หน้ารวมบทความ
   บทความ > คอลัมน์มองอย่างพุทธ > เมืองไทยในอนาคต : อนาธิปไตยในวงการสงฆ์
กลับหน้าแรก

มติชนรายวัน วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓

เมืองไทยในอนาคต : อนาธิปไตยในวงการสงฆ์
พระไพศาล วิสาโล

 

ข่าวอื้อฉาวของพระผู้ใหญ่ที่ปรากฏต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงอาจารวิบัติของพระอีกมากมายที่ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวนั้น หาใช่เรื่องเรื่องเล็กน้อยไม่ และไม่ควรมองว่านี้เป็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แท้ที่จริงนี้คืออาการที่บ่งบอกถึงความอ่อนแอและความไร้ประสิทธิภาพของผู้ปกครองคณะสงฆ์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ความอ่อนแอและความไร้ประสิทธิภาพที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการที่คณะสงฆ์ไม่ยอมหรือไม่สามารถใช้อำนาจที่มีเพื่อจัดการกับผู้กระทำการดังกล่าวเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการไร้ความสามารถในการบริหารและจัดการคณะสงฆ์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ผลก็คือพระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยเพิ่มพูนทับทวี ขณะเดียวกันเหล่าโสณทุจริตก็พากันมาอาศัยผ้าเหลืองหาประโยชน์ส่วนตัวกันมากขึ้น

โครงสร้างที่เป็นปัญหา

มีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ปกครองสงฆ์ไม่สามารถหยุดยั้งการขยายตัวของพระทุศีลได้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือโครงสร้างที่รวมศูนย์ยิ่งกว่าระบบราชการไทย ซึ่งทำให้ขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา แต่ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหานั้นต้องเริ่มต้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา ถ้าถามว่าผู้ปกครองคณะสงฆ์ใส่ใจกับปัญหานี้มากแค่ไหน คำตอบคือน้อยมาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มีคำอธิบายหลายอย่าง เช่นวัยวุฒิของกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งอยู่ในขั้นชราภาพแล้วเป็นส่วนใหญ่ ภารกิจประจำวันที่หมดไปกับงานธุรการและพิธีกรรม(เช่นเปิดป้าย ฝังลูกนิมิต) อีกทั้งภูมิหลังที่ทำให้เห็นปัญหาอื่นสำคัญกว่า (หลายท่านกังวลว่าเพียงแค่การรักษาระบบการศึกษาพระปริยัติธรรมเอาไว้ให้ได้เท่าเดิมก็เป็นงานที่หนักหนาอย่างยิ่งแล้ว) แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าปัจจัยส่วนบุคคลก็คือโครงสร้างคณะสงฆ์ที่ทำให้ผู้ปกครองสงฆ์ทุกระดับเหินห่างจากสภาพความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น

การที่คณะสงฆ์พึ่งความอุปถัมภ์จากรัฐมากเกินไป ทำให้เหินห่างจากสังคม สำหรับวัดในระดับหมู่บ้าน การร่วมมือและสนองตอบนโยบายของรัฐตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นไป หมายถึงการที่วัดจะได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐในกิจการต่าง ๆ ของวัดเพื่อเป็นโอกาสในการเสนอขอเลื่อนสมณศักดิ์ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ได้รับการตอกย้ำด้วยระบบรวมศูนย์ที่ทุกอย่างกำหนดจากส่วนกลาง โดยมีสมณศักดิ์และตำแหน่งบริหารเป็นรางวัล ดังนั้นพระสงฆ์ตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไปจึงมักจะใส่ใจกับนโยบายจากผู้ปกครองระดับบนยิ่งกว่าจะคำนึงถึงความเป็นไปในหมู่บ้าน การสร้างโบสถ์และการจัดกิจกรรมใหญ่โตในวันสำคัญทางศาสนา(และของราชการ)รวมทั้งกลายเป็นเรื่องสำคัญกว่าการแก้ปัญหาเด็กติดยาบ้าหรือหมกมุ่นอบายมุข หรือการจัดการกับพระเณรที่ย่อหย่อนในพระวินัย ทั้งนี้เพราะสมณศักดิ์และการยอมรับจากเบื้องบนอยู่ที่งานสองอย่างแรกมากกว่า การสนองงานตามระบบราชการ(ทั้งของรัฐและคณะสงฆ์) ทำให้ท่านหลุดลอยหรือไม่รับรู้สภาพปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม ซึ่งรวมถึงความวิปลาสคลาดเคลื่อนของพระจำนวนมากมาย

