้องเป็นทุกข์คือตัวเธอเอง ไม่ใช่ใครอื่น เธอจึงก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่ปริปากบ่น เพราะเหนื่อยอย่างเดียวย่อมดีกว่าเหนื่อยสองอย่าง สุขหรือทุกข์ขณะทำงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือเนื้องานเท่านั้น แม้ทำงานอย่างเดียวกันก็ยังรู้สึกสุข-ทุกข์ต่างกัน นั้นเป็นเพราะทัศนคติหรือวิธีคิด คนที่คิดเป็นหรือฉลาดคิดย่อมทำงานอย่างมีความสุขได้ หรือถึงจะทุกข์ก็ทุกข์น้อยกว่าคนอื่น คือแค่เหนื่อยกายแต่ไม่เหนื่อยใจด้วย ถึงจะหนักก็หนักแต่งาน แต่ไม่หนักใจด้วย มิใช่แต่เวลาทำงานเท่านั้น แม้เจอเหตุการณ์ที่ไม่น่ายินดี เช่น ของหาย เจ็บป่วย ตกงาน ถูกคนตำหนิ หากรู้จักคิดหรือฉลาดคิด จิตก็ไม่จ่อมจมอยู่ในความทุกข์ แถมยังสามารถมองเห็นข้อดีหรือใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์เหล่านี้ได้ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาหรือพาตัวให้หลุดจากปัญหาเหล่านี้ได้ รู้จักคิดหรือฉลาดคิด เป็นเรื่องของปัญญา หากมีปัญญาก็สามารถเปลื้องใจออกจากความทุกข์ และเข้าถึงความสุขได้ไม่ยาก ในโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน ปรวนแปร ไม่แน่นอน เราไม่สามารถควบคุมหรือแม้แต่คาดหวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามใจเราได้ แต่หากเรามีปัญญา ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเรา ก็ยังมีความสุขอยู่ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า สำหรับผู้มีปัญญา แม้ตกทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ ปัญญาคือหลักประกันแห่งความสุขที่แท้จริง ในทางตรงข้ามหากขาดปัญญาเสียแล้ว แม้ร่ำรวย มีอำนาจ สูงด้วยยศศักดิ์ ก็หาความสุขได้ยาก อย่างมากก็สุขกาย แต่ใจเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์เพราะรู้สึกว่ายังมีไม่พอ ทุกข์เพราะอยากได้มากกว่านี้ ทุกข์เพราะเห็นคนอื่นมีมากกว่าตน หรือทุกข์เพราะกลัวว่าคนอื่นจะมาแย่งชิงของของตนไป เมืองไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยคนที่ทุกข์เพราะเหตุเหล่านี้มาก ทั้ง ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรมากมาย ก็ยังเป็นทุกข์ จะกล่าวไปไยถึงคนที่ล้มเหลวในการตักตวงสิ่งต่าง ๆมาครอบครอง แต่จะมีมากหรือน้อยก็ตาม ที่เป็นทุกข์ก็เพราะขาดปัญญานี้เอง อย่าว่าแต่ปัญญาระดับสูงถึงขั้นเห็นแจ้งในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนปล่อยวางได้อย่างสิ้นเชิงเลย แม้แต่ปัญญาระดับพื้นฐาน ก็ถูกละเลยไปมาก จึงเกิดปัญหามากมายทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ไปจนถึงสังคม กล่าวโดยรวมแล้ว ความทุกข์ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้คนในเวลานี้ มาจากทัศนคติ ๔ ประการ ซึ่งสวนทางกับวิถีแห่งปัญญาได้แก่ ๑. คิดถึงตนเองมากกว่าผู้อื่น ๒. ยึดติดความสุขทางวัตถุ ๓. หวังลาภลอยคอยโชคและมุ่งทางลัด ๔. คิดอย่างไม่ถูกวิธี สังคมจะเจริญก้าวหน้า และผู้คนจะมีความสุข หากมีทัศนคติที่ตรงข้ามกับ ๔ ประการข้างต้น กล่าวคือมีปัญญาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ทัศนคติ ๔ ประการดังกล่าวได้แก่ ๑. คิดถึงผู้อื่นมากกว่าตนเอง ๒. เข้าถึงความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ๓. เชื่อมั่นในความเพียรของตน ๔. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์เกื้อกูล
ทัศนคติทั้ง ๔ ประการข้างต้นเป็นพื้นฐานของสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งสังคมไทยต้องการเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เครือข่ายพุทธิกาจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ สุขแท้ด้วยปัญญา ขึ้น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดทัศนคติดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่ากิจกรรมเหล่านี้ต้องประกอบด้วยกระบวนการ ๔ ขั้นตอนคือ ๑. การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เราพบว่า กระบวนการทั้ง ๔ ขั้นตอนสามารถบ่มเพาะทัศนคติและส่งเสริมให้เกิด โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาเริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว มี ๕๔ โครงการเข้าร่วมจากทั่วประเทศ ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลาย อาทิ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และศาสนา ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่ ภิกษุสามเณร นักเรียน นักศึกษา เด็กออทิสติค ผู้พิการ จนถึง ผู้ติดเชื้อ หลังจากทำกิจกรรมเสร็จ แกนนำและผู้เข้าร่วมของทุกกิจกรรมได้ส่งตัวแทนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุปบทเรียน ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายและลุ่มลึกขึ้น หลายคนได้เล่าถึงบทเรียนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองจากกิจกรรมเหล่านี้ เด็กหญิงวัย ๑๓ ปีเล่าว่า เธอสมัครเข้าค่ายละครด้วยความหวังที่สดสวย แต่ทันทีที่มาเห็นค่ายเธอก็รู้สึกผิดหวังอย่างแรง เพราะค่ายตั้งอยู่กลางทุ่งนา เธอต้องนอนในเต๊นท์ อาหารการกินก็ไม่ถูกปาก ที่ร้ายกว่านั้นก็คือไม่มีโทรทัศน์และสัญญาณโทรศัพท์ เธอต้องใช้ชีวิตที่ไม่คุ้นเคยและไม่สะดวกสบายเลย แต่หลายวันผ่านไปเธอก็เพลินกับกิจกรรม เพราะมีโอกาสได้คิดและทำละครด้วยตนเอง อีกทั้งยังได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ เมื่อค่ายใกล้จะจบเธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมเธอถึงมีความสุขในค่าย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความสะดวกสบายเลย แล้วเธอก็พบว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่วัตถุหรือมีสิ่งอำนวยความสะดวก มิตรภาพกับการได้ทำสิ่งที่ตนเองรักก็เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขเช่นกัน นักศึกษาอีกคนเล่าว่า เธอกับเพื่อน ๆ ไปเข้าค่ายบำเพ็ญประโยชน์ที่จังหวัดลำปาง ทีแรกเธอรู้สึกไม่พอใจที่อาจารย์พานักศึกษานั่งรถไฟชั้นสาม ซึ่งมีผู้โดยสารแออัด ที่แย่กว่านั้นก็คือพอเธอกลับจากห้องสุขา ก็พบว่าที่นั่งของเธอมีชาวบ้านมานั่งแทน เธอขุ่นเคืองใจมาก แต่หลังจากที่ยืนไปได้พักใหญ่ เธอก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า เธอเดินทางครั้งนี้ก็เพื่อจะไปช่วยชาวบ้านมิใช่หรือ แล้วทำไมเธอถึงโมโหที่มีชาวบ้านมานั่งที่ของเธอ แค่นี้เธอก็เสียสละไม่ได้หรือ ถึงตรงนี้เธอก็หายโมโหชาวบ้านทันที ขณะเดียวกันก็เห็นตัวเองชัดว่ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ทั้ง ๆ ที่กำลังจะไปช่วยชาวบ้านแท้ ๆ ผู้ติดเชื้อHIV คนหนึ่งถูกชวนเข้าร่วมกิจกรรมถ่ายภาพ แต่แทนที่จะถ่ายภาพทั่ว ๆ ไป ผู้จัดให้เขาอ่านหนังสือธรรมะบทหนึ่ง จากนั้นก็ให้เขาเลือกประโยคใดประโยคหนึ่งออกมา แล้วลองคิดดูว่าจะถ่ายทอดข้อความนั้นด้วยภาพนิ่งและภาพวีดีโออย่างไร เขายอมรับว่าทีแรกนึกไม่ออก เพราะรู้สึกว่าธรรมะนั้นเป็นเรื่องยากและห่างไกลตนเหลือเกิน แต่หลังจากใคร่ครวญเพ่งพินิจ และมองรอบตัว ก็เริ่มมองเห็นว่าต้นไม้ ก้อนหิน สระน้ำ เป็นสื่อถ่ายทอดธรรมะประโยคนั้นได้อย่างไร เขาถ่ายภาพแล้วภาพเล่า จากนั้นผู้จัดก็พิมพ์และนำภาพเหล่านั้นไปติดบนผนัง รวมทั้งนำคลิปวีดีโอของเขาและเพื่อน ๆ ออกฉายให้ดูกันด้วย หลายคนชมว่าเขาถ่ายภาพสวยและสื่อธรรมะได้ดี เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองมีความสามารถอย่างนั้น ความภาคภูมิใจในตนเองทำให้เขาไม่รู้สึกต่ำต้อยในความเป็นผู้ติดเชื้ออีกต่อไป ผู้ร่วมโครงการคนหนึ่งพูดว่า สิ่งที่เขาประทับใจโครงการนี้ก็คือ เป็นโครงการที่กระตุ้นให้เกิด เอ๊ะ มากกว่า อ๋อ กล่าวคือทำให้เกิดการฉุกคิดและตั้งคำถามกับความคิดหรือความเข้าใจเดิม ๆ ไม่เหมือนกับการไปเข้าสัมมนาหรือฟังคำบรรยาย ที่ได้แต่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้มากขึ้น แต่ไม่กระตุ้นให้เกิดการฉุกคิด เนื่องจากความสำเร็จในปีแรก โครงการสุขแท้ด้วยปัญญาจึงดำเนินการต่อเป็นปีที่สอง โดยจะให้ทุนสนับสนุนแก่กิจกรรมที่ผ่านการคัดเลือกไม่เกิน ๒ แสนบาทต่อทุน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมที่ทำจะจัดเพียง ๑ ครั้ง ( ไม่น้อยกว่า ๕ วัน ๔ คืน ) หรือ ต่อเนื่องมากกว่า ๑ ครั้งก็ได้ แต่จำนวนผู้เข้าร่วมต้องไม่น้อยกว่า ๓๕ คน โดยเน้นผู้เข้าร่วมที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว เปิดรับโครงการระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม -๑๔ สิงหาคม ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์
www.budnet.org หรือสอบถามรายละเอียดได้จาก b_netmail@yahoo.com
และโทร ๐๒-๔๒๔-๗๔๐๙, ๐๘-๐๔๕๐-๘๘๙๐ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|