![]() |
|
ความเครียด ความวิตกกังวล กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนในยุคปัจจุบัน มีการศึกษาพบว่า ร้อยละ ๕๐-๗๐ ของผู้ป่วยที่ไปหาหมอนั้นมีสาเหตุสำคัญเกี่ยวข้องกับความเครียด และเมื่อพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการตายแล้ว ความเครียดนับว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าบุหรี่เสียอีก น่าแปลกที่ทุกวันนี้ผู้คนมีความสุขสบายกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ความทุกข์ใจมิได้ลดลงเลย กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ ขณะที่ผู้คนพรั่งพร้อมด้วยสิ่งเสพ มีวัตถุแวดล้อมมากมาย แต่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างกลับเปราะบาง รู้สึกเหินห่างแปลกแยกกับผู้อื่น จนถึงกับรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างหรือขาดเพื่อน หมอนั้นช่วยคนไข้ได้มากกว่าการให้ยา สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเป็นมิตร มิตรที่ประเสริฐนั้น พุทธศาสนาเรียกว่า กัลยาณมิตร ลักษณะเด่นของกัลยาณมิตร ๒ ประการแรกได้แก่ น่ารัก และน่าเคารพ คุณสมบัติดังกล่าวชวนให้ผู้อื่นรู้สึกอบอุ่นใจและสบายใจที่ได้พบ อยากปรึกษาไต่ถาม ความน่ารักและน่าเคารพจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเมตตากรุณาเป็นสำคัญ เมตตากรุณาของหมอมีความหมายต่อคนไข้เป็นอย่างยิ่ง หลายคนเพียงแค่ได้พบหมอก็รู้สึกดีขึ้นมากเพราะสัมผัสได้ถึงความเมตตากรุณาของหมอ วิลเลียม เวลช์ ผู้ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ พูดถึงบิดาของเขาซึ่งเป็นหมอเช่นเดียวกับเขาว่า “ทันทีที่ท่านเข้าห้องผู้ป่วย ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นทันที บ่อยครั้งมิใช่เพราะการรักษาของท่าน แต่เป็นเพราะการปรากฏตัวของท่านต่างหาก” เมตตากรุณาของหมอช่วยให้คนไข้รู้สึกผ่อนคลายและพร้อมที่จะฟังและให้ความร่วมมือกับหมอ แต่สำหรับคนไข้ที่มีปัญหาทางจิตนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่หมอจะช่วยเขาได้มากก็คือ เป็นฝ่ายฟังเขาก่อน อันที่จริงการฟังเป็นสิ่งที่แม้แต่หมอรักษากายก็มิอาจมองข้ามได้ เซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคลของวงการแพทย์ตะวันตก เคยกล่าวว่า “ฟังผู้ป่วยของคุณ เขากำลังบอกการวินิจฉัยโรคแก่คุณ” หมอจำนวนมากคิดว่าเพียงแค่เห็นอาการทางกายก็บอกได้แล้วว่าคนไข้เป็นอะไรและจะเยียวยารักษาอย่างไร แต่บ่อยครั้งความเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากอาการทางกาย แต่เป็นเพราะมีปัญหาทางจิตใจ ยิ่งผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทางใจหรือความเครียดด้วยแล้ว แม้มีอาการทางกายปรากฏชัดเจน การให้ยาเพื่อระงับอาการทางกาย ก็ช่วยได้ชั่วคราวเท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หมอจะต้องรู้ชัดถึงสาเหตุทางจิตใจ และจะรู้ได้ชัดก็ต่อเมื่อฟังคนไข้เท่านั้น จะฟังคนไข้ได้ ใจของหมอต้องอยู่กับคนไข้ตลอดเวลา นั่นคือมีสติอยู่กับปัจจุบัน วางความคาดหวังทั้งปวง ไม่คาดเดาล่วงหน้า และยอมรับผู้ป่วยอย่างที่เขาเป็นโดยไม่ตัดสิน ท่าทีดังกล่าวจะช่วยให้หมอสามารถรับรู้ “สาร”ที่คนไข้สื่อออกมาได้ชัดเจน มิใช่จากคำพูดเท่านั้น หากยังรวมถึงสิ่งที่เขาไม่ได้พูดด้วย ว่ากันว่าข้อมูล ๗ เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากภาษาพูด อีก ๓๘ เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำเสียง และอีก ๕๕ เปอร์เซ็นต์มาจากภาษากาย ใช่แต่เท่านั้นการฟังบางครั้งก็ต้องอาศัยความอดทน นี้เป็นคุณสมบัติอีกประการของกัลยาณมิตร คือ อดทนต่อถ้อยคำ ไม่เบื่อหรือฉุนเฉียวง่าย จะทำเช่นนั้นได้ก็เพราะมีเมตตากรุณาต่อคนไข้ อีกทั้งเข้าใจธรรมชาติของความเจ็บป่วยว่ามิได้มีเพียงมิติทางกาย แต่ครอบคลุมถึงมิติทางใจด้วย การฟังที่ดีนั้นสามารถเยียวยาจิตใจคนไข้ได้ เพราะธรรมชาติของคนเราเมื่อมีความทุกข์ก็อยากได้คนรับฟัง (จะว่าไปแล้วการไม่มีคนรับฟังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลายคนทุกข์จนล้มป่วย) การระบายทุกข์โดยมีคนรับฟังอย่างตั้งใจ ช่วยทำให้ความทุกข์ของคนไข้คลี่คลายได้มาก ในส่วนของหมอ การบอกเล่าของคนไข้ก็ช่วยให้เห็นสาเหตุและวิธีการเยียวยาทุกข์ของเขาได้ อย่างไรก็ตามจะให้คนไข้เล่าความในใจได้ หมอก็ต้องรู้จักถามด้วย การถามที่ดีช่วยให้หมอรู้วิธีที่จะช่วยคนไข้ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งการฟังที่ดีกับการถามที่ดีนั้น มาควบคู่กัน เดวิด เซอร์วอง ชไรเบอร์ เป็นจิตแพทย์ที่มากด้วยประสบการณ์ คราวหนึ่งเขาไปเป็นอาสาสมัครให้แก่แพทย์ไร้พรมแดนที่โคโซโว ซึ่งเวลานั้นเกิดสงครามกลางเมือง หน้าที่ของเขาคือฝึกอบรมหมอรุ่นใหม่ มีผู้หญิงคนหนึ่งมาหาหมอเพราะมีความเครียดมาก อาการที่ปรากฏคือปวดหัว ปวดไหล่ นอนไม่หลับ และน้ำหนักลด หมอหนุ่มได้ยินเช่นนั้นก็เตรียมสั่งยาทันที หมอเดวิดรีบแนะนำหมอหนุ่มให้ถามคนไข้ก่อนว่า “เกิดอะไรขึ้นกับคุณ ?” พอได้ยินคำถามเธอก็เล่ามาทันทีว่าสามีของเธอถูกกลุ่มติดอาวุธชาวเซิร์ฟลักพาตัวไปหลายเดือนแล้ว เธอเชื่อว่าเขาตายแล้ว หมอหนุ่มได้ยินเรื่องแบบนี้มาบ่อยแล้ว จึงไม่คิดจะถามต่อ แต่หมอเดวิดกระตุ้นให้หมอหนุ่มถามต่อว่า “แล้วตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร” หมอหนุ่มรู้สึกลังเลใจที่จะถามเพราะกลัวว่าจะทำให้เธอทุกข์มากขึ้น แต่สุดท้ายเขาก็ถาม หญิงผู้นั้นร้องไห้ระล่ำระลักทันที “ฉันกลัว หมอ ฉันกลัว” เขาปล่อยให้เธอร้องไห้ เพราะเธอคงไม่ได้ร้องไห้แบบนี้มานานแล้ว จากนั้นหมอได้ถามคำถามสำคัญ นั่นคือ “อะไรทำให้คุณรู้สึกเป็นทุกข์มากที่สุดตอนนี้?” เธอตอบทันทีว่า “ฉันไม่รู้ว่าจะพูดกับลูกอย่างไร ฉันไม่รู้ว่าจะทำยังไงกับลูก ” คำตอบของเธอเป็นสิ่งที่หมอทั้งสองไม่ได้คาดคิด เธอไม่ได้ทุกข์เพราะเสียสามี แต่ทุกข์เพราะไม่รู้จะบอกความจริงแก่ลูกอย่างไร ถึงตอนนี้คำถามสุดท้ายของหมอก็คือ “มีอะไรบ้างที่จะช่วยให้คุณแก้ปัญหานี้ได้ ?” เธอก็เริ่มมองเห็นทางออก คำถามที่ดีสามารถช่วยให้คนไข้กลับมาใคร่ครวญตนเองจนพบว่าตนเองทุกข์เพราะอะไรมากที่สุด ผู้คนจำนวนมากจมอยู่กับความทุกข์ เต็มไปด้วยความสับสน จนไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตนวิตกกังวลจริง ๆ แต่หากมีคนถามถูกจุด เขาก็จะเห็นตนเองชัดเจนขึ้น เมื่อรู้ว่าปัญหาที่ทำให้หนักอกหนักใจจริง ๆ คืออะไร หลายคนก็สามารถค้นพบทางออกด้วยตนเอง คนเราทุกข์ใจเพราะปล่อยใจให้จมอยู่ในอารมณ์ การช่วยให้เขามีสติเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสติจะช่วยดึงจิตออกจากอารมณ์ทั้งหลายได้ เมื่ออารมณ์อกุศลคลี่คลาย ใจพ้นจากภาวะมืดแปดด้าน ก็ง่ายที่จะมองเห็นทางออกจากปัญหา คนเรานั้นมีความสามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง สิ่งที่หมอช่วยได้ก็คือทำให้เขาตั้งหลักได้และมีความมั่นใจที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง จริงอยู่บางครั้งยาเป็นสิ่งจำเป็น มันอาจช่วยให้เขาลุกขึ้นยืนได้ชั่วครู่ แต่หลังจากนั้นเขาต้องเดินด้วยตัวเอง หน้าที่สำคัญของกัลยาณมิตรนั้นมิใช่การโอบอุ้มเขาตลอดเวลา แต่ช่วยให้เขาหยัดยืนและเดินด้วยตนเองจนตลอดรอดฝั่ง |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|