เสขิยธรรม
พุทธศาสนาในโลกกว้าง |
|
หายไปที่ญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อปลายเดือนก่อน พระไพศาล วิสาโล เริ่มถอนหายใจมาให้เราได้ฟังกันเล็กน้อย นัยว่าจะเขียนมาเพิ่มเติมอีก อนึ่ง ปรีดา เรืองวิชาธร ที่ติดตามไปด้วยในภารกิจเพื่อหาทางสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มที่ช่วยเหลือชาวไทยในญี่ปุ่นครั้งนี้คงจะได้เขียนมาเล่าสู่กันในฉบับหน้าเช่นกัน การเดินทางมาญี่ปุ่นครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักคือ สำรวจหาความเป็นไปได้ในการที่พระไทยจะมาทำงานช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่น ซึ่งเชื่อว่ามากกว่าร้อยละ ๘๐ อยู่และทำงานอย่างผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะใช้โอกาสนี้ช่วยเหลือคนไทยไปด้วยในตัว โดยเน้นหนักการสงเคราะห์ทางด้านจิตใจ อาทิเช่น การเยี่ยมเยียนผู้ต้องหาและผู้ป่วยในโรงพยาบาล การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งงานมงคลและอวมงคล ซึ่งเป็นหน้าที่ตามประเพณีของพระไทยอยู่แล้ว ในการสำรวจหาความเป็นไปได้สำหรับบทบาทของพระนั้น จะพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น ความพร้อมของคนไทยในการที่จะอุปถัมภ์พระ เมืองและสถานที่ที่พระจะอยู่ เงื่อนไขทางด้านกฎหมายเครือข่ายสนับสนุนทั้งของฝ่ายไทยและญี่ปุ่น ตลอดจนเงื่อนไขที่จะเอื้อให้พระทำงานในญี่ปุ่นได้โดยไม่เกิดผลเสียต่อชีวิตด้านในและภาพพจน์ภายนอก จากประสบการณ์ในญี่ปุ่นเมื่อ ๒ ปีก่อน ทำให้เชื่อว่าปัญหาของคนไทยในญี่ปุ่นนั้นไม่อาจจะแก้ไขได้ หากปราศจากการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ที่ผ่านมาจะมีองค์กรและคนญี่ปุ่นเข้ามาช่วยเหลือคนไทยในหลายด้าน แต่ก็ไม่เพียงพอ อีกทั้งยังมีอุปสรรคหลายอย่างโดยเฉพาะในด้านภาษา อย่างไรก็ตาม การที่คนไทยจะรวมกลุ่มกันนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่อย่างผิดกฎหมาย จึงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ แม้แต่งานศพเพื่อนคนไทยด้วยกัน ก็ไม่ค่อยอยากจะมาร่วมพิธีศพ เพราะกลัวตำรวจ (ตม.) จะจับ ในสภาพเช่นนี้ พบว่าพระสามารถจะก่อให้เกิดการรวมกลุ่มได้ โดยอาศัยพิธีกรรม เช่น การทำบุญเลี้ยงพระ คนไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อรู้ว่ามีพระผ่านมาที่เมืองของตน จะดีใจเพราะจะได้ทำบุญ และยินดีที่จะมาร่วมงาน ดังนั้นจึงเชื่อว่าการมีพระมาอยู่ในญี่ปุ่นจะเป็นเงื่อนไขให้คนไทย ออกมา พบปะกัน และหากพระท่านอยู่นานพอ ก็จะเอื้อในคนไทยรวมกลุ่มกัน และสามารถช่วยเหลือกันเองได้ โดยที่พระไม่จำเป็นต้องลงไปทำเอง ซึ่งหลายเรื่องอาจจะไม่เหมาะ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหญิงขายบริการทางเพศโดยตรง เมื่อมาถึงญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังไม่มีกำหนดการแน่ชัดว่าจะไปไหนบ้าง รู้แต่เพียงว่าจะเริ่มต้นพบปะคนไทยในจังหวัดนากาโน ซึ่งมีคนไทยอยู่ชุกชุม และเป็นจังหวัดที่หมออิโรฮิร่าทำงานอยู่ ต่อจากนั้นจะไปไหน ก็ยังไม่ชัดเจน ยิ่งกว่านั้นยังไม่ทันจะเดินทางก็มีปัญหาความแตกต่างทางความคิดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการมาญี่ปุ่นคราวนี้ อาซามิเสนอว่าควรใช้ระยะเวลา ๒ เดือนนี้สร้างเครือข่ายหรือรวมกลุ่มคนไทยเลย แทนที่จะเพียงแค่สำรวจอย่างกว้างๆ ปัญหาก็คือ ถ้าจะทำเช่นนั้นก็ต้องอยู่เป็นที่นานหน่อย ไม่ใช่เดินทางไปหลายๆ ที่อย่างที่เคยคิดกัน แต่ว่าจนบัดนี้ก็ยังไม่มีที่ไหนที่อาตมาสามารถอยู่เป็นที่ได้นานเป็นอาทิตย์ แม้แต่ที่นากาโน่ด้วยเหตุนี้ จึงต้องคงแผนเดิม คือสำรวจความเป็นไปได้ตามจุดต่างๆ ที่มีคนไทยชุมนุมกันอยู่ จังหวัดนาการโน่และยามานาชิ (๓ ๑๕ เมษายน) ในช่วง ๒ อาทิตย์แรก ได้ไปเยือน ๔ เมืองใน ๒ จังหวัด คือซากุ โดโมโร่ อูเอดะ (จ.นาการโน่) และโคฝุ (จ.ยามานาชิ) เมืองที่สามารถทำงานได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันคือโคผุ เนื่องจากมีองค์กรญี่ปุ่นและคนไทยทำงานประสานงานกันดี รองลงมาคืออูเอดะ โคฝุ จากคำบอกเล่าของคนไทยผู้หนึ่งในร้าน พริกหยวก อ้างข้อมูลของยากูซ่าว่ามีคนไทยในจังหวัดยามานาชิ ๕,๐๐๐ คน จำเพาะที่เมืองโคฝุซึ่งเป็นศูนย์กลาง (เปรียบเหมือนอำเภอเมือง) ของจังหวัดนี้มีคนไทยราวพันกว่าคน (เมืองโคฝุมีประชากร ๒ แสนคน) เมืองนี้น่าสนใจในแง่ที่ว่าได้รู้จักคนไทยบางคนที่มีจิตใจอยากช่วยคนไทย และสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ด้วย นอกจากนั้นยังมีสมาคมโอเอซิส ซึ่งช่วยคนไทยในหลายเรื่อง ที่สำเร็จจนเป็นข่าวดังคือนอกจากจะช่วยผู้หญิงคนไทยที่หนีจากร้านสแน็คแล้ว ยังฟ้องร้านนั้นข้อหาเอาเปรียบค่าแรง จนศาลต้องสั่งให้จ่ายเงินชดเชยทั้งๆ ที่กฎหมายแรงงานญี่ปุ่นไม่คุ้มครองครอบคลุมถึงหญิงบริการก็ตาม ตอนนี้ยังเป็นตัวแทนฟ้องโรงพยาบาล ๒ แห่งที่ไม่ยอมผ่าตัดหญิงไทย (ซึ่งกระโดดจากตึกเพื่อหนีพวกยากูซ่า) เพราะตรวจพบว่าเธอมีเชื่อ HIV เป็นเหตุให้เธอพิการตลอดชีวิต ที่เมืองนี้ยังมีพระญี่ปุ่นที่เห็นไทยคนไทยและพร้อมจะช่วย ล่าสุดก็เอื้อเฟื้อสถานที่จัดงานสงกรานต์เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน อูเอดะ
มีประชากร ๑ แสนคน ประมาณการว่าคนไทยมีประมาณ ๒๐๐ คน ครึ่งหนึ่งทำงานในโรงงานอีกครึ่งหนึ่งทำงานตามร้านอาหารและสแน็ค
มีร้านของคนไทยประมาณ ๑๐ ร้าน ทั้งร้านอาหาร ร้านขายของและร้านสแน็ค เมืองนี้มีองค์กรเอกชนชื่อ
เพื่อนเอเชีย เพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่ ๗ เมษายนโดยในโอกาสนี้ก็จัดพิธีแต่งงานคนไทย-ญี่ปุ่น
๒ คู่ไปพร้อมกัน ประธานองค์กรนี้มีภรรยาเป็นคนไทย ที่น่าสนใจคือทั้งสองเคยเปิดร้านสแน็คโดยมีหญิงบริการเป็นคนไทย
จึงรู้จักคนไทยในเมืองนี้มาก โคโมโร่ แต่ก่อนมีคนไทยชุกชุมมาก ทั้งเมืองมีประชากร ๔๕,๐๐๐ คน แต่มีคนไทย ๗๐๐ คน แต่เดี๋ยวนี้คนไทยลดลงมาก เพราะถูกตม.มากวาดจับไปหลายระลอก คาดว่าเหลือน้อยกว่าที่อูเอดะเสียอีก ที่นี่มีร้านอาหารไทย ๔ ร้าน แต่สแน็คมีเยอะกว่านั้น เมืองนี้ยังไม่รู้จักคนไทยที่พอจะช่วยงานกันได้ แต่มีชายญี่ปุ่นคือหมอโยโกดะ ซึ่งโดดเด่นในด้านการช่วยเหลือคนไทยอย่างสุดจิตสุดใจ จนถูกหักเงินเดือนเพราะลางานไปเมืองไทยบ่อยมาก นอกจากนั้นยังควักกระเป๋าตนเองหลายครั้งเพื่อพาผู้ป่วยเอดส์กลับเมืองไทย โคผุ อยู่ติดกับโคโมโร่ คนไทยที่ได้พบส่วนใหญ่ มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานที่ญี่ปุ่นแล้ว เข้าใจว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่าอีกแล้ว ได้พบคนไทยเหล่านี้เพราะมาเรียนภาษาญี่ปุ่นซึ่งองค์กรเอกชนที่นั่นจัดขึ้น แต่ยังมีมีโอกาสคุยกันอย่างจริงจัง แต่คนไทยบางคนที่ได้พบน่าจะมาเป็นกำลังในการช่วยคนไทยที่นี่ได้ ประเมินผล ๒ อาทิตย์แรก หลังจากขึ้นล่องระหว่างนากาโน่และยามานาชิหลายครั้ง พบว่า ละแวก นี้น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะมีองค์กรและชาวญี่ปุ่นที่ทำงานประสานกันเป็นเครือข่ายแน่นแฟ้นแล้ว ยังมีคนไทยหลายคนที่สามารถจะมาเป็นหลักในกลุ่มคนไทยได้ หลายคนจะมีลักษณะคล้ายกันคือมีสามีเป็นญี่ปุ่น ภาระทางการเงินมีน้อง และไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ อีกทั้งยังรู้ภาษาญี่ปุ่น และรู้จักคนไทยในเมืองของตนมากพอสมควร จึงสามารถเป็นผู้นำหรือผู้ประสานงานในเมืองของตนได้ ด้วยเหตุนี้หลังจากปรึกษากับคนญี่ปุ่นหลายคนที่ทำงานช่วยเหลือคนไทย จึงคิดว่าเราน่าจะพยายามสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายคนไทยใน ๒ จังหวัดนี้ให้ได้ในเวลาที่ยังเหลืออยู่ โดยให้เวลากับที่เมืองใดเมืองหนึ่งให้มากขึ้น หลังจากพิจารณาดูความเป็นไปได้แล้ว คิดว่าน่าจะกลับมาที่โคฝุโดยอยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง ที่ง่ายสำหรับคนไทยในเมืองนั้นจะติดต่อหรือมาหา แต่เนื่องจากมีนัดในเมืองอื่นไว้หลายงานด้วยกัน จึงสามารถกลับมาโคฝุได้เพียง ๗ ๑๐ วันเท่านั้น ส่วนที่โคโมโร่ ซากุ เออูดะนั้น เวลาที่อาตมาสามารถให้ได้ก็คือช่วงเดินธุดงค์ซึ่งเดิมตั้งใจว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่เมืองคามากูระ แต่เมื่อละแวกนากาโน่มีความสำคัญ ก็เปลี่ยนแผนมาเดินธุดงค์จากซากุไปเออูดะแทนโดยใช้เวลาประมาณ ๗ วัน ข้อสรุปดังกล่าวทำให้ต้องเปลี่ยนแผนค่อนข้างมาก เวลาที่จะให้กับการเยือนเมืองต่างๆ เช่น นาโกย่า เกียวโต ฮิโรชิม่า จึงมีน้อยลง สำหรับอนาคตนั้น ในชั้นนี้มีความเห็นว่าหลังจากอาตมากลับเมืองไทยแล้ว ควรจะมีพระไทยมาที่นี่ทุกปี แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่นาน แค่ ๓ เดือนก็พอ สำหรับค่าตั๋วเครื่องบินนั้น เฉพาะเงินบริจาคหรือเงินทำบุญที่ได้รับในครั้งนี้ก็เพียงพอสำหรับพระรุ่นต่อไป โดยไม่จำต้องพึ่งเงินรัฐบาลและองค์กรญี่ปุ่นอย่างครั้งนี้ ๑๘ เมย. ๓๙ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|