
นิตยสาร IMAGE
พฤษภาคม ๒๕๕๔
ใจกว้าง
ภาวัน
ผมไม่ชอบคุณ.....แต่ผมจะยืนหยัดเพื่อคุณ
ผู้ที่พูดประโยคนี้คือ วิลเลียม
คับเลนทซ์ (William Coblentz) อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
ส่วนคนที่เขาพูดด้วยก็คือ เอลดริดจ์ คลีฟเวอร์ (Eldridge Cleaver)
ผู้นำแห่งพรรคเสือดำ อันลือเลื่อง ซึ่งมีความคิดหัวรุนแรงและสนับสนุนการปฏิวัติด้วยอาวุธ
ในปี ๑๙๖๖ หลังจากที่ออกจากคุก คลีฟเวอร์ได้รับเชิญให้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
วิทยาเขตเบิร์คลีย์ ในขณะที่นักคิดหัวรุนแรงคนอื่น ๆ ทั้งที่เป็นฝ่ายซ้ายและคอมมิวนิสต์
เช่น เฮอเบิร์ต มาร์คิวส์ แองเจลา เดวิส ได้รับเชิญให้ไปสอนที่วิทยาเขตซานดิอาโก
ของมหาวิทยาลัยเดียวกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ผู้คนเป็นอันมาก
โดยเฉพาะโรนัลด์ เรแกน ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในเวลานั้น
มีความพยายามจากหลายฝ่ายเพื่อกดดันมหาวิทยาลัยให้เชิญคนเหล่านั้นออกไป
เรแกนถึงกับพูดว่า ถ้าเอลดริดจ์ คลีฟเวอร์ ได้รับอนุญาตให้สอนลูกหลานของเรา
คงมีสักคืนหนึ่งที่พวกเขากลับมาบ้านแล้วเชือดคอพวกเรา
แม้คับเลนทซ์จะมิได้รู้เห็นกับการเชิญคนเหล่านี้มาสอนในมหาวิทยาลัยของเขา
แต่เขาเห็นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เขาเองไม่เห็นด้วยกับความคิดทางการเมืองของเอลดริดจ์
แต่ก็เห็นว่าเอลดริดจ์มีสิทธิที่จะมีความคิดแบบสุดโต่ง เขาจึงเมินเฉยเสียงกดดันจากทุกสารทิศ
และไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของเรแกน
อันที่จริงคับเลนทซ์มีเหตุผลที่ไม่ชอบเอลดริดจ์
เนื่องจากเขามีความประพฤติส่วนตัวที่ไม่สู้ดีนัก แต่เห็นว่าเขามีสิทธิที่จะสอนในมหาวิทยาลัยตราบเท่าที่เขาไม่ปลุกระดมหรือ
เผยแพร่ศาสนาของเขาในชั้นเรียน ดังนั้นคับเลนทซ์จึงพร้อมที่จะยืดหยัดปกป้องสิทธิของเอลดริดจ์อย่างเต็มที่
คับเลนทซ์เป็นตัวอย่างของคนที่แยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างความชอบส่วนตัวกับหลักการหรือความถูกต้อง
เขาไม่เอาความรู้สึกส่วนตัวมาบดบังสำนึกในเรื่องความถูกต้อง ความถูกต้องในกรณีนี้ก็คือสิทธิเสรีภาพในความคิดความเชื่อและการแสดงความคิดเห็น
แม้จะคิดเห็นต่างกันเพียงใด เขาก็ใจกว้างพอที่จะยอมรับความคิดต่าง
และพร้อมที่จะปกป้องสิทธิที่จะคิดต่างด้วย แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เขาเดือดร้อนก็ตาม
ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็พูดถึงสิทธิเสรีภาพที่ตนจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้
แต่พอได้ยินได้ฟังใครที่คิดต่างจากตน ก็มักจะขุ่นเคืองใจหรือโกรธเขาขึ้นมาทันที
อาจถึงกับกล่าวหา ด่าประณาม หรือติดฉลากใส่ยี่ห้อให้เขาทันที ถ้าเป็นความคิดเห็นที่แสลงหูมาก
ๆ ก็จะพยายามสกัดกั้นความคิดเห็นนั้น ๆ หรือสนับสนุนให้มีการปิดกั้นความคิดดังกล่าว
การคิดต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมเราจะต้องเกลียดกันด้วยหากคิดไม่เหมือนกัน
ในสังคมที่อารยะ การเคารพความคิดเห็นของกันและกันเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากเราไม่สามารถเคารพความคิดเห็นของคนอื่นได้
คือมีความรู้สึกดูถูกเหยียดหยามอยู่ในใจ อย่างน้อยก็น่าจะเคารพสิทธิในความคิดเห็นดังกล่าวของเขา
ไม่กล่าวประณามที่เขาคิดต่างจากเรา กดดันบีบคั้นให้เขาหยุดแสดงความคิดเห็นหรือเปลี่ยนความคิด
นอกจากไม่ควรทำเช่นนั้นแล้ว ยังควรปกป้องสิทธิที่เขาจะแสดงความคิดเห็นดังกล่าวด้วย
หากไม่ไปละเมิดสิทธิของใคร
ความคิดของใคร ใคร ๆ ก็หวงแหน อยากปกป้องและรักษามันเอาไว้
ไม่อยากให้มีอะไรมากระทบกระทั่งหรือท้าทาย แต่ก็อย่าให้มันกลายเป็นนายเราจนสามารถสั่งให้เราด่าประณามคนที่คิดต่างจากมัน
เราอาจคิดว่ากำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่แท้จริงกำลังทำเพราะความยึดติดถือมั่นในความคิด
ของกูมากกว่า เมื่อยึดว่าความคิด ของกูถูกต้องเสียแล้ว ก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้น
รวมทั้งทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วย
ปุถุชนย่อมมีความชอบ ความชัง และยังมีความยึดมั่นใน
ตัวกู ของกูอยู่ แต่ถ้ารู้ทันมัน และตระหนักชัดในหลักการแล้ว ก็สามารถยืนหยัดเพื่อความถูกต้องได้
น่าคิดว่าสังคมไทยจะสงบสุขและก้าวไกลเพียงใดหากผู้คนใจกว้างพอที่จะพูดว่า
ถึงฉันจะไม่ชอบคุณ.....แต่ฉันก็จะยืนหยัดเพื่อคุณ
|