|
|
ทำความเข้าใจอทวิภาวะ ในทัศนะของอทวิภาวะ แต่ละด้านของความจริงไม่เพียงแต่อยู่คู่เคียงกันอย่างไม่อาจแยกจากกันเท่านั้น ลึกลงไปกว่านั้นในแต่ด้านของความจริง ก็ยังมีด้านที่เป็นขั้วตรงข้ามแฝงอยู่ด้วย ในสุขย่อมมีทุกข์ เช่นเดียวกับในทุกข์ย่อมมีสุขให้สัมผัสได้ สั้นและยาวนั้นอยู่ด้วยกัน ไม้บรรทัดนั้นสั้นเมื่อเทียบกับเสาไฟฟ้า แต่ยาวเมื่ออยู่ใกล้ดินสอ ในทำนองเดียวกัน ในความหนาวมีความร้อน และในความร้อนก็มีความหนาว ในความมืดมีความสว่าง เช่นเดียวกันในความสว่างก็มีความมืดแฝงอยู่ด้วย กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อทวิภาวะมองว่าโลกนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียว หาได้แยกแยะเป็นส่วน ๆ ออกจากกันไม่ พุทธศาสนานั้นมองโลกอย่างเป็นอทวิภาวะตามหลักอิทัปปัจจยตา โดยเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกันเป็นสหสัมพันธ์ ไม่มีอะไรแยกขาดจากกันเป็นขั้วหรือเป็นคู่ ๆ ได้ ดังมีพุทธพจน์ว่า แสงสว่างต้องอาศัยความมืดจึงปรากฏ ความงามต้องอาศัยความไม่งามจึงปรากฏ นอกจากจะอิงอาศัยกันแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนตรงข้ามกันยังปรากฏอยู่ด้วยกัน พุทธพจน์ตอนหนึ่งมีความว่า ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต ทัศนะการมองแบบอทวิภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญมาก เพราะช่วยให้บุคคลหลุดพ้นจากความติดยึดในสมมติบัญญัติ ซึ่งพัวพันกับการมองโลกเป็นคู่ ๆ สามารถอยู่เหนือดีและชั่ว สุขและทุกข์ ตลอดจนโลกธรรมทั้งปวง ช่วยให้ถอนจากความสำคัญมั่นหมายในตัวตน(ว่ามีอยู่อย่างเป็นอิสระเอกเทศและยั่งยืนถาวร) ดังนั้นจึงนำไปสู่อิสรภาพทางจิตใจอย่างสิ้นเชิง แต่อทวิภาวะจะมีความสำคัญแต่เฉพาะการพัฒนาในทางจิตวิญญาณอย่างเดียวก็หาไม่ หากยังมีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิตและกิจกรรมในทางโลกอีกด้วย สันติวิธี จะทำเช่นนั้นได้ สันติวิธีจะต้องมีพื้นฐานอยู่บนทัศนะการมองแบบอทวิภาวะ ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และบั้นปลาย ของปฏิบัติการ ดังจะได้กล่าวต่อไป ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่มองโลกแบบขาว-ดำ การมองแบบอทวิภาวะจะช่วยให้เราตระหนักว่าไม่มีฝ่ายใดที่เลวไปหมด และอีกฝ่ายถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ การกระทำของฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมเป็นผลสืบเนื่องหรือสัมพันธ์กับการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอไม่มากก็น้อย ผู้ปกครองกระทำตัวเป็นเผด็จการได้ส่วนหนึ่งก็เพราะความเฉยเมยหรือการยินยอมของราษฎร คานธีเคยตั้งข้อสังเกตว่า คนอังกฤษจำนวน ๓๐,๐๐๐ คนสามารถปกครองคนอินเดียจำนวน ๓๐๐ ล้านคนได้อย่างไร หากคนอินเดียไม่ยินยอมให้เขามาปกครอง ความชั่วร้ายของคนจำนวนมากบ่อยครั้งก็เป็นผลจากโครงสร้างหรือระบบต่าง ๆ ในสังคมที่อยุติธรรมหรือบ่มเพาะปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง โดยที่โครงสร้างหรือระบบดังกล่าวนี้เราเองก็มีส่วนสนับสนุนด้วย ดังนั้นเราจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมอันชั่วร้ายของคนเหล่านั้นได้ อทวิภาวะไม่เพียงแต่จะเตือนให้ตระหนักว่าเราเองก็มีส่วนร่วมในความชั่วร้ายของคู่กรณีเท่านั้น หากยังตอกย้ำด้วยว่าเราไม่สามารถแบ่งโลกออกเป็นขาวและดำ โดยเราอยู่ในฝ่ายขาว และอีกฝ่ายอยู่ฝ่ายดำ ทั้งนี้ก็เพราะ แม้เราจะเป็นคนดีเพียงใด แต่ใช่หรือไม่ว่าลึกลงไปในจิตใจของเราย่อมมีความเลวร้ายแฝงฝังอยู่ด้วย อาทิ ความโกรธเกลียด พยาบาท หรือเห็นแก่ตัว ในอีกด้านหนึ่ง ลึกลงไปในจิตใจของคนชั่วร้าย ก็ย่อมมีความดีอยู่ไม่มากก็น้อย ความข้อนี้โซลเชนิตซิน นักเขียนรางวัลโนเบลชาวรัสเซียพูดไว้อย่างน่าฟังว่า ถ้าเพียงแต่ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ไหนสักแห่งและคอยทำแต่สิ่งชั่วร้าย เราก็แค่แยกคนพวกนั้นออกจากพวกเราแล้วก็ทำลายเขาเสีย เท่านั้นก็จบกัน แต่เส้นแบ่งความดีและความชั่วนั้นผ่าลงไปในใจของมนุษย์ทุกคน ใครเล่าที่อยากจะทำลายส่วนเสี้ยวในใจของตน? เมื่อ ๓๐ ปีก่อนมีการทดลองทางจิตวิทยาที่ลือลั่นไปทั่วโลก ผู้ทำการทดลองซึ่งเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ได้สร้างคุกจำลองขึ้นเพื่อศึกษาสาเหตุแห่งความกดดันที่เกิดกับคนในคุก อาสาสมัคร ๒๕ คนเข้าร่วมการทดลองนี้ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่มาจากครอบครัวคนชั้นกลาง ในจำนวนนี้ ๑๐ คนทดลองเป็นนักโทษ ที่เหลือเป็นผู้คุม การทดลองมีกำหนด ๑๔ วัน แต่พอดำเนินไปได้เพียง ๖ วันก็ต้องยุติกลางคัน เพราะสถานการณ์เลวร้ายลงอย่างไม่คาดคิด เนื่องจากผู้คุมแสดงอำนาจบาตรใหญ่และใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากทุบตี จับขังเดี่ยวนาน ๆ แล้ว ยังจับนักโทษเปลื้องผ้าเวลาทำผิด และบังคับให้ทำท่าร่วมเพศวิตถาร ผลก็คือนักโทษซึ่งเคยก่อกวนเมื่อ ๒ วันแรก มีอาการหงอย หงอ และซึมอย่างผิดหูผิดตา คำถามก็คือคนธรรมดาสามัญกลายเป็นคนโหดร้ายภายในเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร คำตอบนั้นส่วนหนึ่งอยู่ที่สภาพในคุกและบทบาทซึ่งให้อำนาจล้นเหลือแก่อาสามัครที่เป็นผู้คุม แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือความโกรธเกลียดและความหลงในอำนาจที่กบดานอยู่ในจิตใจของคนธรรมดาสามัญเหล่านั้นนั่นเอง ข้อเท็จจริงที่ว่าเราเองก็มีส่วนร่วมหรือเป็นเหตุปัจจัยแห่งความชั่วร้ายของผู้อื่นด้วย ทำให้เราไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อ กำจัดเขาไปจากสังคมหรีอโลกนี้ (ถ้าทำกับเขาอย่างไร ก็ต้องทำกับเราเองอย่างนั้นด้วย) ขณะเดียวกันความตระหนักว่าในจิตใจของเรานั้นก็มีความชั่วร้ายแฝงฝังอยู่ ก็ทำให้เราต้องระมัดระวังที่จะใช้ความรุนแรงกระทำกับผู้อื่น เพราะความรุนแรงนั้นเองจะหล่อเลี้ยงบ่มเพาะความชั่วร้ายในใจเราให้เติบใหญ่ขึ้น จนแสดงตัวออกมาเป็นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย หรือแปรเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนชั่วร้ายในที่สุด ตำรวจที่ใช้วิธีการอันเลวร้ายกับโจร ในที่สุดกลับมีพฤติกรรมไม่ต่างจากโจร พูดอย่างอทวิภาวะก็คือ ในตำรวจนั้นมีความเป็นโจรที่รอการฟูมฟักแฝงอยู่ด้วย ในเรื่องนี้ ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า ฉันคือเด็กในอูกันดา
มีแต่หนังหุ้มกระดูก ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ ฉันคือสมาชิกกรมการเมือง ประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า การมองโลกเป็นขาวเป็นดำอย่างชัดเจนนั้น ได้สร้างความทุกข์ทรมานและโศกนาฏกรรมแก่มนุษยชาติมานับครั้งไม่ถ้วน อาชญากรรมของฮิตเลอร์ สตาลิน และพอลพต ล้วนเกิดขึ้นจากการมองคู่กรณี (ยิวและชนชั้นกลาง)ว่าเป็นตัวชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้หมดไปจากโลก แต่แล้วความรุนแรงที่คนทั้งสามใช้กลับทำให้เขากลายเป็นคนชั่วร้ายยิ่งกว่าคนที่เขาต้องการกำจัดเสียอีก อุสมาบินลาเดนและจอร์จ บุช เป็นตัวอย่างล่าสุดของการสร้างความทุกข์ยากแก่เพื่อนมนุษย์เพราะมองโลกเป็นขาวเป็นดำอย่างชัดเจน การมองแบบอทวิภาวะเป็นพื้นฐานอันมั่นคงสำหรับปฏิบัติการสันติวิธี เพราะทำให้ตระหนักว่ามีแต่สันติวิธีเท่านั้นถึงจะขจัดความเลวร้ายออกไปจากสังคมได้อย่างแท้จริง ในทางตรงข้าม การใช้ความรุนแรงนั้นทำได้อย่างมากเพียงแค่ขจัด คนชั่วร้ายออกไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ไม่สามารถขจัด ความชั่วร้ายออกไปได้อย่างแท้จริง ความชั่วร้ายยังคงอยู่เพราะ ๑) โครงสร้างหรือระบบที่หล่อหลอมเพิ่มพูนความชั่วร้าย เช่น ความเห็นแก่ตัว ความโกรธเกลียด หรือความอยุติธรรม ยังไม่ได้รับการแก้ไข ๒) ความชั่วร้ายในใจของผู้คนยังมีอยู่ รวมทั้งในใจของผู้ที่เป็นฝ่ายขจัดคนชั่วร้าย ทั้งโครงสร้างหรือระบบที่ก่อปัญหา และ ความชั่วร้ายในใจผู้คนนั้น ไม่สามารถขจัดหรือแก้ไขได้ด้วยความรุนแรงใด ๆ มีแต่จะต้องใช้สันติวิธีเท่านั้นถึงจะจะขจัดออกไปได้ ความรุนแรงนอกจากจะขจัดความชั่วร้ายออกไปไม่ได้แล้ว ในที่สุดยังกลับเพิ่มคนชั่วร้ายให้มีมากขึ้น แทนที่จะลดลง คนชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้นนั้นได้แก่ บุคคลที่ใช้ความรุนแรงกระทำกับผู้อื่น(แม้จะเพื่อพิทักษ์ความดีก็ตาม) และบุคคลที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งเกิดความเคียดแค้นชิงชังและหันไปหาความรุนแรงที่เข้มข้นกว่าเพื่อตอบโต้ ปฏิบัติการแบบอทวิภาวะ กระทำโดยไม่กระทำ การไม่แยกภาวนากับกิจกรรมทางสังคมออกจากกัน ในขณะที่ปฏิบัติการทางสังคมเป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับนักสันติวิธีแล้ว การปฏิบัติธรรมบ่อยครั้งก็เป็นการปฏิบัติการทางสังคมและการเมืองไปด้วย ดังเห็นได้จากการตั้งอาศรมของคานธีโดยมีวิถีชีวิตแบบทวนกระแส เช่น ปั่นด้ายทอฝ้ายกับมือ ได้ก่อผลกระทบทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อระบอบอาณานิคมของอังกฤษไม่น้อยเลย ในข้อนี้พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า การรักษาตนกับการรักษาผู้อื่นไม่อาจแยกจากกันได้ รักษาตนคือรักษาผู้อี่น ส่วนรักษาผู้อื่นคือรักษาตน กระทำโดยไม่มีผู้กระทำ ความขัดแย้งจนกลายเป็นการวิวาทบาดหมางในหมู่ผู้ปฏิบัติงานสันติวิธี มักเกิดขึ้นเพราะความสำคัญมั่นหมายในตัวกูของกู ความขัดแย้งทางความคิดมักกลายเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคลก็เพราะเหตุนี้ ทำให้งานไม่สามารถดำเนินไปได้ นอกจากความสัมพันธ์จะไม่ราบรื่นแล้ว ความสำคัญมั่นหมายในตัวกูของกูยังทำให้นักปฏิบัติการสันติวิธีมีความทุกข์ เพราะเมื่องาน ของฉัน ไม่สำเร็จดังที่คาดหวัง ก็รู้สึกว่า ฉัน ล้มเหลวไปด้วย หรือเอาตัวตนไปออกรับเป็นเจ้าของความล้มเหลวนั้น ในทางตรงกันข้าม หากประสบความสำเร็จ ก็ง่ายที่จะปลาบปลื้มจนเกิดความประมาท หรือติดยึดกับความสำเร็จนั้น จนทำใจไม่ได้เมื่อประสบความล้มเหลวในเวลาต่อมา การมองแบบอทวิภาวะ ช่วยให้ไม่มองการกระทำกับผู้กระทำแยกจากกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมีแต่การกระทำแต่ไม่มีผู้กระทำ นักปฏิบัติการสันติวิธีหากกระทำด้วยท่าทีดังกล่าว ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่นในการเป็นเจ้าของการกระทำ หรือเจ้าของผลของการกระทำนั้น ๆ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข สัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น และใช้ปัญญาใคร่ครวญกับงานนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่ คือพิจารณาไปตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ มิใช่คิดด้วยอคติหรือเข้าข้างตน การทำด้วยท่าทีเช่นนี้ ย่อมช่วยให้ปฏิบัติการสันติวิธีนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมหรือภาวนาขั้นสูง คือการเป็นอิสระจากความสำคัญมั่นหมายในตัวตน จะเห็นได้ว่า การมองแบบอทวิภาวะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปฏิบัติการสันติวิธีในทุกขั้นตอน อทวิภาวะยังทำให้ปฏิบัติการสันติวิธีมีความสอดคล้องกับหลักธรรมทางพุทธศาสนา หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ปฏิบัติการสันติวิธีแบบพุทธควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการมองแบบอทวิภาวะ |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|