![]() นิตยสาร IMAGE
สิงหาคม ๒๕๕๗
แบ่งปันบน facebook Share |
“มันเป็นความอัปยศของปารีส....มันข่มปารีสประหนึ่งปล่องโรงงานสีดำขนาดยักษ์ ซึ่งบดเบียดวิหารนอเตรอะดาม..ลูฟว์ และประตูชัย ด้วยความเทอะทะน่าเกลียดของมัน” นี้เป็นข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของปัญญาชนชั้นนำชาวฝรั่งเศส ๕๐ คนเมื่อปี ๒๔๓๐ พวกเขาทนไม่ได้ที่นครปารีสอันเป็นที่รักของเขากำลังมัวหมองเสื่อมทรามด้วย “เงาอัปลักษณ์ของแท่งกลวงโบ๋ที่ทำจากแผ่นโลหะ” สิ่งที่คนเหล่านี้ต่อต้านด้วยความรังเกียจชิงชังมิใช่อะไรอื่น หากได้แก่หอไอเฟิล นั่นเอง รูปทรง วัสดุ และความใหญ่โตสูงเด่นของหอนี้แปลกแหวกแนวเกินกว่าที่ปัญญาชนชั้นนำของฝรั่งเศสจะรับได้ คนเหล่านี้ล้วนมีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมและศิลปะ อาทิ อเล็กซองดร์ ดูมาส์ ซึ่งโด่งดังจากนิยาย “สามทหารเสือ” กีย์ เดอ โมปัซซองต์ นักเขียนเรื่องสั้นแนวหักมุม แม้แต่ปิซซาโร ผู้บุกเบิกศิลปะแนวอิมเพรสชันนิสม์ ก็คัดค้านเช่นกัน บางคนถึงกับเรียกมันว่า “แท่งเหน็บทวารที่ตั้งโด่เด่มีรูพรุน” ๘๕ ปีต่อมา ก็มีเสียงคัดค้านอื้ออึงทำนองเดียวกันจากชนชั้นนำในปารีส เมื่อรัฐบาลมีโครงการสร้างศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่กลางมหานคร ซึ่งเป็นทั้งหอสมุดและพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย สถาปัตยกรรมของศูนย์ปอมปิดูแห่งนี้ไม่เหมือนใคร เพราะเปิดเผยโครงสร้างอาคารรวมทั้งท่อนับร้อยให้เห็นเด่นชัดจากภายนอก แถมระบายสีสรรให้สะดุดตา ทั้งเขียว แดง เหลือง น้ำเงิน ไม่มีบรรยากาศขรึมขลังแบบพิพิธภัณฑ์ที่คนทั่วไปรู้จักเลย “ในที่สุดปารีสก็มีอสุรกาย เหมือนตัวที่อยู่ในล็อคเนส” (ทะเลสาบในสกอตแลนด์ที่เชื่อกันว่ามีไดโนเสาร์หลบซ่อนอยู่) เป็นคำวิจารณ์จากเลอฟิกาโร หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลในฝรั่งเศส หลายคนรับไม่ได้ที่อาคารหน้าตาพิลึกถูกสร้างกลางย่านประวัติศาสตร์ที่อุดมด้วยตึกเก่าอันงดงาม ทำให้เสียบรรยากาศคลาสสิคอันเป็นเอกลักษณ์ของปารีสไป นั่นเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ผู้คนรุมวิจารณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับพิพิธภัณฑ์ลูฟว์สิบกว่าปีต่อมา เป้าสำคัญอยู่ที่ปิรามิดกระจกขนาดใหญ่ ที่สร้างครอบทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย มันเป็นสิ่งที่แปลกแยกกับสถานที่มาก รูปลักษณ์ราวกับหลุดจากโลกอนาคต ช่างขัดแย้งอย่างยิ่งกับอาคารคลาสสิกที่เป็นแบบฉบับของลูฟว์ อย่างไรก็ตามมาถึงวันนี้ สถานที่ทั้งสามแห่งได้กลายเป็นความภาคภูมิใจของปารีสและฝรั่งเศสทั้งประเทศไปแล้ว สำหรับคนทั่วโลก ทั้งสามคือสถานที่ที่ต้องไปเยือนหากได้ย่างเหยียบมหานครแห่งนี้ ใช่แต่เท่านั้นมันยังได้ก่อกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงในวงการสถาปัตยกรรม อีกทั้งเป็นแบบอย่างให้แก่นานาประเทศทั่วโลกที่ต้องการสร้างสิ่งเชิดหน้าชูตาให้แก่เมืองของตน ถึงวันนี้คงมีน้อยคนที่เชื่อว่าครั้งหนึ่งหอไอเฟิล ศูนย์ปอมปิดู และปิรามิดลูฟว์ เคยถูกต่อต้านอย่างหนักมาแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ทั้งสามเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สิ่งซึ่งได้รับการยกย่องและชื่นชมนั้น ใช่ว่ามหาชนจะให้การต้อนรับแต่เริ่มแรก ก็หาไม่ อาจได้รับผลตรงกันข้าม ทั้งนี้ก็เพราะมันมาก่อนกาลเวลานั้นเอง ดังนั้นหากถูกเยาะเย้ย ถากถาง และโจมตี เพราะคิดหรือทำไม่เหมือนใคร ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะนั่นมักเกิดขึ้นกับสิ่งล้ำยุคล้ำสมัยก่อนที่การยกย่องสรรเสริญจะตามมาในภายหลัง จะว่าไปแล้วก่อนจะได้รับคำสรรเสริญ มักต้องเจอกับคำวิจารณ์เสมอ ดังนั้นเมื่อจะทำอะไรจึงไม่ควรหวั่นไหวกับคำตำหนิ ที่จริงแล้วหากมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ ก็ไม่ควรปลาบปลื้มในคำสรรเสริญเช่นกัน เพราะอาจเสียใจในภายหลังเมื่อต้องพบกับคำต่อว่าด่าทอ สรรเสริญกับนินทา เป็นของคู่กัน จะหวังแต่คำสรรเสริญโดยหลีกหนีคำนินทาหาได้ไม่ ถ้าอยากมีความสุขและสนุกกับงาน ก็ควรปล่อยวางทั้งคำสรรเสริญและเสียงนิทนา
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |