![]() พระไพศาล วิสาโล - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่นี่ ![]() |
|
ขอกราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระราชปัญญาเมธี ขอเจริญพรท่านประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ขอเจริญพรท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คณาจารย์ นักศึกษา และสาธุชนทุกท่าน อาตมาขออนุโมทนาในการกระทำกิจอันเป็นกุศลในหลายด้านของมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ ที่ตั้งขึ้นในนามของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)ซึ่งบัดนี้ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพรหมคุณาภรณ์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพขึ้นด้วยวิถีทางของการศึกษา ซึ่งไม่ได้มีความหมายครอบคลุมแต่เฉพาะในห้องเรียน แต่ขยายความไปถึงกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่วนตัวอาตมารู้สึกเป็นเกียรติที่ทางมูลนิธิฯ ได้นิมนต์ให้มาเป็นองค์ปาฐกสำหรับปาฐกถาที่จัดตั้งขึ้นในฉายาเดิมของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นปราชญ์คนสำคัญไม่ใช่เฉพาะยุครัตนโกสินทร์เท่านั้น หากเป็นปราชญ์คนสำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทยเลยทีเดียว พร้อม ๆ กับเป็นปราชญ์ร่วมสมัยของโลกยุคปัจจุบันด้วย นอกจากรู้สึกเป็นเกียรติแล้วอาตมายังมีความปีติที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความกรุณาต่ออาตมาเป็นส่วนตัว และเป็นผู้ที่ได้เอื้อเฟื้อเกื้อกูลในทางสติปัญญาแก่ผู้คนทั่ว ๆ ไป ในประการหลังนี้อาตมาก็พลอยได้รับอานิสงส์ด้วยในฐานะที่เป็นผู้คิดตามอ่านงานของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม เพราะฉะนั้นจึงถือว่าเป็นโอกาสที่จะได้แสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม เพื่อเป็นการเผยแผ่ผลงานของท่านเจ้าคุณอาจารย์ให้กว้างขวางออกไป ให้สาธุชนได้รับรู้กว้างขวางขึ้น ปาฐกถาในวันนี้อาตมาได้เจาะจงเอาเรื่องบริโภคนิยมมาเป็นประเด็นสำคัญ โลกปัจจุบันนี้เราสามารถนิยามได้หลายแบบ จะนิยามว่าเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ยุคคอมพิวเตอร์ หรือยุคนาโนเทคโนโลยีก็ได้ทั้งนั้น แต่อาตมาคิดว่านิยามอันหนึ่งที่มีความหมาย และตรงกับยุคปัจจุบันมากก็คือยุคบริโภคนิยม เพราะบริโภคนิยมกำลังมีอิทธิพลอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลกระทบต่อสรรพสัตว์ทั้งปวงในระบบนิเวศน์วิทยา และมีผลกระทบต่อชะตากรรมของโลกทั้งโลก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผลกระทบไปถึงแกนกลางของจิตวิญญาณของผู้คนในยุคปัจจุบันอย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่มีศาสนาใดในโลกนี้เคยทำได้มาก่อน เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริโภคนิยมกันให้มากขึ้น เพื่อจะรู้เท่าทัน ขณะเดียวกันก็เพื่อแสวงหาหนทางที่จะออกจากอำนาจของบริโภคนิยม ซึ่งในทัศนะของอาตมาวิถีทางนั้นมีอยู่แล้ว วิถีทางนั้นชื่อ วิถีพุทธ ซึ่งเป็น วิถีไท ที่เราท่านทั้งหลายอาจจะยังไม่รู้จักดีพอ ลักษณะเด่นของบริโภคนิยมและสังคมบริโภค ลักษณะเด่นประการแรกของสังคมบริโภคที่เราคงจะสังเกตได้ก็คือว่า สังคมบริโภคเป็นสังคมซึ่งผู้คนผลิตสิ่งที่ตนไม่ได้บริโภค และบริโภคสิ่งที่ตนไม่ได้ผลิต ตรงนี้สำคัญเพราะว่าในสมัยก่อนชาวบ้านเขาผลิตสิ่งที่ตนบริโภค สิ่งที่บริโภคส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ตนผลิตมากับมือ เช่น ข้าว ผัก เสื้อผ้า บ้านเรือน เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่อดีตจนเมื่อ ๑๐๐ ปีมานี้เอง เมื่อสมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปที่ขอนแก่นสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านได้บันทึกสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไว้น่าสนใจมาก ข้อเขียนดังกล่าวให้ภาพเกี่ยวกับ สังคมในอดีตว่าแตกต่างจากสังคมบริโภคหรือสังคมในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิงโดยเฉพาะในเรื่องการผลิต ท่านได้พูดถึงหมู่บ้านแห่งนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของหมู่บ้านในชนบทไทยสมัยก่อน ว่าชาวบ้าน ทำสวนปลูกผัก ฟักแฟงที่กินเป็นอาหาร กับคอกเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ลานบ้านนอกรั้วออกไปทำไร่ฝ้ายและสวนกล้วย สวนพลู สวนปลูกต้นหม่อนสำหรับเลี้ยงไหม กับคอกเลี้ยงวัวควาย ต่อหมู่บ้านออกไปถึงทุ่งนา พวกชาวบ้านต่างมีนาทำทุกครัวเรือน....ทุกครัวเรือนสามารถหาอาหารและสิ่งซึ่งจำเป็นจะต้องใช้ในการเลี้ยงชีพได้โดยกำลังลำพังตน เพียงพอไม่อัตคัด ท่านเล่าว่าในหมู่บ้านที่ว่านี้มีของเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่ชาวบ้านต้องซื้อเพราะทำเองไม่ได้ ได้แก่ มีดพร้าและไม้ขีดไฟ นอกนั้นชาวบ้านทำเองหมดเลย นี่คือสังคมที่เป็นมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจนกระทั่งเมื่อ ๑๐๐ ปีมานี้เอง คือเมื่อเกิดสังคมบริโภคขึ้น เพราะว่าในสังคมบริโภค ผู้คนผลิตสิ่งที่ตัวเองไม่ได้บริโภค เช่น ปลูกข้าวหรือทำก๋วยเตี๋ยวก็ไม่ได้กินเอง ทอผ้าก็ไม่ได้ใช้เอง แต่ทำเพื่อขาย บางคนก็เป็นนักบัญชี บางคนเป็นช่างตัดผม บางคนเป็นช่างก่อสร้าง บางคนเป็นผู้ผลิตวงจรไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ทำให้คนอื่นทั้งนั้น ตัวเองไม่ได้ใช้เอง ส่วนสิ่งที่ตัวเองบริโภคก็ซื้อเอาทั้งนั้น เช่น อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า นี่คือลักษณะประการแรกของสังคมบริโภคที่แตกต่างจากสังคมในอดีต ลักษณะประการที่ ๒ ก็คือว่า สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่บริโภค ลองสังเกตดู ในปัจจุบันมันไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน คือไม่ใช่ปัจจัย ๔ แต่มักจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งให้ความเพลิดเพลิน หรือบ่งชี้ถึงความหรูหราฟุ่มเฟือย เช่นโทรทัศน์ วีดีโอ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ ลักษณะประการที่ ๓ ในสังคมบริโภค ผู้คนจะใช้เวลาว่างแตกต่างจากในอดีต สมัยก่อนชาวบ้านพอมีเวลาว่างเขามักจะทอผ้า สานกระบุงตะกร้า หรือไม่ก็อาจจะร้องรำทำเพลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยตัวเอง จะเรียกว่าเป็นการผลิตก็ได้ แต่ว่าในสังคมบริโภค เวลาว่างส่วนใหญ่ผู้คนจะใช้ไปในการเสพการบริโภค เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ไปดูคอนเสิร์ต ที่สำคัญคือเที่ยวห้างหรือช็อปปิ้ง อีกอย่างที่เสพกันมากคือใช้โทรศัพท์มือถือ และท่องอินเทอร์เนต ทั้งหมดนี้เป็นการเสพทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นการผลิตเลย นี่คือการใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ของคนในสังคมบริโภค ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือสิ่งที่ผู้คนนิยมบริโภคเวลานี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสิ่งที่จับต้องได้ ไม่ใช่อาหาร หรือซื้อข้าวของ แต่ยังรวมไปถึงการเสพสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่นการเสพประสบการณ์ หรือการเสพบริการต่าง ๆ การดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว เล่นเกม ผจญภัย เหล่านี้ล้วนเป็นการเสพประสบการณ์ทั้งสิ้น ตรงนี้นับว่าแตกต่างจากสังคมมนุษย์ในอดีต นอกจากประสบการณ์แล้ว คนสมัยนี้ยังนิยมเสพสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น เสพยี่ห้อหรือที่เราเรียกว่า brand สินค้าที่ผู้คนนิยมซื้อหามาใช้ ระยะหลังจะให้ความสำคัญกับยี่ห้อมาก แพงเท่าไหร่ไม่ว่าขอให้เป็นยี่ห้อดังก็แล้วกัน สินค้าโดยตัวมันเองไม่มีความหมายจนกว่าจะติดยี่ห้อที่ดัง ๆ ถ้าเป็นยี่ห้อดังมากเท่าไหร่ ก็เป็นที่ต้องการมากเท่านั้น นั่นคือเรากำลังเสพสัญลักษณ์ เสพยี่ห้อ ของชนิดเดียวกันถ้าเราไปซื้อที่สำเพ็งมันไม่มีความหมายเลย เพราะไม่มียี่ห้อหรือยี่ห้อไม่ดัง แต่ถ้ามันติดยี่ห้อดัง ๆ เช่น หลุยส์ วิตตอง ชาแนล ไนกี้ หรือโรเล็กซ์ คนก็นิยมมาก อยากได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นเครื่องหมายของความเท่ ความทันสมัย บ่งบอกถึงรสนิยม นี่คือการบริโภคที่เป็นลักษณะเด่นของสังคมบริโภค ซึ่งแตกต่างจากการบริโภคของคนในสมัยก่อน พัฒนาการของบริโภคนิยม นี่คือลักษณะเด่นของยุคบริโภคนิยม คือเราไม่ได้บริโภคเพราะว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต เราไม่ได้บริโภคเพียงเพราะว่ามันทำให้เกิดความเอร็ดอร่อยหรือปรนเปรออายตนะทั้ง ๕ เท่านั้น แต่เราบริโภคเพราะมันทำให้เราได้เป็นอะไรบางอย่าง เช่น เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนเท่ เป็นคนทันสมัย ถ้าเอาแนวคิดแบบพุทธศาสนามาจับจะพบว่า สาเหตุที่การเสพของคนในยุคปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปก็เพราะมีแรงจูงใจที่เรียกว่าตัณหาแตกต่างจากเดิม ตัณหาที่สำคัญมีอยู่ ๒ อย่าง (ความจริงมี ๓ อย่างแต่ในวันนี้จะพูดแค่ ๒ อย่าง) อย่างแรกคือกามตัณหา ได้แก่ ความอยากเสพอยากได้สิ่งที่ปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น อาหารที่อร่อย เพลงที่ไพเราะ ภาพที่สวยงาม หรือว่าสัมผัสที่นุ่มนวล ให้ความสะดวกสบาย สมัยก่อนสินค้าที่วางขายส่วนใหญ่จะเน้นตรงนี้ ทั้งหมดนี้เป็นการตอบสนองกามตัณหา แต่ว่าตอนนี้บริโภคนิยมกำลังจะมาเน้นที่การตอบสนองตัณหาประเภทที่ ๒ คือภวตัณหา ได้แก่ความอยากเป็น ไม่ใช่อยากมี อยากมีอยากได้เป็นเรื่องของกามตัณหา แต่ภวตัณหา เป็นเรื่องของการอยากเป็น อยากเป็นอะไรบ้าง ก็อยากเป็นคนเด่นคนดัง อยากเป็นคนทันสมัย อยากเป็นคนสวยคนงาม อยากเป็นคนที่มีบุคลิกมาดมั่น อยากเป็นผู้ชนะ บริโภคนิยมในปัจจุบันกำลังหันมาดึงดูดและตอบสนองภวตัณหามากขึ้น คือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ สังเกตได้จากการการโฆษณา ไม่ว่าตามโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ระยะหลังจะมาเน้นตรงนี้ ก็คือถ้าคุณได้เสพของชิ้นนี้แล้ว คุณจะเป็นคนทันสมัย ใคร ๆ ก็จะเหลียวมองคุณ เพราะคุณจะมีบุคลิกมาดมั่น เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มั่นใจตนเอง เพราะฉะนั้นการโฆษณาจะเน้นที่ตัว presenter โดยเอาดาราหรือคนดังมาเป็น presenter ในการโฆษณา เพื่อที่จะบอกเป็นนัย ๆ ว่าถ้าเราใช้สินค้ายี่ห้อนี้ยี่ห้อนั้น เราก็จะมีบุคลิกที่ดีแบบ presenter คนนั้น คือ มาดมั่น มีรสนิยม หวานแหวว ฉลาดหลักแหลม ทันสมัย หรือมิฉะนั้นก็จะเน้นว่า ถ้าเราได้เสพได้ใช้สินค้าชนิดนี้แล้ว เราจะมีความรู้สึกเหมือนอย่าง presenter ในโฆษณา เช่น เกิดความภาคภูมิใจ เกิดความสุข ไม่ใช่เพราะอร่อย ไม่ใช่เพราะของมันนุ่มเท้า สะดวกสบาย แต่เพราะว่ามันทำให้เขาได้เป็นอะไรบางอย่าง ตรงนี้แหละที่มันตอบสนองสิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกว่าภวตัณหา สิ่งที่จะทำให้เกิดความรู้สึกตรงนี้ได้ก็คือ ยี่ห้อ ระยะหลังเราจะพบว่าสินค้าผูกติดกับยี่ห้อมากขึ้นที่เราเรียกว่า brand หรือว่า logo สินค้ารสชาติอย่างเดียวกัน เช่น น้ำสีดำ รสชาติคล้าย ๆ กันแต่มีผลต่อจิตใจไม่เหมือนกัน ก็เพราะยี่ห้อต่างกัน สำหรับผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เสื้อผ้า ๒ ตัว แม้จะมีผ้าเนื้อเดียวกัน สีเหมือนกันเลย แต่อาจจะให้ความรู้สึกต่อผู้ใส่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพียงเพราะเหตุเดียวก็คือว่า ตัวหนึ่งติดยี่ห้อดัง อีกตัวหนึ่งไม่มียี่ห้อ แฮมเบอร์เกอร์หรือไก่ทอดก็เช่นกัน ถ้าติดยี่ห้อดัง คนกินก็จะรู้สึกมีความสุข ไม่ใช่เพราะรสชาติ แต่เพราะยี่ห้อ เพราะฉะนั้นสินค้าต่าง ๆ ปัจจุบันเขาจะโชว์กันที่ยี่ห้อ ยี่ห้อของเสื้อแต่ก่อนอยู่หลังคอเสื้อ เดี๋ยวนี้ต้องออกมาโชว์ข้างนอก ว่าฉันใส่เสื้อยี่ห้ออะไร โทรศัพท์มือถือก็แข่งกันที่ยี่ห้อ ไม่ได้แข่งกันเฉพาะคุณสมบัติหรือสเปคเท่านั้น น้ำอัดลมไม่ว่า น้ำดำ น้ำส้ม หรือน้ำขาว เวลาโฆษณาจะเน้นที่ยี่ห้อ เนื่องจากผู้คนเดี๋ยวนี้ไม่ได้กินเพราะมันอร่อย แต่กินเพราะยี่ห้อ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะเชื่อว่ายี่ห้อนี้กินแล้วทำให้ฉันเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนมีรสนิยม ในทำนองเดียวกันผู้คนใส่รองเท้ายี่ห้อนี้ไม่ใช่เพราะว่ามันทน ไม่ใช่เพราะว่ามันนุ่มเท้า แต่เพราะว่ามันคือยี่ห้อที่ไทเกอร์ วู้ดเขาใส่ ไมเคิล จอร์แดนก็ใส่ มันเป็นยี่ห้อที่คนเก่งเขาใส่กัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากเป็นคนเก่งอย่างไทเกอร์ วู้ด หรือ ไมเคิล จอร์แดน ก็ต้องใส่รองเท้ายี่ห้อนี้ นี่คือสิ่งที่เขาโฆษณากัน และก็ได้ผลมากโดยเฉพาะตลาดระดับบน คือลูกค้าที่มีเงินที่สนใจภาพลักษณ์ ส่วนตลาดระดับล่างก็ยังแข่งกันในเรื่องของราคากันอยู่ ถ้าอันไหนราคาถูกก็จะซื้อ แต่คนที่มีเงินมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ เขาไม่สนใจว่าราคาถูกหรือแพง บางคนที่อาตมารู้จักใส่สะพายกระเป๋าใบละ ๑ ล้านบาท ถามว่ามันสวยหรือเปล่า ถามว่ามันทนหรือเปล่า เขาไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เขาสนใจยี่ห้อมากกว่า เพราะว่าใส่ยี่ห้อนี้แล้วมันเท่ ใส่แล้วกลายเป็นคนที่ดูดี มีระดับ ทำให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงพูดได้ว่าในยุคบริโภคนิยม ผู้คนนับวันจะบริโภคยี่ห้อหรือสัญลักษณ์กันมากขึ้น และสาเหตุที่เราบริโภคยี่ห้อก็เพราะมันช่วยทำให้เรารู้สึกเป็นคนใหม่ที่ดีหรือดูดีกว่าเดิม พูดอีกอย่างหนึ่งคือเรากำลังบริโภคสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้นไปทุกที เพราะฉะนั้นบริโภคนิยมจึงเป็นวัตถุนิยมที่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือเป็นวัตถุนิยมที่ส่งเสริมให้เราเสพวัตถุไม่ใช่เพราะว่ามันสนองความเพลิดเพลินทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือที่เราเรียกว่ากาม เราไม่ได้เสพเพื่อสนองกามตัณหา แต่เราเสพคุณค่าภาพลักษณ์บุคลิกที่มากับยี่ห้อ เพื่อสนองภวตัณหา หรือความอยากเป็นอะไรที่ดีกว่าเดิม การเสพภาพลักษณ์หรือยี่ห้อ เป็นเรื่องที่เลยไปจากกาม กามเป็นเรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่น่าพอใจ พูดง่าย ๆ คือเป็นเรื่องทางกาย แต่ว่ายี่ห้อมันให้ผลทางจิตใจ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าเราได้เป็นอะไรบางอย่างที่เราชื่นชอบ เช่น ถ้าใส่ไนกี้แล้วเราจะรู้สึกว่าเราเป็นผู้ชนะ มีความรู้สึกว่าเราใกล้เคียงกับไทเกอร์วู้ด หรือไมเคิล จอร์แดน ถ้าเรากินเป๊ปซี่ เรารู้สึกว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ อร่อยหรือไม่อร่อยเป็นเรื่องรอง ที่สำคัญก็คือว่าเบ๊คแคมกินน้ำอัดลมยี่ห้อนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เลยอยากกินน้ำอัดลมยี่ห้อนี้บ้างเพราะเราอยากจะเป็นคนเก่งอย่างเบ๊คแคม นั่นก็คือเราเชื่อว่าถ้าเรากินยี่ห้อนี้มันจะเปลี่ยนเราให้เป็นคนใหม่ เป็นคนที่ดีกว่าเดิม เป็นคนที่เท่กว่าเดิม เป็นคนที่มีบุคลิกมาดมั่นเหมือนกับดารา เหมือนกับนักร้อง เหมือนกับนักกีฬา เหมือนกับคนเด่นคนดังที่เขาเอามาเป็น presenter ในทำนองเดียงกัน เวลานี้คนไปกินกาแฟยี่ห้อดัง ไม่ใช่เพราะรสชาติอร่อยลิ้น แต่เพราะให้ความรู้สึกดี ๆ แก่จิตใจ อย่างเช่นหลายคนไปกินกาแฟสตาร์บั๊ค ไม่ใช่เพราะรสชาติ แต่เพราะกินกาแฟที่ร้านสตาร์บั๊คแล้วจะรู้สึกเป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวล้ำสมัย ไม่ใช่ทันสมัยนะ แต่ว่าล้ำสมัยเลย บรรยากาศในร้านอย่างสตาร์บั๊คจะให้ความรู้สึกว่าเราเป็นคนพิเศษ ชนิดที่ล้ำยุคโลกาภิวัตน์เลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเราจะพบว่าในยุคบริโภคนิยมนี่ ผู้ผลิตสินค้าเขาจะวางตำแหน่งหรือวางบทบาทใหม่ คือเขาจะไม่ผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุแล้ว แต่เขาจะหันมาผลิตภาพลักษณ์แทน ก็คือการพยายามสร้างภาพลักษณ์หรือใส่บุคลิกลงไปในยี่ห้อให้มากขึ้น ให้เกิดความรู้สึกว่ายี่ห้อนี้มันจะทำให้ผู้เสพมีบุคลิกอย่างนี้อย่างนั้นตามที่เขาต้องการ ยกตัวอย่างเช่นไนกี้ตอนนี้เขาประกาศแล้วว่าเขาไม่ใช่บริษัทผลิตรองเท้าแล้ว แต่เขาเป็นบริษัทกีฬา เขาไม่ได้ขายรองเท้า แต่เขามุ่งเพิ่มพูนชีวิตผู้คนผ่านกีฬาและการออกกำลังกาย ไนกี้ประกาศตัวว่าไม่ได้ขายรองเท้า แต่เขาขายวิถีชีวิตแบบใหม่ที่จะทำให้เรารู้สึกว่า เรามีชีวิตที่รุ่มรวยยิ่งกว่าเดิม เพราะฉะนั้นเวลานี้รองเท้าไนกี้จึงถูกส่งไปผลิตที่อินโดนีเซียบ้าง มาผลิตที่ไทยบ้าง ที่เวียดนามบ้าง เรื่องการผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้ บริษัทไนกี้ไม่ทำแล้ว ให้เป็นงานของประเทศโลกที่ ๓ ไป โลกที่๓ ผลิตรองเท้า แต่บริษัทไนกี้ที่อเมริกาเขาจะผลิตบุคลิก หรือสร้างภาพลักษณ์ให้กับยี่ห้อไนกี้ ดีเซล ก็เช่นกัน ไม่ทราบว่าพวกเรารู้จักไหม ไม่ใช่น้ำมันดีเซลนะ แต่เป็นกางเกงยีนส์ยี่ห้อหนึ่ง เขาประกาศว่าเขาไม่ได้ขายกางเกงยีนส์ แต่เขาขายสไตล์ในการดำเนินชีวิตที่ทันสมัย เห็นไหมว่าเขาไม่ได้ขายกางเกงยีนส์แล้ว เขาขายสไตล์ หรือไลฟ์สไตล์ (life style) คือรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ทันสมัย กางเกงยีนส์เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ผลิตได้ แต่การที่จะผลิตไลฟ์สไตล์ในการดำเนินชีวิตที่ทันสมัย มีไม่กี่เจ้าที่ผลิตได้ ใช้วัตถุดิบไม่มาก แต่ใช้สมองมากกว่า และให้กำไรมหาศาล ร้านบอดี้ช็อป ซึ่งหลายคนรู้จักดี เขามีเครื่องสำอาง เช่น ครีมทาหน้า เครื่องประทินผิวขายในร้าน แต่เขาบอกว่าเขาไม่ได้ขายเครื่องสำอาง แต่เขาเป็นผู้นำเสนอปรัชญาเกี่ยวกับสิทธิสตรี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธุรกิจที่มีจริยธรรม หมายความว่าเวลาใครไปซื้อผลิตภัณฑ์ในร้านบอดี้ช็อป เขาจะรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่มีแนวคิดใหม่ ที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมธุรกิจที่เป็นธรรม ผู้คนจึงไม่ได้ไปร้านบอดี้ช็อปเพื่อซื้อเครื่องสำอางเท่านั้น แต่ยังไปเพื่อซื้อความรู้สึกดี ๆ ให้กับตนเอง คือซื้อความรู้สึกว่าฉันเป็นคนที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฉันเป็นคนที่เห็นคุณค่าของสิทธิสตรี ฉันส่งเสริมธุรกิจที่เป็นธรรม ไอบีเอ็มก็มาแบบเดียวกัน เขาบอกว่าฉันไม่ได้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนะ แต่ขายวิธีแก้ปัญหาธุรกิจ คอมพิวเตอร์ใคร ๆ ก็ผลิตได้ ไทยหรือเวียดนามก็ผลิตได้ แต่วิธีแก้ปัญหาธุรกิจมีไม่กี่เจ้าที่ผลิตได้ เราจะสังเกตเห็นได้ว่าสิ่งที่บริษัทระดับโลกพยายามเอามาขาย ไม่ใช่เป็นสินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้ แต่เขาขายสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น บุคลิก ภาพลักษณ์ ไลฟ์สไตล์ ความเป็นคนทันสมัย เขาขายสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยการขายยี่ห้อหรือ brand นี่คือลักษณะของยุคบริโภคนิยมซึ่งพัฒนามาจนถึงจุดนี้ มันเป็นวัตถุนิยมที่มีความแนบเนียนลุ่มลึกมาก เพราะว่าเป็นวัตถุนิยมที่ส่งเสริมให้คนเสพวัตถุไม่ใช่เพื่อความสุขทางกาย หรือเพื่อปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้เสพเพราะว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมันเอร็ดอร่อย มันน่าพอใจ มันนุ่มนวล มันสบาย แต่เป็นการเสพภาพลักษณ์ สัญลักษณ์ หรือยี่ห้อ เพื่อความสุขทางใจ คือทำให้รู้สึกว่า ฉันเป็นคนใหม่ เป็นคนที่ดีกว่าเดิม ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องความสุขทางใจ แต่อาศัยการเสพสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่เป็นวัตถุที่เคลือบด้วยสัญลักษณ์ยี่ห้อ หรือสิ่งที่เป็นนามธรรม ทีนี้ก็มีคำถามว่าบริโภคนิยมมาได้อย่างไร วิถีการบริโภคแบบนี้ไม่ได้มีมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง แต่เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หรือเกิดโดยบังเอิญ แต่เกิดขึ้นเพราะมีความพยายามทำให้เกิดขึ้น ทำไมถึงพยายามทำให้มันเกิดขึ้น ก็เพราะว่า หลังจากที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ ๒๕๐ ปีที่แล้ว ระบบทุนนิยมสามารถผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้มากมาย และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน มีการผลิตรถยนต์ได้เพียงวันละ ๒-๓ คัน แต่ฟอร์ดได้ปฏิวัติการผลิต จนกระทั่งสามารถผลิตรถยนต์ได้วันละหลายร้อยคัน และเพิ่มเป็นพันคันในเวลาไม่กี่ปี โดยอาศัยโรงงานเพียงโรงงานเดียว ปัญหาก็คือว่า ไม่ใช่ฟอร์ดเจ้าเดียวที่ผลิตรถยนต์ จีเอ็มก็ผลิต ไครสเลอร์ก็ผลิต ส่วนที่ญี่ปุ่นโตโยต้าและนิสสันก็ผลิต จนรถเต็มตลาด ไม่ต้องพูดถึงเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ที่ราคาถูกกว่ารถยนต์ เช่น หม้อหุงข้าว จักรเย็บผ้า เครื่องซักผ้า โรงานแต่ละโรงสามารถผลิตได้วันละนับหมื่นชิ้น ถ้าคนยังบริโภคเหมือนเดิม ๆ คือมัธยัสถ์อดออม เช่น คนอีสานสมัยก่อนปีหนึ่งใช้เสื้อแค่ ๒ ตัว ถ้าคนซื้อเสื้อปีละ ๒ ตัว ถามว่าที่ผลิตมามาก ๆ จะขายออกไหม สินค้าก็ล้นตลาด โรงงานก็ต้องหยุดกิจการ ดังนั้นจึงมีความพยายามกระตุ้นให้คนบริโภคมากขึ้นเพื่อที่สินค้าจะได้ไม่ล้นตลาด อันนี้แหละคือที่มาของสังคมบริโภค คือสังคมที่กระตุ้นให้มีการเสพการบริโภคมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนค่านิยม เปลี่ยนคุณค่า เปลี่ยนวัฒนธรรม มีนักธุรกิจคนหนึ่งพูดไว้น่าสนใจ เขาเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาบอกว่า เศรษฐกิจของเรามีความสามารถในการผลิตอย่างล้นเหลือ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำให้การบริโภคกลายเป็นวิถีชีวิตของเรา ทำให้การซื้อและการใช้สินค้ากลายเป็นพิธีกรรม ทำให้เราเสาะแสวงหาความพึงพอใจทางจิตวิญญาณ (และการสนองตัวตน) ด้วยการบริโภค เราจำเป็นต้องเสพสินค้า ผลาญให้หมด ซื้อของใหม่ และทิ้งมันให้เร็วขึ้นกว่าเดิม นี่คือยุทธวิธีของนักธุรกิจที่กระตุ้นให้เกิดสังคมบริโภคขึ้นมา เขาต้องการให้คนทั้งโลกบริโภคให้มาก ๆ ซื้อเยอะ ๆ เพื่อความสุขทางใจและเพื่อสนองตัวตน ใช้ให้หมดไว ๆ ทำให้มันโทรมเร็ว ๆ และทิ้งมันให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าใช้รถ ๑๐ ปีแล้วค่อยทิ้ง อย่างนี้ไม่ไหว เศรษฐกิจไม่เจริญ สินค้าขายไม่ออก เขาก็เลยบอกว่าซื้อรถแค่ ๒-๓ ปี แล้วก็เปลี่ยนคันใหม่ หรือซื้อปีเว้นปียิ่งดีเลย มีรุ่นใหม่เข้ามาเมื่อไหร่ก็ต้องซื้อเมื่อนั้น อันนี้เห็นได้ชัดกับโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ก็ยังใช้ได้แต่ว่าทำไมใช้ไม่ถึงปี บางทีแค่ ๓ เดือน ๖ เดือน ก็เปลี่ยนเครื่องใหม่แล้ว เพราะอะไร ก็เพราะผู้คนถูกกระตุ้นให้ซื้อของใหม่ อันนี้คือวิธีการของเขาเพื่อ ทำให้สินค้าไม่ล้นตลาด ทำให้ผู้ผลิตคือนายทุนสามารถผลิตสินค้าได้เรื่อย ๆ และมีของขายได้ตลอด เขาจึงต้องกระตุ้นให้เราบริโภคเรื่อย ๆ ซื้อของใหม่เรื่อย ๆ แล้วก็ทิ้งให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เมืองไทยเองก็ถูกครอบงำด้วยความคิดดังกล่าว เมื่อจอมพลสฤษดิ์ทำการรัฐประหารและปกครองประเทศตั้งแต่ปี ๒๕๐๑-๒๕๐๖ จอมพลสฤษดิ์ได้ริเริ่มให้มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง จอมพลสฤษดิ์พบว่าเศรษฐกิจไทยจะไปได้ช้าถ้าคนไทยยังบริโภคแบบสมถะและยังมีความเชื่อเรื่องสันโดษอยู่ เพราะฉะนั้นจอมพลสฤษดิ์จึงขอร้องพระสงฆ์ทั่วประเทศให้เลิกสอนเรื่องสันโดษ เพราะถ้าสอนเรื่องสันโดษแล้ว การปฏิวัติของท่านจะไม่สำเร็จ การพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่เจริญก้าวหน้า จะเห็นได้ว่าสังคมบริโภคไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองหรือเกิดโดยบังเอิญ แต่เพราะมีการวางแผนและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เมืองไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์จึงมีคำขวัญว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข สมัยอาตมายังเป็นเด็กจำคำขวัญนี้ได้ดีเพราะมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลต้องการให้ประชาชน ทำงานให้มากขึ้น หาเงินให้มากขึ้น เพราะว่าคนสมัยก่อนไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินเท่าไหร่ ก็เงินจะเอาไปทำอะไรได้ สมัยก่อนชาวบ้านต้องการซื้อของแค่ไม้ขีดไฟกับพร้า ๒ อย่างเท่านั้น ชาวบ้านก็เลยไม่ต้องการเงิน อยากได้อะไรก็ทำเอาเอง เงินจึงไม่มีความสำคัญสำหรับคนไทยสมัยก่อน แต่ตอนหลังพอมีการกระตุ้นให้บริโภคมากขึ้น ด้วยคำขวัญว่า ว่า งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข คนไทยก็เริ่มเห็นเงินเป็นใหญ่เพราะถือว่าเงินกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน นี่คือการเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว บริโภคนิยมกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ประการที่สองเมื่อเป็นผู้บริโภคเต็มตัว ทุกอย่างก็ต้องใช้เงิน อยากจะได้อะไรต้องใช้เงินซื้อหรือไม่ก็จ้างเอา เงินก็เลยกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของชีวิต จนกลายเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตไป สมัยก่อนไม่เป็นเช่นนั้น อยากได้อะไรก็ทำเองไม่ต้องใช้เงินไม่มีเงินก็อยู่ได้ แต่สมัยนี้ทำเองไม่เป็นแล้ว หรือถึงจะทำเป็นแต่ก็รู้สึกว่ามันไม่เท่ ไม่ทันสมัย ซื้อเอาหรือจ้างเขาดีกว่า เพราะฉะนั้นเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต จนกลายเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิตไป เห็นได้จากคำอวยพรของหลวงพ่อคูณ ไม่มีอันไหนที่คนไทยอยากจะได้มากเท่ากับคำอวยพรว่า บ้านนี้อยู่แล้วรวย บ้านนี้อยู่แล้วเป็นสุขไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าบ้านนี้อยู่แล้วรวยฉันเอาไว้ก่อน เงินหรือความร่ำรวยกลายเป็นจุดหมายของชีวิต เคยมีการสอบถามความเห็นของคนไทยเมื่อหลายปีก่อน ปรากฏว่าร้อยละ ๘๐ บอกว่าต้องการความร่ำรวย สมัยก่อนมีคนไทยน้อยมากที่บอกว่าต้องการร่ำรวย เมื่อเร็ว ๆ นี้ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความในนิตยสารฉบับหนึ่ง พูดถึงตอนท่านยังเป็นนิสิต เคยถามเพื่อน ๆ ว่าอนาคตอยากจะเป็นอะไร เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าอยากเป็นครู อีกคนบอกว่าอยากเป็นวิศวกร อีกคนบอกอยากเป็นข้าราชการ อีกคนบอกว่าอยากแต่งงานกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน อะไรทำนองนี้ แต่ไม่มีใครสักคนที่บอกว่าอยากเป็นเศรษฐี แต่สมัยนี้อาตมาเชื่อว่ามากกว่าร้อยละ ๘๐ จะตอบว่าอยากเป็นเศรษฐีหรืออยากรวย นี่แสดงว่าเงินได้กลายเป็นจุดหมายสูงสุดของชีวิตไปแล้ว ประการที่ ๓ คือการมองทุกอย่างเป็นสินค้า ดังที่ได้บอกไว้แล้วว่าผู้บริโภคจะบรรลุความต้องการได้ก็ต่อเมื่อมีเงินซื้อ ในเมื่อทุกอย่างต้องซื้อด้วยเงิน มันก็เลยกลายเป็นสินค้าไปหมด ไม่ใช่แค่ข้าวหรือเสื้อผ้าเท่านั้นที่กลายเป็นสินค้า แม้แต่ความรู้ก็กลายเป็นสินค้าด้วยเช่นกัน ขอย้ำว่าสมัยก่อนความรู้ไม่ใช่เป็นสินค้า ความรู้เป็นทานที่ให้เปล่า ๆ โดยไม่คิดเงิน การต่อความรู้หรือการให้ความรู้สมัยก่อนเขาไม่คิดเงินกัน ขอเพียงแต่เอาดอกไม้ธูปเทียนมา ถือว่าเป็นค่ายกครูก็พอ การรักษาก็ไม่คิดเงินเพราะไม่ใช่สินค้า หมอสมัยก่อนไม่ได้เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพราะถือว่าความรู้ที่ตัวเองมีนั้นได้มาฟรี ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อรักษาคนไข้จึงไม่คิดเงิน แต่อาจจะมีค่ายกครูบ้างซึ่งไม่มากเท่าไร ข้าวก็ไม่ใช่สินค้า แต่ก่อนคนต่างบ้านต่างเมืองมาขอข้าวกินเขาก็ให้เปล่า ๆ เขาไม่ขายกิน ข้าวไม่ใช่ของที่มีไว้ขายเพราะคนแต่ก่อนถือว่าข้าวเป็นสิ่งที่ธรรมชาติให้มาเป็นทาน แต่เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นของซื้อของขาย นี่คือแนวคิดที่เปลี่ยนไป ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าหมด แม้กระทั่งคนก็เป็นสินค้า ผู้หญิงก็เป็นสินค้า ใช่ไหม คือมีค่าตัว แม้กระทั่งความรักหรือรอยยิ้มเวลานี้ก็เป็นสินค้าแล้ว คือคุณต้องจ่ายเงินถึงจะมีรอยยิ้มให้ วัฒนธรรมประเพณีก็กลายเป็นสินค้า จะดูรำไทยก็ต้องเสียเงินไปดูตามโรงแรม พระเครื่อง พระพุทธรูป ก็กลายเป็นสินค้า วางขายแบกะดินเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่บุญก็กลายเป็นสินค้า คือจ่ายมากก็ได้บุญมาก จ่ายน้อยก็ได้บุญน้อย เงินทำให้ทุกอย่างเป็นสินค้าหมดแม้กระทั่งสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความรู้ ความรัก วัฒนธรรม เทศกาลหรือประเพณีท้องถิ่นซึ่งเคยเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำกันอย่างสมัครใจ ตอนนี้กลายเป็นสินค้าที่ขายนักท่องเที่ยว ทุกจังหวัดจะต้องส่งเสริมและดัดแปลงประเพณีท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อขายนักท่องเที่ยว หรือเพื่อล้วงเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวให้มากที่สุด ประการที่ ๔ ก็คือ ความสะดวกสบายกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต อะไรที่สะดวกสบายฉันขอเอาไว้ก่อน มันจะเกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นอย่างไรฉันไม่สนใจ ขอให้ฉันสะดวกสบายเป็นใช้ได้ เช่น โฟมหรือพลาสติกก่อมลภาวะอย่างไร ฉันก็จะใช้เท่าที่ต้องการเพราะมันทำให้ฉันสะดวกสบาย เปิดแอร์หรือเปิดไฟทิ้งเอาไว้ ก่อผลเสียต่อส่วนรวมอย่างไร ฉันไม่สนใจ ยังไงฉันก็จะทำเพราะมันสะดวกสบายกับฉัน เดี๋ยวนี้จะขายสินค้าอะไรก็ตามก็ต้องทำให้สะดวกสบายแก่ผู้ใช้ไว้ก่อน เวลานี้มีใครบ้างที่พกขวดน้ำติดตัวไปบ้าง มีใครบ้างที่ใช้ปิ่นโตใส่อาหาร ไม่มี เพราะอะไร เพราะมันไม่สะดวกสบายเท่ากับการซื้อน้ำบรรจุขวด หรือเท่ากับการใช้กล่องโฟม ทั้งๆ ที่เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมโหฬาร เพราะว่าความสะดวกสบายกลายเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตไปแล้ว ซื้อเองมันสะดวกกว่าทำเอง สมัยก่อนน้ำ RC ใคร ๆ ก็นิยม แต่ไม่มีใครอยากจะทำเอง ซื้อเอาดีกว่า สมุนไพรเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็นิยมแต่ไม่มีใครอยากจะทำเอง ซื้อเอาดีกว่าเพราะมันสะดวกดี ความสะดวกสบายกลายเป็นสรณะของชีวิตไปแล้ว ข้อสุดท้าย ข้อนี้สำคัญมาก ก็คือว่าเห็นว่าความสุขอยู่ที่การบริโภค สังคมบริโภคจะมีทัศนะว่าถ้าคุณอยากได้ความสุขคุณต้องบริโภคให้มาก คนที่มีสิ่งเสพสิ่งบริโภคน้อยถือว่ามีความสุขน้อย ตรงนี้คือหัวใจของบริโภคนิยม บริโภคนิยมแพร่หลายไปทั่วโลกเพราะเขาสามารถทำให้ผู้คนทั้งโลกเชื่อว่า ถ้าต้องการความสุขก็ต้องบริโภคมาก ๆ ความสุขกลายเป็นสิ่งที่ดื่มได้ ความสุขกลายเป็นสิ่งที่ซื้อได้ ความสุขเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงิน เพราะฉะนั้นผู้คนจึงไม่ค่อยเชื่อว่าความสุขสามารถจะเกิดขึ้นได้จากการทำงาน ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้จากการทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จ ความสุขเกิดขึ้นได้จากการมีงานอดิเรกทำ การทำสวน หรือการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว อย่างนี้ไม่มีความสุข ต้องไปเสพ ต้องไปซื้อ ถึงจะมีความสุข ถ้าชาตินี้ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็ไม่มีความสุข ความสุขอยู่ที่วัตถุไปแล้ว และวัตถุนั้นคือสิ่งที่ฉันต้องมีฉันต้องบริโภคให้ได้ ผลกระทบของบริโภคนิยม ตอนนี้คนไทยที่อายุ ๓๕ ปีขึ้นไป มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือว่าเป็นโรคอ้วนถึง ๑ ใน ๓ นี่เพราะบริโภคนิยมแท้ ๆ เลยคือเสพมาก แต่ว่าไม่ออกกำลังกาย เพราะว่าใช้เงินซื้อทุกอย่างแทนการทำด้วยตนเอง เวลานี้ใครต่อใครก็คิดว่า จะเดินไปทำไมเสียเวลาและเหนื่อยเปล่า ๆ นั่งรถหรือจ้างรถไปส่งดีกว่า สบายดี ชีวิตในยุคบริโภคนิยมเป็นชีวิตที่สะดวกสบายเกินไป พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า หากอยากมีอายุยืนต้องรู้จักทำตัวให้สบาย จากนั้นก็ตรัสต่อว่า ต้องรู้จักประมาณในการสบาย คืออย่าสบายมากไป ถ้าสบายมากไปจะอายุไม่ยืน ตอนนี้เกิดปรากฏการณ์ทั่วทั้งโลก ไม่เฉพาะเมืองไทย คือผู้คนกำลังสุขภาพเสื่อมโทรมเพราะการบริโภคมากเกินไป ผลกระทบประการที่ ๒ คือ สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เกิดมลภาวะในน้ำ ในอากาศ และมีการทำลายป่าอย่างมหาศาลเพื่อตอบสนองการบริโภคที่ไม่รู้จักพอ มีการทำลายป่าเพื่อปลูกอ้อย เพราะคนไทยกินน้ำตาลกันมากเฉลี่ยปีละประมาณ ๓๐ กิโลกรัม สูงมากทีเดียว เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้วคนไทยกินน้ำตาลแค่ ๑๓ กิโลกรัมต่อปี แสดงว่าภายในเวลา ๒๐ ปีเรากินน้ำตาลสูงเกือบ ๓ เท่า การบริโภคเกินจำเป็นก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย และทำให้สุขภาพเราเสื่อมโทรม อันนี้เห็นชัด คงไม่ต้องอธิบายมาก ประการที่ ๓ คือช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างกว้างขึ้น อาตมาได้กล่าวแล้วว่าบริโภคนิยมทำให้คนถือเอาเงินเป็นเป้าหมาย ดังนั้นจึงแข่งขันกันหาเงิน เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น ในช่วง ๑๕ ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในเมืองไทยได้ขยายกว้างจาก ๘ เท่าเป็น ๑๔ เท่า โดยวัดจากรายได้ของคน ๑ ใน ๕ ของประเทศที่มีรายได้สูงสุด กับรายได้ของคน ๑ ใน ๕ ที่มีรายได้ต่ำสุด นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก ปัจจุบันช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนก็ถ่างกว้างขึ้น ตอนนี้ห่างเป็น ๗๒ เท่าแล้ว ในช่วงเวลาแค่ ๒๐ ปี ผลกระทบประการที่ ๔ ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อที่ ๓ คือการใช้ทรัพยากรอย่างไม่สมเหตุสมผล และอย่างน่าเศร้า อาตมาอยากจะให้ดูสถิติต่อไปนี้ ปัจจุบันนี้มีคนถึง ๒,๖๐๐ ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ที่ขาดสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐาน โดยเฉพาะน้ำสะอาด และเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านคน อ่านหนังสือไม่ออกเขียนชื่อตัวเองยังไม่ได้ นี้รวมถึงเด็กเกือบ ๑๐๐ คนในหมู่บ้านของอาตมา จบ ป.๖ แล้วแต่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้สามารถขจัดได้หากใช้งบประมาณ ๙,๐๐๐ ล้านเหรียญ เพื่อจัดหาน้ำสะอาดให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนและอีก ๖,๐๐๐ ล้านเหรียญสำหรับให้การศึกษากับคนทั้งโลก จำตัวเลขให้ดี ๆ ๙,๐๐๐ กับ ๖,๐๐๐ ล้านเหรียญ แต่ปรากฏว่าในยุโรปมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อไอศครีมถึงปีละ ๑๑,๐๐๐ ล้านเหรียญ มากกว่าเงินที่ต้องการสำหรับทำน้ำสะอาดให้แก่คนครึ่งโลก ค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำหอมในยุโรปและสหรัฐอเมริกา สูงถึง ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญ เฉพาะน้ำหอมอย่างเดียวนะ ส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อ เครื่องสำอางทั่วโลกปีละ ๑๘,๐๐๐ ล้านเหรียญ เฉพาะครีมบำรุงผิวอย่างเดียวทั่วโลกใช้เงินซื้อปีละ ๒๔,๐๐๐ ล้านเหรียญ เงินจำนวนนี้สามารถเอามาใช้ในการจัดหาน้ำสะอาดและจัดการศึกษาให้แก่คนครึ่งโลกได้สบาย ๆ เลย ถึง ๓ เท่า แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้โลกไม่มีเงินพอที่จะไปช่วยคนเหล่านั้นให้มีน้ำสะอาดและการศึกษาขั้นพื้นฐานเลย นี่คือความไม่สมเหตุสมผลของการใช้ทรัพยากรในโลกปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้แต่ก็เป็นไปแล้ว ขณะที่คนจำนวนนับพันล้านไม่มีแม้กระทั่งน้ำสะอาดใช้ แต่คนเพียงแค่ไม่กี่ร้อยล้านในยุโรปใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้อเฉพาะครีมบำรุงผิวอย่างเดียว ผลกระทบประการต่อมาก็คือ บริโภคนิยมทำให้ปัญหาสังคมเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องดูอื่นไกลประเทศไทยก็เห็นชัด เคยมีการสอบถามความเห็นนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษประมาณ ๖๐,๐๐๐ คน โดยบริษัทประกันภัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขาถามว่าประเทศใดที่มีการลักขโมยมากที่สุด ปรากฏว่าประเทศไทยติดอันดับ ๑ ประเทศใดมีการแย่งชิงทรัพย์สินทรัพย์สมบัติโดยใช้ความรุนแรงมากที่สุด อันดับ๑ ไม่ใช่ไทยก็จริง แต่ไทยติดอันดับ ๒ คอร์รัปชั่นเมืองไทยก็ขึ้นชื่อ เราติดอันดับที่ ๗๗ จาก ๑๓๓ ประเทศ นอกจากนั้นเรายังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมก็ย่ำแย่ เริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว เวลานี้พ่อแม่ถึงร้อยละ ๔๓ ในกรุงเทพบอกว่า แต่ละวันมีเวลาทำกิจกรรมให้กับลูกแค่ ๑ - ๓ ชั่วโมงเท่านั้น พูดง่าย ๆ คือมีเวลาเห็นหน้ากันไม่เกิน ๓ ชั่วโมง และใน ๓ ชั่วโมงนั้นไม่ทราบว่ารวมเวลาที่อยู่ด้วยกันตอนที่รถติดอยู่บนถนนช่วงชั่วโมงเร่งด่วนด้วยหรือเปล่า แต่นี่ยังดีที่เด็กมีพ่อแม่ หลายครอบครัวต้องหย่าร้างกัน ปัจจุบันการหย่าร้างในเมืองไทยสูงถึง ๑ ใน ๔ ในชนบทปัญหาพ่อแม่แยกทางกันเกิดขึ้นสูงมาก เด็กในชนบทร้อยละ ๓๐ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือว่าพ่อแม่แยกทางกัน นี่คือปัญหาสังคมซึ่งเกิดขึ้นในยุคบริโภคนิยม ซึ่งสัมพันธ์กับการที่ผู้คนเห็นเงินเป็นใหญ่จนกระทั่งไม่มีเวลาให้แก่กันและกัน ผลที่ตามมาประการที่ ๗ ก็คือ ความทุกข์ในจิตใจเพิ่มมากขึ้น คนไทยเวลานี้เครียดมาก ในจังหวัดชัยภูมิที่อาตมาอยู่ โรงพยาบาลประจำจังหวัดบอกว่า ยาที่จ่ายไปเพื่อลดความเครียดมีสูงถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และทั่วประเทศตั้งแต่ปี ๒๕๔๔-๒๕๔๖ มีการใช้ยาคลายเครียดเพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่าตัว คือจาก ๑๖๐ กว่าล้านเม็ดเป็น ๗๐๐ ล้านเม็ด เราเครียดกันมากขึ้นในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ทราบเกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า ซึ่งก็น่าแปลกว่าในเมืองไทย หรือในกรุงเทพเรามีสิ่งคลายเครียดเยอะ โทรทัศน์ วิทยุ วีดีโอ ซีดี ดีวีดี เรามีแหล่งบันเทิงเริงรมย์มากมาย แต่ผู้คนกลับเครียดกันมากกว่าแต่ก่อน ผลกระทบที่ตามมาประการสุดท้ายก็คือ ผู้คนรู้สึกชีวิตว่างเปล่าไร้คุณค่า เพราะว่ามีเงินเท่าไหร่ความทุกข์ก็ไม่หาย เคยคิดว่าความสุขเกิดจากบริโภค แต่เมื่อได้บริโภคมากขึ้น มีสิ่งเสพมากกว่าสมัยพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย แต่ทำไมความเครียดความทุกข์ไม่ได้ลดลงเลย กลับมากขึ้นเสียอีก หลายคนสงสัย หลายคนคิดว่าที่ยังทุกข์อยู่ทุกวันนี้ เพราะยังมีเงินไม่พอ จึงตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน แต่ก็ยังทุกข์อยู่ หลายคนพบว่าเงินไม่ใช่คำตอบ แต่ก็ไม่รู้ว่าความสุขจะมาได้อย่างไร เป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้คนสับสน รู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างว่างเปล่า เพราะแม้จะมีเงิน มีทรัพย์สมบัติรอบตัว แต่ในใจกลับว่างเปล่า ไม่ได้ว่างเปล่าจากการปล่อยวาง แต่ว่างเปล่าจากคุณค่าหรือความหมาย คือไม่รู้ว่าชีวิตนี้มีความหมายที่ตรงไหน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนในยุคบริโภคนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เสน่ห์ของบริโภคนิยม บริโภคนิยมสามารถตอบสนองจุดอ่อนเหล่านี้ คือทำให้เรามีอย่างที่ต้องการ รวมทั้งทำให้เรารู้สึกว่าเรามีอำนาจด้วย ถ้าเรามีโทรศัพท์มือถือเราก็มีอำนาจที่จะติดต่อพูดคุยกับใครในมุมไหนของโลกก็ได้ อินเทอร์เน็ตทำให้เรามีอำนาจที่จะทำหลายอย่างที่คนเมื่อหลายร้อยพันปีก่อนนึกไม่ถึง เสน่ห์ของบริโภคนิยมก็คือ ทำให้ผู้คนเชื่อว่าวัตถุ เทคโนโลยี สินค้าต่าง ๆ จะทำให้เรามีเสรีภาพและอิสรภาพมากขึ้น รถยนต์จะทำให้เรามีเสรีภาพในการเดินทาง โทรศัพท์มือถือจะทำให้เรามีเสรีภาพในการติดต่อผู้คนโดยไม่จำกัด อินเตอร์เน็ตจะทำให้เรามีเสรีภาพในการติดต่อใครก็ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวก็ได้ มีเสรีภาพที่จะระบายอารมณ์ดิบ ๆ ของเราออกสู่สาธารณะ จะด่าพ่อล่อแม่ใคร หรือจะไปพูดจาล่วงละเมิดหรือลวนลามใครก็ได้ทั้งนั้น นอกจากนั้นบริโภคนิยมยังทำให้เรามีเสรีภาพที่จะเลือกอะไรก็ได้หากเรามีเงิน เวลาไปเที่ยวห้างเรามีเสรีภาพมากมายที่จะเลือกซื้ออะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ สบู่ยาสีฟันมีนับร้อยยี่ห้อ เลือกได้สารพัด รวมทั้งเลือกที่จะเป็นใครก็ได้ อยากมีรูปร่างสมส่วน ก็ไปผ่าตัดเสริมทรงให้สวยอย่างดาราก็ได้ เรามีเสรีภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้ มีเสรีภาพที่จะเสพอะไรก็ได้ แม้ในเรื่องทางเพศที่วิปริตพิสดาร คนยุคปัจจุบันต้องการเสรีภาพและอิสรภาพ แม้จะเป็นอิสรภาพในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเลยก็ตาม แต่ว่าบริโภคนิยมก็สามารถสนองความต้องการดังกล่าวได้ นอกจากนั้นบริโภคนิยมยังสนองความคิดเรื่องปัจเจกนิยม คนสมัยนี้อยากจะเป็นตัวของตัวเอง มีความสำคัญในตัวเอง ถ้ามีใครแนะนำว่าเราเป็นลูกคนโน้นเราเป็นน้องคนนี้เรารู้สึกไม่ภูมิใจ แต่ถ้ามีคนแนะนำว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ เรารู้สึกภูมิใจ เราไม่อยากให้ใครแนะนำว่าเราเป็นน้องใคร หรือเป็นลูกใคร แต่เราอยากให้เขาแนะนำว่าเรามีดีอย่างไร เก่งอย่างไร คืออยากให้แนะนำว่าเราเป็นเราอย่างไรบ้าง นี่คือแนวคิดแบบปัจเจกนิยม แล้วเดี๋ยวนี้ผู้คนต่างอยากจะเป็นใครที่ไม่เหมือนคนอื่น ถ้าใส่เสื้อเหมือน ๆ กัน ร้องเพลงเหมือน ๆ กัน หรือว่าใส่รองเท้ายี่ห้อเดียวกันฉันไม่ชอบ ฉันอยากจะเป็นคนที่ไม่เหมือนใคร บริโภคนิยมมันตอบสนองตรงนี้ได้ คุณจะมีผมสีทอง มีผมสีม่วง มีเสื้อปุปะ มีกางเกงพิสดารอย่างไรบริโภคนิยมตอบสนองคุณได้หมดขอให้คุณมีเงินจ่ายก็แล้วกัน มันมีเสน่ห์โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเป็นใครที่ไม่เหมือนคนอื่น เสน่ห์ของบริโภคนิยมประการสุดท้ายก็คือว่า มันทำให้เรารู้สึกว่าความสุขอยู่แค่เอื้อม ขอให้มีเงินเท่านั้นความสุขก็มาทันที แต่ถ้าเป็นสังคมสมัยก่อนความสุขจะหามาได้เราต้องลงมือทำ แต่ว่าพอมีเงินแล้วทุกอย่างมันง่าย นี่คือเสน่ห์ของบริโภคนิยม วิถีสู่ความเป็นไทจากบริโภคนิยม โทษของบริโภคนิยมนั้น ไม่ต้องดูไกลตัวว่ามันก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เอาใกล้ตัวก็ได้ ก็คือว่าเราต้องสูญเสียอะไรไปบ้างในการที่ได้มาซึ่งวัตถุสิ่งเสพ บริโภคนิยมพยายามบอกว่าเราจะได้อะไรบ้าง ชีวิตเราจะสะดวกสบายอย่างไรบ้าง เราจะมีความสุขอย่างไรบ้าง แต่มันไม่ค่อยบอกหรอกว่าแล้วเราจะเสียอะไรไปบ้าง ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรี ๆ สิ่งที่เราต้องเสียไปเพื่อแลกกับความสะดวกสบายจากบริโภคนิยม นอกจากเสียเงินแล้วก็คือเสียเวลา เช่น เสียเวลาในการหาเงินมาซื้อสิ่งเสพ เสียเวลาในการแข่งขันแย่งชิงสิ่งเสพ และเมื่อได้มาแล้วก็เสียเวลาในการเสพและการดูแลรักษา คนเดี๋ยวนี้บอกไม่ค่อยมีเวลาว่าง นี่เป็นคำพูดที่เราได้ยินทั่วไป แต่เคยแปลกใจไหมว่าคนในชนบทแม้จะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่มีเครื่องทุ่นแรง ไม่มีเครื่องทุ่นเวลาอย่างคนในเมือง แต่ทำไมเขามีเวลาว่างมากมาย เขามีเวลานั่งเล่น เขามีเวลาคุยกับลูก เขามีเวลาคุยกับเพื่อนบ้าน แต่คนในเมืองซึ่งมีเทคโนโลยีมากมาย มีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องทุ่นเวลามากมาย กลับบ่นว่าไม่มีเวลา ๆ เวลาหุงข้าวคุณใช้เวลาแค่ ๑๕ นาที เวลาจะกินข้าว คุณต้มมาม่าไม่ถึง ๕ นาที จะไปไหนมาไหนคุณใช้รถ มีสิ่งทุ่นเวลามากมาย แต่เวลาหายไปไหนหมด คำตอบก็คือหมดเวลาไปกับการหาเงิน หมดเวลาไปกับการพัวพันกับวัตถุ หมดเวลาไปกับการบริโภคสิ่งเสพ ยิ่งมีวัตถุสิ่งเสพมากก็ยิ่งเสียเวลามาก นับตั้งแต่มีโทรศัพท์มือถือใช้ ถามว่าคนไทยมีเวลาว่างมากขึ้นไหม ส่วนใหญ่ มีเวลาว่างน้อยลง ทั้ง ๆ ที่โทรศัพท์น่าจะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น เพราะว่าแทนที่จะเดินทางไปหาเขาก็แค่โทรศัพท์ เวลาว่างก็น่าจะมากขึ้น แต่เวลาว่างกลับน้อยลง เพราะอะไร เพราะเราเสียเวลากับโทรศัพท์มากขึ้น เอแบคโพลเคยสำรวจความเห็นของเยาวชนไทยในกรุงเทพปรากฏว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือวันละ ๓ ชั่วโมง อีก ๙๒ เปอร์เซ็นต์ต่ำลงมาหน่อยใช้เวลากับโทรทัศน์วันละ ๔ ชั่วโมง รองลงมาก็ ๙๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกันใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์อีกประมาณ ๓ ชั่วโมงต่อวัน แค่ ๓ อย่างนี้ก็หมดไปแล้ว ๑๐ ชั่วโมง แล้วคุณจะเอาเวลาที่ไหนมาเรียนหนังสือ มาคุยกับพ่อแม่ มานอนหลับพักผ่อน บริโภคนิยมทำให้เราเสียเวลามากขึ้น ในสังคมบริโภคเวลาจึงกลายเป็นของมีค่า ไม่เคยมียุคไหนที่เวลากลายเป็นของมีค่ามากเท่ากับยุคบริโภคนิยม พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก จึงเลี้ยงลูกกันทางโทรศัพท์ รวมทั้งเลี้ยงลูกด้วยเงิน จนกระทั่งน่าเป็นห่วงว่าเมืองไทยต่อไปจะมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงินมากขึ้นทุกที สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยความรักมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ หลายคนมาพบว่าตัวเองหลงทางผิดพลาดไปก็ต่อเมื่อเป็นมะเร็ง อย่างเมื่อกลางปีนี้มีพิธีกรโทรทัศน์รายการหนึ่ง เสียชีวิตลงเพราะเป็นโรคมะเร็ง พิธีกรผู้นี้ได้เขียนไว้ก่อนตายว่า เคยมีคนถามว่าจะเลือกเงินหรือชีวิต พิธีกรผู้นี้ซึ่งจบดอกเตอร์บอกว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่เลือกเงิน เพราะคิดว่าถ้ามีเงินสะสมมากพอครอบครัวก็จะมีความมั่นคง จึงตั้งใจว่าจะหาเงินให้เต็มที่สัก ๒๐ ปี แต่ปรากฏว่าทุ่มเทกับการหาเงินจนไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัว แล้ววันดีคืนดีก็พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเพราะทำงานหนัก กลายเป็นว่าที่ตั้งใจจะทำงานหาเงิน ๒๐ ปี ทำได้แค่ ๑๐ ปีก็ต้องเลิก ทำไม่ไหว ส่วนการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว ซึ่งเขาตั้งใจว่าจะให้เวลาเต็มที่เมื่อหยุดหาเงินแล้ว ก็เป็นอันว่าไม่อาจทำได้ พิธีกรผู้นี้บอกว่าสิ่งหนึ่งที่อยากบอกลูกก็คือ ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อคงอยู่บ้านให้มากกว่านี้ แต่เขาไม่มีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะโรคมะเร็งได้คร่าชีวิตเขาไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นี่คือวิถีชีวิตของคนยุคบริโภคนิยม ซึ่งคิดว่าถ้าเรามีเงินแล้วความสุขความอิ่มเอมในชีวิตจะตามมา แต่กลายเป็นว่าเรากลับเสียมันไป แม้แต่เวลาที่จะพักผ่อนนอนหลับก็เกือบไม่มี นี่คือโทษของบริโภคนิยมซึ่งเราต้องตระหนักกันให้มากขึ้น เราต้องตระหนักว่าความสะดวกสบายมีโทษอย่างไรบ้าง ในหมู่บ้านของอาตมา สมัยก่อนถนนเป็นทางลูกรังไม่เคยมีคนตายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์เลย แต่พอมีถนนลาดยาง การเดินทางสะดวกมากขึ้น ปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์บ่อยครั้ง คนตายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่ นี่คือราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าสะดวกสบายไม่ดี แต่อาตมาต้องการชี้ว่าเราไม่ค่อยตระหนักหรือมองเห็นโทษของมันว่า การที่เราจะได้ความสะดวกสบายมาจากบริโภคนิยมนั้น เราต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง และหลาย ๆ อย่างที่เราสูญเสียไปเราเอากลับคืนมาไม่ได้ เช่น เวลา รวมทั้งเวลาที่เราจะมีให้กับลูกและครอบครัว นอกจากนั้นเรายังจำเป็นต้องมีปัญญาตระหนักว่าบริโภคนิยมไม่สามารถจะให้ความสุขกับเราได้อย่างแท้จริง บริโภคนิยมให้ได้แค่ความสะดวกสบาย แต่ไม่สามารถให้ความสุขกับเราอย่างแท้จริงได้ ความสบายกับความสุขต่างกัน แต่คนเดี๋ยวนี้ไปเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ปัญญาจะช่วยให้เราเห็นว่า มันมีทางเลือกที่ดีกว่า ทางเลือกที่ดีกว่าคืออะไร ความสุขแท้จริงอยู่ที่ใจ มีเงินมากก็ไม่ได้หมายความว่ามีความสุข ครอบครัวหลายครอบครัวมีเงินมากแต่ชีวิตกลับทุกข์ลง บางคนถูกหวย ๒๐ ล้านบาท แต่ต้องฆ่าตัวตายเพราะเครียด มีพ่อค้าเร่คนหนึ่งถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ได้เงินมา ๒๐ ล้านบาท หลังจากนั้นไม่ถึงเดือนก็กินยาพิษฆ่าตัวตาย แต่ลูกช่วยได้ทัน ทำไมเขาถึงฆ่าตัวตาย ก็เพราะเครียดที่มีคนมาขู่ฆ่า เขาขู่ฆ่าเพราะไม่พอใจที่มาขอเงินแล้วได้น้อย เขาอยากได้มากกว่านั้น พ่อค้าเร่คนนี้ให้สัมภาษณ์หลังจากฟื้นตัวว่า ตอนยังไม่ถูกล็อตเตอรี่ คือตอนเป็นพ่อค้าเร่ หาเช้ากินค่ำ มีความสุขกว่าเป็นไหน ๆ ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ นี้คือสิ่งที่เราพึงตระหนัก ปัญญาจะทำให้เราแลเห็นความจริงข้อนี้ และตระหนักต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงตัวตนไม่ได้เกิดจากการบริโภค อาตมาได้บอกตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า คนในยุคบริโภคนิยมถือว่าการเปลี่ยนแปลงตัวตนเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันถูกขับด้วยภวตัณหา เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงตัวตนหรือการเป็นคนใหม่สำเร็จได้ด้วยการบริโภค แต่ที่จริงการบริโภคทำได้อย่างมากเพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ทำให้เราเป็นคนใหม่ไปได้ ถึงแม้คุณจะผ่าตัดเสริมทรง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน ไปเสริมจมูกบ้าง หน้าอกบ้าง หน้าท้องบ้าง คุณอาจได้ทรวดทรงใหม่ แต่มันไม่ทำให้ คุณเป็นคนใหม่ไปได้เลย บริโภคนิยมทำได้เพียงแค่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้แก่เรา แต่ว่าเราก็ยังเป็นคนเดิม นอกจากมันจะทำให้เราเป็นคนใหม่ไปไม่ได้แล้ว บริโภคนิยมยังทำให้เราเป็นทาสของวัตถุ เป็นทาสของสิ่งเสพ และเอาคุณค่าของตัวเองไปฝากไว้กับวัตถุ เดี๋ยวนี้เราเอาคุณค่าของตัวเองไปฝากไว้กับวัตถุเยอะ ถ้าไม่มีวัตถุจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ถ้าไม่ได้ขับรถเบนซ์หรือบีเอ็ม จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อันนี้คือความหลง แต่ปัญญาจะช่วยให้เราตระหนักว่าคุณค่าจริง ๆ ของเราไม่ได้อยู่ที่วัตถุ มันอยู่ที่แก่นแท้ในใจของเรา อยู่ที่คุณธรรมของเราต่างหาก ประการที่ ๒ เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจ เมื่อกี้พูดเรื่องปัญญา
แต่คนเราอาศัยปัญญาอย่างเดียวไม่พอ เพราะว่าเรามักมีปัญหาระหว่างสมองกับหัวใจ
สมองอาจจะบอกว่ากินเหล้าไม่ดี แต่หัวใจหรือความรู้สึกมันอยากเพราะว่าเสพติดเสียแล้ว
สมองอาจจะบอกว่า บริโภคนิยมไม่ดี แต่ใจมันอยาก จึงหนีบริโภคนิยมไม่พ้น เพราะฉะนั้นเราต้องอาศัยการพัฒนาจิต
เพื่อมาเสริมแรงให้กับปัญญา จึงจะสามารถเป็นอิสระจากบริโภคนิยมได้ ถ้าเรามีความสุขจากสมาธิภาวนาแล้ว เราจะพึ่งความสุขจากวัตถุน้อยลง แต่ความสุขจากภายในไม่ได้มีแต่ความสุขจากสมาธิภาวนา หรือจากการหลีกเร้นไปอยู่ในที่สงบสงัดอย่างเดียว เราสามารถมีความสุขจากการทำงานที่มีคุณค่า จากการเสียสละหรือเอื้อเฟื้อผู้อื่น ความสุขมาได้หลายทางโดยเฉพาะจากการทำความดี เมื่อปีที่แล้วอาตมาได้จัดโครงการจิตอาสาขึ้นมา โดยชักชวนคนมาเป็นอาสาสมัครทำกิจกรรมที่บำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมหนึ่งคือไปนวดเด็กกำพร้าที่บ้านปากเกร็ด เด็กเหล่านี้ถูกทอดทิ้ง มีแต่พี่เลี้ยงคอยดูแล แต่พี่เลี้ยงดูแลไม่ทั่วถึง เด็กจึงถูกทิ้งให้นอนบนเตียงเป็นวัน ๆ อายุ ๒ ขวบแล้วบางคนยังเดินไม่ค่อยได้ เลยมีการจัดอาสาสมัครไปนวดเด็กทุกเสาร์อาทิตย์ มีอาสาสมัครคนหนึ่งเป็นโรคไมเกรน ต้องกินยาทุกวัน แต่หลังจากที่ไปนวดเด็กสัก๒-๓ ครั้ง ปรากฏว่าเขาลืมกินยาไปเลย เพราะไม่รู้สึกปวดเนื่องจากมีความสุขกับการนวดเด็ก นักวิทยาศาสตร์พบว่า เวลาเราทำความดีหรือคิดในแง่ดีจะเกิดสารเคมีที่เรียกว่าเอนโดฟีน กับ โดพามีน ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกสบาย หลายคนมีความสุขจากการที่ได้ทำสิ่งดี ๆ ความสุขแบบนี้เงินซื้อไม่ได้ เงินซื้อได้แต่ยา แต่ยาก็ไม่ได้ช่วยให้หาย ตรงกันข้ามการได้ทำความดี การช่วยเหลือผู้อื่น การให้ความสุขแก่ผู้อื่นต่างหากจะทำให้เราได้รับความสุข พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข นอกจากความสุขจากสมาธิ และความสุขจากการได้ทำความดี สติก็สำคัญ เวลานี้เราตกเป็นทาสบริโภคนิยมก็เพราะว่า กระแสการโฆษณาชวนเชื่อมันชวนให้เราหลง โดยเฉพาะการใช้ภาพ ภาพมีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึกของเรายิ่งกว่าถ้อยคำ เพราะฉะนั้นการโฆษณาด้วยภาพทางโทรทัศน์จึงได้ผลกว่าการโฆษณาด้วยตัวหนังสือ พอเราดูโฆษณาที่เป็นภาพแล้ว ก็ง่ายที่จะขาดสติ นอกจากภาพแล้วเดี๋ยวนี้ก็ใช้กลิ่นด้วย ตามห้างสรรพสินค้าจะมีการเติมกลิ่นเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และอยากซื้อของ เพราะพอใจเราสบายแล้วเราก็ควักเงินง่าย ไม่คิดมาก ทุกวันนี้มีวิธีการต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เราควักเงิน โดยไม่ต้องคิด เขาใช้ภาพ กลิ่น เสียง เพื่อกระทำกับอารมณ์ความรู้สึกและจิตใต้สำนึกของเรา ด้วยเหตุนี้สติจึงสำคัญมาก สติจะช่วยให้เรารู้ตัวทั่วพร้อม ไม่เผลอตกเป็นทาสของบริโภคนิยม อาตมาพูดเรื่องปัญญาและสมาธิหรือการพัฒนาจิตให้มีความสุขและรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว ในทางพุทธศาสนาต้องมีอีกอย่างจึงจะสมบูรณ์ คือศีล ศีลในที่นี้ไม่ได้หมายถึงศีล ๕ อย่างเดียว แต่หมายถึงการควบคุมกำกับพฤติกรรมของตัวเอง ทั้งกายและวาจา ซึ่งกว้างกว่าศีล ๕ เวลานี้เราควรมีข้อกำหนดให้ตัวเองเกี่ยวกับการบริโภค เช่น มีข้อกำหนดว่าเราจะใช้อินเทอร์เน็ตวันละกี่ชั่วโมง จะดูโทรทัศน์วันละกี่ชั่วโมง เพราะถ้าไม่กำหนด เราก็จะดูไปเรื่อย ๆ จนลืมตัวและหมดเนื้อหมดตัวไปกับสิ่งเหล่านี้ ควรมีข้อกำหนดว่าเราจะเล่นเกมออนไลน์วันละกี่ชั่วโมง ที่สำคัญคือข้อกำหนดว่าเราจะไปเที่ยวห้างเดือนละกี่ครั้ง อันนี้จำเป็นมาก พุทธศาสนาเรียกว่า วินัย จะต้องมีการกำหนดวินัยเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้เงินให้มากขึ้น หลายคนหมดเงินไปกับการเที่ยวห้าง วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ การจัดทำรายการของที่จะซื้อก่อนเข้าห้าง อาตมาคิดว่าผู้คนประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์เวลาเข้าห้างไม่มีการทำรายการล่วงหน้าว่าจะซื้ออะไรบ้าง เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า ออกจากห้างทีไรเผลอซื้อของที่ไม่จำเป็นกลับมามากมาย หลายคนเสียเงินไปมากมายเพราะเผลอตัวหรือหลงกลเขา แต่ถ้าเราทำรายการสินค้าที่จะซื้อก่อนเข้าห้างเราจะเป็นหนี้น้อยลง บางคนเขาไม่พกเครดิตการ์ดเวลาเข้าห้าง พกแต่เงินสด เงินสดก็พกไม่มาก เพราะถ้าพกเครดิตการ์ดแล้วมักลงเอยด้วยการเป็นหนี้ บางคนเขามีข้อกำหนดว่าจะไม่ยืมเงินใคร ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องยืม เพราะการยืมทำให้เราหมดเงินไปได้เยอะเหมือนกัน นอกจากนั้นควรมีการพิจารณาก่อนซื้อ เช่น ซื้อเพี่ออะไร จำเป็นหรือไม่ มีโอกาสใช้มันมากน้อยเพียงใด อันนี้คนไม่ค่อยถาม ในทางพุทธศาสนามีหลักหนึ่งเรียกว่าปัจจัยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาก่อนบริโภค เดี๋ยวนี้เราต้องพิจารณาก่อนซื้อด้วย หากจะซื้อก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า ของนี้ใช้ทนหรือไม่ และมีอยู่แล้วกี่ชิ้นที่บ้าน มีสิ่งอื่นทดแทนได้หรือเปล่า บางคนมีเสื้อผ้า มีรองเท้าหลายสิบคู่แต่ก็ยังซื้ออีก เท่านั้นยังไม่พอ ต้องถามตัวเองด้วยว่า เราจะต้องเสียเงินและเสียเวลาในการดูแลรักษาสิ่งเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เวลานี้เราเสียเงินเสียเวลาไปกับการดูแลของพวกนี้เยอะมาก ที่สำคัญก็คือว่า เมื่อใช้หมดแล้วเราจะทิ้งอย่างไร จะก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทั้งหมดนี้คือข้อปฏิบัติที่เรียกว่าไตรสิกขา คือการฝึกฝนพัฒนาตนทั้งในทาง ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งจะช่วยทำให้เราหลุดจากอำนาจของบริโภคนิยมได้มากขึ้น ปัญญาเป็นเรื่องการพิจารณาให้รู้เท่าทัน เห็นโทษ เห็นคุณ เห็นทางออก สมาธิเป็นเรื่องของการฝึกจิตให้เกิดความสุขภายใน ศีลเป็นเรื่องการกำกับควบคุมพฤติกรรมของเรา เพื่อที่จะไม่ให้เราเบียดเบียนตนและผู้อื่น ซึ่งสมัยนี้ก็ต้องรวมถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินและการบริโภคด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากการฝึกฝนตนเองแล้ว ยังจำเป็นต้องมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเสริมด้วย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า กัลยาณมิตร ยิ่งมีชุมชนกัลยาณมิตรก็ยิ่งดี การมีชุมชนกัลยาณมิตรล้อมรอบตัวเราที่เอื้อให้เราไม่หลงติดกับดักของบริโภคนิยมเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่ครอบครัว ละแวกบ้าน ชุมชน ไปถึงสังคมวงกว้าง ประการหลังนี้สำคัญมาก เพราะเวลานี้สังคมทั้งสังคมกำลังหล่อหลอมเราให้เราลุ่มหลงกับบริโภคนิยม มีการโฆษณาและสิ่งยั่วยุมากมายโดยผ่านสื่อ ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปสื่อมวลชนเพื่อที่จะไม่ให้อำนาจเงินมามีอิทธิพลมากเกินไป เพราะเวลานี้ใครมีเงินก็โฆษณาได้ และการโฆษณาก็มีผลต่อจิตใจของผู้คน เด็กตอนนี้กำลังน่าเป็นห่วงมาก เพราะว่าตกอยู่ภายใต้ของอำนาจของการโฆษณามาก เริ่มตั้งแต่ยังเป็นทารกทีเดียว อาตมาไม่มีเวลามากพอที่จะพูดถึงเรื่องการปฏิรูปสังคมให้เอื้อต่อการเป็นอิสระจากบริโภคนิยม แต่ว่าท่านที่สนใจสามารถหาอ่านได้จากบทความของอาตมาที่พิมพ์ในสูจิบัตร ฟื้นฟูพุทธศาสนาให้มีพลัง ประการที่ ๒ คือ พุทธศาสนาขาดพลังดึงดูดหรือแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาหาชีวิตที่เรียบง่าย และเข้าถึงความสุขภายใน ตอนนี้พุทธศาสนากับบริโภคนิยมกำลังอยู่เคียงคู่กัน แต่ถ้าถามผู้คนว่าระหว่างสองสิ่งนี้จะเลือกอะไร คนส่วนใหญ่เลือกบริโภคนิยม เห็นได้ว่า คนเข้าห้างมากกว่าเข้าวัด คนดูหนัง ฟังเพลง ไปชมคอนเสิร์ตมากกว่าไปนั่งสมาธิเพราะอะไร ส่วนหนึ่งก็เพราะพุทธศาสนาปัจจุบันขาดแรงดึงดูดหรือพลังบันดาลใจที่จะทำให้คนเข้าหาชีวิตที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความสุขภายใน ถ้าพูดรวม ๆ ก็คือว่า พุทธศาสนาเวลานี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของคนสมัยใหม่ได้ คำว่าจิตวิญญาณในที่นี้หมายถึงส่วนลึกในจิตใจ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตน เสน่ห์ที่สำคัญที่สุดของบริโภคนิยมเสน่ห์ก็คือ มันให้สัญญาว่าสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจส่วนลึก หรือความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คนได้ อาตมาได้กล่าวแล้วว่าคนเราไม่ได้ต้องการแค่ความสะดวกสบาย แม้มีความสะดวกสบายแล้ว เรายังต้องการสิ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น ได้แก่ความมั่นคงทางจิตใจ บริโภคนิยมให้ความมั่นคงทางจิตใจแก่ผู้คนได้ เริ่มตั้งแต่การทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามีวัตถุเป็นหลักประกันในชีวิต คนเราพอมีวัตถุเป็นหลักประกันแล้วจะรู้สึกมั่นคง เวลาเราเดินทางไปไหน ถ้าไม่มีเงินติดตัวเลย จะให้ความรู้สึกต่างกับเวลามีเงินในกระเป๋า ๒๐๐ บาท เงินทำให้เรารู้สึกมั่นใจหรือมั่นคง วัตถุก็เช่นกัน อันนี้พูดถึงคนทั่วไป นี่คือเสน่ห์ของบริโภคนิยมมันทำให้เราเกิดความมั่นคงในจิตใจ ขับรถซูบารุกับขับรถเบนซ์ให้ความมั่นคงด้านจิตใจต่างกันเยอะ สะพายกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ ให้ความรู้สึกมั่นใจต่างกับเวลาสะพายกระเป๋าไร้ยี่ห้อหรือใส่นาฬิกาเรือนละ ๒๐๐ บริโภคนิยมให้ความมั่นคงด้านจิตใจในแง่นี้ ประการที่ ๒ มันทำให้รู้สึกชีวิตมีคุณค่า และมีเป้าหมาย คนสมัยนี้ไม่รู้ว่าชีวิตมีเป้าหมายอะไร ก็อยู่กันไปแบบหลักลอย แต่พอมีเป้าหมายว่า อายุ ๒๕ ฉันต้องออกรถให้ได้ อายุ ๓๕ ฉันจะมีบ้านให้ได้ ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปเลย เพราะชีวิตมีเป้าหมายชัดเจน การเรียนมีเป้าหมาย จึงไม่รู้สึกหลักลอยอีกต่อไป บริโภคนิยมทำให้ชีวิตมีเป้าหมายแจ่มชัด ๒๕ ปีมีรถ ๓๕ ปีมีบ้าน ๔๐ ปีเป็นเศรษฐี ๑๐๐ล้าน จุดหมายชัดมาก คนก็เลยเข้าหาบริโภคนิยม เพราะมันทำให้ชีวิตมีเป้าหมายและรู้สึกมีความหมายขึ้นมา มีเงินร้อยล้านหรือเป็นผู้จัดการ ใคร ๆ ก็ รู้สึกว่ามีคุณค่ากว่าภารโรง เคยมีคนถามหมอว่า ถ้ามีคนป่วยหนัก หัวใจหยุดเต้น ๒ คน คนหนึ่งเป็นเศรษฐี ๑๐๐ ล้าน อีกคนเป็นภารโรง ถ้าจะต้องปั๊มหัวใจ หมอจะปั๊มใครก่อน ส่วนใหญ่จะตอบว่าปั๊มเศรษฐี ๑๐๐ ล้านก่อน หมอจะช่วยเขาทุกวิธีถึงแม้ว่าโอกาสรอดมีแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นภารโรง โอกาสรอดแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน หมอกลับไม่คิดจะรักษา เพราะว่าเปอร์เซ็นต์มันน้อยให้ไปตายที่บ้านดีกว่า อันนี้อาตมาไม่ได้พูดแต่หมอพูดเอง คุณค่าของชีวิตมันต่างกันระหว่างเศรษฐี๑๐๐ล้านกับภารโรง บริโภคนิยมทำให้คนรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่าถ้าคุณมีเงิน ประการที่ ๓ บริโภคนิยมให้สัญญาว่า คุณสามารถจะมีตัวตนใหม่ได้อย่างง่ายดาย คนเราลึก ๆ ต้องการมีตัวตนใหม่ เรามักไม่พอใจในตัวตนที่เป็นอยู่ เราต้องการมีตัวตนใหม่ คือ เท่ ทันสมัย มาดมั่น เป็นผู้ชนะ หรือว่ามีรูปร่างที่สวยกว่าเดิม บริโภคนิยมบอกว่าง่าย แค่ใส่รองเท้ายี่ห้อนี้ ใช้โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ ตัวตนใหม่เกิดขึ้นเลย คุณจะเดินได้อย่างสง่าผ่าเผย อันนี้มันตอบสนองความต้องการทางจิตใจของคนที่ต้องการมีตัวตนใหม่ ซึ่งต่างจากสมัยก่อน สมัยก่อนถ้าจะมีตัวตนใหม่คุณต้องบำเพ็ญสมาธิภาวนา คุณต้องไปบวช การบวชพระคือการเปลี่ยนตัวตนใหม่ มีชื่อใหม่ มีพ่อคนใหม่ มีครอบครัวใหม่ นี่คือการเปลี่ยนตัวตนซึ่งต้องอาศัยความเพียร ต้องอาศัยการลงทุนลงแรง แต่บริโภคนิยมบอกว่าไม่ต้องลำบากอย่างนั้นหรอก มีวิธีที่ง่ายกว่า คุณก็แค่ซื้อของยี่ห้อนี้ใช้ของยี่ห้อนั้นคุณก็เป็นคนใหม่แล้ว นี่คือเสน่ห์ของบริโภคนิยมที่ดึงดูดใจผู้คน ประการสุดท้ายคือ บริโภคนิยมทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืน คนเราลึก ๆ ไม่ได้กลัวตาย แต่กลัวตัวตนขาดสูญ ถ้าตายแล้วตัวตนไม่ขาดสูญก็ไม่กลัวตาย คนสมัยก่อนไม่ค่อยกลัวตาย เพราะเชื่อว่าตายแล้วจะไปเกิดในสวรรค์ ตายแล้วจะไปอยู่กับพระเจ้า คนสมัยก่อนมีความเชื่อแบบนี้เลยไม่ค่อยกลัวตายกันเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้เรากลัวตายกันมาก เพราะเราไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน เรากลัวว่าตายไปแล้วตัวตนจะดับสูญไปเลย เพราะไม่เชื่อว่ามีสวรรค์ข้างหน้า แต่บางยุคบางสมัยผู้คนก็ไม่กลัวตาย ถ้าหากว่าได้รับการยืนยันว่าตัวตายแต่ชื่อยัง เช่น ถ้าตายเพื่อประเทศชาติแล้วจะมีอนุสาวรีย์ให้ ตายแล้วจะมีชื่อในประวัติศาสตร์ ตายแล้วจะมีคนตั้งชื่อถนนตามชื่อของตัว คนก็พร้อมจะตาย ไม่กลัวตาย เพราะเชื่อว่าตัวตายแต่ชื่อยัง ตายแต่ตัว แต่ว่าชื่อกลายเป็นอัตตาตัวตนอย่างใหม่ที่สืบเนื่องต่อไป คนก็ยอมตายได้ แต่ปัจจุบันความคิดแบบนี้คนก็ไม่ค่อยเชื่อแล้ว ไม่รู้ว่าจะตายไปทำไม แต่ว่าบริโภคนิยมเสนอทางออกใหม่ว่า ถ้าคุณมีวัตถุมาก ๆตัวตนของคุณยิ่งมั่นคงและยั่งยืน การเอาตัวตนไปผูกติดกับวัตถุที่มันเป็นรูปธรรม เช่น เป็นบ้าน เป็นตึก เป็นอาคาร เป็นที่ดิน ลึก ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีตัวตนที่มั่นคงมากขึ้นและยั่งยืนด้วย ตายไปแล้วตึกก็ยังอยู่ยั่งยืน เป็นต้น คำตอบแบบนี้ทำให้บริโภคนิยมมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คน ก่อนที่จะมีบริโภคนิยม ศาสนาทุกศาสนาจะว่าไปแล้วทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณหรือสร้างความมั่นคงให้แก่จิตใจ เริ่มจากการนับถือพระเจ้า หรือรับเอาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนามาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ต่อมาก็ให้ทำความดีสร้างบุญกุศล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะแคล้วคลาดจากอันตราย ขั้นต่อมาก็คือการมีสวรรค์ มีพระเจ้า หรือนิพพานเป็นจุดหมายของชีวิต รวมทั้งการฝึกหัดขัดเกลาหรือปฏิบัติธรรม เพื่อยกระดับตัวตนให้สูงยิ่งขึ้น พุทธศาสนามีความสำคัญตรงนี้ เพราะพุทธศาสนาก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือชี้ให้เราเป็นอิสระจากเรื่องตัวตน เพราะตัวตนแท้จริงหามีไม่ ผู้ที่เข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดย่อมหมดสิ้นความปรารถนาที่จะมีตัวตนที่มั่นคงและยั่งยืนอีกต่อไป ถึงที่สุดแล้วพุทธศาสนาสอนให้เราหลุดพ้นจากเรื่องของตัวตน ภวตัณหาไม่มีที่ตั้ง เมื่อรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงไม่มี แต่ระยะหลังศาสนาทุกศาสนารวมทั้งพุทธศาสนาเริ่มอ่อนแรง และไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คนได้ ตรงนี้เป็นช่องว่างให้บริโภคนิยมเข้ามา บริโภคนิยมเข้ามาทำหน้าที่แทนศาสนาด้วยการให้หลักประกันว่าสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องตัวตนได้ แต่ที่จริงเป็นการตอบสนองแค่ชั่วคราว อย่างไรก็ตามแม้จะตอบสนองแค่ชั่วคราว แต่เนื่องจากมันสามารถตอบสนองความต้องการส่วนลึกได้อยู่ ผู้คนก็เลยเอาบริโภคนิยมเป็นสรณะ มองในแง่นี้บริโภคนิยมจึงเป็นศาสนาอย่างหนึ่ง บริโภคนิยมมีพิธีกรรม มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรมของบริโภคนิยมคือ วันเสาร์ อาทิตย์ ก็ไปเที่ยวห้าง วาเลนไทน์ก็ไปซื้อกุหลาบ ซื้อช็อคโกแลต หรือไม่ก็ไปเที่ยวคอนเสิร์ต ถึงวันคริสต์มาสก็ไปซื้อของขวัญ พอเทศกาลปีใหม่มาถึงก็ซื้อของขวัญ นี่คือพิธีกรรมในยุคบริโภคนิยมใช่ไหม เทศกาลปีใหม่มาแล้วแต่ไม่ซื้ออะไรเลยจะรู้สึกประหลาด ๆ พิกล บริโภคนิยมเป็นศาสนาที่ตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ แต่ว่าตอบสนองได้ชั่วคราวเท่านั้นเอง ตรงนี้เองที่เป็นบทบาทของพุทธศาสนา พุทธศาสนาจะดึงคนออกจากบริโภคนิยมได้ต่อเมื่อตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณของผู้คนได้ ตอบสนองได้อย่างไร ก็ต้องรื้อฟื้นเรื่องของปรมัตถธรรมขึ้นมา คือหนทางแห่งความเป็นอิสระทางจิตใจ การเข้าถึงอุดมคติของชีวิตที่พ้นจากวัตถุ นี้คือหัวใจของปรมัตถธรรม ซึ่งเอื้อชีวิตที่เป็นอิสระจากวัตถุ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ รวมทั้งความผันผวนปรวนแปรของชีวิตและโลก ตรงนี้สถาบันสงฆ์สามารถมีบทบาทได้มาก สถาบันสงฆ์สามารถจะทำให้คนหลุดจากบริโภคนิยมได้ ถ้าหากว่าพระสงฆ์สามารถรื้อฟื้นสมาธิภาวนาและปรมัตถธรรมขึ้นมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คน และสามารถนำพาผู้คนให้เข้าถึงความสุขทางจิตใจ ความสุขจากการเป็นอิสระจากวัตถุ แต่จะทำเช่นนี้ได้ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาและการปกครองคณะสงฆ์อย่างมาก ซึ่งอาตมาไม่มี่เวลาที่จะพูด แต่ถ้าหากว่าพระสงฆ์เป็นกำลังสำคัญ โดยมีพุทธบริษัทอีก ๓ ฝ่ายเข้ามาช่วยในการทำให้ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่อาตมาได้พูดไป กลับมามีความหมายต่อสังคม ก็จะเป็นคำตอบให้ผู้คนพบทางออกจากบริโภคนิยมได้ ถึงที่สุดแล้วสิ่งที่จะทำให้ผู้คนออกจากบริโภคนิยมได้คือการมีปัญญา ปัญญาจากสมาธิภาวนา จนก้าวข้ามปัญหาตัวตนได้ คือรู้ว่าตัวกูของกู หรือสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนแท้จริงหามีไม่ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตนให้ยึดถือได้ การประจักษ์ชัดซึ่งความจริงดังกล่าวนี้เอง จะทำให้หลุดพ้นจากเรื่องตัวตน และบังเกิดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง อาตมาอยากจะสรุปอย่างนี้ว่า บริโภคนิยมแม้จะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็มีโทษมหันต์ ยิ่งแพร่หลายไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งบั่นทอนชีวิต สังคม และธรรมชาติมากเท่านั้น มันไม่เพียงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังก่อปัญหาสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างความทุกข์แก่จิตใจจนกำลังนำโลกไปสู่วิกฤติ การรู้เท่าทันบริโภคนิยมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หวังความเจริญงอกงามในชีวิต ขณะเดียวกันก็ต้องมีการฝึกฝนตนทั้งในทางจิต และพฤติกรรมเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อบริโภคนิยม และควรมีชุมชนแวดล้อมที่เกื้อกูลเพื่อช่วยกันสร้างสังคมนั้นให้เข้มแข็ง เพื่อต้านทานและลดทอนพิษภัยของบริโภคนิยม แต่สำหรับชาวพุทธ การปฏิรูปหรือฟื้นฟูพุทธศาสนาให้เข้มแข็งเพื่อนำพาผู้คนให้เป็นอิสระจากบริโภคนิยมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ ทั้งนี้ด้วยการปฏิรูปใน ๓ประการคือ บุคคล สังคม และพุทธศาสนา ด้วยการปฏิรูปทั้ง ๓ ประการนี้เท่านั้น วิถีพุทธวิถีไทยในยุคบริโภคนิยมจึงจะเกิดเป็นจริงได้ อาตมาก็ใช้เวลามามากพอสมควรแล้ว ก็ขอยุติการแสดงปาฐกถาแต่เพียงเท่านี้ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|