|
|
หากจะพูดถึงศตวรรษที่ ๒๐ ด้วยถ้อยคำที่กระชับที่สุด คงไม่มีคำพูดใดชัดเจนไปกว่าคำของเยฮูดิ เมนูฮิน นักดนตรีนามอุโฆษชาวอังกฤษ ซึ่งกล่าวว่า (ศตวรรษนี้)ได้สร้างความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษยชาติเคยวาดหวังมา (ขณะเดียวกัน) มันก็ได้ทำลายมายาภาพและอุดมคติทั้งมวลจนหมดสิ้น ศตวรรษที่ ๒๐ เริ่มต้นด้วยความหวังว่าโลกนี้จะมีสันติภาพที่ยั่งยืน แต่แล้วสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็อุบัติขึ้น แม้กระนั้นก็ยังมีความเชื่ออย่างกว้างขวางว่า นั่นคือสงครามซึ่ง ยุติสงครามทั้งมวล แต่ผ่านไปเพียง ๒ ทศวรรษเท่านั้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็เกิดขึ้น ตามมาด้วยสงครามเย็นและสงครามตัวแทนระหว่างสองมหาอำนาจซึ่งเกิดขึ้นทุกมุมโลก เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็ยังเชื่อกันว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นในที่สุด และ อวสานของประวัติศาสตร์อยู่แค่เอื้อมเท่านั้น แต่แล้วความหวังนั้นก็พังพินาศ เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองในคาบสมุทรบัลข่านและอีกหลายประเทศทั้งในเอเชียและอาฟริกาจนกระทั่งทุกวันนี้ ศตวรรษที่แล้วเป็นศตวรรษที่นองไปด้วยเลือด ระหว่างปี ๑๙๐๐-๑๙๘๙ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงครามเย็น มีคนถึง ๘๖ ล้านคนตายไปในสงครามต่าง ๆ ยังไม่นับอีก ๔๘ ล้านคนซึ่งตายด้วยน้ำมือของรัฐบาลของตน (รวมทั้งรัฐบาลที่นำโดยสตาลิน เหมาและพลพต) หลายส่วนในจำนวนนั้นตายเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเกิดขึ้น ทั้งในยุโรป อาฟริกา และเอเชีย ศตวรรษที่ ๒๑ ดูเหมือนจะไม่ได้ดีไปกว่าศตวรรษที่แล้วมากนัก เพราะขึ้นศตวรรษใหม่ได้แค่ปีเดียว สงครามอย่างใหม่อันได้แก่ การก่อการร้ายระหว่างประเทศ ก็ระเบิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ และจุดชนวนให้เกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งลามไปสู่ทุกมุมโลก ทั้งนี้ยังไม่ได้พูดถึงสงครามกลางเมืองและการรบพุ่งซึ่งเกิดขึ้นกับ ๓๐ ประเทศ หรือ ๑ ใน ๘ ของประเทศทั่วโลก ซึ่งมีประชากรรวมแล้วถึง ๒,๓๐๐ ล้านคน กล่าวอีกนัยหนึ่ง เวลานี้มีประชากร ๑ ใน ๓ ของโลกกำลังอยู่ในภาวะสงคราม ๒ สงครามและความรุนแรงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจส่วนบุคคลของผู้นำประเทศเท่านั้น หากยังเป็นผลจากแรงผลักดันของคนในชาติ หรือเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของพลเมืองในประเทศ สงครามที่สวนทางกับความปรารถนาของคนในชาติย่อมยากที่จะเกิดขึ้นได้ ในทางตรงข้ามสงครามทั้งหลายดำเนินไปได้เป็นเวลาหลายปีหรือนานนับทศวรรษ ก็เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากคนในประเทศ หรืออย่างน้อยผู้คนก็ไม่ได้ขัดขืนที่จะแบกรับภาระจากสงคราม ไม่ว่าในทางวัตถุ ทางกาย หรือจิตใจ สิ่งที่ผลักดันหรือหล่อหลอมให้คนจำนวนมากสนับสนุนสงคราม ย่อมมีมากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง หรือกลไกทางการเมืองที่สามารถระดมมวลชนให้คล้อยตามผู้นำที่พาประเทศเข้าสู่สงคราม สิ่งที่ลึกลงไปกว่านั้นที่ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อและกลไกทางการเมืองบรรลุผลได้ ก็คือ วัฒนธรรม ซึ่งรวมไปถึงสำนึกร่วม คุณค่า ความเชื่อ และทัศนคติที่ผู้คนในประเทศยึดถือร่วมกัน ส่วนเสี้ยวของวัฒนธรรมที่สนับสนุนความรุนแรง หรือผลักดันให้ผู้คนเห็นความรุนแรงเป็นทางออก นี้เองที่ทำให้สงครามเกิดขึ้นได้ในระดับประเทศ เราอาจเรียกวัฒนธรรมส่วนนี้ว่า เป็น วัฒนธรรมแห่งความรุนแรง องค์ประกอบของวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง การถือตัวถือตนว่าสูงหรือเหนือกว่าผู้อื่น เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมอดไม่ได้ที่จะเหยียดอีกฝ่ายหนึ่งให้ต่ำกว่า แต่ไม่มีอะไรที่อันตรายเท่ากับการถือตัวว่า เป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงกว่า หรือประเสริฐกว่า เพราะนั่นจะทำให้ผู้ที่อยู่คนละฝ่ายถูกประทับตราไปในทันทีว่า เป็นผู้ที่ชั่วร้ายต่ำทราม อะไรก็ตามเมื่อถูกตราว่า ชั่วร้ายแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ หากสมควรที่จะถูกขจัดออกไป ความรุนแรงที่กระทำกับคนเหล่านั้นกลายเป็นความชอบธรรมขึ้นมาทันที อัตลักษณ์นั้นในด้านหนึ่งช่วยทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันในหมู่ผู้ที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้มีอัตลักษณ์ต่างจากตน ถูกกีดกันออกไป กลายเป็นคนละพวก จนอาจถึงขั้นกลายเป็นปรปักษ์กัน ความเป็นปฏิปักษ์นี้จะรุนแรงเข้มข้นมากหากเกิดความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราขึ้นมาว่า ฉันดี แกชั่ว เชื้อชาติ ผิวสี ภาษา อาจทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวได้ แต่ก็ไม่มากเท่ากับศาสนา ไม่ว่าต่างศาสนาหรือต่างนิกายก็ตาม การปฏิบัติศาสนายิ่งเคร่งมากเท่าไร ก็ยิ่งเสริมความรู้สึกว่า ฉันเป็นคนดี มากเท่านั้น และเห็นคนที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางของตัว เป็นคนชั่วมากขึ้นตามไปด้วย ในยุคสงครามเย็นนั้น คำถามสำคัญก็คือ คุณอยู่ข้างใคร? แต่ในยุคปัจจุบัน คำถามที่สำคัญกว่าคือ คุณเป็นใคร ? คุณเป็นคนผิวสีอะไร เป็นคนชาติไหน เป็นคนศาสนาอะไร อัตลักษณ์เหล่านี้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมือง ที่กำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ขณะเดียวกันก็เป็นพลังสำคัญในการระดมทรัพยากรทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนประเทศ(หรือชุมชนทางการเมือง)ให้ไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ในอดีต(ตามที่เชื่อกัน)ให้กลับคืนมา แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นควบคู่กันก็คือการสร้างภาพอีกฝ่ายหนึ่ง(ที่มีอัตลักษณ์ต่างกัน)ให้เป็นศัตรู หรือเป็นต้นตอแห่งความเสื่อมทรามและปัญหาทั้งมวลที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับที่ชาวยิวเคยถูกตราหน้าว่าเป็นตัวการแห่งความเลวร้ายทั้งปวงในประเทศเยอรมนี การมีศัตรูอยู่ข้างนอก ยังทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหมู่พวกเดียวกันได้ง่ายขึ้น การเมืองที่ชูเรื่องอัตลักษณ์ จึงเป็นตัวบ่มเพาะความเกลียดชังและแพร่ความรุนแรงให้ระบาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทั้งนี้โดยวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงที่มีอยู่เดิม (โดยเฉพาะความถือตัวถือตนว่าสูงกว่าหรือดีกว่า) เป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำวัฒนธรรมดังกล่าวให้มั่นคงแน่นหนาขึ้น นอกจากความถือตัวถือตนว่าสูงกว่า(ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่ามานะ)แล้ว องค์ประกอบที่สองของวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงก็คือ การยึดติดในความคิดความเชื่อหรือลัทธิอุดมการณ์ (ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ) ความยึดติดดังกล่าวหากมีมากชนิดฝังหัวสามารถทำให้ผู้คนยอมทำทุกอย่างเพื่อความเชื่อหรือลัทธิอุดมการณ์นั้น แม้ว่าตัวเองจะต้องตาย หรือทำให้ผู้อื่นตายก็ตาม ในด้านหนึ่งเราจึงเห็นการสละชีวิตราวใบไม้ร่วงเพื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย จีน เวียดนาม กัมพูชา แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็เห็นการสังหารผู้คนนับไม่ถ้วนในประเทศเหล่านั้นเนื่องจากขัดขวางความก้าวหน้าของลัทธิดังกล่าว (อย่างน้อยก็จากมุมมองของผู้นำในประเทศดังกล่าว) ๔ แม้ลัทธิคอมมิวนิสต์จะล่มสลายไปเกือบหมดแล้ว แต่ก็มีลัทธิอุดมการณ์อื่น ๆ ที่เข้ามาครอบงำจิตใจของผู้คนแทน จนนำไปสู่การทำสงครามกัน ที่สำคัญก็คือลัทธิชาตินิยม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดสงครามกลางเมืองเพื่อแยกประเทศจนเกิดประเทศใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ในขณะที่อีกหลายประเทศยังมีการสู้รบอย่างไม่เลิกราในบัดนี้ เท่านั้นยังไม่พอ ลัทธิอุดมการณ์ที่มาในรูปศาสนายังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้เกิดความรุนแรงนานาชนิด ทั้งในรูปสงครามระหว่างประเทศ สงครามกลางเมือง การก่อการร้าย และการนองเลือดระหว่างกลุ่มชน ความติดยึดในลัทธิอุดมการณ์จนฝังหัว นอกจากจะทำให้มองคนที่คิดหรือเชื่อต่างจากตนเป็นศัตรูแล้ว ยังอาจบ่มเพาะความโกรธเกลียดจนถึงขั้นทำร้ายคนเหล่านั้นได้ บ่อยครั้งลัทธิอุดมการณ์ดังกล่าวยังเพิ่มพูนความถือตัวถือตนของผู้สมาทานลัทธินั้น ว่าเป็นผู้สูงกว่าในทางคุณธรรม ซึ่งในทางกลับกันก็ทำให้เหยียดอีกฝ่ายว่า มีคุณธรรมด้อยกว่า หรือเป็นคนเลวร้าย (ดังนั้นจึงไม่สมควรมีชีวิตอยู่บนโลกนี้) ดังผู้ที่เชื่อว่าชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องเชิดชูปกป้อง (pro-life)บางคนถึงกับบุกเข้าไปสังหารหมอและพยาบาลในคลินิกทำแท้ง หรือนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแบบสุดโต่งบางคนลงมือสังหารผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทรมานสัตว์ แน่นอนว่าในบรรดาลัทธิอุดมการณ์ทั้งหลาย ศาสนาที่สมาทานอย่างยึดติดสามารถทำให้เกิดความรู้สึกทางลบได้มากที่สุดต่อคนที่คิดต่างจากตน องค์ประกอบที่สามของวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงก็คือ ความทะยานอยาก ( พุทธศาสนาเรียกว่า ตัณหา) ความทะยานอยากที่มีอิทธิพลในปัจจุบันมากที่สุด มาในรูปของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ซึ่งทำให้เชื่อว่า ความสุขเกิดจากการบริโภค หรือบริโภคมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ความเชื่อดังกล่าวทำให้เกิดความทะยานอยากไม่รู้จักพอ จึงนำไปสู่การแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น และเอารัดเอาเปรียบกันทั้งตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ สิ่งที่ตามมาคือความรุนแรงจนถึงขั้นประหัตประหารกัน นอกจากอาชญากรรมที่แพร่ระบาดในหลายประเทศแล้ว ปัจจุบันยังมีสงครามระหว่างประเทศและสงครามกลางเมืองจำนวนมากเกิดขึ้นเพราะการแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ประมาณว่า ๑ ใน ๔ ของสงครามและการรบพุ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประทุขึ้นมาหรือลุกลามขยายตัวเพราะการแย่งชิงและครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ (Williams 161) การประหัตประหารระหว่างเผ่าพันธุ์ในหลายกรณีก็มีความขัดแย้งทางด้านทรัพยากรเป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง อาทิ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ซึ่งเชื่อมโยงกับการแย่งชิงที่ทำกิน ดังพบว่าแม้ในชุมชนที่มีแต่คนเผ่าเดียวกัน ก็ยังมีการฆ่ากันอย่างมากมาย โดยที่คนตายมักจะเป็นเจ้าของที่ดิน นอกจากความรุนแรงทางตรงแล้ว การเอารัดเอาเปรียบและแย่งชิงผลประโยชน์ ยังก่อให้เกิดความรุนแรงอีกประเภทหนึ่ง คือ ความยากจนข้นแค้น จนอาจถึงขั้นเสียชีวิต ในปัจจุบันมีคนอดอยากหิวโหยถึง ๑,๑๐๐ ล้านคน (หรือ ๑ ใน ๕ ของประชากรโลก) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางอาหารและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างล้นเหลือทั่วทั้งโลก (รวมทั้งในประเทศที่มีคนหิวตายนับล้าน) ความอดอยากเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนทรัพยากร หากเกิดจากระบบเศรษฐกิจและการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมุ่งตอบสนองความอยากอย่างไม่มีที่สุดของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างอย่างมหาศาลระหว่างคนมีกับคนไม่มี ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่าในขณะที่แต่ละปีผู้คนในประเทศยากจนตายถึง ๙ ล้านคนเพียงเพราะขาดน้ำดื่มและน้ำใช้ที่สะอาด (ซึ่งแก้ได้ด้วยเงิน ๙,๐๐๐ ล้านเหรียญ) คนในยุโรปใช้เงินซื้อไอศกรีมปีละ ๑๑,๐๐๐ ล้านเหรียญ และซื้อน้ำหอมปีละ ๑๒,๐๐๐ ล้านเหรียญ ส่วนเงินที่ใช้ซื้อครีมบำรุงผิวทั่วทั้งโลกสูงถึง ๒๔,๐๐๐ ล้านเหรียญ ไม่นับผลิตภัณฑ์บำรุงผมอีก ๓๘,๐๐๐ ล้านเหรียญ ๕ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและคมนาคม โดยเฉพาะการรุกขยายของตลาดเสรี ได้ทำให้บริโภคนิยมแพร่กระจายไปทั้งโลก กระตุ้นความอยากและการแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ให้รุนแรงขึ้นทั่วทั้งโลก ขณะเดียวกันการรุกของวัฒนธรรมตะวันตก ได้ทำให้ผู้คนในหลายประเทศหลายวัฒนธรรมรู้สึกถูกคุกคามและกลัวจะสูญเสียอัตลักษณ์หรืออ่อนแอลง จึงยิ่งชูอัตลักษณ์ของตนเพื่อเป็นกำแพงปกป้องตนเองและกีดกันอีกฝ่ายหนึ่งออกไป มีการสร้างปมเด่นทางเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา จนเกิดความรู้สึกถือตัวถือตนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการกลับไปหาอุดมการณ์ดั้งเดิมเพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้กับโลกาภิวัตน์ ชาตินิยมและศาสนานิยมจึงแพร่ไปทั่วโลก โดยมักมีลักษณะเป็นปฏิกิริยาต่อต้านอย่างเข้มข้นต่อสิ่งที่เชื่อว่าเป็นภัยคุกคามจากภายนอก จึงเกิดการเผชิญหน้ากันมากขึ้นระหว่างคนต่างชาติต่างศาสนา ขณะเดียวกันโลกาภิวัตน์ยังทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดความเชื่อมากขึ้นแม้กระทั่งในชุมชนเดียวกันหรือข้างเคียงกัน จึงง่ายที่จะเกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนเกิดความรุนแรงได้ไม่ยาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปัจจุบันมานะ ทิฏฐิ และตัณหา มีแนวโน้มเข้มข้นเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมแห่งความรุนแรงขยายตัวเป็นลำดับ
คุณค่าหรือสำนึกที่ประสานมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอัตลักษณ์และความเชื่อ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ ใช่หรือไม่ว่าการขาดคุณค่าหรือสำนึกทั้ง ๓ ประการดังกล่าวทำให้ผู้คนแบ่งออกเป็นขั้ว ๆ และมีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้น นอกจากความร่ำรวยอย่างสุดโต่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับความจนอย่างสุดโต่งแล้ว ยังเกิดขั้วตรงข้ามระหว่างสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนทั้งโลก (globalism) กับการติดยึดกับหมู่พวกแคบ ๆ ของตัว ตามลักษณะเชื้อชาติ ภาษาและศาสนา (tribalism) หรือการแบ่งเป็นขั้วระหว่างโลกแห่งวัตถุนิยมและเทคโนโลยี กับโลกแห่งความเคร่งศาสนาจารีตและพระเจ้า ซึ่งมีผู้ตั้งฉายาว่า McWorld กับ Jihad หรือขั้วระหว่างแนวคิดแบบโลกิยวิสัย (secularism) กับความเคร่งคัมภีร์ (fundamentalism) ลักษณะความเป็นขั้วตรงข้ามเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในด้านต่าง ๆ จนอาจเรียกยุคนี้ว่า ยุคแห่งความสุดโต่ง โลกที่แบ่งเป็นขั้วตรงข้าม จะโน้มเข้ามาหากันได้มากขึ้น และเบียดเบียนกันน้อยลง หากทุกฝ่ายเปิดใจเข้าหากัน เคารพในอัตลักษณ์ของกันและกัน และมีความเอื้อเฟื้อต่อกันมากขึ้น จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นว่าเราทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันเพียงใด แต่นั่นเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรามีร่วมกัน เช่น ความรักสุข เกลียดทุกข์ ความใฝ่ดี ความปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับ และความรักในศักดิ์ศรีแห่งตน เป็นต้น นอกจากสำนึกในความเป็นมนุษย์ร่วมกัน และการเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของทุกคนแล้ว ความเชื่อในการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี เป็นสำนึกอีกประการหนึ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ ความรุนแรงนั้นสามารถแก้หรือยุติปัญหาได้ชั่วคราว แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ให้เกิดขึ้น หรือทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นในระยะยาว ความรุนแรงแม้กำจัดคนชั่วได้ แต่มันก็สร้างคนชั่วคนใหม่ให้เกิดขึ้น และหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือผู้ที่ใช้ความรุนแรงเป็นอาจิณนั้นเอง ดังนั้นการปฏิวัติด้วยความรุนแรงจึงไม่เคยกำจัดคนชั่วหมดหรือก่อให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริงเสียที เพราะหลังจากกำจัดฝ่ายตรงข้ามแล้ว ในที่สุดปืนทุกกระบอกก็หันมายิงพวกเดียวกันเอง ประการสุดท้ายก็คือการเห็นคุณค่าของการมีชีวิตที่เรียบง่าย
ตระหนักว่าความสุขเกิดจากการได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าและความหมายต่อตนเองและผู้อื่น
รวมทั้งการเข้าถึงความสุขด้านใน อันเกิดจากจิตที่สงบ ไร้ซึ่งความโกรธเกลียดหรือทะยานอยาก
หาได้เกิดจากการตักตวงวัตถุหรือสิ่งเสพให้ได้มาก ๆ ไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความตระหนักว่าความสุขนั้นอยู่ไม่ไกล
หากอยู่กลางใจเรานี้เอง ศาสนาสำคัญทุกศาสนา มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเห็นแก่ตัวหรือการถือเอาตัวตนเป็นศูนย์กลาง หากยกจิตใจของบุคคลให้อยู่เหนือความยึดติดในตัวตน พูดแบบพุทธคือ ทำให้มานะ ทิฏฐิ และตัณหา เบาบางลง หรือหมดสิ้นไป ดังนั้นจึงสวนทางกับวัฒนธรรมแห่งความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมสันติวัฒนธรรม ด้วยการเชิดชู ความรัก ขันติธรรม ความเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมทั้งการเข้าถึงความสุขจากชีวิตที่เรียบง่ายและไม่อิงวัตถุ จะว่าไปแล้วทุกศาสนาล้วนถือเอาสันติภาพของมนุษยชาติเป็นเป้าหมายด้วยกันทั้งนั้น การปฏิบัติตามแนวทางของศาสนา สามารถบันดาลใจให้เกิดกุศลธรรม หรือทำให้เกิดคุณภาพใหม่ในจิตใจ เช่น ความเมตตากรุณา ความเอื้ออาทร และความเสียสละอย่างไม่เห็นแก่ตัว ศาสนาจึงสามารถเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคม อีกทั้งยังสามารถผลักดันให้มีการเอารัดเอาเปรียบหรือเบียดเบียนกันน้อยลง ดังที่เคยมีบทบาทมาแล้วในการต่อต้านสงคราม การยกเลิกระบบทาส การพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของคนผิวสี หรือการคัดค้านระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตามความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ศาสนาต่าง ๆ ได้มีส่วนไม่น้อยในความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ศาสนาถูกใช้ในการสร้างความชอบธรรมรองรับความรุนแรง เช่น อ้างคำสอนทางศาสนาเพื่อสนับสนุนสงคราม หรืออ้างว่าทำสงครามเพื่อเผยแพร่ศาสนา หรือก่อการร้ายเพื่อปกป้องศาสนา (โดยผู้ที่อ้างเหล่านั้นแท้จริงหาได้ศรัทธาในศาสนาไม่) แต่บ่อยครั้งความรุนแรงก็เกิดขึ้นจากผู้ที่มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในศาสนา หรือได้รับแรงบันดาลใจจากศาสนาโดยตรง ดังได้กล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า บางครั้งศาสนาได้กลายมาเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งเพื่อยกตัวเองให้สูงขึ้น ขณะที่เหยียดอีกฝ่ายให้ต่ำลงจนถึงกับตราหน้าว่าเขาเป็นคนเลวร้าย และมีหลายครั้งที่ความยึดติดถือมั่นในศาสนาทำให้เกิดความเชื่อมั่นแรงกล้าว่าจะทำอะไรก็ได้ทั้งนั้นเพื่อความรุ่งโรจน์ของศาสนา พูดอีกอย่างคือศาสนากลายเป็นใบอนุญาตให้ฆ่าคนต่างศาสนาก็ได้ ทัศนะดังกล่าวพบเห็นได้ในหมู่ศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยที่เรียกว่าพวกเคร่งคัมภีร์ (fundamentalist) ซึ่งหลายคนไปไกลถึงขั้นเป็นพวกสุดโต่ง (extremist) อย่างไรก็ตามควรกล่าวว่าพวกสุดโต่งนั้นมิได้มีอยู่ในหมู่ศาสนิกหรือพวกเคร่งจารีตเท่านั้น แม้ผู้ที่มีความเชื่อแบบโลกย์ หรือ secularism เช่น ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ (neo-conservatism) หรือลัทธิอนุรักษ์ธรรมชาติ ก็สามารถมีความคิดแบบสุดโต่งได้ ชนิดที่พร้อมใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างจากตน ดังเห็นได้ว่าการสังหารผู้คนนับล้านหลายครั้งเกิดจากลัทธิอุดมการณ์ในทางโลก เช่น นาซี และคอมมิวนิสต์ กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติแบบสุดโต่งบางกลุ่มถึงกับมีคำขวัญว่า ทุกอย่างทำได้ทั้งนั้น (everything is permitted) ในอีกด้านหนึ่งศาสนายังถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยม มีการนำคำสอนทางศาสนาไปใช้ในการสนับสนุนการแสวงหาความร่ำรวยหรือสะสมทรัพย์สินเงินทอง ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นทุกมุมโลกก็คือการแห่เข้าหาศาสนาเพราะต้องการโชคลาภและความมั่งมี ขณะเดียวกันสถาบันทางศาสนาก็เป็นแบบอย่างแห่งความมั่งคั่งหรือล้นเหลือในทางวัตถุ ผู้นำศาสนามีวิถีชีวิตอย่างสุขสบาย จนกล่าวได้ว่าสถาบันศาสนาจำนวนมากได้กลายเป็นร่างทรงของบริโภคนิยม ทั้งหมดนี้ล้วนส่งเสริมให้ผู้คนมีความทะยานอยากมากขึ้น ทำให้การแข่งขันและการเอาเปรียบเพิ่มขึ้น ศาสนา(หรือการตีความทางศาสนา)จึงสามารถส่งเสริมหรือเป็นที่มาของวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงได้ นี้คือสิ่งท้าทายศาสนิกชนที่ปรารถนาจะเห็นศาสนาเป็นบ่อเกิดแห่งสันติวัฒนธรรม ไปพ้นความติดยึดทางศาสนา ศาสนาสามารถก่อให้เกิดความรุนแรงได้ หากการยึดติดศาสนานั้นเป็นไปอย่างสุดโต่ง หรือเพื่อส่งเสริมอัตตา จนเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นศาสนาจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดแนวโน้มดังกล่าว ด้วยการกระตุ้นให้ผู้คนหมั่นมองตนอย่างวิพากษ์และรู้เท่าทันตนเองอย่างลึกซึ้ง เพื่อไม่ให้อัตตาเข้ามาเป็นใหญ่เหนือจิตใจ (อัตตาธิปไตย) อันที่จริงหัวใจของทุกศาสนาก็คือการทำให้ผู้คนละวางจากความยึดถือในตัวตนอยู่แล้ว ดังนั้นหากเข้าถึงหัวใจของศาสนา โดยไม่ติดอยู่กับเปลือกหรือรูปแบบของศาสนา ความยึดติดในตัวตนจะลดลง มานะ ทิฏฐิ ตัณหา จะหยั่งได้ยากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความโกรธเกลียดเดียดฉันท์จะบรรเทาลง เราจะไม่ติดในกับดับความคิดว่า ฉันถูก แกผิด ฉันดี แกเลว เพราะรู้ว่านี้ก็คืออำพรางของอัตตาในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง การมองตนเองอย่างลึกซึ้งย่อมช่วยให้เราตระหนักว่าเส้นแบ่งความดีกับความชั่วนั้นหาได้อยู่นอกตัวไม่ แต่อยู่ในใจเรานี้เอง ๖มนุษย์นั้นตราบใดที่ไม่รู้เท่าทันตนเอง แม้จะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม ย่อมไม่ต่างจาก ระเบิดที่ยังไม่ถอดสลัด คือสามารถก่อความรุนแรงได้ร้อยแปด แม้จะไม่มีอาวุธใด ๆ อยู่ในมือเลยก็ตาม ดังผู้ก่อการ ๑๑ กันยาสามารถสังหารคนหลายพันคนโดยอาศัยเครื่องบินพาณิชย์เป็นเครื่องมือเท่านั้น ระเบิดดังกล่าวจะถอดออกไปจากใจได้ก็ต่อเมื่อเราละวางความยึดถือในตัวตน โดยอาศัยการตระหนักรู้ในตนเองอย่างลึกซึ้ง เมื่อระเบิดถูกปลดจากใจ เราย่อมมีจิตใจที่โปร่งเบาและเปิดกว้าง จนสามารถก้าวข้ามพ้นกำแพงแห่งศาสนาตลอดจนอัตลักษณ์ทั้งปวง กระทั่งเห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษยชาติ ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร เราก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน อันที่จริงมนุษย์นั้นเป็นอะไรต่ออะไรอีกมากมาย นอกจากการเป็นชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรือมุสลิม แต่ใช่หรือไม่ว่าบ่อยครั้งการนับถือศาสนาของเราทำให้เรามองข้ามคุณสมบัติดังกล่าว และเห็นแต่เพียงว่าเขานับถือศาสนาอะไร หรือมีศาสนาอะไรเป็น ยี่ห้อเท่านั้น ๗การนับถือศาสนาเช่นนี้ทำให้เรามองมนุษย์อย่างคับแคบ แท้ที่จริงศาสนาจะต้องช่วยให้เรามีทัศนะที่ไม่เพียงมองเห็นตัวเองอย่างลึกซึ้งเท่านั้น หากมองเห็นผู้อื่นในมุมมองที่กว้างขึ้น ศาสนานั้นในแง่หนึ่งเปรียบเสมือน ราก ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกมั่นคง และมีจิตใจที่ลุ่มลึก แต่เท่านั้นหาพอไม่ หากศาสนายังจะต้องเปรียบเสมือน ปีก ที่ทำให้เรามีอิสระเสรีในทางจิตใจ ช่วยให้เรามองเห็นโลกและเพื่อนมนุษย์ด้วยทัศนะที่กว้างไกล (เหมือนกับการมองจากสายตาของนก) ใช่หรือไม่ว่าเมื่อเรามองลงมาจากที่สูง ความแตกต่างของมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่บนพื้นโลก ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ย่อมเลือนหายไป เราจะเห็นแต่ความเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด การเห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ ย่อมทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น จนเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อนหรือพี่น้องกัน โดยไม่มีศาสนา เชื้อชาติ สีผิว เป็นเครื่องกีดกั้นอีกต่อไป ความโกรธ เกลียด ที่มีต่อกันจะลดลง ถึงตอนนั้นเราจะพบว่ามนุษย์นั้นมิใช่ศัตรูของเรา ศัตรูของเราคือความชั่วร้าย คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ หรือความยึดถือในตัวตน ที่ครองจิตครองใจผู้คนต่างหาก การกำจัดคนที่ชั่วร้ายด้วยความรุนแรงจึงไม่ใช่คำตอบที่ได้ผลยั่งยืน หากจะต้องมุ่งไปที่การขจัดความชั่วร้ายออกไปจากใจเขา ซึ่งต้องอาศัยความดีและความรักเท่านั้นจึงจะสัมฤทธิผล เพราะยิ่งใช้ความรุนแรงหรือความโกรธเกลียดมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มพูนความโกรธเกลียดและความชั่วร้ายในใจเขามากขึ้น ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า พึงเอาชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงเอาชนะความร้าย ด้วยความดี พึงเอาชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ พึงเอาชนะคนพูดพล่อย ด้วยคำสัตย์ กล่าวอย่างถึงที่สุด อิสรภาพในทางจิตใจ
ไม่ได้หมายความเพียงแค่อิสรภาพจากความยึดติดในตัวตน หรืออิสรภาพจากการครอบงำของความโกรธเกลียดเดียดฉันท์เท่านั้น
หากยังหมายถึงอิสรภาพจากความยึดติดในศาสนาด้วย ใช่หรือไม่ว่าลัทธิอุดมการณ์หรือแม้แต่ศาสนานั้นสามารถเป็นกำแพงหรือคุกกักขังจิตใจของมนุษย์ได้
อย่างไรก็ตามศาสนาก็สามารถประทานปีกให้แก่เราจนสามารถโบยบินเป็นอิสระเหนือกำแพงทางศาสนาหรือลัทธิอุดมการณ์ได้
แต่จะทำเช่นนั้นได้ก็ด้วยการเข้าถึงหัวใจของศาสนาจนละวางจากความยึดติดในศาสนา
เปรียบเสมือนการอาศัยแพเพื่อข้ามแม่น้ำ เมื่อถึงฝั่ง ก็ก้าวออกจากแพ แล้วขึ้นฝั่ง
โดยไม่จำเป็นต้องแบกแพขึ้นไปด้วย แต่แม้ โดยตระหนักถึงความทุกข์ที่เกิดจากความคลั่งไคล้ในอุดมการณ์และความใจแคบ เราขอปณิธานว่าจะไม่หลงใหลติดยึดกับลัทธิอุดมการณ์หรือทฤษฎีใด ๆ แม้แต่พุทธศาสนา คำสอนทางพุทธศาสนาคืออุปกรณ์นำทางที่ช่วยให้เรารู้จักพิจารณาอย่างลึกซึ้งและพัฒนาปัญญาและกรุณา หาใช่ลัทธิความเชื่อสำหรับการต่อสู้ สังหาร และยอมตายไม่ โดยตระหนักถึงความทุกข์ที่เกิดจากความติดยึดในทัศนะและการรับรู้ที่ผิดพลาด เราขอปณิธาน ว่าจะหลีกเลี่ยงความใจแคบและติดยึดกับทัศนะในปัจจุบัน เราจะเรียนรู้และฝึกการปล่อยวางจากความคิดเพื่อเปิดใจรับรู้ปัญญาญาณและประสบการณ์ของผู้อื่น เราตระหนักว่าความรู้ที่เรามีอยู่นั้นมิใช่สัจจะอันสัมบูรณ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง สัจจะนั้นพบได้ในชีวิต และเราจะสังเกตชีวิตทั้งภายในและรอบตัวเราในทุกขณะ และพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต การเข้าถึงหัวใจของศาสนา ย่อมช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในระดับจิตใจ จนเกิดอิสรภาพภายในอย่างแท้จริง เป็นจิตที่ไม่แบ่งฝักฝ่าย และมีความเมตตาอย่างไม่มีประมาณต่อสรรพสัตว์ เข้าถึงความเป็นมนุษย์อันสากล คือเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนก่อนที่จะเห็นว่าเขาเป็นพุทธ คริสต์ หรือมุสลิม และ เข้าถึงความรักอันสากล มีเมตตากับทุกคนเสมอกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็น จิตใจไร้พรมแดน (ซึ่งเป็นคุณลักษณะประการหนึ่งของพระอรหันต์หรือผู้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดในทัศนะของพุทธศาสนา) นี้เป็นการเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมที่จัดได้ว่าเป็นบทบาทในแนวลึก ปฏิบัติการเพื่อสันติวัฒนธรรม การศึกษาเพื่อสันติภาพ หมายถึงการศึกษาที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมขันติธรรม ยอมรับความแตกต่าง และเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางความคิดและทางวัฒนธรรม รู้จักให้อภัยและมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือตระหนักว่าความรุนแรงไม่อาจแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หากต้องแก้ด้วยสันติวิธี เพราะสันติวิธีเท่านั้นที่เป็นหนทางสู่สันติภาพที่แท้จริง ควบคู่กันไปก็คือการส่งเสริมให้มีทักษะในการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยตระหนักว่าความขัดแย้งก็เช่นเดียวกับความแตกต่าง จะเป็นโทษหรือเป็นคุณ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจัดการกับมันได้อย่างฉลาดหรือไม่ สื่อเพื่อสันติภาพ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อสันติภาพตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว ควรจะมีบทบาทในการลดทอนอคติทางชาติพันธุ์ ศาสนา และสีผิว โดยนำเสนอ วิถีชีวิต ประเพณี ความเชื่อ รวมทั้งสุขทุกข์และความใฝ่ฝันของคนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้เห็นว่าแท้จริงเขาก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา ขณะเดียวกันควรให้น้ำหนักกับข่าวสารที่ส่งเสริมสันติวิธี และการร่วมมือกัน ยิ่งกว่าที่จะนำเสนอนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรง อาชญากรรม และการทะเลาะวิวาทกัน สื่อสำหรับเยาวชนและครอบครัวเป็นสื่ออีกประเภทหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสันติวัฒนธรรม เพราะช่วยให้เกิดการบ่มเพาะทัศนคติที่ดีงามแก่เยาวชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเป็นสถาบันทางจริยธรรมที่สำคัญ ครอบครัวที่เข้มแข็งย่อมช่วยให้เยาวชนมีทัศนคติที่เกื้อกูลต่อสันติภาพและสันติวิธี นอกจากการลดความโกรธเกลียดและความรุนแรงแล้ว การศึกษาและสื่อเพื่อสันติภาพยังควรมีบทบาทในการลดทอนวัตถุนิยมและบริโภคนิยมด้วย ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัตถุนิยมและบริโภคนิยมกำลังมีอิทธิพลอย่างมากในวงการศึกษาและสื่อมวลชน การศึกษาและสื่อควรส่งเสริมให้ผู้คนมองชีวิตและโลกโดยไม่ติดยึดกับความจริงทางวัตถุอย่างเดียว เพราะความจริงนั้นมีหลายด้านที่ไม่อาจชั่งตวงวัดเป็นตัวเลขหรือตีค่าเป็นตัวเงินได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้คนตระหนักว่ามีความสุขอีกมากมายที่อยู่เหนือการเสพหรือการบริโภค เช่น ความสุขจากการทำความดี หรือความสุขจากการให้ เป็นต้น การสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ แกนกลางของสันติวัฒนธรรมคือความรักและความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล คุณค่าดังกล่าวแสดงออกได้ชัดเจนที่สุดมิใช่ด้วยคำพูดหรือการเทศน์ แต่ด้วยการลงมือช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม การเสริมสร้างสันติวัฒนธรรมที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ไม่ว่าเป็นเพราะขาดแคลนปัจจัยสี่ ถูกกระทำความรุนแรง ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกละเมิดสิทธิ การช่วยให้เพื่อนมนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไม่ว่าระดับบุคคล ระดับชุมชน หรือระดับประเทศ นอกจากจะส่งเสริมวัฒนธรรมน้ำใจและการเกื้อกูลให้แพร่หลาย ช่วยให้สังคมร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ยังเป็นแบบอย่างที่สัมผัสได้จริงว่าความสุขนั้นเกิดจากการให้ มิใช่เกิดจากการบริโภคหรือการมีมาก ๆ เท่านั้น ยิ่งศาสนิกลดละตัวตนหรือความเห็นแก่ตัวได้มากเท่าไร การเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนมนุษย์ก็กลายเป็นเรื่องง่ายมากเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องชี้วัดสำคัญประการหนึ่งว่าศาสนิกได้ลดละตัวตนมากน้อยเพียงใดแล้ว การลดทอนความรุนแรงในสังคม ความรุนแรงในสังคมนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับประเทศ การป้องกันและระงับความรุนแรงเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ การที่ความรุนแรงยังแพร่หลายในปัจจุก็เพราะมีความเชื่อว่าความรุนแรง(อย่างน้อยก็ในบางเรื่อง เช่น การทุบตีภรรยา หรือการรุมทำร้ายผู้ต้องหาฆ่าข่มขืน การประหารชีวิตอาชญากร)เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ศาสนิกจึงควรให้ควรมีบทบาทแข็งขันในการต่อต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมไปถึงการทำสงคราม อย่างไรก็ตามนอกจากความรุนแรงทางตรงแล้ว ในสังคมยังมีความรุนแรงทางโครงสร้าง คือโครงสร้างที่สนับสนุนการเอารัดเอาเปรียบ ที่นำไปสู่ความยากจน ความเจ็บป่วย และการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ความรุนแรงทางโครงสร้างนั้นมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และระบบยุติธรรม อันสร้างความทุกข์ยากแก่ผู้คนจำนวนมาก ศาสนิกจึงควรให้ความสำคัญในการต่อต้านและขจัดความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้วยเช่นกัน จะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัย ความรักความเมตตาต่อผู้ทุกข์ยาก ความกล้าหาญในการเผชิญหน้ากับอุปสรรค ปัญญาในการเข้าใจสาเหตุอันลึกซึ้ง และสติที่รู้เท่าทันตัณหา มานะ และทิฏฐิในตนเอง ทั้งหมดนี้คือพลังทางศีลธรรมที่ศาสนาสามารถเป็นแรงบันดาลให้ได้อย่างมหาศาล ดังที่มีตัวอย่างมากมากในประวัติศาสตร์ แต่หลายปีที่ผ่านมาศาสนาได้ถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยยอมสละชีวิตเพื่อปลิดชีพผู้อื่น ก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ผู้คนมากมาย และทำให้หลายมุมโลกต้องลุกเป็นไฟ ถึงเวลาแล้วที่ศาสนาจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั้งหลายยอมอุทิศตัวเพื่อปกป้องชีวิตผู้อื่น และดับเพลิงสงครามด้วยความรักความเมตตา อย่างกล้าหาญ และด้วยสติปัญญาอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้โดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในทางจิตใจเป็นพลังหล่อเลี้ยงภายใน ด้วยวิธีนี้เท่านั้นสันติวัฒนธรรมจึงจะเป็นจริงขึ้นมาได้ ๑
ปาฐกถาในงานสัมมนานานาชาติเรื่อง Religion and Culture ณ มหาวิทยาลัยพายัพ
เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ จัดโดยสถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยพายัพ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|