เส้นสายทุกหัวระแหง

ลำพังความไร้ประสิทธิภาพก็นับว่าเป็นปัญหาหนักแล้ว ที่ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือระบบรวมศูนย์ในที่สุดยังบั่นทอนความบริสุทธิ์ยุติธรรมของผู้ปกครองสงฆ์เองด้วย เพราะในเมื่ออำนาจในการให้คุณให้โทษมารวมอยู่ที่ส่วนกลาง อีกทั้งไม่มีกระบวนการที่ช่วยให้การตัดสินวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมเป็นไปอย่างโปร่งใสชนิดที่บุคคลภายนอกสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นจึงส่งเสริมให้มีการวิ่งเต้นกับผู้มีอำนาจคือกรรมการมหาเถรสมาคมไม่ว่าโดยอาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัว (เช่น อยู่วัดเดียวกัน มีอุปัชฌาย์เดียวกัน หรือเป็นคนจังหวัดเดียวกัน) หรือโดยแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือระบบเส้นสาย ซึ่งนับวันจะลงรากลึกและกลายเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริหารงานคณะสงฆ์ยิ่งกว่าระบบคุณธรรมหรือพระธรรมวินัย ระบบดังกล่าวทำให้พระสงฆ์ในท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์กับผู้ปกครองในส่วนกลาง (ไม่ว่าเจ้าคณะภาคหรือกรรมการมหาเถรสมาคม)สามารถประพฤติผิดพระธรรมวินัยได้อย่างสะดวก หรือหนักกว่านั้นคือมีพฤติกรรมปริ่ม ๆกฎหมาย เช่น ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล มีอันธพาลอยู่ในอาณัติ โดยที่พระเหล่านั้นมักจะมีสมณศักดิ์และตำแหน่งทางการปกครองด้วย เช่น เจ้าคณะตำบล หรือเจ้าคณะอำเภอ หาไม่ก็เป็นเลขานุการให้พระสังฆาธิการ ด้วยเหตุที่สามารถต่อสายสัมพันธ์เชื่อมกับผู้ปกครองสงฆ์ส่วนกลางได้นั้นเอง จึงกล้าที่จะเพิกเฉยหรือดื้อแพ่งต่อผู้ปกครองระดับท้องถิ่น(เช่นเจ้าคณะจังหวัด)หรือแม้แต่ปฏิเสธกฎระเบียบของคณะสงฆ์ ดังกรณีเจ้าสำนักวัดพระธรรมกายเป็นตัวอย่างชัดเจน

ระบบเส้นสาย (ซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยเงิน)ทำให้ระบบและกลไกต่าง ๆ ในคณะสงฆ์พิกลพิการ ไม่เว้นแม้แต่กลไกในการลงโทษพระที่ประพฤติมิชอบ ดังปรากฏเสมอว่าเมื่อมีการโจทก์ฟ้องพระดังกล่าวว่าต้องอาบัติร้ายแรงถึงขั้นปาราชิก กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากทางผู้ปกครองสงฆ์ที่จะเอาผิดกับพระเหล่านั้น แม้จะมีพยานและหลักฐานถึงขั้นที่สามารถปรับอาบัติปาราชิกได้ แต่เรื่องก็ถูกตีกลับด้วยเหตุผลว่าไม่มีภาพถ่ายการเสพเมถุน (ทำนองเดียวกับที่รัฐบาลมักอ้างว่าไม่สามารถเอาผิดกับนักการเมืองที่ทุจริตได้เพราะ “ไม่มีใบเสร็จ”) บางกรณีถูกกระแสสังคมกดดันจนคณะสงฆ์ต้องตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยอธิกรณ์ (ที่เรียกว่า “ศาลสงฆ์”) แต่ก็มักปรากฏว่าการพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้าและน่าเคลือบแคลง ( ดังกรณีนิกร ยันตระ ธัมมชโย) ยิ่งถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่พระดัง หรืออยู่ในสายตาของสื่อมวลชนด้วยแล้ว จำเลยก็สามารถพ้นผิดได้ในที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้พิจารณาอธิกรณ์ไม่มีความแม่นยำในกระบวนการนิคคหกรรม แต่สาเหตุที่สำคัญกว่านั้นก็คือสายสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้พิจารณาอธิกรณ์ ซึ่งมักมีการอุปถัมภ์บำรุงกันมานาน (หรืออาจมีการร่วม “ก๊วน”เดียวกันด้วยซ้ำ) ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่น่าแปลกใจที่อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรืองและอดีตเจ้าอาวาสวัดท่าช้างจะยืนยันตลอดเวลาว่าไม่ได้ต้องปาราชิก คนที่เจนจัดในเรื่องเหล่านี้ย่อมรู้ดีว่าหากเอาเรื่องเข้าศาลสงฆ์ (โดยเฉพาะศาลชั้นต้นซึ่งล้วนเป็นคนใกล้ชิดกัน) โอกาสที่จะพ้นจากข้อหานี้มีอยู่มากตราบใดที่ผู้โจทก์ฟ้องไม่สามารถหา “ภาพถ่าย” หรือสีกามายืนยันได้

ควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่าระบบเส้นสายดังกล่าวไม่เพียงจะทำให้พระที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยลอยนวลได้เท่านั้น หากยังช่วยให้พระเหล่านั้นสามารถขึ้นมาเป็นพระสังฆาธิการได้ ทั้งนี้ด้วยการวิ่งเต้นและซื้อ"ตำแหน่ง โดยเงินที่ใช้ในการซื้อตำแหน่งก็ได้จากการประกอบมิจฉาอาชีวะ(สำหรับบรรพชิต) เช่น การขายวัตถุมงคลหรือปัจจัยไทยทานที่มีคนถวาย การปล่อยเงินกู้ หรือการค้าขายอย่างฆราวาส หนักกว่านั้นก็คือการเป็นนายหน้ารับไถ่รถที่ถูกขโมย พระดังกล่าวจำนวนไม่น้อยเป็นนักเลงหัวไม้มาก่อนที่จะบวช เมื่อบวชแล้วก็ทำตัวไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพราะผู้ปกครองตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาสขึ้นไปไม่ใส่ใจดูแลควบคุม ครั้นบวชนานขึ้น อำนาจเงินที่ได้จากการประกอบมิจฉาอาชีวะ (รวมทั้งการยักยอกเงินบริจาคหรือเงินอุปถัมภ์บำรุงวัดซึ่งมักมีระบบบัญชีที่ไม่โปร่งใส) ก็เป็นปัจจัยให้สามารถไต่เต้าในองค์กรสงฆ์ได้โดยอาศัยเส้นสายที่มีกับพระสังฆาธิการในท้องถิ่นซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับส่วนกลางได้ การมีตำแหน่งสังฆาธิการ ช่วยให้พระทุศีลดังกล่าวมีเกราะคุ้มกันที่แน่นหนากว่าเดิม ช่วยให้ปลอดภัยขึ้นทั้งจากคณะสงฆ์และบ้านเมือง ขณะเดียวกันตำแหน่งดังกล่าวก็เป็น “ต้นทุน” ให้แสวงหาลาภสักการะได้มากขึ้น ทั้งขยายสายสัมพันธ์ได้กว้างและสูงขึ้นพร้อมกันนั้นก็ทำให้ตนเองก็มี"บารมี"ที่จะสร้างเส้นสายของตนเองในท้องถิ่น หรือกับพระในเขตปกครองของตน

สู่สภาวะอนาธิปไตย

ความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการเอาผิดกับเหล่าอลัชชีนับวันจะตอกย้ำให้พระทุศีลอื่น ๆ ตระหนักว่าการมีเส้นสายกับผู้ปกครองสงฆ์ในทุกระดับเป็นหลักประกันที่จะช่วยให้ตนลอยนวลอยู่ได้ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าพระทุศีลทั้งหลายจะพยายามขวนขวายต่อเส้นสายกับพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่กันอย่างเป็นล่ำเป็นสันกันมากขึ้น ขณะที่ต่างคนต่างหา “ร่ม” หรือ “ผู้คุ้มครอง” ในระดับบน อลัชชีที่อยู่ระดับบนก็เห็นเป็นโอกาสที่จะลงมาเรียกเก็บ “ค่าคุ้มครอง”จากระดับล่าง หาไม่ก็ทำตัวเป็นนายหน้าเพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้พระระดับล่างมีสายสัมพันธ์กับระดับบน แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวต้องมีค่ากำนัลติดมาด้วย ผลที่ตามมาก็คือคณะสงฆ์ในอนาคตจะเต็มไปด้วยระบบเส้นสายมากกว่าเดิม ทั้งเส้นสายที่เชื่อมกับส่วนกลางและที่ขยายไปในท้องถิ่น แต่ละเส้นสายถักทอเป็นเครือข่ายและกลายเป็นอาณาจักรที่เปิดช่องให้พระในสังกัดมีอิสระ สามารถล่วงละเมิดพระธรรมวินัยได้อย่างเสรียิ่งกว่าเดิม

ระบบเส้นสายเครือข่ายดังกล่าวในด้านหนึ่งทำให้การบังคับบัญชาจากส่วนกลางไร้ความหมายยิ่งขึ้นทุกที เพราะถึงแม้มหาเถรสมาคมจะมีคำสั่งให้พระห้ามบอกใบ้ให้หวย ทำวัตถุมงคล พระท้องถิ่นก็ยังคงประกอบไสยพาณิชย์ต่อไปได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ตราบใดที่มีเจ้าคณะภาคหรือกรรมการมหาเถรสมาคมเป็น “ร่ม” ให้ ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้ผู้ปกครองสงฆ์มีแนวโน้มไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่มากขึ้น กลายเป็นผู้ที่เห็นแก่พวกพ้องหรือผลประโยชน์ยิ่งกว่าความถูกต้องชอบธรรม ทั้งความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารและการไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ เป็นตัวการบั่นทอนความชอบธรรมของมหาเถรสมาคมอย่างร้ายแรง จึงมีแนวโน้มว่านอกจากพระทุศีลแล้ว ยังจะมีพระอีกกลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธมหาเถรสมาคมมากขึ้น ได้แก่พระที่ใส่ใจในพระธรรมวินัย

เป็นไปได้ว่าในอนาคต หากโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ยังไม่เปลี่ยน อีกทั้งมหาเถรสมาคมยังอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพและไม่เป็นที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์ยุติธรรมเช่นเดิมหรือหนักกว่าเดิม พระสงฆ์ที่เสื่อมศรัทธาในมหาเถรสมาคมอาจมีจำนวนหนึ่งที่แยกตัวออกเป็นอิสระจากมหาเถรสมาคมอย่างชัดเจนหรือเต็มรูป (มิใช่ทำอย่างอำพรางหรือครึ่ง ๆ กลาง ๆอย่างที่หลายรูปกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน) และจะมิใช่มีแค่กลุ่มเดียว หากมีหลายกลุ่ม ถึงตอนนั้นแม้มหาเถรสมาคมจะขออำนาจรัฐมาจัดการ แต่ก็จะไม่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนซึ่งก็เสื่อมศรัทธามหาเถรสมาคมและคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เช่นกัน ระหว่างคณะสงฆ์ซึ่งเต็มไปด้วยพระทุศีลและระบบเส้นสายทุกหัวระแหง และทุกระดับ (จนแม้กระทั่งในวัด ก็หนีไม่พ้นเส้นสายอีกประเภทหนึ่งซึ่งกำลังจะมากขึ้น นั่นคือญาติพี่น้องของเจ้าอาวาสซึ่งมาอาศัยวัดอยู่) กับสำนักที่มีวัตรปฏิบัติอันน่าเลื่อมใส ประชาชนมีแนวโน้มที่จะเลือกฝ่ายหลัง โดยไม่สนใจว่ารัฐจะอยู่ฝ่ายไหน

เป็นไปได้ด้วยซ้ำว่า สำนักที่แยกตัวมานี้จะมีวัตรปฏิบัติที่ผิดจากคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ จนเรียกได้ว่าเป็น “นิกาย” ใหม่อีกนิกายหนึ่ง(นอกเหนือจากมหานิกายและธรรมยุต) โดยยังเป็นเถรวาทอยู่ หรืออาจแยกออกจากเถรวาท (ดังสันติอโศก)ก็ได้ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงลัทธิพิธีต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในคณะสงฆ์ปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นอีกมากมายในอนาคต ลัทธิพิธีเหล่านี้แม้จะขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคม แต่ก็มีความเชื่อและการปฏิบัติบางอย่างต่างไปจากที่มหาเถรสมาคมเป็นตัวแทนอยู่ กระนั้นก็ไม่อยู่ในความสนใจของผู้ปกครองสงฆ์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวมา

ทั้งหมดนี้มีแต่จะทำให้ความไร้เอกภาพและไร้ระเบียบเพิ่มพูนขึ้นในสังฆมณฑล มิไยจะต้องเอ่ยถึงนอกสังฆมณฑล ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้ปกครองสงฆ์อยู่แล้ว

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved