|
|
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีความขัดแย้งที่นำไปสู่การประท้วงคัดค้านมากมายหลายกรณี อาทิ การชุมนุมหน้าทำเนียบของสมัชชาคนจน กรณีท่อก๊าซไทย-มาเลย์ กรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวมิใช่ปัญหาระหว่างประชาชน (ซึ่งมักจะถูกอ้างว่าเป็นเสียงส่วนน้อย)กับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของความขัดแย้งที่ใหญ่กว่า นั่นคือการต่อสู้ระหว่างสังคมกับทุน โดยรัฐบาลเป็นตัวแทนของอำนาจทุน (บวกกับเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งเชื่อมโยงตั้งแต่นักการเมืองระดับชาติไปจนถึงหัวคะแนนระดับตำบล) ทั้งนี้เพราะโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐบาลที่กำลังถูกประชาชนต่อต้านล้วนแต่เป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของฝ่ายทุนเป็นหลัก ความขัดแย้งระหว่างอำนาจทุนกับสังคมหรือภาคประชาชน เป็นความขัดแย้งหลักกระแสหนึ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะยุคโลกาภิวัตน์ ความขัดแย้งดังกล่าวยังสะท้อนออกมาในรูปลักษณ์อื่น ๆ อีก เช่น การประท้วงธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนา (เอดีบี) การประท้วงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด) การคัดค้านผลิตภัณฑ์ตัดต่อยีน โดยเฉพาะการนำพืชดัดแปลงพันธุกรรมมาส่งเสริมในเมืองไทย รวมไปถึงการปฏิรูปการเมืองเพื่อควบคุมมิให้กลุ่มธุรกิจครอบงำการเมืองมากไป โทษภัยของอำนาจทุน นอกจากทรัพยากรของชุมชนแล้ว ทรัพยากรของรัฐ(เช่น งบประมาณ บุคคลากร และอำนาจรัฐ)ก็อยู่มือของอำนาจทุน ทั้งนี้โดยอาศัยการครอบงำระบบและสถาบันต่าง ๆ ของรัฐ ไม่ว่าทางการเมืองเศรษฐกิจ และการศึกษา ทำให้ สามารถสร้าง เงื่อนไขหรือโครงสร้างพื้นฐาน(infrastructure) ที่ตอบสนองผลประโยชน์ของทุนได้มากขึ้น อาทิ นโยบายการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากรของชุมชนเพื่อรับใช้ภาคอุตสาหกรรม นโยบายการเกษตรที่ทำให้ชาวนาชาวไร่ผูกติดอยู่กับตลาดทั้งระดับชาติและระดับโลก ตลอดจนการวางแผนการศึกษาที่มุ่งป้อนแรงงานให้แก่ภาคธุรกิจ การรุกคืบล่าสุดและผลที่ตามมา ผลที่เกิดขึ้นก็คือบริการและทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตกลายเป็นสินค้าที่เป็นไปเพื่อการแสวงหากำไรล้วน ๆ เช่น (การศึกษา สุขภาพ น้ำ) ทำให้คนจนเข้าถึงได้ยากมากขึ้น หรือต้องจ่ายเงินแพงขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้มีการผูกขาดทางด้านเกษตร และการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารในระดับประเทศ ทั้งหมดนี้ ล้วนมีผลในการบั่นทอนสังคมในทุกระดับ ทั้งระดับกายภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม และจิตวิญญาณ ในแง่กายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ได้แก่การทำลายสิ่งแวดล้อม และแย่งชิงปัจจัยกาผลิต(เช่นที่ดิน) อันเป็นปัจจัยยังชีพของผู้คน ทำให้ความเป็นอยู่ฝืดเคือง ความสามารถในการพึ่งตนเองของชุมชน (โดยมีทรัพยากร และทักษะความรู้เป็นต้นทุน) ถูกบั่นทอนลงไป สิ่งที่ตามมาคือเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เพราะประชาชนถูกผลักดันให้ต้องไปพึ่งพาผูกติดกับระบบตลาดซึ่งเอาเปรียบ นอกจากนั้นอำนาจทุนยังพยายามทำลายมาตรการปกป้องสังคม เช่นทำลายกำแพงภาษี ยกเลิกกฎเกณฑ์ควบคุมทุนต่างชาติ รวมถึงการขัดขวางมิให้รัฐให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรรายย่อย และให้สวัสดิการแก่คนยากคนจน แม้กระทั่งบริการสาธารณสุข นับวันจะกลายเป็นสินค้าที่คนยากจนเข้าถึงได้ยากขึ้นทุกที ในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือการทำลายทุนทางสังคม (เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ประเพณีวัฒนธรรมที่ยึดโยงผู้คนให้ร่วมมือกัน) ครอบครัวและชุมชนแตกสลาย เพราะหนุ่มสาวต้องอพยพหนีความยากจนไปหางานทำในเมือง ขณะเดียวกันทัศนคติตัวใครตัวมันก็ขยายตัวมากขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจในชุมชนตกต่ำลง ผู้คนก็ยิ่งสนใจแต่เรื่องของตัว ไม่มีเวลาให้แก่กัน ซ้ำร้ายยังจะจ้องเอาเปรียบและหาผลประโยชน์จากกัน ส่วนในสังคมวงกว้าง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ถ่างกว้างขึ้น ก็ทำให้เกิดความเหินห่างหมางเมินกันมากขึ้น ราวกับว่าอยู่กันคนละประเทศ ในแง่จิตใจ
ทัศนะแบบวัตถุนิยม ลุ่มหลงอยู่กับการบริโภคและหมกมุ่นกับความบันเทิงได้ครอบงำจิตใจผู้คนมากขึ้น
อีกทั้งยังมองเห็นผู้อื่นเป็นปฏิปักษ์ หรือเป็นเหยื่อที่ต้องฉวยเอาประโยชน์
เกิดความมุ่งร้าย ความโกรธเกลียด ขณะเดียวกันความเครียด วิตกกังวล ความทุกข์ก็เพิ่มมากขึ้นเพราะต้องดิ้นรนแข่งขันกัน
ผู้คนเกิดความรู้สึกด้อยหรือพร่องตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกพร่องในทางทรัพย์
สถานภาพ และรูปร่างหน้าตา (จนทำให้อุตสาหกรรมเสริมความงามและความหล่อขยายตัวอย่างรวดเร็ว)
ถึงจะหามาเท่าไร ก็ไม่รู้จักพอเสียที ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกอ้างว้าง
โดดเดี่ยวแม้จะอยู่ท่ามกลางฝูงชน ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้กำลังขยายตัวไปเป็นความรุนแรงทางกายภาพ เพราะเป็นเชื้อให้เกิดการประท้วงทั่วทั้งประเทศ ที่ตามมาด้วยการปะทะ การทุบตี และการลอบสังหาร อาทิ การลอบสังหารผู้นำชาวบ้านที่ปลวกแดงระยอง(ที่คัดค้านโรงกำจัดสารพิษ) หรือสังหารผู้นำที่คัดค้านเขื่อนโป่งขุนเพชร (ชัยภูมิ)หรือโครงการโรงกำจัดขยะที่หางดง (เชียงใหม่-การทุบตีสมาชิกสมัชชาคนจนที่ประท้วงหน้าทำเนียบ และล่าสุดได้แก่การใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่คัดค้านการทำประชาพิจารณ์โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ในเวลาเดียวกัน ความรุนแรงทางกายภาพก็เกิดขึ้นตลอดเวลา อันเนื่องมาจากค่านิยมบริโภคและวัตถุนิยม ที่บั่นทอนความสัมพันธ์ในทุกระดับ(ทั้งครอบครัว ชุมชน สังคม) ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการปล้นสะดม แย่งชิงกันทั่วทุกหัวระแหง ทำให้อาชญากรรมขยายตัวไม่หยุด นอกจากความรุนแรงทางโครงสร้าง และความรุนแรงทางกายภาพแล้ว พื้นฐานกว่านั้นก็คือความรุนแรงในจิตใจ ที่เกิดจากความโกรธ เกลียด เห็นผู้อื่นเป็นปฏิปักษ์ หรือเหยื่อ การถูกกระหน่ำโดยสื่อมวลชนตลอดเวลา จนเกิดความโลภ ร้อนรุ่ม และถูกบีบคั้น เสียดแทงด้วยความอยาก และความรู้สึกด้อยเมื่อเปรียบตัวเองกับผู้อื่น หรือภาพพรีเซนเตอร์ในโฆษณา ความรุนแรงในสังคมและในจิตใจลุกลามขยายตัวเพราะทุนอีกประเภทหนึ่งคือทุนใต้ดินหรือทุนผิดกฎหมาย ( เช่นการค้ายาเสพติด ค้าผู้หญิง และการพนัน) ทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดความรุนแรงต่าง ๆ มากมาย อาทิ การปล้นจี้ และฆ่าเพื่อชิงทรัพย์หรือเพราะสติฟั่นเฟือน การฆ่ากันเองเพราะต้องการหักหลังหรือปิดปาก การล่อลวงกักขังผู้หญิงและเด็ก รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัว (เพราะการพนันและยาเสพติด) ทุนใต้ดินเฟื่องฟูได้เพราะทุนถูกกฎหมายเปิดทางให้ในหลายลักษณะ เริ่มตั้งแต่การทำลายทุนทางสังคม ทำให้ชุมชนและครอบครัวอ่อนกำลัง เปิดช่องให้ยาเสพติดแพร่ระบาดได้ง่าย ขณะเดียวกันการทำให้ชุมชนยากจน ก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการอพยพไปเป็นหญิงบริการในเมืองกันมากขึ้น นอกจากนั้นการแพร่ระบาดของบริโภคนิยม ทำให้อุตสาหกรรมทางเพศขยายตัว เพราะมีความต้องการบริการทางเพศมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรีทั่วโลก ทำให้เกิดบ่อนขนาดมหึมาระดับโลก (ในตลาดหุ้นและตลาดการเงินระหว่างประเทศ) และทำให้แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติเติบโตอย่างรวดเร็วและทรงอำนาจมากขึ้น เพราะนอกจากจะขยายเครือข่ายได้กว้างขวางแล้ว ยังสามารถโอนเงินไปนอกได้อย่างเสรี หรือเก็บเงินไว้ในธนาคารลับ ชนิดที่รัฐทำอะไรไม่ได้ จึงมีอำนาจเงินอย่างมหาศาลสามารถซื้อเจ้าหน้าที่และนักการเมืองได้ในทุกระดับ ผลที่ตามมาคือความรุนแรงในสังคมจากองค์กรเหล่านี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และยิ่งรัฐใช้ความรุนแรงกับองค์กรเหล่านี้ ประชาชนก็พลอยได้รับเคราะห์ไปด้วย อย่างน้อยก็ถูกละเมิดสิทธิได้ง่ายขึ้น เพราะการออกกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐมากขึ้นในการจัดการกับองค์กรเหล่านี้ การสกัดกั้นอำนาจทุนคือการเมืองเพื่อสันติ การเมืองเพื่อสันติในปัจจุบันแสดงออกมาในหลายลักษณะ
ได้แก่ แนวทางบวก-สร้างสรรค์ ได้แก่การปฏิรูปการเมือง เพื่อให้ปลอดจากธุรกิจการเมือง และเพื่อกระจาย อำนาจสู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน การปฏิรูประบบการศึกษา สื่อมวลชน ระบบสุขภาพ เพื่อไม่ให้อำนาจทุนเข้ามาครอบงำ กับเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน นอกจากนั้นยังมีความพยายามที่จะทางเลือกใหม่ ๆ เช่น เกษตรกรรมธรรมชาติ เงินตราท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และการศึกษาแบบบ้านเรียน (homeschool) แนวทางดังกล่าวยังรวมถึงการผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิชุมชน (เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชน)และการเสริมสร้างขบวนการประชาสังคม ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการเมืองในความหมายที่กว้าง คือการเมืองเพื่อต้านการขยายตัวอย่างไม่มีขอบเขตของทุน และเป็นการเมืองเพื่อสันติ เพราะมุ่งที่จะลดความรุนแรงในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (ที่ทำให้ผู้คนยากจนลง หรือสูญเสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การถูกเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น) ความรุนแรงทางกายภาพ (อาชญากรรม และการลุกฮืออย่างรุนแรง) และที่จะละเลยไม่ได้คือ ความรุนแรงในจิตใจ องค์ประกอบของการเมืองเพื่อสันติ อุดมการณ์แบบวัตถุนิยมและบริโภคนิยม โลกทัศน์ดังกล่าวได้แก่โลกทัศน์ที่เห็นคนเป็นแค่ก้อนวัตถุ หรือเครื่องจักร มองจิตใจว่าเป็นเรื่องของปฏิกิริยาเคมีชีวฟิสิกส์ในสมองเท่านั้น อีกทั้งยังมองจักรวาลเป็นเสมือนเครื่องจักรมหึมา โลกทัศน์แบบนี้เห็นธรรมชาติเป็นเพียงมวลวัตถุที่ไร้ชีวิต จะมีความหมายก็ต่อเมื่อสนองความต้องการของมนุษย์เท่านั้น มองให้ใกล้เข้ามา เนื่องจากโลกทัศน์ดังกล่าวปฏิเสธมิติทางจิตวิญญาณ จึงเห็นว่าความสุขของคนเราจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการครอบครองวัตถุและการเสพทางอายตนะทั้ง ๕ เท่านั้น โลกทัศน์แบบนี้หายอมรับความสุขที่เป็นอิสระจากวัตถุและสิ่งเสพไม่ ส่วนระบบคุณค่าแบบวัตถุนิยมนั้นก็คือ การให้ค่าแก่วัตถุยิ่งกว่าจิตใจและความสัมพันธ์ เงินกลายเป็นฐานสำคัญของระบบคุณค่า กล่าวคือเป็นทั้งเป้าหมายของชีวิต(และประเทศ) และเป็นอุปกรณ์ในการบรรลุความสำเร็จ (จะทำอะไรต้องมีเงินก่อน คนเป็นเรื่องรอง การหาเงินและกู้เงินจึงเป็นเรื่องใหญ่ การศึกษาจึงกลายเป็นการผลิตคนเพื่อไปหาเงินหรือตอบสนองเศรษฐกิจ) นอกจากนั้นเงินเป็นตัวกลางความสัมพันธ์ (พ่อแม่กับลูก,ครูกับศิษย์,หมอกับคนไข้, สามีกับภรรยา,พี่กับน้อง,พระกับคฤหัสถ์) ทกสิ่งถูกวัดค่าด้วยเงิน หรือต้องตีค่าเป็นตัวเงินเสียก่อน (นักธุรกิจจึงมีค่ากว่าชาวนา ป่าธรรมชาติจึงมีค่าน้อยกว่าสวนยูคาลิปตัส) ระบบคุณค่าเช่นนี้เองช่วยเสริมโลกทัศน์แบบวัตถุนิยมให้แน่นหนาขึ้น เพราะทำให้เห็นทุกอย่างเป็นสินค้า หรือสินทรัพย์ในการหาเงิน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี ตำแหน่ง สถานภาพ รอยยิ้ม น้ำใจ ก็สามารถเอาไปขายหรือเป็นช่องทางในการหาเงินได้ทั้งนั้น ศาสนธรรมจำเป็นสำหรับอุดมการณ์ภาคประชาชน อย่างไรก็ตามสิ่งที่จำต้องมีในอุดมการณ์ฝ่ายสังคมด้วย ก็คือมิติด้านจิตใจ ได้แก่การให้ความสำคัญกับชีวิตด้านใน เช่นการมีจิตสงบเย็น มีความสุขหล่อเลี้ยงจากภายใน โดยเฉพาะการมีจิตอิสระไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุสิ่งเสพมากเกินไป คุณสมบัติทางจิตดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทัศนคติต่อชีวิตในแง่มุมที่ลึกซึ้ง อาทิเช่น เห็นว่าความสุขของมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องของวัตถุล้วน ๆ หรือเห็นว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะเป็นอิสระในทางจิตวิญญาณได้ไม่ใช่แค่เป็นอิสระในทางกายเท่านั้น มิติทางจิตใจบางครั้งก็เรียกว่ามิติทางจิตวิญญาณ และเนื่องจากมิติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาสนาต่าง ๆ ให้ความสำคัญมาก บางคร้งจึงเรียกว่ามิติทางศาสนธรรม มิติทางจิตวิญญาณหรือศาสนธรรมดังกล่าวคือส่วนที่แทบจะขาดหายไปจากอุดมการณ์ ของภาคประชาชนในปัจจุบัน การที่ให้ความสำคัญกับมิติส่วนนี้น้อยไป มีผลทำให้บ่อยครั้งภาคประชาชนรับเอาโลกทัศน์และคุณค่าแบบวัตถุนิยมเข้ามาโดยไม่รู้ตัวหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น รับเอาค่านิยมแบบบริโภคนิยมมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต (เวลาประชุม ก็ต้องจัดในโรงแรมหรู มีเครื่องดื่มอาหารบริการเพียบพร้อม หรือแสวงหาความสุขจากสิ่งเสพสิ่งบริโภค) ลึกไปกว่านั้นก็คือการรับเอาคุณค่าแบบวัตถุนิยมมาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ทางสังคม กล่าวคือในการคิดค้นโครงการกิจกรรม โครงสร้าง หรือระบบที่จะเป็นทางเลือกใหม่ จะเน้นแต่ประโยชน์ในทางวัตถุที่จะเกิดขึ้น (เช่น ให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีกว่าเดิม หรือพ้นจากความยากจน )หรืออย่างมากก็รวมไปถึงคุณค่าทางสังคม ด้วย เช่น ทำให้ชุมชนมีความสามัคคี ร่วมมือกัน คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม แต่ถ้าหากว่าวิถีชีวิตหรือโลกทัศน์ไม่ได้เปลี่ยน คือยังอยากรวยหรืออยากเสพ การทำให้ประชาชนมีรายได้หรือความเป็นอยู่ดีขึ้นก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เขาบริโภคมากขึ้น กลายเป็นว่าโครงการพัฒนาที่นำเข้าไปแท้ที่จริงก็คือการทำให้ชุมชนเหล่านั้นเป็นตลาดรองรับสินค้าบริโภคอย่างดี และในระยะยาวแล้วจะมีผลเสียต่อทั้งความเป็นอยู่และฐานะทางเศรษฐกิจ คือเป็นหนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ภายในชุมชนจะเป็นแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น เกิดช่องว่างหรือการเบียดเบียนตามมาในที่สุด มิติทางจิตวิญญาณของบริโภคนิยม ความสำเร็จของลัทธิบริโภคนิยมอยู่ตรงที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าตัวตนของตนจะดีกว่าเดิมหากได้ครอบครองสินค้าแบรนด์เนม การได้เสพสัญลักษณ์ที่ติดมากับสินค้าทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามีตัวตนใหม่ที่ดีกว่าเดิม หาไม่ก็สามารถเปลี่ยนตัวตนด้วยการปรับเปลี่ยนเรือนร่างหรือทำศัลยกรรมตกแต่ง นอกจากนั้นการที่ลัทธินี้เน้นว่าความสุขอยู่ที่การบริโภค ในแง่หนึ่งก็ทำให้ผู้คนมีจุดหมายในชีวิต คือมุ่งที่จะครอบครองสิ่งเสพให้ได้มากที่สุด การมีเป้าหมายเด่นชัดเช่นนี้ช่วยทำให้ชีวิตมีคุณค่าในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นลัทธิบริโภคนิยมยังให้สัญญาว่าจะช่วยลดทอนความรู้สึกว่างเปล่า หรือความรู้สึกพร่องคับข้องใจ ไม่ว่าจะเป็นความพร่องเพราะรู้สึกว่ายังมีไม่พอ หรือพร่องเพราะเกิดช่องว่างระหว่างความฝัน(ที่เห็นจากโฆษณา)กับความเป็นจริง ทั้ง ๆ ที่ความพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะตัวลัทธิบริโภคนิยมเองยิ่งกว่าอะไรอื่น ดังจะเห็นได้ว่าผู้คนจะรู้สึกพร่องมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเปรียบตนเองกับพรีเซนเตอร์ในโฆษณาอยู่บ่อยๆ (เช่น เห็นว่ารูปร่างของตนยังสวยไม่พอ หรือยังทันสมัยไม่พอ) ความรู้สึกพร่องยังเกิดขึ้นจากการพบว่า หลังจากได้ซื้อสินค้ามาแล้ว ความสุขที่ได้รับจากสินค้าดังกล่าวไม่มากเท่ากับความสุขที่คาดหวังหรือปรุงแต่งขึ้น (ไม่ว่าจากการดูโฆษณาหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นก็ตาม) ช่องว่างระหว่างความฝันกับความเป็นจริงนี้เองที่ทำให้เกิดความพร่องคับข้องใจเพราะไม่รู้สึกเติมอิ่มหรือพอใจกับความสุขที่มี ความพร่องที่ลึกไปกว่านั้นก็คือความพร่องคับข้องใจเพราะเกิดความรู้สึกลึก ๆ ว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริง เกิดความรู้สึก ไม่มั่นคง อ้างว้าง ต้องการหาสิ่งยึดเหนี่ยวที่จะทำให้รู้สึกว่ามีตัวตนอยู่จริง วิธีการของบริโภคนิยมในการตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ บำบัดความรู้สึกพร่องก็คือ การเสนอสิ่งที่จะยึดเหนี่ยวเป็นตัวตน คือเสนอวัตถุรูปธรรมให้ยึดเป็นตัวตน ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนที่ยั่งยืน หาไม่ก็กลบความรู้สึกคับข้องใจด้วยการเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเสพ โดยเฉพาะความบันเทิงซึ่งกำลังกลายเป็นยาเสพติดแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน อุดมการณ์ของภาคประชาชน อุดมการณ์ของภาคประชาชนจะมาทดแทนศาสนาบริโภคนิยมได้ก็โดยการเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับชีวิตได้ดีกว่า เช่นช่วยให้ผู้คนรู้ว่าอะไรคือตัวทุกข์(หรือตัวปัญหา) และรู้ว่าทุกข์เกิดจากอะไร (คนสมัยนี้ไม่คิดว่าความอยากไม่สิ้นสุดนั้นคือตัวปัญหา แต่กลับคิดว่าการไม่ได้อย่างที่ต้องการ หรือไม่มีเงินซื้อ หรือรู้สึกว่ายังมีสมบัติไม่พอ เหล่านี้ต่างหากคือตัวปัญหา เช่นเดียวกับที่คนซึ่งติดการพนันมักจะบอกว่า การพนันไม่ใช่ปัญหา ผมชอบการพนัน ปัญหาคือผมเป็นหนี้ หลายแสน ทำนองเดียวกัน คนที่ติดยาเสพติด ก็ไม่รู้สึกว่าการติดยานั้นเป็นปัญหา ปัญหาคือจะหายามาเสพได้อย่างไร ) ตรงนี้เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริโภคนิยมเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง เพราะมันทำให้คนมองไม่เห็นปัญหา(หรือตัวทุกข์)ที่แท้ว่าอยู่ในใจของตัว แต่เบนความสนใจไปจดจ่ออยู่ที่สิ่งอื่นแทน คือไปเข้าใจว่าเงินที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในกระเป๋านั่นแหละคือตัวปัญหา เพราะฉะนั้นจึงคิดแต่จะหาเงินมาให้มากขึ้น แทนที่จะมาจัดการกับความต้องการในจิตใจของตน นอกจากนั้นอุดมการณ์ดังกล่าวควรจะช่วยให้ผู้คนตระหนักว่าความสุขนั้นมีหลายระดับ
หลายประเภท หาได้มีแต่ความสุขจากการบริโภคเท่านั้นไม่ อีกทั้งยังสามารถเสนอหนทางแห่งการดับหรือบรรเทาทุกข์ที่ดีกว่า
หรือตรงกับสาเหตุมากกว่าคำตอบจากบริโภคนิยม รวมทั้งเสนอวิธีการที่ช่วยให้บุคคลเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้ง
ยั่งยืนมากกว่าวัตถุ โลกทัศน์ คือการมองเห็นธรรมชาติอันลึกซึ้งของมนุษย์ว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะเป็นอิสระจากวัตถุ เข้าถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณซึ่งเป็นอิสรภาพที่ประเสริฐที่สุด ขณะเดียวกันก็เป็นโลกทัศน์ที่ตระหนักถึงความเป็นจริงว่า ความสุขนั้นมีหลายประเภท ที่สำคัญคือความสุขอันประณีตกว่าสุขทางกาย คือความสุขจากจิตที่สงบและปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงของชีวิตและโลก (ว่าแปรปรวน ไม่ยึดถือฝากชีวิตไว้กับมัน) นอกจากการมองมนุษย์ในแง่ลึกแล้ว โลกทัศน์ดังกล่าวยังควรเห็นมนุษย์ในแง่กว้างคือ เห็นว่ามนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสรรพชีวิต เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงชีวิต สังคม ธรรมชาติ อย่างไม่อาจแยกจากกันได้ คุณค่า อาทิเช่น การให้ความสำคัญแก่ความสันโดษ โดยถือว่าเป็นพื้นฐานแห่งชีวิตที่ผาสุก ให้คุณค่ากับความพอดีและดุลยภาพ แทนที่จะเน้นการเติบโตอย่างไม่จำกัด หรือถือว่ายิ่งมากยิ่งดี นอกจากนั้นยังควรให้ควาามสำคัญกับเมตตาและอหิงสาในฐานะที่เป็นคุณค่าสำคัญของชีวิตและกิจกรรมทางสังคม โลกทัศน์และคุณค่าดังกล่าวควรผนวกไปเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ของภาคประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ของภาคประชาชน รวมถึงโครงการ ระบบ นโยบายต่าง ๆ ที่เสนอเป็นทางเลือกจากทุนนิยม และวัตถุนิยม(เช่น ระบบการศึกษา นโยบายเศรษฐกิจ) นอกจากนั้นยังควรเป็นส่วนหนึ่งของหลักการในการจัดตั้งองค์กรหรือความสัมพันธ์ภายในกลุ่ม (การเห็นคุณค่าของกันและกัน การแบ่งปันกัน การมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาค ) และที่ละเลยไม่ได้ก็คือโลกทัศน์และคุณค่าดังกล่าวควรผนวกไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวทัศน์ของผู้คน โดยแปรให้กลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในฝ่ายประชาชน โดยเฉพาะผู้นำขบวนการ ศาสนธรรมทำให้การเมืองของภาคประชาชนเป็นไปในทางสันติ ศาสนธรรมดังกล่าวยังเป็นหลักประกันสำหรับความสัมพันธ์อย่างบรรสานสอดคล้องกันในสังคม เพราะช่วยให้ผู้คนมีความสุขที่ประณีตจากความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ดังนั้นจึงลดการแย่งชิงทรัพยากร ทำให้มีการแบ่งปันมากขึ้น และเมื่อผู้คนมีความสุขมากขึ้น การระบายความทุกข์ใส่กันก็จะลดน้อยลง ศาสนธรรมดังกล่าวยังจะช่วยให้การต่อสู้ทางการเมืองลดความรุนแรงลง เป็นสันติวิธีมากขึ้น เพราะเอื้อให้เกิดการมองในเชิงลึกและกว้าง ทำให้เห็นว่าสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ นั้นอยู่ลึกไปกว่าตัวบุคคล คือแฝงลึกอยู่ในจิตใจ ได้แก่ความโลภ การติดยึดในผลประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เห็นว่าปัญหาต่าง ๆ นั้นยังมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่อยู่เหนือตัวบุคคล คือโครงสร้างอันอยุติธรรม อาทิระบบเศรษฐกิจที่เบียดบังทรัพยากรและความเป็นอยู่ของคนยากไร้ รวมไปถึงโครงสร้างที่เป็นรากเหง้าแห่งความรุนแรง อาทิ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งขึ้นทุกที ระบบการศึกษาและสื่อมวลชนที่เผยแผ่ทัศนะแบบวัตถุนิยม ที่เห็นทุกอย่างเป็นสินค้า รวมทั้งลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพราะเห็นมนุษย์เป็นสินค้าหรือต้นทุนการผลิตเท่านั้น ศาสนธรรมดังกล่าวช่วยให้เห็นว่าการจัดการกับตัวบุคคลอย่างเดียวไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่ต้องจัดการที่ทัศนะภายใน และโครงสร้างภายนอก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้สันติวิธี ในทางตรงกันข้ามการใช้ความรุนแรงมีแต่จะก่อผลเสียคือ ยิ่งเป็นการตอกย้ำทัศนะดั้งเดิม หรือทำให้มีการปกป้องทัศนะเดิมมากขึ้น ทำให้โครงสร้างแห่งความรุนแรงฝังลึกขึ้น หรือถูกปกป้องด้วยกลไกแห่งความรุนแรงของฝ่ายรัฐมากขึ้น ประการสุดท้ายคือ ทำให้วัฏจักรแห่งความรุนแรงเข้มแข็งขึ้น กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว จุดหมายแท้จริงของการเมืองภาคประชาชน มิใช่การยับยั้งมิให้สร้างเขื่อน ยุติการวางท่อก๊าซ หรือได้เงินค่าชดเชยอย่างเป็นธรรมเท่านั้น เหนือกว่านั้นคือการเปลี่ยนโครงสร้างอันรุนแรง หรือลดทอนความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะทำได้ก็โดยการสร้างจิตสำนึกและทัศนคติใหม่แก่ประชาชน จิตสำนึกและโลกทัศน์ดังกล่าว สร้างไม่ได้ด้วยความรุนแรง แต่ต้องเริ่มต้นด้วยสันติวิธี เพราะสันติวิธีเอื้อให้คนรับฟังได้ง่ายกว่า ขณะเดียวกันเมตตาธรรมซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับความโกรธก็ช่วยให้เกิดปัญญาแลเห็นตัวปัญหาที่แท้จริง พร้อมกันนั้นก็ทำให้เห็นทางออกที่หลากหลาย มิใช่ถูกตีกรอบด้วยวิธีรุนแรง ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงความสุขด้านในยังช่วยให้จิตสงบเย็น มีสติ ไม่ลุแก่โทสะ เกิดความยั้บยั้งชั่งใจไม่ใช้ความรุนแรงเป็นทางออก นอกจากนั้นศาสนธรรมยังทำให้การต่อสู้นั้นเป็นไปได้ต่อเนื่องและรักษาอุดมคติไว้ได้ ทั้งนี้เพราะการมีชีวิตอยู่ รู้จักสันโดษ ทำให้บุคคลไม่หลงเป็นเหยื่อของอามิสสินจ้าง หรือเป็นทาสแก่โลภะ จนละทิ้งการต่อสู้ หรือกลายเป็นเครื่องมือของอำนาจทุน ขณะเดียวกันการมีสติ รู้จักทำใจสงบ ก็ทำให้รู้เท่าทันกิเลสตัณหาในตน ไม่ต่อสู้เพื่อสนองทิฐิมานะของตน หรือเพื่อยกตนให้สูงขึ้น จะเห็นได้ว่าศาสนธรรมจำเป็นสำหรับการเมืองเพื่อสันติในทุกขั้นตอน ไม่ว่าในขั้นการพัฒนาอุดมการณ์ และวิสัยทัศน์ของภาคประชาชน การรวมกลุ่มหรือจัดตั้งเป็นขบวนการ การต่อสู้ทางการเมือง การดำเนินวิถีชีวิตควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมือง และการผลักดันให้เกิดโครงสร้างหรือระบบที่เป็นทางเลือกใหม่ ศาสนธรรมยังทำให้เกิดสันติทั้งระดับส่วนบุคคล ระดับปฏิบัติการ และระดับโครงสร้าง ทำให้เกิดทั้งแก่ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทำให้มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ดังคำของท่านพุทธทาสภิกขุ ปรับปรุงจากเค้าโครงปาฐกถาในหัวข้อเดียวกัน ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๓ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|