หน้ารวมบทความ
   บทความ > นิตยสารอิมเมจ > อย่าเห็นแต่กากบาท
กลับหน้าแรก

นิตยสาร IMAGE สิงหาคม ๒๕๕๖
อย่าเห็นแต่กากบาท
ภาวัน

แบ่งปันบน facebook Share   

ตอนที่ธนา เธียรอัจฉริยะ เข้ามาปลุกปล้ำก่อร่างสร้าง Happy ก่อนจะกลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังในหมู่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินนั้น เขาเคยสงสัยว่า โดยปกติคนไทยใช้โทรศัพท์แต่ละครั้งนานแค่ไหน

เมื่อสอบถามคนเป็นจำนวนมากทั้งใกล้และไกล  คำตอบที่ได้ก็คือประมาณ ๓-๕ นาที 

คำตอบดังกล่าวดูไม่น่าสะดุดใจอะไร เว้นเสียแต่ว่ามันตรงข้ามกับข้อมูลที่เขาได้มาอีกทางหนึ่ง ตัวเลขที่เขามีในมือนั้นระบุว่า ลูกค้ามากกว่า ๖๐% ใช้ไม่ถึงครึ่งนาที  และ ๙๐% ใช้ไม่ถึง ๒นาที

ความคิดความเชื่อของผู้ใช้กับความเป็นจริงนั้นต่างกันไกลมาก

ข้อที่น่าคิดก็คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ธนาอธิบายว่าเป็นเพราะคนเรามักจะจำได้แต่ครั้งที่โทร.นาน ๆ  เนื่องจากมีเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เวลาคุยนาน  ส่วนประเภทที่คุยทักทายสั้น ๆ  มักจะจำไม่ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามักจะจำได้แม่นหากเป็นเรื่องที่ไม่ปกติแม้เกิดขึ้นไม่บ่อย ส่วนอะไรที่เกิดขึ้นเป็นประจำจนกลายเป็นปกติ เรามักไม่ค่อยจดจำ

นี้อาจเป็นสาเหตุเดียวกับที่ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า  เวลาต้องการใช้แท็กซี่ มักจะหารถได้ยาก แต่เวลาไม่มีกิจต้องเดินทาง ปรากฏว่าแท็กซี่ว่างมากันเต็มถนน  ส่วนคนที่ต้องขึ้นรถเมล์ มักจะพบว่าเวลาต้องการขึ้นสายใด สายนั้นกลับหายไปจากถนน ขณะที่สายอื่น ๆ มากันเป็นแถว  ครั้นเปลี่ยนใจจะขึ้นสายอื่น ที่เคยมาแบบถี่ ๆ  ก็ขาดตอนไปเลย ราวกับโชคชะตากรรมกลั่นแกล้ง

ถ้าคุณเป็นหนึ่งในนั้น คุณคงอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองเป็นคนไม่มีโชค แต่ความจริงอาจไม่ใช่เช่นนั้นก็ได้  ปกติคุณอาจจะคอยรถไม่นาน  เป็นบางครั้งเท่านั้นที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา  แต่พอมันเกิดขึ้นทีใดคุณก็มักหงุดหงิดหัวเสีย  เหตุการณ์นั้นจึงประทับแน่นในใจมากกว่า  ผิดกับตอนที่รถมาทันใจหรือใช้เวลาคอยไม่นาน  คุณมักรู้สึกเฉย ๆ  หรือดีใจไม่มาก  จึงไม่ค่อยจดจำเหตุการณ์เหล่านั้น แม้เกิดขึ้นบ่อยกว่าก็ตาม

เคยมีครูประถมคนหนึ่งชูกระดาษเปล่าให้นักเรียนทั้งชั้นดู  กระดาษแผ่นนั้นมีกากบาทสีดำอยู่มุมขวา  เมื่อครูถามว่านักเรียนเห็นอะไร  คำตอบคือ “กากบาทสีดำครับ”  ครูถามต่อว่า แล้วนักเรียนเห็นอะไรอีกหรือเปล่า นักเรียนทั้งชั้นเงียบ  ครูจึงถามต่อว่า “แล้วเธอไม่เห็นสีขาวของกระดาษเลยหรือ ?”  ถึงตรงนี้นักเรียนจึงร้องอ๋อ

นักเรียนทั้งชั้นเห็นแต่กากบาทสีดำ เพราะมันผิดปกติ ในขณะที่สีขาวของกระดาษนั้นดูธรรมดามาก นักเรียนจึงไม่สนใจ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่สีขาวนั้นมีมากกว่าส่วนที่เป็นสีดำหลายสิบเท่า

สิ่งที่ผิดปกติ มักจะโดดเด่นในความรู้สึกของเรา เราจึงจำมันได้แม่น   เป็นเพราะเหตุนี้ใช่ไหมเวลาคนรักทำให้เราผิดหวังแม้เพียงครั้งสองครั้ง ความรู้สึกไม่ดีต่อเขาจึงติดตรึงใจเราไปนาน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขาทำดีกับเรามาโดยตลอด

ในทำนองเดียวกัน  แม้จะมีชีวิตราบรื่นเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมีเหตุร้ายเกิดขึ้นไม่กี่ครั้ง หลายคนจึงรู้สึกว่าชีวิตของตนเต็มไปด้วยเคราะห์กรรม    ผู้คนเป็นอันมากจำความทุกข์ได้มากกว่าความสุข ไม่ใช่เพราะว่ามันเกิดขึ้นเป็นประจำ  แต่เพราะมันคือความไม่ปกติมากกว่า  (ซึ่งแปลว่าเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง)  จึงโดดเด่นประทับแน่นในใจเขา

ความเชื่อหรือความรู้สึกอาจหลอกเราได้  ถ้าเราไม่เชื่อมันง่ายเกินไป เราอาจมีความสุขมากกว่านี้ และยิ้มให้แก่ตัวเองกับคนรอบตัวบ่อยขึ้นก็ได้


รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved