โพสต์ทูเดย์ มิถุนายน ๒๕๔๙ ทำไมจึงจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ดับไฟใต้ |
ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้เกิดจากกลุ่มบุคคลหรือขบวนการที่ต่อต้านรัฐโดยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือเท่านั้น หากยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งบ่มเพาะความคับแค้นใจและความเสื่อมศรัทธาเจ้าหน้าที่รัฐในหมู่ประชาชนท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา ศาสนา และประวัติศาสตร์ ซึ่งถูกผู้ก่อความไม่สงบยกเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การใช้ความรุนแรง ที่แล้วมาการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ ไม่สัมฤทธิผล ก็เพราะทั้งรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมองปัญหาชั้นเดียว โดยคิดแต่จะจัดการกับตัวบุคคลที่ก่อความไม่สงบ แต่ไม่ยอมมองให้ลึกไปถึงเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม และยิ่งนิยมใช้วิธีรุนแรงมากเท่าไร ก็ยิ่งตอกย้ำเงื่อนไขเหล่านั้นให้แน่นหนาฝังลึก ทำให้ปัญหาแก้ยากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) จึงพยายามกระตุ้นเตือนให้รัฐและสาธารณชนหันมาให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการจัดการกับตัวบุคคล โดยให้น้ำหนักกับสันติวิธีมากขึ้น ในรายงานของกอส. ซึ่งนำเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนไทยไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เสนอแนวทางเอาชนะความรุนแรงที่ให้ผลยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับเงื่อนไขด้านต่าง ๆ กล่าวคือ ในด้านเศรษฐกิจ จากข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนใน สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรายได้ต่อหัวประชากรต่ำกว่าจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้ ซ้ำยังต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยทั้งประเทศ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการกระจายรายได้ไม่เท่าเทียมกันสูงมาก ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นกอส.จึงเสนอให้มีการออกกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบการจัดการและระบบกรรมสิทธิ์ในที่ดินและทรัพยากร โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ เช่น ท้องน้ำ ทะเล ชายฝั่ง ป่าพรุ และป่าชุมชน โดยให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันก็ควรมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน เช่น ส่งเสริมการจ้างงานในภาคธุรกิจเอกชน ส่งเสริมการจ้างงานในประเทศมาเลเซียและในกลุ่มประเทศอาหรับ รวมทั้ง ปรับปรุงอาชีพของประชาชนโดยรัฐเป็นผู้ส่งเสริม เช่น งานเพาะปลูก งานปศุสัตว์ และงานหัตถกรรม และส่งเสริมการจ้างงานในภาคธุรกิจเอกชน ในด้านกระบวนการยุติธรรม รัฐควรสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชน ด้วยการดำเนินการตรวจสอบเหตุรุนแรงต่าง ๆ ให้ความจริงปรากฏ เช่น เหตุการณ์ ๑๙ ศพที่อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะกรณีดำเนินคดีกับผู้ประท้วงที่ตากใบ ๕๘ คน ที่สำคัญก็คือจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด เช่น มีบุคคลหลายฝ่ายเข้าร่วมในการสอบสวนคดีที่เกี่ยวกับความไม่สงบ แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว พัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์ในการจัดเก็บหลักฐาน จัดให้มีล่ามหรือทนายความที่เข้าใจภาษามลายูในการสื่อสารกับชาวไทยมุสลิมในทุกขั้นตอนของการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนั้นควรส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม เช่น พัฒนาบทบาทของผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนให้มีทักษะในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ และให้ความสำคัญกับบทบาทของอิหม่ามและมัสยิดในฐานะศูนย์รวมของชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือเยียวด้านความยุติธรรมแก่ประชาชน ในด้านการศึกษา แนวโน้มหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือความแตกแยกทางวัฒนธรรม ในลักษณะที่เด็กไทยพุทธและเด็กไทยมุสลิมแยกกันเรียนมากขึ้น ดังนั้นกอส.จึงเสนอให้มีการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนวิชาสามัญในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันก็จัดให้มีการสอนวิชาศาสนาหรืออิสลามศึกษาให้เข้มข้นขึ้นในโรงเรียนของรัฐบาล ส่งเสริมการจัดการศึกษาของชุมชนท้องถิ่น เช่น ตาดีกาและปอเนาะ รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่บูรณาการทั้งด้านสามัญและอิสลามศึกษาทุกระดับชั้น ทั้งในโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มาตรการอื่น ๆ ที่ควรจัดทำขึ้นได้แก่ การสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาในพื้นที่โดยรัฐบาลและคณะกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดร่วมกันพัฒนาโรงเรียนต้นแบบเป็นแบบ รวมทั้งพัฒนาสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ ทั้งที่มีอยู่แล้วและจะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ โดยคำนึงถึงคุณภาพเป็นสำคัญ สำหรับเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่อาจถูกใช้เพื่อสร้างความรุนแรงนั้น กอส.