![]() นิตยสาร IMAGE
ธันวาคม ๒๕๕๖
แบ่งปันบน facebook Share |
ปีสุดท้ายของการเป็นนักศึกษา สุทธิศาสตร์ต้องไปฝึกงานด้านสังคมสงเคราะห์ เขาอยากไปทำงานกับองค์กรชาวบ้านในภาคอีสาน แต่อาจารย์ต้องการให้เขาไปเรียนรู้จากหน่วยงานราชการ เขาพยายามชี้แจงอย่างไรอาจารย์ก็ไม่ยอม แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า งั้นไปฝึกงานสงเคราะห์ชาวเขาในภาคเหนือก็แล้วกัน แต่เมื่อเดินทางไปถึงเชียงใหม่ เขาจึงทราบว่าสถานฝึกงานที่อาจารย์ติดต่อให้เขา คือกรมประชาสงเคราะห์ ไม่ใช่เอ็นจีโออย่างที่ตกลงกัน เขาโมโหมาก ขุ่นมัวกับเรื่องนี้ทั้งวัน ตกค่ำก็ยังไม่หายคับข้องใจ วันรุ่งขึ้นอาจารย์ที่ปรึกษามาหาเขา เขาจึงระบายความโกรธใส่อาจารย์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย แต่เขาไม่สนใจ อาจารย์พยายามอธิบายอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง มีช่วงหนึ่งอาจารย์ทักเขาว่า “สุทธิศาสตร์ คิ้วของเธอผูกเป็นโบว์เลยนะ” ได้ยินเท่านี้เขาก็ชะงัก คำพูดของอาจารย์ทำให้เขาเพิ่งรู้ตัวว่ากำลังหน้านิ่วคิ้วขมวดด้วยความโกรธ ทันทีที่เห็นความโกรธพลุ่งพล่านในใจ ความโกรธก็หลุดหายไปทันที เกิดความรู้สึกโปร่งเบา แตกต่างจากความรู้สึกเมื่อสักครู่อย่างชัดเจน ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาประจักษ์ชัดถึงพลังแห่งสติว่าสามารถปลดเปลื้องอารมณ์ไปจากใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ความโกรธเผาลนจิตใจเป็นวันเป็นคืน แต่ผู้คนทั้งหลายหารู้ตัวไม่ เพราะใจนั้นพุ่งออกไปยังบุคคลหรือเหตุการณ์ที่ทำให้ตนไม่พอใจ คิดแต่จะตอบโต้เขาด้วยคำพูดและการกระทำ ในยามนั้นใจไม่ได้หันกลับมามองตนเลย จึงไม่รู้ว่ากำลังถูกความโกรธครอบงำ สุทธิศาสตร์ก็เช่นกัน หลงปล่อยให้ความโกรธเล่นงานข้ามวันข้ามคืนโดยไม่รู้ตัว ต่อเมื่อถูกอาจารย์ทัก จึงค่อยรู้ว่าเผลอโกรธไปตั้งนาน หากไม่รู้ตัว เขาคงระบายไม่หยุดและเป็นทุกข์อีกนาน ความโกรธทำให้ลืมตัว และความลืมตัวทำให้โกรธหนักขึ้น จนสามารถทำอะไรก็ได้อย่างที่ตนเองอาจนึกไม่ถึงด้วยซ้ำ โรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน นอกจากจราจรหน้าโรงเรียนจะแน่นขนัดแล้ว ที่จอดรถในโรงเรียนยังหาได้ยากด้วย มีผู้ปกครองคนหนึ่งเลี่ยงปัญหานี้ด้วยการแหกกฎ ขับรถเข้าทางประตูออก จึงไม่ต้องเสียเวลาจอดออที่ประตูเข้า แถมยังได้ที่จอดรถอย่างง่ายดาย บังเอิญนั่นเป็นที่จอดรถสุดท้ายที่เหลืออยู่ ผู้ปกครองอีกคน ซึ่งควรจะได้ที่จอดรถนั้นเพราะขับตามกฎของโรงเรียน ไม่พอใจที่ถูกแย่งที่จอดรถไปต่อหน้าต่อตา จึงลงจากรถไปต่อว่าเขา โดยหารู้ไม่ว่าชายผู้นั้นเป็นนายทหารยศพันเอก ฝ่ายหลังนั้นไม่เคยถูกต่อว่าเช่นนี้มาก่อน จึงโกรธมาก ถามกลับไปว่า “รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร” คำตอบที่ได้รับคือ “ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำผิดกฎของโรงเรียน ทำอย่างนี้ไม่ถูก” พูดเสร็จ เขาก็เดินกลับไปที่รถของตน นายทหารผู้นั้นโกรธจัด คว้าปืนจากรถแล้วเดินตามผู้ปกครองคนนั้นไป หมายจะยิงให้หายแค้น โดยอีกฝ่ายไม่รู้เลยว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับตน เหตุการณ์ทั้งหมดนี้อยู่ในสายตาของพนักงานขับรถคนหนึ่งของโรงเรียน เขาเห็นท่าไม่ดี จึงเข้าไประงับเหตุร้าย แต่เขารู้ดีว่าหากทะเล่อทะล่าเข้าไป อาจกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายแทนก็ได้ สิ่งที่เขาทำก็คือ เดินไปหานายทหารผู้นั้น สัมผัสที่แขนแล้วพูดอย่างอ่อนน้อมว่า “ท่านครับ ท่านมารับลูกไม่ใช่หรือครับ” พอได้ยินคำว่า “ลูก” เขาก็ได้สติขึ้นมาทันที ความโกรธพลันหายไป ครั้นรู้สึกตัวขึ้นมาว่ากำลังจะทำอะไรลงไป เขาก็เปลี่ยนใจ หันกลับไปที่รถ เอาปืนไปเก็บ แล้วเดินไปรับลูก จึงรอดพ้นจากการเป็นอาชญากรไปได้อย่างหวุดหวิด ความโกรธกับสติ เป็นคู่ตรงข้ามกัน ถ้าไม่มีสติ ความโกรธก็รังควานจิตใจได้ง่าย แต่ถ้ามีสติเมื่อใด ความโกรธก็อยู่ไม่ได้ บุคคลในเรื่องทั้งสองได้สติก็เพราะมีคนช่วยทักช่วยเตือน แต่คนเราไม่ได้โชคดีไปตลอด หากไม่มีคนช่วยทักช่วยเตือน ทำอย่างไรความโกรธจะไม่ครอบงำจนเผลอทำสิ่งที่ต้องเสียใจในภายหลัง คำตอบก็คือ ต้องพัฒนาสติของตัวเองให้ทำงานได้ทันท่วงที ด้วยเหตุนี้เองเมื่อสุทธิศาสตร์เรียนจบ เขาจึงตัดสินใจออกบวชเพื่อฝึกสติให้เจริญงอกงาม เขาได้พบกับความสงบเย็น อารมณ์ไม่ผันผวนขึ้นลงเหมือนก่อน ผ่านไปสิบปีแล้วเขาก็ยังมีความสุขอยู่ในผ้าเหลือง แต่เราไม่จำเป็นต้องบวชก็ได้ เพียงแค่หมั่นดูใจของตนอยู่เสมอ ทำอะไรใจก็อยู่กับสิ่งนั้น ใจลอยไปไหน ก็รู้ แล้วกลับมาอยู่กับสิ่งนั้น ทำบ่อย ๆ สติก็จะว่องไวปราดเปรียว ช่วยคุ้มกันใจ ไม่ให้อารมณ์ใด ๆ ครอบงำ เพียงเท่านี้ ความสงบเย็น โปร่งโล่งเบาสบาย จะกลายเป็นเรื่องง่าย แม้รอบตัววุ่นวายเพียงใดก็ตาม
|
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|
![]() |