เสนอว่าควรมีมาตรการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยกระทรวงศึกษาจัดให้มีการปฏิรูปการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ และเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติอย่างภาคภูมิ และใช้สื่อสาธารณะโดยเฉพาะสื่อมวลชนของรัฐทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่นเพื่อให้การศึกษาแก่สังคมไทยในเรื่องความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรม นอกจากนั้นควรมีการประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานอีกภาษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ให้เอกสารราชการที่ใช้ในพื้นที่มีทั้งภาษาไทยและภาษามลายู เขียนป้ายในสถผนที่ราชการ ชื่อถนน ชื่อหมู่บ้าน ด้วยอักษรยาวี มีล่ามสองภาษาในสถานที่ราชการ และจัดการเรียนการสอนภาษามลายูตามความต้องการของข้าราชการในพื้นที่ และที่มองข้ามไม่ได้ก็คือการสานเสวนาระหว่างผู้นำศาสนาเพื่อความสมานฉันท์ เพื่อตอกย้ำว่าทุกศาสนาปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา และความแตกต่างทางศาสนามิใช่สาเหตุแห่งความรุนแรง พร้อมกันนั้นรัฐควรมีมาตรการส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย โดยมีระบบการศึกษาและสื่อมวลชนเป็นกลไกสนับสนุน ข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นไปได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารยุทธศาสตร์อย่างเป็นเอกภาพและอย่างยั่งยืน โดยไม่ขึ้นอยู่กับความผันผวนทางการเมือง ดังนั้นกอส.จึงเสนอให้มีการออก พระราชบัญญัติสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบัญญัติให้มีการตั้งองค์กรต่อไปนี้ ๑. ศูนย์อำนวยการยุทธศาสตร์สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศยส.)ทั้งนี้ผู้อำนวยการมาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการ มีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ ๔ปี คณะกรรมการศูนย์ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนต่าง ๆ ของภาครัฐ และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนในพื้นที่เป็นกรรมการอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ศยส.มีหน้าที่สร้างความเป็นเอกภาพในยุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในระดับนโยบาย ระดับบังคับบัญชา และระดับปฏิบัติ สามารถเสนอแนะให้โยกย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่ และมีอำนาจระงับยับยั้งนโยบายหรือการกระทำจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ขัดกับยุทธศาสตร์ของศยส. ๒ สภาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคัดเลือกและแต่งตั้งจากผู้นำทางศาสนา ผู้นำชุมชน นักวิชาการในท้องถิ่น และกรรมการจากตัวแทนอาชีพ มีหน้าที่เสนอแนะต่อศยส. รัฐสภา และคณะรัฐมนตรีในการกำหนดนโยบายการพัฒนาการศึกษา สังคม เศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและศาสนธรรม ๓.กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ มีหน้าที่ให้การสนับสนุนผู้นำทางศาสนาและผู้นำชุมชนในการเยียวยาผู้ตกทุกข์ได้ยาก และสร้างความสมานฉันท์โดยผ่านสถาบันในชุมชน นึน วัด มัสยิด โรงเรียน ปอเนาะ รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชน ข้อเสนอเหล่านี้แม้จะผ่านการศึกษาวิจัยและอภิปรายถกเถียงมาตลอดหนึ่งปีของกอส. แต่ไม่ควรถือว่าเป็นคำตอบสำเร็จรูปในการดับไฟใต้ มีอีกสองขั้นตอนที่สำคัญก็คือการพิจารณาไตร่ตรองโดยประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ และการนำข้อสรุปไปปฏิบัติโดยภาครัฐ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าขั้นตอนสุดท้ายนั้นมีความสำคัญที่สุด แต่จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยฉันทานุมัติและแรงกดดันจากภาคประชาชนด้วย วันนี้กอส.กำลังจะยุติบทบาทแล้ว แต่ภารกิจของประชาชนไทยในการดับไฟใต้ยังดำรงอยู่ เส้นทางสู่สันติสุขที่ยั่งยืนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังยาวไกล แต่ไม่เกินภูมิปัญญาและความสามารถของประชาชนไทย ข้อสำคัญคือรัฐบาลจะต้องเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนด้วยความจริงใจในการแก้ปัญหาและมีทัศนะที่ยาวไกล ถึงตอนนี้ก็ได้แต่หวังว่าสัญญาณดังกล่าวจะส่งออกมาชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|